ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 33.1 / 1อ่านอรรถกถา 33.1 / 124อรรถกถา เล่มที่ 33.1 ข้อ 125อ่านอรรถกถา 33.1 / 126อ่านอรรถกถา 33.1 / 180
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ ๕๔. กัจจายวรรค
๕. กุมารกัสสปเถราปทาน

               ๕๓๕. อรรถกถากุมารกัสสปเถราปทาน               
               พึงทราบเรื่องราวในอปทานที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-
               อปทานของท่านพพระกุมารกัสสปเถระ อันมีคำเริ่มต้นว่า อิโต สตสหสสมหิ ดังนี้.
               ได้ทราบว่า พระเถระรูปนี้ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ท่านได้บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ บรรลุนิติภาวะแล้ว วันหนึ่ง ขณะที่กำลังฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา ได้เป็นภิกษุรูปหนึ่งซึ่งพระศาสดาทรงสถาปนาเธอไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุผู้กล่าวธรรมกถาอันวิจิตร แม้ตนเองก็ปรารถนาตำแหน่งนั้น ดำรงชีวิตอยู่จนตลอดอายุ จุติจากอัตภาพนั้นท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก ได้เสวยสมบัติในโลกทั้ง ๒ แล้ว.
               ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะ เขาได้บังเกิดในเรือนอันมีสกุล บวชในพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นแล้ว บำเพ็ญสมณธรรม ท่องเที่ยวไปเฉพาะในสุคติทั้งหลายอย่างเดียว ได้เสวยทิพยสุขและมนุษยสุขแล้ว.
               ในพุทธุปบาทกาลนี้เขาได้บังเกิดในท้องลูกสาวเศรษฐีคนหนึ่ง ในกรุงราชคฤห์.
               ทราบว่า ลูกสาวเศรษฐีนั้น ในเวลาที่เป็นเด็กหญิงนั่นแล มีความประสงค์จะบวช จึงขออนุญาตมารดาบิดา เมื่อไม่ได้รับอนุญาตให้บวชจึงไปยังตระกูลสามี ได้มีครรภ์ แต่ไม่รู้ว่ามีครรภ์นั้น จึงคิดแล้วว่า เราจักทำให้สามียินดี (ทำให้ถูกใจสามี) แล้วจึงจักขออนุญาตบวช.
               เมื่อนางจะทำให้ถูกใจสามี จึงชี้ให้ถึงโทษของสรีระโดยนัยเป็นต้นว่า
                   ถ้าว่าในภายในของร่างกายนี้ จะถึงกลับออกมาในภายนอกไซร้
                   บุคคลก็จะต้องถือท่อนไม้คอยไล่หมู่กาและหมู่สุนัขแน่นอน ดังนี้.

               จึงทำให้สามีผู้ประเสริฐนั้นได้ยินดีแล้ว
               หญิงนั้นได้รับอนุญาตจากสามีแล้ว ไม่รู้ว่ามีครรภ์จึงได้บวชในหมู่นางภิกษุณีฝ่ายของพระเทวทัต. พวกนางภิกษุณีได้เห็นว่านางมีครรภ์จึงไปถามพระเทวทัต. พระเทวทัตนั้นตัดสินว่า นางภิกษุณีนี้ไม่เป็นสมณะ.
               นางภิกษุณีนั้นจึงคิดว่า เรามิได้บวชอุทิศพระเทวทัต. แต่เราบวชอุทิศพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ จึงได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ทูลถามพระทศพล.
               พรศาสดาทรงมอบหมายให้พระอุบาลีเถระรับหน้าที่ไป.
               พระเถระสั่งให้เรียกตระกูลชาวพระนครสาวัตถี และนางวิสาขาอุบาสิกามาแล้ว เมื่อจะวินิจฉัยเรื่อองนั้นพร้อมกับบริษัทผู้มีความขัดแย้ง จึงกล่าวว่า นางได้มีครรภ์ก่อนบวช ครรภ์ไม่มีอันตรายบวชแล้ว.
               พระศาสดาได้ทรงสดับเรื่องนั้นแล้ว ตรัสว่า อุบาลีวินิจฉัยอธิกรณ์ถูกต้องดีแล้ว จึงทรงประทานสาธุการแก่พระเถระ.
               นางภิกษุณีรูปนี้ได้คลอดบุตรรูปร่างงดงามดุจทองคำ.
               พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพระดำริว่า การเลี้ยงดูทารกจะเป็นความกังวลใจแก่พวกนางภิกษุณี จึงทรงรับสั่งให้แก่พวกญาติแล้ว รับสั่งให้เลี้ยงดู.
               พวกญาติได้ตั้งชื่อทารกนั้นว่า กัสสป.
               ในกาลต่อมา มารดาประดับตกแต่งแล้ว นำไปเฝ้าพระศาสดาแล้วทูลขอบรรพชาแล้ว. ก็เพราะท่านบวชในเวลาที่เป็นเด็ก เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พวกเธอจงเรียกกัสสปะมา พวกเธอจงให้ผลไม้หรือว่าของที่ควรเคี้ยวนี้แก่กัสสปะ พวกภิกษุจึงทูลถามว่า กัสสปะไหน.
               ต่อมาในเวลาเจริญวัยแล้ว จึงปรากฏชื่อว่ากุมารกัสสปะ เพราะตั้งชื่อเสียใหม่ว่ากุมารกัสสปะ และเพราะเป็นบุตรที่พระราชาทรงชุบเลี้ยง.
               จำเดิมแต่บวชแล้ว ท่านก็บำเพ็ญวิปัสสนากัมมัฏฐาน และศึกษาเล่าเรียนพระพุทธวจนะ.
               ลำดับนั้น ท้าวมหาพรหมผู้เป็นพระอนาคามีบังเกิดในชั้นสุทธาวาส ได้บำเพ็ญสมณธรรมบนยอดภูเขาร่วมกับท่านคิดว่า เราจักชี้ทางวิปัสสนาแล้ว กระทำอุบายเพื่อบรรลุมรรคผลได้ ดังนี้แล้วจึงแต่งปัญหาขึ้น ๑๕ ข้อแล้วบอกแก่พระเถระผู้อยู่ในป่าอันธวันว่า ท่านควรถามปัญหาเหล่านี้กะพระศาสดา.
               ทีนั้น ท่านจึงทูลภามปัญหาเหล่านั้นกะพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ทรงวิสัชนาแก่เธอแล้ว.
               พระเถระเล่าเรียนปัญหาเหล่านั้น โดยทำนองที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วทั้งหมด ยังวิปัสสนาให้ถือเอาซึ่งห้องแล้ว ให้บรรลุพระอรหัต.
               พระกุมารกัสสปะนั้น พอได้บรรลุพระอรหัตแล้ว ระลึกถึงบุรพกรรมของตน ได้เกิดความโสมนัสใจ เมื่อจะประกาศถึงเรื่องราวที่ตนเคยได้ประพฤติมาแล้วในกาลก่อน จึงกล่าวคำเริ่มต้นว่า อิโต สตสหสสมหิ ดังนี้
               คำใดในคาถานั้น มีเนื้อความซ้ำกับที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วในหนหลัง คำนั้นทั้งหมด ข้าพเจ้าจักไม่พรรณนา ข้าพเจ้าจักพรรณนาเฉพาะบทที่ยากๆ เท่านั้น.
               บทว่า อาปนนสตตา เม มาตา ความว่า มารดาของเรามีครรภ์แก่เป็นหญิงมีครรภ์ ได้แก่มีครรภ์แก่ใกล้เวลาคลอด.
               บทว่า วมมิกสทิสํ กายํ ความว่า ขึ้นชื่อว่าสรีระเป็นเช่นกับจอมปลวก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงคือทรงประกาศไว้ว่า ร่างกายนี้มีช่องอยู่ ๙ ช่องซึ่งไหลไปอยู่เป็นนิตย์ เปรียบเหมือนจอมปลวกมีช่องเล็กช่องใหญ่ข้างโน้นข้างนี้ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทั้งหลาย เช่น มอดและตัวปลวกเป็นต้น ฉันนั้นเหมือนกัน.
               อธิบายว่า ครั้นได้สดับพระดำรัสนั้นแล้ว จิตของเราไม่ยึดถืออาสวะทั้งหลาย พ้นแล้วจากกิเลสได้โดยพิเศษ คือดำรงอยู่แล้วในพระอรหัตผล.
               ในกาลต่อมา พระศาสดาได้ทรงทราบจากภิกษุทั้งหลายในที่นั้นๆ ว่า พระเถระนั้นเป็นผู้กล่าวธรรมกถาได้อย่างวิจิตร จึงทรงสถาปนาเธอไว้ในตำแหน่งที่เลิศว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กุมารกัสสปะนี้เป็นผู้เลิศแห่งภิกษุสาวกของเราผู้กล่าวธรรมกถาให้วิจิตรแล.
               จบอรรถกถากุมารกัสสปเถราปทาน               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ ๕๔. กัจจายวรรค ๕. กุมารกัสสปเถราปทาน จบ.
อ่านอรรถกถา 33.1 / 1อ่านอรรถกถา 33.1 / 124อรรถกถา เล่มที่ 33.1 ข้อ 125อ่านอรรถกถา 33.1 / 126อ่านอรรถกถา 33.1 / 180
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=3008&Z=3064
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=6077
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=6077
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :