ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑]อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 32 / 2อ่านอรรถกถา 32 / 412
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค
๑. พุทธาปทาน

หน้าต่างที่ ๙ / ๑๑.

               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้พระญาติทั้งหลายถวายบังคมด้วยประการฉะนี้แล้ว เสด็จลงจากอากาศ ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้.
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งแล้ว ได้มีการประชุมพระญาติอันถึงจุดสุดยอด เจ้าศากยะทั้งปวงเป็นผู้มีจิตแน่วแน่ประทับนั่งแล้ว.
               ลำดับนั้น มหาเมฆได้ยังฝนโบกขรพรรษาให้ตกลงมา น้ำสีแดงไหลไปข้างล่าง ผู้ต้องการให้เปียกเท่านั้นจึงจะเปียก สำหรับผู้ไม่ประสงค์จะให้เปียก น้ำแม้แต่หยาดเดียวก็ไม่ตกลงบนร่างกาย. เจ้าศากยะทั้งปวงเห็นดังนั้น เป็นผู้มีจิตอัศจรรย์ไม่เคยมี จึงสั่งสนทนากันขึ้นว่า โอ! น่าอัศจรรย์ โอ! ไม่เคยมี.
               พระศาสดาตรัสว่า ฝนโบกขรพรรษตกลงในสมาคมแห่งพระญาติของเราแต่ในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้ในอดีตกาลก็ได้ตกแล้ว จึงตรัสเวสสันดรชาดก เพราะเหตุเกิดเรื่องนี้ขึ้น.
               เจ้าศากยะทั้งปวงได้ฟังพระธรรมกถาแล้ว เสด็จลุกขึ้นถวายบังคมแล้วเสด็จหลีกไป. พระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชาแม้แต่ผู้เดียว ชื่อว่ากราบทูลว่า พระองค์ทั้งหมดขอจงรับภิกษาของข้าพระองค์ทั้งหลายดังนี้แล้วจึงไป ย่อมไม่มี.
               วันรุ่งขึ้น พระศาสดาอันภิกษุสองหมื่นแวดล้อม เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงกบิลพัสดุ์ ใครๆ ไม่ไปนิมนต์พระองค์ หรือไม่รับบาตร.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับยืนที่ธรณีประตูนั่นแล ทรงพระรำพึงว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อน เสด็จเที่ยวบิณฑบาตในเมืองของสกุลอย่างไรหนอ คือเสด็จไปยังเรือนของพวกอิสรชนโดยข้ามลำดับ หรือว่าเสด็จเที่ยวไปตามลำดับตรอก. ลำดับนั้น ไม่ได้ทรงเห็นแม้พระพุทธเจ้าสักองค์หนึ่งเสด็จไปโดยข้ามลำดับ จึงทรงดำริว่า บัดนี้ แม้เราก็ควรประคับประคองวงศ์ของพระพุทธเจ้าเหล่านั้น เฉพาะบัดนี้เท่านั้นและต่อไป สาวกทั้งหลายของเรา เมื่อสำเหนียกตามเราอยู่นั่นแล จักได้บำเพ็ญปิณฑจาริกวัตรคือถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ดังนี้แล้วจึงเสด็จเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก เริ่มตั้งแต่เรือนที่ตั้งอยู่ในที่สุดไป.
               มหาชนโจษขานกันว่า ได้ข่าวว่า สิทธัตถกุมารผู้เป็นเจ้านายเที่ยวไปเพื่อก้อนข้าว จึงเปิดหน้าต่างในปราสาทชั้น ๒ และชั้น ๓ เป็นต้นได้เป็นผู้ขวนขวายเพื่อจะดู.
               ฝ่ายพระเทวีพระมารดาของพระราหุล ทรงดำริว่า นัยว่า พระลูกเจ้าเสด็จเที่ยวไปในพระนครนี้แหละด้วยวอทองเป็นต้นโดยราชานุภาพยิ่งใหญ่ มาบัดนี้ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ถือกระเบื้องเสด็จเที่ยวไปเพื่อก้อนข้าว จะงามหรือหนอ จึงทรงเปิดพระแกลทอดพระเนตรดู ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังถนนในพระนครให้สว่าง ด้วยพระรัศมีแห่งพระสรีระอันเรืองรองด้วยแสงสีต่างๆ ไพโรจน์งดงามด้วยพุทธสิริอันหาอุปมามิได้ ประดับด้วยพระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ สดใสด้วยพระอนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ ตามประชิดล้อมรอบด้วยพระรัศมีด้านละวา จึงทรงชมเชยตั้งแต่พระอุณหิส (ได้แก่ส่วนที่เลยหน้าผากไป) จนถึงพื้นพระบาท ด้วยคาถาชื่อว่านรสีหคาถา ๑๐ คาถามีอาทิอย่างนี้ว่า
                                   พระผู้นรสีหะ มีพระเกสาเป็นลอนอ่อนดำสนิท มีพื้น
                         พระนลาตปราศจากมลทินดุจพระอาทิตย์ มีพระนาสิกโค้ง
                         อ่อนยาวพอเหมาะ มีข่ายพระรัศมีแผ่ซ่านไป ดังนี้.

               แล้วกราบทูลแด่พระราชาว่า พระโอรสของพระองค์เสด็จเที่ยวไปเพื่อก้อนข้าว.
               พระราชาสลดพระทัย เอาพระหัตถ์จัดผ้าสาฎกให้เรียบร้อย พลางรีบด่วนเสด็จออก รีบเสด็จดำเนินไปประทับยืนเบื้องพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วตรัสว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงกระทำหม่อมฉันให้ได้อาย เพื่ออะไรจึงเสด็จเที่ยวไปเพื่อก้อนข้าว ทำไมพระองค์จึงทรงกระทำความสำคัญว่า ภิกษุมีประมาณเท่านี้ไม่อาจได้ภัตตาหาร.
               พระศาสดาตรัสว่า มหาบพิตร นี้เป็นการประพฤติตามวงศ์ของอาตมภาพ.
               พระราชาตรัสว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชื่อว่าวงศ์ของเราทั้งหลายเป็นวงศ์กษัตริย์มหาสมมตราช ก็วงศ์กษัตริย์มหาสมมตราชนี้ ย่อมไม่มีกษัตริย์สักพระองค์เดียว ชื่อว่าผู้เที่ยวไปเพื่อภิกษา.
               พระศาสดาตรัสว่า มหาบพิตร ชื่อว่าวงศ์กษัตริย์นี้ เป็นวงศ์ของพระองค์ ส่วนชื่อว่าพุทธวงศ์นี้ คือพระทีปังกร พระโกณฑัญญะ ฯลฯ พระกัสสปเป็นวงศ์ของอาตมภาพ ก็พระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านี้และอื่นๆ นับได้หลายพัน ได้สำเร็จการเลี้ยงพระชนมชีพด้วยการเที่ยวภิกขาจารเท่านั้น ทั้งที่ประทับยืนอยู่ในระหว่างถนนนั่นแล ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า
                                   บุคคลไม่ควรประมาทในก้อนข้าวที่ตนพึงลุกขึ้นยืนรับ
                         พึงประพฤติธรรมให้สุจริต บุคคลผู้ประพฤติธรรมเป็นปกติ ย่อม
                         อยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ดังนี้.

               ในเวลาจบพระคาถา พระราชาทรงดำรงอยู่ในพระโสดาปัตติผล.
               ได้ทรงสดับคาถานี้ว่า
                                   บุคคลพึงประพฤติธรรมให้สุจริต ไม่พึงประพฤติธรรมนั้น
                         ให้ทุจริต ผู้ประพฤติธรรมเป็นปกติ ย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้
                         และโลกหน้า ดังนี้.

               ได้ดำรงอยู่ในพระสกทาคามิผล.
               ทรงสดับมหาธัมมปาลชาดก ได้ดำรงอยู่ในพระอนาคามิผล.
               ในสมัยใกล้จะสวรรคต ทรงบรรทมบนพระที่สิริไสยาสน์ภายใต้เศวตฉัตรนั้นแล ได้บรรลุพระอรหัต. กิจในการตามประกอบปธานความเพียรด้วยการอยู่ป่า มิได้มีแก่พระราชา.
               ก็พระราชานั้น ครั้นทรงกระทำให้แจ้งพระโสดาปัตติผลแล้วแล ทรงรับบาตรของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงนำพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมทั้งบริษัทขึ้นสู่มหาปราสาท ทรงอังคาสด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีต. ในเวลาเสร็จภัตกิจ นางสนมทั้งปวงพากันมาถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ยกเว้นพระมารดาพระราหุล.
               ก็พระมารดาพระราหุลนั้น แม้ปริวารชนจะกราบทูลว่า ขอพระองค์จงเสด็จไปถวายบังคมพระลูกเจ้า ก็ตรัสว่า ถ้าคุณความดีของเรามีอยู่ พระลูกเจ้าจักเสด็จมายังสำนักของเราด้วยพระองค์เอง พระองค์เสด็จมานั้นแหละ เราจึงจะถวายบังคม ครั้นตรัสดังนี้แล้วก็มิได้เสด็จไป.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้พระราชารับบาตรแล้ว ได้เสด็จไปยังห้องอันมีสิริของพระราชธิดา พร้อมกับพระอัครสาวกทั้งสองแล้ว ตรัสว่า พระราชธิดาเมื่อไหว้ตามชอบใจอยู่ ไม่ควรกล่าวอะไร แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดถวาย.
               พระราชธิดารีบเสด็จมาแล้วจับข้อพระบาท กลิ้งเกลือกพระเศียรที่หลังพระบาทแล้ว ถวายบังคมตามพระอัธยาศัย.
               พระราชาตรัสคุณสมบัติมีความรักและความนับถือมากเป็นต้นในพระผู้มีพระภาคเจ้า ของพระราชธิดาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธิดาของหม่อมฉันได้สดับว่าพระองค์ทรงนุ่งห่มผ้ากาสายะ ตั้งแต่นั้นก็เป็นผู้นุ่งห่มผ้ากาสายะ ได้สดับว่าพระองค์เสวยพระกระยาหารหนเดียว ก็เป็นผู้เสวยภัตหนเดียวบ้าง ได้สดับว่าพระองค์ละเลิกที่นอนใหญ่ ก็บรรทมบนเตียงน้อยอันขึงด้วยแผ่นผ้า ทราบว่าพระองค์ทรงเว้นจากดอกไม้และของหอมเป็นต้น ก็งดเว้นดอกไม้และของหอมบ้าง เมื่อพระญาติทั้งหลายส่งข่าวมาว่า เราทั้งหลายจักปรนนิบัติ ก็มิได้เหลียวแลพระญาติเหล่านั้นแม้พระองค์เดียว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระธิดาของหม่อมฉันเพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติอย่างนี้.
               พระศาสดาตรัสว่า มหาบพิตร ข้อที่พระราชธิดาที่พระองค์รักษาอยู่ในบัดนี้ รักษาตนได้ในเมื่อญาณแก่กล้าแล้ว ไม่น่าอัศจรรย์ เมื่อก่อน พระราชธิดานี้ไม่มีการอารักขา เที่ยวอยู่ที่เชิงเขาก็ยังรักษาตนได้ ในเมื่อญาณทั้งที่ยังไม่แก่กล้า ดังนี้แล้วตรัสจันทกินรีชาดก แล้วทรงลุกขึ้นจากอาสนะเสด็จหลีกไป.
               ก็ในวันรุ่งขึ้น เมื่องานวิวาหมงคลเนื่องในการเสด็จเข้าพระตำหนักอภิเษกของนันทราชกุมารกำลังเป็นไปอยู่.
               พระศาสดาเสด็จไปยังตำหนักของนันทราชกุมารนั้น ทรงให้พระกุมารถือบาตร มีพระประสงค์จะให้บวช ตรัสเรื่องมงคลแล้วทรงลุกจากอาสนะเสด็จหลีกไป.
               นางชนบทกัลยาณีเห็นพระกุมารกำลังเสด็จไป จึงทูลว่า ข้าแต่พระลูกเจ้า ขอพระองค์จงกลับมาโดยด่วน แล้วชะเง้อแลดู. นันทกุมารนั้นไม่อาจทูลกะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ขอพระองค์ทรงรับบาตร จึงได้เสด็จไปยังพระวิหารเหมือนกัน. นันทกุมารไม่ปรารถนาเลย พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงให้บวชแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปเมืองกบิลพัสดุ์ ทรงให้นันทะบวชในวันที่ ๓ ด้วยประการฉะนี้.
               ในวันที่ ๗ แม้พระมารดาของพระราหุลก็ทรงแต่งองค์พระกุมารแล้วส่งไปยังสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า นี่แน่ะพ่อ เจ้าจงดูพระสมณะนั่นซึ่งมีวรรณแห่งรูปดังรูปพรหม มีวรรณดังทองคำ ห้อมล้อมด้วยสมณะสองหมื่นรูป พระสมณะนี้เป็นบิดาของเจ้า พระสมณะนั่นมีขุมทรัพย์ใหญ่ จำเดิมแต่พระสมณะนั้นออกบวชแล้ว แม่ไม่เห็นขุมทรัพย์เหล่านั้น เจ้าจงไปขอมรดกกะพระสมณะนั้นว่า ข้าแต่พระบิดา ข้าพระองค์เป็น กุมาร ได้รับอภิเษกแล้วจักได้เป็นจักรพรรดิ ข้าพระองค์ต้องการทรัพย์ ขอพระองค์จงประทานทรัพย์แก่ข้าพระองค์ เพราะบุตรย่อมเป็นเจ้าของทรัพย์มรดกของบิดา และพระกุมารก็ได้ไปยังสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้านั่นแล ได้ความรักในฐานเป็นบิดา มีจิตใจร่าเริง กราบทูลว่า ข้าแต่พระสมณะ ร่มเงาของพระองค์เป็นสุข แล้วได้ยืนตรัสถ้อยคำอื่นๆ และถ้อยคำอันสมควรแก่ตนเป็นอันมาก.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำภัตกิจแล้ว ตรัสอนุโมทนาเสร็จแล้ว ทรงลุกจากอาสนะเสด็จหลีกไป.
               ฝ่ายพระกุมารกราบทูลว่า ข้าแต่พระสมณะ ขอพระองค์จงประทานทรัพย์มรดกแก่ข้าพระองค์ ข้าแต่พระสมณะ ขอพระองค์จงประทานทรัพย์มรดกแก่ข้าพระองค์ แล้วติดตามพระผู้มีพระภาคเจ้าไป.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ให้พระกุมารกลับ แม้ปริวารชนก็ไม่อาจยังพระกุมารผู้เสด็จไปกับพระผู้มีพระภาคเจ้าให้กลับได้. พระกุมารนั้นได้ไปยังพระอารามนั้นแล พร้อมกับพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยประการดังนี้.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระดำริว่า กุมารนี้ปรารถนาทรัพย์อันเป็นของบิดาซึ่งเป็นไปตามวัฏฏะ มีแต่ความคับแค้น เอาเถอะ เราจะให้อริยทรัพย์ ๗ ประการซึ่งเราได้เฉพาะที่โพธิมัณฑ์แก่กุมารนี้ เราจะทำกุมารนั้นให้เป็นเจ้าของทรัพย์มรดกอันเป็นโลกุตระ จึงตรัสเรียกท่านพระสารีบุตรมาว่า สารีบุตร ถ้าอย่างนั้น ท่านจงให้ราหุลกุมารบวช.
               พระเถระให้ราหุลกุมารนั้นบวชแล้ว ก็แหละเมื่อพระกุมารบวชแล้ว ความทุกข์มีประมาณยิ่งเกิดขึ้นแก่พระราชา. พระองค์เมื่อไม่อาจทรงอดกลั้นความทุกข์นั้นได้ จึงเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสขอพรว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ดังหม่อมฉันขอโอกาส พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายไม่พึงบวชบุตรที่บิดามารดายังไม่อนุญาต.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้พรแก่ท้าวเธอ ในวันรุ่งขึ้นทรงกระทำภัตกิจในพระราชนิเวศน์ เมื่อพระราชาประทับนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในคราวที่พระองค์ทรงทำทุกรกิริยา เทวดาตนหนึ่งเข้ามาหาหม่อมฉัน กล่าวว่า พระโอรสของพระองค์สวรรคตแล้ว หม่อมฉันไม่เชื่อคำของเทวดานั้นได้ห้ามเทวดานั้นว่า บุตรของเรายังไม่บรรลุพระสัมโพธิญาณจะยังไม่ตาย ดังนี้
               จึงตรัสว่า บัดนี้ พระองค์จักทรงเชื่อได้อย่างไร แม้ในกาลก่อน คนเอากระดูกมาแสดงแล้วกล่าวว่า บุตรของท่านตายแล้ว พระองค์ก็ยังไม่ทรงเชื่อ ดังนี้แล้วตรัสมหาธรรมปาลชาดก เพราะเหตุเกิดเรื่องนี้ขึ้น ในเวลาจบพระกถา พระราชาทรงดำรงอยู่ในอนาคามิผล.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้พระบิดาดำรงอยู่ในผลทั้ง ๓ ด้วยประการดังนี้แล้ว อันหมู่ภิกษุห้อมล้อมแล้วเสด็จไปยังกรุงราชคฤห์อีก ทรงประทับอยู่ที่ป่าสีตวัน.
               สมัยนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีเอาเกวียน ๕๐๐ เล่มบรรทุกสินค้าไปยังกรุงราชคฤห์ ได้ไปยังเรือนของเศรษฐีผู้เป็นสหายรักของตน ได้สดับว่า พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในกรุงราชคฤห์นั้น ในเวลาใกล้รุ่งจัดจึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทางประตูที่เปิดด้วยเทวานุภาพ ฟังธรรมแล้วตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ในวันที่สองได้ถวายมหาทานแก่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ได้กราบทูลขอให้พระศาสดาทรงรับปฏิญญา เพื่อต้องการเสด็จมายังนครสาวัตถี ในระหว่างทางในที่ ๔๕ โยชน์ ได้ให้ทรัพย์หนึ่งแสนสร้างวิหารในที่ทุกๆ หนึ่งโยชน์ แล้วซื้อสวนของเจ้าเชตด้วยเงิน ๑๘ โกฏิ โดยเอาเงินโกฏิปูจนเต็มเนื้อที่ แล้วเริ่มการก่อสร้าง.
               ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีนั้นให้สร้างวิหารอันเป็นที่รื่นรมย์ใจในภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์ ด้วยการบริจาคเงิน ๑๘ โกฏิ คือให้สร้างพระคันธกุฎีเพื่อพระทศพลในท่ามกลาง ให้สร้างเสนาสนะที่เหลือ เช่นกุฎีเดี่ยว กุฎีคู่ กุฎีทรงกลม ศาลาหลังยาว ศาลาสั้นและปะรำเป็นต้น และสระโบกขรณี ที่จงกรม ที่พักกลางคืนและที่พักกลางวัน ในอาวาสอันเป็นที่อยู่แห่งหนึ่ง โดยแยกเป็นส่วนบุคคลสำหรับพระมหาเถระ ๘๐ รายล้อมพระคันธกุฎีนั้น เสร็จแล้วส่งทูตไปนิมนต์พระทศพลให้เสด็จมา.
               พระศาสดาทรงสดับคำของทูตนั้นแล้ว มีภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เป็นบริวาร เสด็จออกจากกรุงราชคฤห์ เสด็จถึงนครสาวัตถีโดยลำดับ.
               ฝ่ายท่านมหาเศรษฐีก็ตระเตรียมการฉลองพระวิหาร ในวันที่พระตถาคตเสด็จเข้าพระเชตวัน ได้แต่งตัวบุตรด้วยเครื่องประดับทุกอย่างแล้วส่งไปพร้อมกับกุมาร ๕๐๐ คนผู้ตกแต่งประดับประดาแล้วเหมือนกัน บุตรของเศรษฐีนั้นพร้อมด้วยบริวารถือธง ๕๐๐ คันอันเรืองรองด้วยผ้า ๕ สี อยู่ข้างหน้าของพระทศพล ธิดาของเศรษฐี ๒ คน คือนางมหาสุภัททาและนางจูฬสุภัททา พร้อมกับกุมาริกา ๕๐๐ นาง ถือหม้อเต็มน้ำ ออกเดินไปข้างหลังของกุมารเหล่านั้น ภริยาของเศรษฐีประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง พร้อมกับมาตุคาม ๕๐๐ นาง ถือถาดมีของเต็มออกเดินไปข้างหลังของกุมาริกาเหล่านั้น.
               ท่านมหาเศรษฐีนุ่งห่มผ้าใหม่พร้อมกับเศรษฐี ๕๐๐ คน ผู้นุ่งห่มด้วยผ้าใหม่เหมือนกัน มุ่งไปเฉพาะพระผู้มีพระภาคเจ้า เบื้องหลังของคนทั้งหมด.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำอุบาสกบริษัทนี้ไว้เบื้องหน้า อันภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่แวดล้อม ทรงกระทำระหว่างป่าให้เป็นดุจราดรดด้วยการราดด้วยน้ำทอง ด้วยพระรัศมีจากพระสรีระของพระองค์ จึงเสด็จเข้าพระเชตวันวิหาร ด้วยพุทธลีลาอันหาที่สุดมิได้ ด้วยพุทธสิริอันหาประมาณมิได้.
               ลำดับนั้น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จะปฏิบัติในวิหารนี้อย่างไร?
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนคหบดี ถ้าอย่างนั้นท่านจงให้ประดิษฐานวิหารนี้ เพื่อภิกษุสงฆ์ผู้อยู่ในทิศทั้ง ๔ ทั้งที่มาแล้วและยังไม่มา.
               ท่านมหาเศรษฐีรับพระพุทธฎีกาว่า ดีแล้ว พระเจ้าข้า แล้วถือเต้าน้ำทองคำหลั่งน้ำให้ตกลงเหนือพระหัตถ์ของพระทศพล แล้วได้ถวายด้วยคำว่า ข้าพระองค์ขอถวายพระเชตวันวิหารนี้แก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานซึ่งอยู่ในทิศทั้ง ๔ ผู้มาแล้วและที่ยังไม่ได้มา.
               พระศาสดาทรงรับพระวิหารแล้ว เมื่อจะทรงกระทำอนุโมทนา ได้ตรัสอานิสงส์การถวายวิหารว่า
                         เสนาสนะย่อมป้องกันความหนาวและความร้อน แต่นั้น
               ย่อมป้องกันเนื้อร้าย งู ยุง น้ำค้างและฝน แต่นั้นย่อมป้องกันลม
               และแดดอันกล้า ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมบรรเทาไป. การถวายวิหาร
               แก่สงฆ์เพื่อเร้นอยู่ เพื่อความสุข เพื่อเพ่งพิจารณาและเพื่อเห็น
               แจ้ง พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่า เป็นทานอันเลิศ. เพราะเหตุ
               นั้นแล บุรุษผู้เป็นบัณฑิต เมื่อเล็งเห็นประโยชน์ของตน พึงสร้าง
               วิหารอันรื่นรมย์ ถวายให้เป็นที่อยู่ในภิกษุผู้เป็นพหูสูตเถิด.
                         อนึ่ง พึงถวายข้าว น้ำ ผ้าและเสนาสนะแก่ท่านเหล่านั้น
               ด้วยใจอันเลื่อมใสในท่านผู้ปฏิบัติตรง. เขาผู้ถวายวิหาร รู้ธรรม
               ใดในโลกนี้แล้ว จะเป็นผู้ไม่มีอาสวะปรินิพพาน ท่านเหล่านั้น
               ย่อมแสดงธรรมนั้น อันเป็นเครื่องบรรเทาทุกข์ทั้งปวงแก่เขา.

               จำเดิมแต่วันที่สองไป ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เริ่มการฉลองวิหาร. การฉลองวิหารของนางวิสาขา ๔ เดือนเสร็จ ส่วนการฉลองวิหารของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ๙ เดือนเสร็จ. แม้ในการฉลองวิหารก็สิ้นทรัพย์ไปถึง ๑๘ โกฏิทีเดียว. เฉพาะวิหารอย่างเดียวเท่านั้น ท่านได้บริจาคทรัพย์นับได้ ๕๔ โกฏิ ด้วยประการฉะนี้.
               ก็ในอดีตกาล ในสมัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสี เศรษฐีชื่อว่าปุนัพพสุมิตตะ ซื้อที่โดยการปูลาดอิฐทองคำ สร้างสังฆารามประมาณหนึ่งโยชน์ ลงในที่นั้นนั่นแหละ.
               ในสมัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสิขี เศรษฐีชื่อสิริวัฑฒะ ซื้อที่โดยปูลาดผาลทองคำ แล้วให้สร้างสังฆารามมีประมาณ ๓ คาวุต ลงในที่นั้นนั่นแหละ.
               ในสมัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าเวสสภู เศรษฐีชื่อว่าโสตถิยะ ซื้อที่โดยปูลาดรอยเท้าช้างทองคำ แล้วสร้างสังฆารามมีประมาณกึ่งโยชน์ ลงในที่นั้นนั่นแหละ.
               ในสมัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากกุสันธะ เศรษฐีชื่อว่าอัจจุตะ ซื้อที่โดยการปูลาดอิฐทองคำ แล้วสร้างสังฆารามมีประมาณหนึ่งคาวุต ลงในที่นั้นนั่นแหละ.
               ในสมัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าโกนาคมนะ เศรษฐีชื่อว่าอุคคะ ซื้อที่โดยการปูลาดเต่าทองคำ แล้วสร้างสังฆารามมีประมาณกึ่งคาวุต ลงในที่นั้นนั่นแหละ.
               ในสมัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะ เศรษฐีชื่อว่าสุมังคละ ซื้อที่โดยการปูลาดไม้เท้าทองคำ แล้วสร้างสังฆารามมีประมาณ ๑๖ กรีส ลงในที่นั้นนั่นแหละ.
               แต่ในสมัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย เศรษฐีชื่อว่าอนาถบิณฑิกะ ซื้อที่โดยการปูลาดทรัพย์โกฏิกหาปณะ แล้วสร้างสังฆารามมีประมาณ ๘ กรีส ลงในที่นั้นนั่นแหละ.
               ได้ยินว่า สถานที่นี้เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์มิได้ทรงละเลยทีเดียว.
               ตั้งแต่บรรลุพระสัพพัญญุตญาณที่มหาโพธิมัณฑ์ จนกระทั่งถึงเตียงมหาปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ สถานที่ใดๆ สถานที่นี้นั้น พึงทราบว่า ชื่อว่าสันติเกนิทาน ด้วยประการฉะนี้.

               จบสันติเกนิทานกถา               
               จบนิทานกถา               
               -----------------------------------------------------               
               พรรณนาอัพภันตรนิทาน               
               ศัพท์ว่า อถ ในคาถานี้ว่า
                         ลำดับนี้ ท่านทั้งหลายผู้มีใจบริสุทธิ์ จงสดับพุทธาปทานว่า
               เราเป็นพระธรรมราชาสมบูรณ์ด้วยบารมี ๓๐ ถ้วน ซึ่งใครๆ นับ
               ไม่ได้ ดังนี้.
               เป็นบทนิบาตใช้ในอรรถว่า แสดงลำดับแห่งอธิการ คือเป็นบทนิบาตที่ประกอบด้วยวิภัตติ ในบรรดานิบาตทั้งสอง ที่ประกอบด้วยวิภัตติและไม่ประกอบวิภัตติ.
               อีกอย่างหนึ่ง
                         อถ ศัพท์เป็นไปในอรรถว่า อธิการ, มงคล, อรรถว่า
               สำเร็จ, อวธารณะ, อรรถว่า ต่อเนื่องกันไป, และอรรถว่า
               ปราศจากไป.
               จริงอย่างนั้น เพราะท่านกล่าวไว้ว่า
                         อธิการย่อมบ่งบอกถึงกิจอันยิ่ง ฐานะอันยิ่ง และอรรถ
               อันยิ่ง ท่านกล่าวไว้โดยภาวะอันประเสริฐที่สุดและเจริญที่สุด
               ดังนี้.
               (เชื่อมความว่า) ท่านทั้งหลายจงฟังอปทาน (คือเหตุ) อันประกอบด้วย อถศัพท์อันมีอธิการเป็นอรรถ โดยเป็นกิจอันยิ่งแห่งบารมีธรรม ๓๐ ถ้วนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือโดยภาวะอันประเสริฐที่สุดและเจริญที่สุด.
               เชื่อมความว่า ท่านทั้งหลายจงฟังอปทานอันประกอบด้วย อถศัพท์ซึ่งมีมงคลเป็นอรรถ โดยพระบาลีว่า การบูชาผู้ควรบูชา นั่นเป็นมงคลอันสูงสุด เพราะการบูชาพระโพธิสัตว์ ๓ จำพวกเป็นมงคลโดยสภาพ.
               เชื่อมความว่า ท่านทั้งหลายจงฟังอปทานที่ประกอบด้วย อถศัพท์อันมีความสำเร็จเป็นอรรถ เพราะกิจแห่งสมบัติของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นต้น สำเร็จแล้วด้วยพระอรหัตมรรค.
               เชื่อมความว่า ท่านทั้งหลายจงฟังอปทานอันประกอบด้วย อถศัพท์อันมีอวธารณะเป็นอรรถ คือมีการห้ามเป็นอรรถ เพราะพระพุทธเจ้าเป็นต้น ไม่มีกุศลอื่นจากกุศลมีอรหัตมรรคเป็นต้น.
               เชื่อมความว่า ท่านทั้งหลายจงฟังอปทานอันประกอบด้วย อถศัพท์อันมีอนันตระ ความต่อเนื่องกันเป็นอรรถ เพราะท่านร้อยกรองไว้ติดต่อกับการร้อยกรองขุททกปาฐะ.
               เชื่อมความว่า ท่านทั้งหลายจงฟังอปทานอันประกอบด้วย อถศัพท์ซึ่งมีการจากไปเป็นอรรถ เพราะเริ่มจากขุททกปาฐะนี้ไป.
               ในบทว่า พุทฺโธ พระพุทธเจ้า นี้มีวิเคราะห์ดังต่อไปนี้.
               ชื่อว่า พระพุทธเจ้า เพราะตรัสรู้สัจจะทั้งหลาย.
               ชื่อว่า พระพุทธเจ้า เพราะยังหมู่สัตว์ให้ตรัสรู้.
               ชื่อว่า พระพุทธเจ้า เพราะทรงเป็นผู้รู้สิ่งทั้งปวง.
               ชื่อว่า พระพุทธเจ้า เพราะทรงหยั่งเห็นสิ่งทั้งปวง.
               ชื่อว่า พระพุทธเจ้า เพราะทรงเป็นผู้ไม่มีคนอื่นแนะนำ.
               ชื่อว่า พระพุทธเจ้า เพราะทรงเป็นผู้เบิกบาน.
               ชื่อว่า พระพุทธเจ้า เพราะสิ้นอาสวะแล้ว.
               ชื่อว่า พระพุทธเจ้า เพราะปราศจากอุปกิเลส.
               ชื่อว่า พระพุทธเจ้า เพราะการถือบวช.
               ชื่อว่า พระพุทธเจ้า เพราะอรรถว่าไม่เป็นที่สอง.
               ชื่อว่า พระพุทธเจ้า เพราะอรรถว่าละตัณหาได้.
               ชื่อว่า พระพุทธเจ้า เพราะเสด็จดำเนินทางเป็นที่ไปอันเอก.
               ชื่อว่า พระพุทธเจ้า เพราะพระองค์เดียวตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม.
               ชื่อว่า พระพุทธเจ้า เพราะทรงได้เฉพาะความรู้ เป็นเหตุกำจัดความไม่รู้เสียได้.
               บททั้งสามคือ พุทฺธิ พุทฺธํ โพโธ นี้ ไม่มีความแตกต่างกัน. ผ้าเขาเรียกว่า ผ้าเขียว ผ้าแดง เพราะประกอบด้วยสีเขียวเป็นต้น ฉันใด.
               ชื่อว่า พระพุทธเจ้า เพราะประกอบด้วยคุณของพระพุทธเจ้าฉันนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ญาณในมรรคทั้ง ๔ เรียกว่า โพธิ, ญาณที่เรียกว่าโพธิ เพราะทำหมู่กิเลส ๑,๕๐๐ ทั้งสิ้นให้สิ้นไป ด้วยญาณนั้นนั่นแหละแล้วบรรลุพระนิพพาน. สมังคีบุคคลผู้ประกอบพร้อมด้วยญาณนั้น ชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้า. แม้พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ทำกิเลสทั้งปวงให้สิ้นไปด้วยญาณนั้นเหมือนกัน แล้วจึงบรรลุพระนิพพาน. ก็ญาณนั้นเท่านั้นเป็นอปทาน คือเป็นเหตุของพระสัมพุทธเจ้าเหล่านั้น โดยเป็นญาณอันยิ่งเฉพาะของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จึงชื่อว่าพุทธาปทาน เพราะพระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงบำเพ็ญบารมีมา ๔ อสงไขยแสนกัป จึงได้บรรลุพระโพธิญาณและเพราะทรงบรรลุอสาธารณญาณมีอินทริยปโรปริยัตติญาณ มหากรุณาสมาบัติญาณ ยมกปาฏิหาริยญาณ สัพพัญญุตญาณ อนาวรณญาณ อาสยานุสยญาณเป็นต้น และเพราะทรงให้หมู่สัตว์นับไม่ถ้วนดื่มอมตธรรมด้วยพระธรรมเทศนา แม้กัณฑ์เดียวแล้วให้บรรลุพระนิพพาน.
               ก็พุทธาปทานนั้นมี ๒ อย่าง โดยเป็นกุศลและอกุศล แต่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายไม่สามารถจะทำอย่างนั้นได้ แม้เมื่อจะทำการสงเคราะห์ทายกผู้ถวายปัจจัยมีข้าวเป็นต้น ก็แสดงธรรมด้วยคาถา ๒ คาถานี้เท่านั้นแหละว่า
                         ขออิฐผลที่ท่านอยากได้แล้ว ปรารถนาแล้ว จงสำเร็จโดย
               เร็วพลัน ความดำริไว้ในใจจงเต็มที่ เหมือนพระจันทร์ในวัน
               เพ็ญฉะนั้น.
                         ขออิฐผลที่ท่านอยากได้แล้ว ปรารถนาแล้ว จงสำเร็จโดย
               เร็วพลัน ความดำริในใจจงเต็มที่ เหมือนแก้วมณี ชื่อโชติรส
               ฉะนั้น ดังนี้.

               พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายแม้จะแสดงธรรม ก็ไม่อาจทำหมู่สัตว์นับไม่ถ้วนให้ตรัสรู้ได้ เพราะฉะนั้น จึงไม่เป็นเหมือนพระสัพพัญญูพุทธเจ้า ตรัสรู้ได้เฉพาะโดยโดดเดี่ยว เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าพระปัจเจกพุทธเจ้า. อปทาน คือเหตุแห่งพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น ชื่อว่าปัจเจกพุทธาปทาน.
               ชื่อว่า เถระ เพราะดำรงอยู่นาน.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า เถระ เพราะประกอบด้วยคุณ มีศีล อาจาระและมัทวะความอ่อนโยนเป็นต้น อันมั่นคงกว่า.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า เถระ เพราะประกอบด้วยคุณ คือศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติและวิมุตติญาณทัสสนะอันมั่นคงและประเสริฐ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า เถระ เพราะบรรลุพระนิพพาน คือสันติที่นับว่ามั่นคงกว่า ประณีตและยอดเยี่ยม.
               อปทานของพระเถระทั้งหลาย ชื่อว่าเถราปทาน.
               ชื่อว่า เถรี เพราะประกอบด้วยตาทิคุณทั้งหลายเหมือนพระเถระ. อปทานของพระเถรีทั้งหลาย ชื่อว่าเถรีปทาน.
               ในอปทานเหล่านั้น พุทธาปทานมี ๕ อปทานและ ๕ พระสูตร.
               ด้วยเหตุนั้น พระโบราณาจารย์จึงกล่าวไว้ว่า
                         อปทานที่ ๑ ซึ่งมี ๕ อปทานและ ๕ พระสูตร
                         นี้ชื่อว่าพุทธาปทาน โดยอนุโลม.
               แม้ปัจเจกพุทธาปทานก็มี ๕ อปทานและ ๕ พระสูตร.
               ด้วยเหตุนั้น พระโบราณาจารย์จึงกล่าวไว้ว่า
                         อปทานที่ ๒ ซึ่งมี ๕ อปทานและ ๕ พระสูตร
                         นี้ชื่อว่าปัจเจกพุทธาปทาน โดยอนุโลม.
               เถราปทานมี ๕๑๐ อปทาน ว่าโดยวรรคมี ๕๑ วรรค.
               ด้วยเหตุนั้น พระโบราณาจารย์จึงกล่าวไว้ว่า
                         อปทานที่ ๓ ซึ่งมี ๕๑๐ อปทาน ว่าโดยวรรค
                         มี ๕๑ วรรค นี้ชื่อว่าเถราปทาน โดยอนุโลม.
               เถรีอปทานมี ๔๐ อปทาน ว่าโดยวรรคมี ๔ วรรค.
               ด้วยเหตุนั้น พระโบราณาจารย์จึงกล่าวไว้ว่า
                         อปทานที่ ๔ ซึ่งมี ๔๐ อปทานและมีวรรค
                         ๔ วรรค นี้ชื่อว่าเถรีปทาน โดยอนุโลม.
               อปทาน ศัพท์ ในบทว่า อปทานํ นี้ ปรากฏว่าใช้ในความหมายมีอาทิว่า การณะ คหณะ อปคมนะ ปฏิปาฏิ และอักโกสนะ.
               จริงอย่างนั้น อปทาน ศัพท์นี้ปรากฏว่าใช้ในความหมายว่า การณะ คือเหตุ ได้ในประโยคมีอาทิว่า ขตฺติยานํ อปทานํ, พฺราหฺมฌานํ อปทานํ. อธิบายว่า เหตุแห่งกษัตริย์ทั้งหลาย เหตุแห่งพราหมณ์ทั้งหลาย.
               ปรากฏว่าใช้ในความหมายว่า คหณะ คือการถือ ได้ในประโยคมีอาทิว่า อุปาสกานํ อปทานํ อธิบายว่า อุบาสกทั้งหลายถือเอาด้วยดี.
               ปรากฏว่าใช้ในความหมายว่า อปคมนะ คือการจากไป ได้ในประโยคมีอาทิว่า วาณิชานํ อปทานํ สุทฺทานํ อปทานํ อธิบายว่า พวกพ่อค้าและพวกศูทรเหล่านั้นพากันจากไปแต่ที่นั้นๆ.
               ปรากฏว่าใช้ในความหมายว่า ปฏิปาฏิ คือตามลำดับ ได้ในประโยคมีอาทิว่า ภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ย่อมเที่ยวไปเพื่อก้อนข้าวโดยเที่ยวไปตามลำดับ. อธิบายว่า เที่ยวไปตามลำดับเรือน.
               ปรากฏว่าใช้ในความหมายว่า อักโกสนะ คือการด่า ได้ในประโยคมีอาทิว่า ย่อมด่าว่า ชนเหล่านี้ไปปราศ จากความเป็นสมณะ ชนเหล่านี้ไปปราศ จากความเป็นพราหมณ์. อธิบายว่า ย่อมด่า ย่อมบริภาษ.
               แต่ในที่นี้ ปรากฏว่าใช้ในความหมายว่า การณะ คือเหตุ เพราะฉะนั้น อปทานของพระพุทธเจ้าเหล่านั้น ชื่อว่าพุทธาปทาน.
               อธิบายว่า เหตุแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
               พึงเห็นว่า บารมี ๓๐ ถ้วนมีทานบารมีเป็นต้นเป็นเหตุของพระพุทธเจ้าทั้งหลายมิใช่น้อย อุปมาดังเมล็ดทรายในแม่น้ำคงคา.
               มีการเชื่อมความว่า บัดนี้ ท่านทั้งหลายผู้มีใจบริสุทธิ์จงสดับอปทานที่ประกอบในความหมายมีความหมายว่า อธิการคือคุณที่กระทำไว้ยิ่งใหญ่เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุทฺธมานสา ความว่า ท่านทั้งหลายผู้เป็นพระขีณาสพ ๕๐๐ องค์ ชื่อว่าสุทธมานสา คือมีจิตบริสุทธิ์ผุดผ่อง มีหฤทัยสะอาด เพราะทำกิเลส ๑,๕๐๐ ให้สิ้นไปด้วยอรหัตมรรคญาณ แล้วดำรงอยู่ จงนั่งประชุมกันฟังอปทานในโรงธรรมนี้.
               อธิบายว่า ท่านทั้งหลายจงเงี่ยโสตลงฟังกระทำไว้ในใจ.
               ก็ในข้อนี้พึงเห็นว่า แม้เมื่อปัจเจกพุทธาปทาน เถราปทานและเถรีอปทานจะมีอยู่ ท่านก็ไม่กล่าวว่า อปทานานิ กลับกล่าวคำว่า อถ พุทธาปทานานิ เหมือนเมื่อขันธยมก อายตนยมก ธาตุยมก สัจจยมก สังขารยมกและอนุสยยมก แม้จะมีอยู่ก็กล่าวว่ามูลยมก ด้วยอำนาจที่เป็นประธาน และด้วยอำนาจที่เป็นเบื้องต้น และเหมือนเมื่อสังฆาทิเสส ๑๓ อนิยต ๒ และนิสสัคคิยะ ๓๐ แม้จะมีอยู่ ก็กล่าวว่าปาราชิกกัณฑ์ ด้วยอำนาจที่เป็นประธาน และด้วยอำนาจที่เป็นเบื้องต้น แม้ในที่นี้ ท่านก็กล่าวไว้โดยที่เป็นประธานและเป็นเบื้องต้น.
               เมื่อควรจะกล่าวว่า สมฺมาสมฺพุทฺธาปทานานิ แต่ท่านทำการลบบทนิบาตว่า สมฺมา ซึ่งบ่งบอกอรรถที่เป็นตติยาวิภัตติ และบทอุปสรรคว่า สํ ซึ่งบ่งบอกอรรถของศัพท์ว่า สยํ โดยนิรุตตินัยว่า วณฺณาคโม ฯเปฯ ปญฺจวิธํ นิรุตฺตํ = นิรุตต์มี ๕ ชนิด คือลงตัวอักษร ฯลฯ หรือโดยสูตรว่า เตสุ วุทฺธิโลปาคมวิการวิปรีตาเทสา จ = ก็ในสนธิกิริโยปกรณ์เหล่านั้นมีพฤทธิ์ ลบ ลงตัวอักษร ทำให้ผิดจากของเดิมและแปลงให้ผิดตรงกันข้าม ดังนี้ แล้วถือเอาเฉพาะศัพท์ว่า พุทฺธ อันบ่งว่าเป็นกิตก์ แล้วกล่าวว่า พุทฺธาปทานานิ เพื่อสะดวกในการประพันธ์คาถา. เพราะฉะนั้น บทว่า พุทฺธาปทานานิ มีความหมายว่า อปทานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนี้.

               พรรณนาอัพภันตรนิทาน               
               ในวิสุทธชนวิลาสินี อรรถกถาอปทาน               
               จบเพียงเท่านี้               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค ๑. พุทธาปทาน
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑]
อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 32 / 2อ่านอรรถกถา 32 / 412
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=1&Z=146
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=49&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=49&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :