ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 5อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 6อ่านอรรถกถา 32 / 7อ่านอรรถกถา 32 / 412
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค
๖. อนุรุทธเถราปทาน (๔)

               ๔. พรรณนาอนุรุทธเถราปทาน               
               คำมีอาทิว่า สุเมธํ ภควนฺตาหํ ดังนี้ เป็นอปทานของท่านพระอนุรุทธเถระ.
               แม้ท่านพระอนุรุทธเถระนี้ ก็ได้กระทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าแต่ปางก่อนทั้งหลาย ก่อสร้างบุญทั้งหลายอันเป็นอุปนิสัยแก่พระนิพพานไว้ในภพนั้นๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ อันสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ.
               พอเจริญวัยแล้ว วันหนึ่ง ไปวิหารฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา เห็นพระภิกษุรูปหนึ่ง พระศาสดาทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเลิศแห่งภิกษุทั้งหลายผู้มีจักษุทิพย์ แม้ตนเองก็ปรารถนาตำแหน่งนั้น จึงยังมหาทานให้เป็นไป ๗ วันแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งมีภิกษุบริวารแสนหนึ่ง ในวันที่ ๗ ได้ถวายผ้าชั้นสูงสุดแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์ แล้วได้ทำความปรารถนาไว้.
               ฝ่ายพระศาสดาก็ได้ทรงเห็นความสำเร็จของเขาโดยไม่มีอันตราย จึงทรงพยากรณ์ว่า จักเป็นผู้เลิศแห่งผู้มีทิพยจักษุทั้งหลาย ใน ศาสนาของพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า ในอนาคตกาล.
               แม้เขาก็กระทำบุญทั้งหลายในพระศาสนานั้น เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว ได้ทำการบูชาด้วยประทีปอันโอฬารที่สถูปทองขนาด ๗ โยชน์ด้วยประทีปต้นและประทีปกระเบื้องกับถาดสำริดเป็นอันมาก ด้วยอธิษฐานว่า จงเป็นอุปนิสัยแก่ทิพยจักษุญาณ.
               เขากระทำบุญทั้งหลายอยู่ตลอดชีวิต ด้วยประการอย่างนี้ ท่องเที่ยวอยู่ในเทวดาและมนุษย์ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสป บรรลุความเป็นผู้รู้เดียงสาในเรือนของกุฎุมพี ณ นครพาราณสี.
               เมื่อพระศาสดาปรินิพพาน เมื่อสถูปทองขนาด ๑ โยชน์สำเร็จแล้ว จึงเอาถาดสำริดจำนวนมากมาบรรจุให้เต็มด้วยเนยใสอันใสแจ๋วและให้วางก้อนน้ำอ้อยงบก้อนหนึ่งๆ ไว้ตรงกลาง ให้ขอบปากกับขอบปากจรดกัน แล้วให้ตั้งล้อมพระเจดีย์. ให้เอาถาดสำริดที่ตนถือบรรจุด้วยเนยใสอันใสแจ๋วให้เต็ม จุดไฟพันไส้แล้ววางใว้บนศีรษะ เดินเวียนพระเจดีย์อยู่ตลอดคืน.
               ในอัตภาพแม้นั้นก็กระทำกุศลอย่างนั้นจนตลอดชีวิต แล้วบังเกิดในเทวโลก ดำรงอยู่ในเทวโลกนั้นตลอดชั่วอายุ จุติจากเทวโลกนั้น เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติ ได้บังเกิดในตระกูลเข็ญใจ ในนครพาราณสีนั่นแหละ.
               เขาได้มีชื่อว่า อันนภาระ. นายอันนภาระนั้นกระทำการงานเลี้ยงชีวิตอยู่ในเรือนของเศรษฐีชื่อว่าสุมนะ.
               วันหนึ่ง เขาเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้านามว่าอุปริฏฐะ ออกจากนิโรธสมาบัติ เหาะมาจากภูเขาคันธมาทน์ ลงที่ประตูเมืองพาราณสี ห่มจีวรแล้วบิณฑบาตในนคร มีใจเลื่อมใส จึงรับบาตรแล้วใส่ภัตอันเป็นส่วนแบ่งที่เขาเก็บไว้เพื่อประโยชน์แก่ตน เริ่มประสงค์จะถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า.
               ฝ่ายภรรยาของเขาก็ใส่ภัตอันเป็นส่วนแบ่งของตนลงในบาตรนั้นเหมือนกัน เขาจึงนำบาตรนั้นไปวางไว้ในมือของพระปัจเจกพุทธเจ้า.
               พระปัจเจกพุทธเจ้ารับบาตรนั้น กระทำอนุโมทนาแล้วหลีกไป.
               วันนั้น เทวดาผู้สิงอยู่ที่ฉัตรของสุมนเศรษฐี อนุโมทนาด้วยเสียงอันดังว่า โอ! ทาน เป็นทานอย่างยิ่ง อันนายอันนภาระประดิษฐานไว้ดีแล้วในพระอุปริฏฐะ.
               สุมนเศรษฐีได้ฟังดังนั้นคิดว่า ทานนี้เท่านั้นอันเทวดาอนุโมทนาอย่างนี้ ย่อมเป็นอุดมทาน จึงขอส่วนบุญในทานนั้น.
               ฝ่ายนายอันนภาระก็ได้ให้ส่วนบุญแก่สุมนเศรษฐีนั้น ด้วยเหตุนั้น สุมนเศรษฐีจึงมีใจเลื่อมใสให้ทรัพย์เขาพันหนึ่ง แล้วกล่าวว่า จำเดิมแต่นี้ไป กิจด้วยการทำการงานด้วยมือของตน ย่อมไม่มีแก่ท่าน ท่านจงกระทำเรือนให้เหมาะสมแล้วอยู่ประจำเถิด.
               เพราะเหตุที่บิณฑบาตอันบุคคลถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้ออกจากนิโรธสมาบัติ ย่อมมีวิบากอันโอฬารในวันนั้นนั่นเอง เพราะฉะนั้น สุมนเศรษฐีเมื่อจะไปเฝ้าพระราชา ได้พาเอานายอันนภาระนั้นไปด้วย.
               ฝ่ายพระราชาทอดพระเนตรดูนายอันนภาระนั้นโดยเอื้อเฟื้อ. เศรษฐีกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า นายอันนภาระนี้เป็นผู้ควรจะทอดพระเนตรดูทีเดียว แล้วกราบทูลกรรมที่นายอันนภาระทำในคราวนั้น และความที่แม้ตนก็ได้ให้ทรัพย์พันหนึ่งแก่เขา.
               พระราชาได้ทรงสดับดังนั้น ทรงยินดีแก่เขา ได้ประทานทรัพย์พันหนึ่ง แล้วทรงสั่งสถานที่สร้างเรือนแก่เขาว่า เธอจงสร้างเรือนอยู่ในที่โน้น.
               เมื่อนายอันนภาระนั้นให้ชำระสถานที่นั้นอยู่ หม้อขุมทรัพย์ใหญ่ๆ หลายหม้อผุดขึ้นแล้ว. เขาเห็นดังนั้นจึงกราบทูลแด่พระราชา. พระราชารับสั่งให้ขนทรัพย์ทั้งหมดขึ้นมา ทรงเห็นเขาทำเป็นกองไว้ จึงตรัสถามว่า ทรัพย์มีประมาณเท่านี้มีในเรือนของใครในนครนี้บ้าง. ประชาชนพากันกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ในเรือนของใครไม่มี พระเจ้าข้า.
               พระราชาตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น นายอันนภาระนี้จงเป็นเศรษฐีชื่อว่าอันนภารเศรษฐี ในนครนี้ แล้วทรงให้ยกฉัตรเศรษฐีแก่เขาในวันนั้นเอง.
               เขาเป็นเศรษฐีแล้วกระทำกรรมอันงามอยู่ชั่วอายุ แล้วบังเกิดในเทวโลกท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ตลอดกาลนาน ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายเสด็จอุบัติขึ้น จึงถือปฏิสนธิในวังของพระเจ้าสุกโกทนศากยะในนครกบิลพัสดุ์.
               พระญาติทั้งหลายได้ขนานนามแก่เขาผู้เกิดแล้วว่า อนุรุทธะ.
               เจ้าอนุรุทธะนั้นเป็นพระกนิษฐภาดาของพระเจ้ามหานามศากยะ เป็นโอรสของพระเจ้าอาแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง เป็นผู้มีปัญญามาก. ก็พระกระยาหารของพระองค์เกิดขึ้นเฉพาะในถาดทองเท่านั้น.
               ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง พระมารดาของพระองค์ทรงดำริว่า บุตรของเราย่อมไม่รู้บทว่า "ไม่มี" เราจักให้เขารู้ จึงเอาถาดทองใบหนึ่งปิด ถาดทองเปล่าๆ ใบหนึ่ง แล้วส่งไปให้แก่เธอ, ในระหว่างทาง เทวดาทั้งหลายทำถาดทองนั้นให้เต็มด้วยขนมทิพย์. เจ้าอนุรุทธะนั้นมีบุญมากอย่างนี้ อันเหล่าหญิงฟ้อนรำผู้ประดับประดาแวดล้อม เสวยสมบัติใหญ่อยู่ในปราสาท ๓ หลังอันเหมาะแก่ฤดูทั้ง ๓ ประดุจเทวดา.
               พระโพธิสัตว์แม้ของเราทั้งหลายจุติจากดุสิตบุรีในสมัยนั้น บังเกิดในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนมหาราช ทรงถึงความเจริญวัยโดยลำดับ ประทับอยู่ท่ามกลางเรือน ๒๙ พรรษา แล้วเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ทรงแทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณโดยลำดับ ทรงยับยั้งอยู่ที่โพธิมัณฑสถาน ๗ สัปดาห์ แล้วทรงประกาศพระธรรมจักรที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมื่อจะทรงกระทำการอนุเคราะห์ชาวโลก จึงเสด็จไปยังนครราชคฤห์ ประทับอยู่ในพระเวฬุวัน.
               ในกาลนั้น พระเจ้าสุทโธทนมหาราชทรงส่งอำมาตย์ ๑๐ คนมีบริวารคนละพันไปด้วยพระดำรัสว่า ได้ยินว่า บุตรของเราถึงนครราชคฤห์โดยลำดับแล้ว นี่แน่ะนาย ท่านทั้งหลายจงไปนำบุตรของเรามา.
               อำมาตย์เหล่านั้นทั้งหมดพากันบรรพชาด้วยเอหิภิกขุบรรพชา. บรรดาอำมาตย์เหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าอันพระอุทายีเถระทูลอาราธนาขอให้เสด็จจาริกไป ทรงแวดล้อมด้วยพระขีณาสพสองหมื่น เสด็จออกจากนครราชคฤห์ถึงกบิลพัสดุ์บุรี แล้วทรงแสดงปาฏิหาริย์มิใช่น้อยในสมาคมพระญาติ แล้วตรัสธรรมเทศนาอันวิจิตรงดงามด้วยปาฏิหาริย์ ยังมหาชนให้ดื่มน้ำอมฤตแล้ว.
               ในวันที่สอง ทรงถือบาตรและจีวรประทับยืนที่ประตูพระนคร ทรงพระรำพึงว่า พระพุทธเจ้าทุกพระองค์เสด็จมาถึงนครของตระกูลแล้ว ทรงประพฤติอย่างไรหนอ ทรงทราบว่า ประพฤติเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับตรอก จึงเสด็จเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับตรอก.
               พระราชาทรงทราบว่า พระโอรสของพระองค์เที่ยวบิณฑบาตจึงรีบด่วนเสด็จมา ได้ทรงสดับธรรมในระหว่างถนน จึงนิมนต์ให้เสด็จเข้าในนิเวศน์ของพระองค์ ได้ทรงกระทำสักการะสัมมานะใหญ่หลวง. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำการอนุเคราะห์พระญาติอันจะพึงทรงกระทำในที่นั้น แล้วทรงให้ราหุลกุมารบรรพชา ไม่นานนัก พระองค์เสด็จเที่ยวจาริกจากนครกบิลพัสดุ์ไปในมัลลรัฐ เสด็จถึงอนุปิยอัมพวัน.
               สมัยนั้น พระเจ้าสุทโธทนมหาราชรับสั่งให้ประชุมหมู่เจ้าศากยะแล้วตรัสว่า ถ้าบุตรของเราจักครองเรือนแล้ว จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิสมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ มีหมู่กษัตริย์เป็นบริวาร, ราหุลกุมารแม้เป็นหลานของเรา ก็จักได้เที่ยวห้อมล้อมบุตรของเราพร้อมกับหมู่กษัตริย์ แม้ท่านทั้งหลายก็ย่อมรู้เรื่องราวอันนี้ ก็บัดนี้ บุตรของเราเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว กษัตริย์ทั้งหลายเท่านั้นจงเป็นบริวารของบุตรของเรา ท่านทั้งหลายจงให้ทารกคนหนึ่งๆ จากตระกูลหนึ่งๆ.
               เมื่อพระเจ้าสุทโธทนมหาราชตรัสอย่างนี้แล้ว ขัตติยกุมารแปดหมื่นสองพันองค์ พากันบวชพร้อมกัน.
               สมัยนั้น เจ้ามหานามศากยะทรงเป็นเจ้าทรัพย์ ท้าวเธอจึงเสด็จเข้าไปหาเจ้าอนุรุทธศากยะผู้เป็นพระกนิษฐาของพระองค์ แล้วได้ตรัสคำนี้ว่า พ่ออนุรุทธะ บัดนี้ ศากยกุมารผู้มีชื่อเสียงปรากฏพากันบวชตามพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงผนวชแล้ว ก็ใครๆ จากตระกูลของพวกเรา ผู้ จะออกจากเรือนบวชเป็นผู้ไม่มีเหย้าเรือน ย่อมไม่มี ถ้าอย่างนั้น เธอจงบวชหรือพี่จักบวช.
               เจ้าอนุรุทธะได้ฟังดังนั้น ไม่ยินดีในการครองเรือนมีตนเป็นที่ ๗ ออกจากเรือนเป็นผู้ไม่มีเหย้าเรือน.
               ลำดับแห่งการบรรพชาของเจ้าอนุรุทธะนั้น มาแล้วในสังฆเภทกขันธกะนั่นแล.
               ก็บรรดาเจ้าศากยะเหล่านั้นผู้ไปยังอนุปิยอัมพวันแล้วบวชอย่างนั้น พระภัททิยเถระบรรลุพระอรหัตในภายในพรรษานั้นนั่นเอง. พระอนุรุทธเถระทำทิพยจักษุให้บังเกิด พระเทวทัตทำสมาบัติ ๘ ให้บังเกิด พระอานันทเถระตั้งอยู่ในพระโสดาปัตติผล พระภคุเถระและพระกิมพิลเถระบรรลุพระอรหัตในภายหลัง.
               อภินีหารแห่งความปรารถนาในชาติก่อน ของพระเถระแม้ทั้งหมดนั้น จักมีแจ้งในอาคตสถานของตนๆ.
               พระอนุรุทธเถระนี้เรียนพระกรรมฐานในสำนักของพระธรรมเสนาบดี แล้วไปยังปาจีนวังสทายวัน ในเจติยรัฐ บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ ตรึกมหาปุริสวิตกได้ ๗ ข้อ ลำบากในมหาปุริสวิตกข้อที่ ๘.
               พระศาสดาทรงทราบว่า พระอนุรุทธะลำบากในมหาปุริสวิตกข้อที่ ๘ จึงทรงดำริว่า เราจักทำความดำริของอนุรุทธะให้บริบูรณ์ จึงเสด็จไปในที่นั้น ประทับนั่งบนบวรพุทธอาสน์ที่เขาลาดไว้ ตรัสอริยวังสปฏิปทาอันประดับด้วยการอบรมสันโดษในปัจจัย ๔ เป็นที่มายินดี ทรงทำมหาปุริสวิตกข้อที่ ๘ ให้บริบูรณ์ แล้วเหาะขึ้นสู่อากาศเสด็จไปเฉพาะเภสกลาวันนั่นแล.
               พระเถระ พอเมื่อพระศาสดาเสด็จไปแล้วเท่านั้น ได้เป็นพระมหาขีณาสพมีวิชชา ๓ คิดว่า พระศาสดาทรงทราบใจของเราจึงได้เสด็จมาประทานมหาปุริสวิตกข้อที่ ๘ ให้บริบูรณ์ ก็มโนรถของเรานั้นถึงที่สุดแล้วได้ปรารภพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า และปฏิเวธธรรมของตน จึงได้กล่าวอุทานคาถาเหล่านี้ว่า
                                   พระศาสดาผู้ยอดเยี่ยมในโลก ทรงรู้ความดำริของเรา
                         ได้เสด็จเข้าไปหาด้วยพระฤทธิ์ทางกายอันสำเร็จด้วยใจ เรา
                         ได้มีความดำริในกาลใด ในกาลนั้น ได้ทรงแสดงให้ยิ่งกว่า
                         นั้น.
                                   พระพุทธเจ้าผู้ยินดีในธรรมอันไม่มีความเนิ่นช้า ได้
                         ทรงแสดงธรรมอันไม่มีความเนิ่นช้า เรารู้ทั่วถึงธรรมของ
                         พระองค์ ยินดีในพระศาสนาอยู่ วิชชา ๓ เราบรรลุแล้ว
                         คำสอนของพระพุทธเจ้าเราทำเสร็จแล้ว.

               ครั้นในกาลต่อมา พระศาสดาประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ทรงตั้งพระอนุรุทธเถระนั้นไว้ในตำแหน่งอันเลิศว่า อนุรุทธะเป็นเลิศแห่งภิกษุทั้งหลายผู้มีจักษุทิพย์.
               พระอนุรุทธเถระนั้น ครั้นได้ตำแหน่งเลิศแห่งภิกษุผู้มีจักษุทิพย์จากสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้แล้ว ระลึกถึงบุรพกรรมของตน เมื่อจะประกาศอปทานแห่งความประพฤติก่อน ด้วยอำนาจความโสมนัสจึงกล่าวคำมีอาทิว่า สุเมธํ ภควนฺตาหํ ดังนี้.
               ในคำนั่นเชื่อมความว่า
               เมธาดี กล่าวคือปัญญาในการให้เข้าไปคอยปฏิบัติ ปัญญาในมรรคผล ปัญญาในวิปัสสนาและปฏิสัมภิทาเป็นต้น มีอยู่แก่พระผู้มีพระภาคเจ้าใด พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ชื่อว่าสุเมธะผู้มีปัญญาดี, เราได้เห็นพระสุเมธะนั้นชื่อว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะทรงถึงพร้อมด้วยภาคยะคือบุญ ผู้เจริญที่สุดคือประเสริฐสุด ได้แก่เป็นประธานของโลก คือทรงออกจากสงสารก่อน ผู้องอาจคือไปเบื้องหน้าแห่งนรชนทั้งหลาย ผู้หลีกออก คือเป็นผู้สงัด ได้แก่ผู้ปราศจากความยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่คณะอยู่.
               ความว่า เข้าไปใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ชื่อว่าสัมพุทธะ เพราะตรัสรู้ธรรมทั้งปวงด้วยพระองค์เอง.
               บทว่า อญฺชลึ ปคฺคเหตฺวาน ความว่า ประนมนิ้วทั้ง ๑๐ ไว้เหนือศีรษะ.
               คำที่เหลือมีเนื้อความง่ายทั้งนั้น.
               บทว่า ทิวา รตฺติญฺจ ปสฺสามิ ความว่า ในกาลนั้น คือในกาลเกิดขึ้นในเทวโลกและมนุษยโลก เราย่อมมองเห็นได้โยชน์หนึ่งโดยรอบด้วยมังสจักษุ.
               บทว่า สหสฺสโลกํ ญาเณน ความว่า เราแลเห็นตลอดพันจักรวาลด้วยปัญญาจักษุ.
               บทว่า สตฺถุ สาสเน ได้แก่ ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าโคดม ณ บัดนี้.
               นี้เป็นผลแห่งการถวายประทีป คือบูชาด้วยประทีป อธิบายว่า ด้วยผลนี้ เราจึงบรรลุ คือได้ทำทิพยจักษุให้เกิดขึ้น.
               จบพรรณนาอนุรุทธเถราปทาน               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค ๖. อนุรุทธเถราปทาน (๔) จบ.
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 5อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 6อ่านอรรถกถา 32 / 7อ่านอรรถกถา 32 / 412
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=757&Z=782
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=49&A=8064
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=49&A=8064
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :