ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 33.2 / 1อ่านอรรถกถา 33.2 / 25อรรถกถา เล่มที่ 33.2 ข้อ 26อ่านอรรถกถา 33.2 / 27อ่านอรรถกถา 33.2 / 28
อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์
๒๕. โคตมพุทธวงศ์

หน้าต่างที่ ๓ / ๓.

               นิทานใกล้               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อประทับนั่งเปล่งพระพุทธอุทานแล้ว ก็ทรงมีพระดำริว่า เราท่องเที่ยวมา ๔ อสงไขยกำไรแสนกัป ก็เพราะเหตุแห่งบัลลังก์นี้ บัลลังก์นี้เป็นวิชัยบัลลังก์ มงคลบัลลังก์ของเรา เรานั่งเหนือบัลลังก์นี้ ความดำริยังไม่บริบูรณ์ตราบใด เราก็จักไม่ลุกขึ้นจากบัลลังก์นี้ตราบนั้น ทรงเข้าสมาบัตินับได้หลายแสนโกฏิ ประทับนั่งเหนือบัลลังก์นั้น ๗ วัน ที่ท่านหมายถึงกล่าวไว้ว่า
               ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งเสวยวิมุตติสุข โดยบัลลังก์เดียว ๗ วัน.
               ครั้งนั้น เทวดาบางพวกเกิดปริวิตกว่า แม้วันนี้พระสิทธัตถะก็ยังมีกิจที่จะต้องทำแน่แท้ ด้วยยังไม่ทรงละความอาลัยในพระบัลลังก์.
               ลำดับนั้น พระศาสดาทรงทราบความวิตกของเทวดาทั้งหลาย ก็เหาะขึ้นสู่เวหาสทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ เพื่อระงับความวิตกของเทวดาเหล่านั้น ครั้นทรงระงับความวิตกของเทวดาทั้งหลายด้วยปาฏิหาริย์นี้อย่างนี้แล้ว ประทับยืน ณ ส่วนทิศอุดรอิงทิศปาจีนนิดหน่อย จากบัลลังก์ ทรงพระดำริว่า เราแทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณ ณ บัลลังก์นี้แล้วหนอ ทรงสำรวจดูบัลลังก์และโพธิพฤกษ์อันเป็นสถานที่ทรงบรรลุผลแห่งพระบารมีทั้งหลายที่ทรงบำเพ็ญมาตลอดสี่อสงไขยกับแสนกัป ด้วยดวงพระเนตรที่ไม่กระพริบ ทรงยับยั้งอยู่ ๗ วัน.
               สถานที่นั้นชื่อว่าอนิมิสเจดีย์.
               สถานที่ชื่อว่ารัตนจงกรมเจดีย์               
               ลำดับนั้น ทรงเนรมิตที่จงกรมระหว่างบัลลังก์และสถานที่ประทับยืน เสด็จจงกรม ณ รัตนจงกรมกลับไปมาจากข้างหน้าข้างหลัง ทรงยับยั้งอยู่ ๗ วัน. สถานที่นั้นชื่อว่ารัตนจงกรมเจดีย์.
               แต่ในสัปดาห์ที่ ๔ เทวดาทั้งหลายเนรมิตรัตนฆระ เรือนแก้ว ทางทิศพายัพแต่โพธิพฤกษ์. ประทับนั่งขัดสมาธิ ณ เรือนแก้วนั้น ทรงพิจารณาพระอภิธรรมปิฎก ยับยั้งอยู่ ๗ วัน. สถานที่นั้นชื่อว่ารัตนฆรเจดีย์.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยับยั้งอยู่ ๔ สัปดาห์ ใกล้โพธิพฤกษ์อย่างนี้แล้ว ในสัปดาห์ที่ ๕ เสด็จจากโคนโพธิพฤกษ์ เข้าไปยังต้นอชปาลนิโครธ ครั้นแล้วก็ประทับนั่งเลือกเฟ้นธรรมและเสวยวิมุตติสุข ณ ต้นอชปาลนิโครธนั้น.
               พระศาสดาครั้นทรงยับยั้ง ณ ต้นอชปาลนิโครธนั้น ๗ วันแล้วก็เสด็จไปยังโคนต้นมุจลินท์ ณ ที่นั้น พระยานาคชื่อมุจลินท์ เอาขนด ๗ ชั้นวงไว้รอบเพื่อป้องกันความหนาวเป็นต้น เมื่อเกิดฝนตกพรำ ๗ วัน พระศาสดาเสวยวิมุตติสุข เหมือนประทับอยู่ในพระคันธกุฎีที่ไม่คับแคบ ทรงยับยั้งอยู่ ณ โคนต้นมุจลินท์นั้น ๗ วัน จึงเสด็จเข้าไปยังโคนต้นราชายตนะ ประทับนั่งเสวยวิมุตติสุข ณ ที่นั้น ๗ วัน.
               ครบ ๗ สัปดาห์บริบูรณ์ ด้วยประการฉะนี้.
               ในระหว่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่มีการบ้วนพระโอฐ ไม่มีการปฏิบัติสรีรกิจ ไม่มีการเสวยพระกระยาหาร ทรงยับยั้งอยู่ด้วยสุขในผลอย่างเดียว.
               ลำดับนั้น พระศาสดาทรงชำระพระโอฐด้วยไม้ชำระฟันชื่อนาคลดา และด้วยน้ำในสระอโนดาตที่ท้าวสักกะจอมทวยเทพทรงน้อมถวายในวันที่ ๔๙ วันสุดท้ายแห่ง ๗ สัปดาห์ ประทับนั่ง ณ โคนต้นราชายตนะนั้นนั่นแล.
               สมัยนั้น พาณิชสองคนชื่อตปุสสะและภัลลิกะ อันเทวดาผู้เป็นญาติสาโลหิต ให้ขมักเขม้นในอันถวายอาหารแด่พระศาสดา ถือข้าวสัตตุผงและสัตตุก้อน เข้าไปเฝ้าพระศาสดายืนกราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยความกรุณาโปรดทรงรับอาหารนี้ด้วย เพราะเหตุที่บาตรที่เทวดาถวายครั้งทรงรับข้าวมธุปายาส อันตรธานไป. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระดำริว่า พระตถาคตทั้งหลายย่อมไม่รับอาหารด้วยมือเปล่า เราจะพึงรับอาหารนี้ได้อย่างไรหนอ.
               ครั้งนั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ จาก ๔ ทิศรู้อัธยาศัยของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ก็น้อมบาตร ๔ บาตรสำเร็จด้วยแก้วมณีและแก้วมรกตถวาย. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้ามบาตรเหล่านั้น. ท้าวจาตุมหาราชจึงน้อมบาตร ๔ บาตรสำเร็จด้วยศิลา สีเหมือนถั่วเขียว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยความกรุณาเทวดาทั้ง ๔ องค์นั้น จึงทรงรับไว้ยุบรวมเป็นบาตรเดียวทรงรับอาหารไว้ในบาตรสำเร็จด้วยศิลามีค่ามากนั้น เสวยแล้วทรงทำอนุโมทนา.
               พาณิชสองพี่น้องนั้นถึงพระพุทธเจ้าและพระธรรมเป็นสรณะ เป็นทเววาจิกอุบาสก.
               ลำดับนั้น พระศาสดาเสด็จไปต้นอชปาลนิโครธอีกประทับนั่ง ณ โคนต้นนิโครธ. พอประทับนั่ง ณ ที่นั้นเท่านั้นทรงพิจารณาว่า ธรรมที่ทรงบรรลุนั้นลุ่มลึก ก็เกิดพระปริวิตกที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงปฏิบัติมา ถึงอาการคือ ความมีพระพุทธประสงค์จะไม่ทรงแสดงธรรมโปรดผู้อื่น โดยนัยว่า ธรรมนี้เราบรรลุแล้ว.
               ครั้งนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมทรงดำริว่า โลกย่อยยับกันละท่านเอย โลกย่อยยับกันละท่านเอย ก็พาท้าวสักกะ ท้าวสุยาม ท้าวสันดุสิต ท้าวนิมมานรดี ท้าวปรนิมมิตวสวัตดีและมหาพรหมในหมื่นจักรวาล มายังสำนักพระศาสดา ทูลอ้อนวอนให้ทรงแสดงธรรม โดยนัยเป็นต้นว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงแสดงธรรม.
               พระศาสดาประทานปฏิญาณรับแก่ท้าวสหัมบดีพรหมนั้นแล้ว ทรงพระดำริว่า ควรแสดงธรรมโปรดใครก่อนหนอ ทรงทราบว่า อาฬารดาบสและอุททกดาบสทำกาละเสียแล้ว ทรงปรารภภิกษุปัญจวัคคีย์ใส่ไว้ในพระหฤทัยว่า ภิกษุปัญจวัคคีย์มีอุปการะมากแก่เราดังนี้ ทรงนึกว่า เดี๋ยวนี้ ภิกษุปัญจวัคคีย์เหล่านั้นอยู่กันที่ไหนหนอ ก็ทรงทราบว่าที่อิสิปตนะ มิคทายวัน กรุงพาราณสี ทรงพระดำริว่า เราจักไปที่นั้นประกาศธรรมจักร แล้วเสด็จเที่ยวบิณฑบาต ประทับอยู่ใกล้โพธิมัณฑสถานนั่นแหละ ๒-๓ วัน ในวันอาสาฬหบูรณมีทรงพระดำริจักเสด็จไปกรุงพาราณสี ทรงถือบาตรจีวรเดินทางได้ ๑๘ โยชน์ ในระหว่างทาง ทรงพบอาชีวกชื่ออุปกะเดินสวนทางมา ทรงบอกอาชีวกนั้นว่า พระองค์เป็นพระพุทธเจ้า วันนั้นนั่นเอง เวลาเย็นเสด็จถึงอิสิปตนะ มิคทายวัน กรุงพาราณสี.
               ฝ่ายภิกษุปัญจวัคคีย์เห็นพระตถาคตเสด็จมาแต่ไกล จึงทำการนัดหมายกันว่า ผู้มีอายุ ท่านพระสมณโคดมนี้เวียนมาเพื่อเป็นคนมักมากด้วยปัจจัย มีกายบริบูรณ์มีอินทรีย์เอิบอิ่ม มีผิวพรรณเพียงดังสีทองเสด็จมา เราจักไม่ทำการอภิวาทเป็นต้นแก่ท่านละ เพียงแต่ปูอาสนะไว้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบวาระจิตของภิกษุปัญจวัคคีย์เหล่านั้นทรงย่อเมตตาจิต ที่สามารถแผ่ไปโดยไม่เจาะจงในสรรพสัตว์ มาเป็นแผ่เมตตาจิตโดยเจาะจง.
               ภิกษุปัญจวัคคีย์เหล่านั้นอันเมตตาจิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าสัมผัสแล้ว เมื่อพระตถาคตเสด็จเข้าไปหา ก็ไม่อาจตั้งอยู่ในข้อนัดหมายของตนได้ พากันทำกิจทุกอย่างมีการกราบไหว้เป็นต้น.
               ความพิศดารพึงทราบตามนัยที่ท่านกล่าวไว้ในมหาวรรคแห่งวินัยเป็นต้น.
               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังภิกษุปัญจวัคคีย์เหล่านั้นให้เข้าใจถึงความเป็นพระพุทธเจ้าของพระองค์แล้ว ประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์อย่างดีที่จัดไว้แล้วเมื่อกาลประกอบด้วยนักษัตรเดือนอุตตราสาธอยู่ อันพรหม ๑๘ โกฏิแวดล้อมแล้ว ทรงเรียกพระเถระปัญจวัคคีย์มาแล้วทรงแสดงพระธรรมจักกัปปวัตนสูตร.
               บรรดาภิกษุปัญจวัคคีย์เหล่านั้น ท่านอัญญาโกณฑัญญะส่งญาณไปตามกระแสเทศนา จบพระสูตร ก็ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลพร้อมด้วยพรหม ๑๘ โกฏิ.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         บัดนี้เราเป็นพระสัมพุทธเจ้า ชื่อโคตมะ ผู้ยังสกุล
               ศากยะให้เจริญ ตั้งความเพียรแล้ว บรรลุพระสัมโพธิ-
               ญาณอันอุดม.
                         อันท้าวมหาพรหมอาราธนาแล้ว ก็ประกาศพระ-
               ธรรมจักร อภิสมัยครั้งที่ ๑ ได้มีแก่พรหม ๑๘ โกฏิ.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า อหํ ทรงแสดงถึงพระองค์เอง.
               บทว่า เอตรหิ แปลว่า ในกาลนี้.
               บทว่า สกฺยวฑฺฒโน แปลว่า ผู้ยังสกุลศากยะให้เจริญ.
               ปาฐะว่า สกฺยปุงฺคโว ก็มี. ความเพียรท่านเรียกว่า ปธานะ.
               บทว่า ปทหิตฺวาน ได้แก่ พากเพียร พยายาม. อธิบายว่า ทำทุกกรกิริยา.
               บทว่า อฏฺฐารสนฺนํ โกฏีนํ ความว่า อภิสมัยครั้งที่ ๑ ได้มีแก่สัตว์ ๑๘ โกฏิมีพระอัญญาโกณฑัญญะเถระเป็นประธานด้วยการตรัสพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร ณ ป่าอิสิปตนะ มิคทายวัน กรุงพาราณสี.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอภิสมัยอันล่วงมาแล้ว เมื่อจะตรัสอภิสมัยที่ยังไม่มาถึง จึงตรัสคำเป็นต้นว่า
                         นอกจากนั้น เมื่อเราแสดงธรรม ในสมาคมแห่ง
               มนุษย์และเทวดา อภิสมัยครั้งที่ ๒ จักมีแก่สัตว์นับ
               จำนวนไม่ได้.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นรเทวสมาคเม ความว่า สมัยอื่นนอกจากนั้น ในมหามงคลสมาคม ท่ามกลางเทวดาและมนุษย์ในหมื่นจักรวาล เวลาจบมงคลสูตร อภิสมัยได้มีแก่มนุษย์และเทวดา เกินที่จะนับได้.
               บทว่า ทุติยาภิสมโย อหุ ได้แก่ เหสฺสติ. เมื่อจะพึงกล่าวคำอนาคตกาล [ว่า เหสฺสติ] แต่ก็กล่าวคำเป็นอดีตกาลว่า อหุ เพราะตกกระแสแล้ว. หรือจะว่ากล่าวเป็นกาลวิปลาสก็ได้.
               ในคำนอกจากนี้และคำเช่นนี้ ก็นัยนี้.
               ต่อมาอีก ในการทรงแสดงราหุโลวาทสูตร ก็ทรงยังสัตว์เกินที่จะนับให้ดื่มน้ำอมฤตคืออภิสมัย.
               นี้เป็นอภิสมัยครั้งที่ ๓ ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         บัดนี้เราสั่งสอนราหุลลูกของเราในที่นี้นี่แล
                         อภิสมัยครั้งที่ ๓ ก็มีแก่สัตว์นับจำนวนไม่ได้.

               ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีสาวกสันนิบาตประชุมพระสาวกครั้งเดียวเท่านั้น คือ การประชุมพระอรหันต์สาวก ๑,๒๕๐ รูป เหล่านี้คือชฏิลสามพี่น้องมีพระอุรุเวลกัสสปเป็นต้น ๑,๐๐๐ รูป พระอัครสาวกทั้งสอง ๒๕๐ รูป.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         เรามีสันนิบาตประชุมพระสาวกผู้แสวงหาคุณยิ่งใหญ่
                         เพียงครั้งเดียว คือการประชุมภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป.

               แก้อรรถ               
               บรรดาเหล่านั้น บทว่า เอโกสิ ตัดบทเป็น เอโกว อาสิ มีครั้งเดียวเท่านั้น.
               บทว่า อฑฺฒเตรสสตานํ แปลว่า สาวกของเรา ๑,๒๕๐ รูป.
               บทว่า ภิกฺขูนาสิ ตัดบทเป็น ภิกฺขูนํ อาสิ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ท่ามกลางภิกษุสาวกเหล่านั้น ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงในจาตุรงคสันนิบาต.
               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงพระประวัติของพระองค์ จึงตรัสคำเป็นต้นว่า
                         เราผู้ไร้มลทินรุ่งเรืองอยู่ อยู่ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์
                         ให้ทุกอย่างที่สาวกปรารถนา เหมือนแก้วจินดามณี
                         ให้ทุกอย่างที่ชนปรารถนาฉะนั้น.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิโรจมาโน ได้แก่ รุ่งเรืองอยู่ด้วยพระพุทธสิริอันไม่มีที่สุด.
               บทว่า วิมโล ได้แก่ ผู้ปราศจากมลทินคือกิเลสมีราคะเป็นต้น.
               บทว่า มณีว สพฺพกามโท ความว่า เราให้สุขวิเศษทั้งเป็นโลกิยะและโลกุระทุกอย่างที่สาวกมุ่งมาดปรารถนา เหมือนแก้วจินดามณีให้ทุกอย่างที่ชนปรารถนา.
               บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงความปรารถนาที่สาวกปรารถนา จึงตรัสคำเป็นต้นว่า
                         ด้วยความเอ็นดูสัตว์ทั้งหลาย เราจึงประกาศสัจจะ ๔
                         แก่ผู้จำนงหวังผล ผู้ต้องการละความพอใจในภพ.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ผลํ ได้แก่ ผล ๔ อย่างมีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
               บทว่า ภวจฺฉนฺทชเหสินํ ได้แก่ ผู้ละภวตัณหา ผู้ต้องการละภวตัณหา.
               บทว่า อนุกมฺปาย ได้แก่ ด้วยความเอ็นดู.
               บัดนี้ ครั้นทรงทำการประกาศสัจจะ ๔ แล้ว เมื่อจะทรงแสดงอภิสมัยจึงตรัสว่า ทสวีสสหสฺสานํ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทสวีสสหสฺสานํ ได้แก่ หนึ่งหมื่นและสองหมื่น.
               อธิบายว่า โดยนัยเป็นต้นว่า หนึ่งหมื่นสองหมื่น.
               คาถาที่ ๙ และที่ ๑๐ ความง่ายแล.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๑๑ และที่ ๑๒ ต่อไป.
               แม้สองศัพท์ว่า อิทาเนตรหิ ความก็อันเดียวกัน ท่านกล่าวเหมือนบุรุษบุคคล โดยเป็นเวไนยสัตว์.
               อีกนัยหนึ่ง บทว่า อิทานิ ได้แก่ ในกาลเมื่อเราอุบัติแล้ว.
               บทว่า เอตรหิ ได้แก่ ในกาลเมื่อเราแสดงธรรมอยู่.
               บทว่า อปตฺตมานสา ได้แก่ ผู้ยังไม่บรรลุพระอรหัตถผล.
               บทว่า อริยญชสํ ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘.
               บทว่า โถมยนฺตา แปลว่า สรรเสริญ.
               บทว่า พุชฺฌิสฺสนฺติ ความว่า จักแทงตลอดสัจธรรม ๔ ในอนาคตกาล.
               บทว่า สํสารสริตํ ได้แก่ สาครคือสังสารวัฏ.
               บัดนี้ เมื่อทรงแสดงถึงพระนครที่ทรงสมภพเป็นต้นของพระองค์ จึงตรัสคำเป็นต้นว่า
                         เรามีนครชื่อกบิลพัสดุ์ มีพระชนกพระนามว่าพระเจ้า
               สุทโธทนะ พระชนนีพระนามว่าพระนางมายาเทวี.
                         เราครองฆราวาสวิสัยอยู่ ๒๙ ปี มีปราสาทอย่างเยี่ยม
               ๓ หลัง ชื่อสุจันทะ โกกนุทะและโกญจะ.
                         มีพระสนมกำนัลสี่หมื่นนาง มีอัครมเหสีพระนามว่า
               ยโสธรา มีโอรสพระนามว่า ราหุล.
                         เราเห็นนิมิต ๔ ออกอภิเนษกรมณ์ด้วยยานคือม้า
               บำเพ็ญเพียรทำทุกกรกิริยา ๖ ปี.
                         เราประกาศธรรมจักร ณ ป่าอิสิปตนะกรุงพาราณสี
               เราเป็นพระสัมพุทธเจ้า พระนามว่าโคตมะ เป็นสรณะของ
               สัตว์ทั้งปวง.
                         คู่ภิกษุอัครสาวกชื่อว่าพระโกลิตะและพระอุปติสสะ
               มีพระพุทธอุปัฏฐากประจำสำนักชื่อว่าพระอานันทะ มี
               ภิกษุณีอัครสาวิกาชื่อว่าพระเขมาและพระอุบลวรรณา.
                         มีอัครอุปัฏฐากชื่อว่าจิตตะและหัตถกะอาฬวกะ มี
               อัครอุปัฏฐายิกาชื่อว่านันทมาตาและอุตตรา.
                         เราบรรลุพระสัมโพธิญาณอันอุดม ณ โคนโพธิพฤกษ์
               ชื่อต้นอัสสัตถะ มีรัศมีกายวาหนึ่ง ประจำ กาย สูง ๑๖ ศอก.
                         เรามีอายุน้อย ๑๐๐ ปี ในบัดนี้ เมื่อดำรงชีวิตอยู่
               ประมาณเท่านั้น ก็ยังหมู่ชนเป็นอันมากให้ข้ามโอฆะ.
                         เราตั้งคบเพลิง คือธรรมไว้ปลุกชนที่เกิดมาภายหลัง
               ให้ตื่น ไม่นานนัก เราพร้อมทั้งสงฆ์สาวกก็จักปรินิพพาน
               ในที่นี้นี่แหละ เพราะสิ้นอาหาร เหมือนไฟดับเพราะสิ้นเชื้อ
               ฉะนั้น.

               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์ทุกอย่างว่า เรามีปราสาท ๓ หลัง ชื่อสุจันทะ โกนุทะและโกญจะ มี ๙ ชั้น ๗ ชั้นและ ๕ ชั้น มีสนมนาฏกะสี่หมื่นนาง มีอัครมเหสีพระนามว่ายโสธรา เรานั้นเห็นนิมิต ๔ ออกมหาภิเนษกรมณ์ด้วยยานคือม้า
               แต่นั้นก็ตั้งความเพียร ๖ ปี ในวันวิสาขบูรณมีก็บริโภคข้าวมธุปายาสที่ธิดาของเสนานิกุฏุมพี ณ อุรุเวลาเสนานิคม ชื่อสุชาดาผู้เกิดความเลื่อมใสถวายแล้ว พักกลางวัน ณ สาลวัน เวลาเย็นรับหญ้า ๘ กำที่คนหาบหญ้าชื่อโสตถิยะ ถวายแล้ว เข้าไปยังโคนโพธิพฤกษ์ชื่อต้นอัสสัตถะ กำจัดกองกำลังของมาร ณ ที่นั้น บรรลุพระสัมโพธิญาณ.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สทฺธึ สาวกสงฺฆโต ก็คือ สทฺธึ สาวกสงฺเฆน ความว่า พร้อมทั้งสงฆ์สาวก.
               บทว่า ปรินิพฺพิสฺสํ ก็คือ ปรินิพพายิสฺสามิ แปลว่า จักปรินิพพาน.
               บทว่า อคฺคีวาหาร สงฺขยา ก็คือ อคฺคิ วิย อินฺธนกฺขเยน ดุจไฟดับเพราะสิ้นเชื้อฉะนั้น. ความว่า แม้เราไม่มีอุปาทานก็จักปรินิพพาน เหมือนไฟหมดเชื้อก็ดับฉะนั้น.
               บทว่า ตานิ จ อตุลเตชานิ ความว่า คู่พระอัครสาวกเป็นต้นที่มีเดชไม่มีผู้เสมอเหมือนเหล่านั้น.
               บทว่า อิมานิ จ ทสพลานิ ความว่า ทศพลที่มีในพระสรีระเหล่านั้น.
               บทว่า คุณธารโณ เทโห ความว่า และพระวรกายที่ทรงคุณมีพระอสาธารณญาณ ๖ เป็นต้นนี้.
               บทว่า ตมนฺตรหิสฺสนฺติ ความว่า คุณลักษณะดังกล่าวมานี้ จักอันตรธาน สูญหายไปสิ้น.
               ศัพท์ว่า นนุ ในคำว่า นนุ ริตฺตา สพฺพสงฺขารา นี้เป็นนิบาตลงในอรรถว่าอนุมัติคล้อยตาม.
               บทว่า ริตฺตา ได้แก่ ชื่อว่าเปล่า เพราะเว้นจากสาระคือเที่ยง สาระคือยั่งยืน ก็ทั้งหมดนั่นแลอันปัจจัยปรุงแต่งมีอันสิ้นไปเป็นธรรมดา เสื่อมไปเป็นธรรมดา คลายไปเป็นธรรมดา ดับไปเป็นธรรมดา.
                         ชื่อว่าไม่เที่ยง เพราะมีแล้วไม่มี.
                         ชื่อว่าทุกข์ เพราะอันความเกิดเป็นต้นบีบคั้นแล้ว
                         ชื่อว่าอนัตตา เพราะไม่อยู่ในอำนาจ.

               เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงยกไตรลักษณ์ลงในสังขารทั้งหลายแล้วเจริญวิปัสสนา จงบรรลุพระนิพพานที่ไม่ตาย ปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ ไม่จุติ นี้เป็นอนุศาสนี เป็นคำสั่งสอนของเรา สำหรับท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด.
               ได้ยินว่า ในเวลาจบเทศนา จิตของเทวดาแสนโกฏิก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ยึดมั่นส่วนเทวดาที่ตั้งอยู่ในมรรคผลนอกนั้น เกินที่จะนับจำนวนได้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจงกรม ณ รัตนจงกรมในอากาศ ตรัสพุทธวงศ์แม้ทั้งสิ้น กำหนดด้วยกัป นามและชาติเป็นต้นอย่างนี้แล้ว ยังหมู่พระประยูรญาติให้ถวายบังคมแล้วลงจากอากาศ ประทับนั่งเหนือบวรพุทธอาสน์ที่จัดไว้แล้ว.
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งแล้ว สมาคมพระประยูรญาติก็ถึงความสูงสุดด้วยประการฉะนี้ พระประยูรญาติทุกพระองค์ก็ประทับนั่งมีจิตมีอารมณ์เดียว.
               แต่นั้น มหาเมฆก็หลั่งฝนโบกขรพรรษลงมา ขณะนั้นเอง น้ำก็ส่งเสียงร้องไหลไปภายใต้ ผู้ต้องการจะเปียกก็เปียก ผู้ไม่ต้องการเปียกแม้แต่หยาดน้ำก็ไม่ตกลงที่ตัว พระประยูรญาติทั้งหมดเห็นความอัศจรรย์นั้นก็อัศจรรย์ประหลาดใจ พากันกล่าวว่า โอ น่าอัศจรรย์ โอ น่าประหลาดใจหนอ.
               พระศาสดาทรงสดับคำนั้นแล้วตรัสว่า มิใช่ฝนโบกขรพรรษตกลงในสมาคมพระประยูรญาติในปัจจุบันนี้เท่านั้น แม้ในอดีตกาลก็ตกลงมาเหมือนกัน. เพราะเหตุแห่งอัตถุปปัตตินี้ จึงตรัสเวสสันดรชาดก.
               พระธรรมเทศนานั้น เกิดประโยชน์แล้ว.
               ต่อนั้น พระศาสดาเสด็จลุกจากอาสนะเข้าพระวิหาร.
               จบพรรณนาวงศ์พระโคดมพุทธเจ้า               
               แห่งอรรถกถาพุทธวงศ์ ชื่อมธุรัตถวิสาสินีด้วยประการฉะนี้               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒๕. โคตมพุทธวงศ์ จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 33.2 / 1อ่านอรรถกถา 33.2 / 25อรรถกถา เล่มที่ 33.2 ข้อ 26อ่านอรรถกถา 33.2 / 27อ่านอรรถกถา 33.2 / 28
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=8517&Z=8562
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=51&A=8601
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=51&A=8601
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :