ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 33.2 / 1อ่านอรรถกถา 33.2 / 1อรรถกถา เล่มที่ 33.2 ข้อ 2อ่านอรรถกถา 33.2 / 3อ่านอรรถกถา 33.2 / 28
อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์
๑. ทีปังกรพุทธวงศ์

               พรรณนาวงศ์พระทีปังกรพุทธเจ้าที่ ๑               
               อุบาสกชาวรัมมนครเหล่านั้น ถวายมหาทานแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานแล้ว ก็บูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งเสวยเสร็จชักพระหัตถ์ออกจากบาตรแล้ว ด้วยดอกไม้และของหอมเป็นต้นอีก ถวายบังคมแล้วอยากจะฟังอนุโมทนาทาน จึงเข้าไปนั่งใกล้ๆ.
               ลำดับนั้น พระศาสดาได้ทรงทำอนุโมทนาทานไพเราะอย่างยิ่ง จับใจของอุบาสกเหล่านั้นว่า
                         ธรรมดาทาน ท่านกล่าวว่าเป็นต้นเหตุสำคัญของ
               สุขเป็นต้น ยังกล่าวว่าเป็นที่ตั้งแห่งบันไดทั้งหลายที่
               ไปสู่พระนิพพาน.
                         ทานเป็นเครื่องป้องกันของมนุษย์ ทานเป็นเผ่า
               พันธุ์เป็นเครื่องนำหน้า ทานเป็นคติสำคัญของสัตว์ที่
               ถึงความทุกข์.
                         ทาน ท่านแสดงว่าเป็นนาวา เพราะอรรถว่าเป็น
               เครื่องช่วยข้ามทุกข์ และทานท่านสรรเสริญว่าเป็น
               นคร เพราะป้องกันภัย.
                         ทาน ท่านกล่าวว่าเป็นอสรพิษ เพราะอรรถว่า
               เข้าใกล้ได้ยาก ทานเป็นดังดอกปทุม เพราะมลทินคือ
               โลภะเป็นต้นฉาบไม่ได้.
                         ที่พึ่งพาอาศัยของบุรุษ เสมอด้วยทานไม่มีในโลก
               เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงบำเพ็ญทานด้วยการทำ
               ตามอัธยาศัย.
                         นรชนคนไรเล่า ผู้มีปัญญาในโลกนี้ ผู้ยินดีใน
               ประโยชน์เกื้อกูล จะไม่พึงให้ทานทั้งหลาย ที่เป็นเหตุ
               แห่งโลกสวรรค์.
                         นรชนคนไรเล่า ได้ยินว่าทานเป็นแดนเกิดสมบัติ
               ในเทวดาทั้งหลาย จะไม่พึงให้ทานอันให้ถึงซึ่งความ
               สุข ทานเป็นเครื่องยังจิตให้ร่าเริง.
                         นรชนบำเพ็ญทานแล้ว ก็เป็นผู้อันเทพอัปสร
               ห้อมล้อม อภิรมย์ในนันทนวัน แหล่งสำเริงสำราญ
               ของเทวดาตลอดกาลนาน.
                         ผู้ให้ย่อมได้ปีติอันโอฬาร ย่อมประสบความ
               เคารพในโลกนี้ ผู้ให้ย่อมประสบเกียรติเป็นอันมาก
               ผู้ให้ย่อมเป็นผู้อันมหาชนไว้วางใจ.
                         นรชนนั้นให้ทานแล้ว ย่อมถึงความมั่งคั่งแห่ง
               โภคะและมีอายุยืน ย่อมได้ความมีเสียงไพเราะและ
               รูปสวยอยู่ในวิมานทั้งหลายที่นกยูงอันน่าชื่นชมนานา
               ชนิดร้องระงม เล่นกับเทวดาทั้งหลายในสวรรค์.
                         ทานเป็นทรัพย์ไม่ทั่วไปแก่ภัยทั้งหลาย คือ
               โจรภัย อริภัย ราชภัย อุทกภัยและอัคคีภัย ทานนั้น
               ย่อมให้สาวกญาณภูมิ ปัจเจกพุทธภูมิ ตลอดถึงพุทธภูมิ.

               ครั้นทรงทำอนุโมทนาทาน ประกาศอานิสงส์แห่งทาน โดยนัยดังกล่าวมาอย่างนี้เป็นต้นแล้ว ก็ตรัสศีลกถาในลำดับต่อจากทานนั้น ธรรมดาศีลนั้นเป็นมูลแห่งสมบัติในโลกนี้และโลกหน้า
                         ศีลเป็นต้นเหตุสำคัญของสุขทั้งหลาย ผู้มีศีล
               ย่อมไปไตรทิพย์สวรรค์ด้วยศีล ศีลเป็นเครื่องป้องกัน
               เครื่องเร้น เครื่องนำหน้าของผู้เข้าถึงสังสารวัฏ.
                         ก็ที่พึ่งพาอาศัยของชนทั้งหลายในโลกนี้หรือ
               ในโลกหน้าอย่างอื่น ที่เสมอด้วยศีลจะมีแต่ไหน ศีล
               เป็นที่ตั้งสำคัญของคุณทั้งหลาย เหมือนแผ่นดินเป็น
               ที่ตั้งแห่งสิ่งที่อยู่กับที่และสิ่งที่เคลื่อนที่ได้ฉะนั้น.
                         เขาว่า ศีลเท่านั้นเป็นกรรมดี ศีลยอดเยี่ยมใน
               โลก ผู้ประพฤติชอบในธรรมจริยาของพระอริยะ ท่าน
               เรียกว่า ผู้มีศีล.

               เครื่องประดับเสมอด้วยเครื่องประดับคือศีลไม่มี, กลิ่นเสมอด้วยกลิ่นคือศีลไม่มี, เครื่องชำระมลทินคือกิเลสเสมอด้วยศีลไม่มี, เครื่องระงับความเร่าร้อนเสมอด้วยศีลไม่มี, เครื่องให้เกิดเกียรติเสมอด้วยศีลไม่มี, บันไดขึ้นสู่สวรรค์เสมอด้วยศีลไม่มี, ประตูในการเข้าไปยังนครคือพระนิพพาน เสมอด้วยศีลไม่มี.
               เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า
                         พระราชาทั้งหลาย ทรงประดับด้วยแก้วมุกดา
               และแก้วมณี ยังงามไม่เหมือนนักพรตทั้งหลาย ผู้
               ประดับด้วยเครื่องประดับคือศีล ย่อมงามสง่า.
                         กลิ่นที่หอมไปทั้งตามลมทั้งทวนลมเสมอ ที่เสมอ
               ด้วยกลิ่นคือศีล จักมีแต่ไหนเล่า.
                         กลิ่นดอกไม้ไม่หอมทวนลม หรือกลิ่นจันทน์
               กฤษณามะลิ ก็ไม่หอมทวนลม ส่วนกลิ่นของสัตบุรุษ
               ย่อมหอมทวนลม สัตบุรุษย่อมหอมไปทุกทิศ.
                         กลิ่นคือศีล เป็นยอดของคันธชาติเหล่านี้ คือ
               จันทน์ กฤษณา อุบล มะลิ.
                         มหานที คือ คงคา ยมุนา สรภู สรัสวดี นินนคา
               อจิรวดี มหี ไม่สามารถชำระมลทินของสัตว์ทั้งหลาย
               ในโลกนี้ แต่น้ำคือศีล ชำระมลทินของสัตว์ทั้งหลายได้.
                         อริยศีลนี้ ที่รักษาดีแล้ว เยือกเย็นอย่างยิ่งระงับ
               ความเร่าร้อนอันใดได้ ส่วนจันทน์เหลือง สร้อยคอ
               แก้วมณีและช่อรัศมีจันทร์ ระงับความเร่าร้อนไม่ได้.
                         ศีลของผู้มีศีล ย่อมกำจัดภัยมีการติตนเองเป็นต้น
               ได้ทุกเมื่อ และให้เกิดเกียรติและความร่าเริงทุกเมื่อ.
                         สิ่งอื่นซึ่งเป็นบันไดขึ้นสวรรค์ที่เสมอด้วยศีลจะมี
               แต่ไหน ก็หรือว่าศีลเป็นประตูเข้าไปยังนครคือพระ-
               นิพพาน,
                         ท่านทั้งหลาย จงรู้อานิสงส์อันยอดเยี่ยมของศีล
               ซึ่งเป็นมูลแห่งคุณทั้งหลาย กำจัดกำลังแห่งโทษทั้ง
               หลาย ดังกล่าวมาฉะนี้

               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงอานิสงส์แห่งศีลอย่างนี้แล้ว เพื่อทรงแสดงว่า อาศัยศีลนี้ย่อมได้สวรรค์นี้ จึงตรัสสัคคกถาในลำดับต่อจากศีลนั้น ธรรมดาสวรรค์นี้น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ มีแต่สุขส่วนเดียว เทวดาทั้งหลายย่อมได้การเล่นในสวรรค์นั้นเป็นนิตย์ ได้สมบัติทั้งหลายเป็นนิตย์. เหล่าเทวดาชั้นจาตุมหาราชย่อมได้สุขทิพย์ สมบัติทิพย์ตลอดเก้าล้านปี. เทวดาชั้นดาวดึงส์ได้สามโกฏิหกล้านปี ตรัสกถาประกอบด้วยคุณแห่งสวรรค์ดังกล่าวมานี้เป็นต้น.
               ครั้นทรงประเล้าประโลมด้วยสัคคกถาอย่างนี้แล้ว ก็ทรงประกาศโทษต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในเนกขัมมะว่า สวรรค์แม้นี้ก็ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่ควรทำความยินดีด้วยอำนาจความพอใจในสวรรค์นั้น แล้วตรัสธรรมกถาที่จบลงด้วยอมตธรรม.
               ครั้นทรงแสดงธรรมแก่มหาชนนั้นอย่างนี้แล้ว ให้บางพวกตั้งอยู่ในสรณะ บางพวกในศีล ๕ บางพวกในโสดาปัตติผล บางพวกในสกทาคามิผล บางพวกในอนาคามิผล บางพวกในผลแม้ทั้ง ๔ บางพวกในวิชชา ๓ บางพวกในอภิญญา ๖ บางพวกในสมาบัติ ๘ ลุกจากอาสนะแล้ว เสด็จออกจากรัมมนคร เข้าไปยังสุทัสสนะมหาวิหารนั่นแล.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         ครั้งนั้น อุบาสกชาวรัมมนครเหล่านั้น ให้พระ
               โลกนาถพร้อมทั้งพระสงฆ์เสวยแล้ว ก็ถึงพระทีปังกร
               ศาสดาพระองค์นั้นเป็นสรณะ.
                         พระตถาคตทรงยังบางคนให้ตั้งอยู่ในสรณคมน์
               บางคนในศีล ๕ บางคนในศีล ๑๐.
                         พระองค์ประทานสามัญผล ๔ อันสูงสุดแก่บาง
               คน ประทานปฏิสัมภิทา ในธรรมที่ไม่มีธรรมอื่นเสมอ
               แก่บางคน.
                         พระนราสภประทานสมาบัติ ๘ อันประเสริฐแก่
               บางคน ทรงประทานวิชชา ๓ อภิญญา ๖ แก่บางคน.
                         พระมหามุนีทรงสั่งสอนหมู่ชนด้วยนัยนั้น เพราะ
               พระโอวาทนั้น ศาสนาของพระโลกนาถจึงได้แผ่ไป
               อย่างกว้างขวาง.
                         พระพุทธเจ้ามีพระนามว่าทีปังกร ผู้มีพระหนุ
               ใหญ่ มีพระวรกายงาม ทรงยังชนเป็นอันมากให้ข้าม
               โอฆสงสาร ทรงเปลื้องมหาชนเสียจากทุคติ.
                         พระมหามุนี ทรงเห็นชนผู้ควรตรัสรู้ได้ไกลถึง
               แสนโยชน์ ก็เสด็จเข้าไปหาในทันใด ทำเขาให้ตรัสรู้.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เต ได้แก่ อุบาสกชาวรัมมนครเหล่านั้น.
               พึงทราบสรณะ สรณคมน์และผู้ถึงสรณะ ในคำว่า สรณํ นี้
               คุณชาตใดระลึก เบียดเบียน กำจัด เหตุนั้นคุณชาตนั้นจึงชื่อว่าสรณะ. สรณะนั้นคืออะไร คือพระรัตนตรัย. ก็พระรัตนตรัยนั้น ท่านกล่าวว่าสรณะ เพราะตัด เบียดเบียน กำจัด ภัย ความหวาดกลัว ทุกข์ ทุคติ ความเศร้าหมอง ด้วยสรณคมน์นั้นนั่นแหละของเหล่าผู้ถึงสรณะ.
               สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า
                         ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
               ชนเหล่านั้น จักไม่ไปอบายภูมิ ละกายมนุษย์ไปแล้ว
               จักยังกายเทพให้บริบูรณ์.
                         ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ถึงพระธรรมเป็นสรณะ
               ชนเหล่านั้น จักไม่ไปอบายภูมิ ละกายมนุษย์ไปแล้ว
               จักยังกายเทพให้บริบูรณ์.
                         ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ
               ชนเหล่านั้น จักไม่ไปอบายภูมิ ละกายมนุษย์ไปแล้ว
               จักยังกายเทพให้บริบูรณ์.

               จิตตุปบาทที่เป็นไปโดยอาการมีพระรัตนตรัยเป็นเบื้องหน้า ชื่อว่าสรณคมน์. บุคคลผู้พร้อมเพรียงด้วยสรณคมน์นั้น ชื่อว่าผู้ถึงสรณะ.
               ๓ หมวดนี้ คือ สรณะ สรณคมน์ ผู้ถึงสรณะ พึงทราบดังกล่าวมานี้ก่อน.
               บทว่า ตสฺส ได้แก่ พระทีปังกรนั้น.
               พึงทราบว่าฉัฏฐีวิภัตติลงในอรรถทุติยวิภัตติ.
               ปาฐะว่า อุปคจฺฉุํ สรณํ ตตฺถ ดังนี้ก็มี.
               บทว่า สตฺถุโน ได้แก่ ซึ่งพระศาสดา.
               บทว่า สรณาคมเน กญฺจิ ความว่า ยังบุคคลบางคนให้ตั้งอยู่ในสรณคมน์.
               ตรัสเป็นปัจจุบันกาลก็จริง ถึงอย่างนั้นก็พึงถือเอาความเป็นอดีตกาล แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้.
               ปาฐะว่า กสฺสจิ สรณาคมเน ดังนี้ก็มี. แม้ปาฐะนั้น ความก็อย่างนั้นเหมือนกัน.
               บทว่า กญฺจิ ปญฺจสุ สีเลสุ ความว่า ยังบุคคลบางคนให้ตั้งอยู่ในวิรติศีล ๕. ปาฐะว่า กสฺสจิ ปญฺจสุ สีเลสุ ความก็อย่างนั้นแหละ.
               บทว่า สีเล ทสวิเธ ปรํ ความว่า ยังบุคคลอื่นอีกให้ตั้งอยู่ในศีล ๑๐ ข้อ. ปาฐะว่า กสฺสจิ กุสเล ทส ดังนี้ก็มี ปาฐะนั้นความว่า ยังบุคคลบางคนให้สมาทานกุศลธรรม ๑๐.
               โดยปรมัตถ์ มรรคท่านเรียกว่าสามัญญะ ในคำนี้ว่า กสฺสจิ เทติ สามญฺญํ เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สามัญญะคืออะไร อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าสามัญญะ.
               บทว่า จตุโร ผลมุตฺตเม ความว่า ผลสูงสุด ๔. อักษรทำบทสนธิ ท่านกล่าวเป็นลิงควิปลาส ความว่า ได้ประทานมรรค ๔ และสามัญญผล ๔ แก่บางคน ตามอุปนิสัย.
               บทว่า กสฺสจิ อสเม ธมฺเม ความว่า ได้ประทานธรรมคือปฏิสัมภิทา ๔ ที่ไม่มีธรรมอื่นเหมือน แก่บางคน.
               บทว่า กสฺสจิ วรสมาปตฺติโย ความว่า อนึ่งได้ประทานสมาบัติ ๘ ที่เป็นประธาน เพราะปราศจากนีวรณ์แก่บางคน.
               บทว่า ติสฺโส กสฺสจิ วิชฺชาโย ความว่า วิชชา ๓ คือ ทิพยจักษุญาณ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณและอาสวักขยญาณ โดยเป็นอุปนิสัยแก่บุคคลบางคน.
               บทว่า ฉฬภิญฺญา ปเวจฺฉติ ความว่า ได้ประทานอภิญญา ๖ แก่บางคน.
               บทว่า เตน โยเคน ได้แก่ โดยนัยนั้นและโดยลำดับนั้น.
               บทว่า ชนกายํ ได้แก่ ประชุมชน.
               บทว่า โอวทติ แปลว่า สั่งสอนแล้ว.
               พึงเห็นว่า ท่านกล่าวเป็นกาลวิปลาส ในคำเช่นนี้ต่อแต่นี้ไป ก็พึงถือความเป็นอดีตกาลทั้งนั้น.
               บทว่า เตน วิตฺถาริกํ อาสิ ความว่า เพราะโอวาทคำพร่ำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าทีปังกรพระองค์นั้น พระศาสนาก็แผ่ไป แพร่ไปกว้างขวาง.
               บทว่า มหาหนุ ความว่า เล่ากันว่า พระมหาบุรุษทั้งหลายมีพระหนุ [คาง] ๒ บริบูรณ์ มีอาการเสมือนดวงจันทร์ขึ้น ๑๒ ค่ำ เหตุนั้นมหาบุรุษพระองค์ใดมีพระหนุใหญ่ มหาบุรุษพระองค์นั้น ชื่อว่ามีพระหนุใหญ่.
               ท่านอธิบายว่า มีพระหนุดังราชสีห์.
               บทว่า อุสภกฺขนฺโธ ความว่า มหาบุรุษพระองค์ใดมีลำพระศอเหมือนโคอุสภ. อธิบายว่า มีลำพระศองามเสมือนแท่งทองกลมเกลา มีลำพระศองามกลมเสมอกัน.
               บทว่า ทีปงฺกรสนามโก ได้แก่ พระนามว่าทีปังกร.
               บทว่า พหู ชเน ตารยติ ความว่า ยังชนที่เป็นพุทธเวไนยเป็นอันมากให้ข้ามโอฆสงสาร.
               บทว่า ปริโมจติ ได้แก่ เปลื้องแล้ว. บทว่า ทุคฺคตึ แปลว่า จากทุคติ. ทุติยาวิภัตติ ลงในอรรถปัญจมีวิภัตติ.
               บัดนี้ เพื่อแสดงอาการคือทรงทำให้สัตว์ ข้ามโอฆสงสารและเปลื้องจากทุคติ จึงตรัสคาถาว่า โพธเนยฺยํ ชนํ.
               ในคาถานั้น บทว่า โพธเนยฺยํ ชนํ ได้แก่ หมู่สัตว์ที่ควรตรัสรู้ หรือปาฐะก็อย่างนี้เหมือนกัน.
               บทว่า ทิสฺวา ได้แก่ เห็นด้วยพุทธจักษุหรือสมันตจักษุ.
               บทว่า สตสหสฺเสปิ โยชเน ได้แก่ ซึ่งอยู่ไกลหลายแสนโยชน์.
               ก็คำนี้ พึงทราบว่า ท่านกล่าวหมายถึงหมื่นโลกธาตุนั่นเอง.
               ได้ยินว่า พระศาสดาทีปังกรทรงบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้าแล้วทรงยับยั้งอยู่ ๗ สัปดาห์ ณ โคนโพธิพฤกษ์ ในสัปดาห์ที่ ๘ ก็ทรงประกาศพระธรรมจักร ณ สุนันทาราม ตามปฏิญญาที่ทรงรับอาราธนาแสดงธรรมของท้าวมหาพรหม ทรงยังเทวดาและมนุษย์ร้อยโกฏิให้ดื่มอมฤตธรรม.
               นี้เป็นอภิสมัย คือการตรัสรู้ธรรมครั้งแรก.
               ต่อมา พระศาสดาทรงทราบว่า พระโอรสผู้มีลำพระองค์กลมเสมอกัน พระนามว่าอุสภักขันธะ มีญาณแก่กล้าจึงทรงทำพระโอรสนั้นให้เป็นหัวหน้า ทรงแสดงธรรมเช่นเดียวกับราหุโลวาทสูตร ทรงยังเทวดาและมนุษย์ถึงเก้าสิบโกฏิให้ดื่มอมฤตธรรม.
               นี้เป็นอภิสมัย คือการตรัสรู้ธรรมครั้งที่สอง.
               ต่อมา พระศาสดาทรงทำยมกปาฏิหาริย์ ณ โคนต้นซึกใหญ่ใกล้ประตูพระนครอมรวดี ทรงทำการเปลื้องมหาชนจากเครื่องผูกพัน อันหมู่เทพห้อมล้อมแล้ว ประทับนั่งเหนือพื้นบัณฑุกัมพลศิลาซึ่งเย็นอย่างยิ่ง ใกล้โคนต้นปาริฉัตตกะ ในภพดาวดึงส์ อันเป็นภพแผ่ซ่านแห่งความโชติช่วงเหลือเกินดังดวงอาทิตย์ ทรงทำพระนางสุเมธาเทวีพระชนนีของพระองค์ ผู้ให้เกิดปีติแก่หมู่เทพทั้งปวงเป็นหัวหน้า ทรงเป็นวิสุทธิเทพที่ทรงรู้โลกทั้งปวง เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ ทรงทำดวงประทีป ทรงจำแนกธรรม ทรงแสดงพระอภิธรรมปิฏก ๗ ปกรณ์ อันทำความบริสุทธิ์แห่งความรู้ อันสุขุมลุ่มลึกอย่างยิ่ง กระทำประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวง ยังเทวดาเก้าหมื่นโกฏิให้ดื่มอมฤตธรรม.
               นี้เป็นอภิสมัยคือการตรัสรู้ธรรมครั้งที่สาม.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         ในอภิสมัยครั้งแรก พระพุทธเจ้าทรงยังเทวดา
               และมนุษย์ให้ตรัสรู้ร้อยโกฏิ ในอภิสมัยครั้งที่สอง พระ
               โลกนาถทรงยังเทวดาและมนุษย์ให้ตรัสรู้เก้าสิบโกฏิ.
                         ในสมัยใด พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมในภพ
               เทวดา แก่เทวดาเก้าหมื่นโกฏิ สมัยนั้นเป็นอภิสมัย
               ครั้งที่สาม.

               การประชุมสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าทีปังกรมี ๓ ครั้ง ใน ๓ ครั้งนั้น ครั้งแรกประชุมเทวดาและมนุษย์แสนโกฏิ ณ สุนันทาราม
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         สาวกสันนิบาตของพระทีปังกรศาสดามี ๓ ครั้ง
                         ครั้งที่หนึ่ง ประชุมสัตว์แสนโกฏิ.

               สมัยต่อๆ มา พระทศพลอันภิกษุสี่แสนรูปแวดล้อม ทรงทำการอนุเคราะห์มหาชน ตามลำดับ ตามนิคมและนคร เสด็จจาริกมาโดยลำดับ ก็ลุถึงภูเขาลูกที่น่ารื่นรมย์อย่างยิ่งชื่อนารทกูฏ มียอดสูงจรดเมฆ มียอดอบอวลด้วยไม้ต้นไม้ดอกส่งกลิ่นหอมนานาชนิด มียอดที่ฝูงมฤคนานาพันธุ์ท่องเที่ยวกันอันอมนุษย์หวงแหน น่ากลัวอย่างยิ่ง เลื่องลือไปในโลกทั้งปวง ที่มหาชนเซ่นสักการะในประเทศแห่งหนึ่ง เขาว่าภูเขาลูกนั้น ยักษ์มีชื่อนารทะหวงแหน ณ ที่นั้น มหาชนนำมนุษย์มาทำพลีสังเวยแก่ยักษ์ตนนั้นทุกๆ ปี.
               ได้ยินว่า ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทีปังกรทรงเห็นอุปนิสัยสมบัติของมหาชน แต่นั้นก็ทรงส่งภิกษุไปสี่ทิศ ไม่มีเพื่อน ไม่มีสหาย มีพระหฤทัยอันมหากรุณามีกำลังเข้ากำกับแล้ว เสด็จขึ้นภูเขานารทะลูกนั้น เพื่อทรงแนะนำยักษ์ตนนั้น.
               ลำดับนั้น ยักษ์ที่มีมนุษย์เป็นภักษา ไม่เล็งประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน ขยันแต่ฆ่าผู้อื่นตนนั้น ทนการลบหลู่ไม่ได้ มีใจอันความโกรธครอบงำแล้ว ประสงค์จะให้พระทศพลกลัวแล้วหนีไปเสีย จึงเขย่าภูเขาลูกนั้น เล่ากันว่า ภูเขาลูกนั้นถูกยักษ์ตนนั้นเขย่า ก็มีอาการเหมือนจะหล่นทับบนกระหม่อมยักษ์ตนนั้นนั่นแหละ เพราะอานุภาพของพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               แต่นั้น ยักษ์ตนนั้นก็กลัว คิดว่า เอาเถิด เราจะใช้ไฟเผาสมณะนั้น แล้วก็บันดาลกองไฟที่ดูน่ากลัวยิ่งกองใหญ่ ไฟกองนั้นกลับทวนลมก่อทุกข์แก่ตนเอง แต่ไม่สามารถจะไหม้แม้เพียงชายจีวรของพระผู้มีพระภาคเจ้าได้.
               ฝ่ายยักษ์ตรวจดูว่า ไฟไหม้สมณะหรือไม่ไหม้ ก็เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทศพล เหมือนประทับนั่งเหนือกลีบบัว ที่อยู่บนผิวน้ำเย็นดุจดวงจันทร์ ส่องแสงนวลในฤดูสารททำความยินดีแก่ชนทั้งปวง จึงคิดได้ว่า โอ! พระสมณะ ท่านนี้มีอานุภาพมาก เราทำความพินาศใดๆ แก่พระสมณะท่านนี้ ความพินาศนั้นๆ กลับตกลงเหนือเราผู้เดียว แต่ปล่อยพระสมณะท่านนี้ไปเสีย เราก็ไม่มีที่พึ่งที่ชักนำอย่างอื่น คนทั้งหลายที่พลั้งพลาดบนแผ่นดิน ยังต้องยันแผ่นดินเท่านั้นจึงลุกขึ้นได้ เอาเถิด จำเราจักถึงพระสมณะท่านนี้แหละเป็นสรณะ.
               ดังนั้น ยักษ์ตนนั้นครั้นคิดอย่างนี้แล้ว จึงหมอบศีรษะลงแทบเบื้องยุคลบาทที่ฝ่าพระบาทประดับด้วยจักรของพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์สำนึกผิดในความล่วงเกิน ขอลุกะโทษพระเจ้าข้า แล้วได้ถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นสรณะ.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสอนุบุพพิกถาโปรดยักษ์ตนนั้น จบเทศนา ยักษ์ตนนั้นก็ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล พร้อมด้วยยักษ์หนึ่งหมื่น.
               ได้ยินว่า ในวันนั้น มนุษย์สิ้นทั้งชมพูทวีปทำบุรุษแต่ละหมู่บ้านๆ ละคนมาเพื่อพลีสังเวยยักษ์ตนนั้น และนำสิ่งอื่นๆ มีงา ข้าวสาร ถั่วพู ถั่วเขียวและถั่วเหลืองเป็นต้นเป็นอันมาก และมีเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้งและน้ำอ้อยเป็นต้น.
               ขณะนั้น ยักษ์ตนนั้นก็ให้ของทั้งหมดที่นำมาวันนั้นคืนแก่ชนเหล่านั้น แล้วมอบมนุษย์ที่เขานำมาเพื่อพลีสังเวยเหล่านั้นถวายพระทศพล.
               ครั้งนั้น พระศาสดาทรงให้มนุษย์เหล่านั้นบวชด้วยเอหิภิกษุอุปสัมปทา ภายใน ๗ วันเท่านั้น ก็ทรงให้เขาตั้งอยู่ในพระอรหัตทั้งหมด ประทับท่ามกลางภิกษุร้อยโกฎิ ทรงยกโอวาทปาติโมกข์ขึ้นแสดงในที่ประชุมอันประกอบด้วยองค์ ๔.
               ณ วันเพ็ญมาฆบูรณมีองค์ ๔ เหล่านี้คือ ทุกรูปเป็นเอหิภิกขุ, ทุกรูปได้อภิญญา ๖, ทุกรูปมิได้นัดหมายกัน มาเอง, และเป็นวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ ชื่อว่ามีองค์ ๔.
               นี้เป็นสันนิบาต การประชุมครั้งที่ ๒.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         เมื่อพระชินเจ้าประทับสงัด ณ ภูเขานารทกูฏอีก
                         ภิกษุร้อยโกฏิเป็นพระขีณาสพ ปราศจากมลทิน
                         ก็ประชุมกัน.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปวิเวกคเต ได้แก่ ละหมู่ไป.
               บทว่า สมึสุ แปลว่า ประชุมกันแล้ว.
               ก็ครั้งใด พระทีปังกรผู้นำโลกเสด็จจำพรรษา ณ ภูเขาชื่อสุทัสสนะ ได้ยินว่า ครั้งนั้น มนุษย์ชาวชมพูทวีปจัดงานมหรสพกัน ณ ยอดเขา ทุกๆ ปี
               เล่ากันว่า มนุษย์ที่ประชุมในงานมหรสพนั้น พบพระทศพลแล้วก็ฟังธรรมกถา เลื่อมใสในธรรมกถานั้น ก็พากันบวช. ในวันมหาปวารณา พระศาสดาตรัสวิปัสสนากถาที่อนุกูลแก่อัธยาศัยของภิกษุเหล่านั้น ภิกษุเหล่านั้นฟังวิปัสสนากถานั้นแล้ว พิจารณาสังขารแล้วบรรลุพระอรหัต โดยลำดับวิปัสสนาและโดยลำดับมรรคทุกรูป.
               ครั้งนั้น พระศาสดาทรงปวารณาพร้อมด้วยภิกษุเก้าหมื่นโกฏิ.
               นี้เป็นการประชุม ครั้งที่ ๓.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         สมัยใด พระมหาวีระผู้เป็นมหามุนี ทรงปวารณา
               พร้อมด้วยภิกษุเก้าหมื่นโกฏิ ณ ภูเขาสุทัสสนะ.
                         สมัยนั้น เราเป็นชฏิล มีตบะสูง ถึงฝั่งในอภิญญา ๕
               จาริกไปในอากาศ.

               คาถานี้ ท่านเขียนไว้ในทีปังกรพุทธวงศ์ กถาพรรณานิทานของอรรถกถาธรรมสังคหะชื่ออัฏฐสาลินี แต่ในพุทธวงศ์นี้ไม่มี ก็การที่คาถานั้นไม่ มีนั่นแหละเหมาะกว่า ถ้าถามว่า เพราะเหตุไร ก็ตอบได้ว่า เพราะกล่าวมาแล้วในสุเมธกถาแต่หนหลัง.
               ได้ยินว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทีปังกรทรงแสดงธรรม ธรรมาภิสมัย การตรัสรู้ธรรมก็ได้มีแก่สัตว์หนึ่งหมื่นและสองหมื่น แต่ที่สุดแห่งการตรัสรู้ มิได้มีโดยจำนวนหนึ่งคน สองคน สามคนและสี่คนเป็นต้น เพราะฉะนั้น ศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าทีปังกร จึงแผ่ไปกว้างขวาง มีคนรู้กันมาก
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         ธรรมาภิสมัย ได้มีแก่สัตว์หนึ่งหมื่น สองหมื่น
                         ไม่นับการตรัสรู้ของสัตว์ โดยจำนวนหนึ่งคน สองคน.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทสวีสสหสฺสานํ ได้แก่ หนึ่งหมื่นและสองหมื่น.
               บทว่า ธมฺมาภิสมโย ได้แก่ แทงตลอดธรรม คือสัจจะ ๔.
               บทว่า เอกทฺวินฺนํ ความว่า ไม่นับโดยนัยเป็นต้นว่า หนึ่งคนและสองคน สามคน สี่คน ฯลฯ สิบคน. ศาสนาชื่อว่าแผ่ไปกว้างขวาง ถึงความเป็นจำนวนมาก เพราะการตรัสรู้นับไม่ถ้วนอย่างนี้ อันเทวดาและมนุษย์ผู้เป็นบัณฑิตเป็นอันมากรู้ พึงรู้ว่าเป็นนิยยานิกธรรม อันเป็นความสำเร็จแล้วด้วยอธิศีลสิกขาเป็นต้น และเจริญแล้วด้วยสมาธิเป็นต้น.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         ศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าทีปังกร อันพระองค์
               ทรงชำระบริสุทธิ์ดีแล้ว แผ่ไปกว้างขวาง คนเป็นอันมากรู้กัน
               สำเร็จแล้ว เจริญแล้วในครั้งนั้น.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุวิโสธิตํ ได้แก่ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชำระแล้ว ทำให้หมดจดด้วยดี ได้ยินว่า ภิกษุผู้มีอภิญญา ๖ มีฤทธิ์มากสี่แสนรูป แวดล้อมพระทีปังกรศาสดาอยู่ทุกเวลา.
               อธิบายว่า สมัยนั้น ภิกษุเหล่าใดเป็นเสกขะ ทำกาลกิริยา [มรณภาพ] ภิกษุเหล่านั้นย่อมถูกครหา ภิกษุทั้งหมดจึงเป็นพระขีณาสพ ปรินิพพาน เพราะฉะนั้นแล ศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น จึงบานเต็มที่ สำเร็จด้วยดี งดงามเหลือเกิน ด้วยภิกษุขีณาสพทั้งหลาย.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         ภิกษุสี่แสนรูป มีอภิญญา ๖ มีฤทธิ์มากย่อม
               แวดล้อม พระทศพลทีปังกร ผู้รู้แจ้งโลกทุกเมื่อ.
                         สมัยนั้น ภิกษุเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เป็นเสขะยังไม่
               บรรลุพระอรหัต ละภพมนุษย์ไป ภิกษุเหล่านั้นย่อม
               ถูกครหา.
                         ปาพจน์คือพระศาสนา อันพระอรหันต์ผู้คงที่
               ผู้เป็นขีณาสพ ไร้มลทิน ทำให้บานเต็มที่แล้ว ย่อม
               งดงามทุกเมื่อ.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จตฺตาริ สตสหสฺสานิ พึงถือความอย่างนี้ว่า ท่านกล่าวว่า ฉฬภิญฺญา มหิทฺธิกา ดังนี้ก็เพื่อแสดงว่า ภิกษุเหล่านี้ที่ท่านแสดงด้วยการนับแล้วมีจำนวนที่แสดงได้อย่างนี้.
               อีกนัยหนึ่ง คำว่า ฉฬภิญฺญา มหิทฺธิกา พึงทราบว่าเป็นปฐมาวิภัตติ ลงในอรรถฉัฏฐีวิภัตติว่า ฉฬภิญฺญานํ มหิทฺธิกานํ.
               บทว่า ปริวาเรนฺติ สพฺพทา ได้แก่ แวดล้อมพระทศพลตลอดกาลเป็นนิตย์.
               อธิบายว่า ไม่ละพระผู้มีพระภาคเจ้าไปเสียในที่ไหนๆ.
               บทว่า เตน สมเยน แปลว่า ในสมัยนั้น.
               ก็สมยศัพท์นี้ ใช้กันในอรรถ ๙ อรรถมีอรรถว่าสมวายะ เป็นต้น
               เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า

               อธิบาย สมยศัพท์               
                         สมยศัพท์ใช้ในอรรถว่าสมวายะ ขณะ กาล สมูหะ
                         เหตุ ทิฏฐิ ปฏิลาภะ ปหานะ และปฏิเวธะ
.
               แต่ในที่นี้ สมยศัพท์นั้น พึงเห็นว่าใช้ในอรรถว่ากาล. ความว่า ในกาลนั้น.
               บทว่า มานุสํ ภวํ ได้แก่ ภาวะมนุษย์.
               บทว่า อปฺปตฺตมานสา ความว่า พระอรหัตอันพระเสขะเหล่าใด ยังไม่ถึงแล้วไม่บรรลุแล้ว.
               คำว่า มานสํ เป็นชื่อของราคะ ของจิต และของพระอรหัต.
               ก็ราคะ ท่านเรียกว่ามานสะ ได้ในบาลีนี้ว่า อนฺตลิกฺขจโร ปาโส ยฺวายํ จรติ มานโส ราคะนั้นใดเป็นบ่วง เที่ยวอยู่กลางหาว ย่อมเที่ยวไป.
               จิต ท่านก็เรียกว่ามานสะ ได้ในบาลีนี้ว่า จิตฺตํ มโน มานสํ หทยํ ปณฺฑรํ แปลว่า จิต ทั้งหมด.
               พระอรหัต ท่านเรียกว่ามานสะ ได้ในบาลีนี้ว่า อปฺปตฺตมานโส เสโข กาลํ กยิรา ชเนสุต พระเสขะมีพระอรหัตอันยังไม่บรรลุแล้วจะพึงทำกาละเสีย พระชเนสุตะเจ้าข้า.
               แม้ในที่นี้ก็ประสงค์เอาพระอรหัต เพราะฉะนั้น จึงมีความว่า ผู้มีพระอรหัตผลอันยังไม่บรรลุแล้ว.
               บทว่า เสขา ได้แก่ ชื่อว่าเสขะ เพราะอรรถว่าอะไร.
               ชื่อว่าเสขะ เพราะอรรถว่าได้เสขธรรม.
               สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า
               ภิกษุทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุเป็นเสขะด้วยเหตุเพียงเท่าไร พระเจ้าข้า.
               ตรัสตอบว่า ดูก่อนภิกษุ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิที่เป็นเสขะ ฯลฯ ประกอบด้วยสัมมาสมาธิที่เป็นเสขะ ภิกษุเป็นเสขะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายยังศึกษาอยู่ เหตุนั้นจึงชื่อว่าเสขะ.
               สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า
               ดูก่อนภิกษุ ภิกษุยังศึกษาอยู่ ภิกษุยังศึกษาอยู่ ดังนี้แล เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าเสขะ ภิกษุศึกษาอะไรเล่า ภิกษุศึกษาอธิศีลบ้าง ศึกษาอธิจิตบ้าง ศึกษาอธิปัญญาบ้าง ดังนี้แล ภิกษุ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าเสขะ.
               บทว่า สุปุปฺผิตํ ได้แก่ แย้มด้วยดีแล้ว.
               บทว่า ปาวจนํ ได้แก่ คำอันบัณฑิตสรรเสริญแล้ว หรือคำที่ถึงความเจริญแล้ว ชื่อว่าปาวจนะ. คำเป็นประธานนั่นแล ชื่อว่าปาวจนะ. อธิบายว่า พระศาสนา.
               บทว่า อุปโสภติ ได้แก่ เรืองรองยิ่ง รุ่งโรจน์ยิ่ง.
               บทว่า สพฺพทา ได้แก่ ทุกกาล. ปาฐะว่า อุปโสภติ สเทวเก ดังนี้ก็มี.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทีปังกรพระองค์นั้นทรงมีพระนครชื่อว่ารัมมวดี มีพระชนกเป็นกษัตริย์พระนามว่าพระเจ้าสุเทวะ พระชนนีเป็นพระเทวีพระนามว่าพระนางสุเมธา มีพระอัครสาวกคู่ชื่อสุมังคละและติสสะ มีพระอุปัฏฐากชื่อสาคตะ มีพระอัครสาวิกาคู่ชื่อนันทาและสุนันทา ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น คือต้นเลียบ. พระองค์สูง ๘๐ ศอก พระชนมายุแสนปี.
               ถ้าจะถามว่า ในการแสดงนครเกิดเป็นต้นเหล่านี้มีประโยชน์อะไร.
               ขอชี้แจงดังนี้ ผิว่าพระพุทธเจ้าพระองค์ใด ไม่พึงปรากฏพระนครเกิดไม่พึงปรากฏพระชนก ไม่พึงปรากฏพระชนนีไซร้ พระพุทธเจ้าพระองค์นี้ก็ย่อมไม่ปรากฏพระนครเกิด พระชนก พระชนนี. ชนทั้งหลาย เมื่อสำคัญว่าผู้นี้เห็นจะเป็นเทพ สักกะ ยักษ์ มาร หรือพรหม ปาฏิหาริย์เช่นนี้แม้ของเทวดาทั้งหลายไม่อัศจรรย์ ก็จะไม่พึงสำคัญพระดำรัสว่าควรฟังควรเชื่อถือ แต่นั้น การตรัสรู้ก็ไม่มี ความเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าก็ไร้ประโยชน์ พระศาสนาก็จะไม่นำสัตว์ออกจากทุกข์ เพราะฉะนั้น จึงควรแสดงปริจเฉทขั้นตอน มีนครเกิดเป็นต้นของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         พระทีปังกรศาสดา ทรงมีพระนครชื่อว่ารัมมวดี
               พระชนกพระนามพระเจ้าสุเทวะ พระชนนีพระนาม
               พระนางสุเมธา.
                         พระพิชิตมารทรงครอบครองอาคารสถานอยู่
               หมื่นปี ทรงมีปราสาทอันอุดม ๓ หลัง ชื่อว่า หังสา
               ปราสาท โกญจาปราสาท และมยุราปราสาท.
                         มีสนมนารี ๓ แสนนาง ล้วนประดับประดาสวย
               งาม พระมเหสีพระนามว่า ปทุมา พระโอรสพระนาม
               ว่า อุสภักขันธกุมาร
                         พระชินเจ้าทรงเห็นนิมิต ๔ ประการแล้ว ออก
               ผนวชด้วยคชยานคือพระยาช้างต้น ทรงบำเพ็ญเพียร
               อยู่ ๑๐ เดือนเต็ม
                         ครั้นทรงบำเพ็ญเพียรแล้ว ก็ได้ตรัสรู้พระสัมโพธิ
               ญาณ พระมหามุนีทีปังกร มหาวีรเจ้าอันพรหมทูล
               อาราธนาแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักร ประทับอยู่
               ที่นันทาราม ประทับนั่งที่ควงไม้ซึก ทรงปราบปราม
               เดียรถีย์.
                         พระทีปังกรศาสดา ทรงมีพระอัครสาวก ชื่อว่า
               สุมังคละและติสสะ มีพุทธอุปัฏฐาก ชื่อว่าสาคตะ.
                         พระอัครสาวิกา ชื่อว่านันทาและสุนันทา ต้นไม้
               ตรัสรู้ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เรียกกันว่า
               ต้นเลียบ.
                         พระทีปังกรมหามุนี สูง ๘๐ ศอก สง่างามเหมือน
               ต้นไม้ประจำทวีป เหมือนต้นพระยาสาละออกดอกบาน
               เต็มต้น.
                         พระผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่พระองค์นั้น มีพระชน-
               มายุแสนปี พระองค์พระชนม์ยืนถึงเพียงนั้น จึงทรง
               ยังหมู่ชนเป็นอันมากให้ข้ามโอฆสงสารแล้ว ก็เสด็จ
               ดับขันธ์ปรินิพพาน ทั้งพระสาวก เหมือนกองไฟลุก
               โพลงแล้วก็ดับไป.
                         พระวรฤทธิ์ด้วย พระยศด้วย จักรรัตนะที่พระ
               ยุคลบาทด้วย ทั้งนั้นก็อันตรธานไปสิ้น สังขารทุกอย่าง
               ก็ว่างเปล่า แน่แท้
                         พระทีปังกรชินศาสดา เสด็จนิพพาน ณ นันทา-
               ราม พระสถูปของพระชินเจ้าพระองค์นั้น ที่นันทาราม
               สูง ๓๖ โยชน์.
                         พระสถูปบรรจุบาตร จีวร บริขารและเครื่องบริโภค
               ของพระศาสดา ประดิษฐานอยู่ที่โคนโพธิพฤกษ์ในกาล
               นั้นสูง ๓ โยชน์.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุเทโว นาม ขตฺติโย ความว่า พระองค์มีพระชนกพระนามว่าพระเจ้าสุเทวะ.
               บทว่า ชนิกา ได้แก่ พระชนนี.
               บทว่า ปิปฺผลิ ได้แก่ ต้นเลียบหรือต้นมะกอกเป็นต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้.
               บทว่า อสีติหตฺถมุพฺเพโธ แปลว่า พระองค์สูง ๘๐ ศอก.
               บทว่า ทีปรุกฺโขว ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นยังทรงพระชนม์อยู่มีพระสรีระประดับด้วยพระวรลักษณ์ ๓๒ ประการและพระอนุพยัญชนะ พร้อมบริบูรณ์ด้วยพระสัณฐานสูงและใหญ่ ประดุจต้นไม้ประจำทวีปที่ประดับด้วยประทีปมาลาอันรุ่งเรือง ทรงสง่างาม เหมือนพื้นนภากาศที่รุ่งเรืองด้วยหมู่ดาวที่เปล่งแสงเป็นข่ายรัศมีเลื่อมประกาย.
               บทว่า โสภติ แปลว่า งามแล้ว.
               บทว่า สาลราชาว ผุลฺลิโต ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าสูง ๘๐ ศอก สง่างามอย่างยิ่ง เหมือนต้นพระยาสาละที่ออกดอกบานสะพรั่งทั่วทั้งต้น และเหมือนต้นปาริฉัตตกะสูงร้อยโยชน์ ดอกบานเต็มต้น.
               บทว่า สตสหสฺสวสฺสานิ ความว่า พระองค์ทรงมีพระชนมายุแสนปี.
               บทว่า ตาวตา ติฏฺฐมาโน ได้แก่ ทรงมีพระชนม์ยืนอยู่เพียงเท่านั้น.
               บทว่า ชนตํ ได้แก่ ประชุมชน.
               บทว่า สนฺตาเรตฺวา มหาชนํ แปลว่า ยังมหาชนให้ข้ามโอฆสงสาร.
               ปาฐะว่า สนฺตาเรตฺวา สเทวกํ ดังนี้ก็มี
               ปาฐะนั้นมีความว่า ทรงยังโลกพร้อมทั้งเทวโลก ให้ข้ามโอฆสงสาร.
               บทว่า สา จ อิทฺธิ ความว่า สมบัตินั้น และอานุภาพด้วย.
               บทว่า โส จ ยโส ความว่า บริวารยศนั้นด้วย.
               บทว่า สพฺพํ ตมนฺตรหิตํ ความว่า มีประการดังกล่าวมานั้นทั้งหมด เกิดเป็นสมบัติ ก็อันตรธานปราศไป.
               บทว่า นนุ ริตฺตา สพฺพสงฺขารา ความว่า ก็สังขตธรรมทั้งหมด ก็ว่างเปล่าแน่แท้ คือเว้นจากสาระว่าเที่ยงเป็นต้น.

               วาระ ๙ วาระ               
               ก็ในพุทธวงศ์นี้ ปริเฉทตอนที่ว่าด้วยนครเป็นต้นมาในบาลี.
               ส่วนวาระมากวาระไม่ได้มา วาระนั้นควรนำมาแสดง. อะไรบ้าง คือ
               ๑. ปุตตปริเฉท ตอนว่าด้วย พระโอรส
               ๒. ภริยาปริเฉท ตอนว่าด้วย พระชายา
               ๓. ปาสาทปริเฉท ตอนว่าด้วย ปราสาท
               ๔. อคารวาสปริเฉท ตอนว่าด้วย การอยู่ครองเรือน
               ๕. นาฏกิตถิปริเฉท ตอนว่าด้วย สตรีฟ้อนรำ
               ๖. อภินิกขมนปริเฉท ตอนว่าด้วย อภิเนษกรมณ์
               ๗. ปธานปริเฉท ตอนว่าด้วย การบำเพ็ญเพียร
               ๘. วิหารปริเฉท ตอนว่าด้วย พระวิหาร
               ๙. อุปัฏฐากปริเฉท ตอนว่าด้วย พุทธอุปัฏฐาก.
               เหตุในการแสดงปริเฉทเหล่านี้ กล่าวไว้แล้วแต่หนหลัง ก็พระทีปังกรพระองค์นั้นมีพระสนมสามแสนนาง มีพระอัครมเหสีพระนามว่าปทุมา พระโอรสพระนามว่าอุสภักขันธะ.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         พระชินศาสดาทีปังกร มีพระมเหสีพระนามว่าปทุมา
               งามปานปทุมบาน พระโอรสพระนามว่าอุสภักขันธะ.
                         มีปราสาท ๓ หลังชื่อ หังสา โกญจา มยุรา ทรงครอง
               เรือนอยู่หมื่นปี.
                         พระชินเจ้าเสด็จอภิเนษกรมณ์ด้วยคชยาน คือพระยา
               ช้างต้น ประทับอยู่ ณ พระวิหาร ชื่อว่านันทาราม พระองค์มี
               พุทธอุปัฏฐาก ชื่อว่านันทะ๑- ทรงทำความร่าเริงแก่โลก.
____________________________
๑- บาลีเป็น สาคตะ.

               เวมัตตะ ความแตกต่างกัน ๕ ประการ               
               ก็พระพุทธเจ้าทุกพระองค์มีเวมัตตะ คือความแตกต่างกัน ๕ อย่าง คือ ๑. อายุเวมัตตะ ๒. ปมาณเวมัตตะ ๓. กุลเวมัตตะ ๔. ปธานเวมัตตะ ๕. รัศมิเวมัตตะ.
               บรรดาเวมัตตะ ๕ นั้น ชื่อว่าอายุเวมัตตะ ได้แก่ พระพุทธเจ้าบางพระองค์มีพระชนมายุยืน บางพระองค์มีพระชนมายุน้อย.
               จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทีปังกร มีพระชนมายุประมาณแสนปี พระผู้มีพระภาคเจ้าของเรามีพระชนมายุประมาณร้อยปี.
               ชื่อว่าปมาณเวมัตตะ ได้แก่ พระพุทธเจ้าบางพระองค์สูง บางพระองค์ต่ำ.
               จริงอย่างนั้น พระพุทธเจ้าทีปังกรมีขนาดสูงประมาณ ๘๐ ศอก ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราสูงประมาณ ๑๘ ศอก
               ชื่อว่ากุลเวมัตตะ ได้แก่ บางพระองค์เกิดในตระกูลกษัตริย์ บางพระองค์เกิดในตระกูลพราหมณ์.
               จริงอย่างนั้น พระพุทธเจ้าทีปังกรเป็นต้นเกิดในตระกูลกษัตริย์ พระพุทธเจ้ากกุสันธะและพระโกนาคมนะเป็นต้นเกิดในตระกูลพราหมณ์.
               ชื่อว่าปธานเวมัตตะ ได้แก่ บางพระองค์ทรงบำเพ็ญเพียรชั่วเวลานิดหน่อยเท่านั้น เช่นพระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสปะ. บางพระองค์ทรงบำเพ็ญเพียรเป็นเวลานาน เช่นพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา.
               ชื่อว่ารัสมิเวมัตตะ ได้แก่ รัศมีพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้ามังคละแผ่ไปตลอดหมื่นโลกธาตุ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราเพียงวาเดียว.
               บรรดาเวมัตตะ ๕ นั้น รัศมีเวมัตตะย่อมเนื่องด้วยพระอัธยาศัยพระองค์ใดปรารถนาเท่าใด รัศมีพระสรีระของพระองค์นั้น ก็แผ่ไปเท่านั้น. ส่วนพระอัธยาศัยของพระมงคลพุทธเจ้าได้มีแล้วว่า ขอรัศมีจงแผ่ไปตลอดหมื่นโลกธาตุ.
               แต่ไม่มีความแตกต่างกันในการแทงตลอดคุณทั้งหลายของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์.
               อนึ่ง มีสถานที่ ๔ แห่งที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ไม่ทรงละเว้น. โพธิบัลลังก์เป็นสถานที่ไม่ทรงละ ย่อมมีในที่แห่งเดียวกันแน่นอน. สถานที่ประกาศพระธรรมจักรก็ไม่ทรงละ อยู่ในป่าอิสิปตนะ มิคทายวันเท่านั้น. ในเวลาเสด็จลงจากเทวโลก ใกล้ประตูสังกัสสนครย่างพระบาทแรกก็ไม่ทรงละ. สถานที่เท้าเตียงทั้งสี่ตั้งอยู่ที่พระคันธกุฎีในพระเชตวันวิหารก็ไม่ทรงละเหมือนกัน. แม้พระวิหารก็ไม่ทรงละ แต่พระวิหารนั้นเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง.
               อนึ่ง ข้ออื่นอีกของพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรามีสหชาตปริเฉท ตอนว่าด้วยสหชาต และนักขัตตปริเฉทตอนว่าด้วยนักษัตร มีเป็นพิเศษ.
               เล่ากันว่า สหชาติคือสิ่งที่เกิดร่วมกับพระสัพพัญญูโพธิสัตว์ของเรา มี ๗ คือ พระมารดาของพระราหุล พระอานันทเถระ นายฉันนะ พระยาม้ากัณฐกะ ขุมทรัพย์ มหาโพธิพฤกษ์ พระกาฬุทายี.
               ได้ยินว่า โดยดาวนักษัตรในเดือนอาสาฬหะหลังนั่นแล พระมหาบุรุษก็เสด็จลงสู่พระครรภ์พระมารดา เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ประกาศพระธรรมจักร ทรงทำยมกปาฏิหาริย์, โดยดาวนักษัตรในเดือนวิสาขะ ก็ประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพาน, โดยดาวนักษัตรในเดือนมาฆะ พระองค์ก็ประชุมพระสาวก และทรงปลงอายุสังขาร, โดยดาวนักษัตรในเดือนอัสสยุชะ (ราวกลางเดือน ๑๑) เสด็จลงจากเทวโลก.
               ความพิเศษดังกล่าวมานี้ ควรนำมาแสดง นี้เป็นปริเฉท ตอนว่าด้วยวาระมากวาระ.
               คาถาที่เหลือ ง่ายดายทั้งนั้นแล.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทีปังกรดำรงอยู่จนตลอดพระชนมายุ ทรงทำพุทธกิจทุกอย่าง เสด็จดับขันธปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ตามลำดับ.
               ได้ยินว่า ในกัปใดที่พระทีปังกรทศพลเสด็จอุบัติ ในกัปนั้นได้มีแม้พระพุทธเจ้าพระองค์อื่นๆ อีก ๓ พระองค์คือ พระตัณหังกร พระเมธังกร พระสรณังกร การพยากรณ์พระโพธิสัตว์ในสำนักของพระพุทธเจ้าเหล่านั้นไม่มี เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าเหล่านั้น จึงไม่แสดงไว้ในที่นี้.
               แต่เพื่อแสดงพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่เสด็จอุบัติแล้วอุบัติแล้ว ตั้งแต่ต้นกัปนั้น ในอรรถกถา ท่านจึงกล่าวคำนี้ไว้ว่า
                         พระสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นยอดของสัตว์สองเท้า คือ
               พระตัณหังกร พระเมธังกร พระสรณังกร พระทีปังกร
               พระโกณฑัญญะ.
                         พระมุนี คือพระมังคละพระสุมนะ พระเรวตะ
               พระโสภิตะ พระอโนมทัสสี พระปทุมะ พระนารทะ
               พระปทุมุตตระ.
                         พระผู้มียศใหญ่ ผู้นำโลก คือ พระสุเมธะ
               พระสุชาตะ พระปิยทัสสี พระอัตถทัสสี พระธัมม-
               ทัสสี พระสิทธัตถะ.
                         พระสัมพุทธเจ้าผู้นำ คือพระติสสะ พระผุสสะ
               พระวิปัสสี พระสิขี พระเวสภู พระกกุสันธะ
               พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ.
                         พระสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นได้มีมาแล้ว ทรงปราศ-
               จากราคะ มีพระหฤทัยมั่นคง เสด็จอุบัติแล้ว ก็ทรง
               บรรเทาความมืดอย่างใหญ่ ดังดวงอาทิตย์ พระองค์
               กับทั้งพระสาวก ก็เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว
               ดังกองไฟลุกโพลงแล้วก็ดับไปฉะนั้น.
               จบพรรณนาวงศ์พระทีปังกรพุทธเจ้า               
               แห่งอรรถกถาพุทธวงศ์ ชื่อมธุรัตถวิลาสินีที่แต่ง               
               ไม่สังเขปนัก ไม่พิศดารนัก ดังกล่าวมาฉะนี้               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑. ทีปังกรพุทธวงศ์ จบ.
อ่านอรรถกถา 33.2 / 1อ่านอรรถกถา 33.2 / 1อรรถกถา เล่มที่ 33.2 ข้อ 2อ่านอรรถกถา 33.2 / 3อ่านอรรถกถา 33.2 / 28
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=6874&Z=7263
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=51&A=3893
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=51&A=3893
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :