ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]อ่านอรรถกถา 33.3 / 1อ่านอรรถกถา 33.3 / 35อรรถกถา เล่มที่ 33.3 ข้อ 36
อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก
สโมธานกถา

หน้าต่างที่ ๒ / ๗.

               ปกิณณกกถา               
               เพื่อความฉลาดหลายประการในโพธิสมภารของกุลบุตรทั้งหลาย ผู้ตั้งอยู่ในฐานะนั้นมีความอุตสาหะในการปฏิบัติเพื่อไปสู่มหาโพธิญาณ จึงควรกล่าวปกิณณกกถาในบารมีทั้งปวง.
               ในบารมีนั้นมีปัญหาดังต่อไปนี้ :-
               บารมีนั้นคืออะไร บารมีเพราะอรรถว่ากระไร บารมีมีกี่อย่าง ลำดับของบารมีเป็นอย่างไร อะไรเป็นลักษณะ รสปัจจุปัฏฐานและปทัฏฐาน อะไรเป็นปัจจัย อะไรเป็นความเศร้าหมอง อะไรเป็นความผ่องแผ้ว อะไรเป็นปฏิปักษ์ อะไรเป็นข้อปฏิบัติ อะไรเป็นการจำแนก อะไรเป็นการสงเคราะห์ อะไรเป็นอุบายให้สำเร็จ ให้สำเร็จโดยกาลไหน อะไรเป็นอานิสงส์ และอะไรเป็นผลของบารมีเหล่านั้น.
               คำตอบมีดังต่อไปนี้ :-
               บารมีคืออะไร?
               บารมีคือคุณธรรมทั้งหลายมีทานเป็นต้น กำหนดด้วยความเป็นผู้ฉลาดในอุบายคือกรุณา อันตัณหามานะและทิฏฐิไม่เข้าไปกำจัด.
               บารมีเพราะอรรถว่ากระไร?
               พระมหาสัตว์พระโพธิสัตว์เป็นผู้ยอดยิ่ง เพราะสูงกว่าสัตว์ด้วยการประกอบคุณวิเศษมีทานและศีลเป็นต้น ความเป็นหรือการกระทำของพระโพธิสัตว์เหล่านั้นเป็นบารมี กรรมมีการบำเพ็ญเป็นต้นก็เป็นบารมี.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าปรม เพราะอรรถว่าบำเพ็ญ. ชื่อว่าโพธิสัตตะ เพราะอรรถว่าเป็นผู้บำเพ็ญและเป็นผู้รักษาคุณทั้งหลายมีทานเป็นต้น. คุณดังกล่าวมานี้เป็นบารมีของผู้บำเพ็ญ. ภาวะก็ดี กรรมก็ดีเป็นบารมีของผู้บำเพ็ญ. กรรมมีการบำเพ็ญทานเป็นต้นก็เป็นบารมีของพระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญ.
               อีกอย่างหนึ่ง บารมีย่อมผูกสัตว์อื่นไว้ในตนด้วยการประกอบคุณวิเศษ. หรือบารมีย่อมขัดเกลาสัตว์อื่นให้หมดจดจากมลทินคือกิเลส. หรือบารมีย่อมถึงนิพพานอันประเสริฐที่สุดด้วยคุณวิเศษ. หรือบารมีย่อมกำหนดรู้โลกอื่นดุจรู้โลกนี้ด้วยคุณวิเศษคือญาณอันเป็นการกำหนดแล้ว. หรือบารมีย่อมตักตวงคุณมีศีลเป็นต้นอื่นไว้ในสันดานของตนเป็นอย่างยิ่ง. หรือบารมีย่อมทำลายปฏิปักษ์อื่นจากธรรมกาย อันเป็นอัตตาหรือหมู่โจรคือกิเลสอันทำความพินาศแก่ตนนั้น เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าปรมะ.
               สัตว์ใดประกอบด้วยปรมะดังกล่าวมานี้ สัตว์นั้นชื่อว่ามหาสัตว์.
               คำเป็นต้นว่า ปรมสฺส อยํ ดังนี้ก็พึงประกอบตามนัยที่กล่าวมาแล้ว.
               หรือบารมีย่อมขัดเกลาคือย่อมบริสุทธิ์ ในฝั่งคือพระนิพพาน และยังสัตว์ทั้งหลายให้หมดจด. หรือบารมีย่อมผูกย่อมประกอบสัตว์ทั้งหลายไว้ในพระนิพพานนั้น. หรือบารมีย่อมไปย่อมถึงย่อมบรรลุถึงพระนิพพานนั้น. หรือบารมีย่อมกำหนดรู้ซึ่งพระนิพพานนั้นตามความเป็นจริง. หรือบารมีย่อมตักตวงซัดสัตว์ไว้ในพระนิพพานนั้น. หรือบารมีย่อมกำจัดข้าศึกคือกิเลสของสัตว์ทั้งหลายไว้ในพระนิพพานนั้น. ฉะนั้นจึงชื่อว่าบารมี.
               บุรุษใดบำเพ็ญบารมีดังกล่าวมานี้ บุรุษนั้นชื่อว่ามหาบุรุษ.
               ความเป็นหรือการกระทำของมหาบุรุษนั้น ชื่อว่าความเป็นผู้มีบารมี. กรรมมีการบำเพ็ญทานเป็นต้นก็เป็น ความเป็นผู้มีบารมี พึงทราบอรรถแห่งศัพท์ว่าบารมีโดยนัยดังกล่าวนี้แล.
               บารมีมีกี่อย่าง?
               โดยย่อมี ๑๐ อย่าง. บารมีเหล่านั้นปรากฏโดยสรุปในบาลี.
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-
                                   ในกาลนั้น เราเลือกทานบารมีอันเป็นทาง
                         ใหญ่ ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่แต่ก่อนประพฤติ
                         มาแล้ว เป็นครั้งแรก ได้เห็นแล้ว.

               ดังที่พระสารีบุตรทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมอันทำให้เป็นพระพุทธเจ้ามีเท่าไร พระเจ้าข้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนสารีบุตร ธรรมอันทำให้เป็นพระพุทธเจ้ามี ๑๐ ประการแล. ธรรม ๑๐ ประการคืออะไรบ้าง?
               ดูก่อนสารีบุตร ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา เป็นธรรมทำให้เป็นพระพุทธเจ้า.
               ดูก่อนสารีบุตร ธรรม ๑๐ ประการเหล่านี้แล เป็นพุทธการกธรรม.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดังนี้แล้ว พระสุคตครั้นตรัสพุทธพจน์นี้ พระศาสดาตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า :-
                         บารมี ๑๐ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา
                         วีริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา.

               แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่ามี ๖ อย่าง. ท่านกล่าวดังนั้นด้วยการสงเคราะห์บารมีเหล่านั้น. การสงเคราะห์นั้นจักมีแจ้งข้างหน้า.
               บทว่า กโม ในบทว่า โก ตาสํ กโม. ลำดับของบารมีเหล่านั้นเป็นอย่างไร?
               นี้เป็นลำดับแห่งเทศนา.
               อนึ่ง ลำดับนั้นเป็นเหตุแห่งการสมาทานครั้งแรก. การสมาทานเป็นเหตุแห่งการค้นคว้า. ด้วยประการฉะนี้ จึงเป็นอันแสดงโดยอาการค้นคว้าและสมาทานในเบื้องต้น.
               ในบารมีเหล่านั้น ทานมีอุปการะมากแก่ศีลและทำได้ง่าย เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวทานนั้นไว้ในเบื้องต้น.
               ทานอันศีลกำหนดจึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวศีลในลำดับของทาน. ศีลอันเนกขัมมะกำหนด. เนกขัมมะอันปัญญากำหนด. ปัญญาอันวีริยะกำหนด. วีริยะอันขันติกำหนด. ขันติอันสัจจะกำหนด. สัจจะอันอธิษฐานกำหนด. อธิษฐานอันเมตตากำหนด. เมตตาอันอุเบกขากำหนด จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวอุเบกขาในลำดับแห่งเมตตา.
               แต่พึงทราบว่า อุเบกขาอันกรุณากำหนดและกรุณาอันอุเบกขากำหนด.
               พระโพธิสัตว์ทั้งหลายมีมหากรุณา จึงเป็นผู้มีอุเบกขาในสัตว์ทั้งหลายอย่างไร?
               อาจารย์บางพวกกล่าวว่า พระโพธิสัตว์ทั้งหลายเป็นผู้วางเฉยตลอดอย่างใดอย่างหนึ่งในที่ควรวางเฉย แต่ไม่วางเฉยในที่ทั้งปวง และโดยประการทั้งปวง.
               ส่วนอาจารย์เหล่าอื่นกล่าวว่า พระโพธิสัตว์ทั้งหลายไม่วางเฉยในสัตว์ทั้งหลาย แต่วางเฉยในความไม่เหมาะสมที่สัตว์กระทำ.
               อีกนัยหนึ่ง ท่านกล่าวทานในเบื้องต้นเพราะเป็นสิ่งทั่วไปแก่สรรพสัตว์ โดยเป็นไปแม้ในชนเป็นอันมาก เพราะมีผลน้อยและเพราะทำได้ง่าย.
               ท่านกล่าวศีลในลำดับของทาน เพราะความบริสุทธิ์ของผู้ให้และผู้รับด้วยศีล เพราะกล่าวถึงการอนุเคราะห์ผู้อื่น แล้วกล่าวถึงความไม่เบียดเบียนผู้อื่น เพราะกล่าวถึงธรรมที่ควรทำ แล้วกล่าวถึงธรรมที่ไม่ควรทำ เพราะกล่าวถึงเหตุแห่งโภคสมบัติ แล้วจึงกล่าวถึงเหตุแห่งภวสมบัติ.
               ท่านกล่าวเนกขัมมะในลำดับของศีล เพราะความสำเร็จศีลสมบัติด้วยเนกขัมมะ เพราะกล่าวถึงกายสุจริตและวจีสุจริต แล้วจึงกล่าวถึงมโนสุจริต เพราะศีลบริสุทธิ์ให้สำเร็จฌานโดยง่าย เพราะกล่าวถึงความบริสุทธิ์ในความขวนขวายด้วยการละโทษของกรรม แล้วกล่าวถึงความบริสุทธิ์แห่งอัธยาศัยด้วยการละโทษของกิเลส และเพราะกล่าวถึงการละการครอบงำจิตด้วยการละความก้าวล่วง.
               ท่านกล่าวปัญญาในลำดับเนกขัมมะ เพราะความสำเร็จและความบริสุทธิ์แห่งเนกขัมมะด้วยปัญญา เพราะกล่าวถึงความไม่มีปัญญาด้วยไม่มีฌาน.
               จริงอยู่ ปัญญามีสมาธิเป็นปทัฏฐาน และสมาธิมีปัญญาเป็นปัจจุปัฏฐาน. เพราะกล่าวถึงสมถนิมิตแล้วจึงกล่าวถึงอุเบกขานิมิต เพราะกล่าวถึงความฉลาดในอุบายอันทำประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วยการตั้งใจทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น.
               ท่านกล่าววีริยะในลำดับของปัญญา เพราะความสำเร็จกิจด้วยปัญญาโดยปรารภความเพียร เพราะกล่าวถึงความอดทนด้วยการเพ่งธรรมคือความสูญของสัตว์ แล้วจึงกล่าวถึงความอัศจรรย์ของการปรารภเพื่อประโยชน์แก่สัตว์ เพราะกล่าวถึงอุเบกขานิมิต แล้วจึงกล่าวถึงปัคนิมิต คือนิมิตในการประคับประคองจิต และเพราะกล่าวถึงความใคร่ครวญก่อนทำแล้วจึงกล่าวถึงความเพียร เพราะความเพียรของผู้ใคร่ครวญแล้วทำ ย่อมนำมาซึ่งผลวิเศษ.
               ท่านกล่าวขันติในลำดับของความเพียร เพราะความสำเร็จแห่งความอดกลั้นด้วยความเพียร.
               จริงอยู่ คนมีความเพียรย่อมครอบงำทุกข์ที่สัตว์และสังขารนำเข้าไปเพราะปรารภความเพียรแล้ว. เพราะความเพียรเป็นอลังการของความอดกลั้น.
               จริงอยู่ ความอดกลั้นของผู้มีความเพียรย่อมงาม เพราะกล่าวถึงปัคคหนิมิตแล้วจึงกล่าวถึงสมถนิมิต เพราะกล่าวถึงการละอุทธัจจและโทสะด้วยความเพียรยิ่ง.
               จริงอยู่ อุทธัจจะและโทสะละได้ด้วยความอดทนในการเพ่งธรรม. เพราะกล่าวถึงการทำความเพียรติดต่อของผู้มีความเพียร.
               จริงอยู่ ผู้หนักด้วยขันติเป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่านทำความเพียรติดต่อ เพราะกล่าวถึงความไม่มีตัณหา เพื่อทำตอบในการปรารภทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นของผู้ไม่ประมาท.
               จริงอยู่ เมื่อความเพ่งธรรมตามความเป็นจริงมีอยู่ ตัณหาย่อมไม่มี. และเพราะกล่าวถึงความอดกลั้นทุกข์ที่ผู้อื่นทำในการปรารภประโยชน์เพื่อผู้อื่น.
               ท่านกล่าวสัจจะในลำดับของขันติ เพราะขันติตั้งอยู่ได้นานด้วยสัจจะ เพราะกล่าวถึงความอดทนต่อความเสียหายของผู้ทำความเสียหาย แล้วกล่าวถึงความไม่ผิดพลาดในการทำอุปการะนั้น. และเพราะกล่าวถึงความอดทนในการเพ่งธรรม คือความสูญของสัตว์ แล้วกล่าวถึงสัจจะอันเป็นญาณเพิ่มพูนขันตินั้น.
               ท่านกล่าวอธิษฐานในลำดับของสัจจะ เพราะความสำเร็จแห่งสัจจะด้วยอธิษฐาน เพราะการงดเว้นย่อมสำเร็จแก่ผู้ตั้งใจไม่หวั่นไหว. เพราะกล่าวคำไม่ผิดความจริง แล้วกล่าวถึงความเป็นผู้ไม่หวั่นไหว ในการกล่าวคำไม่ผิดความจริงนั้น.
               จริงอยู่ ผู้ไว้ใจได้ไม่หวั่นไหว ประพฤติตามสมควรแก่ปฏิญญาในทานเป็นต้น เพราะกล่าวญาณสัจจะแล้วจึงกล่าวถึงการเพ่งความเป็นไปในสัมภาระทั้งหลาย.
               จริงอยู่ ผู้มีญาณตามเป็นจริงย่อมอธิษฐานโพธิสมภารทั้งหลาย และยังโพธิสมภารนั้นให้สำเร็จ เพราะไม่หวั่นไหวด้วยปฏิปักษ์ทั้งหลาย.
               ท่านกล่าวเมตตาในลำดับแห่งอธิษฐาน เพราะความสำเร็จแห่งอธิษฐานด้วยการสมาทานทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นด้วยเมตตา เพราะกล่าวถึงอธิษฐานแล้วจึงกล่าวถึงการนำประโยชน์เข้าไป เพราะผู้ดำรงมั่นในโพธิสมภารเป็นผู้มีปกติอยู่ด้วยเมตตา. และเพราะผู้มีอธิษฐานไม่หวั่นไหว ยังสมาทานให้เจริญด้วยการไม่ทำลายสมาทาน.
               ท่านกล่าวอุเบกขาในลำดับแห่งเมตตา เพราะความบริสุทธิ์แห่งเมตตาด้วยอุเบกขา เพราะกล่าวถึงการนำประโยชน์ในสัตว์ทั้งหลาย แล้วจึงกล่าวถึงความไม่สนใจโทษผิดของผู้นั้น เพราะกล่าวถึงเมตตาภาวนา แล้วกล่าวถึงความเจริญอันเป็นผลของเมตตาภาวนานั้น และเพราะกล่าวถึงความเป็นคุณน่าอัศจรรย์ว่า ผู้วางเฉยแม้ในสัตว์ผู้ใคร่ประโยชน์ พึงทราบลำดับแห่งบารมีทั้งหลายเหล่านั้นด้วยประการ ฉะนี้แล.
               ในบทว่า อะไรเป็นลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐานและปทัฏฐานนี้พึงทราบความดังต่อไปนี้.
               โดยความไม่ต่างกัน
               บารมีแม้ทั้งหมดมีการอนุเคราะห์ผู้อื่นเป็นลักษณะ มีการทำอุปการะแก่ผู้อื่นเป็นรส หรือมีความไม่หวั่นไหวเป็นรส. มีการแสวงหาสิ่งที่เป็นประโยชน์เป็นปัจจุปัฏฐาน หรือมีความเป็นพระพุทธเจ้าเป็นปัจจุปัฏฐาน. มีมหากรุณาเป็นปทัฏฐาน หรือมีความเป็นผู้ฉลาดในอุบายแห่งกรุณาเป็นปทัฏฐาน.
               แต่โดยความต่างกัน
               เพราะเจตนาบริจาคเครื่องอุปกรณ์ของตนกำหนดด้วยความเป็นผู้ฉลาดในอุบายแห่งกรุณาเป็นทานบารมี.
               กายสุจริต วจีสุจริต กำหนดด้วยความเป็นผู้ฉลาดในอุบายแห่งกรุณา และโดยใจความ เจตนาเว้นสิ่งไม่ควรทำและทำสิ่งที่ควรทำเป็นต้นเป็นศีลบารมี.
               จิตเกิดขึ้นเพื่อจะออกจากกามภพ มีการเห็นโทษเป็นอันดับแรก กำหนดด้วยความเป็นผู้ฉลาดในอุบายแห่งกรุณา เป็นเนกขัมบารมี.
               ความเข้าใจถึงลักษณะวิเศษอันเสมอกันแห่งธรรมทั้งหลาย กำหนดด้วยความเป็นผู้ฉลาดในอุบายแห่งกรุณา เป็นปัญญาบารมี.
               การปรารภถึงประโยชน์ของผู้อื่นด้วยกายและจิต กำหนดด้วยความเป็นผู้ฉลาดในอุบายแห่งกรุณา เป็นวีริยบารมี.
               การอดกลั้นโทษของสัตว์และสังขารกำหนดด้วยความเป็นผู้ฉลาดในอุบายแห่งกรุณา การตั้งอยู่ในอโทสะ จิตเกิดขึ้นเป็นไปในอาการของอโทสะนั้น เป็นขันติบารมี.
               การพูดไม่ผิดมีวิรัติเจตนาเป็นต้น กำหนดด้วยความเป็นผู้ฉลาดในอุบายแห่งกรุณา เป็นสัจบารมี.
               การตั้งใจสมาทานไม่หวั่นไหว กำหนดด้วยความเป็นผู้ฉลาดในอุบายแห่งกรุณา จิตเกิดขึ้นเป็นไปในอาการแห่งความตั้งใจสมาทานไม่หวั่นไหวนั้น เป็นอธิษฐานบารมี.
               การนำประโยชน์สุขให้แก่โลก กำหนดด้วยความเป็นผู้ฉลาดในอุบายแห่งกรุณา โดยถือความไม่พยาบาท เป็นเมตตาบารมี.
               การกำจัดความเสื่อมและความเคียดแค้น กำหนดด้วยความเป็นผู้ฉลาดในอุบายแห่งกรุณา. ความเป็นไปเสมอในสัตว์และสังขารทั้งหลายทั้งที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา เป็นอุเบกขาบารมี.
               ฉะนั้น ทานบารมีมีการบริจาคเป็นลักษณะ มีการกำจัดโลภในไทยธรรมเป็นรส มีความสามารถเป็นปัจจุปัฏฐาน หรือมีภวสมบัติและวิภวสมบัติเป็นปัจจุปัฏฐาน. มีวัตถุอันควรบริจาคเป็นปทัฏฐาน.
               ศีลบารมีมีการละเว้นเป็นลักษณะ.
               ท่านอธิบายว่า มีการสมาทานเป็นลักษณะ และมีการตั้งมั่นเป็นลักษณะ. มีการกำจัดความเป็นผู้ทุศีลเป็นรส หรือมีความไม่มีโทษเป็นรส. มีความสะอาดเป็นปัจจุปัฏฐาน. มีหิริโอตตัปปะเป็นปทัฏฐาน.
               เนกขัมมบารมีมีการออกจากกามและจากความมีโชคเป็นลักษณะ. มีการประกาศโทษของกามนั้นเป็นรส. มีความหันหลังจากโทษนั้นเป็นปัจจุปัฏฐาน. มีความสังเวชเป็นปทัฏฐาน.
               ปัญญาบารมีมีการรู้แจ้งแทงตลอดตามสภาวธรรมเป็นลักษณะ หรือการรู้แจ้งแทงตลอดไม่พลาดเป็นลักษณะ ดุจการซัดธนูและยิงด้วยลูกศรของคนฉลาด. มีแสงสว่างตามวิสัยเป็นรสดุจประทีป. มีความไม่หลงเป็นปัจจุปัฏฐาน ดุจคนนำทางไปในป่า. มีสมาธิเป็นปทัฏฐาน หรือมีอริยสัจ ๔ เป็นปทัฏฐาน.
               วีริยบารมีมีอุตสาหะเป็นลักษณะ. มีการอุปถัมภ์เป็นรส. มีการไม่จมเป็นปัจจุปัฏฐาน. มีวัตถุปรารภความเพียรเป็นปทัฏฐาน. หรือมีความสังเวชเป็นปทัฏฐาน.
               ขันติบารมีมีความอดทนเป็นลักษณะ. มีความอดกลั้นสิ่งที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนาเป็นรส. มีความอดกลั้นเป็นปัจจุปัฏฐาน. หรือมีความไม่โกรธเป็นปัจจุปัฏฐาน. มีเห็นตามความจริงเป็นปทัฏฐาน.
               สัจจบารมีมีการไม่พูดผิดเป็นลักษณะ. มีการประกาศตามความเป็นจริงเป็นรส. มีความชื่นใจเป็นปัจจุปัฏฐาน. มีความสงบเสงี่ยมเป็นปทัฏฐาน.
               อธิษฐานบารมีมีความตั้งใจในโพธิสมภารเป็นลักษณะ. มีการครอบงำสิ่งเป็นปฏิปักษ์ของโพธิสมภารเหล่านั้นเป็นรส. มีความไม่หวั่นไหวในการครอบงำสิ่งเป็นปฏิปักษ์เป็นปัจจุปัฏฐาน. มีโพธิสมภารเป็นปทัฏฐาน.
               เมตตบารมีมีความเป็นไปแห่งอาการเป็นประโยชน์เป็นลักษณะ. มีการนำประโยชน์เข้าไปเป็นรส. หรือมีการกำจัดความอาฆาตเป็นรส. มีความสุภาพเป็นปัจจุปัฏฐาน. มีการเห็นสัตว์ทั้งหลายเป็นที่น่าพอใจเป็นปทัฏฐาน.
               อุเบกขาบารมีมีความเป็นไปโดยอาการที่เป็นกลางเป็นลักษณะ. มีเห็นความเสมอกันเป็นรส. มีการสงบความเคียดแค้นและความเสื่อมเป็นปัจจุปัฏฐาน. มีการพิจารณาความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตนเป็นปทัฏฐาน.
               อนึ่งในบทนี้ ควรกล่าวถึงบารมีโดยความต่างกันแห่งลักษณะ มีการบริจาคเป็นต้น ของทานเป็นต้น เพราะกำหนดด้วยความเป็นผู้ฉลาดในอุบายแห่งกรุณา.
               จริงอยู่ ทานเป็นต้นกำหนดด้วยความเป็นผู้ฉลาดในอุบายแห่งกรุณา เป็นไปแล้วในสันดานของพระโพธิสัตว์ ชื่อว่าบารมีมีทานบารมีเป็นต้น.
               อะไรเป็นปัจจัย?
               อภินิหารเป็นปัจจัยแห่งบารมีทั้งหลาย.
               จริงอยู่ อภินิหารใดยังธรรมสโมธาน ๘ ให้ถึงพร้อม.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ว่า :-
                                   อภินิหารย่อมสำเร็จเพราะธรรมสโมธาน
                         ๘ ประการ คือ ความเป็นมนุษย์ ๑ ลิงคสมบัติ ๑
                         เหตุ ๑ เห็นศาสดา ๑ บรรพชา ๑ คุณสมบัติ ๑
                         อธิการ ๑ ความพอใจ ๑.

               อันเป็นไปแล้วโดยนัยมีอาทิว่า เราข้ามแล้วพึงให้สัตว์ข้าม เราพ้นแล้วพึงให้สัตว์พ้น เราฝึกแล้วพึงให้สัตว์ฝึก เราสงบแล้วพึงให้สัตว์สงบ เราหายใจคล่องแล้วพึงให้สัตว์หายใจคล่อง เรานิพพานแล้วพึงให้สัตว์นิพพาน เราบริสุทธิ์แล้วพึงให้สัตว์บริสุทธิ์ เราตรัสรู้แล้วพึงให้สัตว์ตรัสรู้ ดังนี้.
               อภินิหารนั้นเป็นปัจจัยแห่งบารมีทั้งปวงโดยไม่ต่างกัน.
               ความสำเร็จแห่งการค้นคว้า การตั้งมั่น การตั้งใจสมาทานบารมีให้สูงขึ้นไปเพราะความเป็นไปแห่งปัจจัยนั้น ย่อมมีแก่พระมหาบุรุษทั้งหลาย.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า มนุสฺสตฺตํ คือ อัตภาพของมนุษย์.
               เพราะความปรารถนาย่อมสำเร็จแก่ผู้ตั้งอยู่ในอัตภาพของมนุษย์เท่านั้นแล้วปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้า. ไม่สำเร็จแก่ผู้ตั้งอยู่ในชาติมีนาค และครุฑเป็นต้น.
               ถ้าถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะสมควรแก่ความเป็นพระพุทธเจ้า.
               บทว่า ลิงฺคสมฺปตฺติ ความว่า แม้ตั้งอยู่ในอัตภาพของมนุษย์ ความปรารถนาย่อมสำเร็จแก่บุรุษเท่านั้น, ไม่สำเร็จแก่สตรี บัณเฑาะก์คือกะเทย นปุงสกะคือไม่มีเพศชายหญิง อุภโตพยัญชนกะคือปรากฏทั้งสองเพศ.
               ถ้าถามว่า เพราะอะไร?
               ตอบว่า เพราะเหตุตามที่ได้กล่าวแล้ว และเพราะไม่มีความบริบูรณ์แห่งลักษณะ.
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันการที่สตรีจะพึงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะเป็นได้.
               เพราะฉะนั้น ความปรารถนาจึงไม่สำเร็จ แม้แก่มนุษย์ผู้ตั้งอยู่ในเพศสตรี หรือแก่บัณเฑาะก์เป็นต้น.
               บทว่า เหตุ คือ ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย.
               จริงอยู่ ความปรารถนาย่อมสำเร็จแก่มนุษย์บุรุษผู้สมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย เพราะเหตุสมบัติ. นอกนั้นไม่สำเร็จ.
               บทว่า สตฺถารทสฺสนํ คือ ความมีพระศาสดาอยู่เฉพาะหน้า.
               เพราะความปรารถนาย่อมสำเร็จแก่ผู้ปรารถนาในสำนักของพระพุทธเจ้าซึ่งยังทรงพระชนม์อยู่. เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้ว ความปรารถนาย่อมไม่สำเร็จในสำนักของพระเจดีย์ ที่โคนโพธิ์ ที่พระปฏิมา หรือที่สำนักของพระปัจเจกพุทธเจ้าและสาวกของพระพุทธเจ้า.
               เพราะเหตุไร? เพราะไม่มีอธิการ คือวิสัยที่ทำยิ่ง มีกำลัง.
               ความปรารถนาจะสำเร็จในสำนักของพระพุทธเจ้าเท่านั้น. เพราะอธิการนั้นยังไม่ถึงความมีกำลังโดยความเป็นอัธยาศัยอันยิ่ง.
               บทว่า ปพฺพชฺชา คือ ความปรารถนาย่อมสำเร็จแก่ผู้ปรารถนาในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ตรัสรู้แล้ว ผู้บวชในสำนักดาบสหรือในสำนักของภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นกรรมกิริยวาทีคือผู้เชื่อกรรมและผลของกรรม ไม่สำเร็จแก่ผู้ตั้งอยู่ในเพศคฤหัสถ์.
               เพราะเหตุไร? เพราะไม่สมควรเป็นพระพุทธเจ้า.
               เพราะบรรพชิตเท่านั้นเป็นพระมหาโพธิสัตว์ ย่อมบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณได้ มิใช่เป็นคฤหัสถ์ เพราะฉะนั้น ในเวลาตั้งปณิธานควรเป็นเพศของบรรพชิตเท่านั้น เพราะเป็นการอธิษฐานด้วยคุณสมบัติโดยแท้.
               บทว่า คุณสมฺปตฺติ คือ ถึงพร้อมด้วยคุณมีอภิญญาเป็นต้น.
               เพราะความปรารถนาย่อมสำเร็จแม้แก่บรรพชิต ผู้ได้สมาบัติ ๘ มีอภิญญา ๕ เท่านั้น ไม่สำเร็จแก่ผู้ปราศจากคุณสมบัติตามที่กล่าวแล้ว.
               เพราะเหตุไร? เพราะสามารถค้นคว้าบารมีได้.
               พระมหาบุรุษบำเพ็ญอภินิหาร เป็นผู้สามารถค้นคว้าบารมีได้ด้วยตนเอง เพราะประกอบด้วยอุปนิสัยสมบัติและอภิญญาสมบัติ.
               บทว่า อธิกาโร คือ มีอุปการะยิ่ง.
               จริงอยู่ ผู้ใดแม้ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติตามที่กล่าวแล้ว แม้ชีวิตของตนก็สละแด่พระพุทธเจ้าได้ ย่อมทำอุปการะอันยิ่งในกาลนั้น. อภินิหารย่อมสำเร็จแก่ผู้นั้น ไม่สำเร็จแก่คนนอกนี้.
               บทว่า ฉนฺทตา คือพอใจในกุศลด้วยความใคร่ที่จะทำ.
               จริงอยู่ ความปรารถนาย่อมสำเร็จแก่ผู้ประกอบด้วยธรรมตามที่กล่าวแล้ว มีความพอใจมาก มีความปรารถนามาก มีความใคร่เพื่อจะทำมาก เพื่อประโยชน์แก่ธรรมอันทำให้เป็นพระพุทธเจ้าเท่านั้น ไม่สำเร็จแก่คนนอกนี้.
               ต่อไปนี้เป็นความเปรียบเทียบ เพราะความเป็นผู้มีฉันทะใหญ่.
               พึงทราบความที่ฉันทะเป็นความใหญ่หลวง ในบทว่า ฉนฺทตา นี้ โดยนัยมีอาทิดังต่อไปนี้:-
               บุคคลฟังมาว่า ผู้ใดสามารถข้ามท้องจักรวาลนี้ทั้งสิ้นอันมีน้ำท่วมนองเป็นอันเดียวกัน ด้วยกำลังแขนของตนเท่านั้นแล้วจะถึงฝั่งได้ ผู้นั้นย่อมถึงความเป็นพระพุทธเจ้า แล้วไม่ย่อท้อเพราะทำได้ยาก กลับพอใจว่า เราจักข้ามถึงฝั่งได้. ไม่แสดงอาการสยิ้วหน้าในกาลนั้นเลย.
               อนึ่ง บุคคลฟังมาว่า ผู้ใดเหยียบจักรวาลนี้ทั้งสิ้นอันเต็มไปด้วยถ่านเพลิงปราศจากเปลวไฟ ปราศจากควันไฟด้วยเท้าทั้งสองสามารถก้าวเลยไปถึงฝั่งได้. ผู้นั้นย่อมถึงความเป็นพระพุทธเจ้า. แล้วไม่ย่อท้อเพราะทำได้ยาก กลับพอใจว่า เราจักก้าวเลยไปถึงฝั่งได้. เขาไม่แสดงอาการสยิ้วหน้าในการนั้นเลย.
               อนึ่ง บุคคลฟังมาว่า ผู้ใดสามารถทะลุจักรวาลทั้งสิ้นปกคลุมด้วยพุ่มไม้ไผ่หนาทึบ รกรุงรังไปด้วยป่าหนามและเถาวัลย์ แล้วก้าวเลยไปถึงฝั่งได้ ฯลฯ เขาไม่แสดงอาการสยิ้วหน้าในการนั้นเลย.
               อนึ่ง บุคคลฟังมาว่า ผู้ใดที่หมกไหม้ในนรกตลอดอสงไขยแสนกัป จะพึงบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้า แล้วไม่ย่อท้อเพราะได้ยากกลับพอใจว่า เราจักหมกไหม้ในนรกนั้น แล้วบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้า. เขาไม่แสดงอาการสยิ้วหน้าในการนั้นเลย.
               อภินิหารประกอบด้วยองค์ ๘ นี้ อย่างนี้โดยเนื้อความพึงทราบว่า จิตตุปบาทที่เป็นไปอย่างนั้น เพราะประชุมองค์ ๘ เหล่านั้น.
               จิตตุปบาทนั้นมีการตั้งใจแน่วแน่เพื่อสัมมาสัมโพธิญาณโดยชอบนั่นเอง เป็นลักษณะ.
               มีความปรารถนามีอาทิอย่างนี้ว่า โอ เราพึงตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นลำดับไป. เราพึงยังประโยชน์สุขให้สำเร็จแก่สัตว์ เป็นรส.
               มีความเป็นเหตุแห่งโพธิสมภารเป็นปัจจุปัฏฐาน.
               มีมหากรุณาเป็นปทัฏฐาน หรือมีอุปนิสัยสมบัติเป็นปทัฏฐาน.
               พึงเห็นว่า บุญวิเศษอันเป็นมูลแห่งธรรมอันทำให้เป็นพระพุทธเจ้าทั้งปวงเป็นความเจริญอย่างยิ่ง เป็นความงามอย่างยิ่ง เป็นความสง่าหาประมาณมิได้ โดยความเป็นไปปรารภพุทธภูมิอันเป็นอจินไตย และประโยชน์ของสัตวโลกอันหาประมาณมิได้.
               อนึ่ง พระมหาบุรุษพร้อมด้วยการบรรลุนั้นแล เป็นผู้ชื่อว่าหยั่งลงสู่การปฏิบัติเพื่อบรรลุมหาโพธิญาณ ย่อมได้สมัญญาว่าพระโพธิสัตว์ เพราะมีสภาพไม่กลับจากนั้น เพราะบรรลุความเป็นของแน่นอน ความเป็นผู้เอาใจใส่สม่ำเสมอในสัมมาสัมโพธิญาณโดยภาวะทั้งปวง และความเป็นผู้สามารถศึกษาโพธิสมภารย่อมตั้งอยู่พร้อมแก่พระมหาบุรุษนั้น.
               จริงอยู่ พระมหาบุรุษทั้งหลายค้นคว้าบารมีทั้งปวงโดยชอบ ด้วยยังอภินิหารตามที่กล่าวแล้วให้สำเร็จ ด้วยบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ อันมีเพศเป็นเบื้องต้น ด้วยสยัมภูญาณ แล้วบรรลุโดยลำดับด้วยการถือมั่น เหมือนสุเมธบัณฑิตผู้บำเพ็ญอภินิหารไว้มากปฏิบัติแล้ว.
               ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า :-
                                   ดูเถิด เราค้นหาธรรมอันทำให้เป็นพระพุทธเจ้า
                         จากที่โน้นที่นี่ ทั้งเบื้องบนเบื้องต่ำตลอด ๑๐ ทิศจนถึง
                         ธรรมธาตุ เมื่อเราค้นหาในครั้งนั้นได้เห็นทานบารมี
                         เป็นอันดับแรก.

               ได้ยินว่า พึงทราบปัจจัย ๔ เหตุ ๔ และพละ ๔ แห่งอภินิหารนั้น.
               ในอภินิหารนั้น ปัจจัย ๔ เป็นอย่างไร?
               พระมหาบุรุษในโลกนี้ย่อมเห็นพระตถาคต ทรงกระทำปาฏิหาริย์น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี ด้วยพุทธานุภาพยิ่งใหญ่ จิตของพระมหาบุรุษนั้นย่อมตั้งอยู่ในมหาโพธิญาณ กระทำปาฏิหาริย์นั้นให้เป็นอารมณ์ เพราะอาศัยพระตถาคตนั้นว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ามีธรรมน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีและอานุภาพเป็นอจินไตยอย่างนี้ เพราะรู้แจ้งแทงตลอดธรรมธาตุใด ธรรมธาตุนี้มีอานุภาพมากหนอ.
               พระมหาบุรุษนั้นน้อมไปในสัมโพธิญาณนั้น ทำธรรมธาตุนั้นให้เป็นปัจจัยอาศัยการเห็นมหานุภาพนั้นนั่นแลย่อมตั้งจิตไว้ในอภินิหารนั้น.
               นี้เป็นปัจจัยที่ ๑ แห่งมหาภินิหาร.
               มหาบุรุษย่อมไม่เห็นความที่พระตถาคตมีอานุภาพใหญ่ตามที่กล่าวแล้ว แต่ฟังว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นเช่นนี้และเป็นเช่นนี้ ดังนี้.
               พระมหาบุรุษนั้นน้อมไปในสัมโพธิญาณ ทำธรรมธาตุนั้นให้เป็นปัจจัย อาศัยพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ย่อมตั้งจิตไว้ในอภินิหารนั้น. นี้เป็นปัจจัยที่ ๒ แห่งมหาภินิหาร.
               มหาบุรุษย่อมไม่เห็นความที่พระตถาคตนั้นมีอานุภาพใหญ่ตามที่กล่าวแล้ว. ทั้งไม่ได้ฟังมหานุภาพนั้นจากผู้อื่น. แต่เมื่อพระตถาคตทรงแสดงธรรม มหาบุรุษย่อมฟังธรรมปฏิสังยุตด้วยพุทธานุภาพโดยนัยมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตประกอบด้วยกำลัง ๑๐ ดังนี้.
               มหาบุรุษนั้นน้อมไปในสัมโพธิญาณ ทำธรรมธาตุนั้นให้เป็นปัจจัยอาศัยพุทธานุภาพนั้น ย่อมตั้งจิตไว้ในอภินิหารนั้น.
               นี้เป็นปัจจัยที่ ๓ แห่งมหาภินิหาร.
               มหาบุรุษย่อมไม่เห็นความที่พระตถาคตนั้นมีอานุภาพใหญ่ ตามที่กล่าวแล้ว. ทั้งไม่ได้ฟังอภินิหารนั้นจากผู้อื่น. ทั้งไม่ได้ฟังธรรมของพระตถาคต. แต่เป็นผู้มีอัธยาศัยกว้างขวาง มีความตั้งใจงามคิดว่า เราจักรักษาวงศ์ของพระพุทธเจ้า แบบแผนของพระพุทธเจ้า ประเพณีของพระพุทธเจ้า ความเป็นธรรมของพระพุทธเจ้า แล้วสักการะ เคารพนับถือบูชาธรรมเท่านั้น ประพฤติธรรม น้อมไปในสัมโพธิญาณ ทำธรรมธาตุนั้นให้เป็นปัจจัย อาศัยธรรมนั้นย่อมตั้งจิตไว้ในอภินิหารนั้น. นี้เป็นปัจจัยที่ ๔ แห่งมหาภินิหาร.
               เหตุ ๔ แห่งมหาภินิหารเป็นอย่างไร?
               มหาบุรุษในโลกนี้ตามปกติเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย สร้างสมอธิการะในพระพุทธเจ้าทั้งหลายในครั้งก่อน. นี้เป็นเหตุที่ ๑ แห่งมหาภินิหาร.
               ยังมีข้ออื่นอีก มหาบุรุษตามปกติเป็นผู้มีอัธยาศัยกรุณา น้อมไปในกรุณา ประสงค์จะนำทุกข์ของสัตว์ทั้งหลายออกไป สละกายและชีวิตของตน. นี้เป็นเหตุที่ ๒ แห่งมหาภินิหาร.
               ยังมีข้ออื่นอีก มหาบุรุษเพียรพยายามไม่เบื่อหน่ายจากวัฏฏทุกข์แม้ทั้งสิ้นและจากการประพฤติกิจที่ทำได้ยากเพื่อประโยชน์แก่สัตว์ ตลอดกาลนาน ไม่หวาดสะดุ้ง ตลอดถึงสำเร็จประโยชน์ที่ปรารถนา. นี้เป็นเหตุที่ ๓ แห่งมหาภินิหาร.
               ยังมีข้ออื่นอีก มหาบุรุษเป็นผู้อาศัยกัลยาณมิตรผู้ที่ห้ามจากสิ่งไม่เป็นประโยชน์ ให้ตั้งอยู่ในสิ่งเป็นประโยชน์. นี้เป็นเหตุที่ ๔ แห่งมหาภินิหาร.
               พึงทราบอุปนิสสัยสัมปทาของมหาบุรุษ ดังต่อไปนี้.
               อัธยาศัยของมหาบุรุษนั้นน้อมไป โน้มไป โอนไปในสัมโพธิญาณโดยส่วนเดียวเท่านั้นฉันใด การประพฤติประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น เพราะมหาบุรุษนั้นทำความตั้งใจแน่วแน่เพื่อสัมโพธิญาณในสำนักของพระพุทธเจ้าในกาลก่อน ด้วยใจและวาจาว่า แม้เราก็จะเป็นเช่นกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พึงยังประโยชน์สุขให้สำเร็จแก่สัตว์ทั้งหลายโดยชอบนั่นแล.
               มหาบุรุษมีอุปนิสัยสมบูรณ์อย่างนี้ ความวิเศษใหญ่ การกระทำต่างใหญ่ ด้วยสาวกโพธิสัตว์และปัจเจกโพธิสัตว์ของมหาบุรุษผู้ประกอบด้วยเพศ ปรากฏด้วยอุปนิสสยสมบัติ ย่อมปรากฏจากอินทรีย์ การปฏิบัติและความเป็นผู้ฉลาด.
               คนนอกนี้มิได้ปฏิบัติเหมือนอย่างมหาบุรุษในโลกนี้ผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสสัย มีอินทรีย์บริสุทธิ์ มีญาณบริสุทธิ์ มหาบุรุษเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น มิใช่เพื่อประโยชน์ตน.
               เป็นความจริงดังนั้น คนนอกนี้มิได้ปฏิบัติเหมือนอย่างมหาบุรุษนั้นปฏิบัติเพื่อประโยชน์ เพื่อสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.
               อนึ่ง มหาบุรุษย่อมนำมาซึ่งความเป็นผู้ฉลาดในประโยชน์สุขนั้น ด้วยปฏิภาณอันเกิดขึ้นตามฐานะ และเพราะความเป็นผู้ฉลาดในฐานะและอฐานะ.
               อนึ่ง พึงทราบลักษณะแห่งทานบารมีของมหาบุรุษผู้มีอัธยาศัยในทานมีอาทิว่า
               มหาบุรุษตามปกติเป็นผู้มีอัธยาศัยในทาน ยินดีในทาน เมื่อมีไทยธรรมย่อมให้ทีเดียว. ไม่เบื่อหน่ายจากการเป็นผู้มีปกติแจกจ่ายเนืองๆ สม่ำเสมอ มีความเบิกบาน เอื้อเฟื้อให้ มีความสนใจให้.
               ครั้นให้ทานแม้มากมายก็ยังไม่พอใจด้วยการให้ ไม่ต้องพูดถึงให้น้อยละ.
               อนึ่ง เมื่อจะยังอุตสาหะให้เกิดแก่ผู้อื่น ย่อมกล่าวถึงคุณในการให้. แสดงธรรมปฏิสังยุตด้วยการให้.
               อนึ่ง เห็นคนอื่นให้แก่คนอื่นก็พอใจ. ให้อภัยแก่คนอื่นในฐานะที่เป็นภัย.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก สโมธานกถา
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]
อ่านอรรถกถา 33.3 / 1อ่านอรรถกถา 33.3 / 35อรรถกถา เล่มที่ 33.3 ข้อ 36
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=9478&Z=9526
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=52&A=7027
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=52&A=7027
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๔  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :