ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 33.2 / 1อ่านอรรถกถา 33.2 / 20อรรถกถา เล่มที่ 33.2 ข้อ 21อ่านอรรถกถา 33.2 / 22อ่านอรรถกถา 33.2 / 28
อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์
๒๐. สิขีพุทธวงศ์

               พรรณนาวงศ์พระสิขีพุทธเจ้าที่ ๒๐               
               ต่อมาภายหลังสมัยของพระวิปัสสีพุทธเจ้า เมื่อกัปนั้นอันตรธานไปแล้ว ต่อจากนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ไม่อุบัติขึ้นในโลก ๕๙ กัป มีแต่แสงสว่างที่ปราศจากพระพุทธเจ้า เอกราชของกิเลสมารและเทวปุตตมาร ก็ปราศจากเสี้ยนหนาม.
               ในสามสิบเอ็ดกัปนับแต่กัปนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วในโลกสองพระองค์คือพระสิขี ผู้ดุจไฟอันสุมด้วยไม้แก่นแห้งสนิท ราดด้วยเนยใสมากๆ ไม่มีควัน และพระเวสสภู.
               บรรดาพระพุทธเจ้าสองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าสิขีทรงบำเพ็ญบารมีทั้งหลายแล้วบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต จุติจากนั้นก็ทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางปภาวดีเทวีผู้มีพระรัศมีงามดังรูปทองสีแดง อัครมเหสีของพระเจ้าอรุณ ผู้มีพระคุณอย่างยิ่ง กรุงอรุณวดี ซึ่งมีแต่ทำกุศล ล่วง ๑๐ เดือนก็ประสูติจากพระครรภ์พระชนนี ณ นิสภะราชอุทยาน.
               ส่วนโหรผู้ทำนายนิมิต เมื่อเฉลิมพระนามของพระองค์ ก็เฉลิมพระนามว่าสิขี เพราะพระยอดกรอบพระพักตร์พุ่งสูงขึ้นดุจยอดพระอุณหิส พระองค์ทรงครองฆราวาสวิสัยอยู่เจ็ดพันปี ทรงมีปราสาท ๓ หลังชื่อว่าสุจันทกสิริ คิริยสะและนาริวสภะ๑- ปรากฏมีพระสนมกำนัลสองหมื่นสี่พันมีพระนางสัพพกามาเทวีเป็นประมุข.
____________________________
๑- บาลีว่า สุวัฑฒกะ, คิริ, นารีวาหนะ.

               เมื่อพระโอรสพระนามว่าอตุละ ผู้ไม่มีผู้ชั่ง ผู้เทียบได้ด้วยหมู่แห่งพระคุณของพระนางสัพพกามาเทวีทรงสมภพ พระมหาบุรุษนั้นก็ทรงเห็นนิมิต ๔ ขึ้นทรงช้างต้นเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ด้วยยานคือช้าง ทรงผนวช บุรุษหนึ่งแสนสามหมื่นเจ็ดพันพากันบวชตามเสด็จ.
               พระองค์อันบรรพชิตเหล่านั้นแวดล้อมแล้ว ทรงบำเพ็ญเพียร ๘ เดือน ในวันวิสาขบูรมี ทรงละการคลุกคลีด้วยหมู่ เสวยข้าวมธุปายาสที่ธิดาปิยเศรษฐี สุทัสสนนิคม ถวาย แล้วยับยั้งพักกลางวัน ณ ป่าตะเคียนหนุ่ม ทรงรับหญ้าคา ๘ กำที่ดาบสชื่ออโนมทัสสีถวาย เสด็จเข้าไปยังโพธิพฤกษ์ชื่อต้นบุณฑรีกะ คือมะม่วงป่า.
               เขาว่า แม้บุณฑรีกโพธิพฤกษ์นั้นก็มีขนาดเท่าต้นแคฝอย วันนั้นนั่นเอง มะม่วงป่าต้นนั้นสูงชะลูดลำต้นขนาด ๕๐ ศอก แม้กิ่งก็ขนาด ๕๐ ศอกเหมือนกัน ดารดาษด้วยดอกหอมเป็นทิพย์ มิใช่ดารดาษด้วยดอกอย่างเดียวเท่านั้น ยังดารดาษแม้ด้วยผลทั้งหลาย. มะม่วงต้นนั้นแถบหนึ่งมีผลอ่อน แถบหนึ่งมีผลปานกลาง แถบหนึ่งมีผลห่าม แถบหนึ่งมีผลมีรสดี พรั่งพร้อมด้วยสีกลิ่นและรส เหมือนทิพยโอชาที่เทวดาใส่ไว้ ห้อยย้อยแด่แถบนั้นๆ ต้นไม้ดอกก็ประดับด้วยดอก ต้นไม้ผลก็ประดับด้วยผล ในหมื่นจักรวาลเหมือนอย่างมะม่วงต้นนั้น.
               พระองค์ทรงลาดสันถัตหญ้ากว้าง ๒๔ ศอก ประทับนั่งขัดสมาธิอธิษฐานความเพียรมีองค์ ๔ ครั้นประทับอย่างนั้นแล้วก็ทรงกำจัดกองกำลังมารพร้อมทั้งตัวมารซึ่งกว้างถึง ๓๖ โยชน์ ทรงบรรลุพระสัมโพธิญาณ ทรงเปล่งพระอุทานว่า อเนกชาติสํสารํ ฯเปฯ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา ดังนี้.
               ทรงยับยั้งใกล้ๆ โพธิพฤกษ์นั่นแล ๗ สัปดาห์ ทรงรับอาราธนาของท้าวมหาพรหม ทรงเห็นอุปนิสสัยสมบัติของภิกษุแสนเจ็ดหมื่นที่บวชกับพระองค์ จึงเสด็จไปทางอากาศ ลงที่มิคาจิระราชอุทยาน ใกล้กรุงอรุณวดีราชธานี ซึ่งมีรั้วกั้นชนิดต่างๆ อันหมู่มุนีเหล่านั้นแวดล้อมแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักรท่ามกลางหมู่มุนีเหล่านั้น.
               ครั้งนั้น อภิสมัยครั้งที่ ๑ ได้มีแก่ภิกษุแสนโกฏิ.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                                   ต่อจากสมัยของพระวิปัสสีพุทธเจ้า ก็มีพระชิน
                         สัมพุทธเจ้า พระนามว่าสิขี ผู้สูงสุดแห่งสัตว์สองเท้า
                         ไม่มีผู้เสมอ ไม่มีบุคคลเทียบ.
                                   พระองค์ทรงย่ำยีกองทัพมาร ทรงบรรลุพระสัม-
                         โพธิญาณสูงสุด ทรงประกาศพระธรรมจักรอนุเคราะห์
                         สัตว์ทั้งหลาย.
                                   เมื่อพระสิขีพุทธเจ้า จอมมุนี ทรงประกาศพระ
                         ธรรมจักร อภิสมัยครั้งที่ ๑ ได้มีแก่สัตว์แสนโกฏิ.

               ต่อมาอีก พระสิขีพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม โปรดพระราชโอรสสองพระองค์ คือพระอภิภูราชโอรสและพระสัมภวะราชโอรส พร้อมด้วยบริวาร ใกล้กรุงอรุณวดีราชธานี ทรงยังสัตว์เก้าหมื่นโกฏิให้ดื่มอมฤตธรรม. นั้นเป็นอภิสมัยครั้งที่ ๒.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                                   เมื่อพระสิขีพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐสุดแห่งคณะ
                         ผู้สูงสุดในนรชน ทรงแสดงธรรมอีก อภิสมัยครั้งที่ ๒
                         ก็ได้มีแก่สัตว์เก้าหมื่นโกฏิ.

               ส่วนครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำยมกปาฏิหาริย์เพื่อหักราน ความเมาและมานะของเดียรถีย์ และเพื่อเปลื้องเครื่องผูกของชนทั้งปวง ใกล้ประตูสุริยวดีนคร ทรงแสดงธรรมโปรด อภิสมัยครั้งที่ ๓ ก็ได้มีแก่สัตว์แปดหมื่นโกฏิ.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         เมื่อพระสิขีพุทธเจ้า ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ในโลก
                         ทั้งเทวโลก อภิสมัยครั้งที่ ๓ ได้มีแก่สัตว์แปดหมื่นโกฏิ.

               พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งท่ามกลางพระอรหันต์หนึ่งแสนที่บวชพร้อมกับพระราชโอรส คือพระอภิภูและพระสัมภวะ ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง นั้นเป็นสันนิบาตครั้งที่ ๑. ประทับนั่งท่ามกลางภิกษุแปดหมื่นที่บวชในสมาคมพระญาติ กรุงอรุณวดีทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง นั้นเป็นสันนิบาตครั้งที่ ๒. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงท่ามกลางภิกษุเจ็ดหมื่นที่บวชในสมัยทรงฝึกพระยาช้างชื่อธนบาลกะในธนัศชัยนคร นั้นเป็นสันนิบาตครั้งที่ ๓.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         แม้พระสิขีพุทธเจ้า ผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่ ก็ทรง
               มีสันนิบาต ประชุมพระสาวกขีณาสพผู้ไร้มลทิน มี
               จิตสงบ คงที่ ๓ ครั้ง.
                         ประชุมภิกษุหนึ่งแสน เป็นสันนิบาตครั้งที่ ๑
               ประชุมภิกษุแปดหมื่น เป็นสันนิบาตครั้งที่ ๒.
                         ประชุมภิกษุเจ็ดหมื่น เป็นสันนิบาตครั้งที่ ๓
               ภิกษุสันนิบาต อันโลกธรรมไม่กำซาบแล้ว เหมือน
               ปทุมเกิดเติบโตในน้ำ น้ำก็ไม่กำซาบ ฉะนั้น.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนุปลิตฺโต ปทุมํว ความว่า ภิกษุสันนิบาตแม้นั้นแม้เกิดในโลก โลกธรรมก็ซึมกำซาบไม่ได้เหมือนปทุมเกิดในน้ำเติบโตในน้ำนั่นแล น้ำก็ซึมซาบไม่ได้ ฉะนั้น.
               ได้ยินว่า ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ของเราเป็นพระราชาพระนามว่าอรินทมะ ในปริภุตนคร ไม่ทรงขัดข้องในที่ไหนๆ.
               เมื่อพระสิขีศาสดาเสด็จถึงปริภุตตนคร พระราชาพร้อมทั้งราชบริพาร เสด็จออกไปรับเสด็จมีพระหฤทัย พระเนตรและพระโสตอันความเลื่อมใสให้เจริญแล้ว พร้อมราชบริพาร ถวายบังคมด้วยพระเศียร ที่พระยุคลบงกชบาทไม่มีมลทินของพระทศพล นิมนต์พระทศพล ถวายมหาทานอันเหมาะสมแก่พระอิสริยะ สกุลสมบัติและศรัทธา ๗ วัน โปรดให้เปิดประตูคลังผ้า ถวายผ้ามีค่ามากแด่พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ถวายช้างต้นที่ป้องกันข้าศึกได้เหมือนช้างเอราวัณ ซึ่งพรั่งพร้อมด้วยกำลังรูปลักษณะและฝีเท้า ประดับด้วยข่ายทองและมาลัย งามระยับด้วยพัดจามรคู่งาสวมปลอกทองใหม่งาม มีหูใหญ่และอ่อน หน้างามระยับด้วยรอยดวงจันทร์ และถวายกัปปิยภัณฑ์ มีขนาดเท่าช้างนั่นแหละ.
               พระศาสดาแม้พระองค์นั้นก็ทรงพยากรณ์พระโพธิสัตว์นั้นว่า สามสิบเอ็ดกัป นับแต่กัปนี้ไป ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้า.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         สมัยนั้น เราเป็นกษัตริย์นามว่าอรินทมะ เลี้ยงดู
               พระสงฆ์มีพระสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน ให้อิ่มหนำสำราญ.
                         เราถวายผ้าอย่างดีเป็นอันมาก ไม่น้อยนับโกฏิ
               ผืน ถวายยานคือช้างที่ประดับแล้ว แด่พระสัมพุทธเจ้า.
                         เราชั่งกัปปิยภัณฑ์มีประมาณเท่ายานคือช้าง ยัง
               จิตของเราอันมั่นคง ให้เต็มด้วยปิติในทานเป็นนิตย์.
                         พระสิขีพุทธเจ้าผู้นำเลิศแห่งโลก แม้พระองค์นั้น
               ก็ทรงพยากรณ์เราว่า สามสิบเอ็ดกัปนับแต่กัปนี้ ท่านผู้นี้
               จักเป็นพระพุทธเจ้า.
                         พระตถาคตออกอภิเนษกรมณ์ จากกรุงกบิลพัสดุ์
               อันน่ารื่นรมย์ ฯลฯ จักอยู่ต่อหน้าของท่านผู้นี้.
                         เราฟังพระดำรัสของพระองค์แล้ว ก็ยิ่งมีจิตเลื่อมใส
               จึงอธิษฐานข้อวัตรยิ่งยวดขึ้นไปเพื่อบำเพ็ญบารมี ๑๐ ให้
               บริบูรณ์.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิมฺมินิตฺวา ได้แก่ ชั่งเท่าขนาดช้างเชือกนั้น.
               บทว่า กปฺปิยํ ได้แก่ กัปปิยภัณฑ์.
               สิ่งที่ควรรับสำหรับภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่ากัปปิยภัณฑ์.
               บทว่า ปูรยึ มานสํ มยฺหํ ความว่า ยังจิตของเราให้เต็มด้วยปิติในทาน ทำให้สามารถเกิดความร่าเริงแก่เรา.
               บทว่า นิจฺจํ ทฬฺหมุปฏฺฐิตํ ความว่า จิตอันตั้งมั่นคงโดยทานเจตนาว่าจะให้ทานเป็นนิตย์.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าองค์นั้นทรงมีพระนครชื่อว่าอรุณวดี พระชนกพระนามว่าพระเจ้าอรุณวา พระชนนีพระนามว่าพระนางปภาวดี คู่พระอัครสาวกชื่อว่าพระอภิภูและพระสัมภวะ พระพุทธอุปัฏฐากชื่อว่าพระเขมังกร คู่พระอัครสาวิกาชื่อว่าพระสขิลาและพระปทุมา โพธิพฤกษ์ชื่อว่าต้นปุณฑรีกะ คือมะม่วง พระสรีระสูง ๗๐ ศอก พระรัศมีแห่งสรีระแผ่ไป ๓ โยชน์เป็นนิตย์ พระชนมายุเจ็ดหมื่นปี พระอัครมเหสีพระนามว่าพระนางสัพพกามา พระโอรสพระนามว่าอตุละ ออกอภิเนษกรมณ์ด้วยยานคือช้าง.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         พระสิขีพุทธเจ้า ผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่ ทรงมีพระ
               นครชื่ออรุณวดี พระชนกพระนามว่าพระเจ้าอรุณ พระ
               ชนนีพระนามว่าพระนางปภาวดี.
                         พระองค์ทรงครองฆราวาสวิสัยอยู่เจ็ดพันปี ทรง
               มีปราสาทชั้นเยี่ยม ๓ หลัง ชื่อว่าสุวัฑฒกะ คิริและนารี-
               วาหนะ
                         มีพระสนมกำนัลสองหมื่นสี่พันนาง ล้วนประดับ
               ประดางดงาม มีพระอัครมเหสีพระนามว่าพระนางสัพพ-
               กามา พระโอรสพระนามว่าอตุละ.
                         พระผู้สูงสุดในบุรุษ ทรงเห็นนิมิต ๔ เสด็จออก
               อภิเนษกรมณ์ด้วยยานคือช้าง.
                         พระมหาวีระ สิขี ผู้นำเลิศแห่งโลก สูงสุดในนรชน
               อันท้าวมหาพรหมอาราธนาแล้ว ทรงประกาศพระธรรม
               จักร ณ มิคทายวัน
                         พระสิขีพุทธเจ้าผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่ มีพระอัครสาวก
               ชื่อว่าพระอภิภูและพระสัมภวะ มีพระพุทธอุปัฏฐากชื่อว่า
               พระเขมังกร.
                         มีพระอัครสาวิกา ชื่อว่าพระสขิลาและพระปทุมา
               โพธิพฤกษ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เรียก
               ต้นปุณฑรีกะ.
                         มีอัครอุปัฏฐากชื่อว่าสิริวัฑฒะและนันทะ มีอัคร
               อุปัฏฐายิกาชื่อว่าจิตตาและสุจิตตา.
                         พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นสูง ๗๐ ศอก เสมือนรูป
               ปฏิมาทอง มีมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ.
                         พระรัศมีวาหนึ่ง แล่นออกจากพระวรกายของพระ
               องค์ ทั้งกลางวันกลางคืนไม่ว่างเว้น พระรัศมีทั้งหลาย
               แล่นไปทั้งทิศใหญ่ทิศน้อย ๓ โยชน์.
                         พระชนมายุของพระสิขีพุทธเจ้า ผู้แสวงคุณยิ่ง
               ใหญ่เจ็ดหมื่นปี พระองค์มีพระชนม์ยืนถึงเพียงนั้น ทรง
               ยังหมู่ชนเป็นอันมากให้ข้ามโอฆะ.
                         พระองค์ทั้งพระสาวก ทรงยังเมฆคือธรรมให้
               ตกลง ยังโลกทั้งเทวโลกให้ชุ่มชื่น ให้ถึงถิ่นอันเกษม
               แล้วก็ดับขันธปรินิพพาน.
                         พระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ พรั่งพร้อม
               ด้วยพระอนุพยัญชนะ ทั้งนั้นก็อันตรธานไปสิ้น สังขาร
               ทั้งปวง ก็ว่างเปล่า แน่แท้.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุณฺฑรีโก ได้แก่ ต้นมะม่วง.
               บทว่า ตีณิ โยชนโส ปภา ความว่า พระรัศมีทั้งหลายแล่นไป ๓ โยชน์.
               บทว่า ธมฺมเมฆํ ได้แก่ ฝนคือธรรม. เมฆคือพระพุทธเจ้าผู้ยังฝนคือธรรมให้ตกลงมา.
               บทว่า เตมยิตฺวา ให้ชุ่ม อธิบายว่า รด ด้วยน้ำคือธรรมกถา.
               บทว่า เทวเก ได้แก่ ยังสัตว์โลกทั้งเทวโลก.
               บทว่า เขมนฺตํ ได้แก่ ถิ่นอันเกษม คือพระนิพพาน.
               บทว่า อนุพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ ความว่า พระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้า ประดับด้วยพระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ พรั่งพร้อมด้วยพระอนุพยัญนะ ๘๐ มีพระนขาแดง พระนาสิกโด่งและพระอังคุลีกลมเป็นต้น.
               ได้ยินว่า พระสิขีสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ พระวิหารอัสสาราม สีลวตีนคร.
                                   สิขีว โลเก ตปสา ชลิตฺวา
                                   สิขีว เมฆาคมเน นทิตฺวา
                                   สิขีว มเหสินฺธนวิปฺปหีโน
                                   สิขีว สนฺตึ สุคโต คโต โส.

                         พระสิขีพุทธเจ้าทรงรุ่งโรจน์ในโลกเหมือนดวงไฟ
                         ทรงบันลือในนภากาศเหมือนนกยูง.
                         พระสิขีพุทธเจ้าทรงละพระมเหสี และทรัพย์สมบัติ
                         พระองค์ถึงความสงบ เสด็จไปดีแล้วเหมือนไฟ.

               ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าสิขีมีพระบรมสารีริกธาตุเป็นแท่งเดียว จึงไม่กระจัดกระจายไป. แต่มนุษย์ชาวชมพูทวีปช่วยกันสร้างพระสถูปสำเร็จด้วยรัตนะ ๗ งามเสมือนภูเขาหิมะ สูง ๓ โยชน์.
               คำที่เหลือในคาถาทั้งหลายทุกแห่ง ชัดแล้วทั้งนั้นแล.
               จบพรรณนาวงศ์พระสิขีพุทธเจ้า               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒๐. สิขีพุทธวงศ์ จบ.
อ่านอรรถกถา 33.2 / 1อ่านอรรถกถา 33.2 / 20อรรถกถา เล่มที่ 33.2 ข้อ 21อ่านอรรถกถา 33.2 / 22อ่านอรรถกถา 33.2 / 28
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=8243&Z=8293
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=51&A=7747
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=51&A=7747
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :