ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]อ่านอรรถกถา 33.1 / 1อ่านอรรถกถา 33.1 / 180อรรถกถา เล่มที่ 33.2 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 33.2 / 2อ่านอรรถกถา 33.2 / 28
อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์
รัตนะจงกรมกัณฑ์

หน้าต่างที่ ๕ / ๑๒.

               ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะท่านว่า ดูก่อนอุทายี เธอสรรเสริญการเดินทาง ทำไมหนอ.
               ท่านพระอุทายีกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าสุทโธทนมหาราช พระชนกของพระองค์ มีพระราชประสงค์จะพบพระองค์ ขอพระองค์โปรดทรงทำการสงเคราะห์พระประยูรญาติเถิด พระเจ้าข้า.
               พระศาสดาตรัสว่า ดีละ อุทายี เราตถาคตจักทำการสงเคราะห์พระประยูรญาติ ถ้าอย่างนั้น เธอจงบอกกล่าวแก่ภิกษุสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจักบำเพ็ญคมิยวัตร [ธรรมเนียมของภิกษุผู้จะเดินทาง].
               พระเถระทูลรับพระพุทธดำรัสว่า ดีละ พระเจ้าข้า แล้วก็บอกกล่าวแก่ภิกษุสงฆ์.
               พระศาสดาทรงแวดล้อมด้วยภิกษุขีณาสพรวมทั้งหมดสองหมื่นรูป คือกุลบุตรชาวอังคะและมคธะหมื่นรูป กุลบุตรชาวกรุงกบิลพัสดุ์หมื่นรูป เสด็จออกจากกรุงราชคฤห์ เดินทางวันละโยชน์ๆ สองเดือนก็เสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จถึงแล้ว ฝ่ายเจ้าศากยะทั้งหลายก็ช่วยกันเลือกสถานที่ประทับอยู่ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยหมายพระทัยจักพบพระญาติผู้ประเสริฐสุดของตน จึงกำหนดแน่ชัดว่าอารามของนิโครธศากยะ น่ารื่นรมย์ ให้จัดทำวิธีปฏิบัติทุกวิธี จึงพากันถือของหอมและดอกไม้ออกไปรับเสด็จ แต่งพระองค์ด้วยเครื่องประดับทุกอย่าง บูชาด้วยของหอมดอกไม้และจุรณเป็นต้น นำเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าไปยังนิโครธารามนั่นแล.
               ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าอันพระขีณาสพสองหมื่นรูปแวดล้อมแล้ว ประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์อย่างดีที่เขาจัดไว้.
               ฝ่ายพวกเจ้าศากยะเป็นชาติมีมานะ กระด้างเพราะมานะ ต่างคิดกันว่า สิทธัตถกุมารหนุ่มกว่าเรา เป็นกนิษฐภาดา เป็นบุตร เป็นภาคิไนย เป็นนัดดา จึงกล่าวกะเหล่าราชกุมารที่หนุ่มๆ ว่า พวกเจ้าจงไหว้ เราจักนั่งอยู่ข้างหลังๆ พวกเจ้า.
               เมื่อเจ้าศากยะเหล่านั้นนั่งแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูอัธยาศัยของเจ้าศากยะเหล่านั้นแล้ว ทรงพระดำริว่า พระญาติเหล่านี้ไม่ยอมไหว้เรา เพราะตนเป็นคนแก่เปล่า เพราะพระญาติเหล่านั้นไม่รู้ว่า ธรรมดาของพระพุทธเจ้าเป็นเช่นไร ธรรมดากำลังของพระพุทธเจ้าเป็นเช่นไร หรือว่าธรรมดาของพระพุทธเจ้าเป็นเช่นนี้ ธรรมดากำลังของพระพุทธเจ้าเป็นเช่นนี้ ถ้ากระไร เราเมื่อจะแสดงกำลังของพระพุทธเจ้าและกำลังของฤทธิ์ ก็ควรทำปาฏิหาริย์ จำเราจะเนรมิตที่จงกรมแล้วด้วยรัตนะล้วน กว้างขนาดหมื่นจักรวาลในอากาศ เมื่อจงกรม ณ ที่จงกรมนั้น ตรวจดูอัธยาศัยของมหาชนแล้ว จึงจะแสดงธรรม.
               ด้วยเหตุนั้น เพื่อแสดงความปริวิตกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า
                         เพราะพระญาติเหล่านั้น พร้อมทั้งเทวดาและ
               มนุษย์ ไม่รู้ว่า พระพุทธเจ้าผู้เป็นยอดคนนี้เป็นเช่นไร
               กำลังฤทธิ์และกำลังปัญญาเป็นเช่นไร กำลังของพระ
               พุทธเจ้าเป็นประโยชน์เพื่อเกื้อกูลแก่โลกเป็นเช่นไร.
                         เพราะพระญาติเหล่านั้น พร้อมทั้งเทวดาและ
               มนุษย์ไม่รู้ดอกว่า พระพุทธเจ้าผู้เป็นยอดคนเป็นเช่นนี้
               กำลังฤทธิ์และกำลังปัญญาเป็นเช่นนี้ กำลังของพระ
               พุทธเจ้า เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่โลกเป็นเช่นนี้.
                         เอาเถิด จำเราจักแสดงกำลังของพระพุทธเจ้า
               อันยอดเยี่ยม จักเนรมิตที่จงกรมประดับด้วยรัตนะ ใน
               นภากาศ.


               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น เหเต ชานนฺติ ความว่า เพราะว่าพระญาติเหล่านั้นไม่ทรงรู้. อักษร มีอรรถปฏิเสธ. หิ อักษร เป็นนิบาตลงในอรรถว่าเหตุ.
               อธิบายว่า เพราะเหตุที่เทวดาและมนุษย์มีพระญาติเป็นต้นของเราเหล่านั้น เมื่อเราไม่ทำให้แจ่มแจ้งถึงกำลังของพระพุทธเจ้าและกำลังของฤทธิ์ ก็ย่อมไม่รู้ว่า พระพุทธเจ้าเป็นเช่นนี้ กำลังของฤทธิ์เป็นเช่นนี้ ฉะนั้น เราจะพึงแสดงกำลังของพระพุทธเจ้าและกำลังของฤทธิ์ของเรา ดังนี้.
               ท่านประสงค์เอาอุปปัตติเทพว่า เทวดา ในคำว่า สเทวมนุสฺสา นี้. เป็นไปกับเทวดาทั้งหลาย เหตุนั้นจึงว่า สเทวา คนเหล่านั้นคือใคร คือมนุษย์. มนุษย์ทั้งหลายพร้อมกับเทวดา ชื่อว่า สเทวมานุสา.
               อีกนัยหนึ่ง พระเจ้าสุทโธทนะ สมมติเทพ ท่านประสงค์เอาว่า เทวดา. เป็นไปกับเทวดา คือพระเจ้าสุทโธทนะ เหตุนั้นจึงชื่อว่า สเทวา. มนุษย์ที่เป็นพระญาติ ชื่อว่า มานุสา. มนุษย์ทั้งหลายพร้อมด้วยเทวดา คือพร้อมด้วยพระเจ้าสุทโธทนะ ชื่อว่า สเทวมานุสา.
               อธิบายว่า หรือว่า มนุษย์ที่เป็นญาติของเราเหล่านี้ พร้อมด้วยพระราชา ย่อมไม่รู้กำลังของเรา.
               แม้เทวดาที่เหลือก็สงเคราะห์เข้าไว้ด้วย.
               เทวดาทั้งหมด ท่านเรียกว่า เทวดา เพราะอรรถว่าเล่น.
               ชื่อว่าเล่น เป็นอรรถของธาตุมีกีฬธาตุเป็นต้น.
               อีกนัยหนึ่ง เทวดาด้วย มนุษย์ด้วย ชื่อว่าเทวดาและมนุษย์.
               เป็นไปกับด้วยเทวดาและมนุษย์ ชื่อว่า สเทวมานุสา. เหล่านั้นคือใคร. พึงเห็นการเติมคำที่เหลือว่า โลกา โลกทั้งหลาย,
               บทว่า พุทฺโธ ได้แก่ ชื่อว่าพุทธะ เพราะตรัสรู้ รู้ตามซึ่งสัจธรรมทั้ง ๔.
               เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า
                         อภิญฺเญยยํ อภิญฺญาตํ ภาเวตพฺพญฺจ ภาวิตํ
                         ปหาตพฺพํ ปหีนํ เม ตสฺมา พุทฺโธสฺมิ พฺราหฺมณ.

                         สิ่งที่ควรรู้ยิ่งเราก็รู้ยิ่งแล้ว สิ่งที่ควรเจริญเราก็
               เจริญแล้ว สิ่งที่ควรละเราก็ละแล้ว เพราะฉะนั้น เรา
               จึงเป็นพุทธะ นะพราหมณ์.

               ก็ในที่นี้ พึงเห็นว่า พุทธศัพท์ สำเร็จความในอรรถว่าเป็นกัตตุการก (ปฐมาวิภัตติ). ชื่อว่าพุทธะ เพราะเป็นผู้อันเทวดาและมนุษย์ผู้บรรลุคุณวิเศษ ทราบกันอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระสัมมาสัมพุทธะหนอ. ในที่นี้ พึงเห็นว่า พุทธศัพท์สำเร็จความในอรรถว่าเป็นกรรมการก. หรือว่า ความรู้ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นมีอยู่ เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ชื่อว่าพุทธะ.
               อธิบายว่า ผู้ทรงมีความรู้.
               คำนั้นทั้งหมดพึงทราบตามแนวศัพทศาสตร์.
               บทว่า กีทิสโก ความว่า เป็นเช่นไร น่าเห็นอย่างไร เสมือนอะไร มีผิวอย่างไร มีทรวดทรงอย่างไร ยาวหรือสั้น.
               บทว่า นรุตฺตโม ได้แก่ ความสูงสุด ความล้ำเลิศ ความประเสริฐสุดแห่งนรชน หรือในนรชนทั้งหลาย เหตุนั้นจึงชื่อว่า นรุตตมะ.
               ความสำเร็จ ชื่อว่า อิทธิ ในคำว่า อิทฺธิพลํ นี้.
               ชื่อว่าอิทธิ เพราะอรรถว่าสำเร็จผล เพราะอรรถว่าได้.
               อีกนัยหนึ่ง สัตว์ทั้งหลายสำเร็จได้ด้วยคุณชาตินั้น คือเป็นผู้สำเร็จ จำเริญ ถึงความสูงยิ่ง เหตุนั้น คุณชาตินั้นจึงชื่อว่า อิทธิ คุณชาติเครื่องสำเร็จ.

               อิทธิ ๑๐ ประการ               
               ก็อิทธินั้นมี ๑๐ อย่าง เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวว่า
               บทว่า อิทฺธิโย ได้แก่ อิทธิ ๑๐#- อย่าง.
               อะไรบ้าง คือ
               อธิษฐานาอิทธิ ๑ วิกุพพนาอิทธิ ๑ มโนมยาอิทธิ ๑ ญาณวิปผาราอิทธิ ๑ สมาธิวิปผาราอิทธิ ๑ อริยาอิทธิ ๑ กัมมวิปากชาอิทธิ ๑ ปุญญวโตอิทธิ ๑ วิชชามยาอิทธิ ๑ ชื่อว่าอิทธิ เพราะอรรถว่าสำเร็จ เพราะประกอบโดยชอบในกิจกรรมนั้นๆ เป็นปัจจัย ๑.
____________________________
#- ขุ. ป. ๓๑/ข้อ๖๘๐

               อิทธิเหล่านั้นต่างกันดังนี้.
               โดยปกติคนเดียวย่อมนึกเป็นมากคน นึกเป็นร้อยคนหรือพันคนแล้วอธิษฐานด้วยญาณว่า เราเป็นมากคน ฤทธิ์ที่แยกตัวแสดงอย่างนี้ ชื่อว่าอธิษฐานาอิทธิ เพราะสำเร็จด้วยอำนาจอธิษฐาน.
               อธิษฐานาอิทธินั้นมีความดังนี้
               ภิกษุเข้าจตุตถฌาน อันเป็นบาทแห่งอภิญญา ออกจากจตุตถฌานนั้นแล้ว ถ้าปรารถนาเป็นร้อยคน ก็ทำบริกรรมด้วยบริกรรมจิตเป็นกามาวจรว่า เราเป็นร้อยคน เราเป็นร้อยคน แล้วเข้าฌานอันเป็นบาทแห่งอภิญญาอีก ออกจากฌานนั้นแล้วนึกอธิษฐานอีก ก็เป็นร้อยคนพร้อมกับจิตอธิษฐานนั่นเอง. แม้ในกรณีพันคนเป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ในอธิษฐานาอิทธินั้น จิตที่ประกอบด้วยปาทกฌาน มีนิมิตเป็นอารมณ์ บริกรรมจิตมีร้อยคนเป็นอารมณ์บ้าง มีพันคนเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอารมณ์บ้าง บริกรรมจิตเหล่านั้นแลเป็นไปโดยอำนาจแห่งสี มิได้เป็นไปโดยอำนาจแห่งบัญญัติ แม้อธิษฐานจิตก็มีร้อยคนเป็นอารมณ์อย่างเดียว. แต่อธิษฐานจิตนั้นก็เหมือนอัปปนาจิต เกิดขึ้นในลำดับโคตรภูจิตเท่านั้น ประกอบด้วยจตุตถฌานฝ่ายรูปาวจร.
               แต่ผู้นั้นละเพศปกติเสีย แสดงเพศกุมารบ้าง แสดงเพศนาคบ้าง แสดงเพศครุฑบ้าง ฯลฯ แสดงกระบวนทัพแม้ต่างๆ บ้าง ฤทธิ์ที่มาโดยอาการดังกล่าวมาอย่างนี้ ชื่อว่าวิกุพนาอิทธิ เพราะเป็นไปโดยละเพศปกติ ทำให้แปลกๆ ออกไป.
               ฤทธิ์ที่มาโดยนัยนี้ว่า ภิกษุในพระศาสนานี้เนรมิตกายอื่นนอกจากกายนี้ มีรูปสำเร็จด้วยใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่องเป็นต้น ชื่อว่ามโนมยาอิทธิ [มโนยิทธิ] เพราะเป็นไปโดยสำเร็จแห่งสรีระที่สำเร็จมาแต่ใจ อันอื่น ในภายในสรีระนั่นเอง
               คุณวิเศษที่บังเกิดด้วยอานุภาพแห่งพระอรหัตญาณอันพึงได้ด้วยอัตภาพนั้น ก่อนหรือหลังญาณเกิด หรือในขณะนั้นเอง ชื่อว่าญาณวิปผาราอิทธิ. ท่านพระพากุละและท่านพระสังกิจจะก็มีญาณวิปผาราอิทธิ.
               เรื่องพระเถระทั้งสองนั้นพึงกล่าวไว้ในข้อนี้.
               คุณวิเศษที่บังเกิดด้วยอานุภาพสมถะก่อนหรือหลังสมาธิ หรือในขณะนั้นเอง ชื่อว่าสมาธิวิปผาราอิทธิ. ท่านพระสารีบุตร ก็มีสมาธิวิปผาราอิทธิ. ท่านพระสัญชีวะก็มีสมาธิวิปผาราอิทธิ. อุตตราอุบาสิกาก็มีสมาธิวิปผาราอิทธิ. สามาวดีอุบาสิกาก็มีสมาธิวิปผาราอิทธิ.
               เรื่องทั้งหลายของท่านเหล่านั้นดังกล่าวมานี้ ก็พึงกล่าวในข้อนี้ แต่ข้าพเจ้าก็มิได้กล่าวไว้พิศดาร เพื่อบรรเทาโทษคือความยืดยาวของคัมภีร์.
               อริยาอิทธิเป็นอย่างไร
               ภิกษุในพระศาสนานี้ ถ้าหวังว่า เราพึงอยู่มีความสำคัญในสิ่งปฏิกูลว่าไม่ปฏิกูลไซร้ ย่อมอยู่มีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลอยู่ในอารมณ์นั้น ถ้าหวังว่า เราพึงอยู่มีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลไซร้ ย่อมอยู่มีความว่าปฏิกูลในอารมณ์นั้น ฯลฯ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่ในอารมณ์นั้น. แม้อิทธินี้ก็ชื่อว่าอริยาอิทธิ เพราะเป็นแดนเกิดแห่งพระอริยะทั้งหลายผู้ถึงความชำนาญทางใจ.
               กัมมวิปากชาอิทธิเป็นอย่างไร
               ฤทธิ์มีการไปทางอากาศได้เป็นต้นของเหล่านกทั้งหมด ของเทวดาทั้งหมด ของมนุษย์ต้นกัป และของวินิปาติกสัตว์บางเหล่า ชื่อว่ากัมมวิปากชาอิทธิ.
               ปุญญวโตอิทธิเป็นอย่างไร.
               พระเจ้าจักรพรรดิเสด็จทางอากาศไปกับกองทัพ ๔ เหล่า. ภูเขาทองขนาด ๘๐ ศอกบังเกิดแก่ชฏิลกคฤหบดี ฤทธิ์นี้ชื่อว่าปุญญวโตอิทธิ. โฆสกคฤหบดี แม้เมื่อถูกเขาพยายามฆ่าในที่ ๗ แห่งก็ไม่เป็นไร ชื่อว่าปุญญวโตอิทธิ. ความปรากฏของแพะทั้งหลาย ที่ทำด้วยรัตนะ ๗ ในประเทศประมาณ ๘ กรีสแก่เมณฑกเศรษฐี ชื่อว่าปุญญวโตอิทธิ.
               วิชชามยาอิทธิเป็นอย่างไร
               ฤทธิ์ที่เป็นไปโดยนัยเป็นต้นว่า พวกวิทยาธรร่ายวิทยาเหาะได้ แสดงช้างในอากาศบนท้องฟ้า โอกาสที่เห็นได้ในระหว่างช้าง ฯลฯ แสดงกระบวนทัพต่างๆ บ้าง ชื่อว่าวิชชามยาอิทธิ.
               คุณวิเศษที่ทำกิจกรรมนั้นแล้วบังเกิด เป็นอิทธิ เพราะอรรถว่าสำเร็จด้วยการประกอบโดยชอบเป็นปัจจัย ดังนี้ อิทธินี้จึงชื่อว่าอิทธิ เพราะอรรถว่าสำเร็จ ด้วยการประกอบโดยชอบในกิจกรรมนั้นๆ เป็นปัจจัย.
               อธิบายว่า กำลังแห่งฤทธิ์ ๑๐ อย่างนี้ชื่อว่าอิทธิพละ กำลังแห่งฤทธิ์ พระญาติเหล่านี้ไม่รู้จักกำลังแห่งฤทธิ์ของเรา.

               พระญาณ ๑๐ ประการ               
               กำลังแห่งปัญญาคือพระอรหัตมรรค อันให้คุณวิเศษที่เป็นโลกิยะและโลกุตระทั้งหมด ท่านประสงค์ว่า กำลังแห่งปัญญา. พระญาติเหล่านี้ไม่รู้จักกำลังแห่งปัญญาแม้นั้น. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า คำว่ากำลังแห่งปัญญานี้เป็นชื่อของญาณที่ไม่สาธารณะ ๖ ประการ.
               พุทธานุภาพหรือทศพลญาณ ชื่อว่ากำลังแห่งพระพุทธเจ้าในคำว่า กำลังแห่งพระพุทธเจ้านี้.
               ญาณ ๑๐ คือ
               ๑. ฐานาฐานญาณ ญาณที่กำหนดรู้ฐานะเหตุที่ควรเป็นได้ และอฐานะ เหตุที่ไม่ควรเป็นได้.
               ๒. อตีตานาคตปัจจุปปันนกัมมวิปากชานนญาณ ปรีชากำหนดรู้ผลแห่งกรรมที่เป็นอดีตและปัจจุบัน.
               ๓. สัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณ ปรีชากำหนดรู้ทางไปสู่ภูมิทั้งปวง
               ๔. อเนกธาตุนานาธาตุโลกชานนญาณ ปรีชากำหนดรู้โลกคือรู้ธาตุเป็นอเนกและธาตุต่างๆ
               ๕. นานาธิมุตติกญาณ ปรีชากำหนดรู้อธิมุตติคืออัธยาศัยของสัตว์ทั้งหลายอันเป็นต่างๆ กัน.
               ๖. อาสยานุสยญาณ [อินทริยปโรปริยัตตญาณ] ปรีชากำหนดรู้ความหย่อนและยิ่งแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย.
               ๗. ฌานวิโมกขสมาธิสมาปัตติสังกิเลสโวทานวุฏฐานยถาภูตญาณ ปรีชากำหนดรู้ตามเป็นจริงในความเศร้าหมองความบริสุทธิ์และความออกแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิและสมาบัติ.
               ๘. ปุพเพนิวาสานุสสติญาฌ ปรีชากำหนดรู้ระลึกชาติหนหลังได้.
               ๙. จุตูปปาตญาณ ปรีชากำหนดรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย.
               ๑๐ อาสวักขยญาณ ปรีชากำหนดรู้ทำอาสวะให้สิ้นไป.
               คำว่า กำลังแห่งพระพุทธเจ้า เป็นชื่อของญาณ ๑๐ เหล่านี้.
               บทว่า เอทิสํ แปลว่า เช่นนี้. หรือปาฐะ ก็อย่างนี้เหมือนกัน.
               ศัพท์ว่า หนฺท เป็นนิบาตลงในอรรถว่าร้องเชิญ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้พระองค์ด้วยบทว่า อหํ.
               ทรงอธิบายว่าอย่างไร
               ทรงอธิบายว่า ก็เพราะเหตุที่ญาติทั้งหลายของเราไม่รู้กำลังแห่งพระพุทธเจ้าหรือพุทธคุณ อาศัยความที่ตนเป็นคนแก่เปล่า ไม่ไหว้เราผู้เจริญที่สุด ประเสริฐที่สุดในโลกทั้งปวง ด้วยอำนาจมานะอย่างเดียว ฉะนั้น ธงคือมานะของพระญาติเหล่านั้นมีอยู่ เราจะรานมานะแล้วจึงพึงแสดงธรรมเพื่อพระญาติจะได้ไหว้เรา.
               บทว่า ทสฺสยิสฺสามิ ได้แก่ พึงแสดง. ปาฐะว่า ทสฺเสสฺสามิ ดังนี้ก็มี. ความก็อย่างนั้นเหมือนกัน.
               บทว่า พุทฺธพลํ ได้แก่ พุทธานุภาพ หรือญาณวิเศษของพระพุทธเจ้า
               บทว่า อนุตฺตรํ แปลว่า ไม่มีอะไรอื่นยิ่งกว่า.
               สถานที่จงกรม ท่านเรียกว่า จงฺกมํ ที่จงกรม.
               บทว่า มาปยิสฺสามิ ได้แก่ พึงเนรมิต.
               ปาฐะว่า จงฺกมนํ มาเปสฺสามิ ดังนี้ก็มี. ความก็อย่างนั้นเหมือนกัน.
               บทว่า นเภ ได้แก่ ในอากาศ.
               บทว่า สพฺพรตนมณฺฑิตํ ได้แก่ ตกแต่งประดับด้วยรัตนะ เพราะอรรถว่าให้เกิดความยินดีทั้งหมด อย่างละ ๑๐ๆ คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงินทองและแก้วลาย ชื่อว่าประดับด้วยรัตนะทั้งปวง. ซึ่งที่จงกรมนั้นอันประดับด้วยรัตนะทั้งปวง.
               อาจารย์บางพวกกล่าวว่า นเภ รตนมณฺฑิตํ ประดับด้วยรัตนะในนภากาศก็มี.
               ครั้งนั้น พอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำริอย่างนี้ เทวดาทั้งหลายมีภุมเทวดาเป็นต้น ที่อยู่ในหมื่นจักรวาล ก็มีใจบันเทิง พากันถวายสาธุการ.
               พึงทราบว่า พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลาย เมื่อจะประกาศความข้อนั้น ก็ได้ตั้งคาถาเป็นต้นว่า
                                   เหล่าเทวดาภาคพื้นดิน ชั้นจาตุมหาราช ชั้นดาวดึงส์
                         ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี และ
                         เหล่าเทวดาฝ่ายพรหม ก็พากันร่าเริงเปล่งเสียงดังกึกก้อง.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภุมฺมา ได้แก่ ที่ตั้งอยู่ภาคพื้นดิน เช่นตั้งอยู่ที่หิน ภูเขา ป่าและต้นไม้เป็นต้น.
               บทว่า มหาราชิกา ได้แก่ ผู้เป็นฝ่ายมหาราช.
               อธิบายว่า เทวดาที่อยู่ในอากาศได้ยินเสียงของเหล่าเทวดาที่อยู่ภาคพื้นดิน ก็เปล่งเสียงดัง ต่อนั้น เทวดาเมฆหมอก จากนั้นเทวดาเมฆร้อน เทวดาเมฆเย็น เทวดาเมฆฝน เทวดาเมฆลม ต่อจากนั้น เทวดาชั้นจาตุมมหาราช ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
               ต่อจากนั้นหมู่พรหม พรหมชั้นพรหมปุโรหิต ชั้นมหาพรหม ชั้นปริตตาภา ชั้นอัปปมาณาภา ชั้นอาภัสสรา ชั้นปริตตสุภา ชั้นอัปปมาณสุภา ชั้นสุภกิณหา ชั้นเวหัปผลา ชั้นอวิหา ชั้นอตัปปา ชั้นสุทัสสา ชั้นสุทัสสี
               ต่อจากนั้น เทวดาชั้นอกนิษฐาได้ยินเสียงก็เปล่งเสียงดัง เทวดามนุษย์และนาคเป็นต้นทั้งหมด ในสถานที่ๆ โสตายตนะรับฟังได้ เว้นอสัญญีสัตว์และอรูปวจรสัตว์ มีใจตกอยู่ใต้อำนาจปีติ ก็พากันเปล่งเสียงดังก้องสูงลิบ.
               บทว่า อานนฺทิตา ได้แก่ มีใจบันเทิงแล้ว. อธิบายว่า เกิดปีติโสมนัสเอง.
               บทว่า วิปุลํ ได้แก่ หนาแน่น.
               ครั้งนั้น พระศาสดาทรงเข้าสมาบัติที่มีโอทาตกสิณเป็นอารมณ์ในลำดับที่ทรงพระพุทธดำริแล้วนั่นเอง ทรงอธิษฐานว่าขอแสงสว่างจงมีทั้งหมื่นจักรวาล, พร้อมกับอธิษฐานจิตนั้น แสงสว่างก็ปรากฏ ตั้งแต่แผ่นดินไปจนจดอกนิษฐภพ.
               ด้วยเหตุนั้น พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า
                                   แผ่นดินพร้อมทั้งเทวโลกก็สว่างจ้า โลกันตริกนรก
                         อันหนาก็ปิดไว้ไม่ได้ ความมืดทึบก็ถูกขจัดในครั้งนั้น
                         เพราะพบปาฏิหาริย์ อันน่ามหัศจรรย์.

               แก้อรรถปฐวี ๔ ประการ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โอภาสิตา แปลว่า สว่างแจ้งแล้ว.
               ในคำว่า ปฐวีนี้ ปฐวีนี้มี ๔ อย่าง คือ กักขฬปฐวี สสัมภารปฐวี นิมิตตปฐวี สมมุติปฐวี.
               ในปฐวี ๔ อย่างนั้น ปฐวีที่ท่านกล่าวไว้ในบาลีเป็นต้นว่า ผู้มีอายุปฐวีธาตุภายในเป็นอย่างไร. ของหยาบ ของแข้น ภายใน จำเพาะตน อันใดดังนี้ อันนี้ชื่อว่ากักขฬปฐวี.
               ปฐวีที่ท่านกล่าวไว้ในบาลีเป็นต้นว่า อนึ่ง ภิกษุใดขุดเองก็ดี ใช้ให้ขุดก็ดีซึ่งแผ่นดินดังนี้ ชื่อว่าสสัมภารปฐวี. ปฐวีธาตุ ๒๐ ส่วน มีเกศา ผมเป็นต้น และส่วนภายนอกมีเหล็ก โลหะเป็นต้นอันใด ปฐวีแม้นั้นเป็นปฐวีพร้อมด้วยส่วนประกอบมีวรรณะ สีเป็นต้น เหตุนั้นจึงชื่อว่าสสัมภารปฐวี.
               ปฐวีที่ท่านกล่าวไว้ในบาลีเป็นต้นว่า ภิกษุรูปหนึ่งย่อมจำได้ซึ่งปฐวีกสิณดังนี้ ชื่อว่านิมิตปฐวี ท่านเรียกว่าอารัมมณปฐวี บ้าง.
               ผู้ได้ฌานมีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ บังเกิดในเทวโลกย่อมได้ชื่อว่าปฐวีเทพ โดยการบรรลุปฐวีกสิณฌาน.
               สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ในบาลีเป็นต้นว่า อาโปเทพและปฐวีเทพ ดังนี้ นี้ชื่อว่าสมมติปฐวี. พึงทราบว่าชื่อว่า ปัญญัติปฐวี.
               แต่ในที่นี้ประสงค์เอาสสัมภารปฐวี.
               บทว่า สเทวกา แปลว่า พร้อมทั้งเทวโลก. ปาฐะว่า สเทวตา ก็มี ถ้ามีก็ดีกว่า.
               ความก็ว่า มนุษยโลก พร้อมทั้งเทวโลกสว่างจ้าแล้ว.
               บทว่า ปุถู แปลว่า มาก.
               คำว่า โลกนฺตริกา นี้เป็นชื่อของสัตว์นรกจำพวกอสุรกาย ก็โลกันตริกนรกเหล่านั้น เป็นโลกันตริกนรกนรกหนึ่งระหว่างจักรวาลทั้งสาม. โลกันตริกนรกนรกหนึ่งๆ ก็เหมือนที่ว่างตรงกลางของล้อเกวียน ๓ ล้อ ซึ่งตั้งจดกันและกัน ว่าโดยขนาดก็แปดพันโยชน์.
               บทว่า อสํวุตา ได้แก่ ไม่ตั้งอยู่เบื้องต่ำ.
               บทว่า ตโม จ ได้แก่ ความมืด.
               บทว่า ติพฺโพ ได้แก่ หนาทึบ. เป็นความมืดเป็นนิตย์ เพราะไม่มีแสงสว่างของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์.
               บทว่า วิหโต ได้แก่ ถูกกำจัดแล้ว.
               บทว่า ตทา ความว่า กาลใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย ทรงแผ่แสงสว่างเพื่อทรงทำปาฏิหาริย์ กาลนั้นความมืดทึบอันตั้งอยู่ในโลกันตริกนรกทั้งหลายก็ถูกกำจัดให้หายไป.
               บทว่า อจฺเฉรกํ ได้แก่ ควรแก่การปรบมือ.
               อธิบายว่า ควรแก่การปรบด้วยนิ้วมือโดยความประหลาดใจ.
               บทว่า ปาฏิหีรํ ได้แก่ ชื่อว่าปาฏิหีระ เพราะนำปฏิปักษ์ไป. หรือชื่อว่าปาฏิหีระ เพราะนำไปเฉพาะซึ่งดวงจิตที่เข้าถึงทิฏฐิและมานะของสัตว์ทั้งหลาย. หรือว่าชื่อว่าปาฏิหีระ เพราะนำมาเฉพาะซึ่งความเลื่อมใสของสัตว์ทั้งหลายผู้ยังไม่เลื่อมใส.
               ปาฐะว่า ปาฏิเหระ ดังนี้ก็มี. ความก็อย่างนั้นเหมือนกัน.
               คำนี้เป็นชื่อของคุณวิเศษแห่งวิธีการจัดแสงสว่างในข้อนี้.
               พึงนำคำนี้ว่า เทวดา มนุษย์และแม้สัตว์ที่บังเกิดในโลกันตริกนรกทั้งหลายแลเห็นปาฏิหาริย์ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นแล้ว ก็เข้าถึงปีติและโสมนัสอย่างยิ่งดังนี้แล้ว ก็พึงเห็นความในคำนี้ว่า เพราะเห็นปาฏิหาริย์อันมหัศจรรย์.
               นอกจากนี้จะเอาคำปลายมาไว้ต้นก็ไม่ถูก หรือจะเอาคำต้นมาไว้ปลาย ก็ไม่ถูก.
               บัดนี้ เพื่อแสดงว่า มิใช่มีแสงสว่างในมนุษยโลกอย่างเดียวเท่านั้น ในโลกกล่าวคือสังขารโลก สัตวโลกและโอกาสโลก แม้ทั้งสามก็มีแสงสว่างทั้งหมดเหมือนกัน ท่านพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวคาถานี้ว่า
                                   แสงสว่างอันโอฬารไพบูลย์ก็เกิดในโลกนี้โลกอื่น
                         และโลกทั้งสองพร้อมด้วยเทพ คนธรรพ์ มนุษย์และ
                         รากษสขยายไปทั้งเบื้องต่ำ เบื้องบนและเบื้องขวาง.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เทวา ได้แก่ สมมติเทพ อุปปัตติเทพและวิสุทธิเทพ รวมเทพทั้งหมดท่านสงเคราะห์ไว้ในบทนี้.
               เทวดาด้วยคนธรรพ์ด้วย มนุษย์ด้วย รากษสด้วย ชื่อว่าเทพ คนธรรพ์ มนุษย์และรากษส.
               เป็นไปกับด้วยเทพคนธรรพ์มนุษย์และรากษส ชื่อว่าพร้อมด้วยเทพ คนธรรพ์ มนุษย์และรากษส. นั้นคืออะไร. คือโลก ในโลกแห่งเทพ คนธรรพ์ มนุษย์และรากษสนั้น.
               บทว่า อาภา แปลว่า แสงสว่าง.
               อุฬารศัพท์นี้ในคำว่า อุฬารา นี้ ปรากฏในอรรถมีอร่อย ประเสริฐและไพบูลย์เป็นต้น.
               จริงอย่างนั้น อุฬารศัพท์นี้ปรากฏในอรรถว่าอร่อย ในบาลีเป็นต้นว่า อุฬารานิ ขาทนียโภชนียานิ ขาทนฺติ ภุญฺชนฺติ ภิกษุทั้งหลายย่อมเคี้ยว ย่อมฉัน ของเคี้ยวของฉันอันอร่อย.
               ปรากฏในอรรถว่าประเสริฐ ในบาลีเป็นต้นว่า อุฬาราย โข ปน ภวํ วจฺฉายโน ปสํสาย สมณํ โคตมํ ปสํสติ. ก็ท่านวัจฉายนพราหมณ์สรรเสริญพระสมณโคดม ด้วยการสรรเสริญอันประเสริฐแล.
               ปรากฏในอรรถว่าไพบูลย์ ในบาลีเป็นต้นว่า อติกฺกมฺม เทวานํ เทวานุภาวํ อปฺปมาโณ อุฬาโร โอภาโส แสงสว่างไพบูลย์ไม่มีประมาณเกินเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย.
               อุฬารศัพท์นี้นั้น พึงเห็นว่าปรากฏในอรรถว่าประเสริฐ ในที่นี้.
               บทว่า วิปุลา ได้แก่ ไม่มีประมาณ.
               บทว่า อชายถ ได้แก่ อุบัติแล้ว เกิดขึ้นแล้ว เป็นไปแล้ว.
               บทว่า อิมสฺมึ โลเก ปรสฺมิญฺจ ความว่า ในมนุษยโลกนี้และในโลกอื่น คือเทวโลก.
               บทว่า อุภยสฺมึ ได้แก่ ในโลกทั้งสองนั้น. พึงเห็นเหมือนในโลกภายในและโลกภายนอกเป็นต้น.
               บทว่า อโธ จ ได้แก่ ในนรกทั้งหลายมีอเวจีเป็นต้น.
               บทว่า อุทฺธํ ได้แก่ แม้ในกลางหาวนับแต่ภวัคคพรหม.
               บทว่า ติริยญฺจ ได้แก่ ในหมื่นจักรวาลโดยเบื้องขวาง.
               บทว่า วิตฺถตํ ได้แก่ แผ่ซ่านไป. อธิบายว่า แสงสว่างกำจัดความมืด ครอบคลุมโลกและประเทศดังกล่าวแล้วเป็นไป.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ติริยญฺจ วิตฺถตํ ได้แก่ แผ่ไปโดยเบื้องขวางคือใหญ่.
               อธิบายว่า แสงสว่างแผ่คลุมตลอดประเทศไม่มีประมาณ.
               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแผ่แสงสว่างไปในหมื่นจักรวาล ทรงเข้าจตุตถฌานอันเป็นบาทแห่งอภิญญา ทรงออกจากฌานนั้นแล้วทรงเหาะขึ้นสู่อากาศ ด้วยอธิษฐานจิต ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ ท่ามกลางเทวบริษัทและมนุษยบริษัทอันใหญ่ เหมือนทรงโปรยธุลีพระบาทลงเหนือเศียรของพระประยูรญาติเหล่านั้น.
               ก็ยมกปาฏิหาริย์นั้น พึงทราบจากบาลีอย่างนี้.

               ยมกปาฏิหารีย์               
                         ญาณในยมกปาฏิหาริย์ของพระตถาคตเป็นอย่างไร.
               พระตถาคตทรงทำยมกปาฏิหาริย์ในโลกนี้ ไม่ทั่วไปแก่พระ
               สาวกทั้งหลาย คือลำไฟแลบออกจากพระกายเบื้องบน ท่อน้ำ
               ไหลออกจากพระกายเบื้องล่าง, ลำไฟแลบออกจากพระกาย
               เบื้องล่าง ท่อน้ำไหลออกจากพระกายเบื้องบน.
                         ลำไฟแลบออกจากพระกายเบื้องหน้า ท่อน้ำไหลออก
               จากพระกายเบื้องหลัง, ลำไฟแลบออกจากพระกายเบื้องหลัง
               ท่อน้ำไหลออกจากพระกายเบื้องหน้า.
                         ลำไฟแลบออกจากพระเนตรเบื้องขวา ท่อน้ำไหลออก
               จากพระเนตรเบื้องซ้าย, ลำไฟแลบออกจากพระเนตรเบื้อง
               ซ้าย ท่อน้ำไหลออกจากพระเนตรเบื้องขวา.
                         ลำไฟแลบออกจากช่องพระกรรณเบื้องขวา ท่อน้ำไหล
               ออกจากช่องพระกรรณเบื้องซ้าย, ลำไฟแลบออกจากช่องพระ
               กรรณเบื้องซ้าย. ท่อน้ำไหลออกจากช่องพระกรรณเบื้องขวา.
                         ลำไฟแลบออกจากช่องพระนาสิกเบื้องขวา ท่อน้ำไหล
               จากช่องพระนาสิกเบื้องซ้าย. ท่อน้ำไหลออกจากช่องพระ
               นาสิกเบื้องขวา ลำไฟแลบออกจากช่องพระนาสิกเบื้องซ้าย.
                         ลำไฟแลบออกจากจะงอยพระอังสาเบื้องขวา ท่อน้ำไหล
               ออกจากจะงอยพระอังสาเบื้องซ้าย, ลำไฟแลบออกจากจะงอย
               พระอังสาเบื้องซ้าย ท่อน้ำไหลออกจากจะงอยพระอังสาเบื้องขวา
                         ลำไฟแลบออกจากพระหัตถ์เบื้องขวา ท่อน้ำไหลออก
               จากพระหัตถ์เบื้องซ้าย, ลำไฟแลบออกจากพระหัตถ์เบื้องซ้าย
               ท่อน้ำไหลออกจากพระหัตถ์เบื้องขวา.
                         ลำไฟแลบออกจากพระปรัศว์เบื้องขวา ท่อน้ำไหลออก
               จากพระปรัศว์เบื้องซ้าย, ลำไฟแลบออกจากพระปรัศว์เบื้องซ้าย
               ท่อน้ำไหลออกจากพระปรัศว์เบื้องขวา.
                         ลำไฟแลบออกจากพระบาทเบื้องขวา ท่อน้ำไหลออก
               จากพระบาทเบื้องซ้าย, ลำไฟแลบออกจากพระบาทเบื้องซ้าย
               ท่อน้ำไหลออกจากพระบาทเบื้องขวา.
                         ลำไฟแลบออกจากทุกพระองคุลี ท่อน้ำไหลออกจาก
               ระหว่างพระองคุลี, ลำไฟแลบออกจากระหว่างพระองคุลี ท่อ
               น้ำไหลออกจากทุกพระองคุลี.
                         ลำไฟแลบออกจากพระโลมาแต่ละเส้น ท่อน้ำไหล
               ออกจากพระโลมาแต่ละเส้น, ลำไฟแลบออกจากขุมพระโลมา
               แต่ละขุม ท่อน้ำก็ไหลออกจากขุมพระโลมาแต่ละขุม มีวรรณะ
               ๖ คือ เขียว เหลือง แดง ขาว แดงเข้ม เลื่อมพราย.
                         พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำเนิน พระพุทธเนรมิตประทับ
               ยืนบ้าง ประทับนั่งบ้าง บรรทมบ้าง. พระผู้มีพระภาคเจ้า
               ประทับยืน พระพุทธเนรมิตทรงดำเนินบ้าง ประทับนั่งบ้าง
               บรรทมบ้าง, พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่ง พระพุทธเนรมิต
               ทรงดำเนินบ้าง ประทับยืนบ้าง บรรทมบ้าง. พระผู้มีพระภาค
               เจ้าบรรทม พระพุทธเนรมิต ทรงดำเนินบ้าง ประทับยืนบ้าง
               ประทับนั่งบ้าง.
                         พระพุทธเนรมิตทรงดำเนิน พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ
               ยืนบ้าง ประทับนั่งบ้าง บรรทมบ้าง. พระพุทธเนรมิตประทับยืน
               พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงดำเนินบ้าง ประทับนั่งบ้าง บรรทมบ้าง
               พระพุทธเนรมิตประทับนั่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำเนินบ้าง
               ประทับยืนบ้าง บรรทมบ้าง พระพุทธเนรมิตบรรทม พระผู้มี
               พระภาคเจ้าก็ทรงดำเนินบ้าง ประทับยืนบ้าง ประทับนั่งบ้าง.
               นี้พึงทราบว่าญาณในยมกปาฏิหาริย์ของพระตถาคต
               แต่พึงทราบว่า ที่ท่านกล่าวว่าลำไฟแลบออกจากพระกายเบื้องล่าง ท่อน้ำไหลออกจากพระกายเบื้องบน ดังนี้ก็เพื่อแสดงว่า ลำไฟแลบออกจากพระกายเบื้องบนของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ก็โดยเตโชกสิณสมาบัติ ท่อน้ำไหลออกจากพระกายเบื้องล่างก็โดยอาโปกสิณสมาบัติ เพื่อแสดงอีกว่า ลำไฟย่อมแลบออกไปจากที่ๆ ท่อน้ำไหลออกไป ท่อน้ำก็ไหลออกไปจากที่ๆ ลำไฟแลบออกไป.
               แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ในข้อนี้ลำไฟก็ไม่ปนกับท่อน้ำ ท่อน้ำก็ไม่ปนกับลำไฟเหมือนกัน.
               ส่วนบรรดารัศมีทั้งหลาย รัศมีที่สองๆ ย่อมแล่นไปในขณะเดียวกัน เหมือนเป็นคู่กับรัศมีต้นๆ.
               ก็ธรรมดาว่าจิตสองดวงจะเป็นไปในขณะเดียวกันย่อมไม่มี. แต่สำหรับพระพุทธเจ้าทั้งหลาย รัศมีเหล่านี้ย่อมแลบออกไปเหมือนในขณะเดียวกัน เพราะทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญโดยอาการ ๕ เหตุการพักแห่งภวังคจิตเป็นไปรวดเร็ว. แต่การนึกการบริกรรมและการอธิษฐานรัศมีนั้น เป็นคนละส่วนกันทีเดียว.
               จริงอยู่ เมื่อต้องการรัศมีเขียว พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงเข้านีลกสิณสมาบัติ. เมื่อต้องการรัศมีสีเหลืองเป็นต้นก็ย่อมทรงเข้าปีตกสิณสมาบัติเป็นต้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงทำยมกปาฏิหาริย์อยู่อย่างนี้ ก็ได้เป็นเหมือนกาลที่เทวดาในหมื่นจักรวาลแม้ทั้งสิ้น ทำการประดับองค์ฉะนั้น.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า
                                   พระศาสดา ผู้สูงสุดในสัตว์ ผู้ยอดเยี่ยม ผู้เป็น
                         นายกพิเศษ ได้เป็นผู้อันเทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว
                         เป็นผู้มีอานุภาพ มีลักษณะบุญนับร้อย ก็ทรงแสดง
                         ปาฏิหาริย์มหัศจรรย์.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สตฺตุตฺตโม ได้แก่ ชื่อว่าสัตตุตตมะ เพราะเป็นผู้สูงสุด ล้ำเลิศ ประเสริฐสุด ในสัตว์ทั้งหมด ด้วยพระคุณทั้งหลายมีศีลเป็นต้นของพระองค์ หรือว่าเป็นผู้สูงสุดแห่งสัตว์ทั้งหลาย ชื่อว่าสัตตุตตมะ.
               ความจริง คำว่า สัตตะ เป็นชื่อของญาณ.
               ชื่อว่าสัตตุตตมะ เพราะทรงเป็นผู้ประเสริฐสุด สูงสุด ด้วยพระญาณ [สัตตะ] กล่าวคือทศพลญาณและจตุเวสารัชชญาณ อันเป็นอสาธารณญาณนั้น. หรือทรงเป็นสัตว์สูงสุด โดยทรงทำยิ่งยวดด้วยพระญาณที่ทรงมีอยู่ ชื่อว่าสัตตุตตมะ.
               ถ้าเป็นดั่งนั้น ก็ควรกล่าวโดยปาฐะลงอุตตมะศัพท์ไว้ข้างต้นว่า อุตฺตมสตฺโต แต่ความต่างอันนี้ไม่พึงเห็น โดยบาลีเป็นอันมากไม่นิยมเหมือนศัพท์ว่า นรุตตมะ ปุริสุตตมะและนรวระเป็นต้น.
               อีกนัยหนึ่ง ญาณ [สัตตะ] อันสูงสุดมีแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นชื่อว่าสัตตุตตมะ มีญาณอันสูงสุด.
               แม้ในที่นี้ ก็ลงอุตตมะศัพท์ไว้ข้างต้น โดยปาฐะลงวิเสสนะไว้ข้างต้นว่า อุตฺตมสตฺโต เหมือนในคำนี้ว่า จิตฺตคู ปทฺธคู เหตุนั้น ศัพท์นี้จึงไม่มีโทษ.
               หรือพึงเห็นโดยวิเสสนะทั้งสองศัพท์ เหมือนปาฐะมีว่า อาหิตคฺคิ เป็นต้น.
               บทว่า วินายโก ได้แก่ ชื่อว่าวินายกะ เพราะทรงแนะนำ ทรงฝึกสัตว์ทั้งหลายด้วยอุบายเครื่องแนะนำเป็นอันมาก.
               บทว่า สตฺถา ได้แก่ ชื่อว่าศาสดา เพราะทรงพร่ำสอนสัตว์ทั้งหลายตามความเหมาะสม ด้วยประโยชน์ปัจจุบันและประโยชน์ภายหน้า.
               บทว่า อหู แปลว่า ได้เป็นแล้ว.
               บทว่า เทวมนุสฺสปูชิโต ความว่า ชื่อว่าเทพ เพราะระเริงเล่นด้วยกามคุณ ๕ อันเป็นทิพย์. ชื่อว่ามนุษย์ เพราะใจสูง. เทวดาด้วย มนุษย์ด้วย ชื่อว่าเทวดาและมนุษย์.
               ผู้อันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายบูชาแล้ว ชื่อว่าเทวมนุสสปูชิตะ อันเทวดาและมนุษย์บูชาด้วยการบูชาด้วยดอกไม้เป็นต้นและการบูชาด้วยปัจจัย [๔].
               อธิบายว่า ยำเกรงแล้ว.
               ถามว่า เพราะเหตุไร ท่านจึงถือเอาแต่เทวดาและมนุษย์เท่านั้นเล่า สัตว์ทั้งหลายที่เป็นสัตว์เดียรัจฉานเช่นช้างชื่ออารวาฬะ กาฬาปลาละ ธนปาละ ปาลิเลยยกะเป็นต้นก็มี ที่เป็นวินิปาติกะเช่นยักษ์ชื่อสาตาคิระ อาฬวกะ เหมวตะ สูจิโลมะ ขรโลมะเป็นต้นก็บูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งนั้น มิใช่หรือ.
               ตอบว่า ข้อนั้นก็จริงดอก แต่คำนี้พึงเห็นว่า ท่านกล่าวโดยกำหนดอย่างอุกฤษฏ์ และโดยกำหนดเฉพาะภัพพบุคคล.
               บทว่า มหานุภาโว ได้แก่ ผู้ประกอบแล้วด้วยพระพุทธานุภาพยิ่งใหญ่.
               บทว่า สตปุญฺญลกฺขโณ ความว่า สัตว์ทั้งหมดในอนันตจักรวาลพึงทำบุญกรรมอย่างหนึ่งๆ ตั้งร้อยครั้ง พระโพธิสัตว์ลำพังพระองค์เอง ก็ทำกรรมที่ชนทั้งหลายมีประมาณเท่านั้นทำแล้วเป็นร้อยเท่าจึงบังเกิด เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า สตปุญฺญลกฺขโณ ผู้มีลักษณะบุญนับร้อย.
               แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ทรงมีลักษณะอย่างหนึ่งๆ ที่บังเกิดเพราะบุญกรรมเป็นร้อยๆ คำนั้นท่านคัดค้านไว้ในอรรถกถาว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้ใดผู้หนึ่งก็พึงเป็นพระพุทธเจ้าได้น่ะสิ.
               บทว่า ทสฺเสสิ ความว่า ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ที่ทำความประหลาดใจยิ่งแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งปวง.
               ครั้งนั้น พระศาสดาครั้นทรงทำปาฏิหาริย์ในอากาศแล้ว ทรงตรวจดูอาจาระทางจิตของมหาชน มีพระพุทธประสงค์จะทรงจงกรมพลาง ตรัสธรรมกถาพลาง ที่เกื้อกูลแก่อัธยาศัยของมหาชนนั้น จึงทรงเนรมิตรัตนจงกรมที่สำเร็จด้วยรัตนะทั้งหมด กว้างเท่าหมื่นจักรวาลในอากาศ.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า
                                   พระศาสดาพระองค์นั้นเป็นผู้มีพระจักษุ สูงสุดใน
                         นรชน ผู้นำโลก อันเทวดาผู้ประเสริฐทูลอ้อนวอนแล้ว
                         ทรงพิจารณาถึงประโยชน์แล้ว ในครั้งนั้น จึงทรงเนรมิต
                         ที่จงกรม อันสร้างด้วยรัตนะทั้งหมดสำเร็จลงด้วยดี.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โส ได้แก่ พระศาสดาพระองค์นั้น.
               บทว่า ยาจิโต ความว่า ถูกทูลอ้อนวอนขอให้ทรงแสดงธรรมในสัปดาห์ที่แปด เป็นครั้งแรกทีเดียว.
               บทว่า เทววเรน ได้แก่ อันท้าวสหัมบดีพรหม.
               ในคำว่า จกฺขุมา นี้ ชื่อว่าเป็นผู้มีพระจักษุ เพราะทรงเห็น. อธิบายว่า ทรงเห็นแจ่มแจ้งซึ่งที่เรียบและไม่เรียบ.

               จักษุ ๕ ประการ               
               ก็จักษุนั้นมี ๒ อย่างคือ ญาณจักษุและมังสจักษุ.
               บรรดาจักษุทั้งสองนั้น ญาณจักษุมี ๕ อย่างคือ พุทธจักษุ ธัมมจักษุ สมันตจักษุ ทิพพจักษุ ปัญญาจักษุ.
               บรรดาจักษุทั้ง ๕ นั้น ญาณที่หยั่งรู้อาสยะและอนุสยะ และญาณที่หยั่งรู้ความหย่อนและยิ่งแห่งอินทรีย์ ซึ่งมาในบาลีว่า ทรงตรวจดูโลกด้วยพระพุทธจักษุ ชื่อว่าพุทธจักษุ.
               มรรค ๓ ผล ๓ เบื้องต่ำที่มาในบาลีว่า ธรรมจักษุที่ปราศจากกิเลสดุจธุลี ปราศจากมลทินเกิดขึ้นแล้ว ชื่อว่าธัมมจักษุ.
               พระสัพพัญญุตญาณที่มาในบาลีว่า ข้าแต่พระผู้มีปัญญาดี ผู้มีจักษุโดยรอบ โปรดเสด็จขึ้นสู่ปราสาทที่สำเร็จด้วยธรรม ก็อุปมาฉันนั้นเถิด ชื่อว่าสมันตจักษุ.
               ญาณที่ประกอบพร้อมด้วยอภิญญาจิตที่เกิดขึ้น ด้วยการเจริญอาโลกกสิณสมาบัติ ที่มาในบาลีว่า ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ชื่อว่าทิพพจักษุ.
               ญาณที่มาแล้วว่าปัญญาจักษุ มีปุพเพนิวาสญาณเป็นต้นที่มาในบาลีนี้ว่า จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ชื่อว่าปัญญาจักษุ.
               มังสจักษุเป็นที่อาศัยของประสาท ที่มาในบาลีนี้ว่า อาศัยจักษุและรูปดังนี้ ชื่อว่ามังสจักษุ.
               ก็มังสจักษุนั้นมี ๒ คือ สสัมภารจักษุ ปสาทจักษุ.
               บรรดาจักษุทั้ง ๒ นั้น ชิ้นเนื้อนี้ใดอันชั้นตาทั้งหลายล้อมไว้ในเบ้าตา ในชิ้นเนื้อใดมีส่วนประกอบ ๑๓ ส่วนโดยสังเขป คือธาตุ ๔ สี กลิ่น รส โอชะ สัมภวะ ชีวิต ภาวะ จักษุประสาท กายประสาท แต่โดยพิศดารมีส่วนประกอบ คือสมุฏฐาน ๔ ที่ชื่อว่าสัมภวะ สมุฏฐาน ๓๖ และกัมมสมุฏฐาน ๔ คือ ชีวิต ภาวะ จักษุประสาท กายประสาท อันนี้ชื่อว่าสสัมภารจักษุ.
               จักษุใดตั้งอยู่ในวงกลม "เห็น" [เล็นซ์] ซึ่งถูกวงกลมดำอันจำกัดด้วยวงกลมขาวล้อมไว้ เป็นเพียงประสาทสามารถเห็นรูปได้ จักษุนี้ ชื่อว่าปสาทจักษุ.
               ก็จักษุเหล่านี้ทั้งหมดมีอย่างเดียว โดยความไม่เที่ยง โดยมีปัจจัยปรุงแต่ง. มี ๒ อย่างโดยเป็นไปกับอาสวะและไม่เป็นไปกับอาสวะ, โดยโลกิยะและโลกุตระ. จักษุมี ๓ อย่างโดยภูมิ โดยอุปาทินนติกะ, มี ๔ อย่างโดยเอกันตารมณ์ ปริตตารมณ์ อัปปมาณารมณ์และอนิยตารมณ์. มี ๕ อย่างคือรูปารมณ์ นิพพานารมณ์ อรูปารมณ์ สัพพารมณ์และอนารัมมณารมณ์. มี ๖ อย่างด้วยอำนาจพุทธจักษุเป็นต้น.
               จักษุดังกล่าวมาเหล่านี้ มีอยู่แก่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านจึงเรียกว่า จักขุมา ผู้มีพระจักษุ.
               บทว่า อตฺถํ สเมกฺขิตฺวา ความว่า ทรงเนรมิตที่จงกรม. อธิบายว่า ทรงพิจารณาใคร่ครวญถึงประโยชน์เกื้อกูลแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย อันเป็นนิมิตแห่งการทรงแสดงธรรม.
               บทว่า มาปยิ แปลว่า ทรงเนรมิต.
               บทว่า โลกนายโก ได้แก่ ทรงชื่อว่าผู้นำโลก เพราะทรงแนะนำสัตว์โลกมุ่งหน้าตรงต่อสวรรค์และนิพพาน.
               บทว่า สุนิฏฐิตํ แปลว่า สำเร็จด้วยดี. อธิบายว่า จบสิ้นแล้ว.
               บทว่า สพฺพรตนนิมฺมิตํ ได้แก่ สำเร็จด้วยรัตนะ ๑๐ อย่าง.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ รัตนะจงกรมกัณฑ์
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]
อ่านอรรถกถา 33.1 / 1อ่านอรรถกถา 33.1 / 180อรรถกถา เล่มที่ 33.2 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 33.2 / 2อ่านอรรถกถา 33.2 / 28
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=6654&Z=6873
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=51&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=51&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :