ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 2อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 3อ่านอรรถกถา 32 / 4อ่านอรรถกถา 32 / 412
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค
๓. สารีปุตตเถราปทาน (๑)

               ๑. พรรณนาสารีปุตตเถราปทาน               
               ต่อจากนั้น เพื่อจะสังวรรณนาคาถารวบรวมเถราปทาน ท่านจึงกล่าวว่า อถ เถราปทานํ สุณาถ ดังนี้.
               อรรถแห่ง อถ ศัพท์ และ อปทาน ศัพท์ ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น.
               ก็บรรดาศัพท์เหล่านี้ เถร ศัพท์นี้เป็นไปในอรรถมิใช่น้อย มีอรรถว่า กาล มั่นคง บัญญัติ ชื่อ และใหญ่ เป็นต้น.
               จริงอย่างนั้น เถรศัพท์ที่ใช้ในความหมายว่ากาล เช่นในประโยคมีอาทิว่า เถโรวสฺสิกานิ ปูตีนิ จุณฺณกชาตานิ แปลว่า ท่อนกระดูกทั้งหลายที่ฝนตกชะอยู่เกินเวลานานปีแล้ว ผุป่นละเอียดไป. อธิบายว่า ฝนตกชะอยู่นาน คือตกเป็นเวลานาน.
               ใช้ในความหมายว่ามั่นคง เช่นในประโยคมีอาทิว่า เถโรปิ ตาว มหา แปลว่า เพียงเป็นผู้มั่นคง เป็นใหญ่ก่อน. อธิบายว่า เป็นผู้มีศีลมั่นคง.
               ใช้ในความหมายว่าบัญญัติ เช่นในประโยคมีอาทิว่า เถโร อยมายสฺมา มหลฺลโก แปลว่า ท่านผู้มีอายุนี้เป็นคนแก่คนเฒ่า. อธิบายว่า เป็นเพียงโลกบัญญัติ.
               ใช้ในความหมายว่าชื่อ เช่นในประโยคมีอาทิว่า จุนฺทตฺเถโร ผุสฺสตฺเถโร พระจุนทเถระ พระผุสสเถระ. อธิบายว่า เขาตั้งชื่อไว้อย่างนี้.
               ใช้ในความหมายว่าคนใหญ่ เช่นในประโยคมีอาทิว่า เถโร จายํ กุมาโร มม ปุตฺเตสุ บรรดาลูกๆ ของข้าพเจ้า กุมารนี้เป็นคนใหญ่ (คนหัวปี). อธิบายว่า เด็กคนโต.
               แต่ในที่นี้ เถระ ศัพท์นี้ใช้ในความหมายว่า กาลและมั่นคง. เพราะฉะนั้น ชื่อว่าเถร เพราะดำรงอยู่มาสิ้นกาลนาน.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านผู้ประกอบด้วยคุณมีศีล อาจาระและมัทวะอันมั่นคงยิ่ง เรียกว่าเถระ.
               พระเถระและเถระ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าพระเถระทั้งหลาย. อปทานคือเหตุแห่งพระเถระทั้งหลาย ชื่อว่าเถราปทาน. เชื่อมความว่า ท่านทั้งหลายจงฟังเถราปทานนั้น.
               คำมีอาทิว่า หิมวนฺตสฺส อวิทูเร ลมฺพโก นาม ปพฺพโต ดังนี้ เป็นอปทานของท่านพระสารีบุตร. เรื่องของท่านผู้มีอายุนั้นและของพระมหาโมคคัลลานเถระ พึงทราบอย่างนี้.
               ได้ยินว่า ในอดีตกาล ในที่สุดหนึ่งอสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป ท่านพระสารีบุตรบังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล เป็นผู้ชื่อว่าสรทมาณพโดยชื่อ, ท่านพระมหาโมคคัลลานะบังเกิดในตระกูลคหบดีมหาศาล โดยชื่อมีชื่อว่าสิริวัฑฒนกุฏุมพี.
               คนทั้งสองนั้นเป็นสหายเล่นฝุ่นด้วยกัน บรรดาคนทั้งสองนั้น สรทมาณพ เมื่อบิดาล่วงลับไปแล้ว ได้ครอบครองทรัพย์อันเป็นของตระกูล. วันหนึ่ง อยู่ในที่ลับคิดว่า ชื่อว่าความตายของสัตว์เหล่านี้เป็นสิ่งที่แน่นอน เพราะฉะนั้น เราควรเข้าถือการบวชอย่างหนึ่ง แสวงหาทางหลุดพ้น จึงเข้าไปหาสหายแล้วกล่าวว่า สหาย เราอยากบวช ท่านจักอาจบวชไหม. เมื่อสหายนั้นกล่าวว่าไม่อาจ จึงกล่าวว่า ช่างเถอะ เฉพาะเราเท่านั้นจักบวช แล้วให้เปิดคลังรัตนะให้มหาทานแก่คนกำพร้าและคนเดินทางเป็นต้น แล้วไปยังเชิงเขาบวชเป็นฤาษี.
               เมื่อสรทมาณพนั้นบวชได้มีเหล่าบุตรพราหมณ์ประมาณ ๗๔,๐๐๐ คนบวชตาม. สรทดาบสนั้นทำอภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ ให้บังเกิด แล้วจึงบอกกสิณบริกรรมแก่ชฎิลเหล่านั้น. ชฎิลทั้งหมดนั้นก็ทำอภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ ให้บังเกิดขึ้น.
               สมัยนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสี เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ทรงประกาศพระธรรมจักรอันประเสริฐ ได้ยังเหล่าสัตว์ให้ข้ามจากโอฆะสงสารใหญ่ วันหนึ่ง มีพระประสงค์จะสงเคราะห์สรทดาบสและเหล่าอันเตวาสิก พระองค์เดียวไม่มีเพื่อน ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จไปทางอากาศ ทรงดำริว่า จงรู้ว่าเราเป็นพระพุทธเจ้า เมื่อสรทดาบสนั้นเห็นอยู่นั่นแล จึงเสด็จลงจากอากาศ ประทับยืนบนแผ่นดิน.
               สรทดาบสพิจารณามหาบุรุษลักษณะในพระสรีระของพระศาสดา แล้วลงสันนิษฐานว่า ท่านผู้นี้เป็นพระสัพพัญญูพุทธะแท้เทียว จึงได้กระทำการต้อนรับ ให้ปูลาดอาสนะถวาย พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดแล้ว สรทดาบสนั่งอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง ในสำนักของพระศาสดา.
               สมัยนั้น ชฎิลประมาณ ๗๔,๐๐๐ ผู้เป็นอันเตวาสิกของสรทดาบสนั้น ถือผลไม้น้อยใหญ่อันประณีตๆ มีโอชะมาอยู่ ได้เห็นพระศาสดาเกิดความเลื่อมใส แลดูอาการนั่งแห่งอาจารย์ของตนและพระศาสดา แล้วพากันกล่าวว่า ท่านอาจารย์ เมื่อก่อนพวกข้าพเจ้าสำคัญว่า ใครๆ ผู้จะใหญ่กว่าท่านไม่มี ก็บุรุษนี้เห็นจะใหญ่กว่าท่าน. สรทดาบสกล่าวว่า พ่อทั้งหลาย พวกเธอพูดอะไร พวกเธอปรารถนาจะกระทำเขาสิเนรุอันสูงหกล้านแปดแสนโยชน์ ให้เสมอกับเมล็ดพันธุ์ผักกาด พวกเธออย่ากระทำเราให้เท่ากับพระสัพพัญญูพุทธเจ้าเลย.
               ลำดับนั้น ดาบสเหล่านั้น ครั้นได้ฟังคำของอาจารย์แล้วพากันคิดว่า ท่านผู้นี้เป็นอุดมบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ทีเดียวหนอ ทั้งหมดจึงหมอบลงที่พระบาทไหว้พระศาสดา.
               ทีนั้น อาจารย์จึงกล่าวกะพวกศิษย์นั้นว่า นี่แน่ะพ่อทั้งหลาย ไทยธรรมของพวกเราอันสมควรแก่พระศาสดา ไม่มี และพระศาสดาก็เสด็จมา ณ ที่นี้ในเวลาภิกขาจาร เอาเถอะ พวกเราจักถวายไทยธรรมตามกำลังผลาผลอันประณีตใดๆ พวกเธอได้นำมาแล้ว พวกเธอก็จงนำเอาผลาผลไม้นั้นๆ มาเถิด ครั้นให้นำมาแล้ว จึงล้างมือทั้งสอง ให้ตั้งผลาผลไม้ ลงในบาตรของพระตถาคตด้วยตนเอง เมื่อพระศาสดาสักว่าทรงรับผลาผลไม้ เทวดาทั้งหลายได้ใส่ทิพโอชาเข้าไป. แม้น้ำ พระดาบสก็ได้กรองถวายด้วยตนเองเหมือนกัน.
               จากนั้น เมื่อพระศาสดาทรงทำกิจด้วยโภชนะให้เสร็จแล้วประทับนั่ง ดาบสให้เรียกเหล่าอันเตวาสิกทั้งหมดมาแล้วนั่งกล่าวสาราณียกถาอยู่ในสำนักของพระศาสดา.
               พระศาสดาทรงดำริว่า อัครสาวกทั้งสองจงมาพร้อมกับหมู่ภิกษุ. ทันใดนั้น พระอัครสาวกมีพระขีณาสพหนึ่งแสนเป็นบริวาร ก็มาถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วได้ยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง.
               ลำดับนั้น สรทดาบสจึงเรียกเหล่าอันเตวาสิกมาว่า พ่อทั้งหลายควรทำการบูชาด้วยอาสนะดอกไม้แก่พระศาสดาและภิกษุสงฆ์ เพราะฉะนั้น พวกเธอจงนำดอกไม้มา. ทันใดนั้น เหล่าอันเตวาสิกจึงนำดอกไม้ทั้งหลายอันสมบูรณ์ด้วยสีและกลิ่นมาด้วยฤทธิ์ แล้วปูลาดอาสนะดอกไม้ประมาณหนึ่งโยชน์แก่พระพุทธเจ้า ปูลาดอาสนะดอกไม้ประมาณ ๓ คาวุตแก่พระอัครสาวกทั้งสอง ปูลาดอาสนะดอกไม้ชนิดกึ่งโยชน์เป็นต้น แก่เหล่าภิกษุที่เหลือ ปูลาดอาสนะดอกไม้ประมาณอุสภะแก่ภิกษุผู้ใหม่ในสงฆ์.
               ครั้นปูลาดอาสนะทั้งหลายอย่างนี้แล้ว สรทดาบสจึงประคองอัญชลี ตรงพระพักตร์ของพระตถาคต แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์เสด็จขึ้นยังอาสนะดอกไม้นี้ เพื่ออนุเคราะห์ข้าพระองค์. พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอาสนะดอกไม้ เมื่อพระศาสดาประทับนั่งแล้ว พระอัครสาวกทั้งสองและเหล่าภิกษุที่เหลือ ก็นั่งบนอาสนะอันถึงแก่ตนๆ.
               พระศาสดาทรงเข้านิโรธสมาบัติด้วยพระประสงค์ว่า ผลใหญ่จงมีแก่ดาบสเหล่านั้น. ฝ่ายพระอัครสาวกทั้งสองและภิกษุที่เหลือ รู้ว่าพระศาสดาทรงเข้านิโรธสมาบัติ จึงพากันเข้านิโรธสมาบัติ. พระดาบสได้ยืนกั้นฉัตรดอกไม้แด่พระศาสดาสิ้นกาลหาระหว่างมิได้ตลอด ๗ วัน. พระดาบสนอกนี้ฉันมูลผลาหารจากป่าแล้ว ในเวลาที่เหลือก็ได้ยืนประคองอัญชลีอยู่.
               พอล่วงไปได้ ๗ วัน พระศาสดาทรงออกจากนิโรธสมาบัติ แล้วตรัสเรียกพระนิสภเถระอัครสาวกว่า เธอจงกระทำอนุโมทนาอาสนะดอกไม้แก่ดาบสทั้งหลาย. พระเถระตั้งอยู่ในสาวกบารมีญาณ ได้กระทำอนุโมทนาอาสนะดอกไม้แก่ดาบสทั้งหลายเหล่านั้น ในเวลาจบเทศนาของพระนิสภเถระนั้น พระศาสดาตรัสเรียกพระอโนมเถระทุติยอัครสาวกว่า แม้เธอก็จงแสดงธรรมแก่ดาบสเหล่านี้.
               ฝ่ายพระอโนมเถระพิจารณาพระพุทธพจน์ คือพระไตรปิฎก แล้วกล่าวธรรมแก่ดาบสเหล่านั้น ธรรมาภิสมัยการตรัสรู้ธรรม มิได้มีด้วยเทศนาของพระอัครสาวกทั้งสอง.
               ลำดับนั้น พระศาสดาทรงตั้งอยู่ในพุทธวิสัย แล้วทรงเริ่มพระธรรมเทศนา. ในเวลาจบเทศนา ชฎิลเจ็ดหมื่นสี่พันที่เหลือแม้ทั้งหมด เว้นสรทดาบสบรรลุพระอรหัตแล้ว. พระศาสดาทรงเหยียดพระหัตถ์ ตรัสกะชฎิลเหล่านั้นว่า เธอทั้งหลายจงเป็นภิกษุมาเถิด. ทันใดนั้น ชฎิลเหล่านั้นมีเพศดาบสอันตรธานหายไป ได้เป็นผู้ทรงบริขาร ๘ ดุจพระเถระมีพรรษา ๖๐ ฉะนั้น.
               ส่วนสรทดาบส เพราะความที่ตนเป็นผู้เกิดปริวิตกขึ้นเวลาแสดงธรรมว่า โอหนอ แม้เราก็พึงเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคตเหมือนพระนิสภเถระนี้ ได้มีจิตส่งไปอื่น จึงไม่ได้อาจเพื่อจะทำให้รู้แจ้งมรรคผล.
               ลำดับนั้น จึงถวายบังคมพระศาสดา แล้วได้กระทำความปรารถนาเหมือนอย่างนั้น.
               พระศาสดาทรงเห็นว่าจะสำเร็จโดยหาอันตรายมิได้ จึงทรงพยากรณ์ว่า ล่วงไปหนึ่งอสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป แต่กัปนี้ไป อัครสาวกของพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า จักมีนามว่าสารีบุตร ดังนี้แล้วตรัสธรรมกถา มีภิกษุสงฆ์เป็นบริวารแล่นไปยังอากาศแล้ว.
               ฝ่ายสรทดาบสก็ได้ไปยังสำนักของสิริวัฑฒกุฎุมพีผู้สหาย แล้วกล่าวว่า สหาย เราปรารถนาตำแหน่งอัครสาวกของพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้จะอุบัติขึ้นในอนาคต ณ ที่บาทมูลของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสี แม้ท่านก็จงปรารถนาตำแหน่งทุติยสาวกของพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น.
               สิริวัฑฒกุฎุมพีได้ฟังการชี้แจงดังนั้น จึงให้กระทำที่ประมาณ ๘ กรีสที่ประตูนิเวศน์ของตนให้มีพื้นราบเรียบ แล้วโรยดอกไม้มีข้าวตอกเป็นที่ ๕ ให้สร้างมณฑปมุงด้วยอุบลเขียว ให้ลาดอาสนะสำหรับพระพุทธเจ้า ให้ลาดอาสนะสำหรับภิกษุทั้งหลาย แล้วตระเตรียมเครื่องสักการะและสัมมานะมากมาย แล้วให้สรทดาบสไปนิมนต์พระศาสดามายังมหาทานให้เป็นไปตลอด ๗ วัน แล้วให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ครองผ้าทั้งหลายอันควรค่ามาก แล้วได้กระทำความปรารถนาเพื่อความเป็นทุติยสาวก.
               พระศาสดาทรงเห็นความสำเร็จของสิริวัฑฒกุฎุมพีนั้นโดยหาอันตรายมิได้ จึงทรงพยากรณ์โดยนัยดังกล่าวแล้ว ทรงทำอนุโมทนาภัตแล้วเสด็จหลีกไป.
               สิริวัฑฒกุฎุมพีร่าเริงแจ่มใส กระทำกุศลกรรมตลอดชั่วอายุ แล้วบังเกิดในกามาวจรเทวโลก ในวาระจิตที่ ๒ สรทดาบสเจริญพรหมวิหาร ๔ แล้วบังเกิดในพรหมโลก.
               จำเดิมแต่นั้น ท่านไม่กล่าวถึงกรรมในระหว่างของสหายทั้งสอง.
               ก็สรทดาบสถือปฏิสนธิในครรภ์ของนางรูปสารีพราหมณี ในอุปติสสคาม ไม่ไกลนครราชคฤห์ ก่อนกว่าการอุบัติขึ้นแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย. ในวันนั้นเอง แม้สหายของสรทดาบสนั้น ก็ถือปฏิสนธิในครรภ์ของนางโมคคัลลีพราหมณี ในโกลิตคาม ไม่ไกลนครราชคฤห์เหมือนกัน. เพราะฉะนั้น โมคคัลลานะ ชื่อว่าโมคคัลลานะ เพราะเป็นบุตรของนางโมคคัลลีพราหมณี.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าโมคคัลลานะ เพราะเกิดโดยโมคคัลลีโคตร.
               อีกอย่างหนึ่ง ในเวลาที่มารดายังเป็นกุมาริกา บิดามารดาของนางกุมาริกานั้นเรียกชื่อว่า มุคคลี เพราะถือเอาคำว่า มาอุคฺคลิ มา อุคฺคลิ อย่ากลืน อย่ากลืน. ชื่อว่าโมคคัลลานะ เพราะเป็นบุตรของนางมุคคลีนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าโมคคัลลานะ เพราะเป็นผู้อาจ คือสามารถในการได้ ในการถือเอา ในการรู้แจ้งมรรคมีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น.
               ได้ยินว่า ตระกูลทั้งสองนั้นเป็นสหายเนื่องกันมา ๗ ชั่วสกุล. บิดามารดาได้ให้การบริหารครรภ์แก่คนทั้งสองนั้นในวันเดียวกัน. พอล่วงไปได้ ๑๐ เดือน บิดามารดาก็เริ่มตั้งแม่นม ๖๖ คน แก่คนทั้งสองนั้นแม้ผู้เกิดแล้ว. ในวันตั้งชื่อ บิดามารดาตั้งชื่อบุตรของนางรูปสารีพราหมณีว่า อุปติสสะ เพราะเป็นบุตรของตระกูลผู้เป็นหัวหน้าในอุปติสสคาม. ตั้งชื่อของบุตรนอกนี้ว่า โกลิตะ เพราะเป็นบุตรของตระกูลผู้เป็นหัวหน้าในโกลิตคาม. คนทั้งสองนั้นเจริญอยู่ด้วยบริวารใหญ่ อาศัยความเจริญเติบโตแล้ว ได้ถึงความสำเร็จศิลปะทั้งปวง.
               อยู่มาวันหนึ่ง คนทั้งสองนั้นกำลังดูมหรสพบนยอดเขาในกรุงราชคฤห์ เห็นมหาชนประชุมกัน เพราะญาณถึงความแก่กล้า จึงเกิดความคิดขึ้นโดยแยบคายได้ความสังเวชว่า คนเหล่านี้ทั้งหมดภายในร้อยปีเท่านั้น ก็จะเข้าไปยังปากของมัจจุราช จึงทำการตัดสินใจว่า เราทั้งหลายควรแสวงหาโมกขธรรม และเมื่อจะแสวงหาโมกขธรรมนั้น ควรได้การบรรพชาอย่างหนึ่ง จึงพากันบวชในสำนักของสัญชัยปริพาชกพร้อมกับมาณพ ๕๐๐ คน.
               จำเดิมแต่คนทั้งสองนั้นบวชแล้ว สัญชัยปริพาชกได้เป็นผู้ถึงลาภอันเลิศและยศอันเลิศ. โดย ๒-๓ วันเท่านั้น คนทั้งสองนั้นก็เรียนลัทธิของสัญชัยได้ทั้งหมด ไม่เห็นสาระในลัทธินั้น ได้เหนื่อยหน่ายลัทธินั้น จึงถามปัญหากะสมณพราหมณ์ที่เขาสมมติกันว่าเป็นบัณฑิตในที่นั้นๆ สมณพราหมณ์เหล่านั้นผู้ถูกคนทั้งสองคนถามแล้ว ไม่ยังการแก้ปัญหาให้สำเร็จได้ โดยที่แท้ คนทั้งสองนั้นนั่นเองพากันแก้ปัญหาให้แก่สมณพราหมณ์เหล่านั้น.
               เมื่อเป็นอย่างนั้น คนทั้งสองนั้น เมื่อจะแสวงหาโมกขธรรม (ต่อไป) จึงได้ทำกติกาว่า ในเราทั้งสอง คนใดบรรลุอมตะก่อน คนนั้นจงบอกแก่อีกคนหนึ่ง.
               ก็สมัยนั้น เมื่อพระศาสดาของเราทั้งหลายทรงบรรลุพระปฐมาภิสัมโพธิญาณแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักรอันบวร ทรงทรมานชฎิลพันคนมีอุรุเวลกัสสปเป็นต้น แล้วประทับอยู่ในกรุงราชคฤห์โดยลำดับ.
               วันหนึ่ง อุปติสสปริพาชกไปยังปริพาชการาม เห็นท่านพระอัสสชิเถระเที่ยวบิณฑบาตอยู่ในกรุงราชคฤห์ คิดว่า บรรพชิตผู้สมบูรณ์ด้วยมารยาทเห็นปานนี้ เราไม่เคยเห็น ชื่อว่าธรรมอันละเอียดจะพึงมีในบรรพชิตนี้ จึงเกิดความเลื่อมใส มองดูท่านผู้มีอายุเพื่อจะถามปัญหา ได้ติดตามไปข้างหลัง.
               ฝ่ายพระเถระได้บิณฑบาตแล้ว ไปยังโอกาสอันเหมาะสม เพื่อจะบริโภค. ปริพาชกได้ลาดตั่งปริพาชกของตนถวาย และในเวลาเสร็จภัตกิจ ได้ถวายน้ำในคนโทของตนแก่พระเถระ. ปริพาชกนั้นกระทำอาจริยวัตรอย่างนี้แล้ว กระทำปฏิสันถารกับพระเถระผู้กระทำภัตกิจเสร็จแล้วจึงถามว่า ใครเป็นศาสดาของท่านหรือ หรือว่าท่านชอบใจธรรมของใคร?
               พระเถระอ้างเอาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันปริพาชกนั้นถามอีกว่า ก็ศาสดาของท่านผู้มีอายุมีวาทะอย่างไร คิดว่า เราจักแสดงความที่พระศาสนานี้เป็นของลึกซึ้ง จึงประกาศว่าตนยังเป็นผู้ใหม่ และเมื่อจะแสดงธรรมในพระศาสนาแก่ปริพาชกนั้นโดยสังเขป จึงกล่าวคาถาว่า เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เป็นต้น.
               ปริพาชกได้ฟังเฉพาะสองบทแรกเท่านั้น ก็ดำรงอยู่ในพระโสดาปัตติมรรคและโสดาปัตติผลอันสมบูรณ์ด้วยนัยพันหนึ่ง สองบทหลังจบลง ในเวลาเขาเป็นพระโสดาบัน. ก็ในเวลาจบคาถา เขาเป็นพระโสดาบัน เมื่อคุณวิเศษในเบื้องบนยังไม่เป็นไป จึงกำหนดว่า เหตุในพระศาสนานี้จักมี จึงกล่าวกะพระเถระว่า ท่านผู้เจริญ ท่านอย่าขยายธรรมเทศนาให้สูงเลย เท่านี้แหละพอแล้ว พระศาสดาของเราทั้งหลายอยู่ที่ไหน.
               พระอัสสชิกล่าวว่า อยู่ที่พระเวฬุวัน.
               ปริพาชกกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ท่านจงล่วงหน้าไป ข้าพเจ้าจะเปลื้องปฏิญญาที่ทำไว้แก่สหายของข้าพเจ้าแล้วจักพาสหายนั้นมาด้วย แล้วไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ กระทำประทักษิณ สั่งพระเถระแล้วได้ไปยังปริพาชการาม.
               โกลิตปริพาชกเห็นอุปติสสปริพาชกนั้นกำลังมาแต่ไกล คิดว่า สีหน้าไม่เหมือนวันอื่น อุปติสสะนี้จักบรรลุอมตธรรมเป็นแน่จึงยกย่องการบรรลุคุณวิเศษของอุปติสสะนั้น โดยอาการนั้นแหละ แล้วถามถึงการบรรลุอมตธรรม.
               ฝ่ายอุปติสสะนั้นก็ปฏิญญาแก่โกลิตะนั้นว่า ผู้มีอายุ ข้าพเจ้าบรรลุอมตธรรมแล้ว จึงได้กล่าวคาถานั้นนั่นแหละ.
               ในเวลาจบคาถา โกลิตะดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล แล้วกล่าวว่า พระศาสดาของพวกพวกเราอยู่ที่ไหน.
               อุปติสสะกล่าวว่า อยู่ที่พระเวฬุวัน.
               โกลิตะกล่าวว่า ผู้มีอายุ ถ้าอย่างนั้น พวกเราจงมา จักเฝ้าพระศาสดา.
               อุปติสสะเป็นผู้บูชาอาจารย์แม้ตลอดกาลทั้งปวงทีเดียว เพราะฉะนั้นจึงได้เป็นผู้ใคร่จะประกาศคุณของพระศาสดาแก่สัญชัย แล้วนำสัญชัยแม้นั้นไปยังสำนักของพระศาสดาด้วย.
               สัญชัยปริพาชกนั้นถูกความหวังในลาภครอบงำ ไม่ปรารถนาจะเป็นอันเตวาสิก จึงปฏิเสธว่า เราไม่อาจเป็นตุ่มสำหรับตักวิดน้ำ คนทั้งสองนั้นเมื่อไม่อาจให้สัญชัยปริพาชกนั้นยินยอมได้ด้วยเหตุหลายประการ จึงได้ไปยังพระเวฬุวันพร้อมกับอันเตวาสิก ๒๕๐ คนผู้ประพฤติตามโอวาทของตน.
               พระศาสดาทรงเห็นคนเหล่านั้นมาจากที่ไกล จึงตรัสว่า นี้จักเป็นคู่สาวกของเรา จักเป็นคู่อันเจริญเลิศ แล้วทรงแสดงธรรมตามจริยาแห่งบริษัทของคนทั้งสองนั้น ให้ดำรงอยู่ในพระอรหัต แล้วได้ประทานอุปสมบทด้วยความเป็นเอหิภิกขุ บาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ได้มา แม้แก่พระอัครสาวก เหมือนมาแก่ภิกษุเหล่านั้น แต่กิจแห่งมรรคสามเบื้องบนของพระอัครสาวกยังไม่สำเร็จ เพราะเหตุไร? เพราะสาวกบารมีญาณเป็นคุณยิ่งใหญ่.
               บรรดาพระอัครสาวกนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ในวันที่ ๗ แต่บวชแล้วกระทำสมณธรรมอยู่ที่บ้านกัลลวาลคาม ในมคธรัฐ เมื่อถีนมิทธะก้าวลงอยู่ อันพระศาสดาให้สังเวชแล้ว บรรเทาถีนมิทธะ (ความโงกง่วง) ได้ กำลังฟังธาตุกรรมฐานรอยู่ทีเดียว ได้บรรลุมรรคเบื้องบนทั้ง ๓ ถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณ.
               ท่านพระสารีบุตรล่วงไปได้กึ่งเดือนแต่การบรรพชา อยู่ในถ้ำสุกรขตะ (ที่ปรากฏโดยมากว่า สุกรขาตา) ในกรุงราชคฤห์กับพระศาสดา เมื่อพระศาสดาทรงแสดงเวทนาแนวแห่งปริคคหสูตร แก่ทีฆนขปริพาชกผู้เป็นหลานของตน ส่งญาณไปตามพระธรรมเทศนา จึงถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณ เหมือนบุคคลบริโภคภัตที่เขาคดมาเพื่อผู้อื่นฉะนั้น ดังนั้น สาวกบารมีญาณของพระอัครสาวกทั้งสองได้ถึงที่สุดในที่ใกล้พระศาสดาทีเดียว.
               ท่านพระสารีบุตรบรรลุสาวกบารมีญาณอย่างนี้แล้วจึงรำพึงว่า สมบัตินี้เราได้ด้วยกรรมอะไร ได้รู้กรรมนั้นแล้ว เมื่อจะเปล่งอุทานด้วยอำนาจความปีติโสมนัส จึงกล่าวคำมีอาทิว่า หิมวนฺตสฺส อวิทูเร ดังนี้.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
                         ในที่ไม่ไกลหิมวันตประเทศ มีภูเขาชื่อลัมพกะ เราสร้าง
                         อาศรมไว้อย่างดี (และ) สร้างบรรณศาลาไว้อย่างดี.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า หิมวนฺตสฺส ความว่า ที่ชื่อว่าหิมวา เพราะประเทศนั้นมีหิมะ. ในที่ไม่ไกล คือในที่ใกล้หิมวันตประเทศนั้น. อธิบายว่า ในป่าอันเนื่องกับเขาหิมาลัย.
               บทว่า ลมฺพโก นาม ปพฺพโต ความว่า ภูเขาเจือด้วยดินร่วนอันมีชื่ออย่างนั้น.
               บทว่า อสฺสโม สุกโต มยฺหํ ความว่า อาศรม คืออรัญวาสที่ทำไว้เพื่อเรา คือเพื่อประโยชน์แก่เรา ณ ที่ภูเขาชื่อลัมพกะนั้น ชื่อว่าอาศรม เพราะสงบเงียบโดยทั่วไป คือโดยรอบ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอาศรม เพราะเป็นที่ไม่มีความดิ้นรนคือความกระวนกระวายแก่ผู้เข้าไปแล้ว,
               อรัญวาสอันเป็นอย่างนี้ เราทำไว้ดีแล้ว. อธิบายว่า สร้างไว้ด้วยอาการอันดี เช่นที่พักกลางคืน ที่พักกลางวัน กุฎีและปะรำเป็นต้น.
               บทว่า ปณฺณสาลา ได้แก่ บรรณศาลาสำหรับเป็นที่อาศัยอยู่ มุงด้วยใบไม้มีแฝกและหญ้าปล้องเป็นต้น.
                         แม่น้ำมีฝั่งตื้น มีท่าดี เป็นที่รื่นรมย์ใจ เกลื่อนกล่น
                         ด้วยทรายขาวสะอาด มีอยู่ไม่ไกลอาศรมของเรา.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุตฺตานกูลา ได้แก่ แม่น้ำไม่ลึก.
               บทว่า สุปติตฺถา แปลว่า มีท่าดี.
               บทว่า มโนรมา ได้แก่ ประทับใจ คือเป็นที่ยังใจให้เอิบอาบ,
               บทว่า สุสุทฺธปุลินากิณฺณา ได้แก่ เกลื่อนกลาดด้วยทราย ปานประหนึ่งว่ากลีบแก้วมุกดาขาวดี. อธิบายว่า เป็นท้องทราย.
               อธิบายว่า แม่น้ำคือแม่น้ำน้อยที่เป็นอย่างนี้นั้น ได้มีอยู่ในที่ไม่ไกลคือในที่ใกล้อาศรมของเรา.
               ก็บทว่า อสฺสมํ พึงทราบว่า เป็นทุติยาวิภัตติลงในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ.
                         ที่ใกล้อาศรมของเรานั้น มีแม่น้ำไม่มีก้อนกรวด ตลิ่งไม่ชัน
                         น้ำจืดสนิท ไม่มีกลิ่นเหม็น ไหลไป ทำให้อาศรมของเรางาม.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสกฺขรา ความว่า ชื่อว่าไม่มีกรวด คือเว้นจากกรวด เพราะท่านกล่าวว่า เกลื่อนกลาดด้วยทราย.
               บทว่า อปพฺภารา แปลว่า เว้นจากเงื้อม อธิบายว่า ฝั่งไม่ลึก.
               บทว่า สาทุ อปฺปฏิคนฺธิกา ความว่า แม่น้ำคือแม่น้ำน้อย มีน้ำมีรสอร่อย เว้นจากกลิ่นเหม็น ไหลไปคือเป็นไป ทำอาศรมบทของเราให้งาม.
                         ฝูงจระเข้ มังกร ปลาร้าย และเต่าว่ายน้ำเล่นอยู่ใน
                         แม่น้ำนั้น แม่น้ำไหลไป ทำให้อาศรมของเรางาม.

               ในคาถานั้น เชื่อมความว่า จระเข้ มังกร ปลาฉลาม คือปลาร้ายและเต่า ได้เล่นอยู่ในแม่น้ำนี้. เชื่อมความว่า แม่น้ำคือแม่น้ำน้อยไหล คือไหลไป ทำให้อาศรมของเรางาม.
                         ฝูงปลาสลาด ปลากระบอก ปลาสวาย ปลาเค้า ปลาตะเพียน
                         ปลานกกระจอก ว่ายโลดโดดอยู่ ย่อมทำให้อาศรมของเรางาม.

               อธิบายว่า ปลาสลาด ปลากระบอก ปลาสวาย ปลาเค้า ปลาตะเพียน และปลานกกระจอก มัจฉาชาติทั้งหมดนี้ โดดไปข้างโน้นข้าง นี้ คือไหลไปกับแม่น้ำ ทำให้อาศรมบทของเรางาม.
                         ที่สองฝั่งแม่น้ำ มีหมู่ไม้ดอก หมู่ไม้ผล ห้อยย้อย
                         อยู่ทั้งสองฝั่ง ย่อมทำให้อาศรมของเรางาม.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุโภ กูเลสุ ความว่า ที่ข้างทั้งสองของแม่น้ำนั้นมีต้นไม้ที่มีดอกประจำ มีผลประจำ ห้อยอยู่ทั้งสองฝั่ง คือน้อมลงเบื้องล่างที่ฝั่งทั้งสองของแม่น้ำ ย่อมทำให้อาศรมของเรางาม.
                         ไม้มะม่วง ไม้รัง หมากเม่า แคฝอย ไม้ย่างทราย บานอยู่เป็น
                         นิจ มีกลิ่นหอมดุจกลิ่นทิพย์ ฟุ้งตลบไปในอาศรมของเรา.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อมฺพา เป็นต้น ความว่า มะม่วงเป็นพวงมีรสหวานอร่อย ต้นรัง ต้นหมากเม่า ต้นแคฝอย ต้นย่างทราย ต้นไม้เหล่านี้มีดอกบานอยู่เป็นนิจ. มีกลิ่นหอมเหมือนกลิ่นทิพย์ ฟุ้ง คือฟุ้งตลบไปรอบๆ อาศรมของเรา.
                         ไม้จำปา ไม้อ้อยช้าง ไม้กระทุ่ม กากะทิง บุนนาคและลำเจียก
                         บานสะพรั่งมีกลิ่นหอมดังกลิ่นทิพย์ ฟุ้งไปในอาศรมของเรา.

               ในคาถานั้นมีอธิบายว่า
               ไม้จำปา ไม้อ้อยช้าง ไม้กระทุ่มมีดอกเหมือนวงกลมทองคำ ไม้กากะทิง ไม้บุนนาคและไม้ลำเจียกหอม ไม้ทั้งหมดนี้มีดอกบาน คือบานสะพรั่ง กลิ่นตลบคือส่งกลิ่นหอมฟุ้งไปในอาศรมของเรา เหมือนกลิ่นทิพย์.
                         ต้นลำดวน ต้นอโศก ต้นกุหลาบ ไม้ปรู และไม้มะกล่ำ
                         หลวง มีดอกบานสะพรั่งอยู่ใกล้อาศรมของเรา.

               ในคาถานั้น เชื่อมความว่า ต้นลำดวนดอกบาน ต้นอโศกดอกบาน ต้นกุหลาบดอกบาน ต้นปรูดอกบานและมะกล่ำหลวงดอกบาน ไม้เหล่านี้บานสะพรั่งงดงามอยู่ใกล้อาศรมของเรา.
                         การะเกด พะยอมขาว พิกุล และมะลิซ้อน ส่ง
                         กลิ่นหอมอบอวล ทำอาศรมของเราให้งดงาม.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เกตกา ได้แก่ กอสุคนธการะเกด. อธิบายว่า ต้นพะยอมขาว พิกุล กอมะลิซ้อน รุกขชาติทั้งหมดนี้ส่งกลิ่นหอมตลบ ทำให้อาศรมของเรางามไปทั่ว.
                         ไม้เจตพังคี ไม้กรรณิการ์ ไม้ประดู่ และไม้อัญชันเป็น
                         อันมาก ส่งกลิ่นหอมฟุ้ง ทำให้อาศรมของเรางาม.

               เชื่อมความว่า ไม้ทั้งหลายมีเจตพังคีเป็นต้นเหล่านี้ ทำอาศรมของเราให้งามไปทั่ว ส่งกลิ่นหอมอบอวลอยู่.
                         บุนนาค บุนนาคเขา และต้นโกวิฬาร์ (ไม้สวรรค์) ดอก
                         บานสะพรั่ง หอมตลบอบอวล ทำอาศรมของเราให้งาม.

               อธิบายว่า ต้นไม้ทั้งหลายมีบุนนาคเป็นต้น ส่งกลิ่นหอมตลบ ทำให้อาศรมของเรางาม.
                         ไม้ราชพฤกษ์ อัญชันเขียว ไม้กระทุ่ม และพิกุล
                         มีมาก ส่งกลิ่นหอมฟุ้ง ทำอาศรมของเราให้งาม.

               เชื่อมความว่า ต้นไม้ทั้งหลายมีต้นราชพฤกษ์เป็นต้น ส่งกลิ่นหอมตลบ ทำให้อาศรมของเรางาม.
                         ถั่วดำ ถั่วเหลือง กล้วย และมะกรูด เจริญเติบโต
                         ด้วยน้ำหอม ออกผลสะพรั่ง.

               ในคาถานั้นมีใจความว่า พุ่มถั่วดำเป็นต้นเหล่านี้ เจริญเติบโตด้วยน้ำหอมแห่งเครื่องหอมมีจันทน์เป็นต้น ทรงผลดุจทอง ทำให้อาศรมของเรางดงาม.
                         ปทุมอย่างหนึ่งบาน ปทุมอย่างหนึ่งกำลังเกิด
                         ปทุมอย่างหนึ่งดอกร่วง บานอยู่ในบึงในกาลนั้น.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อญฺเญ ปุปฺผนฺติ ปทุมา ความว่า ในบึง ในที่ไม่ไกลอาศรมของเรา ปทุมอย่างหนึ่งคือบางพวกบาน ปทุมบางพวกเกิดอยู่คือบังเกิดอยู่ ปทุมบางพวกมีดอกร่วงคือมีเกสรในกลีบโรยไป.
                         ปทุมกำลังเผล็ดดอกตูม เหง้าบัวไหลไป กระจับ
                         เกลื่อนด้วยใบ งามอยู่ในบึง ในกาลนั้น.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า คพฺภํ คณฺหนฺติ ปทุมา ความว่า ในกาลนั้น คือในสมัยที่เราเป็นดาบสอยู่ ปทุมบางเหล่ากำลังเผล็ดดอกตูมอยู่ในภายในบึง เหง้าบัวคือรากปทุม กำลังไหลไปคือไหลไปจากภายในเปือกตมนี้เหมือนงาช้าง. ความว่า กระจับทั้งหลายเป็นกอ ดารดาษด้วยใบและดอก งดงามอยู่.
                         ไม้ตาเสือ จงกลนี ไม้อุตตรี และชบา บานอยู่ในบึง
                         ส่งกลิ่นหอมตลบอยู่ในกาลนั้น.

               อธิบายความว่า ในกาลนั้น คือในสมัยที่เราอยู่ ณ ที่ใกล้บึง กอตาเสือ กอจงกลนี กอชื่ออุตตรี และกอชบา กอไม้ทั้งหมดนี้บานคือออกดอก พาเอากลิ่นหอมมา ทำบึงให้งดงาม.
                         ปลาสลาด ปลากระบอก ปลาสวาย ปลาเค้า ปลาตะเพียน
                         ปลาสังกุลา และปลารำพัน ย่อมอยู่ในบึง ในกาลนั้น.

               เชื่อมความว่า ในกาลนั้น คือในสมัยที่เราอยู่ หมู่ปลามีปลาสลาดเป็นต้น ไม่กลัวย่อมอยู่ในบึง.
                         ฝูงจระเข้ ปลาฉลาม ปลาฉนาก ผีเสื้อน้ำ เต่า
                         และงูเหลือม ย่อมอยู่ในบึง ในกาลนั้น.

               เชื่อมความว่า ในกาลนั้น คือในสมัยที่เราอยู่ ฝูงปลามีจระเข้เป็นต้นเหล่านี้ ไม่กลัว ไม่มีอันตราย ย่อมอยู่ในบึง ใกล้อาศรมของเรา.
                         ฝูงนกคับแค นกเป็ดน้ำ นกจากพรากที่เที่ยวไปในน้ำ
                         นกดุเหว่า นกแขกเต้า และนกสาลิกา ย่อมอาศัยเลี้ยงชีวิต
                         อยู่ใกล้สระนั้น.

               ในคาถานั้น เชื่อมความว่า นกคับแค นกเป็ดน้ำ นกจากพรากที่เที่ยวไปในน้ำ นกดุเหว่า นกแขกเต้า และนกสาลิกา อาศัยสระใกล้อาศรมของเรา คือเข้าไปอาศัยสระนั้นเป็นอยู่.
                         ฝูงนกกวัก ไก่ฟ้า นกกะลิงป่า นกต้อยตีวิด
                         นกแขกเต้า ย่อมอาศัยสระนั้นเลี้ยงชีวิต.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กุกุตฺถกา ได้แก่ นกที่มีชื่ออย่างนั้น.
               บทว่า กุฬีรกา ได้แก่ นกที่มีชื่ออย่างนั้น.
               เชื่อมความว่า นกกะลิงป่า นกต้อยตีวิดและนกแขกเต้า นกทั้งหมดนี้ย่อมอาศัยสระใกล้อาศรมของเรานั้นเป็นอยู่.
                         ฝูงหงส์ นกกระเรียน นกยูง นกดุเหว่า ไก่ นกค้อนหอย
                         นกโพระดก ย่อมอาศัยเลี้ยงชีวิตอยู่ใกล้สระนั้น.

               อธิบายว่า ฝูงนกมีหงส์เป็นต้นเหล่านี้ทั้งหมด เข้าไปอาศัยสระนั้นเป็นอยู่ คือเลี้ยงชีวิตอยู่.
                         ฝูงนกแสก นกหัวขวาน นกเขาเหยี่ยว และนกกาน้ำ
                         นกมากมาย เข้าไปอาศัยเลี้ยงชีวิตอยู่ใกล้สระนั้น.

               ในคาถานั้นมีอธิบายว่า นกแสก นกหัวขวาน นกเขา นกเหยี่ยวและนกกาน้ำ นกมากมายบนบก ย่อมเป็นอยู่ คือสำเร็จความเป็นอยู่ ณ สระนั้น คือ ณ ที่ใกล้สระนั้น.
                         เนื้อฟาน หมู จามรี กวาง ละมั่ง เนื้อทรายเป็นอันมาก
                         เลี้ยงชีวิตอยู่ใกล้สระนั้น.

               ในคาถานั้นมีใจความว่า มฤคเหล่านี้มีเนื้อฟานเป็นต้น เลี้ยงชีวิตอยู่ ณ สระนั้น คือใกล้สระนั้น. ทุติยาวิภัตติใช้ในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ.
                         ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี หมาใน เสือดาว โขลงช้าง
                         แยกกันเป็น ๓ พวก อาศัยเลี้ยงชีวิตอยู่ใกล้สระนั้น.

               เชื่อมความว่า สัตว์จตุบทมีสีหะเป็นต้นเหล่านี้ เว้นจากอันตราย เป็นอยู่ใกล้สระนั้น.
                         พวกกินนร วานร คนทำงานในป่า สุนัขไล่เนื้อ
                         และนายพราน ย่อมอาศัยเป็นอยู่ใกล้สระนั้น.

               ในคาถานี้มีความหมายว่า สัตว์เหล่านี้มีกินนรเป็นต้นซึ่งมีชื่ออย่างนี้ ย่อมอยู่ใกล้สระนั้น.
                         มะพลับ มะหาด มะซาง หมากเม่า เผล็ดผลอยู่
                         เป็นนิจ ในที่ไม่ไกลจากอาศรมของเรา.

               ในคาถานั้น เชื่อมความว่า ไม้ทั้งหลายมีมะพลับเป็นต้นเหล่านี้ เผล็ดผลมีรสอร่อย ในที่ไม่ไกลจากอาศรมของเรา ตลอดกาลทั้ง ๓ คือฤดูหนาว ฤดูร้อนและฤดูฝน เป็นประจำ.
                         ต้นคำ ต้นสน ต้นสะเดา สะพรั่งด้วยผลมีรสหวาน
                         เผล็ดผลเป็นประจำอยู่ในที่ไม่ไกลอาศรมของเรา.

               ในคาถานั้นมีความว่า ต้นไม้ทั้งหลายมีต้นคำเป็นต้นเหล่านี้ มีผลเป็นสำคัญ มีผลอร่อย มีผลอันอุดมมาร่วมกัน คือประกอบพร้อมดี ได้แก่สะพรั่งพร้อม เผล็ดผลเป็นประจำ งดงามอยู่ในที่ใกล้อาศรมของเรา.
                         ต้นสมอ มะขามป้อม มะม่วง หว้า สมอพิเภก กระเบา
                         ไม้รกฟ้า และมะตูม ต้นไม้เหล่านั้นเผล็ดผลอยู่.

               เชื่อมความว่า ต้นไม้มีสมอเป็นต้นเหล่านั้น เกิดอยู่ในที่ใกล้อาศรมของเรา เผล็ดผลอยู่เป็นนิจ.
                         เหง้ามัน มันอ้อน นมแมว มันนก กะเม็ง และคัดมอน
                         มีอยู่มากมายใกล้อาศรมของเรา.

               เชื่อมความว่า มูลผลทั้งหลายมีเหง้ามันเป็นต้นเหล่านี้ หวาน มีรสอร่อย มีอยู่เป็นอันมาก ณ ที่ใกล้อาศรมของเรา.
                         ณ ที่ไม่ไกลอาศรมของเรา มีสระน้ำสร้างไว้ดีแล้ว
                         มีน้ำใสเย็น มีท่าน้ำราบเรียบ เป็นที่รื่นรมย์ใจ.

               ในคาถานั้น มีความว่า ในที่ไม่ไกลอาศรม คือในที่ใกล้อาศรมได้มีสระน้ำสร้างไว้ดีแล้ว คือเขาสร้างให้ควรแก่การขึ้นและการลงด้วยดี มีน้ำใสคือมีน้ำใสแจ๋ว น้ำเย็น มีท่าราบเรียบ คือมีท่าดี เป็นที่รื่นรมย์ใจ คือกระทำความโสมนัสให้.
                         ดารดาษด้วยปทุมและอุบล สะพรั่งด้วยบุณฑริก
                         ปกคลุมด้วยบัวขมและบัวเผื่อน กลิ่นหอมตลบไป.

               ในคาถานั้นมีความว่า สระทั้งหลายดารดาษ คือบริบูรณ์ด้วยปทุมบัวหลวงและอุบลบัวขาว ประกอบคือสะพรั่งด้วยบุณฑริกบัวขาว เกลื่อนกลาดคือเป็นกลุ่มๆ ด้วยบัวขมและบัวเผื่อน กลิ่นหอมฟุ้งตลบคือฟุ้งไปรอบด้าน.
                         ในกาลนั้น เราอยู่ในอาศรมที่สร้างไว้อย่างดี น่ารื่นรมย์ใน
                         ป่าที่มีดอกไม้บาน สมบูรณ์ด้วยองค์ประกอบทั้งมวลอย่างนี้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอวํ สพฺพงฺคสมฺปนฺเน ความว่า ในกาลนั้น คือในกาลเป็นดาบสอยู่ในอาศรม คือในอรัญวาสอันน่ารื่นรมย์ที่สร้างอย่างดี ในป่าอันเป็นชัฏด้วยไม้ดอกและไม้ผล สมบูรณ์คือบริบูรณ์ด้วยองค์ประกอบมีแม่น้ำเป็นต้นทุกชนิด.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค ๓. สารีปุตตเถราปทาน (๑)
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 2อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 3อ่านอรรถกถา 32 / 4อ่านอรรถกถา 32 / 412
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=290&Z=675
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=49&A=6204
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=49&A=6204
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :