ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]อ่านอรรถกถา 33.3 / 1อ่านอรรถกถา 33.3 / 35อรรถกถา เล่มที่ 33.3 ข้อ 36
อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก
สโมธานกถา

หน้าต่างที่ ๓ / ๗.

               อนึ่ง พึงทราบลักษณะแห่งศีลบารมีของมหาบุรุษผู้มีอัธยาศัยในศีลมีอาทิอย่างนี้ว่า
               มหาบุรุษย่อมละอาย ย่อมกลัวธรรมลามกมีการฆ่าสัตว์เป็นต้น. เป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้ยินดีในธรรมงาม มีศีล ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา ซื่อตรง ว่าง่าย ประกอบด้วยธรรมอันทำให้เป็นผู้ว่าง่าย อ่อนโยน ไม่กระด้าง ไม่ดูหมิ่นท่าน ไม่ถือเอาของคนอื่นโดยที่สุดเส้นหญ้าหรือเมื่อคนอื่นลืมของไว้ในที่อยู่ของตน บอกให้เขารู้แล้วมอบให้โดยไม่เอาของของคนอื่นเก็บไว้. ไม่เป็นผู้โลภ. แม้จิตลามกในการถือเอาของคนอื่นก็ไม่ให้เกิดขึ้น. เว้นการทำลายหญิงเป็นต้นเสียแต่ไกล. พูดจริงไว้ใจได้ สมานคนที่แตกกัน เพิ่มสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้ พูดน่ารักยิ้มแย้มแจ่มใส พูดเป็นอรรถ พูดเป็นธรรม ไม่มีความอยากได้ ไม่มีใจพยาบาท มีความเห็นไม่วิปริต ด้วยรู้ความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตนด้วยกำหนดรู้อริยสัจ มีความกตัญญูกตเวที อ่อนน้อมต่อผู้เจริญ มีอาชีพบริสุทธิ์ ใคร่ธรรม ชักชวนคนอื่นในธรรม ห้ามสัตว์ทั้งหลายจากสิ่งที่ไม่ควรทำด้วยประการทั้งปวง ให้ตั้งอยู่ในสิ่งที่ควรทำ ประกอบความเพียรในกิจนั้นด้วยตน ครั้นทำสิ่งไม่ควรทำด้วยตนเอง รีบเว้นจากสิ่งนั้นทันที.
               อนึ่ง พึงทราบลักษณะแห่งเนกขัมมบารมีเป็นต้นด้วยอำนาจแห่งอัธยาศัยในเนกขัมมะเป็นต้นของมหาบุรุษมีอาทิอย่างนี้ว่า
               มหาบุรุษเป็นผู้มีกิเลสเบาบาง มีนิวรณ์เบาบาง มีอัธยาศัยในความสงัด ไม่ฟุ้งซ่าน. วิตกลามกไม่ไหลเข้าไปยังจิตของมหาบุรุษนั้น.
               อนึ่ง จิตของมหาบุรุษนั้นถึงความสงัดตั้งมั่นโดยไม่ยาก. ความเป็นผู้มีจิตเมตตาย่อมตั้งอยู่แม้ในฝ่ายที่เป็นศัตรูอย่างเร็ว ไม่ต้องพูดถึงคนนอกนี้. เป็นผู้มีสติ ระลึกถึงสิ่งที่ทำแม้คำพูดนานแล้วได้. เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญามีโอชะเกิดแต่ธรรม. เป็นผู้เฉลียวฉลาดในกิจที่ควรทำนั้นๆ. เป็นผู้ปรารภความเพียรในการทำประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย. เป็นผู้ประกอบด้วยกำลังขันติอดกลั้นได้ทั้งหมด. เป็นผู้มีความตั้งใจไม่หวั่นไหว มีสมาทานมั่นคงและเป็นผู้วางเฉยในธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา.
               เมื่อมหาบุรุษประกอบด้วยลักษณะแห่งโพธิสมภารเหล่านี้ด้วยประการฉะนี้ ท่านจึงกล่าวว่า การอาศัยกัลยาณมิตรเป็นเหตุแห่งมหาภินิหารดังนี้.
               กัลยาณมิตรในโลกนี้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ วีริยะ สติ สมาธิ ปัญญา. เชื่อการตรัสรู้ของพระตถาคตและผลของกรรมด้วยศรัทธาสมบัติ. ไม่สละการแสวงประโยชน์ให้สัตว์ทั้งหลายอันเป็นเหตุแห่งสัมมาสัมโพธิญาณ. เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจ เป็นที่เคารพน่ายกย่องของสัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้คอยตักเตือน ติเตียนความชั่ว คอยว่ากล่าว อดทนต่อถ้อยคำด้วยศีลสมบัติ. เป็นผู้กล่าวธรรมลึกซึ้งนำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่สัตว์ทั้งหลายด้วยสุตสมบัติ. เป็นผู้มักน้อย สันโดษ สงัด ไม่คลุกคลีด้วยจาคสมบัติ. เป็นผู้ปรารภความเพียรในการปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของสัตว์ทั้งหลายด้วยวีริยสมบัติ. เป็นผู้มีสติตั้งมั่นในธรรมอันไม่มีโทษด้วยสติสมบัติ. เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่านมีจิตตั้งมั่นด้วยสมาธิสมบัติ. ย่อมรู้ความไม่วิปริตด้วยปัญญาสมบัติ.
               มหาบุรุษนั้นแสวงหาคติแห่งกุศลธรรมและอกุศลธรรมด้วยสติ รู้ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ของสัตว์ทั้งหลายตามความเป็นจริงด้วยปัญญา มีจิตเป็นหนึ่งในธรรมนั้นด้วยสมาธิ ห้ามสัตว์ทั้งหลายจากสิ่งไม่เป็นประโยชน์ แล้วให้ประกอบในสิ่งเป็นประโยชน์ด้วยวีริยะ.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-
                         มหาบุรุษเป็นผู้น่ารัก น่าเคารพ น่ายกย่อง
                         ค่อยว่ากล่าว อดทนถ้อยคำ กล่าวธรรมลึกซึ้ง
                         ไม่ชักชวนในทางไม่ถูก.

               มหาบุรุษอาศัยกัลยาณมิตรประกอบด้วยคุณอย่างนี้แล้ว ย่อมยังอุปนิสสัยสมบัติของตนให้ผ่องแผ้วโดยชอบนั่นแล. และเป็นผู้ประกอบด้วยอัธยาศัยบริสุทธิ์ด้วยดี ประกอบด้วยพละ ๔ ยังองค์ ๘ ให้ประชุมกันโดยไม่ช้านัก ทำมหาภินิหาร มีอันไม่กลับเป็นธรรมดา เป็นผู้แน่นอน มีสัมโพธิญาณเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ย่อมตั้งอยู่ในความเป็นพระโพธิสัตว์.
               พึงทราบพละ ๔ เหล่านี้ของอภินิหารนั้นดังต่อไปนี้.
               อัชฌัตติกพละ คือกำลังภายใน ได้แก่ความชอบใจด้วยเคารพในธรรมอาศัยตน ในสัมมาสัมโพธิญาณ เพราะเป็นผู้มีอัธยาศัยน้อมไปโดยส่วนเดียว.
               มหาบุรุษมีตนเป็นใหญ่ มีความละอายเป็นที่พึ่งอาศัย และถึงพร้อมด้วยอภินิหาร บำเพ็ญบารมีแล้วบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ.
               พาหิรพละ คือกำลังภายนอก ได้แก่ความพอใจอาศัยคนอื่นในสัมมาสัมโพธิญาณ เพราะเป็นผู้มีอัธยาศัยน้อมไปโดยส่วนเดียว.
               มหาบุรุษมีโลกเป็นใหญ่ มีความนับถือเป็นที่พึ่งอาศัยและถึงพร้อมด้วยอภินิหาร บำเพ็ญบารมีแล้วบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ.
               อุปนิสสยพละ คือกำลังอุปนิสัย ได้แก่ความพอใจด้วยอุปนิสสยสมบัติในสัมมาสัมโพธิญาณ เพราะเป็นผู้มีอัธยาศัยน้อมไปโดยส่วนเดียว.
               มหาบุรุษมีอินทรีย์กล้า มีความฉลาด อาศัยสติ ถึงพร้อมด้วยอภินิหาร บำเพ็ญบารมีแล้วบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ.
               ปโยคพละ คือกำลังความเพียร ได้แก่ความถึงพร้อมด้วยความเพียร ความเป็นผู้ทำด้วยความเคารพ ความเป็นผู้ทำติดต่อ อันเกิดแต่ความเพียรนั้นในสัมมาสัมโพธิญาณ.
               มหาบุรุษมีความเพียรบริสุทธิ์ ทำเป็นลำดับ และถึงพร้อมด้วยอภินิหาร บำเพ็ญบารมีแล้วบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ.
               อภินิหารนี้อันถึงพร้อมด้วยสโมธานมีองค์ ๘ มีการเริ่มสมบูรณ์ด้วยปัจจัย ๔ เหตุ ๔ พละ ๔ อย่างนี้ เป็นปัจจัยแห่งบารมีทั้งหลาย เพราะความเป็นมูลเหตุ.
               อนึ่ง ธรรมทั้งหลายน่าอัศจรรย์ไม่เคยมี ๔ ประการย่อมตั้งอยู่ในมหาบุรุษด้วยความเป็นไปของผู้ใด. ย่อมยึดถือหมู่สรรพสัตว์ด้วยจิตเป็นที่รักดุจบุตรเกิดแต่อกของตน. จิตของผู้นั้นจะไม่เศร้าหมองด้วยอำนาจความเศร้าหมองถึงบุตร.
               อัธยาศัยและความเพียรของมหาบุรุษนั้นย่อมนำประโยชน์สุขมาให้แก่สัตว์ทั้งหลาย. ธรรมอันทำให้เป็นพระพุทธเจ้าของตนย่อมเจริญ ย่อมให้มีผลยิ่งๆ ขึ้น.
               อนึ่ง มหาบุรุษประกอบด้วยความหลั่งไหลแห่งบุญกุศลอันสูงที่สุด อันเป็นปัจจัยแห่งความเป็นไป เป็นอาหารแห่งความสุข เป็นผู้ควรรับทักษิณา เป็นที่ตั้งแห่งคารวะอย่างสูง และเป็นบุญเขตไม่มีใครเหมือน. มหาภินิหาร มีคุณมากมาย มีอานิสงส์มากมายอย่างนี้ พึงทราบว่าเป็นปัจจัยแห่งบารมีทั้งหลาย.
               มหากรุณาและความเป็นผู้ฉลาดในอุบาย ก็เหมือนอภินิหารนั้นแล.
               ปัญญาอันเป็นนิมิต แห่งความเป็นโพธิสมภารของทานเป็นต้น ชื่อว่าความเป็นผู้ฉลาดในอุบาย.
               ความไม่คำนึงถึงสุขของตน ความขวนขวายในการทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นเป็นลำดับ ความไม่มีความตกต่ำ ด้วยความประพฤติของพระมหาโพธิสัตว์แม้ทำได้ยาก และความเป็นเหตุได้ประโยชน์สุขของสัตว์ทั้งหลาย แม้ในเวลาเลื่อมใส การรู้ การเห็น การฟัง การระลึกถึง ย่อมสำเร็จแก่มหาบุรุษทั้งหลาย ด้วยความเป็นผู้ฉลาดในอุบายอันเป็นมหากรุณา.
               เป็นความจริงอย่างนั้น ความสำเร็จแห่งความเป็นพระพุทธเจ้าด้วยปัญญาของมหาบุรุษนั้น ความสำเร็จแห่งการกระทำของพระพุทธเจ้าด้วยกรุณา.
               ตนเองข้ามด้วยปัญญา ยังคนอื่นให้ข้ามด้วยกรุณา.
               กำหนดรู้ทุกข์ของคนอื่นด้วยปัญญา ปรารภช่วยเหลือทุกข์ของคนอื่นด้วยกรุณา. และเบื่อหน่ายในทุกข์ด้วยปัญญา รับทุกข์ด้วยกรุณา.
               อนึ่ง เป็นผู้มุ่งต่อนิพพานด้วยปัญญา. ถึงวัฏฏะด้วยกรุณา.
               อนึ่ง มุ่งต่อสงสารด้วยกรุณา. ไม่ยินดีในสงสารนั้นด้วยปัญญา. และหน่ายในที่ทั้งปวงด้วยปัญญา. เพราะไปตามด้วยกรุณา จึงต้องอนุเคราะห์สัตว์ทั้งปวง. สงสารสัตว์ทั้งปวงด้วยกรุณา. เพราะไปตามด้วยปัญญาจึงมีจิตหน่ายในที่ทั้งปวง. ความเป็นผู้ไม่มีอหังการมมังการด้วยปัญญา. ความไม่มีความเกียจคร้าน ความเศร้าด้วยกรุณา.
               อนึ่ง ความเป็นที่พึ่งของตนและคนอื่น ความเป็นผู้มีปัญญาและกล้าตามลำดับด้วยปัญญาและกรุณา. ความเป็นผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน. ความสำเร็จประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น ความเป็นผู้ไม่มีภัยไม่หวาดกลัว. ความเป็นผู้มีธรรมเป็นใหญ่และมีโลกเป็นใหญ่. ความเป็นผู้รู้คุณท่านและทำอุปการะก่อน. ความปราศจากโมหะและตัณหา. ความสำเร็จแห่งวิชชาและจรณะ. ความสำเร็จแห่งพละและเวสารัชชะคือธรรมทำให้กล้า.
               ปัญญาและกรุณาเป็นปัจจัยแห่งบารมีทั้งหลาย เพราะความเป็นอุบายโดยพิเศษแห่งผลของบารมีทั้งปวง ด้วยประการฉะนี้แล.
               ทั้งสองนี้เป็นปัจจัยแม้แห่งปณิธาน ดุจแห่งบารมีทั้งหลาย.
               อนึ่ง ความอุตสาหะ ปัญญา ความมั่งคง และการประพฤติประโยชน์ พึงทราบว่า เป็นปัจจัยแห่งบารมีทั้งหลาย.
               ความเพียรด้วยความอดกลั้นยิ่งแห่งโพธิสมภารทั้งหลาย ชื่อว่า อุสฺสาห ในบารมีที่ท่านกล่าวว่าเป็นพุทธภูมิ เพราะเป็นฐานะแห่งความเกิดความเป็นพระพุทธเจ้า.
               ปัญญาอันเป็นความฉลาดในอุบาย ในโพธิสมภารทั้งหลาย ชื่อว่า อุมฺมงฺค.
               ความตั้งใจมั่นเพราะตั้งใจไม่หวั่นไหว ชื่อว่า อวตฺถาน.
               เมตตาภาวนาและกรุณาภาวนา ชื่อว่า หิตจริยา.
               อนึ่ง อัธยาศัย ๖ อย่าง อันมีประเภทเป็นเนกขัมมะ ความสงัด อโลภะ อโทสะ อโมหะ และนิสสรณะคือการออกไปจากทุกข์.
               พระโพธิสัตว์ทั้งหลายเป็นผู้เห็นโทษในกามและในการครองเรือน ชื่อว่ามีอัธยาศัยในเนกขัมมะ.
               อนึ่ง พระโพธิสัตว์ทั้งหลายเห็นโทษในการคลุกคลี ชื่อว่ามีอัธยาศัยสงัด. เห็นโทษในโลภะ ชื่อว่ามีอัธยาศัยไม่โลภ. เห็นโทษในโทสะ ชื่อว่ามีอัธยาศัยไม่โกรธ. เห็นโทษในโมหะ ชื่อว่ามีอัธยาศัยไม่หลง. เห็นโทษในทุกภาวะ ชื่อว่ามีอัธยาศัยออกไปจากทุกข์ ด้วยประการฉะนี้.
               เพราะฉะนั้น อัธยาศัย ๖ อย่างเหล่านี้ของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย พึงทราบว่าเป็นปัจจัยแห่งบารมีทั้งหลายมีทานเป็นต้น.
               จริงอยู่ บารมีมีทานบารมีเป็นต้น เว้นจากการเห็นโทษในโลภเป็นต้น และจากความยิ่งยวดของอโลภะเป็นต้น ย่อมมีไม่ได้. เพราะความเป็นผู้มีจิตน้อมไปในบริจาคเป็นต้น ด้วยความยิ่งยวดของอโลภะเป็นต้น พึงทราบว่าเป็นผู้มีอัธยาศัยไม่โลภ.
               อนึ่ง แม้ความเป็นผู้มีอัธยาศัยในทานก็เหมือนอย่างนั้น เป็นปัจจัยแห่งบารมีมีทานบารมีเป็นต้นของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้ประพฤติเพื่อโพธิญาณ.
               จริงอยู่ เพราะความเป็นผู้อัธยาศัยในทาน พระโพธิสัตว์ทั้งหลายจึงเป็นผู้เห็นโทษในความตระหนี่อันเป็นปฏิปักษ์ต่อทานนั้น ย่อมบำเพ็ญทานบารมีให้บริบูรณ์โดยชอบ. เพราะเป็นผู้มีอัธยาศัยในศีล จึงเป็นผู้เห็นโทษในความเป็นผู้ทุศีล บำเพ็ญศีลบารมีให้บริบูรณ์โดยชอบ. เพราะเป็นผู้มีอัธยาศัยในเนกขัมมะ จึงเห็นโทษในกามและในการครองเรือน. เพราะเป็นผู้มีอัธยาศัยในการรู้ตามความเป็นจริง จึงเห็นโทษในความไม่รู้และความสงสัย. เพราะเป็นผู้มีอัธยาศัยในความเพียร จึงเห็นโทษในความเกียจคร้าน. เพราะเป็นผู้มีอัธยาศัยในความอดทน จึงเห็นโทษในความไม่อดทน. เพราะเป็นผู้มีอัธยาศัยในสัจจะ จึงเห็นโทษในการพูดผิด. เพราะเป็นผู้มีอัธยาศัยในความตั้งใจมั่น จึงเห็นโทษในความไม่ตั้งใจมั่น. เพราะเป็นผู้มีอัธยาศัยเมตตา จึงเห็นโทษในพยาบาท. เพราะเป็นผู้มีอัธยาศัยในความวางเฉย จึงเห็นโทษในโลกธรรม บำเพ็ญบารมีมีเนกขัมมบารมีเป็นต้นให้บริบูรณ์โดยชอบ. ความเป็นผู้มีอัธยาศัยในทานเป็นต้น เป็นปัจจัยแห่งบารมีมีทานบารมีเป็นต้น เพราะเป็นเหตุให้สำเร็จ.
               การพิจารณาเห็นโทษและอานิสงส์ตามลำดับในการไม่บริจาคและการบริจาคเป็นต้น เป็นปัจจัยแห่งบารมีมีทานบารมีเป็นต้น เหมือนกัน.
               ในบทนั้น พึงทราบวิธีพิจารณาดังต่อไปนี้.
               การนำมาซึ่งความพินาศมากมายหลายอย่างนี้ คือ
               จากความเป็นผู้ปรารถนามากด้วยวัตถุกามอันมีที่ดินเป็นต้นของสัตว์ทั้งหลายผู้มีใจหวงแหน ข้องอยู่มีที่ดิน สวน เงิน ทอง โค กระบือ ทาสหญิง ทาสชาย บุตรภรรยาเป็นต้น จากความเป็นสาธารณภัยมีราชภัย โจรภัยเป็นต้น จากการตั้งใจวิวาทกัน จากการเป็นข้าศึกกัน จากสิ่งไม่มีแก่นสาร จากเหตุการเบียดเบียนผู้อื่น ในการได้และการคุ้มครอง นิมิตแห่งความพินาศ เพราะนำมาซึ่งความพินาศหลายอย่างมีความโศกเป็นต้น และมีความไม่สามารถเป็นเหตุ เพราะความเป็นเหตุให้เกิดในอบายของผู้มีจิตหมกมุ่นอยู่ในมลทินคือความตระหนี่ ชื่อว่าปริคคหวัตถุคือวัตถุที่หวงแหน. ควรทำความไม่ประมาทในการบริจาคว่า การบริจาควัตถุเหล่านั้นเป็นความสวัสดีอย่างเดียว.
               อีกอย่างหนึ่ง พิจารณาว่า ผู้ขอเมื่อขอเป็นผู้คุ้นเคยของเราเพราะบอกความลับของตน เป็นผู้แนะนำแก่เราว่า ท่านจงละสิ่งควรถึง ถือเอาของของตนไปสู่โลกหน้า เมื่อโลกถูกไฟคือมรณะเผา เหมือนเรือนถูกไฟเผา เป็นสหายช่วยแบกของของเราออกไปจากโลกนั้น เมื่อเขายังไม่แบกออกไป เขาก็ยังไม่เผา วางไว้. เป็นกัลยาณมิตรอย่างยิ่ง เพราะความเป็นสหายในกรรมงาม คือทานและเพราะความเป็นเหตุให้ถึงพุทธภูมิที่ได้ยากอย่างยิ่ง เลิศกว่าสมบัติทั้งปวง.
               อนึ่ง พึงเข้าไปตั้งความน้อมในการบริจาคว่า ผู้นี้ยกย่องเราในกรรมอันยิ่ง เพราะฉะนั้น ควรทำความยกย่องนั้นให้เป็นความจริง. แม้เขาไม่ขอเราก็ให้ เพราะชีวิตของเขาแจ้งชัดอยู่แล้ว ไม่ต้องพูดถึงขอละ. ผู้ขอมาแล้วเองจากที่เราแสวงหาด้วยอัธยาศัยอันยิ่ง ควรให้ด้วยบุญของเรา. การอนุเคราะห์ของเรานี้โดยมุ่งถึงการให้แก่ยาจก. เราควรอนุเคราะห์โลก แม้ทั้งหมดนี้เหมือนตัวเรา.
               เมื่อยาจกไม่มี ทานบารมีของเราจะพึงเต็มได้อย่างไร. เราควรยึดถือทั้งหมดไว้เพื่อประโยชน์แก่ยาจกเท่านั้น. เมื่อไรยาจกทั้งหลายไม่ขอ เราพึงถือเอาของของเราไปเอง. เราพึงเป็นที่รักและเป็นที่ชอบของยาจกทั้งหลายได้อย่างไร. ยาจกเหล่านั้นพึงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของเราได้อย่างไร. เราเมื่อให้ก็พอใจ แม้ให้แล้วก็ปลื้มใจ เกิดปีติโสมนัสได้อย่างไร. หรือยาจกทั้งหลายของเราพึงเป็นอย่างไร เราจึงจะเป็นผู้มีอัธยาศัยกว้างขวาง. ยาจกไม่ขอ เราจะรู้ใจของยาจกทั้งหลายได้อย่างไรแล้วจึงให้. เมื่อทรัพย์มี ยาจกมี การไม่บริจาค เป็นการหลอกลวงของเราอย่างใหญ่หลวง. เราพึงสละอวัยวะหรือชีวิตของตนแก่ยาจกทั้งหลายได้อย่างไร.
               อีกอย่างหนึ่ง ควรทำจิตให้เกิดขึ้นเพราะไม่คำนึงถึงประโยชน์ว่า ชื่อว่าประโยชน์นี้ย่อมติดตามทายกผู้ไม่สนใจ. เหมือนตั๊กแตนติดตามคนแผลงศรผู้ไม่สนใจ.
               อนึ่ง ผิว่า ผู้ขอเป็นคนที่รัก พึงให้เกิดโสมนัสว่าผู้เป็นที่รักขอเรา. แม้ผู้ขอเป็นคนเฉยๆ พึงให้เกิดความโสมนัสว่า ยาจกนี้ขอเราย่อมเป็นมิตรด้วยการบริจาคนี้แน่แท้. แม้ผู้ให้ก็ย่อมเป็นที่รักของยาจกทั้งหลาย. แม้บุคคลผู้มีเวรขอ ก็พึงให้เกิดโสมนัสเป็นพิเศษว่า ศัตรูขอเรา. ศัตรูนี้เมื่อขอเราเป็นผู้มีเวร ย่อมเป็นมิตรที่รักด้วยการบริจาคนี้แน่แท้. พึงยังกรุณามีเมตตาเป็นเบื้องหน้าให้ปรากฏ แล้วพึงให้แม้ในบุคคลเป็นกลางและบุคคลมีเวร.
               ก็หากว่า โลภธรรมอันเป็นวิสัยแห่งไทยธรรม พึงเกิดขึ้นแก่โลภะ เพราะบุคคลนั้นอบรมมาช้านาน. อันผู้ปฏิญญาเป็นพระโพธิสัตว์นั้นพึงสำเหนียกว่า
               ดูก่อนสัตบุรุษ ท่านบำเพ็ญอภินิหารเพื่อความตรัสรู้มิใช่หรือ ได้สละกายนี้เพื่อเป็นอุปการะแก่สรรพสัตว์ และบุญสำเร็จด้วยการบริจาคกายนั้น. ความข้องเป็นไปในวัตถุแม้ภายนอกของท่านนั้น เป็นเช่นกับอาบน้ำช้าง. เพราะฉะนั้น ท่านไม่ควรให้ความข้องเกิดในที่ไหนๆ.
               เหมือนอย่างว่า เมื่อต้นไม้เป็นยาใหญ่เกิดขึ้น ผู้ต้องการรากย่อมนำรากไป. ผู้ต้องการสะเก็ด เปลือก ลำต้น ค่าคบ แก่น กิ่ง ใบ ดอก ย่อมนำไป ผู้ต้องการผลย่อมนำผลไป. ต้นไม้นั้นใช่เรียกร้องด้วยความวิตกว่า คนพวกนี้นำของของเราไปฉันใด เมื่อกายไม่สะอาดเป็นนิจ จมอยู่ในทุกข์ใหญ่อันเราผู้ถึงความขวนขวายเพื่อประโยชน์แก่สรรพโลก ประกอบการเพื่ออุปการะแก่สัตว์เหล่าอื่น ไม่ควรให้มิจฉาวิตกแม้เล็กน้อยเกิดขึ้นฉันนั้น.
               หรือว่า ความพิเศษในธรรมเครื่องทำลาย กระจัดกระจายและกำจัดโดยส่วนเดียว อันเป็นมหาภูตรูปภายในและภายนอกเป็นอย่างไร. แต่ข้อนี้เป็นความหลงและความซบเซาอย่างเดียว คือการยึดถือว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตนของเรา. เพราะฉะนั้น ผู้ไม่คำนึงในมือเท้านัยน์ตาเป็นต้น และในเนื้อเป็นต้น แม้ในภายในดุจภายนอก พึงมีใจสละว่า ผู้มีความต้องการสิ่งนั้นๆ จงนำไปเถิด.
               อนึ่ง เมื่อมหาบุรุษสำเหนียกอย่างนี้ ประกอบความเพียรเพื่อตรัสรู้ ไม่คำนึงในกายและชีวิต กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เป็นอันบริสุทธิ์ด้วยดีโดยไม่ยากเลย.
               มหาบุรุษนั้นมีกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมบริสุทธิ์ด้วยดี มีอาชีพบริสุทธิ์ตั้งอยู่ในการปฏิบัติเพื่อรู้ เป็นผู้สามารถเพื่ออนุเคราะห์สรรพสัตว์ ด้วยการถึงพร้อมด้วยความเป็นผู้ฉลาดในความเสื่อม และฉลาดในอุบาย ด้วยการบริจาคไทยธรรมโดยประมาณยิ่ง และด้วยการให้อภัย ให้พระสัทธรรม นี้เป็นนัยแห่งการพิจารณาในทานบารมีด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง พิจารณาในศีลบารมีอย่างนี้ว่า
               ชื่อว่าศีลนี้เป็นน้ำล้างมลทินคือโทสะ อันไม่อาจชำระได้ด้วยน้ำในแม่น้ำคงคาเป็นต้น. เป็นการกำจัดอันตรายมีราคะเป็นต้น อันไม่สามารถกำจัดได้ด้วยจันทน์เหลืองเป็นต้น.
               เป็นเครื่องประดับอย่างวิเศษของคนดีทั้งหลาย ไม่ทั่วไปด้วยเครื่องประดับของชนเป็นอันมากมีสร้อยคอมงกุฏและต่างหูเป็นต้น. มีกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่วทุกทิศ และเหมาะสมทุกกาล.
               มีอำนาจอย่างยิ่ง เพราะนำมาซึ่งคุณอันกษัตริย์มหาศาลเป็นต้นและเทวดาทั้งหลายควรไหว้. เป็นแถวบันไดก้าวขึ้นสู่เทวโลกมีสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาเป็นต้น.
               เป็นอุบายบรรลุฌานและอภิญญา เป็นทางให้ถึงมหานครคือนิพพาน เป็นภูมิประดิษฐานสาวกโพธิ ปัจเจกโพธิและสัมมาสัมโพธิญาณ.
               อีกอย่างหนึ่ง ศีลย่อมอยู่บนแก้วสารพัดนึกและต้นกัลปพฤกษ์เป็นต้น เพราะเป็นอุบายให้สิ่งที่ปรารถนาต้องการสำเร็จ.
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ศีลย่อมสำเร็จเพราะผู้มีศีล เป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยความตั้งใจแน่วแน่.
               แม้ข้ออื่นก็ตรัสไว้มีอาทิว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุพึงหวังว่าเราพึงเป็นที่รักเป็นที่ชอบใจ เป็นที่เคารพ เป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย. ภิกษุพึงเป็นผู้ทำความบริบูรณ์ในศีลทั้งหลายนั่นแล.
               อนึ่ง ดูก่อนอานนท์ ศีลเป็นกุศลมีความไม่เดือดร้อนเป็นประโยชน์.
               ดูก่อนคหบดีทั้งหลาย อานิสงส์ ๕ อย่างเหล่านี้ของผู้มีศีล.
               พึงพิจารณาคุณของศีลด้วยสามารถแห่งสูตรมีศีลสัมปทาสูตรเป็นต้น.
               พึงพิจารณาโทษในการปราศจากศีล ด้วยสามารถแห่งสูตรมีอัคคิขันโธปมสูตรเป็นต้น. พึงพิจารณาศีลโดยเป็นนิมิตแห่งปีติและโสมนัส โดยความไม่มีการติเตียนตนกล่าวโทษผู้อื่น และภัยจากอาชญาและทุคติ โดยความเป็นสิ่งอันวิญญูชนสรรเสริญ โดยเป็นเหตุแห่งความไม่เดือดร้อน โดยเป็นที่ตั้งแห่งความสวัสดี และโดยเป็นสิ่งยอดเยี่ยมอย่างยิ่ง กว่าการถึงพร้อม ด้วยชนยิ่งใหญ่ สมบัติ อธิปไตย อายุ รูป ฐานะ พวกพ้องมิตร.
               จริงอยู่ ปีติและโสมนัสใหญ่ย่อมเกิดแก่ผู้มีศีล เพราะเหตุแห่งศีลสัมปทาของตนว่า เราได้ทำกุสลแล้ว เราได้ทำความดีแล้ว เราได้ทำการป้องกันความกลัวแล้ว.
               อนึ่ง ผู้มีศีลย่อมไม่ติเตียนตน. วิญญูชนไม่กล่าวโทษผู้อื่น. ภัยเพราะอาชญาและทุคติย่อมไม่มีเกิด วิญญูชนทั้งหลายสรรเสริญว่า เป็นบุคคลผู้มีศีล มีธรรมงาม.
               อนึ่ง ความเดือดร้อนใดย่อมเกิดแก่ผู้ทุศีลว่า เราได้ทำความชั่วแล้วหนอ. เราได้ทำกรรมหยาบช้าทารุณแล้ว. ความเดือดร้อนนั้นย่อมไม่มีแก่ผู้มีศีล.
               อนึ่ง ธรรมดาศีลนี้ชื่อว่าเป็นฐานแห่งความสวัสดี เพราะตั้งใจในความไม่ประมาท เพราะยังประโยชน์ใหญ่ให้สำเร็จ ด้วยหลักการคุ้มครองมีความพินาศแห่งโภคะเป็นต้น และเพราะความเป็นมงคล.
               คนมีศีลแม้มีชาติตระกูลต่ำก็เป็นปูชนียบุคคลของกษัตริย์มหาศาลเป็นต้น เพราะเหตุนั้น ศีลสัมปทาจึงอยู่กับกุลสมบัติ.
               มหาบพิตร พระองค์สำคัญข้อนั้นเป็นไฉน.
               ในบทนี้ คำมีอาทิว่า ทาสกรรมกรพึงเป็นตัวอย่างแก่มหาบพิตรเป็นอย่างดีในเรื่องนี้. ศีลย่อมอยู่กับทรัพย์ภายนอก เพราะไม่ทั่วไปด้วยโจรเป็นต้น เพราะอนุเคราะห์โลกอื่น เพราะมีผลมากและเพราะอธิษฐานคุณมีสมถะเป็นต้น. ศีลย่อมอยู่กับความเป็นอิสระของกษัตริย์เป็นต้น เพราะตั้งมั่นความอิสระทางใจเป็นอย่างยิ่ง.
               จริงอยู่ ศีลนิมิตเป็นอิสระของสัตว์ทั้งหลายในหมู่สัตว์นั้นๆ. เพราะกล่าวได้ว่าชีวิตที่มีศีล แม้วันเดียวก็ประเสริฐกว่าชีวิตยั่งยืนยาวประมาณ ๑๐๐ ปี และเมื่อยังมีชีวิต ศีลก็ประเสริฐกว่าชีวิต เพราะกล่าวได้ว่า ร่างกายเมื่อตายไปก็ฝัง. ศีลย่อมอยู่กับรูปสมบัติ เพราะนำความพอใจมาแม้แก่ศัตรู และเพราะความชราโรคและวิบัติครอบงำไม่ได้. ศีลย่อมอยู่กับความวิเศษของสถานที่มีปราสาทและเรือนแถวเป็นต้น เพราะตั้งใจความวิเศษอันเป็นสุข.
               ในบทนี้คำมีอาทิว่า มารดาบิดาไม่พึงทำอะไรได้ยกเป็นตัวอย่าง เพราะศีลให้สำเร็จประโยชน์โดยส่วนเดียว และเพราะอนุเคราะห์โลกอื่น.
               อนึ่ง ศีลเท่านั้นประเสริฐกว่า กองทัพช้าง ม้า รถและทหารราบ และกว่าการประกอบความสวัสดีด้วยมนต์และยาวิเศษ โดยการรักษาตนที่รักษาได้ยาก เพราะอาศัยตนไม่อาศัยผู้อื่น และเพราะวิสัยยิ่งใหญ่.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสพระดำรัสมีอาทิว่า ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม.
               เมื่อมหาบุรุษพิจารณาอยู่ว่า ศีลประกอบด้วยคุณมากมายอย่างนี้ ศีลสัมปทาที่ยังไม่บริบูรณ์ย่อมถึงความบริบูรณ์ ที่ยังไม่บริสุทธิ์ย่อมถึงความบริสุทธิ์.
               ก็หากว่าธรรมทั้งหลายมีโทสะเป็นต้น เป็นปฏิปักษ์ต่อศีลพึงเกิดขึ้นแก่มหาบุรุษนั้นในระหว่างๆ ด้วยสะสมมานาน. อันผู้ปฏิญญาเป็นพระโพธิสัตว์นั้นพึงพิจารณาอย่างนี้ว่า
               ท่านตั้งใจแน่วแน่เพื่อตรัสรู้มิใช่หรือ แม้สมบัติเป็นโลกิยะ ท่านก็ยังไม่สามารถจะถึงได้ด้วยความไม่ปกติของศีล. ไม่ต้องพูดถึงสมบัติเป็นโลกุตระเลย.
               ศีลเป็นการอธิษฐานเพื่อสัมมาสัมโพธิญาณอันเลิศกว่าสมบัติทั้งปวง ควรให้ถึงความอุกฤษฏ์อย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น ท่านผู้รักษาศีลโดยชอบตามนัยดังกล่าวแล้วมีอาทิว่า กิกีว อณฺฑํ ดุจนกต้อยตีวิรักษาไข่ ฉะนั้นควรเป็นผู้มีศีลเป็นที่รักด้วยดียิ่ง.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านควรทำการหยั่งลงและความเจริญแก่สัตว์ทั้งหลายในยาน ๓ ด้วยการแสดงธรรม. ไม่ควรปรารถนาถ้อยคำของผู้มีศีลผิดปกติ ดุจการเยียวยาของหมอผู้ตรวจดูอาหารผิดสำแดง เพราะฉะนั้นควรเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ตามสภาพว่า เราเป็นผู้มีศรัทธาพึงทำการหยั่งลงและความเจริญแก่สัตว์ทั้งหลายได้อย่างไร.
               ความเป็นผู้สามารถในการทำอุปการะแก่สัตว์ทั้งหลาย และการบำเพ็ญบารมี มีปัญญาบารมีเป็นต้นของเราด้วยการประกอบคุณวิเศษมีฌานเป็นต้นโดยแท้.
               อนึ่ง คุณทั้งหลายมีฌานเป็นต้น เว้นความบริสุทธิ์แห่งศีลย่อมมีไม่ได้ เพราะเหตุนั้น จึงควรยังศีลให้บริสุทธิ์โดยชอบทีเดียว.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก สโมธานกถา
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]
อ่านอรรถกถา 33.3 / 1อ่านอรรถกถา 33.3 / 35อรรถกถา เล่มที่ 33.3 ข้อ 36
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=9478&Z=9526
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=52&A=7027
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=52&A=7027
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๔  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :