ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 33.3 / 1อ่านอรรถกถา 33.3 / 8อรรถกถา เล่มที่ 33.3 ข้อ 9อ่านอรรถกถา 33.3 / 10อ่านอรรถกถา 33.3 / 36
อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก การบำเพ็ญทานบารมี
๙. เวสสันตรจริยา

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เสด็จไปตามทางที่พระเจตราชทูล เสด็จถึงภูเขาคันธมาทน์ ทรงเห็นภูเขานั้น ประทับอยู่ ณ ที่นั้น.
               จากนั้นทรงมุ่งพระพักตร์ตรงไปยังทิศอุดร เสด็จไปถึงเชิงเขาเวปุลลบรรพตประทับนั่ง ณ ฝั่งแม่น้ำเกตุมดี เสวยน้ำผึ้งและเนื้อที่พรานป่าถวาย พระราชทานเข็มทองคำแก่พรานป่า ทรงสรงสนาน ทรงดื่มระงับความกระวนกระวาย เสด็จออกจากฝั่งน้ำไปประทับนั่งพักผ่อน ณ โคนต้นไทร ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ยอดสานุบรรพต เสด็จลุกไปทรงบริหารพระวรกาย ณ นาลิกบรรพต เสด็จไปยังสระมุจลินท์ เสด็จถึงปลายทิศตะวันออกเฉียงเหนือทางฝั่งของสระ เสด็จเข้าไปยังช่องป่าโดยทางเดินทางเดียวเท่านั้น เลยช่องป่าไปถึงสระโบกขรณี ๔ เหลี่ยม ข้างหน้าน้ำพุ เป็นภูเขาเข้าไปลำบาก.
               ขณะนั้น ท้าวสักกะทรงรำพึงว่า พระมหาสัตว์เสด็จเข้าไปยังหิมวันประเทศ ควรจะได้ที่ประทับ จึงทรงส่งวิษณุกรรมเทพบุตรไป มีเทวบัญชาว่า ท่านจงไปสร้างอาศรมบท ณ ที่รื่นรมย์ในหลืบภูเขาวงกต.
               วิษณุกรรมเทพบุตรรับเทวบัญชาแล้วจึงไปสร้างบรรณศาลาสองหลัง ที่จงกรมสองที่ ที่พักกลางคืนและกลางวันสองแห่ง ปลูกไม้ดอกมีดอกสวยงามต่างๆ ไม้ผล กอดอกไม้และสวนกล้วยเป็นต้น ณ ที่นั้นๆ แล้วมอบบริขารบรรพชิตทั้งหมดให้จารึกอักษรไว้ว่า ผู้ที่ประสงค์จะบรรพชา จงถือเอาเถิด แล้วมิให้อมนุษย์ เนื้อและนกที่มีเสียงน่ากลัวรบกวน เสร็จแล้วกลับไปยังที่ของตน.
               พระมหาสัตว์ทอดพระเนตรเห็นทางเดินทางเดียวทรงดำริว่า คงจักเป็นที่อยู่ของนักบวช จึงให้พระนางมัทรี พระโอรสและธิดาประทับอยู่ ณ ที่นั้น เสด็จเข้าสู่อาศรมบท ทอดพระเนตรเห็นอักษร ทรงดำริว่าท้าวสักกะทรงประทาน จึงทรงเปิดประตูบรรณศาลาเสด็จเข้าไป เอาพระขรรค์และธนูออก เปลื้องผ้าสาฎก ทรงถือเพศฤๅษี ถือไม้เท้าเสด็จออกไปหาพระกุมารกุมารี ด้วยความสงบเช่นกับพระปัจเจกพุทธเจ้า.
               แม้พระนางมัทรีเทวีทรงเห็นพระมหาสัตว์ก็ทรงหมอบแทบพระบาท ทรงกันแสงเสด็จเข้าอาศรมกับพระมหาสัตว์ แล้วเสด็จไปยังบรรณศาลาของพระนาง ทรงถือเพศเป็นฤๅษี.
               ภายหลังทรงให้พระกุมารกุมารีเป็นดาบสกุมาร.
               พระโพธิสัตว์ทรงขอพรพระนางมัทรีว่า ตั้งแต่นี้ไป เราเป็นนักบวชแล้ว. ธรรมดาสตรีย่อมเป็นมลทินแก่พรหมจรรย์. บัดนี้ เธออย่ามาหาเราในกาลอันไม่สมควรเลย.
               พระนางรับว่า ดีแล้ว พระเจ้าข้า แล้วขอพรพระมหาสัตว์บ้างว่า ข้าแต่พระองค์ ขอพระองค์ทรงแลดูโอรสธิดาอยู่ ณ บรรณศาลานี้เถิด หม่อมฉันจักแสวงหาผลาผลมาถวาย.
               ตั้งแต่นั้น พระนางมัทรีก็ทรงนำผลาผลมาแต่ป่าทรงปรนนิบัติชนทั้ง ๓. กษัตริย์ทั้ง ๔ พระองค์ประทับอยู่ ณ หลืบภูเขาวงกตประมาณ ๗ เดือน.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า อามนฺตยิตฺวา เทวินฺโท วิสฺสกมฺมํ มหิทฺธิกํ ท้าวสักกะจอมเทพตรัสเรียกวิษณุกรรมเทพบุตรผู้มีฤทธิ์มากมาดังนี้เป็นอาทิ.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อามนฺตยิตฺวา คือ ตรัสเรียก.
               บทว่า มหิทฺธิกํ คือ ผู้ประกอบด้วยฤทธิ์มาก.
               บทว่า อสฺสมํ สุกตํ คือ ให้สร้างอาศรมบทให้ดี.
               ความว่า บรรณศาลาอันสมควรเป็นที่ประทับของพระเวสสันดรน่ารื่นรมย์.
               บทว่า สุมาปยา คือ ให้สร้างให้ดี.
               บทว่า อาณาเปสิ เป็นคำที่เหลือ.
               บทว่า สุมาปยิ คือ ให้สร้างโดยชอบ.
               บทว่า อสุญฺโญ คือ อาศรมนั้นไม่ว่างฉันใด เราเป็นผู้ไม่ว่างเพราะทำอาศรมนั้นไม่ให้ว่าง.
               ปาฐะว่า อสุญฺเญ คือ เรารักษาเด็กทั้งสองคนอยู่ในอาศรมอันไม่ว่าง ด้วยการอยู่ของเรา คือเราตั้งอยู่ในอาศรมนั้น.
               ด้วยอานุภาพแห่งเมตตาของพระโพธิสัตว์ แม้สัตว์เดียรัจฉานทั้งปวงก็ได้เมตตาในที่ ๓ โยชน์โดยรอบ.
               เมื่อกษัตริย์ทั้ง ๔ พระองค์ประทับอยู่ ณ เขาวงกตนั้น พราหมณ์ชูชก ชาวเมืองกลิงครัฐ เมื่อภรรยาชื่อว่าอมิตตตาปนา พูดว่าเราไม่สามารถจะทำการซ้อมข้าว ตักน้ำ หุงข้าวยาคู และข้าวสวยแก่ท่านได้เป็นนิจ. ท่านจงนำทาสชายหรือทาสหญิงมารับใช้เราเถิด.
               ชูชกกล่าวว่า น้องเอ๋ย เราหรือก็ยากจน จะได้ทาสชายหรือทาสหญิงแต่ไหนมาให้น้องได้เล่า.
               เมื่อนางอมิตตตาปนาบอกว่า ก็พระราชาเวสสันดรนั่นอย่างไรเล่า พระองค์ประทับอยู่ที่เขาวงกต ท่านจงขอพระโอรสธิดาของพระองค์มาให้เป็นคนรับใช้เราเถิด.
               ชูชกไม่อาจละเลยถ้อยคำของนางได้ เพราะว่าที่มีใจผูกพันนางด้วยอำนาจกิเลส จึงให้นางเตรียมเสบียง เดินทางถึงกรุงเชตุดรโดยลำดับ แล้วถามว่า พระเวสสันดรมหาราชอยู่ที่ไหน.
               มหาชนต่างเกรี้ยวกราดว่า [พระราชา] ของพวกเรา เพราะทรงให้ทานยาจกพวกนี้จึงต้องถูกเนรเทศออกจากแว่นแคว้น. อีตาพราหมณ์เฒ่าผู้นี้ทำให้พระราชาของพวกเราได้รับความพินาศแล้วยังมีหน้ามาถึงที่นี้อีก ต่างถือก้อนดินและท่อนไม้เป็นต้น ด่าว่าติดตามพราหมณ์ไป.
               พราหมณ์ชูชกนั้นเทวดาดลใจออกจากกรุงเชตุดร แล้วเดินตรงไปยังทางที่จะไปเขาวงกต ถึงประตูป่าโดยลำดับ หยั่งลงสู่ป่าใหญ่ หลงทางเที่ยวไป เตลิดไปพบกับเจตบุตรซึ่งพระราชาเหล่านั้นทรงตั้งไว้เพื่ออารักขาพระโพธิสัตว์.
               เจตบุตรถามว่า จะไปไหนพราหมณ์.
               ชูชกบอกว่า จะไปหาพระเวสสันดรมหาราช.
               เจตบุตรคิดว่า อีตาพราหมณ์นี้น่าจะไปทูลขอพระโอรสธิดาหรือพระเทวีของพระเวสสันดรเป็นแน่ จึงขู่ตะคอกว่า พราหมณ์ ท่านอย่าไปที่นั้นนะ. หากไปเราจะตัดหัวท่านเสียที่นี่แหละ แล้วให้สุนัขของเรากิน.
               ชูชกถูกขู่ก็กลัวตายจึงกล่าวเท็จว่า พระชนกของพระเวสสันดรส่งเราเป็นทูตมาด้วยหมายใจว่าจักนำพระเวสสันดรกลับพระนคร.
               เจตบุตรได้ฟังดังนั้นก็ร่าเริงยินดี แสดงความเคารพนับถือพราหมณ์ จึงบอกทางไปเขาวงกตให้แก่พราหมณ์.
               พราหมณ์เดินทางออกจากนั้นในระหว่างทาง ได้พบกับอัจจุตดาบสจึงถามถึงหนทาง.
               เมื่ออัจจุตดาบสบอกหนทางให้ จึงเดินไปตามทางตามเครื่องหมายที่อัจจุตดาบสบอก ถึงที่ตั้งอาศรมบทของพระโพธิสัตว์โดยลำดับ จึงเข้าไปหาพระโพธิสัตว์ ในเวลาที่พระนางมัทรีเทวีไปหาผลไม้ แล้วทูลขอพระกุมารกุมารีทั้งสอง.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-
                                   เมื่อเราอยู่ในป่าใหญ่ ชูชกพราหมณ์
                         เดินเข้ามาหาเรา ได้ขอบุตรทั้งสองของเรา
                         คือ พ่อชาลีและแม่กัณหาชินา.
               เมื่อพราหมณ์ทูลขอพระกุมารกุมารีอย่างนี้แล้ว พระมหาสัตว์ทรงเกิดโสมนัสด้วยพระประสงค์ว่า นานแล้วยาจกมิได้มาหาเรา วันนี้ เราจักบำเพ็ญทานบารมีโดยไม่ให้เหลือ ทรงยังจิตของพราหมณ์ให้ยินดีดุจวางถุงทรัพย์ ๑,๐๐๐ ลงบนมือที่เหยียดออกและยังหลืบเขานั้นทั้งสิ้นให้บรรลือ ตรัสว่า
               เราให้ลูกทั้งสองของเราแก่ท่าน ส่วนพระนางมัทรีเทวีไปป่าเพื่อหาผลาผล แต่เช้าตรู่จักกลับก็ตอนเย็น.
               อนึ่ง เมื่อนางมัทรีกลับ ท่านจงแสดงลูกทั้งสองนั้นจงดื่มเคี้ยวรากไม้และผลาผล อยู่ค้างสักคืนหนึ่งพอหายเมื่อย เช้าตรู่จึงค่อยไป.
               พราหมณ์คิดว่า พระเวสสันดรนี้พระราชทานพระกุมารกุมารี เพราะมีพระอัธยาศัยกว้างขวางแท้ แต่พระนางมัทรีพระมารดามีความรักบุตรกลับมาจะพึงทำอันตรายแก่ทานได้. ถ้ากระไร เราจะทูลแค่นไค้พระเวสสันดรนี้แล้ว พาโอรสทั้งสองไปวันนี้ให้จงได้.
               จึงกราบทูลว่า หากพระองค์พระราชทานพระโอรสทั้งสองแก่ข้าพระองค์แล้ว ก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะแสดงกะพระมัทรีแล้วจึงส่งไป. ข้าพระองค์จักขอพาโอรสทั้งสองไปในวันนี้แหละ พระเจ้าข้า.
               พระเวสสันดรตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ หากท่านไม่ปรารถนาจะเห็นพระนางมัทรีราชบุตรี ท่านจงพาทารกทั้งสองนี้ไปยังกรุงเชตุดร. ณ ที่นั้น พระสญชัยมหาราชจักรับทารกทั้งสองแล้วพระราชทานทรัพย์เป็นอันมากแก่ท่าน. ท่านจักมีทาสหญิงทาสชายได้ด้วยทรัพย์นั้น และท่านก็จะมีชีวิตอยู่อย่างสบาย. อีกประการหนึ่ง ทารกทั้งสองนี้ก็เป็นสุขุมาลชาติ เธอทั้งสองนั้นจักปรนนิบัติท่านได้อย่างไรเล่า.
               พราหมณ์ทูลว่า ข้าพระองค์มิอาจจะทำอย่างนั้นได้ ข้าพระองค์เกรงพระราชอาญา. ข้าพระองค์จักนำไปบ้านของข้าพระองค์เลย พระเจ้าข้า.
               ทารกทั้งสองได้สดับการสนทนาของพระบิดาและพราหมณ์ คิดว่า พระบิดามีพระประสงค์จะพระราชทานเราทั้งสองแก่พราหมณ์ จึงเลี่ยงไปยังสระโบกขรณีแอบที่กอประทุม.
               พราหมณ์ไม่เห็นพระกุมารกุมารี จึงทูลว่า พระองค์ตรัสว่าจะพระราชทานทารกทั้งสองแล้วให้ทารกทั้งสองหนีไป แล้วจึงทูลต่อว่าว่า นั่นเป็นอุบายวิธีที่ดีงามของพระองค์.
               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทรงรีบลุกขึ้นเที่ยวตามหาพระกุมารกุมารี ทรงเห็นทั้งสองแอบอยู่ที่กอปทุมจึงตรัสว่า
               ลูกรักทั้งสองจงขึ้นมาเถิด ลูกทั้งสองอย่าได้ทำอันตรายแก่ทานบารมีของพ่อเลย จงให้อัธยาศัยในทานของพ่อถึงที่สุดเถิด.
               อนึ่ง พราหมณ์ผู้นี้พาลูกทั้งสองไปแล้วก็จักไปหาพระเจ้าสญชัยมหาราชซึ่งเป็นพระอัยกาของลูก.
               พ่อชาลีลูกรัก ลูกต้องการจะเป็นไทก็พึงให้ทอง ๑,๐๐๐ แท่งแก่พราหมณ์แล้วก็จะได้เป็นไท.
               ดูก่อนแม่กัณหาชินาลูกรัก ลูกควรให้สิ่งละ ๑๐๐ คือทาสชาย ๑๐๐ ทาสหญิง ๑๐๐ ช้าง ๑๐๐ ม้า ๑๐๐ โคอุสภะ ๑๐๐ ทองคำ ๑๐๐ แท่งแล้วลูกก็จะพึงเป็นไท.
               ทรงตีราคาค่าตัวลูกทั้งสองดังนี้แล้วทรงปลอบพากลับไปยังอาศรมบท เอาคนโทใส่น้ำแล้วหลั่งน้ำลงในมือของพราหมณ์ ทำให้เป็นปัจจัยแห่งพระสัพพัญญุตญาณ ทรงเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ยังมหาปฐพีให้บรรลือกัมปนาท ได้พระราชทานบุตรเป็นที่รัก.
               แม้ในจริยานี้ก็ได้มีแผ่นดินไหวเป็นต้นโดยนัยดังกล่าวแล้วในจริยาก่อน.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-
                         เพราะได้เห็นยาจกเข้ามาหา ความร่าเริงเกิดขึ้นแก่เรา
                         ในกาลนั้น เราได้พาบุตรทั้งสองมาให้แก่พราหมณ์
                         เมื่อเราสละบุตรทั้งสองของตนให้แก่ชูชกพราหมณ์
                         ในกาลใด แม้ในกาลนั้น แผ่นดิน ภูเขาสิเนรุราช
                         ก็หวั่นไหว.

               ครั้งนั้น พราหมณ์เอาเถาวัลย์ผูกพระหัตถ์ฉุดคร่าทารกทั้งสองผู้ไม่อยากจะไป. ในพระหัตถ์ที่ผูกนั้นโลหิตไหลออกจากผิวหนัง. พราหมณ์เอาท่อนเถาวัลย์ตีฉุดคร่าไป.
               พระกุมารกุมารีทรงเหลียวดูพระบิดาแล้วทูลว่า :-
                                   ข้าแต่พระบิดา พระมารดาก็เสด็จไปป่า
                         พระบิดาก็ทรงเห็นแต่ลูกทั้งสอง พระบิดาอย่า
                         เพิ่งทรงให้ลูกไปเลยจนกว่าพระมารดาจะกลับ
                         มา เมื่อนั้นแหละอีตาพราหมณ์เฒ่าจะขายหรือ
                         จะฆ่าลูกทั้งสองก็ตามที.
               ทูลต่อไปอีกมีอาทิว่า อีตาพราหมณ์เฒ่านี้ร้ายกาจนัก ทำการหยาบช้า
                                   จะเป็นมนุษย์หรือยักษ์ กินเนื้อและเลือด
                         ออกจากบ้านมาสู่ป่า จะมาขอทรัพย์กะพระบิดา
                         เมื่อตาพราหมณ์เฒ่าปีศาจจะนำลูกไป ไฉนพระ
                         บิดาจึงทรงมองดูเฉยอยู่เล่า.
               ทั้งสองพระกุมารกุมารีต่างกันแสงไห้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ธนํ ได้แก่ ทรัพย์คือบุตร.
               ชูชก เมื่อพระกุมารกุมารีร่ำไห้อยู่อย่างนั้นก็โบยฉุดกระชากหลีกไป.
               พระมหาสัตว์ทรงเกิดความเศร้าโศกเป็นกำลัง ด้วยความสงสารลูกทั้งสองที่ร้องไห้และด้วยความไม่สงสารของพราหมณ์.
               ในขณะนั้นเองทรงรำลึกถึงประเพณีของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ทรงตำหนิพระองค์ว่า ธรรมดาพระโพธิสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงทรงสละมหาบริจาค ๕ แล้วจักเป็นพระพุทธเจ้า แม้เราก็เป็นผู้หนึ่งของพระโพธิสัตว์เหล่านั้น บริจาคบุตรทานและมหาบริจาคอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ดูก่อนเจ้าเวสสันดร การให้ทานแล้วเดือดร้อนในภายหลังไม่สมควรแก่เจ้าเลย.
               แล้วทรงเตือนพระองค์ว่า ตั้งแต่เวลาที่เราให้ทานแล้วอะไรๆ ก็มิได้เป็นของเจ้า.
               ทรงอธิษฐาน กุสลสมาทานมั่นคง ประทับนั่ง ณ ประตูบรรณศาลา ดุจพระปฏิมาทองคำนั่งบนแผ่นหิน ฉะนั้น.
               ลำดับนั้น พระนางมัทรีเทวีหาบผลาผลจากป่าเสด็จกลับ เทพยดาทั้งหลายจึงแปลงกายเป็นมฤคร้ายกั้นทางไว้ด้วยดำริว่า พระนางมัทรีจงอย่าเป็นอันตรายแก่ทานของพระมหาสัตว์เลย.
               เมื่อมฤคร้ายหลีกไปแล้วพระนางเสด็จถึงอาศรมช้าไป ทรงดำริว่าวันนี้เราฝันไม่ดีเลยและเกิดนิมิตร้ายขึ้นอีก จักเป็นอย่างไรหนอ เสด็จเข้าไปยังอาศรมไม่ทรงเห็นพระกุมารกุมารี จึงเข้าไปหาพระโพธิสัตว์ทูลว่า ข้าแต่พระทูลกระหม่อม หม่อมฉันไม่เห็นลูกทั้งสองของเรา ลูกทั้งสองไปเสียที่ไหนเล่าเพคะ.
               พระโพธิสัตว์ทรงนิ่ง.
               พระนางมัทรีค้นหาลูกทั้งสอง เที่ยวหาในที่นั้นๆ มิได้ทรงเห็นจึงกลับไปทูลถามอีก.
               พระโพธิสัตว์ทรงดำริว่าเราจักให้แม่มัทรีละความเศร้าโศกถึงบุตรด้วยถ้อยคำหยาบ จึงตรัสว่า :-
                                   แม่มัทรีผู้มีรูปสมบัติอันประเสริฐ เป็นราชบุตรี
                         เป็นผู้มียศเจ้าไปแสวงหามูลผลาหาร แต่เช้ามิใช่หรือ
                         ไฉนเจ้าจึงกลับมาจนเย็นเล่า.
               เมื่อพระนางทูลถึงเหตุที่ทำให้ล่าช้าก็มิได้ตรัสอะไรๆ ถึงทารกทั้งสองอีกเลย. พระนางมัทรีด้วยความเศร้าโศกถึงบุตรคิดถึงบุตร จึงรีบออกป่า ค้นหาบุตรอีก. สถานที่ที่พระนางมัทรีเที่ยวค้นหาในราตรีเดียวคำนวณดูแล้วประมาณ ๑๕ โยชน์.
               ครั้นรุ่งสว่าง พระนางได้เข้าไปหาพระโพธิสัตว์ ประทับยืน ถูกความโศกมีกำลังครอบงำเพราะไม่เห็นลูก จึงล้มสลบลงบนพื้นดินแทบพระบาทของพระโพธิสัตว์นั้น ดุจกล้วยถูกตัด.
               พระโพธิสัตว์ทรงหวั่นไหวด้วยทรงสำคัญว่า พระนางมัทรีสิ้นพระชนม์ ทรงเกิดความโศกใหญ่หลวง ดำรงพระสติมั่น ทรงดำริว่า เราจักรู้ว่าแม่มัทรียังมีชีวิตอยู่หรือไม่มี แม้ตลอด ๗ เดือนไม่เคยถูกต้องกายกันเลย เพราะไม่มีอย่างอื่นจึงทรงยกพระเศียรของนางวางบนพระอุรุ (ขา) เอาน้ำพรมลูบคลำ พระอุระพระหัตถ์และพระหทัย.
               พระนางมัทรีล่วงไปเล็กน้อยก็ได้พระสติบังเกิดหิริโอตตัปปะทูลถามว่า ลูกทั้งสองไปไหน.
               พระโพธิสัตว์ว่า ดูก่อนเทวี พี่ได้ให้บุตรของเราเพื่อเป็นทาสแก่พราหมณ์คนหนึ่งซึ่งมาขอกะพี่.
               เมื่อพระนางมัทรีทูลว่า ข้าแต่พระองค์ เพราะเหตุไร พระเจ้าพี่ทรงให้ลูกทั้งสองแก่พราหมณ์แล้วจึงไม่บอกแก่น้องปล่อยให้ร้องไห้ เที่ยวหาอยู่ตลอดคืนเล่า ตรัสว่า เมื่อพี่บอกเสียก่อน น้องก็จะมีทุกข์ใจมาก แต่บัดนี้ทุกข์เบาบางลงแล้ว.
               พระองค์จึงทรงปลอบพระมัทรีว่า :-
                                   ดูก่อนแม่มัทรี น้องจงดูพี่ อย่าปรารถนาที่
                         จะเห็นลูกเลย อย่ากันแสงไปนักเลย เราไม่มีโรค
                         ยังมีชีวิตอยู่ คงจะได้พบลูก เป็นแน่แท้.
               แล้วตรัสต่อไปว่า :-
                                   สัตบุรุษเห็นยาจกมาขอทาน แล้วพึงให้บุตร
                         สัตว์เลี้ยง ข้าวเปลือกและทรัพย์อย่างอื่นอันมีอยู่ใน
                         เรือน. ดูก่อนแม่มัทรี น้องจงอนุโมทนาบุตรทาน
                         อันสูงสุดของพี่เถิด.
               แล้วทรงให้พระนางมัทรีอนุโมทนาบุตรทานของพระองค์.
               แม้พระนางมัทรีก็ทูลอนุโมทนาว่า :-
                                   ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ น้องขออนุโมทนา
                         บุตรทาน อันสูงสุดของพระเจ้าพี่ ครั้นพระเจ้าพี่พระ
                         ราชทานบุตรแล้ว ขอจงทรงยังพระทัยให้ผ่องใส จง
                         ทรงบำเพ็ญทานให้ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก.
               เมื่อกษัตริย์ทั้งสองทรงสนทนากันเป็นที่สำราญพระทัยของกันและกันอย่างนี้แล้ว.
               ท้าวสักกะจึงทรงดำริว่า เมื่อวานพระมหาบุรุษยังปฐพีให้กึกก้องกัมปนาท ได้พระราชทานพระโอรสธิดาแก่ชูชก. บัดนี้จะมีบุรุษชั่วเข้าไปหาพระองค์ แล้วทูลขอพระมัทรีเทวีก็จะพาเอาไปเสียอีก. แต่นั้น พระราชาโพธิสัตว์ก็จะหมดที่พึ่ง. เอาเถิดเราจะแปลงเพศเป็นพราหมณ์ เข้าไปหาพระองค์ทูลขอพระนางมัทรี ทำให้พระโพธิสัตว์ทรงถือเอายอดพระบารมี แล้วจักไม่ทรงกระทำสิ่งที่ไม่ควรสละให้แก่ใครๆ อีกแล้ว จักมาคืนพระนางมัทรีนั้นแก่พระโพธิสัตว์.
               ท้าวสักกะจึงแปลงเพศเป็นพราหมณ์ ในตอนพระอาทิตย์ขึ้นได้ไปหาพระโพธิสัตว์.
               พระมหาบุรุษทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์นั้น ทรงเกิดปีติโสมนัสว่า แขกของเรามาแล้ว ทรงกระทำปฏิสันถารอย่างอ่อนหวานกับพราหมณ์นั้น แล้วตรัสถามว่า ท่านพราหมณ์ ท่านมาที่นี้เพื่อประสงค์อะไร.
               ลำดับนั้น ท้าวสักกะจึงทูลขอพระนางมัทรีเทวี.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-
                                   ท้าวสักกะทรงแปลงเพศเป็นพราหมณ์
                         เสด็จลงจากเทวโลก มาขอนางมัทรีผู้มีศีล มี
                         จริยาวัตรอันงามกะเราอีก.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ปุนเทว คือ ภายหลังจากวันที่เราให้ลูกทั้งสองนั่นแล. อธิบายว่า ในลำดับนั้นนั่นแล.
               บทว่า โอรุยฺห คือ ลงจากเทวโลก.
               บทว่า พฺราหฺมณสนฺนิโภ คือ แปลงเพศเป็นพราหมณ์.
               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์มิได้ตรัสว่า เมื่อวานนี้ เราได้ไห้ลูกทั้งสองแก่พราหมณ์ แม้เราก็อยู่ผู้เดียวเท่านั้นในป่า เราจักให้แม่มัทรีผู้มีศีลปฏิบัติสามีดีแก่ท่านได้อย่างไร. มีพระทัยมิได้ถดถอย เพราะไม่สละ เพราะไม่ผูกมัด ดุจวางรตนะอันหาค่ามิได้ลงในมือที่เหยียดออกทรงร่าเริงยินดีดุจยังคิรีให้กึกก้องกัมปนาทว่า วันนี้ ทานบารมีของเราจักถึงที่สุด ตรัสว่า :-
                                   ท่านพราหมณ์ เราจะให้ เราไม่หวั่นไหว
                         ท่านขอสิ่งใดกะเรา เราไม่ซ่อนเร้นที่มีอยู่นั้น
                         ในของเรายินดีในทาน.
               ทรงรีบเอาน้ำใส่คนโทแล้วหลั่งน้ำลงในมือพราหมณ์ได้พระราชทานภรรยาให้.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-
                                   เรามีความดำริแห่งใจเลื่อมใส เราจับ
                         พระหัตถ์พระนางมัทรี ยังฝ่ามือให้เต็มด้วยน้ำ
                         ได้ให้พระนางมัทรีแก่พราหมณ์นั้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อุทกญฺชลิ คือ ยังมือให้เต็มด้วยน้ำ.
               อนึ่ง บทว่า อุทกํ เป็นปฐมาวิภัตติ์ลงในอรรถแห่งตติยาวิภัตติ์.
               ความว่า ยังมือคือฝ่ามือที่เหยียดออกของพราหมณ์นั้นให้เต็มด้วยน้ำ.
               บทว่า ปสนฺนมนสงฺกปฺโป คือ มีความดำริแห่งใจเลื่อมใสแล้วด้วยความเลื่อมใสศรัทธาอันเกิดขึ้นแล้วว่า เราจักยังที่สุดแห่งทานบารมีให้ถึงด้วยการบริจาคภริยานี้ แล้วจักบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณแน่นอน.
               ในขณะนั้นนั่นเองได้ปรากฏปาฏิหาริย์ทั้งปวงมีประการดังได้กล่าวมาแล้วในหนหลัง.
               หมู่เทพ หมู่พรหม ได้เกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่งว่า บัดนี้พระสัมมาสัมโพธิญาณของพระโพธิสัตว์นั้นอยู่ไม่ไกล.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-
                         เมื่อเราให้พระนางมัทรี ทวยเทพในท้องฟ้าต่างเบิกบาน
                         แม้ในครั้งนั้น แผ่นดิน เขาสิเนรุราชก็หวั่นไหว.
               อนึ่ง เมื่อเราให้พระนางมัทรีเทวีไม่มีร้องไห้หน้าเศร้าหรือเพียงคิ้วขมวด.
               พระนางมัทรีเทวีได้มีพระดำริอย่างเดียวว่า จะทำสิ่งที่พระสวามีปรารถนา.
               พระนางมัทรีตรัสต่อไปว่า :-
                         เราเป็นราชกุมารี ได้เป็นภริยาของท่านผู้ใด
                         ท่านผู้นั้นก็เป็นเจ้าของ เป็นอิสระในตัวเรา
                         เมื่อปรารถนาจะให้เราแก่ผู้ใดก็ให้ได้ หรือ
                         จะขายก็ได้ จะฆ่าเสียก็ได้.
               แม้พระมหาบุรุษก็ตรัสว่า ท่านพราหมณ์ผู้เจริญ พระสัพพัญญุตญาณเท่านั้น เรารักยิ่งกว่าแม่มัทรี ร้อยเท่า พันเท่า แสนเท่า. ขอทานของเรานี้จงเป็นปัจจัยแห่งการรู้แจ้งแทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณเถิด แล้วพระราชทานทาน.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-
                                   เมื่อเราสละพ่อชาลี แม่กัณหาชินาผู้เป็นธิดา
                         และพระนางมัทรีผู้จงรักสามี ไม่คิดถึงเลย เพราะ
                         เหตุแห่งโพธิญาณนั่นเอง
                                   บุตรทั้งสองเราก็ไม่เกลียด พระนางมัทรี เรา
                         ก็ไม่เกลียด แต่สัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา
                         เพราะฉะนั้น เราจึงได้ให้บุตรและภริยาอันเป็น
                         ที่รักของเราอีกครั้งหนึ่ง.

               ในบทเหล่านั้น บทว่า จชมาโน น จีนฺเตสึ คือ เมื่อเราสละก็มิได้คิดถึงด้วยความเดือดร้อน. อธิบายว่า เราสละแล้วก็เป็นอันสละไปเลย.
               ในบทนี้สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
               ก็เพราะเหตุไรเล่า พระมหาบุรุษจึงทรงสละบุตรภริยาของพระองค์ผู้สมบูรณ์ด้วยชาติเป็นกษัตริย์ โดยให้เป็นทาสของผู้อื่น เพราะการทำผู้เป็นไทบางพวก ไม่ให้เป็นไท มิใช่สิ่งที่ดี.
               ตอบว่า เพราะเป็นธรรมสมควร.
               จริงอยู่ การเข้าถึงพุทธการกธรรมเป็นธรรมดานี้ คือการบริจาควัตถุที่เขาหวงว่า นี้ของเรา เนื่องในตนทั้งปวงได้โดยไม่เหลือ.
               จริงอยู่ การสละวัตถุที่เขาหวงว่าของเรา แก่ยาจกผู้ขอจะไม่สมควรแก่พระโพธิสัตว์ผู้ถึงความขวนขวายเพื่อบำเพ็ญทานบารมีปราศจากการกำหนดไทยธรรมและปฏิคาหกก็หามิได้.
               แม้นี้ก็เป็นธรรมอันสมควรมีมาแต่เก่าก่อน. ธรรมที่ประพฤติสะสมมาสม่ำเสมอนี้ เป็นวงศ์ของตระกูลเป็นประเพณีของตระกูลของพระโพธิสัตว์ทั้งปวง คือการบริจาคของทุกสิ่ง.
               แต่โดยพิเศษออกไปในข้อนั้น ก็คือการบริจาคสิ่งอันเป็นที่รักกว่า.
               จริงอยู่ พระโพธิสัตว์บางองค์เป็นพระพุทธเจ้า เพราะทรงบริจาคมหาบริจาค ๕ เหล่านี้ คือ บริจาคทรัพย์มีความเป็นอิสระในราชสมบัติเป็นต้นอันสืบวงค์มา ๑ การบริจาคอวัยวะ มีศีรษะและนัยน์ตาเป็นต้นของตน ๑ บริจาคชีวิตอันเป็นที่รัก ๑ บริจาคบุตรเป็นที่รักผู้จะดำรงวงศ์ตระกูล ๑ บริจาคภริยาเป็นที่รักมีความประพฤติเป็นที่ชอบใจ ๑ เคยมีมาแล้วมิใช่หรือ.
               เป็นความจริงดังนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสุมังคละ ครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ทรงแสวงหาโพธิญาณประทับอยู่ ณ ภูเขาลูกหนึ่งพร้อมด้วยบุตรภรรยาในอัตภาพที่ ๓ จากอัตภาพก่อนมียักษ์ชื่อว่าขรทาฐิกะ (เขี้ยวแหลม) ได้ฟังว่าพระมหาบุรุษมีอัธยาศัยในการให้ จึงแปลงเพศเป็นพราหมณ์ เข้าไปหาพระโพธิสัตว์ขอทารกทั้งสอง.
               พระมหาสัตว์เบิกบานใจว่า เราจะให้บุตรทั้งสองแก่พราหมณ์ ยังปฐพีมีน้ำเป็นที่สุดให้หวั่นไหวได้ให้ทารกทั้งสอง. ยักษ์ยืนพิงกระดานสำหรับยึดในที่สุดที่จงกรม เมื่อพระโพธิสัตว์เห็นอยู่นั่นเอง ได้เคี้ยวกินเด็กทั้งสองดุจเหง้าบัว.
               เมื่อพระมหาบุรุษแลดูปากของยักษ์ ซึ่งพ่นสายเลือดออกมาดุจเปลวไฟ ไม่ให้โอกาสแก่จิตตุปบาทเกิดขึ้นว่ายักษ์ลวงเรา เพราะความเป็นผู้ฉลาดในอุบายได้อบรมดีมาแล้ว เพราะสภาพของธรรมในอดีตไม่มีปฏิสนธิ และเพราะความย่ำยีของสังขารทั้งหลายด้วยอำนาจแห่งความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น จึงเกิดโสมนัสขึ้นว่า ทานบารมีของเราเต็มแล้ว. เรายังประโยชน์ใหญ่ให้สำเร็จแล้วได้บรรลุ ดังนี้ด้วยกองสังขารอันหาสาระมิได้ผุพังไปตั้งอยู่เดี๋ยวเดียวอย่างนี้.
               พระมหาสัตว์ทราบความดีงามแห่งจิตของตน ในขณะนั้นอันไม่ทั่วไปแก่ผู้อื่น จึงตั้งความปรารถนาว่า ด้วยผลอันนี้ในอนาคต ขอรัศมีของเราจงออกจากร่างกาย โดยทำนองเดียวกันนี้เถิด.
               รัศมีจากสรีระของพระโพธิสัตว์ผู้เป็นพระพุทธเจ้านั้น เพราะอาศัยความปรารถนานั้น ได้แผ่ซ่านตลอดโลกธาตุ ๑๐,๐๐๐ ตั้งอยู่เป็นนิจ.
               พระโพธิสัตว์แม้เหล่าอื่นก็อย่างนั้นสละสิ่งอันเป็นที่รักของตนและบุตรภรรยา ก็รู้แจ้งแทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณ.
               อีกอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างว่าบุรุษคนใดคนหนึ่งรับจ้างทำการงานบ้านหรือชนบทในสำนักของใครๆ พึงทำทรัพย์หายไป ด้วยความประมาทของตนหรือของลูกน้อง เขาถูกจับส่งเข้าไปยังเรือนจำ.
               เขาพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า เราทำการงานของพระราชานี้ เก็บทรัพย์ไว้ได้ประมาณเท่านี้ เราถูกพระราชานั้นส่งเข้าไปในเรือนจำ. หากเราอยู่ในเรือนจำนี้ ตนก็จนย่อยยับ บุตรภรรยากรรมกรและบุรุษของเราปราศจากอาชีพพึงถึงความพินาศย่อยยับ ถ้ากระไรเราจักทูลพระราชา ทรงตั้งบุตรหรือพี่ชายน้องชายของตนไว้ในที่นี้แล้วพึงออกไป. เราพ้นจากเรือนจำนี้ ไม่ช้าก็จะรวบรวมทรัพย์ จากมิตร จากสหายแล้วถวายแด่พระราชาแล้วปล่อยบุตรพี่ชายน้องชายนั้นจากเรือนจำ.
               เราเป็นผู้ไม่ประมาทจักกระทำสมบัติให้เหมือนเดิมด้วยกำลังความเพียร.
               บุรุษนั้นก็พึงทำอย่างนั้นฉันใด พึงเห็นข้ออุปมาอุปมัยนี้ฉันนั้น.
               ในข้อนั้นมีความเปรียบเทียบดังต่อไปนี้.
               การงานดุจพระราชา. สงสารดุจเรือนจำ.
               พระมหาบุรุษผู้ท่องเที่ยวไปในสงสารด้วยอำนาจกรรม ดุจบุรุษที่พระราชาตั้งไว้ในเรือนจำ.
               การที่พระมหาบุรุษให้บุตรเป็นต้นของตนแก่คนอื่น แล้วปลดเปลื้องสัตว์ทั้งปวงให้พ้นจากทุกข์ในวัฏฏะด้วยการได้พระสัพพัญญุตญาณ ดุจการพ้นจากทุกข์ของบุตรหรือพี่น้องและของตนซึ่งถูกจำอยู่ในเรือนจำด้วยการพึ่งผู้อื่น.
               การถึงพร้อมด้วยสมบัติคือพระสัพพัญญุตญาณมีทศพลญาณเป็นต้น ด้วยความเป็นพระพุทธเจ้าของพระมหาบุรุษผู้ปราศจากทุกข์ในวัฏฏะด้วยอรหัตมรรค และการถึงพร้อมด้วยสมบัติมีวิชา ๓ เป็นต้นของผู้ทำตามคำสอนของตน ดุจการตั้งอยู่ในสมบัติตามความประสงค์กับชนเหล่านั้นของบุรุษผู้พ้นทุกข์แล้ว.
               เพราะเหตุนั้น การบริจาคบุตรภรรยาของพระมหาบุรุษทั้งหลาย จึงเป็นสภาพอันหาโทษมิได้ด้วยประการฉะนี้.
               โดยนัยนี้แล การทักท้วงใดในการบริจาคอวัยวะและชีวิตของพระโพธิสัตว์เหล่านั้น แม้การทักท้วงนั้นก็พึงทราบว่าบริสุทธิ์ดีแล้ว.
               ก็เมื่อพระมหาสัตว์ทรงให้พระนางมัทรีเทวีอย่างนี้แล้ว ท้าวสักกะทรงบังเกิดความอัศจรรย์อันไม่เคยมี ได้ทรงสรรเสริญด้วยการอนุโมทนาทานของพระมหาบุรุษโดยนัยมีอาทิว่า :-
                                   ข้าศึกทั้งหลายทั้งที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์
                         พระองค์ชนะได้ทั้งหมดปฐพี พระองค์ก็ให้กึกก้องได้
                         พระเกียรติศัพท์ของพระองค์ก็ระบือไปถึงไตรทิพย์.
                                   เมื่อพระองค์ทรงให้สิ่งที่ให้ได้ยาก กระทำสิ่งที่ทำ
                         ได้ยาก คนที่เป็นอสัตบุรุษก็ทำตามได้ยาก ธรรมของ
                         สัตบุรุษนำไปได้ยาก เพราะฉะนั้นคติของสัตบุรุษและ
                         อสัตบุรุษ จากโลกนี้ไปจึงต่างกัน อสัตบุรุษย่อมไปนรก
                         สัตบุรุษย่อมไปสวรรค์.

               ในบทเหล่านั้น บทว่า ปจฺจูหา คือ ข้าศึก.
               บทว่า ทิพฺพา คือ ผู้ห้ามยศอันเป็นทิพย์.
               บทว่า มานุสา ผู้ห้ามยศเป็นของมนุษย์.
               ก็ข้าศึกเหล่านั้นเป็นใคร คือความตระหนี่.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ความตระหนี่ทั้งหมดนั้นอันพระมหาสัตว์ผู้ทรงให้บุตรภริยา ทรงชนะได้แล้ว.
               บทว่า ทุทฺททํ ให้ได้ยาก คือเมื่อบุคคลเช่นท่านให้สิ่งที่ให้ได้ยากมีบุตรภริยาเป็นต้น กระทำสิ่งที่ทำได้ยากนั้น พระสาวก พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลายเหล่าอื่น กระทำตามไม่ได้จะกล่าวไปใยถึงอสัตตบุรุษ ผู้มีความตระหนี่. เพราะฉะนั้น ธรรมของสัตบุรุษนำไปได้ยาก คือธรรมอันเป็นข้อปฏิบัติของคนดีคือพระมหาโพธิสัตว์ อันบุคคลอื่นตามไปได้ยาก.
               ท้าวสักกะทรงสรรเสริญด้วยการอนุโมทนาพระมหาบุรุษอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงมอบพระนางมัทรีเทวีคืน จึงตรัสว่า :-
                                   ข้าพเจ้าขอถวายพระนางมัทรีอัครมเหสีผู้มี
                         พระวรกายงามพร้อม แก่พระองค์ พระองค์เท่านั้น
                         คู่ควรแก่พระนางมัทรี และพระนางมัทรีก็คู่ควรแก่
                         พระองค์ผู้เป็นพระสวามี.
               แล้วทรงมอบพระนางมัทรีคืน เสด็จประทับบนอากาศ รุ่งโรจน์ด้วยพระอัตภาพเป็นทิพย์ ดุจดวงอาทิตย์อ่อนๆ ประทับอยู่บนอากาศ แสดงพระองค์ตรัสว่า :-
                                   ข้าแต่พระราชฤๅษี ข้าพเจ้าคือท้าวสักกะ
                         จอมเทพมายังสำนักของพระองค์ ขอพระองค์จง
                         ทรงเลือกพร ข้าพระองค์จะถวายพร ๘ ประการ
                         แก่พระองค์.
               แม้พระมหาสัตว์ก็ทรงขอพร ๘ ประการเหล่านี้ คือ
               ๑. ข้าแต่จอมเทพ ขอพระบิดาทรงแต่งตั้งข้าพระองค์ให้ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๒. ขอให้ข้าพระองค์ปลดปล่อยนักโทษที่ต้องถึงประหารให้พ้นจากการประหาร ๓. ขอให้ข้าพระองค์เป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ๔. ขอให้ข้าพระองค์อย่าได้ล่วงเกินภรรยาของผู้อื่น อย่าได้ลุอำนาจของสัตว์ ๕. ขอให้โอรสของข้าพระองค์มีอายุยืนนาน ๖. ขอให้ไทยธรรมมีข้าวและน้ำเป็นต้นมีมาก ๗. ขอให้ข้าพระองค์มีจิตผ่องใส บริจาคไทยธรรมนั้นไม่รู้จักหมดสิ้น ๘. ขอให้ข้าพระองค์บริจาคมหาทานอย่างนี้ ครั้นสิ้นชีพแล้ว ขอให้ไปสู่เทวโลก กลับจากเทวโลกมาเกิดในมนุษยโลกนี้ ขอให้บรรลุพระสัพพัญญุญาณ.
               ท้าวสักกะตรัสว่า ในไม่ช้า พระเจ้ากรุงสญชัยมหาราชพระบิดาจักเสด็จมา ณ ที่นี้ รับพระองค์ไปดำรงในราชสมบัติ.
               อนึ่ง ความปรารถนาของพระองค์นอกนั้นทั้งหมด จักถึงที่สุด พระองค์อย่าทรงวิตกไปเลย. ขอพระองค์อย่าทรงประมาท.
               ครั้นประทานโอวาทแล้วก็เสด็จกลับเทวโลกทันที.
               พระโพธิสัตว์และพระนางมัทรีเทวีทรงเบิกบานพระทัย ประทับอยู่ ณ อาศรมที่ท้าวสักกะประทานให้.
               แม้เมื่อชูชกพาสองกุมารไป ทวยเทพก็ได้ทำการอารักขา. ทุกๆ วันจะมีเทพธิดาองค์หนึ่งมาในตอนกลางคืน แปลงเพศเป็นพระนางมัทรีคอยดูแลสองกุมาร.
               ชูชกนั้นเทวดาดลใจ คิดว่าจักไปกาลิงครัฐ แต่ก็บรรลุถึงกรุงเชตุดร โดยกึ่งเดือน.
               พระราชาประทับนั่ง ณ ที่วินิจฉัย ทอดพระเนตรเห็นสองกุมารกับพราหมณ์ไปถึงพระลานหลวง ทรงจำได้รับสั่งให้เรียกสองกุมารกับพราหมณ์ ทรงสดับเรื่องราวนั้น จึงพระราชทานทรัพย์ตามจำนวนที่พระโพธิสัตว์ทรงตีราคาไว้ไถ่สองกุมาร ให้สองกุมารสรงสนาน เสวยพระกระยาหาร ทรงตกแต่งด้วยเครื่องสรรพาลังการ.
               พระราชาทรงให้พระชาลีประทับบนพระเพลา พระนางผุสดีทรงให้แก้วกัณหาชินาประทับบนพระเพลา ทรงสดับถึงเรื่องราวของพระโพธิสัตว์และพระนางมัทรีราชบุตรี.
               พระราชาทรงสดับดังนั้นแล้วทรงสลดพระทัยว่า เราได้ทำลายความดีงาม ทันใดนั้นเอง ทรงจัดกองทัพนับได้ ๑๒ อักโขภินี (อักโขภินีหนึ่งเท่ากับร้อยล้านแสนโกฏิ) ทรงมุ่งพระพักตร์เสด็จไปเขาวงกต พร้อมด้วยพระนางผุสดีเทวีและสองกุมาร. เสด็จถึงโดยลำดับแล้วทรงเข้าไปหาพระโอรสและพระสุณิสา.
               พระเวสสันดรทอดพระเนตรเห็นพระปิยบุตร ไม่สามารถอดกลั้นความโศกได้ ทรงสลบล้มลง ณ ที่บรรณศาลานั่นเอง.
               พระนางมัทรี พระชนกชนนี และเหล่าอำมาตย์ ๖๐,๐๐๐ ที่เป็นสหชาติต่างก็สลบไสลไปตามๆ กัน.
               บรรดาผู้เห็นความกรุณานั้นไม่สามารถดำรงอยู่โดยความเป็นตนของตนได้ ตลอดอาศรมบทได้เป็นเหมือนป่าสาละที่ถูกลมยุคันตวาตโหมกระหน่ำฉะนั้น.
               ท้าวสักกเทวราช เพื่อให้กษัตริย์และอำมาตย์ฟื้นจากสลบจึงบันดาลให้ฝนโบกขรพรรษตกลงมา. ผู้ประสงค์จะให้เปียกก็เปียก ดุจฝนตกลงในใบบัวแล้วกลับกลายเป็นน้ำไหลไป. ทั้งหมดก็ฟื้น.
               แม้ในครั้งนั้น ความอัศจรรย์มีแผ่นดินไหวเป็นต้นมีประการดังกล่าวแล้วในหนหลังก็ได้ปรากฏขึ้น.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า :-
                                   อีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระชนกชนนีเสด็จมาพร้อมกัน
                         ณ ป่าใหญ่ ทรงกันแสงสะอึกสะอื้นน่าสงสาร ตรัสถาม
                         ถึงทุกข์สุขกันและกันอยู่ เราได้เข้าเฝ้าพระชนกชนนี
                         ทั้งสองผู้เป็นที่เคารพด้วยหิริและโอตตัปปะ แม้ในกาล
                         นั้น แผ่นดิน เขาสิเนรุราช ก็หวั่นไหว.

               ในบทเหล่านั้น บทว่า กรุณํ ปริเทวนฺเต คือ เมื่อชนมาพร้อมกันทั้งหมดมีพระชนกชนนีเป็นต้น ทรงกันแสงสะอึกสะอื้นน่าสงสาร.
               บทว่า สลฺลปนฺเต สุขํ ทุกฺขํ คือ ตรัสถามถึงทุกข์สุข แล้วสนทนากันด้วยการปฏิสันถาร.
               บทว่า หิโรตฺตปฺเปน ครุนา อุภินฺนํ เราได้เข้าเฝ้าพระชนกชนนีผู้เป็นที่เคารพด้วยหิริและโอตตัปปะ คือเรามิได้มีจิตโกรธเคืองว่า ชนเหล่านี้ขับไล่เราผู้เชื่อฟังคำของชาวสีพีไม่ประทุษร้าย ตั้งอยู่ในธรรมแล้วเข้าเฝ้าพระชนกชนนีด้วยหิริโอตตัปปะ อันเกิดขึ้นด้วยความเคารพในธรรมในพระชนกชนนีเหล่านี้.
               ด้วยเหตุนั้น มหาปฐพีจึงหวั่นไหวขึ้นในครั้งนั้นด้วยเดชะแห่งธรรมของเรา.
               ลำดับนั้น พระเจ้ากรุงสญชัยมหาราชทรงให้พระมหาสัตว์ยกโทษให้ แล้วทรงมอบราชสมบัติให้ครอบครอง ในขณะนั้นเองทรงให้พระมหาสัตว์ปลงพระเกศาและพระมัสสุเป็นต้น ให้ทรงสรงสนาน ทรงอภิเษกพระมหาสัตว์ผู้ทรงตกแต่งด้วยสรรพาภรณ์งดงามดังเทวราชไว้ในราชสมบัติ พร้อมพระนางมัทรีเทวี.
               ทันใดนั้นทรงลุกขึ้นพร้อมด้วยเสนา ๔ เหล่าประมาณ ๑๒ อักโขภินีแวดล้อมพระโอรสรับสั่งให้ตกแต่งทาง ๖๐ โยชน์ตั้งแต่เขาวงกตถึงกรุงเชตุดร เสด็จเข้าสู่พระนครโดยสวัสดี เป็นเวลาสองเดือน.
               มหาชนได้เสวยปีติโสมนัสเป็นอันมาก ต่างยกผืนผ้าเป็นต้นโบกไปมา เที่ยวประโคมนันทเภรีไปทั่วพระนคร.
               สัตว์ทั้งปวงโดยที่สุด แมวที่อยู่ในเครื่องผูกมัดก็ได้พ้นจากเครื่องผูกมัด.
               พระโพธิสัตว์ในวันเสด็จเข้าสู่พระนครนั่นเอง ตอนใกล้รุ่งทรงดำริว่า พรุ่งนี้ตอนสว่าง ยาจกทั้งหลายได้ข่าวว่าเรากลับมาก็จักพากันมา. เราจักให้อะไรแก่ยาจกเหล่านั้น.
               ในขณะนั้น อาสนะของท้าวสักกะแสดงอาการร้อน. ท้าวเธอทรงรำพึงอยู่ทรงทราบเหตุนั้นแล้ว ทันใดนั่นเองทรงบันดาลให้สิ่งของมีอยู่ตอนต้นและมีในตอนหลัง ของพระราชนิเวศน์เต็มประมาณเอว ประทานให้ตกดุจก้อนเมฆ. ฝนแก้ว ๗ ประการตกทั่วพระนครสูงปานเข่า.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า :-
                                   อีกครั้งหนึ่ง เรากับบรรดาพระญาติของเรา
                         ออกจากป่าใหญ่ จักเข้าสู่กรุงเชตุดรอันน่ารื่นรมย์
                         แก้ว ๗ ประการตกลง แล้วมหาเมฆยังฝนให้ตก
                         แม้ในกาลนั้น ปฐพี เขาสิเนรุราชก็หวั่นไหว แม้
                         แผ่นดินไม่มีจิตใจ ไม่รู้สุขและทุกข์ก็หวั่นไหวถึง
                         ๗ ครั้ง เพราะกำลังแห่งทานของเรา ฉะนี้แล.

               เมื่อฝนแก้ว ๗ ประการตกอย่างนี้ รุ่งขึ้นพระมหาสัตว์ทรงดำริว่าทรัพย์ที่อยู่ในวัตถุที่มีอยู่ก่อนและมีทีหลังของตระกูลใดจงเป็นของตระกูลนั้น แล้วพระราชทานให้นำส่วนที่เหลือมาใส่ไว้ในท้องพระคลังรวมกับทรัพย์ในวัตถุที่อยู่ในพระราชนิเวศน์ของพระองค์ แล้วทรงบริจาคมหาทาน.
               บทว่า อเจตนายํ ปฐวี คือ ปฐพีนี้ใหญ่ปราศจากเจตนา แต่ทวยเทพประกอบด้วยเจตนา.
               บทว่า อวิญฺญาย สุขํ ทุกฺขํ ไม่รู้สุข ไม่รู้ทุกข์ เพราะไม่มีเจตนานั่นเอง.
               แม้เมื่อมีการประกอบปัจจัยอันเป็นสุขเป็นทุกข์ ปฐพีนั้นก็มิได้เสวยปัจจัยนั้น.
               บทว่า สาปิ ทานพลา มยฺหํ คือ มหาปฐพีนั้น แม้เป็นอย่างนั้นก็เพราะเหตุแห่งบุญญานุภาพแห่งการให้ของเรา.
               บทว่า สตฺตกฺขตฺตุํ ปกมฺปถ ความว่า มหาปฐพีหวั่นไหวถึง ๗ ครั้งในฐานะเหล่านี้ คือในเมื่อเรามีอายุได้ ๘ ขวบเกิดอัธยาศัยในการให้ว่า เราพึงให้แม้หัวใจและเนื้อเป็นต้น แก่ยาจกทั้งหลาย ในเมื่อให้มงคลหัตถี ในการครั้งใหญ่จนถูกขับไล่ ในการให้บุตร ในการให้ภริยา ในคราวหมู่พระญาติมาพร้อมกันที่เขาวงกต ในคราวเข้าสู่พระนคร ในคราวฝนรตนะตก.
               พระมหาสัตว์ทรงบริจาคมหาทานตราบเท่าพระชนมายุอันเป็นเหตุ ปรากฏความอัศจรรย์มีมหาปฐพีหวั่นไหวเป็นต้นสิ้น ๗ ครั้งในอัตภาพเดียวเท่านั้น เมื่อเสด็จสวรรคตได้ไปบังเกิดบนสวรรค์ชั้นดุสิตด้วยประการฉะนี้.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า :-
                         ครั้นพระเวสสันดรราชผู้เป็นกษัตริย์มีพระปัญญา
                         พระราชทานมหาทาน ครั้นสวรรคตแล้วก็ทรงอุบัติ
                         บนสวรรค์.

               ชูชกในครั้งนั้นได้เป็นเทวทัตในครั้งนี้.
               นางอมิตตตาปนา คือนางจิญจมาณวิกา.
               เจตบุตร คือพระฉันนะ.
               อจุตดาบส คือพระสารีบุตรเถระ.
               ท้าวสักกะ คือพระอนุรุทธะ.
               พระนางมัทรี คือมารดาพระราหุล.
               ชาลีกุมาร คือพระราหุล.
               กัณหาชินา คือนางอุบลวรรณา.
               พระชนกชนนี คือตระกูลมหาราช.
               บริษัทที่เหลือ คือพุทธบริษัท.
               พระเวสสันดรราช คือพระโลกนาถ.
               แม้ใน เวสฺสนฺตรจริยา นี้ ก็พึงเจาะจงกล่าวถึงบารมีที่เหลือตามสมควรโดยนัยดังกล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.
               พึงประกาศคุณานุภาพของพระมหาบุรุษไว้ในจริยานี้อันเป็นเหตุปรากฏความอัศจรรย์หลายอย่างมีมหาปฐพีหวั่นไหวเป็นต้นถึง ๗ ครั้งมีอาทิอย่างนี้ คือ
               เมื่อพระมหาสัตว์ทรงอยู่ในพระครรภ์ พระชนนีทรงแพ้พระครรภ์ เพราะมีพระประสงค์จะทรงสละทรัพย์ถึง ๖๐๐,๐๐๐ ทุกๆ วัน.
               อนึ่ง เมื่อทรงให้ทานพระราชทรัพย์ก็มิได้หมดสิ้นไป.
               ในขณะประสูตินั่นเอง ทรงเหยียดพระหัตถ์ แล้วเปล่งพระวาจาว่า หม่อมฉันจักให้ทาน. มีอะไรบ้าง.
               เมื่อมีพระชนม์ได้ ๔-๕ พระพรรษา ความที่พระองค์มีพระประสงค์จะทรงให้เครื่องประดับของพระองค์แก่แม่นมทั้งหลาย อันเป็นเหตุแห่งความเป็นผู้เลิศ.
               เมื่อพระชนม์ ๘ พระพรรษา ความที่พระองค์มีพระประสงค์จะทรงให้อวัยวะของพระองค์มีหัวใจและเนื้อเป็นต้น.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า :-
                         ท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่เหล่านี้ น่าอัศจรรย์ทั้ง
                         ไม่เคยมีอย่างนี้ แม้เพียงจิตเลื่อมใสในท่านเหล่านั้น
                         ก็พึงพ้นจากทุกข์ จะพูดไปทำไมถึงการทำตามท่าน
                         เหล่านั้น โดยธรรมสมควรแก่ธรรม.

               จบอรรถกถาเวสสันตรจริยาที่ ๙               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก การบำเพ็ญทานบารมี ๙. เวสสันตรจริยา จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 33.3 / 1อ่านอรรถกถา 33.3 / 8อรรถกถา เล่มที่ 33.3 ข้อ 9อ่านอรรถกถา 33.3 / 10อ่านอรรถกถา 33.3 / 36
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=8795&Z=8905
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=52&A=1989
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=52&A=1989
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :