ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 1อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 2อ่านอรรถกถา 32 / 3อ่านอรรถกถา 32 / 412
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค
๒. ปัจเจกพุทธาปทาน

               พรรณนาปัจเจกพุทธาปทาน               
               พระอานนท์เถระเมื่อจะสังคายนาอปทาน ต่อจากพุทธาปทานนั้นต่อไป อันท่านพระมหากัสสปเถระถามว่า นี่แน่ะท่านอาวุโสอานนท์ ปัจเจกพุทธาปทาน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติ ณ ที่ไหน จึงกล่าวว่า ลำดับนี้ ขอท่านทั้งหลายจงฟังปัจเจกพุทธาปทาน ดังนี้.
               อรรถแห่งอปทานของพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเหล่านั้น ได้กล่าวไว้แล้วในหนหลังนั่นแล.
               พระเถระเมื่อจะประกาศบทที่กล่าวว่า สุณาถ ด้วยอำนาจการบังเกิดโดยเกิดเรื่องขึ้น จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ตถาคตํ เชตวเน วสนฺตํ พระตถาคตประทับอยู่ในพระเชตวัน ดังนี้.
               ในคำว่า ตถาคตํ เชตวเน วสนฺตํ นั้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               ผู้ประทับอยู่ในวิหารอันมีชื่ออย่างนั้น เนื่องด้วยพระนามของเชตกุมาร โดยอิริยาบถวิหารทั้ง ๔ หรือโดยทิพวิหาร พรหมวิหารและอริยวิหาร พระพุทธเจ้าทั้งหลายที่มีในกาลก่อนมีพระวิปัสสีเป็นต้น ทรงบำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัศแล้วเสด็จมาโดยประการใด พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ของเราทั้งหลายก็เสด็จมาแล้วโดยประการนั้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าพระตถาคต. เชื่อมความหมายว่า พระตถาคตพระองค์นั้นประทับอยู่ในพระเชตวันวิหาร.
               บทว่า เวเทหมุนี ความว่า พระเทวีผู้เกิดแคว้นเวเทหะ จึงชื่อว่าเวเทหี, โอรสของพระนางเวเทหี จึงชื่อว่าเวเทหิบุตร.
               ญาณ ท่านเรียกว่าโมนะ ท่านผู้ไป คือดำเนินไป ได้แก่เป็นไปด้วยโมนะนั้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่ามุนี. มุนีนั้นด้วย โอรสของพระนางเวเทหีด้วย เพราะเหตุนั้น ควรจะกล่าวว่า เวเทหิปุตตมุนี กลับกล่าวว่า เวเทหมุนี เพราะแปลง อิ เป็น และลบ ปุตฺต ศัพท์เสีย โดยนิรุกตินัย มีอาทิว่า วณฺณาคโม ลงตัวอักษรใหม่.
               เชื่อมความว่า ท่านพระอานนท์ผู้ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งไว้ในเอตทัคคะว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานนท์นี้เป็นเลิศแห่งภิกษุสาวกของเรา ผู้มีสติ มีธิติ มีคติ เป็นพหูสูต เป็นผู้อุปัฏฐาก ดังนี้ น้อมองค์ลงคือน้อมองค์คือกาย กระทำอัญชลี ได้กราบทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชื่อว่าพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นเช่นไร พระเจ้าข้า! พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเหล่านั้น ย่อมมีคือย่อมเกิดขึ้นด้วยเหตุอะไร คือการณ์อะไร. พระเถระทูลเรียกพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า วีระ.
               เบื้องหน้าแต่นั้น พระอานนทเถระเมื่อจะแสดงอาการที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงวิสัชนา จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระสัพพัญญูผู้ประเสริฐ ผู้แสวงหาคุณใหญ่ ดังนี้.
               ชื่อว่าสัพพัญญู เพราะทรงรู้สิ่งทั้งปวงต่างด้วยสิ่งที่เป็นอดีตเป็นต้น ประดุจผลมะขามป้อมในมือ. ชื่อว่าพระสัพพัญญูผู้ประเสริฐ เพราะพระสัพพัญญูองค์นั้นประเสริฐคือสูงสุด. ชื่อว่าผู้แสวงหาคุณใหญ่ เพราะทรงหาคือแสวงหาคุณคือศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติและวิมุตติญาณทัสสนะอันใหญ่.
               เชื่อมความว่า ในกาลนั้น คือในกาลที่ถูกถามนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส คือตรัสบอกพระอานนท์ผู้เถระ ด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะ.
               อธิบายว่า ดูก่อนอานนท์ผู้เจริญ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเหล่าใด กระทำบุญญาธิการไว้ คือกระทำบุญสมภารไว้ ในพระพุทธเจ้าปางก่อนทั้งหลาย คือในอดีตพุทธเจ้าทั้งหลายปางก่อน ยังไม่ได้ความหลุดพ้นในศาสนาของพระชินเจ้า คือยังไม่บรรลุพระนิพพาน พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นทั้งหมดเป็นนักปราชญ์ กระทำบุคคลผู้หนึ่งให้เป็นประธานโดยมุขคือความสังเวช จึงได้เป็นพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าในโลกนี้. ผู้มีปัญญากล้าแข็งดี คือมีปัญญากล้าแข็งด้วยดี. แม้เว้นจากพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือแม้เว้นจากโอวาทานุสาสนีของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมบรรลุคือย่อมรู้แจ้งปัจเจกสัมโพธิ คือโพธิเฉพาะผู้เดียว ได้แก่โพธิอันต่อเนื่อง (รอง) จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ด้วยอารมณ์แม้นิดหน่อย คือแม้มีประมาณน้อย.
               ในโลกทั้งปวงคือในไตรโลกทั้งสิ้น เว้นเรา (คือพระพุทธเจ้า) คือละเว้นเราเสีย บุคคลผู้เสมอคือแม้นเหมือนพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่มี. เราจักกล่าว อธิบายว่า จักบอกคุณนี้ของพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าผู้มหามุนีเหล่านั้น เพียงบางส่วนคือเพียงสังเขป ให้สำเร็จประโยชน์ คือให้ดีแก่ท่านทั้งหลาย.
               ท่านทั้งปวงผู้ปรารถนา คืออยากได้พระนิพพาน คือเภสัช ได้แก่โอสถอันยอดเยี่ยม คือเว้นสิ่งที่ยิ่งกว่า มีจิตผ่องใส คือมีใจใสสะอาด จงฟัง. อธิบายว่า จงใส่ใจถ้อยคำคือคำอุทานอันอร่อย คืออันหวานเหมือนน้ำผึ้งเล็ก คือเหมือนรวงน้ำผึ้งเล็ก ของพระฤาษีใหญ่ในระหว่างฤาษีทั้งหลาย ผู้ไม่มีอาจารย์ ตรัสรู้ด้วยตนเอง คือรู้แจ้งด้วยตนเอง.
               บทว่า ปจฺเจกพุทฺธานํ สมาคตานํ ได้แก่ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าทั้งหลายผู้ประชุมกันแล้ว คือเกิดขึ้นแล้ว.
               อธิบายว่า คำพยากรณ์สืบๆ กันมา คือเฉพาะองค์หนึ่งๆ เหล่าใดอันเป็นอปทานของพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ๑๐๐ องค์ มีอาทิ คือ พระอริฏฐะ พระอุปริฏฐะ พระตครสิขี พระยสัสสี พระสุทัสสนะ พระปิยทัสสี พระคันธาระ พระปิณโฑละ พระอุปาสภะ พระนิถะ พระตถะ พระสุตวะ พระภาวิตัตตะ พระสุมภะ พระสุภะ พระเมถุละ พระอัฏฐมะ พระสุเมธะ พระอนีฆะ พระสุทาฐะ พระหิงคุ พระหิงคะ พระทเวชาลินะ พระอัฏฐกะ พระโกสละ พระสุพาหุ พระอุปเนมิสะ พระเนมิสะ พระสันตจิตตะ พระสัจจะ พระตถะ พระวิรชะ พระปัณฑิตะ พระกาละ พระอุปกาละ พระวิชิตะ พระชิตะ พระอังคะ พระปังคะ พระคุตติชชิตะ พระปัสสี พระชหี พระอุปธิ พระทุกขมูละ พระอปราชิตะ พระสรภังคะ พระโลมหังสะ พระอุจจังคมายะ พระอสิตะ พระอนาสวะ พระมโนมยะ พระมานัจฉิทะ พระพันธุมะ พระตทาธิมุตตะ พระวิมละ พระเกตุมะ พระโกตุมพรังคะ พระมาตังคะ พระอริยะ พระอัจจุตะ พระอัจจุตคามี พระพยามกะ พระสุมังคละและพระทิพพิละ
               อาทีนพโทษใด วิราควัตถุคือเหตุเป็นเครื่องไม่ยึดติดใด และพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าทั้งหลายบรรลุตามโพธิ คือกระทำจตุมรรคญาณให้ประจักษ์ได้ด้วยเหตุใด. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าทั้งหลายผู้คลายสัญญาในวัตถุที่มีราคะ คือในวัตถุที่พึงยึดติดแน่น ได้แก่ ในวัตถุกามและกิเลสกามทั้งหลาย มีจิตปราศจากกำหนัดในโลกอันกำหนัดแล้ว คือในโลกอันมีสภาวะเป็นเครื่องยึดติด ละกิเลสเครื่องเนิ่นช้าทั้งหลายได้แล้ว คือละกิเลส กล่าวคือเครื่องเนิ่นช้า คือเครื่องเนิ่นช้าคือราคะ เครื่องเนิ่นช้าคือโทสะ เครื่องเนิ่นช้าคือโมหะ เครื่องเนิ่นช้าคือกิเลสทั้งปวง ชนะความดิ้นรน คือชนะทิฏฐิ ๖๒ อันดิ้นรน บรรลุตามโพธิอย่างนั้น คือกระทำปัจเจกโพธิญาณให้ประจักษ์แล้วด้วยเหตุนั้น.
               บทว่า สพฺเพสุ ภูเตสุ นิธาย ทณฺฑํ ความว่า วาง คือเว้นการขู่ การทำลาย การฆ่าและการจองจำ ไม่เบียดเบียนสัตว์ตัวใดตัวหนึ่ง คือสัตว์ไรๆ แม้ตัวเดียวในระหว่างสัตว์ทั้งปวงเหล่านั้น คือไม่ทำให้ลำบาก มีจิตเมตตาคือมีจิตสหรคตด้วยเมตตาว่า สัตว์ทั้งปวงจงมีความสุข เป็นผู้อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล คือมีความอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูลเป็นสภาพ.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า สพฺเพสุ นี้ ในคำว่า สพฺเพสุ ภูเตสุ นิธาย ทณฺฑํ เป็นบทบอกการถือเอาหมดโดยประการทั้งปวง คือหมดสิ้นไม่มีเศษ.
               ในบทว่า ภูเตสุ นี้ สัตว์ที่สะดุ้งและมั่นคง เรียกว่าภูตะ สัตว์เหล่าใดละความอยากคือตัณหาไม่ได้ ทั้งละภัยและความกลัวไม่ได้ สัตว์เหล่านั้นชื่อว่าผู้สะดุ้ง.
               เพราะเหตุไรจึงเรียกว่าผู้สะดุ้ง? สัตว์เหล่าใดย่อมสะดุ้ง คือสะดุ้งขึ้น สะดุ้งรอบ ย่อมกลัว ย่อมถึงความสะดุ้งพร้อม เพราะเหตุนั้น สัตว์เหล่านั้นท่านจึงเรียกว่าผู้สะดุ้ง.
               สัตว์เหล่าใดละความอยากคือตัณหา ทั้งภัยและความกลัวได้ สัตว์เหล่านั้นชื่อว่าผู้มั่นคง.
               เพราะเหตุไรจึงเรียกว่าผู้มั่นคง? สัตว์เหล่าใดย่อมมั่นคง คือไม่สะดุ้ง ไม่สะดุ้งขึ้น ไม่สะดุ้งรอบ ไม่กลัว ไม่ถึงความสะดุ้งพร้อม เพราะเหตุนั้น สัตว์เหล่านั้น ท่านจึงเรียกว่าผู้มั่นคง.
               อาชญา ๓ คืออาชญาทางกาย อาชญาทางวาจา อาชญาทางใจ. กายทุจริต ๓ ชื่อว่าอาชญาทางกาย, วจีทุจริต ๔ ชื่อว่าอาชญาทาง วาจา, มโนทุจริต ๓ ชื่อว่าอาชญาทางใจ. วาง คือตั้งลง ยกลง ยกลงพร้อม วางไว้ คือระงับอาชญา ๓ อย่างนั้นในภูตคือสัตว์ทั้งปวงคือทั้งสิ้น ได้แก่ไม่ถือเอาอาชญา เพื่อจะเบียดเบียน เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าวางอาชญาในสัตว์ทั้งปวง.
               บทว่า อวิเหฐยํ อญฺญตรมฺปิ เตสํ ความว่า ไม่เบียดเบียนสัตว์แม้ตัวหนึ่งๆ ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน ท่อนไม้ ศาสตรา ขื่อคา หรือเชือก ไม่เบียดเบียนสัตว์แม้ทุกชนิดด้วยฝ่ามือหรือก้อนดิน ท่อนไม้ ศาสตรา ขื่อคา หรือเชือก คือไม่เบียดเบียนสัตว์เหล่านั้นแม้ตัวใดตัวหนึ่ง.
               ศัพท์ว่า ในคำว่า น ปุตฺตมิจฺเฉยฺย กุโต สหายํ เป็นศัพท์ปฏิเสธ.
               บทว่า ปุตฺตํ ความว่า บุตร ๔ ประเภท คือ บุตรที่เกิดในตน ๑ บุตรที่เกิดในภริยา ๑ บุตรที่เขาให้ ๑ บุตรคืออันเตวาสิก ๑.
               บทว่า สหายํ ความว่า การมา การไป การยืน การนั่ง การร้องเรียก การเจรจา การสนทนากับผู้ใด เป็นความผาสุก ผู้นั้นท่านเรียกว่า สหาย.
               บทว่า น ปุตฺตมิจฺเฉยฺย กุโต สหายํ ความว่า ไม่อยากได้ คือไม่ยินดี ไม่ปรารถนา ไม่ทะเยอทะยาน ไม่รำพันถึงแม้แต่บุตร จะอยากได้ยินดี ปรารถนา ทะเยอทะยาน รำพันถึงมิตร เพื่อนเห็น เพื่อนคบ หรือสหาย มาแต่ไหน เพราะเหตุนั้น ชื่อว่าไม่อยากได้แม้แต่บุตร จะอยากได้สหายมาแต่ไหน.
               บทว่า เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป ความว่า พระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ชื่อว่าผู้เดียว เพราะการบรรพชา.
               ชื่อว่า ผู้เดียว เพราะอรรถว่าไม่มีเพื่อน.
               ชื่อว่า ผู้เดียว เพราะอรรถว่าละตัณหา.
               ชื่อว่า ผู้เดียว เพราะปราศจากราคะแน่นอน.
               ชื่อว่า ผู้เดียว เพราะปราศจากโทสะแน่นอน.
               ชื่อว่า ผู้เดียว เพราะปราศจากโมหะแน่นอน.
               ชื่อว่า ผู้เดียว เพราะหมดกิเลสแน่นอน.
               ชื่อว่า ผู้เดียว เพราะดำเนินสู่ทางเป็นที่ดำเนินไปผู้เดียว.
               ชื่อว่า ผู้เดียว เพราะตรัสรู้พร้อมเฉพาะพระปัจเจกสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมผู้เดียว.
               พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่าผู้เดียว เพราะการบรรพชา อย่างไร?
               คือพระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นตัดปลิโพธกังวลในการครองเรือนเสียทั้งหมด ตัดปลิโพธกังวลในลูกเมีย ตัดปลิโพธกังวลในญาติมิตร อำมาตย์ และการสั่งสม ปลงผมและหนวด นุ่งผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชไม่มีเรือน เข้าถึงความไม่มีกังวล ผู้เดียวเท่านั้นเที่ยวไป คืออยู่ เป็นอยู่ เป็นไป คุ้มครอง ไป ให้ไป เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงชื่อว่าผู้เดียวเพราะการบรรพชาด้วยประการอย่างนี้.
               พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่าผู้เดียว เพราะอรรถว่าไม่มีเพื่อน อย่างไร?
               คือท่านเป็นผู้บวชอย่างนั้นอยู่ผู้เดียว เสพอาศัยเสนาสนะอันสงัด อันเป็นอรัญ ป่าและไหล่เขา ไม่มีเสียงอึกทึก ปราศจากลมอันเกิดจากชน อยู่โดดเดี่ยวไกลจากพวกมนุษย์ สมควรแก่การหลีกเร้น ท่านยืนคนเดียว เดินคนเดียว นั่งคนเดียว นอนคนเดียว ผู้เดียวเข้าไปบิณฑบาตยังบ้าน ผู้เดียวกลับมา ผู้เดียวนั่งในที่ลับ ผู้เดียวเดินจงกรม ผู้เดียวเที่ยวไป คืออยู่ เป็นอยู่ เป็นไป คุ้มครอง ไป ให้เป็นไป ท่านชื่อว่าผู้เดียว เพราะอรรถว่าไม่มีเพื่อนอย่างนี้ด้วยประการฉะนี้.
               พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่าผู้เดียว เพราะอรรถว่าละตัณหา เป็นอย่างไร?
               คือท่านผู้เดียว ไม่มีเพื่อน ไม่ประมาท มีความเพียรเครื่องเผากิเลสให้เร่าร้อน มีใจสงบอยู่ เริ่มตั้งมหาปธานความเพียรใหญ่ กำจัดมารพร้อมทั้งเสนามารแล้วละบรรเทา ทำให้พินาศไป ทำให้ถึงการไม่เกิดอีกต่อไป ซึ่งตัณหาอันมีข่ายคือตัณหาอันฟุ้งไปในอารมณ์ต่างๆ.
                         บุรุษผู้มีตัณหาเป็นเพื่อน ท่องเที่ยวไปตลอดกาลยาวนาน
               ย่อมไม่ล่วงพ้นสังสารซึ่งมีความเป็นอย่างนี้ และมีความเป็นโดย
               ประการอื่น.
                         ภิกษุรู้โทษข้อนี้ เป็นผู้ปราศจากตัณหา ไม่ยึดมั่น มีสติ
               พึงเว้นโดยสิ้นเชิง ซึ่งตัณหาอันเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์แล.

               พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่าผู้เดียว เพราะอรรถว่าละตัณหาด้วยประการอย่างนี้.
               พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่าผู้เดียว เพราะปราศจากราคะโดยส่วนเดียว เป็นอย่างไร?
               คือพระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่าปราศจากราคะโดยส่วนเดียว เพราะละราคะได้ เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าผู้เดียว. ชื่อว่าผู้ปราศจากโทสะโดยส่วนเดียว เพราะละโทสะได้ เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าผู้เดียว. ชื่อว่าผู้ปราศจากโมหะโดยส่วนเดียว เพราะละโมหะได้ เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าผู้เดียว. ชื่อว่าผู้ไม่มีกิเลสโดยส่วนเดียว เพราะละกิเลสทั้งหลายได้ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าผู้เดียว.
               พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นชื่อว่าผู้เดียว เพราะปราศจากราคะโดยส่วนเดียวด้วยประการอย่างนี้.
               พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่าผู้เดียว เพราะดำเนินสู่ทางเป็นที่ไปสำหรับคนผู้เดียว เป็นอย่างไร?
               สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ท่านเรียกว่าเอกายนมรรค ทางเป็นที่ไปสำหรับคนผู้เดียว.
                         พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงเห็นความสิ้นชาติและที่สุดแห่ง
               ชาติ ทรงอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ทรงรู้ชัดทางเป็นที่
               ไปสำหรับคนผู้เดียว ในกาลก่อนชนทั้งหลายข้ามโอฆะไปแล้ว
               ด้วยทางนี้ ในอนาคตจักข้ามด้วยทางนี้ และปัจจุบันนี้ก็กำลัง
               ข้ามโอฆะด้วยทางนี้.

               พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่าผู้เดียว เพราะดำเนินสู่ทางเป็นที่ไปสำหรับคนผู้เดียวด้วยประการอย่างนี้.
               พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่าผู้เดียว เพราะตรัสรู้พร้อมเฉพาะพระปัจเจกสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมผู้เดียว เป็นอย่างไร?
               ญาณในมรรค ๔ เรียกว่า โพธิ. ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิมังสา วิปัสสนา สัมมาทิฏฐิ.
               พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นตรัสรู้ด้วยปัจเจกโพธิญาณนั้นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ตรัสรู้ว่าสังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ตรัสรู้ว่าธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา.
               ตรัสรู้ว่าสังขารทั้งหลายมีเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย ตรัสรู้ว่าวิญญาณมีเพราะสังขารเป็นปัจจัย ตรัสรู้ว่านามรูปมีเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย ตรัสรู้ว่าสฬายตนะมีเพราะนามรูปเป็นปัจจัย ตรัสรู้ว่าผัสสะมีเพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ตรัสรู้ว่าเวทนามีเพราะผัสสะเป็นปัจจัย ตรัสรู้ว่าตัณหามีเพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตรัสรู้ว่าอุปาทานมีเพราะตัณหาเป็นปัจจัย ตรัสรู้ว่าภพมีเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ตรัสรู้ว่าชาติมีเพราะภพเป็นปัจจัย ตรัสรู้ว่าชรามรณะมีเพราะชาติเป็นปัจจัย.
               ตรัสรู้ว่าสังขารดับเพราะอวิชชาดับ ตรัสรู้ว่าวิญญาณดับเพราะสังขารดับ ฯลฯ ตรัสรู้ว่าชาติดับเพราะภพดับ ตรัสรู้ว่าชรามรณะดับ เพราะชาติดับ.
               ตรัสรู้ว่านี้ทุกข์ ตรัสรู้ว่านี้ทุกขสมุทัย ตรัสรู้ว่านี้ทุกขนิโรธ ตรัสรู้ว่านี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
               ตรัสรู้ว่าเหล่านี้อาสวะ ตรัสรู้ว่านี้อาสวสมุทัย ฯลฯ ตรัสรู้ว่านี้ปฏิปทา.
               ตรัสรู้ว่าธรรมเหล่านี้ควรกำหนดรู้ ตรัสรู้ว่าธรรมเหล่านี้ควรละ ตรัสรู้ว่าธรรมเหล่านี้ควรทำให้แจ้ง ตรัสรู้ว่าธรรมเหล่านี้ควรเจริญ
               ตรัสรู้การเกิดการดับไป ความเพลิดเพลิน โทษและการสลัดออกแห่งผัสสายตนะ ๖ ตรัสรู้การเกิด ฯลฯ การสลัดออกแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ ตรัสรู้การเกิด การดับไป ความเพลิดเพลินโทษและการสลัดออกแห่งมหาภูตรูป ๔
               ตรัสรู้ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับไปเป็นธรรมดา.
               อีกอย่างหนึ่ง ตรัสรู้ ตรัสรู้ตาม ตรัสรู้เฉพาะ ตรัสรู้พร้อม บรรลุ ถูกต้อง กระทำให้แจ้ง ซึ่งสิ่งที่ควรรู้ ควรรู้ตาม ควรรู้เฉพาะ ควรรู้ พร้อม ควรบรรลุ ควรถูกต้อง ควรทำให้แจ้งทั้งหมดนั้น ด้วยปัจเจกโพธิญาณนั้น.
               พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่าผู้เดียว เพราะตรัสรู้พร้อมเฉพาะซึ่งพระปัจเจกสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมผู้เดียว อย่างนี้ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า จเร ความว่า จริยา ๘ คือ อิริยาบถจริยา ๑ อายตนจริยา ๑ สติจริยา ๑ สมาธิจริยา ๑ ญาณจริยา ๑ มรรคจริยา ๑ ปัตติจริยา ๑ และโลกัตถจริยา ๑.
               จริยาในอิริยาบถทั้ง ๔ ชื่อว่าอิริยาปถจริยา.
               จริยาในอายตนะภายใน ๖ และภายนอก ๖ ชื่อว่าอายตนจริยา.
               จริยาในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ชื่อว่าสติจริยา.
               จริยาในฌาน ๔ ชื่อว่าสมาธิจริยา.
               จริยาในอริยสัจ ๔ ชื่อว่าญาณจริยา.
               จริยาในอริยมรรค ๔ ชื่อว่ามรรคจริยา.
               จริยาในสามัญญผล ๔ ชื่อว่าปัตติจริยา.
               จริยาในพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าบางส่วน ในพระสาวกทั้งหลายบางส่วน ชื่อว่าโลกัตถจริยา.
               อิริยาบถจริยาย่อมมีแก่ผู้เพียบพร้อมด้วยปณิธิการดำรงตน, อายตนจริยาย่อมมีแก่ผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย, สติจริยาย่อมมีแก่ผู้ปกติอยู่ด้วยความไม่ประมาท, สมาธิจริยาย่อมมีแก่ผู้ประกอบเนืองๆ ในอธิจิต, ญาณจริยาย่อมมีแก่ผู้สมบูรณ์ด้วยพุทธิปัญญา, มรรคจริยาย่อมมีแก่ผู้ปฏิบัติโดยชอบ, ปัตติจริยาย่อมมีแก่ผู้บรรลุผล และโลกัตถจริยาย่อมมีแก่พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แก่พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าบางส่วน แก่พระสาวกทั้งหลายบางส่วน. นี้จริยา ๘ ประการ.
               จริยา ๘ อีกอย่างหนึ่ง ท่านเมื่อน้อมใจเชื่อย่อมประพฤติด้วยศรัทธา, เมื่อประคองอยู่ย่อมประพฤติด้วยความเพียร, เมื่อเข้าไปตั้งมั่นย่อมประพฤติด้วยสติ, เมื่อกระทำความไม่ฟุ้งซ่านย่อมประพฤติด้วยสมาธิ, เมื่อรู้ชัดย่อมประพฤติไปด้วยปัญญา, เมื่อรู้แจ้งย่อมประพฤติด้วยวิญญาณจริยา, ย่อมประพฤติด้วยอายตนจริยา เพราะมนสิการว่า กุศลธรรมทั้งหลายย่อมมาถึงแก่ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ย่อมประพฤติด้วยวิเสสจริยา เพราะ มนสิการว่า ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ย่อมบรรลุคุณวิเศษ. นี้จริยา ๘ ประการ.
               จริยา ๘ อีกอย่างหนึ่ง จริยาในทัสสนะสำหรับสัมมาทิฏฐิ จริยาในการยกจิตสำหรับสัมมาสังกัปปะ จริยาในการกำหนดสำหรับสัมมาวาจา จริยาในความหมั่นสำหรับสัมมากัมมันตะ จริยาในความบริสุทธิ์สำหรับสัมมาอาชีวะ จริยาในการประคองไว้สำหรับสัมมาวายามะ จริยา ในการปรากฏสำหรับสัมมาสติ และจริยาในความไม่ฟุ้งซ่านสำหรับสัมมาสมาธิ. นี้จริยา ๘ ประการ.
               บทว่า ขคฺควิสาณกปฺโป ความว่า ธรรมดาแรดมีนอเดียวเท่านั้น ไม่มีนอที่สองฉันใด พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน เหมือนกับนอแรดนั้น เช่นเดียวกับนอแรดนั้น มีส่วนเปรียบด้วยนอแรดนั้น, ของเค็มจัดเรียกว่าเหมือนเกลือ ของขมจัดเรียกว่าเหมือนของขม ของหวานจัดเรียกว่าเหมือนน้ำหวาน ของร้อนจัดเรียกว่าเหมือนไฟ ของเย็นจัดเรียกว่าเหมือนหิมะ ลำน้ำใหญ่เรียกว่าเหมือนทะเล พระสาวกผู้บรรลุมหาอภิญญาพละ เรียกว่าเหมือนพระศาสดา ฉันใด พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน ท่านเหมือนนอแรด เช่นกับนอแรด มีส่วนเปรียบด้วยนอแรด ผู้เดียว ไม่มีเพื่อน หลุดพ้นกิเลสเครื่องผูกพัน เที่ยวไป คืออยู่ เป็นอยู่ เป็นไปอยู่ คุ้มครองอยู่ ไปอยู่ ให้ไปอยู่ในโลกโดยชอบ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าผู้เดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรด.
               ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าทั้งหลายจึงกล่าวว่า
                         บุคคลวางอาชญาในปวงสัตว์ ไม่เบียดเบียนสัตว์เหล่านั้น
               แม้ตัวหนึ่ง ไม่ปรารถนาบุตร จะปรารถนาสหายแต่ที่ไหน
               พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรดฉะนั้น.
                         ความเสน่หาย่อมมีแก่บุคคลผู้เกิดความเกี่ยวข้อง ทุกข์ที่
               อาศัยความเสน่หานี้มีมากมาย บุคคลเล็งเห็นโทษอันเกิดจาก
               ความเสน่หา พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรดฉะนั้น.
                         ผู้ช่วยอนุเคราะห์มิตรสหาย มีจิตพัวพันอยู่ ย่อมทำ
               ประโยชน์ให้เสื่อมไป บุคคลมองเห็นภัยในความสนิทสนมนี้
               พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรดฉะนั้น.
                         ความอาลัยในบุตรและภรรยา เปรียบเหมือนไม้ไผ่ใหญ่
               เกี่ยวเกาะกันอยู่ บุคคลไม่ข้องอยู่ในบุตรและภรรยาเหมือน
               หน่อไม้ไผ่ พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรดฉะนั้น.
                         วิญญูชนหวังความเสรี พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไปเหมือน
               นอแรด ดังเนื้อในป่าไม่ถูกผูก ย่อมเที่ยวไปหาเหยื่อได้ตาม
               ความปรารถนาฉะนั้น.
                         ในท่ามกลางสหาย ย่อมจะต้องมีการปรึกษาหารือกัน
               บุคคลเล็งเห็นความเสรี อันไม่เพ่งเล็งไปในการอยู่ การยืน
               การเดิน และการเที่ยวไป พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไปเหมือน
               นอแรดฉะนั้น.
                         การเล่นในท่ามกลางสหายเป็นความยินดี และความรัก
               ในบุตรภรรยาเป็นเรื่องกว้างใหญ่ไพศาล บุคคลเกลียดความ
               พลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไปเหมือน
               นอแรดฉะนั้น.
                         พึงแผ่เมตตาไปทั้ง ๔ ทิศ และไม่โกรธเคือง ยินดีด้วย
               ปัจจัยตามมีตามได้ อดทนต่ออันตรายทั้งหลาย ไม่หวาดเสียว
               พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรดฉะนั้น.
                         แม้บรรพชิตบางพวก และพวกคฤหัสถ์ที่ครองเรือนก็
               สงเคราะห์ได้ยาก พึงเป็นผู้ขวนขวายน้อยในบุตรของคนอื่น
               พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรดฉะนั้น.
                         บุคคลปลงเครื่องหมายของคฤหัสถ์เสีย เป็นผู้กล้าหาญ
               ตัดเครื่องหมายของคฤหัสถ์ เหมือนต้นทองหลางขาดใบ พึง
               เป็นผู้เดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรดฉะนั้น.
                         ถ้าบุคคลได้สหายผู้มีปัญญาเครื่องรักษาตน พึงเที่ยวไป
               กับสหายผู้เป็นนักปราชญ์มีปกติอยู่ยังประโยชน์ให้สำเร็จ พึง
               ครอบงำอันตรายทั้งมวล พึงดีใจ มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้น.
                         ถ้าไม่ได้สหายผู้มีปัญญาเครื่องรักษาตน ผู้เป็นนักปราชญ์
               มีปกติอยู่ยังประโยชน์ให้สำเร็จไว้เที่ยวไปด้วยกัน พึงเป็นผู้
               เดียวเที่ยวไป เหมือนพระราชาทรงละแว่นแคว้นที่พระองค์
               ชนะแล้ว และเหมือนช้างชื่อมาตังคะในป่าฉะนั้น.
                         อันที่แท้ พวกเราสรรเสริญสหายสมบัติ พึงคบหาสหาย
               ผู้ประเสริฐกว่าหรือผู้เสมอกัน บุคคลไม่ได้สหายเหล่านี้ พึง
               คบหากรรมอันไม่มีโทษ พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรด
               ฉะนั้น.
                         บุคคลเห็นกำไลมือทองคำอันสุกปลั่ง อันช่างทองทำ
               สำเร็จอย่างดี กระทบกันอยู่ที่แขนทั้งสอง พึงเป็นผู้เดียวเที่ยว
               ไปเหมือนนอแรดฉะนั้น.
                         การกล่าวด้วยวาจา หรือการติดข้องของเรา จะพึงมี
               กับเพื่อนอย่างนี้ บุคคลเล็งเห็นภัยนี้ ต่อไปภายหน้า พึงเป็น
               ผู้เดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรดฉะนั้น.
                         ก็กามทั้งหลายงดงาม หวานอร่อย เป็นที่รื่นรมย์ใจ
               ย่อมย่ำยีจิตใจด้วยรูปแปลก ๆ บุคคลเห็นโทษในกามคุณ
               ทั้งหลาย พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรดฉะนั้น.
                         ความจัญไร หัวฝี อันตราย โรค บาดแผลและภัย นี้
               จะพึงมีแก่เรา บุคคลเห็นภัยนี้ในกามคุณทั้งหลาย พึงเที่ยว
               ไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น.
                         พึงครอบงำอันตรายนี้ทั้งหมด คือความหนาว ความร้อน
               ความหิว ความระหาย ลม แดด เหลือบ ยุงและสัตว์เลื้อยคลาน
               พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรดฉะนั้น.
                         บุคคลพึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไปเช่นกับนอแรด หรือเหมือน
               ช้างเกิดร่างกายใหญ่โต มีสีดังดอกปทุม ละโขลงอยู่ในป่า
               ตามชอบใจฉะนั้น.
                         ท่านใคร่ครวญคำของพระปัจเจกพุทธเจ้านามว่า
               อาทิจจพันธุ์ ว่า ข้อที่บุคคลผู้ยินดีการคลุกคลีด้วยหมู่ จะ
               พึงบรรลุวิมุตติอันเกิดขึ้นในสมัยนั้น มิใช่ฐานะที่จะมีได้
               พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรดฉะนั้น.
                         เราเป็นไปล่วงข้าศึกคือทิฏฐิ ถึงความแน่นอน มีมรรค
               อันได้แล้ว มีญาณเกิดขึ้นแล้ว ไม่มีคนอื่นแนะนำ พึงเป็น
               ผู้เดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรดฉะนั้น.
                         บุคคลไม่มีความโลภ ไม่โกง ไม่กระหาย ไม่ลบหลู่
               คุณท่าน มีโมหะดุจน้ำฝาดอันกำจัดแล้ว ไม่มีกิเลสเป็นที่มา
               นอน ครอบงำโลกทั้งปวง พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไปเหมือน
               นอแรดฉะนั้น.
                         บุคคลพึงเว้นสหายผู้ลามก ผู้มักชี้แต่ความพินาศ
               ตั้งมั่นอยู่ในฐานะลุ่มๆ ดอนๆ ไม่ซ่องเสพผู้ขวนขวาย ผู้
               ประมาทด้วยตนเอง พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรด
               ฉะนั้น.
                         พึงคบมิตรผู้เป็นพหูสูต ทรงธรรม มีคุณยิ่ง มีปฏิภาณ
               รู้ทั่วถึงประโยชน์ทั้งหลาย บรรเทาความสงสัยได้ พึงเป็น
               ผู้เดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรดฉะนั้น.
                         บุคคลไม่พอใจการเล่น ความยินดี และกามสุขในโลก
               ไม่อาลัยคลายความยินดีจากฐานะที่ตกแต่ง มีปกติกล่าวแต่
               คำสัตย์ พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรดฉะนั้น.
                         บุคคลละบุตร ภรรยา บิดา มารดา ทรัพย์ ข้าวเปลือก
               พวกพ้อง และกามทั้งหลายตามส่วน พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไป
               เหมือนนอแรดฉะนั้น.
                         นี้เป็นกิเลสเครื่องข้อง ในกิเลสเครื่องข้องนี้ มีความสุข
               นิดหน่อย มีความยินดีน้อย มีทุกข์มากยิ่ง ผู้มีความคิดรู้ว่า
               เครื่องข้องนี้เป็นดุจขอ พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรด
               ฉะนั้น.
                         บุคคลพึงทำลายสังโยชน์ทั้งหลาย เหมือนปลาทำลาย
               ข่าย ไม่หวนกลับมาอีก เหมือนไฟไม่หวนกลับมายังที่ที่ไหม้
               แล้ว พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรดฉะนั้น.
                         พึงทอดจักษุลง ไม่คะนองเท้า คุ้มครองอินทรีย์ รักษา
               มนัส อันราคะไม่รั่วรด อันไฟกิเลสไม่เผาลน พึงเป็นผู้เดียว
               เที่ยวไปเหมือนนอแรดฉะนั้น.
                         พึงละเครื่องหมายคฤหัสถ์ เหมือนต้นทองกวาวมีใบขาด
               แล้ว นุ่งห่มผ้ากาสายะออกบวชแล้ว พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไป
               เหมือนนอแรดฉะนั้น.
                         ไม่พึงทำความกำหนัดในรส ไม่โลเล ไม่ต้องเลี้ยงผู้อื่น
               เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก มีจิตไม่ข้องเกี่ยวในสกุล
               พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรดฉะนั้น.
                         พึงละนิวรณ์เครื่องกั้นจิต ๕ ประการ บรรเทาอุปกิเลส
               เสียทั้งหมด ไม่อาศัยตัณหาและทิฏฐิ ตัดโทษอันเกิดแต่สิเนหา
               ได้แล้ว พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรดฉะนั้น.
                         กระทำสุข ทุกข์ โสมนัส และโทมนัสในก่อนไว้เบื้อง
               หลัง ได้อุเบกขาและสมถะอันบริสุทธิ์ พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไป
               เหมือนนอแรดฉะนั้น.
                         พึงปรารภความเพียรเพื่อบรรลุประโยชน์อย่างยิ่ง มีจิต
               ไม่หดหู่ ไม่ประพฤติเกียจคร้าน มีความบากบั่นมั่น ประกอบ
               ด้วยเรี่ยวแรงและกำลัง พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรด
               ฉะนั้น.
                         ไม่ละการหลีกเร้นและฌาน มีปกติประพฤติธรรมสมควร
               แก่ธรรมเป็นนิตย์ พิจารณาเห็นโทษในภพทั้งหลาย พึงเป็น
               ผู้เดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรดฉะนั้น.
                         พึงปรารถนาความสิ้นตัณหา ไม่ประมาท ไม่เป็นคนบ้า
               น้ำลาย มีการสดับ มีสติ มีธรรมอันพิจารณาแล้ว เป็นผู้เที่ยงมี
               ปธานความเพียร พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรดฉะนั้น.
                         ไม่พึงสะดุ้งในเพราะเสียง ดุจสีหะ ไม่ข้องอยู่ เหมือนลม
               ไม่ติดตาข่าย ไม่ติดอยู่ เหมือนปทุมไม่ติดน้ำ พึงเป็นผู้เดียว
               เที่ยวไปเหมือนนอแรดฉะนั้น.
                         พึงเสพเสนาสนะอันสงัด เหมือนสีหะผู้เป็นราชาของ
               พวกเนื้อ มีเขี้ยวเป็นกำลัง ประพฤติข่มขี่ครอบงำเนื้อทั้งหลาย
               ฉะนั้น พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรดฉะนั้น.
                         พึงเจริญเมตตาวิมุตติ กรุณาวิมุตติ มุทิตาวิมุตติ และ
               อุเบกขาวิมุตติทุกเวลา ไม่พิโรธสัตวโลกทั้งมวล พึงเป็นผู้
               เดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรดฉะนั้น.
                         พึงละราคะ โทสะ และโมหะ ทำลายสังโยชน์ทั้งหลาย
               ไม่สะดุ้งในเวลาสิ้นชีวิต พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรด
               ฉะนั้น.
                         ชนทั้งหลายมีประโยชน์เป็นเหตุ จึงคบหาสมาคมกัน
               บุคคลผู้ไม่มีเหตุ จะมาเป็นมิตรกันในทุกวันนี้หาได้ยาก พวก
               มนุษย์ผู้ไม่สะอาดมักเห็นแก่ประโยชน์ตน พึงเป็นผู้เดียว
               เที่ยวไปเหมือนนอแรดฉะนั้น.
               คำว่า สพฺเพสุ ภูเตสุ ในคาถานั้น คือพระสูตรว่าด้วยขัคควิสาณปัจเจกสัมพุทธาปทาน.
               พระสูตรนั้นมีเหตุเกิดขึ้นอย่างไร?
               พระสูตรทั้งปวงมีเหตุเกิดขึ้น ๔ อย่าง คือเกิดโดยอัธยาศัยของตนเอง ๑ เกิดโดยอัธยาศัยของผู้อื่น ๑ เกิดโดยเกิดเรื่องขึ้น ๑ และเกิดโดยอำนาจการถาม ๑
               ในเหตุเกิด ๔ อย่างนั้น ขัคควิสาณสูตรเกิดขึ้นด้วยอำนาจการถามโดยไม่พิเศษ. แต่เมื่อว่าโดยพิเศษ เพราะเหตุที่คาถาบางคาถาในสูตรนี้ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์นั้นๆ ถูกเขาถามจึงกล่าวไว้ บางคาถาไม่ถูกถาม แต่เมื่อจะเปล่งเฉพาะอุทานอันเหมาะสมแก่นัยแห่งมรรคที่ตนบรรลุจึงได้กล่าวไว้ เพราะฉะนั้น บางคาถาจึงเกิดขึ้นด้วยอำนาจการถาม บางคาถาเกิดขึ้นด้วยอัธยาศัยของตน.
               ในเหตุเกิด ๔ อย่างนั้น เหตุเกิดด้วยอำนาจการถามโดยไม่พิเศษนี้นั้น พึงทราบอย่างนี้จำเดิมแต่ต้นไป.
               สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในนครสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์อยู่ในที่ลับเร้นอยู่ เกิดความปริวิตกแห่งใจขึ้นอย่างนี้ว่า ความปรารถนาและอภินีหารของพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมปรากฏ ของพระสาวกทั้งหลายก็ปรากฏเหมือนอย่างนั้น แต่ของพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าทั้งหลายยังไม่ปรากฏ ถ้ากระไรเราพึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วทูลถาม. ท่านพระอานนท์นั้นจึงออกจากที่เร้น ทูลถามถึงเรื่องราวนั้นโดยลำดับ.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสปุพพโยคาวจรสูตร แก่ท่านพระอานนท์นั้นว่า
                            ดูก่อนอานนท์ อานิสงส์ ๕ ประการเหล่านี้ คือย่อมทำผู้
                  หยั่งลงในความเพียรอันมีในก่อน ให้พลันบรรลุพระอรหัตผลใน
                  ปัจจุบัน ๑ ถ้ายังไม่ให้บรรลุพระอรหัตผลในปัจจุบัน เมื่อเป็นเช่น
                  นั้น ย่อมให้บรรลุพระอรหัตผลในเวลาจะตาย ๑ ถ้าไม่เป็นอย่าง
                  นั้น จะเป็นเทวบุตรบรรลุพระอรหัตผล ๑ ถ้าไม่อย่างนั้น จะเป็น
                  ขิปปาภิญญา ตรัสรู้ได้เร็ว ในเมื่ออยู่ต่อพระพักตร์พระพุทธเจ้า
                  ทั้งหลาย ๑ ถ้าไม่เป็นอย่างนั้น จะ เป็นพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าใน
                  กาลสุดท้ายภายหลัง ๑

               ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว จึงตรัสต่อไปอีกว่า
                            ดูก่อนอานนท์ ธรรมดาว่าพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย
                  เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอภินีหาร หยั่งลงในความเพียรอันมีในก่อน
                  เพราะฉะนั้น ความปรารถนาและอภินีหารของพระปัจเจกสัมพุทธ
                  เจ้าและสาวกของพระพุทธเจ้าทั้งมวล จึงจำปรารถนา.

               ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความปรารถนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมเป็นไปนานเพียงไร.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ ความปรารถนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย โดยกำหนดอย่างต่ำย่อมเป็นไป ๔ อสงไขยแสนกัป โดยกำหนดอย่างกลางย่อมเป็นไป ๘ อสงไขยแสนกัป โดยกำหนดอย่างสูงย่อมเป็นไป ๑๖ อสงไขยแสนกัป.
               ก็ความแตกต่างกันเหล่านี้ พึงทราบโดยอำนาจแห่งพระพุทธเจ้าผู้เป็นปัญญาธิกะยิ่งด้วยปัญญา สัทธาธิกะยิ่งด้วยศรัทธาและวิริยาธิกะยิ่งด้วยความเพียร.
               จริงอยู่ พระพุทธเจ้าผู้เป็นปัญญาธิกะ มีศรัทธาอ่อน มีปัญญากล้าแข็ง.
               พระพุทธเจ้าผู้เป็นสัทธาธิกะ มีปัญญาปานกลาง มีศรัทธากล้าแข็ง.
               พระพุทธเจ้าผู้เป็นวิริยาธิกะ มีศรัทธาและปัญญาอ่อน มีความเพียรกล้าแข็ง.
               ก็ฐานะนี้ที่ว่ายังไม่ถึง ๔ อสงไขยแสนกัป เมื่อให้ทานทุกวันๆ เช่นการให้ทานของพระเวสสันดร และการสั่งสมบารมีธรรมมีศีลเป็นต้นอันสมควรแก่ทานนั้น ก็จะเป็นพระพุทธเจ้าในระหว่างได้ดังนี้ ย่อมจะมีไม่ได้.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะญาณยังไม่ตั้งท้อง ยังไม่ถึงความไพบูลย์ ยังไม่ถึงความแก่กล้า. ฐานะนี้ที่ว่า ข้าวกล้าที่จะเผล็ดผลต่อเมื่อล่วงไป ๓ เดือน ๔ เดือนและ ๕ เดือน ยังไม่ถึงเวลานั้นๆ จะอยากได้ก็ดี จะเอาน้ำรดก็ดี สักร้อยครั้งพันครั้งทุกวันๆ จักให้เผล็ดผลโดยปักษ์หนึ่งหรือเดือนหนึ่งในระหว่างดังนี้ ย่อมไม่มี.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะข้าวกล้ายังไม่ท้อง ยังไม่ถึงความไพบูลย์ ยังไม่แก่ ดังนี้ชื่อฉันใด ฐานะนี้ว่ายังไม่ถึง ๔ อสงไขยแสนกัป จักได้ เป็นพระพุทธเจ้าดังนี้ ย่อมไม่มี ฉันนั้นเหมือนกัน. เพราะฉะนั้น พึงกระทำการบำเพ็ญบารมีตลอดกาลตามที่กล่าวไว้แล้วนั่นแหละ เพื่อต้องการให้ญาณแก่กล้า.
               อนึ่ง ผู้ปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้าโดยกาลแม้มีประมาณเท่านี้ ก็จำต้องปรารถนาสมบัติ ๘ ประการในการกระทำอภินีหาร.
               จริงอยู่
                         อภินีหารนี้ย่อมสำเร็จเพราะประชุมธรรม ๘ ประการไว้ได้
               คือความเป็นมนุษย์ ๑ ความถึงพร้อมด้วยเพศชาย ๑ เหตุ ๑
               การได้พบพระศาสดา ๑ การบรรพชา ๑ ความถึงพร้อมด้วย
               คุณ ๑ การกระทำอันยิ่ง ๑ ความเป็นผู้มีฉันทะ ๑.

               คำว่า อภินีหาร นี้ เป็นชื่อของความปรารถนาเดิมเริ่มแรก.
               ในธรรม ๘ ประการนั้น การเกิดเป็นมนุษย์ชื่อว่าความเป็นมนุษย์.
               จริงอยู่ เว้นจากกำเนิดมนุษย์ ความปรารถนาย่อมไม่สำเร็จแก่ผู้ดำรงอยู่ในกำเนิดที่เหลือ แม้แต่กำเนิดเทวดา อันผู้ดำรงอยู่ในกำเนิดอื่นนั้น เมื่อปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้า ต้องกระทำบุญกรรมมีทานเป็นต้นแล้วปรารถนาเฉพาะความเป็นมนุษย์ (ให้ได้ก่อน) ครั้นดำรงอยู่ในความเป็นมนุษย์แล้วจึงค่อยกระทำความปรารถนา (ความเป็นพระพุทธเจ้า). เมื่อกระทำอย่างนี้แหละ ความปรารถนาจึงจะสำเร็จ.
               ความเป็นบุรุษ ชื่อว่าความถึงพร้อมด้วยเพศ.
               จริงอยู่ มาตุคาม กะเทยและคนสองเพศ แม้จะดำรงอยู่ในกำเนิดมนุษย์ ก็ปรารถนาไม่สำเร็จ. อันผู้ดำรงอยู่ในเพศมาตุคามเป็นต้นนั้น เมื่อปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้า พึงกระทำบุญกรรมมีทานเป็นต้น แล้วจึงปรารถนาเฉพาะความเป็นบุรุษ ครั้นได้ดำรงอยู่ในความเป็นบุรุษแล้ว จึงพึงปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้า ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ ความปรารถนาย่อมสำเร็จ.
               ความถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยแห่งพระอรหัตชื่อว่าเหตุ. ก็บุคคลใดเพียรพยายามอยู่. ในอัตภาพนั้นสามารถบรรลุพระอรหัต ความปรารถนาของบุคคลนั้นย่อมสำเร็จ ความปรารถนาของบุคคลนอกนี้ย่อมไม่สำเร็จ เหมือนดังสุเมธบัณฑิต.
               จริงอยู่ ท่านสุเมธบัณฑิตนั้นได้พบพระทีปังกรพุทธเจ้าในที่พร้อมพระพักตร์แล้วจึงกระทำความปรารถนา.
               ความเป็นผู้ไม่มีเหย้าเรือน ชื่อว่าการบรรพชา. ก็ความเป็นผู้ไม่มีเหย้าเรือนนั้น ย่อมควรในพระศาสนา หรือในนิกายของดาบสและปริพาชกผู้เป็นกรรมวาทีและกิริยวาที เหมือนดังท่านสุเมธบัณฑิต.
               จริงอยู่ ท่านสุเมธบัณฑิตนั้นเป็นดาบสนามว่าสุเมธ ได้กระทำความปรารถนาแล้ว.
               การได้เฉพาะคุณมีฌานเป็นต้น ชื่อว่าความถึงพร้อมด้วยคุณ.
               จริงอยู่ แม้เมื่อบวชแล้วก็เฉพาะสมบูรณ์ด้วยคุณเท่านั้น ความปรารถนาจึงจะสำเร็จ ย่อมไม่สำเร็จแก่บุคคลนอกนี้ เหมือนดังสุเมธบัณฑิต.
               จริงอยู่ ท่านสุเมธบัณฑิตนั้นเป็นผู้มีอภิญญา ๕ และเป็นผู้ได้สมาบัติ ๘ ได้ปรารถนาแล้ว.
               การกระทำอันยิ่ง อธิบายว่า การบริจาคชื่อว่าอธิการ.
               จริงอยู่ เมื่อบุคคลบริจาคชีวิตเป็นต้นแล้วปรารถนานั้นแหละ ความปรารถนาย่อมสำเร็จ ไม่สำเร็จแก่บุคคลนอกนี้ เหมือนดังท่านสุเมธบัณฑิต.
               จริงอยู่ ท่านสุเมธบัณฑิตนั้นกระทำการบริจาคตน แล้วตั้งความปรารถนาไว้อย่างนี้ว่า
                         พระพุทธเจ้าพร้อมกับศิษย์ทั้งหลายจงเหยียบเราไป
               อย่าทรงเหยียบเปือกตมเลย ข้อนี้จักเป็นไปเพื่อประโยชน์
               เกื้อกูลแก่เรา ดังนี้.

               แล้วจึงได้ปรารถนา.
               ความเป็นผู้ใคร่เพื่อจะทำ ชื่อว่าความเป็นผู้มีฉันทะ. ความเป็นผู้มีฉันทะที่จะทำนั้น ย่อมมีกำลังแก่ผู้ใด ความปรารถนาย่อมสำเร็จแก่ผู้นั้น. อธิบายว่า ก็ความเป็นผู้มีฉันทะที่จะทำนั้น ถ้าใครๆ มากล่าวว่า ใครอยู่ในนรก ๔ อสงไขยแสนกัป แล้วปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้าดังนี้ ผู้ใดได้ฟังดังนั้นอาจกล่าวว่าเรา ดังนี้ พึงทราบว่ามีกำลังแก่ผู้นั้น.
               อนึ่ง ถ้าใครๆ มากล่าวว่า ใครเหยียบจักรวาลทั้งสิ้นอันเต็มด้วยถ่านเพลิงปราศจากเปลว ย่อมปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้าได้ ใครเหยียบจักรวาลทั้งสิ้นอันเกลื่อนกลาดด้วยหอกและหลาวพ้นไปได้ ย่อมปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้าได้ ใครข้ามจักรวาลทั้งสิ้นอันมีน้ำเต็มเปี่ยมไปได้ ย่อมปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้าได้ ใครเดินย่ำจักรวาลทั้งสิ้นที่ปกคลุมด้วยกอไผ่ไม่มีช่องว่างพ้นไปได้ ย่อมปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้าได้ดังนี้ ผู้ใดได้ฟังดังนั้นอาจสามารถพูดว่าเรา ดังนี้ พึงทราบว่าผู้นั้นมีความเป็นผู้มีฉันทะที่จะทำมีกำลัง.
               ก็สุเมธบัณฑิตประกอบด้วยฉันทะคือความเป็นผู้ใคร่ที่จะทำเห็นปานดังกล่าวมา จึงปรารถนาแล้ว.
               ก็พระโพธิสัตว์ผู้มีอภินีหารอันสำเร็จแล้วอย่างนี้ย่อมไม่เข้าถึงอภัพพฐานะ คือฐานะอันไม่ควร ๑๘ ประการเหล่านี้.
               อธิบายว่า จำเดิมแต่สำเร็จอภินีหารแล้ว พระโพธิสัตว์นั้นไม่เป็นคนบอดไม่เป็นคนหนวกมาแต่กำเนิด ๑ ไม่เป็นคนบ้า ๑ ไม่เป็นคนใบ้ ๑ ไม่เป็นง่อยเปลี้ย ไม่เกิดขึ้นในหมู่คนมิลักขะคือคนป่าเถื่อน ๑ ไม่เกิดในท้องนางทาสี ๑ ไม่เป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิคือคนมีมิจฉาทิฏฐิอันดิ่ง ๑ ท่านจะไม่กลับเพศ ๑ ไม่ทำอนันตริยกรรมห้า ๑ ไม่เป็นคนมีโรคเรื้อน ๑ ในกำเนิดเดียรัจฉานจะไม่มีร่างกายเล็กกว่านกกระจาบ จะไม่ใหญ่โตกว่าช้าง ๑ จะไม่เกิดขึ้นในขุปปิปาสิกเปรตและนิชฌามตัณหิกเปรต ๑ จะไม่เกิดขึ้นในพวกกาลกัญชิกาสูร ๑ ไม่เกิดในอเวจีนรก ๑ ไม่เกิดในโลกันตนรก ๑ อนึ่งจะไม่เป็นมาร ๑ ในชั้นกามาวจรทั้งหลาย ในชั้นรูปาวจรทั้งหลายจะไม่เกิดในอสัญญีภพ ๑ ไม่เกิดในชั้นสุทธาวาส ๑ ไม่เกิดในอรูปภพ ไม่ก้าวล้ำไปยังจักรวาลอื่น ๑.
               พระโพธิสัตว์เป็นผู้ประกอบด้วยพุทธภูมิ ๔ เหล่านี้ คือ อุสสาหะ ความอุตสาหะ ๑ อุมมัคคะ ปัญญา ๑ อวัตถานะ ความตั้งใจมั่น ๑ หิตจริยา การประพฤติประโยชน์เกื้อกูล ๑.
               ในพุทธภูมิ ๔ ประการนั้น พึงทราบว่า
                         ความเพียร เรียกว่าอุสสาหะ ปัญญา เรียกว่าอุมมัคคะ
                         อธิษฐานความตั้งมั่น เรียกว่าอวัตถานะ การประพฤติ
                         ประโยชน์เกื้อกูลที่เรียกว่าหิตจริยา เรียกว่า เมตตาภาวนา.
               อนึ่ง อัชฌาสัย ๖ ประการนี้ใด คืออัชฌาสัยในเนกขัมมะ ๑ อัชฌาสัยในปวิเวก ๑ อัชฌาสัยในอโลภะ ๑ อัชฌาสัยในอโทสะ ๑ อัชฌาสัยในอโมหะ ๑ และอัชฌาสัยในนิสสรณะ การสลัดออกจากภพ ๑ ย่อมเป็นไปเพื่อบ่มพระโพธิญาณ. และเพราะประกอบด้วยอัชฌาสัยเหล่าใด ท่านจึงเรียกพระโพธิสัตว์ทั้งหลายว่า ผู้มีเนกขัมมะเป็นอัธยาศัย เห็นโทษในกามทั้งหลาย. ว่าผู้มีปวิเวกเป็นอัธยาศัย เห็นโทษในการคลุกคลี, ว่าผู้มีอโลภะเป็นอัธยาศัย เห็นโทษในความโลภ, ว่าผู้มีอโทสะเป็นอัธยาศัย เห็นโทษในโทสะ, ว่าผู้มีอโมหะเป็นอัธยาศัย เห็นโทษในโมหะ, ว่าผู้มีการสลัดออกจากภพเป็นอัธยาศัย เห็นโทษในภพทั้งปวง.
               พระโพธิสัตว์ผู้สำเร็จอภินีหาร ย่อมเป็นผู้ประกอบด้วยอัธยาศัยเหล่านั้นด้วย.
               ถามว่า ก็ความปรารถนาของพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ย่อมเป็นไปนานเพียงไร?
               ตอบว่า ความปรารถนาของพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมเป็นไป ๒ อสงไขยแสนกัป ไม่อาจต่ำกว่านั้น พึงทราบเหตุในความปรารถนานั้นโดยนัยดังกล่าวไว้ในเบื้องต้นนั่นแหละ ก็ว่าโดยกาลแม้มีประมาณเท่านี้ ผู้ปรารถนาความเป็นพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ก็จำต้อง ปรารถนาสมบัติ ๕ ประการกระทำอภินีหาร.
               จริงอยู่ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเหล่านั้น
                         มีเหตุแห่งอภินีหารเหล่านี้ คือความเป็นมนุษย์ ๑ ความ
               ถึงพร้อมด้วยเพศชาย ๑ การได้เห็นท่านผู้ปราศจากอาสวะ ๑
               การกระทำอันยิ่งใหญ่ ๑ ความเป็นผู้มีฉันทะ ๑

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า การได้เห็นท่านผู้ปราศจากอาสวะ ได้แก่ การได้เห็นพระพุทธเจ้า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าและพระสาวกของพระพุทธเจ้า ท่านใดท่านหนึ่ง.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วแล.
               เมื่อเป็นเช่นนั้น ขอถามว่า ความปรารถนาของพระสาวกทั้งหลายเป็นไปตลอดกาลมีประมาณเท่าไร?
               ตอบว่า ความปรารถนาของพระอัครสาวกเป็นไป ๑ อสงไขยแสนกัป ของพระอสีติมหาสาวกเป็นไปแสนกัปเท่านั้น. ความปรารถนาของพระพุทธบิดา พระพุทธมารดา พระพุทธอุปัฏฐากและพระพุทธบุตร ก็แสนกัปเหมือนกัน เพราะเหตุนั้นจึงไม่อาจต่ำกว่านั้น เหตุในความปรารถนานั้นมีนัยดังกล่าวแล้วเหมือนกัน.
               แต่พระสาวกเหล่านี้ทุกองค์มีอภินีหารเฉพาะสองข้อเท่านั้น คืออธิการ การกระทำอันยิ่ง และฉันทตา ความเป็นผู้มีฉันทะที่จะทำ.
               พระพุทธเจ้าทั้งหลายบำเพ็ญบารมีทั้งหลายตลอดกาลซึ่งมีประเภทตามที่กล่าวแล้ว ด้วยความปรารถนานี้และด้วยอภินีหารนี้ อย่างนี้แล้ว เมื่อจะเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นในสกุลกษัตริย์หรือสกุลพราหมณ์.
               พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นในสกุลกษัตริย์ สกุลพราหมณ์หรือสกุลคหบดี สกุลใดสกุลหนึ่ง.
               ส่วนพระอัครสาวกย่อมเกิดขึ้นเฉพาะในสกุลกษัตริย์และสกุลพราหมณ์ เหมือนอย่างพระพุทธเจ้า.
               พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ไม่เกิดขึ้นในสังวัฏฏกัปคือกัปเสื่อม ย่อมเกิดขึ้นในวิวัฏฏกัปคือกัปเจริญ. พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายก็เหมือนกัน.
               อนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายไม่เกิดขึ้นในกาลที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายบังเกิดขึ้น. พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง และยังให้ผู้อื่นรู้ได้ด้วย. พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสรู้เฉพาะตนเองแต่ไม่ยังให้ผู้อื่นรู้. พระปัจเจกพุทธเจ้าย่อมแทงตลอดอรรถรสเท่านั้น ไม่แทง ตลอดธรรมรส. เพราะพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นไม่อาจยกโลกุตรธรรมขึ้นสู่บัญญัติแล้วแสดง. พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นมีการตรัสรู้ธรรม เหมือนคนใบ้เห็นความฝัน และเหมือนพรานป่าลิ้มรสกับข้าวในเมืองฉะนั้น. ท่านบรรลุประเภทแห่งความแตกฉานในอิทธิฤทธิ์และสมาบัติทั้งปวง เป็นผู้ต่ำกว่าพระพุทธเจ้า สูงกว่าพระสาวกโดยคุณวิเศษ. ให้คนอื่นบวชไม่ได้ แต่ให้ศึกษาอภิสมาจาริกวัตรได้ กระทำอุโบสถด้วยอุเทศนี้ว่า พึงทำการขัดเกลาจิต ไม่พึงถึงอวสานคือจบ หรือกระทำอุโบสถโดยเพียงกล่าวว่า วันนี้เป็นวันอุโบสถ และเมื่อจะทำอุโบสถย่อมประชุมกันทำที่รัตนมาฬกะโรงแก้ว ณ ควงต้นไม้สวรรค์ บนภูเขาคันธมาทน์แล.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกความปรารถนาและอภินีหารอันบริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวงของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย แก่ท่านพระอานนท์ ด้วยประการอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะตรัสบอกพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นๆ ผู้เป็นไปพร้อมด้วยความปรารถนานี้และด้วยอภินีหารนี้ จึงได้ตรัสขัคควิสาณสูตรนี้โดยนัยมีอาทิว่า วางอาชญาในสัตว์ทั้งปวงดังนี้.
               นี้เป็นเหตุเกิดแห่งขัคควิสาณสูตรด้วยอำนาจการถาม โดยไม่พิเศษก่อน.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค ๒. ปัจเจกพุทธาปทาน
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 1อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 2อ่านอรรถกถา 32 / 3อ่านอรรถกถา 32 / 412
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=147&Z=289
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=49&A=3800
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=49&A=3800
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :