ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]อ่านอรรถกถา 33.1 / 1อ่านอรรถกถา 33.1 / 180อรรถกถา เล่มที่ 33.2 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 33.2 / 2อ่านอรรถกถา 33.2 / 28
อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์
รัตนะจงกรมกัณฑ์

หน้าต่างที่ ๗ / ๑๒.

               บัดนี้ เพื่อแสดงความที่พระทศพลทรงเป็นผู้ควรแก่การเคารพนบนอบทุกอย่าง ท่านพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า
                                   พระองค์ควรการกราบไหว้ การชม การสรรเสริญ
                         การนบนอบบูชา.
                                   ข้าแต่พระมหาวีระ ชนเหล่าหนึ่งเหล่าใดเป็น ผู้
                         ควรแก่การไหว้ในโลก ชนเหล่าใดควรซึ่งการไหว้พระ
                         องค์เป็นผู้ประเสริฐสุดกว่าชนเหล่านั้นทั้งหมด ชนผู้
                         เสมอเหมือนพระองค์ไม่มีเลย.


               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภิวาทนํ ได้แก่ ให้ผู้อื่นทำการกราบตน.
               บทว่า โถมนํ ได้แก่ ชมลับหลัง.
               บทว่า วนฺทนํ ได้แก่ นอบน้อม.
               บทว่า ปสํสนํ ได้แก่ สรรเสริญต่อหน้า.
               บทว่า นมสฺสนํ ได้แก่ ทำอัญชลีหรือนอบน้อมด้วยใจ.
               บทว่า ปูชนํ ได้แก่ และการบูชาด้วยมาลัยของหอมและเครื่องลูบไล้เป็นต้น.
               บทว่า สพฺพํ ความว่า พระองค์ทรงสมควรเหมาะสมสักการะวิเศษดังกล่าวแล้วนั้นทุกอย่าง.
               บทว่า เย เกจิ โลเก วนฺทเนยฺยา ความว่า ชนเหล่าหนึ่งเหล่าใดควรกราบ ควรไหว้ ควรซึ่งการไหว้ในโลก.
               บทว่า เย ได้แก่ อนึ่ง ชนเหล่าใดควรซึ่งการไหว้ในโลก. ก็บทนี้เป็นไวพจน์ของบทต้นนั่นแล.
               บทว่า สพฺพเสฏฺโฐ ความว่า ข้าแต่พระมหาวีระ พระองค์เป็นผู้ประเสริฐสุด สูงสุดกว่าชนเหล่านั้นทั้งหมด ชนไรที่เสมอเหมือนพระองค์ ไม่มีในโลก.
               ครั้งนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ ทรงเนรมิตรัตนจงกรมเสด็จจงกรม ณ รัตนจงกรมนั้นอยู่ ท่านพระสารีบุตรพร้อมด้วยภิกษุบริวาร ๕๐๐ รูปอยู่ ณ เขาคิชฌกูฏ กรุงราชคฤห์.
               ครั้งนั้น พระเถระตรวจดูพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็เห็นพระองค์เสด็จจงกรม ณ รัตนจงกรมในอากาศ กรุงกบิลพัศดุ์.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวคำเป็นต้นว่า
                                   ท่านพระสารีบุตรผู้มีปัญญามาก ผู้ฉลาดใน
                         สมาธิและฌาน อยู่ที่เขาคิชฌกูฏ ก็เห็นพระผู้เป็น
                         นายกของโลก.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สาริปุตฺโต ได้แก่ ชื่อว่าสารีบุตร เพราะเป็นบุตรของพราหมณีชื่อว่าสารี.
               บทว่า มหาปญฺโญ ได้แก่ ชื่อว่ามีปัญญามาก เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยปัญญา ๑๖ อย่างใหญ่.
               ในคำว่า สมาธิชฺฌานโกวิโท นี้ บทว่า สมาธิ ได้แก่ ชื่อว่าสมาธิ เพราะบรรจงตั้ง คือวางจิตไว้สม่ำเสมอในอารมณ์.
               สมาธินั้นมี ๓ คือ ชนิดมีวิตกมีวิจาร ชนิดไม่มีวิตกมีเพียงวิจาร ชนิดที่ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร.
               บทว่า ฌานํ ได้แก่ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน แม้ฌานอื่นมีเมตตาฌานเป็นต้นก็เป็นอันท่านสงเคราะห์ด้วยฌานที่กล่าวมาแล้วนี้ มีปฐมฌานเป็นต้น.
               แม้ฌานก็มี ๒ อย่าง คือ ลักขณูปนิชฌาน อารัมมณูนิชฌาน.
               บรรดาฌานทั้ง ๒ นั้นวิปัสสนาญาณเรียกว่าลักขณูปนิชฌาน เพราะเข้าไปเพ่งลักษณะมีอนิจจลักษณะเป็นต้น. ส่วนฌานมีปฐมฌานเป็นต้น เรียกว่าฌาน เพราะเข้าไปเพ่งอารมณ์ หรือเผาธรรมที่เป็นข้าศึก.
               ผู้ฉลาดในสมาธิด้วย ในฌานด้วย เหตุนั้นจึงชื่อว่าผู้ฉลาดในสมาธิและฌาน.
               บทว่า คิชฺฌกูเฏ ความว่า ยืนอยู่ที่ภูเขามีชื่ออย่างนี้นี่แล.
               บทว่า ปสฺสติ ได้แก่ เห็นแล้ว.
               บทว่า สุผุลฺลํ สาลราชํว เชื่อมความกับบทว่า อาโลก อย่างนี้ว่า ท่านพระสารีบุตรตรวจดูพระทศพลผู้เป็นดังต้นพระยาสาลพฤกษ์ ซึ่งมีศีลเป็นราก มีสมาธิเป็นลำต้น มีปัญญาเป็นกิ่ง มีอภิญญาเป็นดอก มีวิมุตติเป็นผล เหมือนต้นพระยาสาละมีลำต้นกลมกลึง มีกิ่งประดับด้วยตาตูมผลใบอ่อนและหน่อที่อวบขึ้นดก มีดอกบานสะพรั่งทั่วต้น.
               บทว่า จนฺทํว คคเน ยถา ความว่า ตรวจดูพระมุนีผู้ประเสริฐดังดวงจันทร์ ผู้ทำการกำจัดความมืดคือกิเลสทั้งปวง ผู้ทำความแย้มแก่ดงโกมุทคือเวไนยชน ดุจดวงจันทร์เต็มดวงในฤดูสารทอันห้อมล้อมด้วยหมู่ดาว หลุดพ้นจากอุปสรรค คือ หมอก หิมะ ควัน ละอองและราหู.
               บทว่า ยถา เป็นเพียงนิบาต.
               บทว่า มชฺฌนฺหิเกว สูริยํ ความว่า รุ่งโรจน์อยู่ดุจดวงอาทิตย์ที่ส่องแสงเป็นช่อชั้น ด้วยสิริเวลาเที่ยงวัน.
               บทว่า นราสภํ ได้แก่ ผู้สูงสุดในนรชน.
               บทว่า ชลนฺตํ แปลว่า รุ่งเรืองอยู่.
               อธิบายว่า พระวรสรีระประดับพร้อมด้วยพระมหาปุริสลักษณะและพระอสีติอนุพยัญชนะ มีพระพักตร์ดังทองงาม มีสิริดังพระจันทร์เต็มดวงในฤดูสารท รุ่งเรืองอยู่ด้วยพระพุทธสิริอย่างยิ่ง.
               บทว่า ทีปรุกฺขํว ได้แก่ ประดุจต้นประทีปที่เขายกประทีปไว้.
               บทว่า ตรุณสุริยํว อุคฺคตํ ได้แก่ ประดุจดวงอาทิตย์อุทัยใหม่ๆ.
               อธิบายว่า รุ่งเรืองอยู่โดยภาวะเรียบร้อย. ก็ท่านเรียกดวงอาทิตย์อ่อนๆ เพราะเหตุอุทัยขึ้น. ไม่มีลดแสงหรือเพิ่มแสงเหมือนดวงจันทร์ [เพราะดวงอาทิตย์ไม่มีขึ้นแรม].
               บทว่า พฺยามปฺปภานุรญฺชิตํ ได้แก่ อันพระรัศมีวาหนึ่งเปล่งแสงจับแล้ว.
               บทว่า ธีรํ ปสฺสติ โลกนายกํ ความว่า เห็นพระผู้นำซึ่งเป็นปราชญ์เอกของโลกทั้งปวง.
               ลำดับนั้น ท่านพระธรรมเสนาบดียืนอยู่ ณ เขาคิชฌกูฏ ซึ่งมียอดจรดหมู่ธารน้ำเย็นสนิทมียอดอบอวลด้วยดอกของต้นไม้ที่มีกลิ่นหอมนานาชนิด มียอดวิจิตรงามอย่างยิ่ง แลเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าอันหมู่เทวดาและพรหมซึ่งมาแต่หมื่นจักรวาลแวดล้อมแล้ว ซึ่งเสด็จจงกรม ณ ที่จงกรมเป็นรัตนะล้วน ด้วยพระพุทธสิริอันยอดเยี่ยม ด้วยพระพุทธลีลาอันหาที่เปรียบมิได้ จึงคิดว่า เอาเถิด จำเราจักเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลขอพระพุทธวงศ์เทศนาอันแสดงพระพุทธคุณ จึงประชุมภิกษุ ๕๐๐ รูปซึ่งอยู่กับตน.
               ด้วยเหตุนั้น พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า
                                   ท่านพระธรรมเสนาบดีจึงประชุมภิกษุ ๕๐๐ รูป
                         ซึ่งทำกิจเสร็จแล้ว ผู้คงที่ สิ้นอาสวะแล้ว ปราศจาก
                         มลทินทันที.

               โลกปสาทนปาฏิหารีย์ หรือที่เรียกว่าพระพุทธเจ้าทรงเปิดโลก               
               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปญฺจนฺนํ ภิกขุสตานํ ได้แก่ ภิกษุ ๕๐๐ รูป.
               ฉัฏฐีวิภัตติ พึงเห็นว่าท่านใช้ในอรรถทุติยาวิภัตติ.
               บทว่า กตกิจฺจานํ ความว่า ผู้จบโสฬสกิจแล้ว คือ ปริญญากิจ ปหานกิจ สัจฉิกิริยากิจและภาวนากิจ ด้วยมรรค ๔ ในสัจจะ ๔.
               บทว่า ขีณาสวานํ ได้แก่ ผู้สิ้นอาสวะ๔.
               บทว่า วิมลานํ ได้แก่ ผู้ปราศจากมลทิน หรือชื่อว่ามีมลทินไปปราศแล้ว.
               อธิบายว่า มีจิตสันดานอันบริสุทธิ์อย่างยิ่ง เพราะเป็นผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว.
               บทว่า ขเณน ได้แก่ ในทันใดนั่นเอง.
               บทว่า สนฺนิปาตยิ แปลว่า ให้ประชุมกันแล้ว.
               บัดนี้ เพื่อแสดงเหตุในการประชุมและในการไปของภิกษุเหล่านั้น ท่านพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
                                   พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงปาฏิหาริย์ ชื่อ
                         โลกปสาทนะทำโลกให้เลื่อมใส แม้พวกเราก็ไปใน
                         ที่นั้น เราจักถวายบังคมพระชินพุทธเจ้า.
                                   มาเถิด เราทั้งหมดจะพากันไป เราจักทูลถาม
                         พระพุทธชินเจ้า พบพระผู้นำโลกแล้ว ก็จักบรรเทา
                         ความสงสัยเสียได้.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โลกปฺปสาทนํ นาม ความว่า ท่านเรียกปาฏิหาริย์ว่าโลกปสาทนะ เพราะทำความเลื่อมใสแก่สัตว์โลก. ปาฐะว่า อุลฺโลกปฺปสาทนํ ดังนี้ก็มี.
               ความว่า ชื่อปาฏิหาริย์ว่า พระพุทธเจ้าเปิดโลก.
               ปาฏิหาริย์นั้นท่านกล่าวว่า อธิษฐานกระทำสัตว์แม้ทั้งหมด เบื้องบนตั้งแต่อกนิษฐภพ เบื้องต่ำถึงอเวจี ทำให้เป็นแสงสว่างอันเดียวกันในระหว่างนี้ให้เห็นซึ่งกันและกันในระหว่างนี้.
               บทว่า นิทสฺสยิ แปลว่า แสดงแล้ว.
               บทว่า อมฺเหปิ แปลว่า แม้เราทั้งหลาย.
               บทว่า ตตฺถ ความว่า ไปในที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่.
               บทว่า วนฺทิสฺสาม ความว่า พวกเราจักถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้า.
               แต่ในคำว่า อมฺเหปิ นี้พึงเห็นการเชื่อมความแห่งศัพท์ ๒ ศัพท์นี้ว่า มยํ ศัพท์ต้น เชื่อมความกับกิริยาเดินไป มยํ ศัพท์หลังเชื่อมความกับกิริยาถวายบังคม.
               ความจริง ความนอกจากนี้ก็ไม่พ้นโทษคือการกล่าวซ้ำ.
               บทว่า เอถ แปลว่า มาเถิด.
               ในคำว่า กงฺขํ วิโนทยิสฺสาม นี้ ผู้ทักท้วงกล่าวว่า ขึ้นชื่อว่าความสงสัยแม้ไรๆ ของพระขีณาสพทั้งหลายไม่มี เหตุไรพระเถระจึงกล่าวอย่างนี้.
               ตอบว่า ข้อนั้นเป็นความจริงทีเดียว ความสงสัยขาดไปด้วยปฐมมรรคเท่านั้น.
               เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า
               ทัสสเนนปหาตัพพธรรม (ธรรมที่พึงประหาณด้วยโสดาปัตติมรรค) คืออะไรบ้าง คือจิตตุปบาทที่สัมปยุตด้วยทิฏฐิ ๔ ดวง จิตตุปบาทที่สหรคตด้วยวิจิกิจฉา ๑ ดวงและโลภะ โทสะ โมหะ มานะที่พาไปอบาย และกิเลสทั้งหลายซึ่งตั้งอยู่ฐานเดียวกับจิตเหล่านั้น.
               แต่ความสงสัยนั้นไม่ใช่ที่เรียกว่าวิจิกิจฉา. ก็อะไรเล่าชื่อว่าการไม่รู้บัญญัติ. แต่พระเถระประสงค์จะทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า ถึงพุทธวงศ์ ด้วยว่าพุทธวงศ์นั้นเป็นวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้น มิใช่วิสัยของพระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงควรทราบว่า พระเถระกล่าวอย่างนี้ ก็เพราะพุทธวงศ์มิใช่วิสัย.
               บทว่า วิโนทยิสฺสาม แปลว่า จักบรรเทา.
               ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นฟังคำของพระเถระแล้วต่างก็ถือเอาบาตรจีวรของตนๆ มีกิเลสอันทำลายแล้ว มีเครื่องผูกขาดแล้ว เหมือนช้างใหญ่สวมเกราะดีแล้ว มักน้อย สันโดษ สงัด ไม่คลุกคลี ถึงพร้อมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติและวิมุตติญาณทัสสนะ ก็พากันรีบมาประชุม.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า
                                   ภิกษุเหล่านั้น รับคำว่าสาธุแล้ว เป็นผู้มีปัญญา
                         รักษาตัว สำรวมอินทรีย์ ต่างถือเอาบาตรจีวร พากัน
                         รีบเข้าไปหาพระเถระ.

               แก้อรรถ               
               ในคาถานั้น ศัพท์ว่า สาธุ นี้ใช้ในอรรถทั้งหลายมี วอนขอ, รับ, ปลอบใจ และดีเป็นต้น.
               จริงอย่างนั้น สาธุศัพท์นี้ใช้ในอรรถวอนขอ ได้ในประโยคเป็นต้นว่า สาธุ เม ภนฺเต ภควา สงฺขิตฺเตน ธมฺมํ เทเสตุ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมโดยย่อ โปรดข้าพระองค์ด้วยเถิด.
               ใช้ในอรรถรับ ได้ในประโยคเป็นต้นว่า สาธุ ภนฺเตติ โข โส ภิกฺขุ ภควโต ภาสิตํ อภินนฺทิตวา อนุโมทิตฺวา ภิกษุรูปนั้นยินดีอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ดีแล้ว พระเจ้าข้า.
               ใช้ในอรรถปลอบใจ ได้ในประโยคเป็นต้นว่า สาธุ สาธุ สาริปุตฺต ดีละ ดีละ สารีบุตร.
               ใช้ในอรรถดี ได้ในบาลีเป็นต้นว่า
                         สาธุ ธมฺมรุจิ ราชา       สาธุ ปญฺญาณวา นโร
                         สาธุ มิตฺตานมทฺทุพฺโภ  ปาปสฺสากรณํ สุขํ.
                         พระราชาผู้ชอบธรรม ดี, นรชนผู้มีปัญญา ดี,
                         ผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร ดี, การไม่ทำบาป เป็นสุข.

               แต่ในที่นี้ ประสงค์เอาที่ใช้ในอรรถรับ เพราะฉะนั้นจึงมีความว่า ภิกษุเหล่านั้นรับคำของพระเถระว่า สาธุ แปลว่า ดีละ.
               บทว่า นิปกา ได้แก่ บัณฑิต ผู้มีปัญญา.
               บทว่า สํวุตินฺทฺริยา ได้แก่ ผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย. อธิบายว่า ผู้ประกอบด้วยอินทรีย์สังวร.
               บทว่า ตรมานา แปลว่า รีบ. บทว่า อุปาคมุํ ได้แก่ เข้าไปหาพระเถระ.
               บัดนี้ ท่านพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลาย เมื่อแสดงประวัติของท่านพระธรรมเสนาบดี จึงกล่าวคาถาว่า ขีณาสเวหิ วิมเลหิ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทนฺเตหิ ได้แก่ ผู้ฝึกทางกาย ทางจิตแล้ว.
               บทว่า อุตฺตเม ทเม ได้แก่ ในเพราะพระอรหัต. พึงเห็นสัตตมีวิภัตติ ลงในอรรถนิมิตสัตตมี.
               บทว่า เตหิ ภิกฺขูหิ ได้แก่ อันภิกษุ ๕๐๐ รูป.
               บทว่า มหาคณี ความว่า ชื่อว่ามหาคณี เพราะท่านมีคณะใหญ่ ทั้งโดยศีลเป็นต้น และโดยนับจำนวน. หรือชื่อว่ามหาคณะ เพราะเป็นคณะใหญ่โดยคุณทั้งหลายมีศีลเป็นต้น ด้วยสามารถแห่งบทต่างๆ. ชื่อว่ามหาคณี เพราะคณะใหญ่ของท่านมีอยู่ เหตุนั้นท่านจึงชื่อว่ามีคณะใหญ่.
               บทว่า สฬนฺโต เทโวว คคเน ความว่า งดงามด้วยอิทธิวิลาส เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ พื้นนภากาศ ราวกะเทพดา.
               บัดนี้ เพื่อแสดงวิธีเข้าเฝ้าว่า เต อิตฺถมฺภูตา อุปสงฺกมึสุ ภิกษุมีชื่ออย่างนี้เหล่านั้นเข้าเฝ้าแล้ว ท่านพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายจึงเริ่มคำว่า อุกฺกาสิตญฺจ ขิปิตํ ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุกฺกาสิตญฺจ ความว่า ไม่ทำเสียงจาม.
               บทว่า ขิปิตญฺจ ความว่า ไม่ทำเสียงไอ.
               บทว่า อชฺฌุเปกฺขิย แปลว่า เฉย. อธิบายว่าไม่ทำทั้งสองอย่าง [คือสงบเงียบ].
               บทว่า สุพฺพตา ได้แก่ ผู้มีธุดงคคุณผุดผ่องดี.
               บทว่า สปฺปติสฺสา ได้แก่ มีความยำเกรง. อธิบายว่า ถ่อมตน.
               บทว่า สยมฺภุํ ความว่า มีพุทธภาวะอันทรงบำเพ็ญพระบารมีทั้งหลาย บรรลุแล้วด้วยพระองค์เอง เว้นการอ้างถึงผู้อื่น.
               บทว่า อจฺจุคฺคตํ ได้แก่ ขึ้นมาใหม่ๆ.
               บทว่า จนฺทํว แปลว่า เหมือนดวงจันทร์.
               พึงเชื่อมบทอย่างนี้ว่า แลเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งรุ่งเรืองอยู่ ณ พื้นนภากาศ เหมือนดวงจันทร์ในท้องฟ้าฉะนั้น.
               แม้ในที่นี้ ยถาศัพท์ก็เป็นเพียงนิบาตเท่านั้น.
               บทว่า วิชฺชุํว ได้แก่ เหมือนสายฟ้าทึบ. อธิบายว่า เหมือนสายฟ้าแลบเช่นที่มีแสงชั่วขณะแต่ตั้งอยู่นานฉะนั้น.
               บทว่า คคเน ยถา แปลว่า เหมือนในอากาศ.
               แม้ในที่นี้ ยถาศัพท์ก็เป็นเพียงนิบาตเท่านั้น.
               นอกจากในที่เช่นนี้ ยถาศัพท์ ในที่เช่นนี้ก็พึงเห็นว่าเป็นเพียงนิบาต.
               บทว่า รหทมิว วิปฺปเสนฺนํ ความว่า น้ำไม่ขุ่นแต่ใส เหมือนห้วงน้ำใหญ่ทั้งลึกทั้งกว้างมากฉะนั้น.
               บทว่า สุผุลฺลํ ปทุมํ ยถา พึงเห็นความว่า เหมือนห้วงน้ำที่มีดงปทุมดอกแย้มบาน.
               ปาฐะว่า สุผุลฺลํ กมลํ ยถา ดังนี้ก็มี ความว่า เหมือนดงบัวที่ดอกบานสะพรั่ง เพราะดอกบัวนั้นน่าปรารถนา.
               ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นมีท่านพระธรรมเสนาบดีเป็นหัวหน้า ทำอัญชลีไว้เหนือเศียร หมอบลงแทบฝ่าพระยุคลบาทที่มีจักรประดับ. ด้วยเหตุนั้น ท่านพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า อญฺชลึ ปคฺคเหตฺวาน ตุฏฺฐหฏฺฐา ปโมทิตา ประคองอัญชลียินดีร่าเริงบันเทิงใจ ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิปตนฺติ แปลว่า หมอบลง. อธิบายว่า ถวายบังคม.
               บทว่า จกฺกลกฺขเณ ความว่า พระบาทที่มีลักษณะจักร ชื่อว่าจักรลักษณะ. ที่พระบาทอันมีจักรลักษณะนั้น ท่านกล่าวคำว่า ปาเท โดยอำนาจแห่งชาติ.
               อธิบายว่า หมอบลงแทบฝ่าพระบาทของพระศาสดาที่มีจักรประดับ.
               บัดนี้ ท่านพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายเมื่อแสดงนามของพระเถระเหล่านั้น บางท่านจึงกล่าวคาถาว่า สาริปุตฺโต มหาปญฺโญ โกรณฺฑสมสาทิโส เป็นต้น
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โกรณฺฑสมสาทิโส แปลว่า ผู้มีผิวพรรณเสมือนดอกหงอนไก่.
               ถ้าจะพึงมีคำถามว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ควรกล่าวว่า โกรณฺฑสโม หรือ โกรณฺฑสทิโส. ทำไม ท่านจึงกล่าวว่า สมสาทิโส ๒ ครั้ง.
               ตอบว่า นี้ไม่ผิดดอก, ท่านเช่นนั้น ชื่อว่าเสมอเหมือนกับดอกหงอนไก่ โดยเป็นเช่นเดียวกับดอกหงอนไก่ เพราะเท่ากับดอกหงอนไก่.
               อธิบายว่า ไม่ใช่กล่าวโดยกล่าวเกินไป.
               ก่อนอื่นในคำว่า สมาธิชฺฌานกุสโล นี้ กุสลศัพท์นี้ใช้ในอรรถทั้งหลายมีในอรรถว่า ไม่มีโรค ไม่มีโทษ ฉลาดและมีสุขเป็นวิบาก เป็นต้น.
               จริงอยู่ กุสลศัพท์นี้ใช้ในอรรถว่าไม่มีโรค ได้ในประโยคเป็นต้นว่า กจฺจิ นุ โภโต กุสลํ กิจฺจิ โภโต อนามยํ ท่านพราหมณ์ไม่มีโรค ไม่มีการเจ็บไข้บ้างหรือหนอ.
               ใช้ในอรรถว่าไม่มีโทษ ได้ในประโยคเป็นต้นว่า กตโม ปน ภนฺเต กายสมาจาโร กุสโล โย โข มหาราช กายสมาจาโร อนวชฺโช ท่านพระคุณเจ้าข้า กายสมาจารเป็นกุศลคืออะไร. ถวายพระพรมหาบพิตร กายสมาจารเป็นกุศล คือไม่มีโทษ.
               ใช้ในอรรถว่าฉลาด ได้ในประโยคเป็นต้นว่า กุสโล ตฺวํ รถสฺส องฺคปจฺจงฺคานํ ท่านฉลาดในส่วนประกอบน้อยใหญ่ทั้งหลายของรถ.
               ใช้ในอรรถว่ามีสุขเป็นวิบาก ได้ในประโยคเป็นต้นว่า กุสลสฺส กมฺมสฺส กตตฺตา อุปจิตตฺตา เพราะทำการสร้างสมกรรมที่มีสุขเป็นวิบาก.
               แต่ในที่นี้ พึงเห็นว่าใช้ในอรรถว่าฉลาด.
               บทว่า วนฺทเต แปลว่า ถวายบังคมแล้ว.
               บทว่า คชฺชิตา ได้แก่ ชื่อว่าคัชชิตา เพราะคำราม.
               บทว่า กาลเมโฆว ได้แก่ คำรามเหมือนอากาศที่ทรงน้ำสีเขียวคราม [เมฆ]. อธิบายว่าในวิสัยแห่งฤทธิ์.
               บทว่า นีลุปฺปลสมสาทิโส แปลว่า มีสีเหมือนดอกบัวขาบ. พึงทราบความในที่นี้โดยนัยที่กล่าวไว้แล้วในหนหลัง.
               ท่านโกลิตะที่ได้นามตามโคตรอย่างนี้ว่า โมคคัลลานะ.
               บทว่า มหากสฺสโปปิ จ ได้แก่ เทียบกับท่านพระอุรุเวลกัสสป ท่านพระนทีกัสสป ท่านพระคยากัสสป ท่านพระกุมารกัสสป ซึ่งเป็นพระเถระเล็กพระเถระน้อย พระกัสสปรูปนี้เป็นมหา เพราะฉะนั้น ท่านจึงถูกเรียกว่ามหากัสสป.
               ศัพท์ว่า ปิ จ มีอรรถว่าชมเชยและรวบรวม.
               บทว่า อุตฺตตฺตกนกสนฺนิโภ แปลว่า มีผิวพรรณคล้ายทองที่ร้อนละลาย.
               ในคำว่า ธุตคุเณ นี้ ธรรมชื่อว่าธุตะ เพราะกำจัดกิเลส, ธรรมกำจัดกิเลส ชื่อว่าธุตคุณ.
               ก็ธุตธรรมคืออะไร คือธรรม ๕ ประการ บริวารของธุตังคเจตนาเหล่านี้คือ อัปปิจฉตา ความมักน้อย, สันตุฏฐิตา ความสันโดษ, สัลเลขตา ความขัดเกลา, ปวิเวกตา ความสงัด, อิทมัฏฐิกตา ความมีสิ่งนี้เป็นประโยชน์ ชื่อว่าธุตธรรม เพราะบาลีเป็นต้นว่า อปฺปิจฺฉํ นิสฺสาย อาศัยความมักน้อยนั่นแล.
               อีกนัยหนึ่ง ญาณชื่อว่าธุตะ เพราะกำจัดกิเลสทั้งหลาย. ในธุตคุณนั้น.
               บาลีว่า อคฺคนิกฺขิตโต ได้แก่ ที่ท่านสถาปนาว่า เป็นผู้เลิศ เป็นผู้ประเสริฐสุด เป็นยอด. อธิบายว่า อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหากัสสปเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุสาวกของเราผู้สรรเสริญธุดงค์.
               ก็ อัคคศัพท์นี้ ใช้ในอรรถทั้งหลายมีอรรถว่าเป็นต้น ปลาย ส่วน ประเสริฐสุดเป็นต้น.
               จริงอย่างนั้น อัคคศัพท์ใช้ในอรรถว่าเป็นต้น ได้ในบาลีเป็นต้นว่า อชฺชตคฺเค สมฺม โทวาริก อาวรามิ ทฺวารํ นิคณฺฐานํ นิคณฺฐีนํ ดูก่อนสหายนายประตู ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เราปิดประตูสำหรับนิครนถ์และนิครนถีทั้งหลาย.
               ใช้ในอรรถว่าปลาย ได้ในประโยคเป็นต้นว่า เตเนว องฺคุลคฺเคน ตํ องฺคุลคฺคํ ปรามเสยฺย ภิกษุเอาปลายนิ้วนั้นนั่นแหละ ถูกต้องปลายนิ้วนั้นและว่า อุจฺฉคฺคํ เวฬคฺคํ ปลายอ้อย ปลายไผ่.
               ใช้ในอรรถว่าส่วน ได้ในบาลีเป็นต้นว่า อนุชานามิ ภิกฺขเว วิหารคฺเคน วา ปริเวณคฺเคน ภาเชตุํ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเพื่อแบ่งตามส่วนแห่งวิหาร หรือตามส่วนแห่งบริเวณ.
               ใช้ในอรรถว่าประเสริฐสุด ได้ในบาลีเป็นต้นว่า ยาวตา ภิกฺขเว สตฺตา อปทา วา ทฺวิปทา วา ฯเปฯ ตถาคโต เตสํ อคคมกฺขายติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายไม่มีเท้าก็ดี มี ๒ เท้าก็ดี ฯลฯ พระตถาคต กล่าวกันว่าประเสริฐสุดแห่งสัตว์เหล่านั้น.
               อัคคศัพท์นี้นั้น ในที่นี้ พึงเห็นว่าใช้ในอรรถว่าประเสริฐสุด. ยังใช้ในอรรถว่ายอดก็มี พระเถระดำรงอยู่ในตำแหน่งของท่านว่า เป็นผู้ประเสริฐและเป็นยอดด้วย เหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า บทว่า อคฺคนิกฺขิตฺโต ความว่า ได้แต่งตั้งว่าเป็นผู้เลิศ ผู้ประเสริฐสุด เป็นยอด.
               บทว่า โถมิโต ได้แก่ อันเทวดาและมนุษย์เป็นต้นสรรเสริญแล้ว.
               บทว่า สตฺถุ วณฺณิโต ได้แก่ อันพระศาสดาทรงยกย่องชมเชยแล้ว.
               อธิบายว่า อันพระศาสดาทรงยกย่องสรรเสริญโดยนัยที่มาในพระสูตรเป็นอันมาก เป็นต้นอย่างนี้ว่า กสฺสโป ภิกฺขเว จนฺทูปโม กุลานิ อุปสงฺกมติ อปกสฺเสว กายํ อปกสฺส จิตฺตํ นิจฺจนวโก กุเลสุ อปคพฺโภ.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กัสสปไม่กำเริบกายไม่กำเริบจิต เป็นนวกะภิกษุใหม่อยู่เป็นนิตย์ ไม่คะนองในตระกูลทั้งหลาย เข้าไปสู่ตระกูล.
               แม้ท่านพระมหากัสสปนั้นก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               บทว่า ทิพฺพจกฺขุํ ความว่า ทิพยจักษุมีอยู่แก่ภิกษุเหล่าใด ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่ามีทิพยจักษุ ท่านพระอนุรุทธะเป็นเลิศประเสริฐสุดแห่งภิกษุทั้งหลายผู้มีทิพยจักษุเหล่านั้น เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนุรุทธะเป็นยอดของภิกษุสาวกของเราผู้มีทิพยจักษุ ท่านพระอนุรุทธเถระเป็นโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะสักกะ พระเจ้าอาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นพระกนิษฐภาดาของพระเจ้ามหานามสักกะ เป็นผู้มีบุญมาก เป็นสุขุมาลชาติอย่างยิ่ง ท่านเป็นคนที่ ๗ ออกจากเรือนบวชไม่มีเรือน.
               ลำดับการบรรพชาของท่านมาแล้วในสังฆเภทกขันธกะ.
               บทว่า อวิทูเรว ได้แก่ ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้านั่นเอง.
               บทว่า อาปตฺติอนาปตฺติยา ได้แก่ ฉลาดในอาบัติและอนาบัติ.
               บทว่า สเตกิจฺฉาย ได้แก่ ในอาบัติที่ทำคืนได้ก็มี ที่ทำคืนไม่ได้ก็มี.
               บรรดาอาบัติเหล่านั้นอาบัติที่ทำคืนได้นั้น มี ๖ อย่าง อาบัติที่ทำคืนไม่ได้นั้น ก็คืออาบัติปาราชิก. ปาฐะว่า อาปตฺติอนาปตฺติยา สเตกิจฺฉาย โกวิโท ดังนี้ก็มี. ความก็อย่างนั้นเหมือนกัน.
               บทว่า วินเย ได้แก่ ในวินัยปิฏก.
               บทว่า อคฺคนิกฺขิตฺโต ความว่า ท่านพระอุบาลีอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาลีเป็นเลิศกว่าภิกษุสาวกของเราผู้ทรงวินัย.
               บทว่า อุบาลี ได้แก่ ท่านพระอุบาลีเถระ.
               บทว่า สตฺถุวณฺณิโต ได้แก่ อันพระศาสดาทรงยกย่อง สรรเสริญ.
               เล่ากันว่า พระเถระเรียนวินัยปิฎกในสำนักพระตถาคตเท่านั้น กล่าวเรื่องทั้ง ๓ คือ ภารุกัจฉกวัตถุ อัชชุกวัตถุ กุมารกัสสปวัตถุ เทียบกับพระสัพพัญญุตญาณ. เพราะฉะนั้น พระเถระ ท่านจึงกล่าวว่าอันพระศาสดาทรงยกย่องโดยนัยเป็นต้นอย่างนี้ว่า เป็นเลิศของภิกษุสาวกผู้ทรงวินัย.
               บทว่า สุขุมนิปุณตฺถปฏิวิทฺโธ ได้แก่ ผู้รู้ตลอดซึ่งอรรถอันสุขุมละเอียดแล้ว. อธิบายว่า ผู้รู้ตลอดซึ่งอรรถะอันละเอียดเห็นได้ยากแล้ว.
               บทว่า กถิกานํ ปวโร ได้แก่ เป็นผู้ประเสริฐสุดกว่าภิกษุผู้เป็นธรรมกถึก.
               ท่านสถาปนาไว้ในเอตทัคคบาลีว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุณณมันตานีบุตรเป็นเลิศกว่าภิกษุสาวกของเราผู้เป็นธรรมกถึก. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า กถิกานํ ปวโร เป็นผู้ประเสริฐสุดกว่าภิกษุผู้เป็นธรรมกถึก.
               บทว่า คณี ได้แก่ เป็นผู้มีหมู่.
               เล่ากันว่า กุลบุตรที่บวชในสำนักพระเถระมีถึง ๕๐๐ รูป ภิกษุเหล่านั้นทุกรูปเป็นชาวแคว้นที่เกิดอันเป็นชาติภูมิของพระทศพล ทุกรูปเป็นพระขีณาสพ ทุกรูปเป็นผู้ได้กถาวัตถุ ๑๐ ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า คณี ผู้มีหมู่.
               บทว่า อิสี ได้แก่ ชื่อว่าอิสี เพราะเสาะแสวงหากุศลธรรม.
               บทว่า มนฺตานิยา ปุตฺโต ได้แก่ เป็นบุตรของพราหมณีชื่อมันตานี.
               คำว่า ปุณณะ เป็นชื่อของท่าน.
               บทว่า วิสฺสุโต ได้แก่ มีชื่อเสียงทางคุณมีความเป็นผู้มักน้อยเป็นต้นของตนเอง.
               ฝ่ายท่านพระอัญญาโกณฑัญญเถระ เมื่อพระศาสดาทรงบรรลุพระอภิสัมโพธิญาณ ประกาศพระธรรมจักรอันประเสริฐแล้ว เสด็จมาตามลำดับ ทรงอาศัยกรุงราชคฤห์ประทับอยู่, ท่านกลับมายังกรุงกบิลพัศดุ์ บวชมาณพชื่อปุณณะ หลานชายของตน ถวายบังคมทูลลาพระผู้มีพระภาคเจ้า ตนเองก็ไปยังสระฉัททันตะเพื่ออยู่ประจำ. ส่วนท่านปุณณะมาพร้อมกับพระเถระเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า คิดว่า เราจักทำกิจของผู้บวชให้เสร็จก่อนแล้วจึงจักไปเฝ้าพระทศพล ถูกท่านพระอัญญาโกณฑัญญเถระปล่อยไว้ในกรุงกบิลพัสดุ์นั่นเอง ท่านทำโยนิโสมนสิการ ไม่นานนักก็บรรลุพระอรหัต เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               ก็บรรดาพระเถระเหล่านั้น พระเถระสองรูปเหล่านี้คือท่านพระอนุรุทธเถระ ท่านพระอุบาลีเถระ ท่านแสดงเหมือนเข้าไปยังกรุงกบิลพัศดุ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วบวชในวันประชุมพระประยูรญาติฉะนั้น คำนั้นไม่สมกับบาลีในขันธกะและอรรถกถา. พึงสอบสวนแล้วถือเอาเถิด.
               ครั้งนั้น พระศาสดาทรงทราบอาจาระทางจิตของภิกษุ ๕๐๐ รูปมีพระสารีบุตรเถระเป็นต้นแล้ว ทรงเริ่มตรัสคุณทั้งหลายของพระองค์.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า
                                   พระมหามุนี ผู้ฉลาดในข้ออุปมาทรงทราบจิต
                         ของภิกษุเหล่านั้น จะทรงตัดความสงสัย จึงตรัสคุณ
                         ของพระองค์.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โอปมฺมกุสโล ได้แก่ ผู้ฉลาดในข้ออุปมา กงฺขจฺเฉโท ได้แก่ ทรงตัดความสงสัยของสัตว์ทั้งปวง.
               บัดนี้ เพื่อทรงแสดงพระคุณทั้งหลายของพระองค์ที่พระองค์ตรัสแล้วจึงตรัสว่า

               อสงไขย ๔               
                                   เบื้องต้นและเบื้องปลายของอสงไขยเหล่าใดอัน
                         ใครๆ รู้ไม่ได้ อสงไขยเหล่านั้นมี ๔ คือ สัตตนิกาย ๑
                         หมู่สัตว์ ๑ โอกาสจักรวาลอันไม่สิ้นสุด ๑ และพระพุทธ-
                         ญาณที่นับไม่ได้ ๑ อสงไขยเหล่านั้น ใครๆ ไม่อาจจะ
                         รู้ได้.

               แก้อรรถ               
               ในคาถานั้น ศัพท์ว่า จตฺตาโร กำหนดจำนวนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้ความที่พึงตรัส ณ บัดนี้ด้วยบทว่า เอเต.
               บทว่า อสงฺเขยฺยา ได้แก่ ชื่อว่าอสงไขย เพราะใครๆ ไม่อาจนับได้. อธิบายว่า เกินที่จะนับ.
               บทว่า โกฏิ ได้แก่ ขอบเขตเบื้องต้นหรือเบื้องปลาย.
               บทว่า เยสํ ได้แก่ ของอสงไขย ๔ เหล่าใด.
               บทว่า น นายติ ได้แก่ ไม่ปรากฏ.
               บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงอสงไขย ๔ ดังกล่าวแล้วนั้นจึงตรัสคำว่า สตฺตกาโย เป็นต้น.
               บทว่า สตฺตกาโย แปลว่า หมู่สัตว์. หมู่สัตว์ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีปริมาณ นับไม่ได้. อากาศก็อย่างนั้น ที่สุดแม้ของอากาศไม่มี. จักรวาลก็เหมือนกัน ไม่มีที่สุดเหมือนกัน. พุทธญาณคือพระสัพพัญญุตญาณก็นับไม่ได้.
               บทว่า น สกฺกา เอเต วิชานิตุํ ความว่า เพราะเหตุที่อสงไขยเหล่านี้ไม่มีที่สุด ฉะนั้น ใครๆ จึงไม่อาจจะรู้ได้.
               บัดนี้ พระศาสดาเมื่อทรงขยายพระธรรมเทศนาว่า ในการทำฤทธิ์ต่างๆ ของพระองค์นั่นจะอัศจรรย์อะไรสำหรับเทวดาและมนุษย์เป็นต้นซึ่งเกิดความประหลาดอัศจรรย์ ความประหลาดอัศจรรย์ที่วิเศษยิ่งกว่านั้น ยังมีอยู่ ขอท่านทั้งหลายจงฟังความอัศจรรย์นั้นของเรา จึงตรัสคำเป็นต้นว่า
                                   การทำฤทธิ์ต่างๆ ของเรา จะอัศจรรย์อะไรใน
                         โลก ความอัศจรรย์ทั้งหลายอย่างอื่น ที่น่าประหลาด
                         น่าขนลุกชัน ยังมีเป็นอันมาก.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กึ เป็นคำค้าน.
               ตรัสคำว่า เอตํ ทรงหมายถึงการทำฤทธิ์ต่างๆ นี้.
               บทว่า ยํ ความว่า ศัพท์ว่า ยํ นี้ใช้ในอรรถทุติยาวิภัตติ ได้ในประโยคเป็นต้นว่า ยํ ตํ อปุจฺฉิมฺห อกิตฺตยีโน อญฺญํ ตํ ปุจฺฉาม ตทิงฺฆ พฺรูหิ ข้าพระองค์ทูลถามปัญหานั้นใด ก็ตรัสตอบแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะทูลถามปัญหาอื่นนั้น ขอโปรดตอบปัญหานั้นด้วย,
               ใช้ในอรรถว่าเหตุ ได้ในประโยคนี้ อฏฺฐานเมตํ ภิกฺขเว อนวกาโส ยํ เอกิสฺสา โลกธาตุยา เทฺว อรหนฺโต สมฺมาสมฺพุทธา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุใด พระอรหันตสัมมาสัมพุทธแห่งโลกธาตุเดียว มี ๒ พระองค์ เหตุนั้นไม่เป็นฐานะ ไม่เป็นโอกาส.
               ใช้ในอรรถสัตตมีวิภัตติ ได้ในประโยคนี้ว่า ยํ วิปสฺสี ภควา กปฺเป อุทปาทิ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสี เสด็จอุบัติในกัปใด,
               ใช้ในอรรถปฐมาวิภัตติ ได้ในประโยคเป็นต้นว่า ยํ โข เม ภนฺเต เทวานํ ตาวตึสานํ สมฺมุขา สุตํ สมฺมุขา ปฏิคฺคหิตํ, อาโรเจมิ ตํ ภควโต ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องใด ข้าพระองค์ได้ยินมาต่อหน้ารับมาต่อหน้าทวยเทพชั้นดาวดึงส์ ข้าพระองค์จะทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               แม้ในที่นี้ก็พึงเห็นว่าใช้ในอรรถปฐมาวิภัตติ.
               ทรงแสดงว่า ความอัศจรรย์ทั้งหลายอย่างอื่นของเราที่แปลกประหลาดพิเศษยังมีเป็นอันมาก.
               บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงความอัศจรรย์เหล่านั้น จึงตรัสคำเป็นต้นว่า
                                   ครั้งใด เราชื่อว่าท้าวสันดุสิตอยู่ในหมู่เทพชั้น
                         ดุสิต ครั้งนั้น หมื่นโลกธาตุก็พากันประคองอัญชลี
                         อ้อนวอนเรา.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยทา แปลว่า ในกาลใด.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้พระองค์เองด้วยบทว่า อหํ.
               บทว่า ตุสิเต กาเย ได้แก่ หมู่เทพที่ชื่อว่าดุสิต.
               ก็ในกาลใดเราบำเพ็ญบารมี ๓๐ ถ้วน บริจาคมหาบริจาค ๕ ถึงที่สุดแห่งญาตัตถจริยา โลกัตถจริยาและพุทธจริยา ให้สัตตสตกมหาทาน ทำแผ่นดินให้ไหว ๗ ครั้ง จุติจากอัตภาพเป็นพระเวสสันดรแล้วก็บังเกิดในภพดุสิต ในวาระจิตที่สอง แม้ในกาลนั้น เราก็ได้เป็นเทวราชชื่อท้าวสันดุสิต.
               บทว่า ทสสหสฺสี สมาคมฺม ความว่า เทวดาในหมื่นจักรวาลมาประชุมกันแล้ว.
               บทว่า ยาจนฺติ ปญฺชลี มมํ ความว่า เทวดาหมื่นโลกธาตุเข้าไปหาเราอ้อนวอนเราว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ พระองค์เมื่อบำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศมิใช่ปรารถนาสมบัติท้าวสักกะ มิใช่ปรารถนาสมบัติมาร มิใช่ปรารถนาสมบัติพรหม มิใช่ปรารถนาสมบัติจักรพรรดิบำเพ็ญ แต่พระองค์ปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้า บำเพ็ญเพื่อช่วยขนสัตว์ข้ามโอฆสงสาร.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า
               [เทวดาในหมื่นโลกธาตุทูลวอนว่า]
                                   ข้าแต่พระมหาวีระ นี้เป็นกาลสมควรสำหรับ
                         พระองค์ ขอพระองค์โปรดอุบัติในครรภ์พระมารดา
                         ขอพระองค์ เมื่อจะทรงช่วยมนุษยโลกพร้อมเทวโลก
                         ให้ข้ามโอฆสงสาร โปรดจงตรัสรู้อมตบทเถิด.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กาโล เต แปลว่า เป็นกาลสมควรสำหรับพระองค์. หรือปาฐะก็อย่างนี้เหมือนกัน.
               บทว่า อุปฺปชฺช ได้แก่ ถือปฏิสนธิ. ปาฐะว่า โอกฺกมฺ ก็มี.
               บทว่า สเทวกํ ความว่า โลกพร้อมทั้งเทวโลกในบทว่า ตารยนฺโต นี้ แม้ทรงบำเพ็ญบารมีอยู่ก็ชื่อว่าช่วยให้ข้าม. แม้ทรงบำเพ็ญบารมีเสร็จก็ชื่อว่าช่วยให้ข้าม. แม้ทรงจุติจากอัตภาพเป็นพระเวสสันดร ถือปฏิสนธิในภพดุสิตดำรงอยู่ในภพดุสิตนั้นตลอด ๕๗ โกฏิปีกับ ๖๐ แสนปี ก็ชื่อว่าช่วยให้ข้าม.
               ทรงถูกเทวดาทั้งหลายทูลวอน ทรงตรวจมหาวิโลกนะ ๕ แล้ว ทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางเจ้ามหามายาเทวีก็ดี ทรงอยู่ในพระครรภ์ถ้วนทศมาสก็ดี ก็ชื่อว่าช่วยให้ข้าม แม้ทรงอยู่ครองฆราวาสวิสัย ๒๙ พรรษา ก็ชื่อว่าช่วยให้ข้าม.
               ในวันประสูติพระราหุลภัททะ ทรงมีนายฉันนะเป็นสหาย ขึ้นทรงม้ากัณฐกะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ก็ดี เสด็จเลย ๓ ราชอาณาจักรทรงผนวช ณ ริมฝั่งแม่น้ำอโนมาก็ดี ก็ชื่อว่าทรงช่วยให้ข้าม.
               ทรงบำเพ็ญความเพียร ๖ ปีก็ดี ในวันวิสาขบูรณมีเพ็ญเดือนวิสาขะ เสด็จขึ้นสู่มหาโพธิมัณฑสถาน [โคนโพธิพฤกษ์] ทรงกำจัดกองกำลังของมาร ปฐมยาม ทรงระลึกได้ถึงขันธ์ในบุรพชาติ มัชฌิมยามทรงชำระทิพยจักษุ ปัจฉิมยามทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท ๑๒ องค์ทั้งอนุโลมและปฏิโลมทรง บรรลุโสดาปัตติมรรคก็ดี ก็ชื่อว่าช่วยให้ข้าม.
               ในขณะโสดาปัตติผลก็ดี ในขณะสกทาคามิมรรคก็ดี ในขณะสกทาคามิผลก็ดี ในขณะอนาคามิมรรคก็ดี ในขณะอนาคามิผลก็ดี ในขณะอรหัตมรรคก็ดี ในขณะอรหัตผลก็ดี ก็ชื่อว่าช่วยให้ข้าม.
               ในกาลใด ได้ประทานน้ำอมฤตแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ พร้อมด้วยเทวดาหมื่นแปดพันโกฏิ๑- นับตั้งแต่กาลนั้น ท่านเรียกว่า ชื่อว่าทรงช่วยให้ข้ามแล้ว.
____________________________
๑- ที่อื่นเป็น ๑๘ โกฏิ.

               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
                         เมื่อทรงยังโลกพร้อมเทวโลกให้ข้ามโอฆสงสาร
                         ขอโปรดจงบรรลุอมตบท.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ รัตนะจงกรมกัณฑ์
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]
อ่านอรรถกถา 33.1 / 1อ่านอรรถกถา 33.1 / 180อรรถกถา เล่มที่ 33.2 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 33.2 / 2อ่านอรรถกถา 33.2 / 28
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=6654&Z=6873
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=51&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=51&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :