ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 33.1 / 1อ่านอรรถกถา 33.1 / 125อรรถกถา เล่มที่ 33.1 ข้อ 126อ่านอรรถกถา 33.1 / 127อ่านอรรถกถา 33.1 / 180
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ ๕๔. กัจจายวรรค
๖. พาหิยเถราปทาน

               ๕๓๖. อรรถกถาพาหิยเถราปทาน               
               อปทานของท่านพระพาหิยพารุจิริยเถระ อันมีคำเริ่มต้นว่า อิโต สตสหสสมหิ ดังนี้.
               แม้พระเถระรูปนี้ก็ได้เคยบำเพ็ญกุศลมาแล้วในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ได้สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้เป็นอันมากในภพนั้นๆ.
               ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ท่านได้บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ถึงความสำเร็จในศิลปะของพวกพราหมณ์แล้ว เป็นผู้มีความรู้ไม่ขาดตกบกพร่องในเวทางคศาสตร์ทั้งหลาย.
               วันหนึ่งได้ไปยังสำนักของพระศาสดา ขณะฟังธรรมมีใจเลื่อมใส ได้เห็นภิกษุรูปหนึ่งซึ่งพระศาสดาทรงสถาปนาเธอไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าพวกภิกษุผู้ขิปปาภิญญา (ตรัสรู้ได้เร็วไว) เป็นผู้ประสงค์จะได้ตำแหน่งนั้นบ้าง
               จึงได้ถวายมหาทานแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ตลอด ๗ วัน โดยล่วง ๗ วันไปแล้ว จึงหมอบลงที่บาทมูลของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ตั้งความปรารถนาไว้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในวันที่ ๗ แต่วันนี้ไป พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงได้สถาปนาภิกษุใดไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าพวกภิกษุขิปปาภิญญา ในอนาคตกาล แม้ข้าพระองค์ก็พึงเป็นเหมือนภิกษุรูปนั้น คือพึงเป็นผู้เลิศกว่าพวกภิกษุผู้ขิปปาภิญญา ในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งเถิด.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูด้วยอนาคตังสญาณแล้ว ทรงทราบว่าสำเร็จผลแน่ จึงทรงพยากรณ์ว่า ในอนาคตกาล เขาบวชในพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าโคดม จักเป็นผู้เลิศกว่าพวกภิกษุขิปปาภิญญาแล.
               เขาได้ทำบุญไว้เป็นอันมากจนตลอดอายุ จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้บังเกิดในเทวโลก ได้เสวยสมบัติในกามาวจร ๖ ชั้นในเทวโลกนั้นแล้ว ก็ได้เสวยสมบัติมีจักรพรรดิสมบัติเป็นต้นในมนุษยโลกอีกหลายร้อยโกฏิกัป.
               ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะ เขาได้บังเกิดในตระกูลแห่งหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้ว จึงได้บวชแล้ว.
               เมื่อพระศาสนาเสื่อมสิ้นลง ภิกษุ ๗ รูปมองเห็นความประพฤติผิดของบริษัท ๔ ถึงความสังเวชสลดจิต พากันเข้าไปป่า คิดว่า พวกเราจักกระทำที่พึ่งแก่ตนเองตลอดเวลาที่พระศาสนายังไม่เสื่อมสิ้นไป จึงพากันไหว้พระสุวรรณเจดีย์แล้ว ได้มองเห็นภูเขาลูกหนึ่งในป่านั้นพูดว่า ผู้มีความห่วงใยในชีวิตจงกลับไปเสีย ผู้ไม่ห่วงใยในชีวิตจงพากันขึ้นไปยังภูเขาลูกนี้เถิด แล้วจึงพาดพะอง ทั้งหมดพากันขึ้นไปยังภูเขาลูกนั้นแล้ว ผลักพะองให้ตกไปแล้วต่างก็บำเพ็ญสมณธรรม.
               ในบรรดาภิกษุทั้ง ๗ รูปเหล่านั้น พระสังฆเถระได้บรรลุพระอรหัต โดยล่วงไปเพียงราตรีเดียวเท่านั้น. พระเถระนั้นเคี้ยวไม้สีฟันชื่อนาคลดา ในสระอโนดาด ล้างหน้าแล้ว นำเอาบิณฑบาตมาจากอุตตรกุรุทวีปแล้ว พูดกะภิกษุเหล่านั้นว่า ผู้มีอายุจงฉันบิณฑบาตนี้เถิด.
               ภิกษุเหล่านั้นพูดว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พวกเราได้กระทำกติกาอย่างนี้ไว้แล้วหรือว่า รูปใดบรรลุพระอรหัตก่อน รูปที่เหลือจงบริโภคฉันบิณฑบาตที่รูปนั้นนำมาแล้ว.
               พระเถระกล่าวว่า ผู้มีอายุ ข้อนั้นมิใช่เป็นเช่นนั้น. ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า ก็ถ้าว่าแม้พวกเราจักได้ทำคุณวิเศษให้บังเกิดขึ้นได้เหมือนอย่างทานไซร้ ตนเองก็จักนำมาบริโภคฉันเอง ดังนี้จึงไม่ปรารถนาแล้ว.
               ในวันที่ ๒ พระเถระรูปที่ ๒ ได้เป็นพระอนาคามี ได้นำเอาบิณฑบาตมาแล้วอย่างนั้นเหมือนกันแล้ว นิมนต์ให้ภิกษุนอกนี้ฉัน ภิกษุเหล่านั้นกล่าวแล้วอย่างนี้ว่า ผู้มีอายุ พวกเราได้ทำกติกากันไว้แล้วหรือว่า พวกเราจักไม่ฉันบิณฑบาตที่พระมหาเถระนำมา จักฉันบิณฑบาตเฉพาะที่พระอนุเถระนำมาแล้ว.
               พระเถระกล่าวว่า ผู้มีอายุ ก็ข้อนั้นมิใช่เป็นเช่นนั้น.
               ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ แม้พวกเราจักทำคุณวิเศษให้บังเกิดขึ้นเหมือนอย่างพวกท่านอย่างนั้นแล้ว ก็จักอาจเพื่อขบฉันตามความเป็นอย่างบุรุษของตนของตน ดังนี้ ไม่ปรารถนาแล้ว.
               ในบรรดาภิกษุเหล่านั้นพระเถระที่ได้บรรลุพระอรหัต ได้ปรินิพพานแล้ว.
               พระเถระรูปที่ ๒ ได้เป็นพระอนาคามีได้ไปบังเกิดพรหมโลก.
               ภิกษุอีก ๕ รูปนอกนี้ไม่สามารถจะทำคุณวิเศษให้บังเกิดขึ้นได้ จึงเศร้าโศกใจในวันที่ ๗ ได้กระทำกาละไปบังเกิดในเทวโลก. ได้เสวยทิพยสุขในเทวโลกนั้นแล้ว ในพุทธุปบาทกาลนี้ จุติจากอัตภาพนั้นแล้วบังเกิดในมนุษยโลก.
               ในบรรดาชน ๕ คนเหล่านั้น คนหนึ่งไปเป็นพระราชาพระนามว่าปุกกุสะ อยู่ในกรุงตักกสิลา แคว้นคันธาระ คนหนึ่งชื่อว่ากุมารกัสสปะ คนหนึ่งชื่อว่าพาหิยทารุจิริยะ คนหนึ่งชื่อว่าทัพพมัลลบุตร และคนหนึ่งชื่อว่าสภิยปริพาชกแล.
               ในบรรดาชน ๕ คนเหล่านั้น พาหิยทารุจิริยะคนนี้ได้บังเกิดในตระกูลพ่อค้าที่ท่าสุปปารกะ ถึงความสำเร็จในพาณิชยกรรมแล้ว มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก. เขาได้ขึ้นเรือไปต่างประเทศพร้อมกับพวกพ่อค้าซึ่งกำลังเดินทางไปยังสุวรรณภูมิ เดินทางไปได้เล็กน้อย เรือก็อับปาง ผู้คนที่เหลือก็กลายเป็นภักษาของปลาและเต่า เหลือเขาเพียงคนเดียวเท่านั้นเกาะไม้กระดานแผ่นหนึ่งพยายามว่ายน้ำ ในวันที่ ๗ ก็ล่วงถึงฝั่งแห่งท่าสุปปารกะ.
               เขาไม่มีผ้านุ่งและผ้าห่ม เขามองไม่เห็นใครอื่น จึงเอาปอผูกท่อนไม้แห้งแล้ว นุ่งและห่ม ถือเอากระเบื้องจากเทวสถานได้ไปยังท่าสุปปารกะ.
               พวกมนุษย์เห็นเขาเข้าแล้ว ต่างก็พากันให้ยาคูและภัตเป็นต้นแล้วยกย่องว่า ท่านผู้นี้คนเดียวเป็นพระอรหันต์. เมื่อพวกชาวบ้านนำเอาผ้านุ่งผ้าห่มมาให้มากมายเขาจึงคิดว่า ถ้าว่า เราจะนุ่งหรือจะห่มผ้าไซร้ ลาภและสักการะของเราก็จักเสื่อมสิ้นไป จึงพูดห้ามผ้าเหล่านั้นเสียแล้ว ใช้สอยเฉพาะแต่ผ้าเปลือกไม้อย่างเดียว.
               ลำดับนั้น เมื่อเขาได้รับยกย่องจากประชาชนเป็นอันมากว่าเป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์ดังนี้ จึงมีความปริวิตกเกิดขึ้นในใจอย่างนี้ว่า พวกที่เป็นพระอรหันต์หรือว่าปฏิบัติดำเนินไปเพื่อบรรลุพระอรหัตมีอยู่ในโลกนี้ ตัวเราก็เป็นผู้หนึ่งของพวกนั้น. เขาเลี้ยงชีวิตด้วยการงานที่หลอกลวงคนอื่นโดยทำนองนั้นแล.
               ในพระศาสนาแห่งพระกัสสปทศพล เมื่อชนทั้ง ๗ คนขึ้นไปยังภูเขาบำเพ็ญสมณธรรม คนหนึ่งได้เป็นพระอนาคามีได้ไปบังเกิดในพรหมโลกชั้นสุทธาวาส ตรวจดูพรหมสมบัติของตน รำพึงถึงสถานที่ที่ตนมาแล้ว ขึ้นไปยังภูเขา เห็นที่บำเพ็ญสมณธรรมแล้ว รำพึงถึงสถานที่ที่คนที่เหลือไปเกิด รู้ว่าท่านหนึ่งปรินิพพานแล้ว และรู้ว่านอกนี้อีก ๕ คนไปบังเกิดในเทวโลกชั้นกามาวจร ได้รำพึงถึงคนทั้ง ๕ เหล่านั้นตามกาลอันสมควร.
               เมื่อรำพึงว่า ก็ในเวลานี้คนทั้ง ๕ เหล่านั้นไปบังเกิดในที่ไหนหนอ จึงได้เห็นทารุจิริยะผู้อาศัยท่าสุปปารกะเลี้ยงชีวิตด้วยการงานคือการหลอกลวงแล้ว คิดว่าผู้นี้เป็นคนพาลฉิบหายแล้วหนอ เขาบำเพ็ญสมณธรรมในกาลก่อน ไม่ได้ฉันบิณฑบาตแม้ที่พระอรหันต์นำมาแล้วโดยความอุกฤษฎ์ยิ่ง บัดนี้เป็นผู้ไม่สมควรเพราะเหตุแห่งท้อง อ้างว่าเป็นพระอรหันต์ เที่ยวหลอกลวงชาวโลกอยู่ ไม่รู้ว่าพระทศพลทรงอุบัติขึ้นแล้ว เราจะไปทำให้เกิดความสังเวช จักให้เขาได้ทราบว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้ว ดังนี้
               ในขณะนั้นนั่นแล จึงลงจากพรหมโลกแล้วได้ปรากฏข้างหน้าทารุจิริยะ ในระหว่างภาคราตรี ณ ที่ท่าสุปปารกะ.
               ทารุจิริยะนั้นเห็นแสงสว่างส่องมาในที่อยู่ของตน จึงออกมาข้างนอกเห็นท้าวมหาพรหมเข้า จึงประคองอัญชลีถามว่า ท่านเป็นใครหนอ.
               ท้าวมหาพรหมตอบว่า เราเป็นสหายเก่าของท่าน ได้บรรลุอนาคามิผลแล้วไปบังเกิดในพรหมโลก หัวหน้าของพวกเราทั้งหมด เป็นพระอรหันต์ ปรินิพพานแล้ว ส่วนพวกท่าน ๕ คน ไปบังเกิดในเทวโลก บัดนี้เรานั้นได้เห็นท่านเลี้ยงชีวิตด้วยการงานคือการหลอกลวงในที่นี้ จึงได้มาเพื่อสั่งสอนท่านแล้วกล่าวถึงเหตุนี้ว่า พาหิยะ ท่านไม่ใช่พระอรหันต์ ทั้งไม่ใช่เป็นผู้ปฏิบัติตามหนทางพระอรหัตด้วยปฏิปทาใด ปฏิทาแม้นั้นไม่ได้มีแก่ท่านเลย.
               ลำดับนั้น ท้าวมหาพรหมได้บอกเขาว่า พระศาสดาทรงอุบัติขึ้นแล้ว และได้บอกเขาว่า พระศาสดาประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ได้ส่งเขาไปด้วยสั่งว่า จงไปเฝ้าพระศาสดาเถิด แล้วก็ได้กลับไปยังพรหมโลกตามเดิม.
               ฝ่ายพาหิยะมองดูท้าวมหาพรหมผู้ยืนกล่าวอยู่ในอากาศแล้ว คิดว่า โอ เราได้กระทำกรรมหนักหนอ เรามิได้เป็นพระอรหันต์ แต่คิดว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว ท้าวมหาพรหมนี้กล่าวกะเราว่า ท่านไม่ใช่เป็นพรอรหันต์เลย ทั้งท่านก็มิได้ปฏิบัติตามหนทางพระอรหัตด้วย ดังนี้ คนอื่นที่เป็นพระอรหันต์ในโลกนี้ มีหรือไม่หนอ.
               ลำดับนั้น พาหิยะจึงถามเทวดานั้นว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกใครเล่าเป็นพระอรหันต์ หรือว่าเป็นผู้ปฏิบัติตามหนทางพระอรหัต.
               ลำดับนั้น เทวดาจึงบอกเขาว่า พาหิยะ ในอุตตรชนบทมีพระนครหนึ่งชื่อสาวัตถี บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้อรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นกำลังประทับอยู่ในพระนครนั้น พาหิยะ ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ และทรงแสดงธรรมเพื่อให้คนเป็นพระอรหันต์.
               ในส่วนแห่งราตรีนั้น พาหิยะได้ฟังถ้อยคำของเทวดาแล้วมีความสังเวชสลดใจ จึงได้ออกจากท่าสุปปารกะในขณะนั้นนั่นเอง แล้วได้ไปยังกรุงสาวัตถีโดยคืนเดียวแล. ก็เมื่อขณะกำลังเดินทางไปด้วยอานุภาพแห่งเทวดา และด้วยอานุภาพของพระพุทธเจ้าจึงทำให้เขาเดินทางไปได้ถึง ๑๒๐ โยชน์ ถึงกรุงสาวัตถี.
               ในขณะนั้น พระศาสดากำลังเสด็จเข้าไปยังกรุงสาวัตถีเพื่อบิณฑบาต เขาเข้าไปยังพระเชตวันแล้ว ถามพวกภิกษุมากรูปผู้กำลังเดินจงกรมอยู่ในที่กลางแจ้งว่า บัดนี้ พระศาสดาเสด็จไปไหนเสียเล่า?
               พวกภิกษุตอบว่า พระศาสดาเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถีแล้วถามว่า คุณมาจากไหนเล่า?
               เขาตอบว่า ผมมาจากท่าสุปปารกะขอรับ.
               ถามว่า คุณออกเดินทางเวลาเท่าไร?
               เขาตอบว่า ผมออกเดินทางเมื่อเย็นวานนี้ ขอรับ.
               พวกภิกษุกล่าวต้อนรับว่า คุณเดินทางมาไกล เชิญนั่ง ล้างเท้าทาน้ำมันเสียก่อน พักผ่อนสักหน่อย ในเวลาไม่นานนักจักได้เห็นพระศาสดา.
               พาหิยะกราบเรียนว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ผมไม่รู้ถึงอันตรายในชีวิตของพระศาสดาเสียก่อนแล้ว จึงพักผ่อนภายหลัง.
               เขาพูดอย่างนั้นแล้วก็รีบร้อน เข้าไปยังกรุงสาวัตถี ได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งกำลังเสด็จจาริกไปด้วยพระพุทธสิริอันหาที่เปรียบมิได้ คิดว่าเป็นเวลานานหนอที่เราได้พบพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าดังนี้ ตั้งแต่ที่ได้พบเห็นแล้วก็น้อมสรีระไปแล้ว กราบลงที่ระหว่างถนนด้วยเบญจางคประดิษฐ์จับที่ข้อพระบาทไว้มั่นแล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงแสดงธรรมเถิด ขอพระสุคตเจ้าจงทรงแสดงธรรมเถิด ซึ่งจะได้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ข้าพระองค์ตลอดกาลนาน.
               ลำดับนั้น พระศาสดาทรงตรัสห้ามเขาไว้ว่า เวลานี้มิใช่กาล พาหิยะ เราจะเข้าไปยังละแวกบ้านเพื่อบิณฑบาต.
               พาหิยะได้สดับพระดำรัสนั้นแล้ว จึงกราบทูลวิงวอนอีกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผู้ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏไม่เคยได้อาหารคือคำข้าวไม่มี ข้าพระองค์ไม่รู้อันตรายในชีวิตของพระองค์หรือว่าของข้าพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์เถิด ขอพระสุคตเจ้าจงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์เถิด.
               พระศาสดาตรัสห้ามอย่างนั้นนั่นแลแม้ครั้งที่ ๒.
               นัยว่า พระศาสดาได้มีพระดำริอย่างนี้ว่า ตั้งแต่เวลาที่พาหิยะนี้เห็นแล้ว สรีระทั้งสิ้นของเขามีปิติท่วมทับหาระหว่างมิได้ กำลังแห่งปิติที่มีกำลังมาก แม้จะได้ฟังธรรมแล้วก็จำไม่สามารถเพื่อบรรลุได้เลย จงพักผ่อนด้วยมัชฌัตตุเปกขาเสียก่อน เพราะเมื่อเขาเดินทางมาสิ้นหนทางถึง ๑๒๐ โยชน์โดยราตรีเดียวเท่านั้น จงระงับความเหน็ดเหนื่อยอันนั้นเสียก่อน เพราะเหตุนั้น พระศาสดาจึงตรัสห้ามถึง ๒ ครั้ง เขาทูลขอในครั้งที่ ๓ ประทับยืนอยู่ในระหว่างทางนั่นแล ได้ทรงแสดงธรรมโดยอเนกปริยายโดยนัยเป็นต้นว่า
               เพราะเหตุนั้นในข้อนี้ เธอพึงศึกษาอย่างนี้ พาหิยะ เมื่อเธอเห็นแล้ว จักเป็นสักว่าเห็น.
               พาหิยะนั้นขณะกำลังฟังธรรมของพระศาสดาอยู่นั่นแล ได้ทำอาสวะทั้งปวงให้หมดสิ้นไปแล้ว ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔.
               พาหิยะนั้น ในขณะที่ได้บรรลุพระอรหัตแล้วนั่นแล ระลึกถึงบุรพกรรมของตน เกิดความโสมนัสใจ เมื่อจะประกาศถึงเรื่องราวที่ตนได้เคยประพฤติมาแล้วในกาลก่อน จึงกล่าวคำเริ่มต้นว่า อิโต สตสหสสมหิ ดังนี้.
               คำนั้นมีเนื้อความง่ายทั้งนั้น เพราะมีนัยดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วในหนหลังนั่นแล. ข้าพเจ้าจักกระทำการพรรณนาเฉพาะบทที่ยากเท่านั้น.
               บทว่า หสนํ ปจฺจเวกฺขณํ ความว่า พิจารณาดูความสมบูรณ์ด้วยโสมนัส คือมีวรรณะของคนวัยหนุ่มวัยสาว ละเอียดอ่อนยิ่งนัก.
               บทว่า เหมยณฺโญปจิตงฺคํ ความว่า ผู้มีอวัยวะสรีระร่างกายอันบุญกรรมสร้างสรรให้คล้ายกับเส้นทองคำ.
               บทว่า ปลมฺพพิพฺพตมฺโพฏฺฐํ ความว่า มีริมฝีปากทั้ง ๒ ข้างเป็นสีแดงคล้ายกับผลตำลึงสุก.
               บทว่า เสตติณฺหสมํ ทิชํ ความว่า มีฟันเสมอคล้ายกระทำการตัดด้วยเครื่องตัดเหล็กและโลหะอันคมด้วยหินลับมีดชั้นดี ทำให้เสมอ.
               บทว่า ปีติสมฺผุลฺลิตานนํ ความว่า มีใบหน้าเบิกบานด้วยดีด้วยปีติ คือมีหน้าแจ่มใสเช่นกับพื้นกระจก.
               บทว่า ขิปฺปาภิญฺญสฺส ภิกฺขุโน ความว่า แห่งภิกษุผู้สามารถจะตรัสรู้ได้โดยพิเศษยิ่งโดยเร็วพลัน คือในขณะที่ยกธรรมขึ้นแสดงเท่านั้น.
               บทว่า สคฺคํ อคํ สภวนํ ยถา ความว่า เราได้ไปสู่โลกสวรรค์ซึ่งคล้ายกับบ้านเรือนของตนฉะนั้น.
               บทว่า น ตฺวํ อุปายมคฺคญฺญู ความว่า เธอมิใช่เป็นผู้รู้หนทางอันเป็นอุบายให้ได้บรรลุพระนิพพาน.
               บทว่า สตฺถุโน สทา ชินํ มีประโยชน์ว่า เราพ่ายแพ้ต่อความกำเริบจักได้เห็นพระชินเจ้าผู้มีพระพักตร์อันผ่องใสดุจพื้นกระจก ของพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอดกาลทั้งปวง คือจักออกไปเพื่อเข้าเฝ้า.
               บทว่า ทิเช อปุจฺฉึ กุหึ โลกนนฺทโน ความว่า เราได้ถามพวกผู้เกิดสองครั้งคือพราหมณ์ ได้แก่พวกภิกษุว่า พระศาสดาผู้ทรงกระทำให้ชาวโลกเลื่อมใส ประทับอยู่ ณ ที่ไหน.
               บทว่า สโสว ขิปฺปํ มุนิทิสฺสนุสฺสุโก ความว่า เป็นผู้มีความพยายามอุตสาหะในการเห็นพระมุนีเจ้า คือในการเห็นพระตถาคตเจ้า ดุจกระต่ายหมายจันทร์ฉะนั้น ย่อมบรรลุโดยพลัน.
               บทว่า ตุวฏํ คนฺตฺวา คือ ไปโดยเร็วพลัน.
               บทว่า ปิณฺฑตฺถํ อปิหาคิธํ ความว่า อาศัยบิณฑบาตไม่ละโมบ ปราศจากความละโมบ ไม่กำหนด ไม่มีตัณหา.
               บทว่า อโลลกฺขํ เชื่อมความว่า เราได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ไม่เหลียวมองดูข้างโน้นข้างนี้ เสด็จเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาตในพระนครสาวัตถีอันอุดม.
               บทว่า สิรีนิลยสงฺกาสํ ความว่า คล้ายกับที่อยู่อันงดงามด้วยสิริลักษณะและอนุพยัญชนะ คือเช่นกับเสาค่ายอันลุกโพลง.
               บทว่า รวิทิตฺติหรานนํ ความว่ามณฑลหน้ามุขอันลุกโชติช่วง คล้ายกับมณฑลพระอาทิตย์อันรุ่งโรจน์ฉะนั้น.
               บทว่า กุปเถ วิปฺปนฏฺฐสูส ความว่า ขอพระองค์จงเป็นสรณะคือจงเป็นที่พึ่งของข้าพระองค์ ผู้หลงทาง ปฏิบัติผิดในหนทางที่บัณฑิตติเตียน คือในหนทางที่มีอันตราย.
               คำว่า โคตม ความว่า พาหิยะย่อมร้องเรียกพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยพระโคตร.
               บทว่า น ตตฺถ สุกฺกา โชตนฺติ ความว่า หมู่ดาวมีดาวประกายพรึกที่เรืองแสงเป็นต้น สมบูรณ์ด้วยรัศมีสุกปลั่ง ย่อมไม่รุ่งโรจน์อับแสงไป.
               คำที่เหลือมีเนื้อความง่ายทั้งนั้นแล.
               พาหิยะนั้น ครั้นได้ประกาศเรื่องราวที่ตนเคยได้ประพฤติมาแล้วในกาลก่อนอย่างนั้นแล้ว จึงได้ทูลขอบรรพชากะพระผู้มีพระภาคเจ้าในขณะนั้นนั่นแล. และเขาถูกพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า บาตรและจีวรของเธอมีครบแล้วหรือ จึงกราบทูลว่า ยังไม่ครบ พระเจ้าข้า.
               ลำดับนั้น พระศาสดาจึงตรัสกะเขาว่า ถ้าอย่างนั้น เธอจงไปแสวงหาบาตรและจีวรมาเถิด แล้วก็เสด็จหลีกไป.
               ได้ทราบมาว่า เขาบำเพ็ญสมณธรรมมาสิ้น ๒ หมื่นปี กล่าวว่า ธรรมดาว่าภิกษุได้ปัจจัยทั้งหลายมาด้วยตัวเอง ไม่ห่วงใยภิกษุรูปอื่น ตนเองนั้นย่อมสมควรเพื่อจะใช้สอยเอง ดังนี้แล้วจึงไม่ได้ทำการสงเคราะห์ด้วยบาตรหรือจีวรแม้แก่ภิกษุรูปหนึ่งเลย.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า บาตรและจีวรที่สำเร็จด้วยฤทธิ์จักไม่เกิดขึ้นแก่เขาแน่ จึงมิได้ประทานการบรรพชาด้วยเอหิภิกขุ.
               อมนุษย์ผู้มีเวรกันในกาลก่อน เข้าสิงในร่างของโคแม่ลูกอ่อนตัวหนึ่ง ขวิดเขาเข้าที่โคนขาข้างซ้าย นำเขาผู้กำลังแสวงหาบาตรและจีวร ซึ่งฉุดดึงเอาท่อนผ้าออกจากกองหยากเยื่อแม้นั้นให้ถึงความสิ้นชีวิตไป.
               พระศาสดาเสด็จจาริกไปบิณฑบาตแล้วทรงกระทำภัตรกิจเสร็จแล้ว ขณะกำลังเสด็จออกพร้อมกับพวกภิกษุมากรูป ได้ทอดพระเนตรเห็นร่างของพาหิยะ ซึ่งฟุบจมกองหยากเยื่อแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงประคองพาหิยทารุจิริยะนี้ไป ดังนี้แล้วประทับยืนที่ประตูเรือนแห่งหนึ่ง ทรงสั่งพวกภิกษุว่า จงนำร่างนี้ขึ้นเตียงนำออกไปจากประตูเมืองแล้ว ให้ทำการฌาปนกิจ เก็บเอาธาตุไว้ก่อเป็นสถูป.
               พวกภิกษุเหล่านั้นช่วยกันก่อสร้างสถูปบรรจุพระธาตุไว้ที่หนทางใหญ่แล้วเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ได้กราบทูลให้ทรงทราบถึงการงานที่ตนได้ทำเสร็จแล้ว แต่นั้นมาในท่ามกลางสงฆ์ก็เกิดถ้อยคำขึ้นว่า พระตถาคตเจ้าทรงบังคับให้เก็บเอาพระธาตุบรรจุไว้ที่เจดีย์ หนทางไหนหนอ ที่พาหิยะนั้นได้บรรลุแล้ว เขาเป็นสามเณรหรือว่าภิกษุหนอแล.
               พระศาสดาทรงทำเรื่องนั้นให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุ ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พาหิยะ ทารุจิริยะดำรงอยู่ในพระอรหัตแล้ว ทรงแสดงพระธรรมเทศนาเพิ่มเติมขึ้นอีก. และพระศาสดาได้ตรัสบอกว่า พาหิยะนั้นปรินิพพานแล้ว จึงทรงสถาปนาเธอไว้ในตำแหน่งที่เลิศว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พาหิยะ ทารุจิริยะเลิศกว่าภิกษุสาวกทั้งหลายของเราผู้ตรัสรู้ได้โดยพลันแล.
               ลำดับนั้น พวกภิกษุจึงกราบทูลถามพระองค์ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า พาหิยะ ทารุจิริยะบรรลุพระอรหัตแล้ว เขาได้บรรลุพระอรหัตในเวลาใด พระเจ้าข้า.
               พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเวลาที่เขาได้ฟังธรรมของเราแล้ว.
               พวกภิกษุทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระองค์ตรัสแสดงธรรมแก่เขาเมื่อไร?
               พระศาสดาตรัสว่า เมื่อเวลาที่เราจาริกไปเพื่อภิกษา ยืนอยู่ระหว่างถนน. พวกภิกษุทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ประทับยืนอยู่ระหว่างถนนแสดงธรรมเพียงเล็กน้อย เขายังคุณวิเศษให้บังเกิดขึ้น ได้ด้วยพระธรรมเพียงเท่านั้นได้อย่างไร.
               ลำดับนั้น พระศาสดาจึงตรัสกะภิกษุเหล่านั้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าคิดว่า ธรรมของเราน้อยหรือมาก ด้วยว่าคาถา ๑,๐๐๐ คาถาที่ประกอบด้วยบทอันหาประโยชน์มิได้ แม้จะมีเป็นอเนกก็ตาม ย่อมไม่ประเสริฐเลย ส่วนว่าบทแห่งคาถาแม้บทเดียวที่ประกอบด้วยประโยชน์ ย่อมประเสริฐแท้ ดังนี้.
               เมื่อจะทรงสืบต่ออนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
                         หากว่าคาถาที่ประกอบด้วยบทอันไม่มีประโยชน์ แม้มีตั้ง
                         ๑,๐๐๐ คาถา บทแห่งคาถาเพียงคาถาเดียวที่ตนได้ฟัง
                         แล้วสงบได้ ประเสริฐกว่าคาถาตั้ง ๑,๐๐๐ นั้น.

               ในเวลาจบเทศนา สัตว์ ๘๔,๐๐๐ ได้บรรลุธรรมาภิสมัยแล.
               จบอรรถกถาพาหิยเถราปทาน               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ ๕๔. กัจจายวรรค ๖. พาหิยเถราปทาน จบ.
อ่านอรรถกถา 33.1 / 1อ่านอรรถกถา 33.1 / 125อรรถกถา เล่มที่ 33.1 ข้อ 126อ่านอรรถกถา 33.1 / 127อ่านอรรถกถา 33.1 / 180
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=3065&Z=3155
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=6132
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=6132
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :