ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 33.3 / 1อ่านอรรถกถา 33.3 / 32อรรถกถา เล่มที่ 33.3 ข้อ 33อ่านอรรถกถา 33.3 / 34อ่านอรรถกถา 33.3 / 36
อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก การบำเพ็ญเนกขัมมบารมีเป็นต้น
๑๓. สุวรรณสามจริยา

               อรรถกถาสุวรรณสามจริยาที่ ๑๓               
               พึงทราบวินิจฉัยในสุวรรณสามจริยาที่ ๑๓ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า สาโม ยทา วเน อาสึ คือในครั้งเมื่อเราเป็นดาบสกุมาร ชื่อสามะ อยู่ในป่าใหญ่ใกล้ฝั่งแม่น้ำชื่อว่ามิคสัมมตา ณ หิมวันตประเทศ.
               บทว่า สกฺเกน อภินิมฺมิโต ความว่า อันท้าวสักกะเชื้อเชิญให้มาเกิด เพราะสมบัติสืบทอดมาเกิดแก่ท้าวสักกะจอมเทพ.
               ในสุวรรณสามจริยานั้น มีเรื่องราวเป็นลำดับดังต่อไปนี้.
               ในครั้งอดีตได้มีบ้านพรานบ้านหนึ่งใกล้ฝั่งแม่น้ำไม่ไกลจากกรุงพาราณสี. ณ บ้านนั้นมีบุตรของพรานหัวหน้า ชื่อว่าทุกูละ. แม้ใกล้ฝั่งแม่น้ำนั้นก็ได้มีบ้านพรานอีกบ้านหนึ่ง. ณ บ้านนั้นมีลูกสาวของพรานหัวหน้า ชื่อว่าปาริกา. ทั้งสองนั้นเป็นสัตว์บริสุทธิ์มาจากพรหมโลก.
               เมื่อทั้งสองเจริญวัยทั้งๆ ที่ไม่ปรารถนา แต่มารดาบิดาก็จัดการสมรสให้จนได้. ทั้งสองก็มิได้ก้าวลงสู่สมุทรคือกิเลส คือไม่ร่วมประเวณี อยู่ร่วมกันดุจพวกพรหมฉะนั้น. ทั้งไม่ทำกรรมของพรานด้วย.
               ครั้งนั้น มารดาบิดากล่าวกะทุกูละว่า ลูกรักลูกไม่ทำกรรมของพราน ลูกไม่ปรารถนาอยู่ครองเรือน ลูกจะทำอะไร?
               ทุกูละกล่าวว่า เมื่อพ่อแม่อนุญาต ลูกจะขอบวช. มารดาบิดากล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ลูกจงบวชเถิด. ชนทั้งสองจึงเข้าป่าหิมวันตประเทศ ไปถึงที่ที่แม่น้ำมิคสัมมตาไหลลงจากหิมวันตประเทศถึงแม่น้ำคงคา เลยแม่น้ำคงคามุ่งหน้าไปแม่น้ำมิคสัมมตา จึงพากันขึ้น.
               ในกาลนั้น ภพของท้าวสักกะแสดงอาการร้อน ท้าวสักกะทรงทราบเหตุนั้น จึงมีเทวบัญชาให้วิษณุกรรมไปสร้างอาศรม ณ ที่นั้น. ทั้งสองไปถึงอาศรมนั้น แล้วบวชอาศัยอยู่เจริญเมตตาเป็นกามาวจร ณ อาศรมที่ท้าวสักกะทรงประทาน แม้ท้าวสักกะก็เสด็จมาบำรุงสองสามีภริยานั้น.
               วันหนึ่ง ท้าวสักกะทรงทราบว่า จักษุของสามีภริยาจักเสื่อม จึงเสด็จเข้าไปหาแล้วตรัสว่า ท่านผู้เจริญ จักษุของท่านทั้งสองจะได้รับอันตราย ควรได้บุตรไว้ดูแล ข้าพเจ้าทราบว่าท่านทั้งสองมีใจบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้น ในขณะที่นางปาริพาชิกามีระดู พระคุณท่านเอามือลูบคลำท้องน้อย ด้วยอาการอย่างนี้บุตรของท่านจักเกิด บุตรนั้นจักบำรุงท่านทั้งสอง ดังนี้แล้วเสด็จกลับ.
               ทุกูลบัณฑิตบอกเหตุนั้นแก่นางปาริกา ในขณะที่นางปาริกามีระดู จึงลูบคลำท้องน้อย. ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์จุติจากเทวโลกถือปฏิสนธิในครรภ์ของนางปาริกา.
               ครั้นล่วงไป ๑๐ เดือน นางปาริกาก็คลอดบุตรมีผิวพรรณดุจทองคำ จึงตั้งชื่อว่า สุวรรณสาม. มารดาบิดาเลี้ยงดูสุวรรณสามนั้นเจริญมีอายุได้ ๑๖ ปี ให้สุวรรณสามนั่งในอาศรมตนเองไปหารากไม้และผลาผลในป่า.
               อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อฝนตกไม่ไกลจากอาศรมบท น้ำปนกลิ่นเหงื่อจากร่างกายของมารดาบิดา ซึ่งถือผลไม้ในป่าแล้วกลับเข้าไปยังโคนต้นไม้ ยืนอยู่บนยอดจอมปลวก หล่นลงยังดั้งจมูกของอสรพิษซึ่งอยู่ในปล่องจอมปลวกนั้น อสรพิษโกรธจัดจึงพ่นพิษออกมา ทั้งสองตาบอดร้องคร่ำครวญ.
               ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์คิดว่า มารดาบิดาของเราช้าเหลือเกิน มารดาบิดาจะเป็นอย่างไรหนอ? จึงเดินสวนทางแล้วทำเสียง. มารดาบิดาจำเสียงของสุวรรณสามได้ จึงทำเสียงตอบรับ ด้วยความรักในบุตรจึงห้ามว่า พ่อสุวรรณสามตรงนี้มีอันตราย อย่ามาเลยลูก แล้วตนเองก็มาพบตามกระแสเสียง.
               สุวรรณสามถามว่า เพราะเหตุไร จักษุทั้งสองข้างจึงบอด? พอมารดาบิดาพูดว่าไม่รู้ซิลูก เมื่อฝนตกพ่อและแม่ก็ยืนอยู่บนยอดจอมปลวกใกล้ต้นไม้ ต่อจากนั้นก็มองไม่เห็นเลย เท่านั้นสุวรรณสามก็รู้ทันทีว่า ที่จอมปลวกนั้นมีอสรพิษ มันคงโกรธจึงพ่นพิษใส่.
               ลำดับนั้น สุวรรณสามกล่าวว่า พ่อแม่อย่าคิดอะไรเลย ลูกจักบำรุงพ่อและแม่เอง แล้วนำมารดาบิดาไปอาศรม ผูกเชือกไว้ในที่ที่มารดาบิดาเดินไปมา มีที่พักกลางวันและที่พักกลางคืนเป็นต้น.
               ตั้งแต่นั้นมา สุวรรณสามจึงให้มารดาบิดาอยู่ในอาศรม นำรากไม้และผลาผลในป่ามาเลี้ยงดูมารดาบิดา ตอนเช้าตรู่ก็กวาดที่อยู่ นำของดื่มมาให้ ตั้งของบริโภคไว้ ให้ไม้สีฟันและน้ำล้างหน้า แล้วให้ผลาผลที่มีรสอร่อย.
               เมื่อมารดาบิดาบ้วนปากตนเองก็บริโภค ไหว้มารดาบิดาแล้วก็นั่งอยู่ใกล้ๆ มารดาบิดานั่นเองด้วยคิดว่า มารดาบิดาจะสั่งอะไรบ้าง และโดยพิเศษได้แผ่เมตตาไว้มาก ด้วยเหตุนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงไม่รบกวนสุวรรณสาม.
               พระโพธิสัตว์ไม่รบกวนสัตว์ทั้งหลาย เหมือนอย่างที่สัตว์ทั้งหลายไม่รบกวนพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ทั้งไปทั้งมาสู่ป่า เพื่อผลาผลทุกๆ วันอย่างนี้ จึงได้แวดล้อมไปด้วยฝูงเนื้อ. แม้สัตว์ที่เป็นศัตรูมีราชสีห์และเสือโคร่งเป็นต้น ก็คุ้นเคยเป็นอย่างดียิ่งกับพระโพธิสัตว์.
               ก็ด้วยอานุภาพแห่งเมตตา สัตว์เดียรัจฉานทั้งหลายได้ความเป็นผู้มีจิตอ่อนโยนต่อกันและกันในที่อยู่ของพระโพธิสัตว์นั้นด้วยประการฉะนี้. พระโพธิสัตว์นั้นด้วยอานุภาพแห่งเมตตาในที่ทั้งปวงจึงเป็นผู้ไม่กลัว ไม่หวาดสะดุ้ง ไม่มีเวร อยู่ดุจพรหม.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-
                                   เรากับราชสีห์และเสือโคร่งในป่าใหญ่ต่างน้อม
                         เมตตาเข้าหากัน. เราแวดล้อมด้วยราชสีห์เสือโคร่ง
                         เสือเหลือง หมี กระบือ กวางและหมู อยู่ในป่า.

               ในบทเหล่านั้น บทว่า เมตฺตายมุปนามยึ อักษรเป็นบทสนธิ.
               อธิบายว่า แผ่เมตตาภาวนาไปในราชสีห์และเสือโคร่ง ซึ่งเป็นสัตว์ดุร้าย จะกล่าวไปใยถึงสัตว์ที่เหลือ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า เมตฺตาย เพราะเป็นเหตุเป็นไปแห่งเมตตา ได้แก่ เมตตาภาวนา. เราน้อมเมตตาเข้าหากัน คือน้อมโดยไม่เจาะจงในสัตว์ทั้งหลาย ปาฐะว่า สีหพฺยคฺเฆหิ ดังนี้บ้าง. ไม่ใช่เราเท่านั้น โดยที่แท้ในกาลนั้น เราอยู่ในป่าใดกับราชสีห์และเสือโคร่ง เราน้อมเมตตาในสัตว์ทั้งหลาย พร้อมกับราชสีห์และเสือโคร่งในป่านั้น เพราะแม้ราชสีห์และเสือโคร่ง ในครั้งนั้นก็ได้รับตอบความเป็นผู้มีจิตเมตตาในสัตว์ทั้งหลายด้วยอานุภาพอันยิ่งใหญ่ ไม่ต้องพูดถึงสัตว์นอกนั้นละ ท่านแสดงไว้ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า ปสทมิควราเหหิ คือ กวางและหมูป่า.
               บทว่า ปริวาเรตฺวา คือ เราอยู่ในป่าทำให้สัตว์เหล่านั้นแวดล้อมตน.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อทรงแสดงอานิสงส์และการบรรลุผลที่สุดที่ได้แล้ว ด้วยเมตตาภาวนาของพระองค์ในกาลนั้น จึงตรัสคาถาสุดท้ายว่า :-
                         สัตว์อะไรๆ มิได้สะดุ้งกลัวเรา แม้เราก็มิได้กลัวสัตว์อะไร
                         เพราะเราอันกำลังเมตตาค้ำจุน จึงยินดีอยู่ในป่าในกาลนั้น.

               บทนั้นมีความดังต่อไปนี้
               สัตว์ไรๆ แม้เป็นสัตว์ขี้ขลาดมีกระต่ายและแมวเป็นต้น ก็ไม่สะดุ้ง ไม่ตกใจกลัวเรา แม้เราก็มิได้กลัวแต่สัตว์อะไรๆ คือแต่สัตว์เดียรัจฉานมีราชสีห์และเสือโคร่งเป็นต้น แต่อมนุษย์มียักษ์เป็นต้น แต่มนุษย์หยาบช้ามีมือเต็มไปด้วยเลือด เพราะเหตุไร? เพราะเราอันกำลังเมตตาค้ำจุน คืออันอานุภาพแห่งเมตตาบารมีที่เราบำเพ็ญมาตลอดกาลนานค้ำจุน จึงยินดีอยู่ในป่าใหญ่นั้น ในกาลนั้น.
               บทที่เหลือเข้าใจง่ายดีแล้ว.
               อนึ่ง พระมหาสัตว์แผ่เมตตาไปในสรรพสัตว์อย่างนี้ เลี้ยงดูมารดาบิดาเป็นอย่างดี วันหนึ่งจะนำผลาผลมีรสอร่อยมาจากป่า จึงไหว้มารดาบิดา ซึ่งพักอยู่ที่อาศรม คิดว่า เราจักหาน้ำมา แวดล้อมด้วยฝูงเนื้อ ให้เนื้อสองตัวมารวมกันแล้ววางหม้อน้ำไว้บนหลังเนื้อทั้งสองเอามือคอยจับไว้ แล้วไปท่าน้ำ.
               ในสมัยนั้น พระราชาพระนามว่ากปิลยักษ์ ครองราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี. พระองค์อยากเสวยเนื้อกวาง จึงมอบราชสมบัติไว้กะมารดาสอดอาวุธทั้ง ๕ เสด็จเข้าป่าหิมพานต์ ล่ากวางแล้วเสวยเนื้อ เสด็จเที่ยวไปถึงแม่น้ำมิคสัมมตา ถึงท่าที่สุวรรณสามไปเอาน้ำโดยลำดับ ทรงเห็นรอยเท้ากวางจึงเสด็จตามไป ทรงเห็นสุวรรณสามเดินไป ทรงดำริว่า ตลอดกาลเพียงเท่านี้ เรายังไม่เคยเห็นมนุษย์เที่ยวไปอย่างนี้เลย มนุษย์ผู้นี้จะเป็นเทวดาหรือนาคหนอ หากเราเข้าไปถาม ก็จะหนีไปทันที. ดังนั้น ถ้ากระไร เรายิงมนุษย์นั้นทำให้หมดกำลังแล้วพึงถาม.
               ในขณะที่พระมหาสัตว์อาบน้ำ นุ่งผ้าเปลือกไม้ กระทำหนังเสือเหลืองเฉวียงบ่า ตักน้ำเต็มหม้อน้ำแล้วยกขึ้นตั้งไว้ที่จะงอยบ่าข้างซ้าย พระราชาทรงดำริว่า บัดนี้ได้เวลายิงแล้ว จึงยิงพระมหาสัตว์ที่ข้างขวาด้วยลูกศรอาบยาพิษ ลูกศรทะลุออกข้างซ้าย ฝูงกวางรู้ว่าพระโพธิสัตว์ถูกยิง ต่างก็กลัวพากันหนีไป.
               ส่วนสามบัณฑิต แม้ถูกยิงแล้วก็มิได้ตระหนกตกใจ คงแบกหม้อน้ำอยู่อย่างนั้น ตั้งสติค่อยๆ ยกลง เกลี่ยทรายวางไว้ กำหนดทิศทางนอนหันศีรษะไปทางทิศที่อยู่ของมารดาบิดา บ้วนโลหิตออกจากปาก กล่าวว่า เราไม่มีเวรกะใครๆ ชื่อว่า เวรในที่ไหนๆ ก็ไม่มีแก่เรา แล้วกล่าวคาถานี้ว่า :-
                                   ใครหนอยิงเราผู้เผลอกำลังแบกน้ำ
                         ด้วยลูกศร ใครเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์
                         ยิงเราแล้วแอบอยู่.

               พระราชาครั้นสดับดังนั้น ทรงดำริว่า มนุษย์นี้แม้ถูกเรายิงจนล้มลงบนแผ่นดิน ไม่ด่า ไม่บริภาษเรา ยังเรียกหาเราด้วยวาจาอ่อนหวานคล้ายจะบีบเนื้อหัวใจเรา เราจะไปหาเขา จึงเสด็จเข้าไปประกาศพระองค์ และรับว่าพระองค์ยิง แล้วตรัสถามพระมหาสัตว์ว่า ท่านเป็นใคร? หรือว่าเป็นบุตรใคร?
               สามบัณฑิตกล่าวว่า ข้าพเจ้าชื่อสามะ เป็นบุตรของฤๅษีเนสาทชื่อว่าทุกูลบัณฑิต ก็ท่านยิงข้าพเจ้าทำไม?
               พระราชาตรัสเท็จเป็นครั้งแรกว่า สำคัญว่ากวาง ทรงพลอยเศร้าโศกไปด้วยว่า เรายิงสามะนี้ผู้ไม่มีความผิดโดยใช่เหตุ แล้วทรงบอกตามความจริง ตรัสถามถึงที่อยู่ของมารดาบิดาของสามบัณฑิต แล้วเสด็จไป ณ ที่นั้น แล้วทรงแจ้งพระองค์ แก่ดาบสดาบสินี.
               มารดาบิดาของสามบัณฑิตได้ทำปฏิสันถาร ทรงบอกว่า เรายิงสามะเสียแล้ว. ทรงปลอบดาบสินีผู้ร่ำไห้เศร้าโศกว่า ข้าพเจ้าจะรับเลี้ยงดู ท่านทั้งสองเช่นเดียวกับที่สุวรรณสามเลี้ยงดูท่านทุกอย่าง แล้วทรงนำไปหาสามบัณฑิต.
               มารดาบิดาไปในที่นั้นแล้วพร่ำเพ้อรำพันมีประการต่างๆ แล้วคลำไปที่อกของสามบัณฑิต กล่าวว่า บนร่างกายบุตรของเรายังมีไออุ่นอยู่ คงจะสลบไปเพราะกำลังของพิษ คิดว่าเราจักทำสัจกิริยาเพื่อให้พิษออกไป จึงตั้งสัตยาธิษฐานว่า :-
                                   บุญอันใดที่พ่อสุวรรณสามทำแล้ว แก่
                         มารดาและบิดา ด้วยอานุภาพแห่งบุญนั้นทั้ง
                         หมด ขอพิษจงหายไปเถิด.

               ทุกูลบัณฑิต ผู้เป็นบิดาก็ตั้งสัตยาธิษฐานอย่างเดียวกับที่นางปาริกาดาบสินีอธิษฐาน.
               เมื่อเทพธิดาทำสัจกิริยาว่า :-
                                   เราอยู่ที่เขาคันธมาทน์มาเป็นเวลานาน
                         เราไม่รักใครยิ่งกว่าสามะนี้เลย ด้วยความสัตย์
                         ขอให้พิษจงหายไป.
               พระมหาสัตว์ก็ลุกขึ้นทันที ความเจ็บปวดก็หมดไป ดุจหยาดน้ำบนใบบัวฉะนั้น อวัยวะตรงที่ถูกยิงก็หายเป็นปกติ จักษุทั้งสองข้างของมารดาบิดาก็ปรากฏเป็นปกติ.
               ทันใดนั้นก็เกิดอัศจรรย์ ๔ อย่างขึ้นในขณะเดียวกัน คือ พระมหาสัตว์หายจากโรค ๑ มารดาบิดาได้จักษุ ๑ อรุณขึ้น ๑ คนทั้ง ๔ ปรากฏอยู่ ณ อาศรม ๑.
               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์กระทำปฏิสันถารกับพระราชา แล้วแสดงธรรมถวาย โดยนัยมีอาทิว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรมเถิด แล้วถวายโอวาทให้ยิ่งขึ้นไป ได้ให้ศีล ๕.
               พระราชารับโอวาทของพระมหาสัตว์ด้วยพระเศียร ทรงไหว้แล้วเสด็จกลับกรุงพาราณสี ทรงทำบุญมีทานเป็นต้น แล้วได้ไปสู่สวรรค์.
               แม้พระโพธิสัตว์กับมารดาบิดาก็ยังอภิญญาและสมาบัติให้เกิด เมื่อสิ้นอายุก็ไปเกิดบนพรหมโลก
               พระราชาในครั้งนั้นได้เป็นพระอานนทเถระในครั้งนี้.
               เทพธิดา คือนางอุบลวรรณา.
               ท้าวสักกะ คือพระอนุรุทธะ.
               บิดา คือพระมหากัสสปเถระ.
               มารดา คือนางภัททกาปิลานี.
               สามบัณฑิต คือพระโลกนาถ.
               พึงเจาะจงกล่าวบารมีที่เหลือของพระโพธิสัตว์นั้น โดยนัยดังได้กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.
               อนึ่ง พึงประกาศคุณานุภาพมีอาทิอย่างนี้ คือ
               การที่พระโพธิสัตว์แม้ถูกยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ โดยเข้าไปข้างขวาแล้วทะลุออกข้างซ้ายไม่แสดงอาการเจ็บปวดแต่อย่างไร แล้วยังค่อยๆ วางหม้อน้ำลงบนแผ่นดิน.
               ความไม่มีวิการทางจิตในบุคคลผู้ฆ่า แม้ไม่รู้จักก็เหมือนรู้จัก. การเปล่งเสียงด้วยคำน่ารัก. ความเศร้าโศกเพียงว่า เราเสื่อมจากบุญ คือการบำรุงมารดาบิดา.
               เมื่อโรคหายยังตั้งความกรุณาและเมตตา แล้วแสดงธรรมถวายพระราชา. การให้โอวาท.
               จบอรรถกถาสุวรรณสามจริยาที่ ๑๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก การบำเพ็ญเนกขัมมบารมีเป็นต้น ๑๓. สุวรรณสามจริยา จบ.
อ่านอรรถกถา 33.3 / 1อ่านอรรถกถา 33.3 / 32อรรถกถา เล่มที่ 33.3 ข้อ 33อ่านอรรถกถา 33.3 / 34อ่านอรรถกถา 33.3 / 36
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=9412&Z=9421
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=52&A=6667
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=52&A=6667
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :