ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 22อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 23อ่านอรรถกถา 32 / 24อ่านอรรถกถา 32 / 412
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๓. สุภูติวรรค
๑. สุภูติเถราปทาน (๒๑)

               สุภูติวรรคที่ ๓               
               ๒๑. อรรถกถาสุภูติเถราปทาน               
               อปทานของท่านพระสุภูติเถระมีคำเริ่มต้นว่า หิมวนฺตสฺสาวิทูเร ดังนี้.
               ท่านสุภูติเถระแม้นี้บำเพ็ญบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญทั้งหลายอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้นๆ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้เป็นนาถะของโลก ยังไม่เสด็จอุบัติขึ้น ในที่สุดแห่งแสนกัปแต่ภัทรกัปนี้ ท่านเกิดเป็นบุตรน้อยคนหนึ่งของพราหมณ์มหาศาลคนหนึ่ง ในหังสวดีนคร. พราหมณ์ได้ตั้งชื่อท่านว่า นันทมาณพ.
               นันทมาณพนั้นเจริญวัยแล้ว เรียนไตรเพท เมื่อไม่เห็นสิ่งที่เป็นสาระในไตรเพทนั้น จึงบวชเป็นฤาษีอยู่ที่เชิงเขาพร้อมด้วยมาณพ ๔๔,๐๐๐ ผู้เป็นบริวารของตน ยังสมาบัติ ๘ และอภิญญา ๕ ให้เกิดแล้ว, ทั้งได้บอกกรรมฐานให้แก่อันเตวาสิกทั้งหลายอีกด้วย. แม้อันเตวาสิกเหล่านั้นต่างก็ได้ฌานโดยกาลไม่นานเลย.
               ก็โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ เสด็จอุบัติขึ้นในโลก อาศัยหังสวดีนครประทับอยู่ วันหนึ่ง ในเวลาใกล้รุ่งทรงตรวจดูสัตว์โลก ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งพระอรหัตของเหล่าชฏิลผู้เป็นอันเตวาสิกของนันทดาบส และความปรารถนาตำแหน่งสาวกอันประกอบไปด้วยองค์สองของนันทดาบส จึงทรงกระทำการปฏิบัติพระสรีระแต่เช้าตรู่ ในเวลาเช้าทรงถือบาตรและจีวร ไม่ทรงชวนภิกษุไรๆ อื่น เป็นดุจสีหะ เสด็จไปเพียงพระองค์เดียว.
               ขณะนั้น อันเตวาสิกของนันทดาบสไปหาผลาผล เมื่อนันทดาบสมองเห็นอยู่นั่นแล เสด็จลงจากอากาศ ประทับยืนอยู่ที่พื้นดิน โดยทรงพระดำริว่า ขอนันทดาบสจงรู้ว่าเราเป็นพระพุทธเจ้า ดังนี้.
               นันทดาบสเห็นพุทธานุภาพ และความบริบูรณ์แห่งพระลักษณะ พิจารณาดูมนต์สำหรับทำนายพระลักษณะแล้วรู้ว่า ขึ้นชื่อว่าผู้ประกอบด้วยลักษณะเหล่านี้ เมื่ออยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เมื่อออกบวชจะได้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าผู้ตัดวัฏฏะในโลกได้ขาด, บุรุษอาชาไนยผู้นี้จักเป็นพระพุทธเจ้าโดยไม่ต้องสงสัย แล้วกระทำการต้อนรับ ไหว้โดยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วปูอาสนะถวาย.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้แล้ว. ฝ่ายนันทดาบสเลือกอาสนะที่สมควรแก่ตน แล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง.
               สมัยนั้น ชฏิล ๔๔,๐๐๐ คนถือเอาผลาผลมีรสโอชาล้วนแต่ประณีตมายังสำนักของอาจารย์ มองดูอาสนะที่พระพุทธเจ้าและอาจารย์แล้วพูดว่า ข้าแต่อาจารย์ พวกข้าพเจ้าทั้งหลายวิจารณ์กันว่า ในโลกนี้ ไม่มีใครใหญ่กว่าท่าน แต่ชะรอยบุรุษนี้จักใหญ่กว่าท่าน.
               นันทดาบสกล่าวว่า พ่อคุณ พวกท่านพูดอะไร (อย่างนั้น) พวกท่านประสงค์จะเปรียบเขาสิเนรุราชซึ่งสูง ๖๘๐,๐๐๐ โยชน์กับเมล็ดพันธุ์ผักกาด พวกท่านอย่าเอาเราไปเปรียบกับพระสัพพัญญูพุทธเจ้าเลย.
               ลำดับนั้น ดาบสเหล่านั้นคิดว่า ถ้าท่านผู้นี้จักเป็นคนต่ำต้อย อาจารย์ของพวกเราคงไม่หาข้อเปรียบเทียบอย่างนี้ บุรุษอาชาไนยนี้ ใหญ่ขนาดไหนหนอ ดังนี้แล้ว พากันหมอบลงแทบเท้า แล้วนมัสการด้วยเศียรเกล้า.
               ลำดับนั้น อาจารย์กล่าวกะดาบสเหล่านั้นว่า พ่อทั้งหลาย ไทยธรรมอันสมควรแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลายของเราไม่มี และพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จมาในเวลาภิกขาจาร เพราะฉะนั้น พวกเราจักถวายไทยธรรมตามกำลัง พวกท่านจงนำเอาผลาผลอันประณีตบรรดามี ที่ท่านทั้งหลายนำแล้ว มาเถิด ดังนี้แล้ว ให้นำผลาผลมา ล้างมือแล้วใส่ลงในบาตรของพระตถาคตเจ้าด้วยตนเอง.
               เพียงเมื่อพระศาสดาทรงรับผลาผลเท่านั้น เทวดาทั้งหลายก็ใส่โอชะอันเป็นทิพย์ลงไป. ดาบสกรองน้ำถวายด้วยตนเองทีเดียว.
               ลำดับนั้น เมื่อพระศาสดาเสวยเสร็จแล้ว ดาบสผู้เป็นอาจารย์จึงเรียกอันเตวาสิกทั้งหมดมา กล่าวสาราณียกถาในสำนักของพระศาสดา นั่งแล้ว.
               พระศาสดาทรงดำริว่า ขอภิกษุจงมา. ภิกษุทั้งหลายที่เป็นพระขีณาสพประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ รูปรู้พระดำริขงพระศาสดาแล้ว พากันมาถวายบังคมพระศาสดา แล้วยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง.
               ลำดับนั้น นันทดาบสเรียกอันเตวาสิกทั้งหลายมาแล้วกล่าวว่า พ่อทั้งหลาย แม้อาสนะที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายประทับนั่งก็ต่ำ. อีกทั้งอาสนะของพระสมณะ ๑๐๐,๐๐๐ รูปก็ไม่มี วันนี้ท่านทั้งหลายควรกระทำสักการะแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า และภิกษุสงฆ์ให้โอฬาร ท่านทั้งหลายจงนำดอกไม้อันสมบูรณ์ด้วยสีและกลิ่นมาจากเชิงเขา.
               ดาบสทั้งหลายนำดอกไม้ที่สมบูรณ์ด้วยสีและกลิ่นมาโดยครู่เดียวเท่านั้น ปูอาสนะดอกไม้ประมาณ ๑ โยชน์ ถวายพระพุทธเจ้าแล้ว, เพราะเหตุที่วิสัยของท่านผู้มีฤทธิ์ เป็นอจินไตย. สำหรับพระอัครสาวกมีเนื้อที่ประมาณ ๓ คาวุต. สำหรับภิกษุทั้งหลายที่เหลือมีเนื้อที่ประมาณกึ่งโยชน์เป็นต้นเป็นประเภท สำหรับสังฆนวกะได้มีเนื้อที่ประมาณ ๑ อุสภะ.
               เมื่อดาบสทั้งหลายปูอาสนะเสร็จแล้วอย่างนี้ นันทดาบสยืนประคองอัญชลีอยู่เบื้องหน้าพระตถาคต แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงเสด็จขึ้นสู่อาสนะดอกไม้นี้ ประทับนั่ง เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ข้าพระองค์ตลอดกาลนาน.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอาสนะดอกไม้แล้ว.
               เมื่อพระศาสดาประทับแล้วอย่างนี้ ภิกษุทั้งหลายรู้อาการของพระศาสดาแล้ว จึงนั่งบนอาสนะที่ถึงแล้วแก่ตนๆ.
               นันทดาบสถือฉัตรดอกไม้ใหญ่ยืนกั้นไว้เหนือพระเศียรของพระตถาคตเจ้า. พระศาสดาทรงพระดำริว่า ขอสักการะนี้ของดาบสทั้งหลายจงมีผลมากแล้วเข้านิโรธสมาบัติ. แม้ภิกษุทั้งหลายรู้ว่าพระศาสดาเข้าสมาบัติแล้วก็พากันเข้าสมาบัติ.
               เมื่อพระตถาคตเจ้าประทับนั่งเข้านิโรธสมาบัติตลอด ๗ วัน เมื่อถึงเวลาภิกขาจาร อันเตวาสิกทั้งหลายต่างบริโภคมูลผลาผลในป่า ในเวลาที่เหลือก็ยืนประคองอัญชลีแด่พระพุทธเจ้า.
               ส่วนนันทดาบสไม่ยอมไปภิกขาจาร กั้นฉัตรดอกไม้ ยังเวลาให้ล่วงไปด้วยปีติสุขอย่างเดียวตลอด ๗ วัน.
               พระศาสดาตรัสสั่งพระสาวกรูปหนึ่งผู้ประกอบด้วยองค์ ๒ คือองค์ของภิกษุอยู่โดยไม่มีกิเลสและองค์แห่งภิกษุผู้เป็นทักขิไณยบุคคลว่า เธอจะกระทำอนุโมทนาถึงอาสนะที่สำเร็จด้วยดอกไม้แก่หมู่ฤาษี.
               ภิกษุรูปนั้นมีใจยินดีแล้วดุจทหารผู้ใหญ่ได้รับพระราชทานลาภใหญ่จากสำนักของพระเจ้าจักรพรรดิ (เลือกสรร) เฉพาะพุทธวจนะคือพระไตรปิฎก มาทำอนุโมทนา ในที่สุดแห่งเทศนาของภิกษุนั้น พระศาสดาทรงแสดงธรรมด้วยพระองค์เอง.
               ในเวลาจบเทศนา ดาบส ๔๔,๐๐๐ ทั้งหมดบรรลุพระอรหัตแล้ว พระศาสดาทรงเหยียบพระหัตถ์ออก ตรัสว่า เธอทั้งหลายจงเป็นภิกษุ มาเถิด. ผมและหนวดของดาบสเหล่านั้น อันตรธานไปในทันใดนั่นเอง. บริขาร ๘ สวมใส่อยู่แล้วในกายครบถ้วน ดาบสเหล่านั้นเป็นดุจพระเถระผู้มีพรรษา ๖๐ แวดล้อมพระศาสดาแล้ว.
               ส่วนนันทดาบสไม่ได้บรรลุคุณพิเศษ เพราะมีจิตฟุ้งซ่าน.
               ได้ยินว่า นันทดาบสนั้นจำเดิมแต่เริ่มฟังธรรมในสำนักของพระเถระผู้อยู่อย่างปราศจากกิเลส ได้เกิดจิตตุปบาทขึ้นว่า โอหนอ แม้เราพึงได้คุณอันสาวกนี้ได้แล้ว ในศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งผู้จักเสด็จอุบัติในอนาคตกาล.
               ด้วยปริวิตกนั้น นันทดาบสจึงไม่สามารถทำการแทงตลอดมรรคและผลได้. แต่ท่านได้ถวายบังคมแด่พระตถาคตเจ้า ประคองอัญชลีแล้วยืนอยู่เฉพาะพระพักตร์ กราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุผู้กระทำอนุโมทนาถึงอาสนะที่ทำด้วยดอกไม้ต่อหมู่ฤาษีนี้ มีชื่อย่างไรในศาสนาของพระองค์.
               พระศาสดาตรัสตอบว่า ภิกษุนั้นชื่อว่าถึงแล้วซึ่งตำแหน่งเอตทัคคะในองค์แห่งภิกษุผู้อยู่อย่างไม่มีกิเลสและในองค์แห่งภิกษุผู้เป็นทักขิไณยบุคคล. ท่านได้ทำความปรารถนาไว้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สัการะนี้ใดที่ข้าพระองค์ผู้เข้าไปทรงไว้ซึ่งฉัตรคือดอกไม้ ตลอด ๗ วัน กระทำแล้วด้วยอธิการนั้น ข้าพระองค์ไม่ปรารถนาสมบัติอื่น แต่ในอนาคตกาล ขอข้าพระองค์พึงเป็นสาวกผู้ประกอบด้วยองค์ ๒ ดุจพระเถระนี้ ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งเถิด.
               พระศาสดาทรงส่งอนาคตังสญาณไปตรวจดูอยู่ว่า ความปรารถนาของดาบสนี้จักสำเร็จหรือไม่หนอ ทรงตรวจดูอยู่ ทรงเห็นความปรารถนาของดาบสจะสำเร็จโลยล่วงแสนกัปไปแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนดาบส ความปรารถนาของท่านจักไม่เป็นโมฆะ ในอนาคตกาลผ่านแสนกัปไปแล้ว. พระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมจักเสด็จอุบัติขึ้น ความปรารถนาของท่านจักสำเร็จในสำนักของพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมนั้น แล้วตรัสธรรมกถา ทรงแวดล้อมไปด้วยภิกษุสงฆ์แล้วแล่นไปสู่อากาศ.
               นันทดาบสได้ยืนประคองอัญชลีแล้วอุทิศเฉพาะพระศาสดา และภิกษุสงฆ์จนกระทั่งลับคลองจักษุ. ในเวลาต่อมา ท่านเข้าไปเฝ้าพระศาสดาฟังธรรมตามกาลเวลา. มีฌานไม่เสื่อมแล้วทีเดียว ทำกาละไปบังเกิดในพรหมโลก และจุติจากพรหมโลกนั้นแล้วบวชอีก ๕๐๐ ชาติ ได้เป็นผู้มีการอยู่ป่าเป็นวัตร.
               แม้ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ก็ได้บวชเป็นผู้มีการอยู่ป่าเป็นวัตร บำเพ็ญคตปัจจาคตวัตร ให้บริบูรณ์แล้ว.
               ได้ยินว่า ผู้ที่ไม่ได้บำเพ็ญวัตรนี้ ชื่อว่าจะบรรลุถึงความเป็นพระมหาสาวกไม่ได้เลย ก็คตปัจจาคตวัตรพึงทราบโดยนัยท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาที่มาแล้วทั้งหลายนั้นแล บังเกิดในภพดาวดึงส์เทวโลก.
               ก็นันทดกาบสนั้นเสวยทิพยสมบัติด้วยสามารถแห่งการเกิด สลับกันไปในดาวดึงส์พิภพด้วยประการฉะนี้ จุติจากดาวดึงส์พิภพนั้นแล้วเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ และเป็นเจ้าประเทศราชในมนุษย์โลก. นับได้หลายร้อยครั้ง เสวยมนุษย์สมบัติอันโอฬาร.
               ต่อมาในพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย. เกิดเป็นน้องชายของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ในเรือนสุมนเศรษฐี ณ กรุงสาวัตถี ได้มีนามว่า สุภูติ.
               สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก ทรงประกาศธรรมจักร เสด็จไปยังกรุงราชคฤห์โดยลำดับ ทรงกระทำการอนุเคราะห์สัตวโลก โดยการรับมอบพระวิหารเวฬุวันเป็นต้นในกรุงราชคฤห์นั้น อาศัยกรุงราชคฤห์ประทับอยู่ในป่าสีตวัน.
               ครั้งนั้น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีถือเอาเครื่องมือของผู้หมั่นขยันในนครสาวัตถี สร้างเรือนของเศรษฐีชาวเมืองราชคฤห์ สดับข่าวการเสด็จอุบัติแห่งพระพุทธเจ้า จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดาผู้เสด็จประทับอยู่ ณ ป่าสีตวัน ดำรงอยู่แล้วในโสดาปัตติผลโดยการเฝ้าครั้งแรกทีเดียว แล้วทูลขอให้พระศาสดาเสด็จมากรุงสาวัตถีอีก. ให้สร้างพระวิหารโดยการบริจาคทรัพย์ ๑ แสนไว้ในที่ห่างกันโยชน์หนึ่งๆ ในระยะทาง ๔๕ โยชน์ ถัดจากกรุงสาวัตถีนั้นมีที่สวนของพระราชกุมารทรงพระนามว่าเชตะ ประมาณ ๘ กรีสโดยมาตราวัดหลวง ด้วยการเอาทรัพย์ปูลาดไปเป็นโกฏิๆ.
               ในวันที่พระศาสดาทรงรับพระวิหาร สุภูติกุฏุมพีนี้ได้ไปพร้อมกับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีฟังเทศนา ได้มีศรัทธาบรรพชาแล้ว.
               ท่านอุปสมบทแล้วทำมาติกา ๒ ให้คล่องแคล่ว ให้อาจารย์บอกกรรมฐาน บำเพ็ญสมณธรรมในป่า เจริญวิปัสสนา มีเมตตาฌานเป็นบาทบรรลุพระอรหันต์แล้ว.
               ก็เพราะเมื่อท่านแสดงธรรม ย่อมแสดงธรรมไม่เจาะจง ตามทำนองที่พระศาสดาทรงแสดงแล้ว ฉะนั้น ท่านจึงได้นามว่าเป็นผู้เลิศแห่งภิกษุผู้อยู่โดยไม่มีข้าศึก. เมื่อเที่ยวบิณฑบาตก็เข้าฌานแผ่เมตตาไปทุกๆ บ้าน ออกจากฌานแล้วจึงรับภิกษา. ด้วยคิดว่า โดยวิธีนี้ทายกทั้งหลายจักมีผลมาก. เพราะฉะนั้น ท่านจึงชื่อว่าเป็นผู้เลิศแห่งทักขิไณยบุคคลทั้งหลาย.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งอันเลิศอันประกอบด้วยองค์ ๒ ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระสุภูติเป็นผู้เลิศแห่งภิกษุสาวกของเราผู้มีปกติอยู่ด้วยความไม่มีกิเลส พระสุภูติเป็นผู้เลิศแห่งภิกษุสาวกของเราผู้เป็นทักขิไณยบุคคลดังนี้.
               พระมหาเถระนี้บรรลุพระอรหัตอันเป็นที่สุดของผลแห่งบารมีที่ตนได้บำเพ็ญมา เป็นผู้ฉลาดเปรื่องปราชญ์ในโลก เที่ยวจาริกไปตามชนบท เพื่อบำเพ็ญประโยชน์แก่ชนหมู่มาก ถึงกรุงราชคฤห์แล้วโดยลำดับด้วยประการฉะนี้.
               พระเจ้าพิมพิสารทรงสดับการมาของพระเถระแล้ว เสด็จเข้าไปหา ทรงไหว้แล้วตรัสว่า ท่านผู้เจริญ นิมนต์ท่านอยู่ในที่นี้แหละ ข้าพเจ้าจะสร้างที่อยู่ถวายดังนี้แล้ว เสด็จหลีกไป.
               พระเถระเมื่อไม่ได้เสนาสนะก็ยังกาลให้ผ่านไปในอัพโภกาส (กลางแจ้ง). ด้วยอานุภาพของพระเถระ ฝนไม่ตกเลย.
               มนุษย์ทั้งหลายถูกภาวะฝนแล้งปิดกั้นคุกคาม จึงพากันไปทำการร้องทุกข์ ที่ประตูวังของพระราชา.
               พระราชาทรงใคร่ครวญว่า ด้วยเหตุอะไรหนอแล ฝนจึงไม่ตก แล้วทรงพระดำริว่า ชะรอยพระเถระจะอยู่กลางแจ้ง ฝนจึงไม่ตก แล้วรับสั่งให้สร้างกุฏีมุงด้วยใบไม้ถวายพระเถระแล้วรับสั่งว่า ท่านผู้เจริญ นิมนต์ท่านอยู่ในบรรณกุฏีนี้แหละ ไหว้แล้วเสด็จหลีกไป.
               พระเถระไปสู่กุฏีแล้วนั่งขัดสมาธิบนอาสนะที่ลาดด้วยหญ้า.
               ในครั้งนั้น ฝนหยาดเม็ดเล็กๆ ตกลงมาทีละน้อยๆ ไม่ยังสายธารให้ชุ่มชื่นทั่วถึง.
               ลำดับนั้น พระเถระประสงค์จะบำบัดภัยอันเกิดแต่ฝนแล้งแก่ชาวโลก เมื่อจะประกาศความไม่มีอันตรายที่เป็นวัตถุภายในและภายนอกของตน จึงกล่าวคถามีอาทิว่า ฉนฺนา เม กุฏิกา ดังนี้.
               ความแห่งคำเป็นคาถานั้น ท่านกล่าวไว้แล้วในเถรคาถานั่นแล.
               ข้อว่า ก็เพราะเหตุไร พระมหาเถระเหล่านั้นจึงประกาศคุณของตน.
               ความว่า พระอริยะทั้งหลายมักน้อยอย่างยิ่ง พิจารณาถึงโลกุตตรธรรมที่ตนบรรลุแล้ว อันสงบประณีตอย่างยิ่ง ลึกซึ้งอย่างยิ่งที่ตนไม่เคยบรรลุโดยกาลนานนี้ จึงประกาศคุณของตน เพื่อแสดงอุทานอันกำลังปีติช่วยกระตุ้นเตือนให้อาจหาญ และเพื่อแสดงภาวะที่พระศาสนาเป็นธรรมนำสัตว์ออกจากทุกข์. ด้วยอำนาจอัธยาศัยของเวไนยสัตว์ทั้งหลาย พระโลกนาถจึงทรงประกาศคุณของพระองค์ โดยนัยมีอาทิว่า ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตผู้ประกอบด้วยทศพลญาณ เป็นผู้แกล้วกล้าในเวสารัชชญาณดังนี้ ฉันใด แม้คาถานี้ก็เป็นคาถาพยากรณ์พระอรหัตผลฉันนั้น.
               ท่านได้บรรลุพระอรหัตผล และได้รับตำแหน่งเอตทัคคะอย่างนี้แล้ว ระลึกถึงบุพกรรมของตนแล้วเกิดโสมนัส เมื่อจะประกาศปุพพจริตาปทาน จึงกล่าวคำมีอาทิว่า หิมวนฺตสฺสาวิทูเร ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า หิมวนฺตสฺส ความว่า ในที่ไม่ไกล คือในที่ใกล้เคียง ได้แก่ ณ เชิงแห่งหิมวันตบรรพต.
               อธิบายว่า เป็นที่สัญจรอันสมบูรณ์ด้วยคมนาคมแห่งเหล่ามนุษย์.
               บทว่า นิสโภ นาม ปพฺพโต เชื่อมความว่า ได้มีภูเขาอันล้วนแล้วด้วยหิน ว่าโดยชื่อ ชื่อว่านิสภะ เพราะประเสริฐที่สุดกว่าภูเขาทั้งหลาย.
               บทว่า อสฺสโม สุกโต มยฺหํ ความว่า ได้สร้างที่อยู่ด้วยดีให้เป็นอาศรม เพื่อประโยชน์แก่การอยู่ของเราที่ภูเขานั้น.
               อธิบายว่า สร้างโดยอาการอย่างดี ด้วยสามารถแห่งกุฏีที่พักกลางคืน ที่พักกลางวัน มีรั้วล้อมรอบเป็นต้น.
               บทว่า ปณฺณสาลา สุมาปิตา ความว่า ศาลาที่มุงด้วยใบไม้ได้สร้างให้สำเร็จด้วยดี เพื่อเป็นที่อาศัยของเรา.
               บทว่า โกสิโย นาม นาเมน ความว่า โดยนามที่มารดาบิดาตั้งให้ว่าโกสิยะ. มีเดชรุ่งเรืองคือมีเดชปรากฏ ได้แก่มีเดชกล้า. เราผู้เดียวเท่านั้น เพราะไม่มีผู้อื่นเป็นเพื่อนสอง.
               เชื่อมความว่า เราเป็นชฏิลดาบสคือผู้ทรงไว้ซึ่งชฏา ไม่มีเพื่อนสองคือเว้นจากดาบสคนที่ ๒ ในกาลนั้น เราอยู่ที่ภูเขาชื่อว่านิสภะ.
               บทว่า ผลํ มูลญฺจ ปณฺณญฺจ น ภุญฺชามิ อหํ ตทา ความว่า ในกาลนั้น คือในกาลที่เราอยู่ที่นิสภบรรพตนั้น เราไม่ได้บริโภคผลไม้ เหง้ามันและใบไม้ที่เก็บจากต้น.
               เมื่อจะแสดงถึงข้อนั้นว่า เป็นเช่นนี้จะเป็นอยู่ได้อย่างไร จึงกล่าวว่า ปวตฺตํ ว สุปาตาหํ ดังนี้.
               เชื่อมความว่า ในกาลนั้นเราอาศัยใบไม้เป็นต้นที่หล่นเองในที่นั้นๆ คือที่ตกไปตามธรรมดาของตน เป็นอาหารเลี้ยงชีพ.
               อีกอย่างหนึ่งบาลีว่า ปวตฺตปรฺฑุปณฺณานิ ดังนี้ก็มี. ความว่า เราอาศัยใบไม้เหลืองที่หล่นเองเลี้ยงชีพ.
               บทว่า นาหํ โกเปมิ อาชีวํ ความว่า เราแม้เมื่อจะสละชีวิตคือเมื่อทำการบริจาค ย่อมไม่ยังสัมมาอาชีวะให้กำเริบคือให้พินาศ ในการแสวงหาอาหารมีมูลผลาผลเป็นต้น ด้วยอำนาจตัณหา.
               บทว่า อาราเธมิ สกํ จิตฺตํ ความว่า ย่อมยังจิตคือใจของตนให้ยินดี คือให้เลื่อมใส ด้วยความมักน้อยและสันโดษ.
               บทว่า วิวชฺเชมิ อเนสนํ ความว่า เราเว้นการแสวงหาอันไม่สมควรด้วยอำนาจกรรมมีเวชกรรมและทูตกรรมเป็นต้น ให้ห่างไกล.
               บทว่า ราคูปสํหิตํ จิตฺตํ ความว่า เมื่อใดคือในกาลใด จิตของเราสัมปยุตด้วยราคะย่อมเกิดขึ้น ในกาลนั้นเราพิจารณาตนด้วยตนเอง คือพิจารณาด้วยญาณแล้วบรรเทา.
               บทว่า เอกคฺโค ตํ ทเมมหํ ความว่า เราเป็นผู้มีอารมณ์ตั้งมั่นในอารมณ์แห่งกรรมฐานอย่างหนึ่ง ย่อมฝึกคือกระทำการทรมนจิตที่ประกอบด้วยราคะ.
               บทว่า รชฺชเส รชฺชนีเย จ ความว่า ท่านกำหนัด คือติดอยู่ในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด คือในวัตถุมีรูปารมณ์เป็นต้น.
               บทว่า ทุสฺสนีเย จ ทุสฺสเส ความว่า ท่านขัดเคืองในอารมณ์อันเป็นที่ขัดเคือง คือในวัตถุอันกระทำความประทุษร้าย.
               บทว่า มุยฺหเส โมหนีเย จ ความว่า ท่านเป็นผู้ลุ่มหลงในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความหลง คือในวัตถุอันกระทำซึ่งความหลง.
               เชื่อมความว่า เพราะฉะนั้น เราย่อมฝึกตนอย่างนี้ว่า ท่านจงออกไปคือหลีกไปจากป่า คือจากการอยู่ป่า.
               บทว่า ติมฺพรูสกวณฺณาโภ ความว่า พระพุทธเจ้าผู้มีพระรัศมี เหมือนผลมะพลับมีสีดังทองคำ.
               อธิบายว่า มีสีเหมือนทองชมพูนุท.
               คำที่เหลือรู้ได้ง่ายทั้งนั้นแล.
               จบอรรถกถาสุภูติเถราปทาน               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๓. สุภูติวรรค ๑. สุภูติเถราปทาน (๒๑) จบ.
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 22อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 23อ่านอรรถกถา 32 / 24อ่านอรรถกถา 32 / 412
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=1500&Z=1590
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=799
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=799
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :