ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑]อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 32 / 2อ่านอรรถกถา 32 / 412
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค
๑. พุทธาปทาน

               วิสุทธชนวิลาสินี               
               อรรถกถาขุททกนิกาย อปทาน               
               ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น               
               คาถาเริ่มต้นพระคัมภีร์               
                         ข้าพเจ้าขอไหว้พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด หาบุคคล
               เปรียบปานมิได้ ผู้เสด็จขึ้นสู่สาครคือไญยธรรม ผู้ข้ามสาคร
               คือสงสารได้แล้ว ด้วยเศียรเกล้า.
                         ขอไหว้พระธรรมอันยอดเยี่ยมสงบละเอียดลึกซึ้ง เห็น
               ได้แสนยาก อันกระทำภพน้อยและภพใหญ่ให้บริสุทธิ์ ซึ่ง
               พระสัมพุทธเจ้าบูชาแล้ว ด้วยเศียรเกล้า.
                         ขอไหว้พระสงฆ์ผู้ปราศจากทุกข์ ไม่มีเครื่องข้องคือ
               กิเลส ผู้เป็นทักขิไณยบุคคลผู้สูงสุด มีอินทรีย์สงบ ผู้ปราศ
               จากอาสวะ ด้วยเศียรเกล้า.
                         ด้วยการนอบน้อมพระรัตนตรัยอันวิเศษซึ่งข้าพเจ้า
               ได้ตั้งใจกระทำโดยพิเศษนั้น ข้าพเจ้าอันพระเถระทั้งหลาย
               ผู้เป็นปราชญ์ยิ่งกว่าปราชญ์ ผู้รู้อาคมคือพระปริยัติ ผู้เป็น
               วิญญูชนมียศใหญ่ ได้ขอร้องด้วยการเอื้อเฟื้อแล้วๆ เล่าๆ
               เป็นพิเศษว่า ท่านขอรับ ท่านควรแต่งอรรถกถาอปทาน ว่า
               ด้วยเรื่องราวที่เคยประพฤติมาในกาลก่อน.
                         เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจักแสดงอรรถสังวรรณนาอัน
               งดงามแห่งอปทาน ว่าด้วยเรื่องราวที่เคยประพฤติมาในกาล
               ก่อน ซึ่งแสดงข้อแนะนำอันพิเศษในพระไตรปิฎกที่ยังเหลือ
               อยู่ตามนัยแห่งพระบาลีทีเดียว โดยกล่าวถึงด้วยวิธีนี้ว่า เรื่อง
               ราวอันดีเยี่ยมนี้ใครกล่าว กล่าวไว้ที่ไหน เมื่อไรและเพื่ออะไร.
                         เพราะฉะนั้น เพื่อความเป็นผู้ฉลาดในนิทานทั้งหลาย
               ข้าพเจ้าจะกล่าววิธีนั้นๆ อันแปลกจากกันตามที่เกิดก่อนหลัง
               จะเป็นเครื่องทำให้การเล่าเรียนและทรงจำได้ง่ายขึ้น.
                         ในชั้นเดิม เรื่องราวนั้นท่านรจนาไว้ในภาษาสิงหล
               และในอรรถกถาของเก่า ย่อมไม่ให้สำเร็จประโยชน์ตามที่
               สาธุชนต้องการ เหตุนั้น ข้าพเจ้าจักอาศัยนัยตามอรรถกถา
               ของเก่านั้น เว้นข้อความที่คลาดเคลื่อนเสีย ประกาศแต่เนื้อ
               ความที่พิเศษออกไป จักกระทำการพรรณนาเนื้อความที่
               แปลกและดีที่สุดแล.

               นิทานกถา               
               ก็เพราะเหตุที่ได้ปฏิญาณไว้ว่า "เรื่องราวอันดีเยี่ยมนี้ ใครกล่าว กล่าวไว้ที่ไหนและกล่าวไว้เมื่อไร " และว่า "ข้าพเจ้าจักทำการพรรรนาเนื้อความ" ดังนี้ การพรรณนาเนื้อความแห่งอปทานนี้นั้น เมื่อข้าพเจ้าแสดงนิทานทั้งสามนี้ คือทูเรนิทาน (นิทานในกาลไกล) อวิทูเรนิทาน (นิทานในกาลไม่ไกล) สันติเกนิทาน (นิทานในกาลใกล้) พรรณนาอยู่ จักทำให้เข้าใจได้แจ่มแจ้งดี เพราะผู้ฟังอปทานนั้น เข้าใจแจ่มแจ้งมาแต่เริ่มต้น เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงจักแสดงนิทานเหล่านั้น แล้วจึงจะพรรณนาอปทานนั้นต่อไป.
               บรรดานิทานนั้น เบื้องต้นพึงทราบปริเฉทคือการกำหนดขั้นตอนของนิทานเหล่านั้นเสียก่อน. ก็กถามรรคที่เล่าเรื่องตั้งแต่พระมหาสัตว์กระทำอภินิหาร ณ เบื้องบาทมูลแห่งพระพุทธทีปังกรจนถึงจุติจากอัตภาพพระเวสสันดรบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต จัดเป็นทูเรนิทาน. กถามรรคที่เล่าเรื่องตั้งแต่จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต จนถึงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณที่ควงไม้โพธิ์ จัดเป็นอวิทูเรนิทาน. ส่วนสันติเกนิทานจะหาได้ในที่นั้นๆ แห่งพระองค์เมื่อประทับอยู่ในที่นั้นๆ แล.

               ทูเรนิทานกถา               
               ในนิทานเหล่านั้น ที่ชื่อว่าทูเรนิทานมีดังต่อไปนี้
               เล่ากันมาว่า ในที่สุดสี่อสงไขยยิ่งด้วยกำไรแสนกัปนับแต่ภัทรกัปนี้ไป ได้มีนครหนึ่งนามว่า อมรวดี ในนครนั้น มีพราหมณ์ชื่อสุเมธ อาศัยอยู่ เขามีกำเนิดมาดีจากทั้งสองฝ่ายคือฝ่ายมารดาและฝ่ายบิดา มีครรภ์อันบริสุทธิ์นับได้เจ็ดชั่วตระกูล ใครๆ จะคัดค้านดูถูกเกี่ยวกับเรื่องชาติมิได้ มีรูปสวยน่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยผิวพรรณอันงามยิ่ง เขาไม่กระทำการงานอย่างอื่นเลย ศึกษาแต่ศิลปะของพราหมณ์เท่านั้น.
               มารดาบิดาของเขาได้ถึงแก่กรรมเสียตั้งแต่เขายังรุ่นหนุ่ม ต่อมาอำมาตย์ผู้จัดการผลประโยชน์ของเขานำเอาบัญชีทรัพย์สินมา เปิดห้องอันเต็มด้วยทอง เงิน แก้วมณีและแก้วมุกดาเป็นต้น แล้วบอกให้ทราบถึงทรัพย์ตลอดเจ็ดชั่วตระกูลว่า ข้าแต่กุมาร ทรัพย์สินเท่านี้เป็นของมารดา เท่านี้เป็นของบิดา เท่านี้เป็นของปู่ตาและทวด แล้วเรียนว่า ขอท่านจงครอบครองทรัพย์สินมีประมาณเท่านี้เถิด.
               สุเมธบัณฑิตคิดว่า บิดาและปู่เป็นต้นของเราสะสมทรัพย์นี้ไว้แล้ว เมื่อไปสู่ปรโลกจะถือเอาแม้ทรัพย์กหาปณะหนึ่งไปด้วยก็หามิได้ แต่เราควรจะทำเหตุที่จะถือเอาทรัพย์ไปให้ได้ ครั้นคิดแล้วเขาจึงกราบทูลแด่พระราชา ให้ตีกลองป่าวร้องไปในพระนคร ให้ทานแก่มหาชน แล้วบวชเป็นดาบส.
               ก็เพื่อที่จะให้เนื้อความนี้แจ่มแจ้ง ควรจะกล่าวสุเมธกถาไว้ ณ ที่นี้ด้วย.
               แต่สุเมธกถานี้นั้นมีมาแล้วในพุทธวงศ์โดยสิ้นเชิงก็จริง ถึงกระนั้นก็ไม่ค่อยจะปรากฏชัดแจ้งนัก เพราะมีมาโดยเป็นคาถาประพันธ์ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจักกล่าวสุเมธกถานั้น พร้อมทั้งคำที่แสดงคาถาประพันธ์ไว้ในระหว่างๆ ด้วย.

               สุเมธกถา               
               ก็ในที่สุดแห่งสี่อสงไขยยิ่งด้วยกำไรอีกแสนกัป ได้มีพระนครได้นามว่า อมรวดี และอีกนามหนึ่งว่า อมร อึกทึกไปด้วยเสียง ๑๐ ประการซึ่งท่านหมายกล่าวไว้ในพุทธวงศ์ว่า
                         ในสี่อสงไขยยิ่งด้วยกำไรแสนกัป มีพระนครหนึ่งนามว่า อมร
                         เป็นเมืองสวยงามน่าดู น่ารื่นรมย์ใจ สมบูรณ์ด้วยข้าวและน้ำ
                         อึกทึกไปด้วยเสียง ๑๐ ประการ.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทสหิ สทฺเทหิ อวิวิตฺตํ ความว่า ได้เป็นเมืองอึกทึกด้วยเสียงทั้ง ๑๐ ประการเหล่านี้ คือ เสียงช้าง เสียงม้า เสียงรถ เสียงกลอง เสียงตะโพน เสียงพิณ เสียงขับร้อง เสียงสังข์ เสียงสัมตาล (ดนตรีชนิดหนึ่งทำด้วยไม้) และเสียงที่ ๑๐ ว่า เชิญกิน เชิญดื่ม เชิญขบเคี้ยว. ก็ท่านถือเอาเพียงเอกเทศของเสียง ๑๐ ประการนั้นเท่านั้น แล้วกล่าวคาถานี้ไว้ในพุทธวงศ์ว่า
                         กึกก้องด้วยเสียงช้าง เสียงม้า เสียงกลอง เสียงสังข์
               เสียงรถ และเสียงเชิญด้วยข้าวและน้ำว่า เชิญกิน เชิญดื่ม.
               แล้วจึงกล่าวต่อไปว่า
                         พระนครอันสมบูรณ์ด้วยองค์ประกอบทุกประการ
               เพียบพร้อมด้วยกิจการทั้งปวง สมบูรณ์ด้วยรัตนะทั้ง ๗
               ขวักไขว่ไปด้วยเหล่าชนนานาชาติ มั่งคั่งประหนึ่งเทพนคร
               เป็นที่อยู่อาศัยของคนมีบุญ.
                         ในนครอมรวดี มีพราหมณ์นามว่า สุเมธ มีสมบัติ
               สะสมไว้หลายโกฏิ มีทรัพย์และข้าวเปลือกมากหลาย เป็นผู้
               คงแก่เรียน ทรงจำมนต์ได้ เรียนจบไตรเพท ถึงความสำเร็จ
               ในลักขณศาสตร์ อิติหาสศาสตร์ และธรรมเนียมพราหมณ์
               ของตน.
               อยู่มาวันหนึ่ง สุเมธบัณฑิตนั้นอยู่ในที่ลับ ณ พื้นปราสาทชั้นบนอันประเสริฐ นั่งขัดสมาธิคิดอยู่อย่างนี้ว่า ดูก่อนบัณฑิต ธรรมดาว่าการถือปฏิสนธิในภพใหม่เป็นทุกข์ การแตกทำลายแห่งสรีระในที่ที่เกิดแล้วๆ ก็เป็นทุกข์เหมือนกัน อันตัวเราย่อมมีความเกิด ความแก่ ความเจ็บไข้ ความตายเป็นธรรมดา เราผู้เป็นอย่างนี้ควรแสวงหาอมตมหานิพพานอันไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ไม่มีทุกข์ มีความสุข เยือกเย็น เป็นทางสายเดียวที่พ้นจากภพ มีปกตินำไปสู่พระนิพพาน จะพึงมีแน่นอน.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
                         ตอนนั้น เราอยู่ในที่สงบนั่งคิดอย่างนี้ว่า การเกิดในภพ
               ใหม่ และการแตกทำลายของสรีระเป็นทุกข์. เรานั้นมีความเกิด
               ความแก่ ความเจ็บไข้เป็นธรรมดา จักแสวงหาพระนิพพาน อัน
               ไม่แก่ ไม่ตาย เป็นแดนเกษม.
                         ไฉนหนอ เราพึงไม่เยื่อใย ไร้ความต้องการ ละทิ้งร่างกาย
               เน่าซึ่งเต็มด้วยซากศพนานาชนิดนี้เสีย แล้วไปเสีย ทางนั้นมีอยู่
               และจักมี ทางนั้นไม่อาจเป็นเหตุหามิได้ เราจักแสวงหาทางนั้น
               เพื่อหลุดพ้นจากภพให้ได้.
               ต่อแต่นั้น ก็คิดให้ยิ่งขึ้นไปอีกอย่างนี้ว่า เหมือนอย่างว่า ชื่อว่าสุข เป็นปฏิปักษ์ต่อทุกข์ ย่อมมีอยู่ในโลกฉันใด เมื่อภพมีอยู่ แม้สิ่งที่ปราศจากภพอันเป็นปฏิปักษ์ต่อภพนั้น ก็พึงมีฉันนั้น และเมื่อความร้อนมีอยู่ แม้ความเย็นอันเป็นเครื่องสงบความร้อนนั้น ก็ย่อมมีอยู่ฉันใด แม้พระนิพพานอันเป็นเครื่องสงบระงับไฟคือราคะเป็นต้น ก็พึงมีฉันนั้น แม้ธรรมอันงดงาม ไม่มีโทษ เป็นปฏิปักษ์ต่อธรรมอันเป็นบาปลามก ก็ย่อมมีอยู่ฉันใด เมื่อความเกิดอันลามกมีอยู่ แม้พระนิพพานกล่าวคือการไม่เกิด เพราะความเกิดทั้งปวงหมดสิ้นไป ก็พึงมีฉันนั้น.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
                                   เมื่อทุกข์มีอยู่ แม้ชื่อว่าสุขก็ย่อมมีฉันใด เมื่อภพมีอยู่
                         แม้ความไม่มีภพ ก็พึงปรารถนาได้ฉันนั้น.
                                   เมื่อความร้อนมีอยู่ ความเย็นอีกอย่าง ก็ต้องมีฉันใด
                         เมื่อไฟสามกองมีอยู่ แม้ความดับเย็น ก็พึงปรารถนาได้
                         ฉันนั้น.
                                   เมื่อความชั่วมีอยู่ ความดีงาม ก็ต้องมีฉันใด เมื่อความ
                         เกิดมีอยู่ แม้ความไม่เกิด ก็พึงปรารถนาได้ฉันนั้น.
               ท่านคิดข้ออื่นต่อไปอีกว่า
               บุรุษผู้ตกลงไปในหลุมคูถ เห็นสระใหญ่ดาดาษด้วยดอกปทุม ๕ สีแต่ไกล ควรแสวงหา (ทางไป) สระนั้นว่า เราจะไปยังสระใหญ่นั้นทางไหนหนอ การไม่แสวงหาสระนั้น หาเป็นโทษผิดของสระไม่ เป็นโทษผิดของบุรุษนั้นเท่านั้นฉันใด เมื่อสระน้ำคือพระอมตมหานิพพานอันเป็นเครื่องชำระมลทินคือกิเลส มีอยู่ การไม่แสวงหาสระน้ำคืออมตมหานิพพานนั้น หาได้เป็นโทษผิดของสระน้ำคืออมตมหานิพพานไม่ เป็นโทษผิดของบุรุษนั้นเท่านั้นฉันนั้นเหมือนกัน.
               อนึ่ง บุรุษถูกพวกโจรล้อม เมื่อทางหนีมีอยู่ ถ้าเขาไม่หนีไป ข้อนั้นหาเป็นโทษผิดของทางไม่ แต่เป็นโทษผิดของบุรุษนั้นเท่านั้นฉันใด บุรุษผู้ถูกกิเลสทั้งหลายห่อหุ้มยึดไว้ เมื่อทางอันเยือกเย็นเป็นที่ไปสู่พระนิพพานมีอยู่ แต่ไม่แสวงหาทาง หาเป็นโทษผิดของทางไม่ แต่ เป็นโทษผิดของบุรุษเท่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน.
               อนึ่ง บุรุษผู้ถูกพยาธิเบียดเบียน เมื่อหมอผู้เยียวยาพยาธิมีอยู่ ถ้าไม่หาหมอให้เยียวยาพยาธินั้น ข้อนั้นหาเป็นโทษผิดของหมอไม่ แต่เป็นโทษผิดของบุรุษเท่านั้นฉันใด ผู้ใดถูกพยาธิคือกิเลสเบียดเบียน ไม่แสวงหาอาจารย์ผู้ฉลาดในทางเป็นที่เข้าไปสงบกิเลสซึ่งมีอยู่ ข้อนั้นเป็นโทษผิดของผู้นั้นเท่านั้น หาเป็นโทษผิดของอาจารย์ผู้ทำกิเลสให้พินาศไม่ ฉันนั้นเหมือนกัน.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
                         บุรุษผู้ตกอยู่ในหลุมคูถ เห็นสระมีน้ำเต็มเปี่ยม ไม่ไปหา
               สระนั้น ข้อนั้นหาเป็นโทษผิดของสระไม่ ฉันใด เมื่อสระคือ
               อมตะสำหรับเป็นเครื่องชำระมลทินคือกิเลสมีอยู่ เขาไม่ไปหา
               สระนั้น ข้อนั้นหาเป็นโทษผิดของสระคืออมตะไม่ ฉันนั้น.
                         คนเมื่อถูกศัตรูรุมล้อม เมื่อทางหนีไปมีอยู่ ก็ไม่หนีไป
               ข้อนั้นหาเป็นโทษผิดของทางไม่ ฉันใด คนที่ถูกกิเลสกลุ้มรุม
               เมื่อทางปลอดภัยมีอยู่ ไม่ไปหาทางนั้น ข้อนั้นหาเป็นโทษ
               ผิดของทางที่ปลอดภัยนั้นไม่ ฉันนั้น.
                         คนผู้เจ็บป่วย เมื่อหมอรักษาโรคมีอยู่ ไม่ยอมให้หมอ
               รักษาความเจ็บป่วยนั้น ข้อนั้นหาเป็นโทษผิดของหมอนั้นไม่
               ฉันใด คนผู้ได้รับทุกข์ถูกความเจ็บป่วย คือกิเลสเบียดเบียน
               แล้วไม่ไปหาอาจารย์นั้น ข้อนั้นหาเป็นโทษผิดของอาจารย์ผู้
               แนะนำไม่ ฉันนั้นเหมือนกัน.
               ท่านยังคิดข้ออื่นต่อไปอีกว่า
                         คนผู้ชอบแต่งตัว พึงทิ้งซากศพที่คล้องคออยู่แล้วไป
               สบายฉันใด แม้เราก็พึงทิ้งร่างกายเปื่อยเน่านี้เสีย ไม่มีอาลัย
               ห่วงใยเข้าไปยังนครคือนิพพาน ฉันนั้น.
                         อนึ่ง ชายหญิงทั้งหลายถ่ายอุจจาระและปัสสาวะรดบน
               พื้นอันสกปรก ย่อมไม่เก็บอุจจาระหรือปัสสาวะนั้นใส่พกหรือ
               เอาชายผ้าห่อไป ต่างรังเกียจ ไม่มีความอาลัยเลยกลับทิ้งไป
               เสียฉันใด แม้เราก็เป็นผู้ไม่มีความอาลัย ควรละทิ้งร่างกายอัน
               เปื่อยเน่า เข้าไปยังนครคือพระอมตนิพพาน ฉันนั้น.
               อนึ่ง ธรรมดานายเรือไม่มีความอาลัยทิ้งเรือลำเก่าคร่ำคร่าไปฉันใด แม้เราก็ละทิ้งร่างกายนี้อันมีของไม่สะอาดไหลออกทางปากแผลทั้ง ๙ แห่ง ไม่มีความห่วงใย เข้าไปยังนิพพานบุรีฉันนั้น.
               อนึ่ง บุคคลพกพาเอารัตนะต่างๆ เดินทางไปกับพวกโจร เพราะกลัวรัตนะของตนจะฉิบหาย จึงทิ้งพวกโจรนั้นเสีย แล้วเดินทางที่ปลอดภัยฉันใด กรัชกายแม้นี้ก็เป็นเสมือนโจรปล้นรัตนะฉันนั้น.
               ถ้าเราจักกระทำความอยากไว้ในกรัชกายนี้ ธรรมรัตนะคืออริยมรรคกุศลของเราจักพินาศไป เพราะฉะนั้น เราละทิ้งกายนี้อันเสมือนกับโจรแล้วเข้าไปยังนครคือพระอมตมหานิพพาน จึงจะควร.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
                         บุรุษปลดเปลื้องซากศพที่น่าเกลียด ซึ่งผูกไว้ที่คอออก
               เสียแล้วไป มีความสุขอยู่อย่างเสรีโดยลำพังตนเองได้ ฉันใด
               คนก็ควรละทิ้งร่างกายเน่าที่มากมูลด้วยซากศพนานาชนิด
               ไม่มีอาลัย ไม่มีความต้องการไปเสีย ฉันนั้น.
                         ชายหญิงทั้งหลายถ่ายกรีสลงในที่ถ่ายอุจจาระ เป็นผู้
               ไม่อาลัย ไม่ต้องการไปเสีย ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน
               จะละทิ้งร่างกายนี้ อันเต็มด้วยซากศพนานาชนิด แล้วไป
               เสียเหมือนคนถ่ายอุจจาระแล้วละทิ้งส้วมไป ฉันนั้น.
                         เจ้าของละทิ้งเรือเก่าคร่ำคร่าผุพัง น้ำรั่วเข้าไปได้ ไม่มี
               ความอาลัย ไม่มีความต้องการไปเสีย ฉันใด เราก็ฉันนั้น
               เหมือนกัน จักละทิ้งร่างกายนี้ ซึ่งมีช่องเก้าช่องหลั่งไหลออก
               เป็นนิจไปเสีย เหมือนเจ้าของทิ้งเรือเก่าไปฉะนั้น.
                         บุรุษเดินไปกับพวกโจร ถือห่อของไปด้วย เห็นภัยที่จะ
               เกิดจากการตัดห่อของ จึงทิ้งพวกโจรไป แม้ฉันใด กายนี้ก็
               ฉันนั้นเหมือนกัน เสมือนมหาโจร เราจักละทิ้งกายนี้ไปเสีย
               เพราะกลัวแต่การตัดกุศลให้ขาด.
               สุเมธบัณฑิตคิดเนื้อความอันประกอบด้วยเนกขัมมะนี้ด้วยอุปมาชนิดต่างๆ อย่างนี้แล้ว สละกองโภคทรัพย์นับไม่ถ้วนในเรือนของตนแก่เหล่าชนมีคนกำพร้าและคนเดินทางเป็นต้น ตามนัยที่ได้กล่าวมาแล้วในหนหลัง ให้มหาทาน ละวัตถุกามและกิเลสกามทั้งหลาย แล้วออกจากอมรนครคนเดียวเท่านั้น อาศัยภูเขาชื่อธรรมิกะในป่าหิมพานต์ สร้างอาศรม สร้างบรรณศาลาและที่จงกรมใกล้อาศรมนั้น เพื่อจะละโทษคือนิวรณ์ ๕ และเพื่อจะนำมาซึ่งพละกล่าวคืออภิญญาอันประกอบด้วยคุณอันเป็นเหตุ ๘ ประการซึ่งท่านกล่าวไว้โดยนัยมีอาทิว่า เมื่อจิตตั้งมั่นแล้วอย่างนี้ดังนี้ จึงละทิ้งผ้าสาฎกที่ประกอบด้วยโทษ ๙ ประการไว้ในอาศรมบทนั้น แล้วนุ่งห่มผ้าเปลือกไม้ที่ประกอบด้วยคุณ ๑๒ ประการบวชเป็นฤาษี.
               ท่านบวชอย่างนี้แล้ว ละทิ้งบรรณศาลานั้นอันเกลื่อนกล่นด้วยโทษ ๘ ประการ เข้าไปยังโคนไม้อันประกอบด้วยคุณ ๑๐ ประการ เลิกละธัญญวิกัติ ข้าวชนิดต่างๆ ทุกชนิด หันมาบริโภคผลไม้ป่า เริ่มตั้งความเพียรด้วยอำนาจการนั่ง การยืนและการจงกรม ภายใน ๗ วันนั่นเองก็ได้สมาบัติ ๘ และอภิญญา ๕ ท่านได้บรรลุอภิญญาพละตามที่ปรารถนาด้วยประการอย่างนี้.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
                         เราคิดอย่างนี้แล้ว ได้ให้ทรัพย์หลายร้อยโกฏิแก่คนยากจน
               อนาถา แล้วเข้าไปสู่ป่าหิมพานต์. ในที่ไม่ไกลป่าหิมพานต์มีภูเขา
               ชื่อธรรมิกะ เราสร้างอาศรมอย่างดีไว้ สร้างบรรณศาลาอย่างดีไว้
               ทั้งยังสร้างที่จงกรมอันเว้นจากโทษ ๕ ประการไว้ใกล้อาศรมนั้น
               เราได้อภิญญาพละอันประกอบด้วยคุณ ๘ ประการ.
                         เราเลิกใช้ผ้าสาฎกอันประกอบด้วยโทษ ๙ ประการ หันมา
               นุ่งห่มผ้าเปลือกไม้ อันประกอบด้วยคุณ ๑๒ ประการ. เราละทิ้ง
               บรรณศาลาอันเกลื่อนกล่นด้วยโทษ ๘ ประการ เข้าไปสู่โคนไม้
               อันประกอบด้วยคุณ ๑๐ ประการ เราเลิกละข้าวที่หว่านที่ปลูก
               โดยสิ้นเชิง หันมาบริโภคผลไม้ที่หล่นเอง ที่สมบูรณ์ด้วยคุณเป็น
               อเนกประการ เราเริ่มตั้งความเพียรในที่นั่งที่ยืนและที่จงกรม ใน
               อาศรมบทนั้น ภายใน ๗ วัน เราก็ได้บรรลุอภิญญาพละ ดังนี้.
               ก็ด้วยบาลีว่า อสฺสโม สุกโต มยฺหํ ปณฺณสาลา สุมาปิตา นี้ ในคาถานั้น ท่านกล่าวถึงอาศรม บรรณศาลาและที่จงกรม ไว้ราวกะว่า สุเมธบัณฑิตสร้างด้วยมือของตนเอง แต่ในคาถานี้ มีเนื้อความดังต่อไปนี้ :-
               ท้าวสักกะทรงเห็นพระมหาสัตว์ว่าเข้าป่าหิมพานต์แล้ว วันนี้จักเข้าไปถึงธรรมิกบรรพต จึงตรัสเรียกวิสสุกรรมเทพบุตรมาสั่งว่า นี่แน่ะพ่อ สุเมธบัณฑิตออกไปด้วยคิดว่าจักบวช เธอจงเนรมิตที่อยู่ให้แก่สุเมธบัณฑิตนั้น.
               วิสสุกรรมเทพบุตรนั้นรับพระดำรัสของท้าวสักกะนั้นแล้ว จึงเนรมิตอาศรมอันน่ารื่นรมย์ บรรณศาลาอันสนิทดีและที่จงกรมอันรื่นรมย์ใจ.
               แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาอาศรมบทนั้นอันสำเร็จด้วยบุญญานุภาพของพระองค์ในครั้งนั้น จึงตรัสว่า ดูก่อนสารีบุตร ที่ภูเขาธรรมิกบรรพตนั้น.
                         อาศรมเราได้สร้างไว้ดีแล้ว บรรณศาลาเราได้สร้างไว้
               อย่างดี เราได้สร้างที่จงกรมอันเว้นจากโทษ ๕ ประการไว้ใกล้
               อาศรมนั้นด้วย.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุกโต มยฺหํ แปลว่า เราสร้างอาศรมไว้ดีแล้ว.
               บทว่า ปณฺณสาลา สุมาปิตา ความว่า แม้ศาลามุงด้วยใบไม้ เราก็ได้สร้างไว้อย่างดี.
               บทว่า ปญฺจโทสวิวชฺชิตํ ความว่า ชื่อว่าโทษของที่จงกรมมี ๕ อย่าง เหล่านี้คือแข็งและขรุขระ ๑ มีต้นไม้ภายใน ๑ ปกคลุมด้วยรกชัฏ ๑ แคบเกินไป ๑ กว้างเกินไป ๑.
               จริงอยู่ เมื่อพระโยคีจงกรมบนที่จงกรม มีพื้นดินแข็งและขรุขระ เท้าทั้งสองจะเจ็บปวดเกิดการพองขึ้น จิตไม่ได้ความแน่วแน่ กัมมัฏฐานจะวิบัติ แต่กัมมัฏฐานจะถึงพร้อม ก็เพราะได้อาศัยการอยู่ผาสุกในพื้นที่อ่อนนุ่มและเรียบ เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า พื้นที่แข็งและขรุขระเป็นโทษประการที่ ๑.
               เมื่อมีต้นไม้อยู่ภายใน หรือท่ามกลาง หรือที่สุดของที่จงกรม เมื่ออาศัยความประมาทเดินจงกรม หน้าผากหรือศีรษะย่อมกระทบ เพราะฉะนั้น ที่จงกรมมีต้นไม้อยู่ภายใน จึงเป็นโทษประการที่ ๒.
               พระโยคีเมื่อจงกรมอยู่ในที่จงกรมอันปกคลุมด้วยชัฏหญ้าและเถาวัลย์เป็นต้น ในเวลามืดค่ำก็จะเหยียบงูเป็นต้นตาย หรือถูกงูเป็นต้นนั้นกัดได้รับทุกขเวทนา เพราะฉะนั้น ที่จงกรมอันปกคลุมด้วยชัฏ (รกรุงรัง) จึงเป็นโทษประการที่ ๓.
               เมื่อพระโยคีจงกรมอยู่ในที่จงกรมแคบเกินไป โดยความกว้างประมาณศอกหนึ่งหรือครึ่งศอก เล็บบ้าง นิ้วบ้าง จะสะดุดขอบจงกรม เข้าแล้วจะแตก เพราะฉะนั้น ที่จงกรมแคบเกินไป จึงเป็นโทษประการที่ ๔.
               เมื่อพระโยคีจงกรมอยู่ในที่จงกรมกว้างเกินไป จิตย่อมพล่าน ไม่ได้ความแน่วแน่ เพราะฉะนั้น ความที่จงกรมกว้างเกินไป จึงเป็นโทษประการที่ ๕.
               ก็ที่อนุจงกรม ส่วนกว้างประมาณศอกหนึ่งในด้านทั้งสอง ประมาณด้านละหนึ่งศอก. ที่จงกรมส่วนยาว ประมาณ ๖๐ ศอก พื้นอ่อนนุ่มเกลี่ยทรายไว้เรียบ ย่อมควร เหมือนที่จงกรมของพระมหามหินทเถระผู้ทำชาวเกาะให้เลื่อมใสในเจติยคีรีวิหารที่จงกรมของท่านได้เป็นเช่นนั้น.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เราได้สร้างที่จงกรมอันเว้นจากโทษ ๕ ประการ ไว้ใกล้อาศรมนั้น.
               บทว่า อฏฺฐคุณสมุเปตํ ได้แก่ ประกอบด้วยสมณสุข ๘ ประการ.
               ชื่อว่าสมณสุข ๘ ประการ เหล่านี้คือ ไม่มีการหวงแหนทรัพย์และข้าวเปลือก ๑ แสวงหาบิณฑบาตที่ไม่มีโทษ ๑ บริโภคบิณฑบาตที่เย็น ๑ ไม่มีกิเลสอันเป็นเหตุบีบคั้นชาวรัฐ ในเมื่อราชสกุลบีบคั้นชาวรัฐถือเอาทรัพย์ที่มีค่า หรือดีบุกและกหาปณะเป็นต้น ๑ ปราศจากความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในเครื่องอุปกรณ์ทั้งหลาย ๑ ไม่กลัวโจรปล้น ๑ ไม่ต้องคลุกคลีกับพระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชา ๑ ไม่ถูกขัดขวางในทิศทั้งสี่ ๑.
               ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า ผู้อยู่ในอาศรมนั้นสามารถได้รับความสุขทั้ง ๘ ประการนี้ เราจึงสร้างอาศรมนั้นอันประกอบด้วยคุณ ๘ ประการนี้.
               บทว่า อภิญฺญาพลมาหรึ ความว่า ภายหลังเมื่อเราอยู่ในอาศรมนั้นกระทำกสิณบริกรรม แล้วเริ่มวิปัสสนาโดยความเป็นของไม่เที่ยงและโดยความเป็นทุกข์ เพื่อต้องการให้อภิญญาและสมาบัติเกิดขึ้น แล้วจึงได้วิปัสสนาพละอันทรงเรี่ยวแรง. อธิบายว่า เราอยู่ในอาศรมนั้น สามารถนำเอาพละนั้นมาได้ด้วยประการใด เราได้สร้างอาศรมนั้นให้สมควรแก่วิปัสสนาพละ เพื่อต้องการอภิญญาด้วยประการนั้น.
               ในคำว่า สาฏกํ ปชหึ ตตฺถ นวโทสมุปาคตํ นี้ มีคำที่จะกล่าวไปโดยลำดับดังต่อไปนี้ :-
               ได้ยินว่า ในกาลนั้น เมื่อวิสสุกรรมเทพบุตรเนรมิตอาศรมที่ประกอบด้วยกระท่อมที่เร้น และที่จงกรมเป็นต้น ดารดาษด้วยไม้ดอกและไม้ผลน่ารื่นรมย์ มีบ่อน้ำมีรสอร่อย ปราศจากเนื้อร้ายและนกที่มีเสียงร้องน่าสะพรึงกลัว ควรแก่ความสงบสงัด จัดพนักพิงไว้ในที่สุดทั้งสองด้านแห่งที่จงกรมอันตกแต่งแล้ว เนรมิตศิลามีสีดังถั่วเขียว มีพื้นเรียบ ไว้ในท่ามกลางที่จงกรม เพื่อจะได้นั่ง.
               สำหรับภายในของบรรณศาลา ได้เนรมิตสิ่งของทุกอย่างที่จะเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่บรรพชิตอย่างนี้คือบริขารดาบสมีชฎาทรงกลม ผ้าเปลือกไม้ ไม้สามง่าม และคนโทน้ำเป็นต้น ที่ปะรำมีหม้อน้ำ สังข์ตักน้ำดื่มและขันตักน้ำดื่ม ที่โรงไฟมีกระเบื้องรองถ่านและฟืนเป็นต้น ที่ฝาบรรณศาลาได้เขียนอักษรไว้ว่า ใครๆ มีประสงค์จะบวช จงถือเอาบริขารเหล่านี้แล้วบวชเถิด เสร็จแล้วกลับไปยังเทวโลก.
               สุเมธบัณฑิตตรวจที่อันผาสุกอันสมควรแก่การอยู่อาศัยของตนตามแนวซอกเขา ณ เชิงเขาหิมพานต์ ได้เห็นอาศรมอันน่ารื่นรมย์ซึ่งท้าวสักกะประทาน อันวิสสุกรรมเทพบุตรเนรมิตไว้ ณ ที่แม่น้ำไหลกลับ จึงไปยังท้ายที่จงกรม มิได้เห็นรอยเท้า จึงคิดว่าบรรพชิตทั้งหลายแสวงหาภิกษาหารในหมู่บ้านใกล้ เหน็ดเหนื่อยมาแล้ว จักเข้าไปบรรณศาลาแล้ว นั่งอยู่เป็นแน่แท้ จึงรออยู่หน่อยหนึ่งแล้วคิดว่า ชักช้าเหลือเกิน เราอยากจะรู้นัก จึงเปิดประตูบรรณศาลาเข้าไปข้างในแล้วมองดูรอบๆ ได้อ่านอักษรที่ฝาหนังแผ่นใหญ่ แล้วคิดว่า กัปปิยบริขารเหล่านี้เป็นของเรา เราจักถือเอากัปปิยบริขารเหล่านี้บวช จึงเปลื้องคู่ผ้าสาฎกที่ตนนุ่งห่มทิ้ง
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เราละทิ้งผ้าสาฎกไว้ในบรรณศาลานั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนสารีบุตร เราเข้าไปอย่างนี้แล้วเปลื้องผ้าสาฎกไว้ในบรรณศาลานั้น.
               ด้วยบทว่า นวโทสมุปาคตํ นี้ ท่านแสดงว่า เราเมื่อจะละทิ้งผ้าสาฎก เพราะได้เห็นโทษ ๙ ประการ จึงได้ละทิ้งไปเสีย.
               จริงอยู่ สำหรับผู้บวชเป็นดาบส โทษ ๙ ประการย่อมปรากฏในผ้าสาฎก คือความเป็นของมีค่ามาก เป็นโทษอันหนึ่ง, เกิดขึ้นเพราะเกี่ยวเนื่องกับคนอื่น เป็นโทษอันหนึ่ง, เศร้าหมองเร็วเพราะการใช้สอย เป็นโทษอันหนึ่ง, เพราะว่าผ้าสาฎกเศร้าหมองแล้วจะต้องซักต้องย้อม. การที่เก่าไปเพราะการใช้สอย เป็นโทษอันหนึ่ง, จริงอยู่ สำหรับผ้าที่เก่าแล้วจะต้องทำการชุนหรือทำการปะผ้า. แสวงหาใหม่กว่าจะได้ก็แสนยาก เป็นโทษอันหนึ่ง, ไม่เหมาะสมแก่การบวชเป็นดาบส เป็นโทษอันหนึ่ง, เป็นของทั่วไปแก่ศัตรู เป็นโทษอันหนึ่ง, เพราะว่าจะต้องคุ้มครองไว้โดยประการที่ศัตรูจะถือเอาไปไม่ได้. การอยู่ในฐานะเป็นเครื่องประดับของผู้ใช้สอย เป็นโทษอันหนึ่ง, เป็นความมักมากในของใช้ประจำตัวสำหรับผู้ถือเที่ยวไป เป็นโทษอันหนึ่ง.
               บทว่า วากจีรํ นิวาเสสึ ความว่า ดูก่อนสารีบุตร ในครั้งนั้น เราเห็นโทษ ๙ ประการเหล่านี้ จึงละทิ้งผ้าสาฎกแล้วนุ่งห่มผ้าเปลือกไม้คือถือเอาผ้าเปลือกไม้ซึ่งเอาหญ้ามุงกระต่ายมาทำให้เป็นชิ้นๆ แล้วถักทำขึ้น เพื่อต้องการใช้เป็นผ้านุ่งและผ้าห่ม.
               บทว่า ทฺวาทสคุณมุปาคตํ แปลว่า ประกอบด้วยอานิสงส์ ๑๒ ประการ.
               จริงอยู่ ผ้าเปลือกไม้มีอานิสงส์ ๑๒ ประการ คือข้อว่ามีราคาถูก ดี สมควร นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๑ ก่อน
               ข้อว่าสามารถทำด้วยมือของตนเองได้ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๒
               ข้อที่ว่าจะค่อยๆ สกปรกเพราะการใช้สอย แม้เมื่อจะซักก็ไม่เนิ่นช้าเสียเวลา นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๓
               แม้เมื่อเก่าก็ไม่มีการจะต้องเย็บ เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๔
               เมื่อแสวงหาใหม่ก็กระทำได้ง่าย เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๕
               เหมาะสมแก่การบวชเป็นดาบส เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๖
               พวกศัตรูไม่ต้องการใช้สอย เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๗
               ไม่อยู่ในฐานะเป็นเครื่องประดับสำหรับผู้ใช้สอย เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๘
               ในเวลาครองเป็นของเบา เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๙
               ความเป็นผู้มักน้อยในปัจจัยคือจีวร เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๑๐
               การเกิดขึ้นแห่งผ้าเปลือกไม้เป็นของชอบธรรมและไม่มีโทษ เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๑๑
               เมื่อผ้าเปลือกไม้หายไปก็ไม่เสียดาย เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๑๒.
               ในบทว่า อฏฺฐโทสสมากิณฺณํ ปชหึ ปณฺณสาลกํ นี้มีคำถามสอดเข้ามาว่า เราละทิ้งอย่างไร?
               ตอบว่า ได้ยินว่า สุเมธบัณฑิตนั้นเปลื้องคู่ผ้าสาฎกอย่างดีออก แล้วถือเอาผ้าเปลือกไม้สีแดงเช่นกับพวงดอกอโนชา ซึ่งคล้องอยู่ที่ราวจีวรเอามานุ่ง แล้วห่มผ้าเปลือกไม้อีกผืนหนึ่ง ซึ่งมีสีดุจสีทอง ทับลงบนผ้าเปลือกไม้ที่นุ่งนั้น แล้วกระทำหนังเสือพร้อมทั้งเล็บ เช่นกับสัณฐานดอกบุนนาคให้เป็นผ้าเฉวียงบ่า สวมชฎากลมแล้วสอดปิ่นไม้แก่นเข้ากับมวยผม เพื่อกระทำให้แน่น วางคนโทน้ำซึ่งมีสีดังแก้วประพาฬไว้ในสาแหรก เช่นกับข่ายแก้วมุกดา ถือหาบซึ่งโค้งในที่สามแห่ง แล้วคล้องคนโทน้ำไว้ที่ปลายหาบข้างหนึ่ง คล้องขอกระเช้าและไม้สามง่ามเป็นต้นที่ปลายหาบข้างหนึ่ง แล้วเอาหาบซึ่งบรรจุบริขารดาบสวางลงบนบ่า มือขวาถือไม้เท้าออกจากบรรณศาลา เดินจงกรมกลับไปกลับมาในที่จงกรมใหญ่ประมาณ ๖๐ ศอก.
               แลดูเพศของตนแล้วคิดว่า มโนรถของเราถึงที่สุดแล้ว การบรรพชาของเรางดงามหนอ ชื่อว่าการบรรพชานี้อันท่านผู้เป็นวีรบุรุษทั้งหลายทั้งปวงมีพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นต้น สรรเสริญชมเชยแล้ว เครื่องผูกมัดของคฤหัสถ์เราละได้แล้ว เราเป็นผู้ออกเนกขัมมะแล้ว การบรรพชาอันยอดเยี่ยม เราได้แล้ว เราจักกระทำสมณธรรม เราจักได้สุขในมรรคและผล ดังนี้แล้วเกิดความอุตสาหะ วางหาบดาบสบริขารลงแล้วนั่งบนแผ่นศิลามีสีดังถั่วเขียวในท่ามกลางที่จงกรม ประหนึ่งดังรูปปั้นทองคำฉะนั้น.
               ได้ยับยั้งอยู่ตลอดส่วนของวัน ในเวลาเย็นจึงเข้าบรรณศาลา นอนบนเสื่อที่ถักด้วยแขนงไม้ข้างเตียงหวาย ให้ตัวได้รับอากาศอันสดชื่นแล้วตื่นขึ้นตอนใกล้รุ่ง คำนึงถึงการมาของตนว่า
               เราเห็นโทษในการครองเรือนจึงสละโภคทรัพย์นับไม่ถ้วน และยศอันหาที่สุดมิได้ เข้าป่าบวชแสวงหาเนกขัมมะ จำเดิมแต่บัดนี้ไป เราจะประพฤติด้วยความประมาทย่อมไม่ควร ด้วยว่าแมลงวันคือมิจฉาวิตกย่อมกัดกินผู้ที่ละความสงัดเที่ยวไป เราพอกพูนความสงัดในบัดนี้ จึงจะควร เพราะเราเห็นการครองเรือนโดยความเป็นของมีแต่กังวล จึงออกบวช.
               ก็บรรณศาลานี้น่าพอใจ พื้นที่ก็ทำการปรับไว้ดี มีสีดังผลมะตูมสุก ฝาผนังขาวมีสีดังเงิน หลังคามุงด้วยใบไม้มีสีดังเท้านกพิราบ เตียงหวายมีสีดังเครื่องปูลาดอันตระการตา สถานที่อยู่เป็นที่อยู่ได้อย่างผาสุก ความพร้อมมูลแห่งเรือนของเรา เสมือนว่าจะยิ่งไปกว่าบรรณศาลานี้ ไม่ปรากฏให้เห็น จึงเมื่อจะค้นหาโทษของบรรณศาลา ก็ได้เห็นโทษ ๘ ประการ.
               จริงอยู่ ในการใช้สอยบรรณศาลามีโทษ ๘ ประการ คือการแสวงหาด้วยการรวบรวมทัพพสัมภาระกระทำด้วยการเริ่มอย่างใหญ่หลวง เป็นโทษข้อที่ ๑.
               การจะต้องซ่อมแซมอยู่เป็นนิตย์ เพราะเมื่อหญ้า ใบไม้และดินเหนียวร่วงหล่นลงจะต้องเอาสิ่งเหล่านั้นมาวางไว้ ณ ที่เดิมแล้วๆ เล่าๆ เป็นโทษข้อที่ ๒.
               ธรรมดาเสนาสนะจะต้องถึงแก่ท่านผู้แก่กว่า เมื่อเราถูกปลุกให้ลุกขึ้นในคราวที่มิใช่เวลา ความแน่วแน่ของจิตก็จะมีไม่ได้ เพราะเหตุนั้น การที่ถูกปลุกให้ลุกขึ้นจึงเป็นโทษข้อที่ ๓.
               การกระทำร่างกายให้อ่อนแอ โดยกำจัดความหนาวและความร้อนเป็นต้น เป็นโทษข้อที่ ๔.
               ผู้เข้าไปสู่เรือนอาจทำความชั่วอย่างใดอย่างหนึ่งได้ เพราะเหตุนั้น การปกปิดข้อครหาได้ เป็นโทษข้อที่ ๕.
               การทำความหวงแหนว่า "เป็นของเรา" เป็นโทษข้อที่ ๖.
               ธรรมดามีเรือนแสดงว่าต้องมีคู่ เป็นโทษข้อที่ ๗.
               การเป็นของสาธารณ์ทั่วไปแก่คนมาก เพราะเป็นของสาธารณ์สำหรับสัตว์มีเล็น เรือดและตุ๊กแกเป็นต้น เป็นโทษข้อที่ ๘.
               พระมหาสัตว์เห็นโทษ ๘ ประการนี้ จึงละทิ้งบรรณศาลาเสียด้วยประการฉะนี้. เพราะเหตุนั้น พระมหาสัตว์จึงกล่าวว่า เราละทิ้งบรรณศาลาอันเกลื่อนกล่นด้วยโทษ ๘ ประการ ดังนี้.
               บทว่า อุปาคมึ รุกฺขมูลํ คุเณ ทสหุปาคตํ ความว่า พระมหาสัตว์กล่าวว่า เราห้ามที่มุงบัง เข้าหาโคนไม้อันประกอบด้วยคุณ ๑๐ ประการ.
               ในการอยู่โคนไม้นั้นมีคุณ ๑๐ ประการนี้ คือมีความริเริ่มน้อย เป็นคุณข้อที่ ๑ เพราะเพียงแต่เข้าไปเท่านั้นก็อยู่ที่นั้นได้.
               การปฏิบัติรักษาน้อย เป็นคุณข้อที่ ๒ เพราะโคนไม้นั้นจะกวาดหรือไม่กวาดก็ตาม ก็ใช้สอยได้สบายเหมือนกัน.
               การที่ไม่ต้องถูกปลุกให้ลุกขึ้น เป็นคุณข้อที่ ๓.
               ไม่ปกปิดข้อครหา เมื่อจะทำชั่วที่โคนไม้นั้นย่อมละอายใจ เพราะเหตุนั้น การปกปิดข้อครหาไม่ได้ เป็นคุณข้อที่ ๔.
               ไม่ทำร่างกายให้อึดอัด เหมือนกับอยู่กลางแจ้ง เพราะเหตุนั้น การที่ร่างกายไม่อึดอัด เป็นคุณข้อที่ ๕.
               ไม่มีการต้องทำความหวงแหนไว้ เป็นคุณข้อที่ ๖.
               ห้ามความอาลัยว่าเป็นบ้านเรือนเสียได้ เป็นคุณข้อที่ ๗.
               ไม่มีการไล่ไปด้วยคำว่า เราจักปัดกวาดเช็ดถูที่นั้น พวกท่านจงออกไป เหมือนดังในบ้านเรือนอันทั่วไปแก่คนจำนวนมาก เป็นคุณข้อที่ ๘.
               ผู้อยู่ก็มีความปีติอิ่มเอิบใจ เป็นคุณข้อที่ ๙.
               การไม่มีความห่วงใย เพราะเสนาสนะคือโคนไม้หาได้ง่ายในที่ที่ผ่านไป เป็นคุณข้อที่ ๑๐.
               พระมหาสัตว์เห็นคุณ ๑๐ ประการเหล่านี้จึงกล่าวว่า เราเข้าหาโคนไม้ ดังนี้.
               พระมหาสัตว์กำหนดเหตุมีประมาณเท่านี้เหล่านี้แล้ว ในวันรุ่งขึ้นจึงเข้าไปภิกขาจารยังหมู่บ้าน. ครั้งนั้น พวกมนุษย์ในหมู่บ้านที่ท่านไปถึงได้ถวายภิกษาด้วยความอุตสาหะใหญ่.
               ท่านทำภัตกิจเสร็จแล้วมายังอาศรม นั่งลงแล้วคิดว่า เรามิได้บวชด้วยหวังใจว่าจะได้อาหาร ธรรมดาอาหารอันละเอียดนี้ย่อมเพิ่มพูนความเมาเพราะมานะ และความเมาในความเป็นบุรุษ และที่สุดทุกข์อันมีอาหารเป็นมูล ย่อมมีไม่ได้ ถ้ากระไร เราพึงเลิกละอาหารที่เกิดจากข้าวที่เขาหว่านและปลูก บริโภคผลไม้ที่หล่นเอง.
               จำเดิมแต่นั้น พระมหาสัตว์ก็ได้กระทำตามนั้น พากเพียรพยายามอยู่ ในภายในสัปดาห์เดียวเท่านั้น ก็ทำสมาบัติ ๘ และอภิญญา ๕ ให้บังเกิดได้.
               เพราะเหตุนั้น พระมหาสัตว์จึงกล่าวว่า
                         เราเลิกละข้าวที่หว่านที่ปลูกโดยเด็ดขาด มาบริโภคผลไม้
               ที่หล่นเอง ที่สมบูรณ์ด้วยคุณเป็นอันมาก เราเริ่มตั้งความเพียร
               ในการนั่ง การยืนและการเดินจงกรมอย่างนั้น ในภายในสัปดาห์
               หนึ่ง ก็ได้บรรลุอภิญญาพละ ดังนี้.
               เมื่อสุเมธดาบสบรรลุอภิญญาพละอย่างนี้แล้ว ให้เวลาล่วงไปด้วยความสุขอันเกิดจากสมาบัติ. พระศาสดาพระนามว่าทีปังกร ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก. ในการถือปฏิสนธิ การประสูติ การตรัสรู้และการประกาศพระธรรมจักรของพระศาสดาพระองค์นั้น หมื่นโลกธาตุแม้ทั้งสิ้นสะเทือนเลื่อนลั่นหวั่นไหวร้องลั่น. บุพนิมิต ๓๒ ประการปรากฏขึ้นแล้ว. สุเมธดาบสยับยั้งอยู่ด้วยความสุขในสมาบัติ ไม่ได้ยินเสียงนั้นและไม่ได้เห็นบุพนิมิตเหล่านั้นด้วย.
               เพราะเหตุนั้น พระมหาสัตว์จึงกล่าวว่า
                         เมื่อเราบรรลุถึงความสำเร็จเป็นผู้เชี่ยวชาญในพระศาสนา
                         อย่างนี้ พระชินเจ้าผู้เป็นโลกนายก ทรงพระนามว่าทีปังกร
                         เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว เมื่อพระองค์เสด็จอุบัติ ประสูติ ตรัสรู้และ
                         แสดงพระธรรมเทศนา เราเอิบอิ่มอยู่ด้วยความยินดีในฌาน
                         มิได้เห็นนิมิตทั้ง ๔ ประการแล.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค ๑. พุทธาปทาน
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑]
อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 32 / 2อ่านอรรถกถา 32 / 412
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=1&Z=146
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=49&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=49&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :