ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 34 / 2อ่านอรรถกถา 34 / 970
อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์
มาติกา ติกมาติกา ๒๒ ติกะ

               อรรถกถาธรรมสังคณี               
               ชื่ออัฏฐสาลินี               
               -----------------------------------------------------               
               อารัมภกถา               

                         กรุณา วิย สตฺเตสุ     ปญฺญายสฺส มเหสิโน
                         เณยฺยธมฺเมสุ สพฺเพสุ  ปวตฺติตฺถ ยถารุจึ...
               พระสัพพัญญุตญาณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใด ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ เป็นไปทั่วในไญยธรรมทั้งปวงตามความพอพระทัย ดุจพระกรุณาที่ทรงแผ่ไปในสัตว์ทั้งหลาย พระสัมพุทธะพระองค์ใด มีพระทัยอันความกรุณานั้นให้อุตสาหะขึ้นด้วยดีในสัตว์ทั้งหลาย เมื่อประทับจำพรรษาในดาวดึงส์เทวโลก ในคราวที่แสดงยมกปาฏิหาริย์เสร็จแล้ว ได้ประทับนั่งบนศิลาอาสน์ ชื่อว่าบัณฑุกัมพล ณ ควงไม้ปาริชาต ทรงพระสิริโสภาคย์ ดุจพระอาทิตย์อุทัยเหนือขุนเขายุคันธร ผู้อันหมู่แห่งเทพเจ้าทั้งหมื่นจักรวาลได้มาแวดล้อมนั่งประชุมกัน สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ได้ทรงทำสันตุสสิตเทพบุตรซึ่งเคยเป็นพุทธมารดา ให้เป็นประธานแก่หมู่เทพยเจ้าทั้งหลาย แล้วตรัสกถามรรค (ประพันธ์) พระอภิธรรมติดต่อกันไปตลอดพรรษากาล ด้วยเดชแห่งพระสัพพัญญุญาณนั้น.
               ข้าพเจ้าขอน้อมนมัสการพระยุคลบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงมีพระสิริโสภาคย์พระองค์นั้น ขอบูชาพระสัทธรรมและทำอัญชลีต่อพระสงฆ์ ด้วยอานุภาพแห่งการทำความนอบน้อมในพระรัตนตรัย ที่ข้าพเจ้ากระทำแล้วนี้ ขออันตรายทั้งหลายจงเสื่อมสิ้นไปโดยมิได้เหลือ.
               พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นเทพของเทพ เป็นผู้นำพิเศษ ผู้อันภิกษุชื่อว่าพุทธโฆษะ มีอาจาระและศีลบริสุทธิ์ มีปัญญาฉลาดหลักแหลม ปราศจากมลทิน ทูลอาราธนาสักการะโดยเคารพพระองค์นั้น ครั้นทรงแสดงอภิธรรมใดแก่เทพทั้งหลายแล้ว ก็ได้ตรัสบอกแก่พระสารีบุตรเถระผู้อุปัฏฐากพระมเหสีเจ้า ณ สระอโนดาต โดยนัย (แนะนำโดยย่อ) อีก พระเถระได้สดับฟังแล้วก็มายังพื้นปฐพีบอกแก่ภิกษุทั้งหลาย พระอภิธรรมนั้นอันพระภิกษุทั้งหลายทรงจำไว้แล้วด้วยประการฉะนี้.
               ในคราวทำสังคายนา พระอานนทเถระผู้เวเทหมุนี ได้ร้อยกรองอีกครั้งหนึ่ง อรรถกถาแห่งพระอภิธรรมนั้นวิจิตรไปด้วยนัยต่างๆ อันบุคคลผู้พิจารณาเนืองๆ ด้วยญาณอันลึกซึ้งจึงหยั่งลงได้นั้น อันพระเถระทั้งหลายผู้มีวสี มีพระมหากัสสปะเป็นต้น ร้อยกรองแล้วในเบื้องต้นก่อน พระเถระทั้งหลายผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ร้อยกรองตามแล้ว แม้ในภายหลังอีก.
               อนึ่ง อรรถกถาแห่งพระอภิธรรมใดที่พระมหินทเถระนำมาสู่เกาะอันอุดมนี้ เรียบเรียงไว้ด้วยภาษาแห่งชาวเกาะข้าพเจ้าจักนำอรรถกถานั้นออกจากภาษาแห่งชาวเกาะตัมพปัณณิ แล้วยกขึ้นสู่ภาษาอันไม่มีโทษตามนัยแห่งตันติภาษา ไม่ให้เจือปนสับสนด้วยลัทธิของนิกายอื่น เมื่อแสดงคำวินิจฉัยของภิกษุผู้อยู่ในมหาวิหาร จักถือเอาสิ่งที่ควรถือเอา จะยังบุคคลผู้มีปัญญาให้ยินดีอยู่ แล้วจักประกาศอรรถ แม้ในอรรถกถาที่มาทั้งหลาย ก็เพราะเหตุที่กรรมฐานทั้งปวง จริยา อภิญญาและวิปัสสนาทั้งหมดเหล่านี้ ข้าพเจ้าประกาศไว้ในวิสุทธิมรรคแล้ว ฉะนั้น จะไม่ถือเอากรรมฐานเป็นต้นตามแบบแม้ทั้งหมด จักทำการพรรณนาความตามลำดับบททั้งหลายเท่านั้น เมื่อข้าพเจ้ากล่าวอยู่ซึ่งพระอภิธรรมกถานี้ด้วยประการฉะนี้ ขอสาธุชนทั้งหลายอย่ามีจิตฟุ้งซ่าน จงตั้งใจสดับฟัง เพราะว่า กถานี้หาฟังได้โดยยากแล.
               จบอารัมภกถา.               
               -----------------------------------------------------               

               นิทานกถา               
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า อภิธรรม ถามว่า ชื่อว่า อภิธรรม เพราะอรรถ (ความหมาย) อย่างไร?
               ตอบว่า เพราะอรรถว่า เป็นธรรมอันยิ่งและวิเศษ.
               จริงอยู่ อภิศัพท์ ในคำว่าอภิธรรมนี้ แสดงถึงเนื้อความว่ายิ่งและวิเศษ เช่นในประโยคมีอาทิว่า พาฬฺหา เม อาวุโส ทุกฺขา เวทนา อภิกฺกมนฺติ โน ปฏิกฺกมนฺติ อภิกฺกนฺตวณฺเณน แปลว่า ดูก่อนอาวุโส ทุกขเวทนาแรงกล้าของข้าพเจ้าย่อมเจริญยิ่ง ไม่ลดลงเลย และเหมือนคำเป็นต้นว่า มีวรรณะงามยิ่ง เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่า เปรียบเหมือนเมื่อฉัตรและธงเป็นอันมากถูกยกขึ้นแล้ว ฉัตรใดมีประมาณยิ่ง มีวรรณะและสัณฐานอันพิเศษกว่าฉัตรอื่น ฉัตรนั้นชื่อว่า อติฉัตร (ฉัตรอันยิ่ง).
               ธงใดมีประมาณยิ่ง สมบูรณ์ด้วยความวิเศษแห่งสีที่ย้อมแล้วต่างๆ นั่นแหละ ธงนั้นเรียกว่า อติธโช (ธงอันยิ่ง) และเปรียบเหมือนเมื่อพวกราชกุมารและพวกเทพร่วมประชุมกันแล้ว ราชกุมารใดยิ่งกว่าโดยสมบัติ มีชาติ โภคะ ยศ และความเป็นใหญ่เป็นต้น และมีฉวีวรรณวิเศษกว่า พระราชกุมารนั้นเรียกว่า อติราชกุมาร (ราชกุมารผู้ยิ่ง).
               เทพใดยิ่งกว่าด้วยอายุ วรรณะ อิสริยะ ยศและสมบัติเป็นต้น และมีฉวีวรรณวิเศษกว่า เทพนั้นเรียกว่า อติเทพ แม้พระพรหมที่มีลักษณะเช่นนั้น เขาก็เรียกว่า อติพรหม (พรหมผู้ยิ่งใหญ่) ฉันใด
               ธรรมแม้นี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เรียกว่าอภิธรรม เพราะอรรถว่าเป็นธรรมอันยิ่งและวิเศษ.
               จริงอยู่ เพ่งถึงพระสูตรแล้ว พระพุทธองค์ทรงจำแนกขันธ์ ๕ ไว้โดยเอกเทศ (บางส่วน) เท่านั้น มิได้ทรงจำแนกโดยสิ้นเชิง (นิปปเทส) แต่เพ่งถึงพระอภิธรรมแล้ว พระองค์ทรงจำแนกไว้โดยสิ้นเชิงด้วยอำนาจแห่งสุตตันตภาชนียนัย อภิธรรมภาชนียนัย และปัญหาปุจฉกนัย ถึงอายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ สัจจะ ๔ อินทรีย์ ๒๒ และปัจจยาการอันแสดงถึงองค์ ๑๒ ก็ตรัสไว้โดยสิ้นเชิงเหมือนกัน.
               ที่จริงนัยที่เป็นสุตตันตภาชนีย์ในอินทรีย์วิภังค์ และปัญหาปุจฉกนัยในปัจจยาการเท่านั้นไม่มี จริงอย่างนั้น เพ่งถึงพระสูตรแล้ว สติปัฏฐาน ๔ พระองค์ทรงจำแนกไว้โดยเอกเทศเหมือนกัน มิได้จำแนกไว้โดยสิ้นเชิง แต่เพ่งถึงพระอภิธรรมแล้ว ทรงจำแนกไว้โดยสิ้นเชิงด้วยอำนาจแห่งนัยแม้ทั้งสาม แม้สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ สัมโพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ฌาน ๔ อัปปมัญญา ๔ สิกขาบท ๕ ปฏิสัมภิทา ๔ ก็ทรงจำแนกไว้โดยสิ้นเชิง ด้วยอำนาจแห่งนัยแม้ทั้งสามเหมือนกัน. ก็ในธรรมเหล่านี้ นัยที่เป็นสุตตันตภาชนีย์ในสิกขาบทวิภังค์อย่างเดียวไม่มี ถ้าเพ่งถึงพระสูตรแล้ว ญาณ พระองค์ก็ทรงจำแนกไว้โดยเอกเทศเหมือนกัน ไม่จำแนกโดยสิ้นเชิง กิเลสทั้งหลายก็เหมือนกัน แต่เพ่งถึงพระอภิธรรมแล้ว ทรงตั้งมาติกาโดยนัยมีอาทิว่า ญาณวัตถุมีหมวด ๑ เป็นต้น แล้วจำแนกไว้โดยสิ้นเชิง กิเลสทั้งหลายก็เหมือนกัน ทรงจำแนกไว้โดยนัยมิใช่น้อย ตั้งแต่เป็นธรรมหมวด ๑ เป็นต้น ก็แต่เพ่งถึงพระสูตร การกำหนดภูมิอื่น ก็ทรงจำแนกไว้โดยเอกเทศนั่นแหละ ไม่จำแนกไว้โดยสิ้นเชิง เพ่งถึงพระอภิธรรมแล้ว ทรงกำหนดภูมิอื่นไว้ด้วยนัยทั้งสาม และทรงบัญญัติไว้โดยสิ้นเชิง ชื่อว่า อภิธรรม เพราะอรรถว่าเป็นธรรมยิ่งและวิเศษด้วยประการฉะนี้.

               ว่าโดยปกรณ์ ๗               
               ว่าโดยการกำหนดปกรณ์ พระอภิธรรมนี้ทรงตั้งไว้ด้วยอำนาจปกรณ์ ๗ คือ
                         ๑. ธรรมสังคณีปกรณ์
                         ๒. วิภังคปกรณ์
                         ๓. ธาตุกถาปกรณ์
                         ๔. ปุคคลบัญญัติปกรณ์
                         ๕. กถาวัตถุปกรณ์
                         ๖. ยมกปกรณ์
                         ๗. ปัฏฐานปกรณ์
               นี้เป็นกถาที่เหมือนกันของอาจารย์ทั้งหลายในอรรถกถานี้ ส่วนอาจารย์วิตัณฑวาที (ผู้ค้าน) กล่าวว่า เพราะเหตุไรจึงถือเอากถาวัตถุด้วย กถาวัตถุนั้น พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระตั้งไว้เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ๒๑๘ ปี มิใช่หรือ? ฉะนั้น ขอให้ตัดเอากถาวัตถุนั้นออก เพราะเป็นสาวกภาษิต ดังนี้.
               สกวาที ถามว่า ก็ปกรณ์ ๖ จะเป็นพระอภิธรรมได้หรือ?
               ปรวาที ตอบว่า ข้าพเจ้ามิได้กล่าวอย่างนั้น.
               ส. ถามว่า ถ้าอย่างนั้นท่านกล่าวอย่างไร?
               ป. ตอบว่า ข้าพเจ้ากล่าวว่า ปกรณ์ ๗ ชื่อว่า อภิธรรม.
               ส. ถามว่า ท่านเอาปกรณ์ไหนมาเป็นปกรณ์ที่ ๗?
               ป. ตอบว่า ปกรณ์ชื่อว่ามหาธรรมหทัยมีอยู่ รวมกับปกรณ์ ๖ ก็เป็น ๗ ปกรณ์.
               ส. กล่าวว่า ในมหาธรรมหทัยปกรณ์ ไม่มีอะไรที่ไม่เคยกล่าวมาแล้ว (คือไม่มีอะไรใหม่) และปัญหาวาระที่เหลือก็มีเล็กน้อย เพราะฉะนั้นจึงเป็น ๗ พร้อมด้วยกถาวัตถุ มิใช่เป็น ๗ ทั้งกถาวัตถุ เป็น ๗ ทั้งปกรณ์ที่ชื่อว่ามหาธาตุกถา ในมหาธรรมหทัยปกรณ์ มีปัญหาวาระที่เหลืออยู่เล็กน้อยเท่านั้น ทั้งในมหาธาตุกถาก็ไม่มีอะไรใหม่เลย มีตันติคือแบบแผนแห่งคำเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเหลืออยู่ จึงรวมเป็น ๗ ด้วยกถาวัตถุนั้น.

               ความเป็นมาของกถาวัตถุ               
               จริงอยู่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อทรงแสดงซึ่งปกรณ์แห่งอภิธรรม ๗ (สัตตัปปกรณ์) มาโดยลำดับ พอถึงกถาวัตถุ ก็ทรงตั้งมาติกา (แม่บท) แห่งบาลีมีประมาณภาณวาระหนึ่งซึ่งยังไม่เต็มในกถามรรคทั้งปวง ทรงทำให้พอเหมาะแก่การประกอบวาทะที่เป็นประธานไว้ ๘ ข้อ (อัฏฐมุขา วาทยุตติ) ด้วยอำนาจปัญจกะทั้ง ๒ (คืออนุโลมปัญจกะและปัจจนิกปัญจกะ) ในปุคคลวาทะ จนถึงปัญหา ๔ ข้อเป็นต้นก่อน.
               ก็แบบแผนนี้นั้น พระศาสดาทรงอาศัยวาทะที่หนึ่งทรงแสดงนิคคหะที่หนึ่ง ทรงอาศัยวาทะที่สอง ทรงแสดงนิคคหะที่สอง ... ฯลฯ ทรงอาศัยวาทะที่ ๘ ทรงแสดงนิคคหะที่ ๘ คือ ทรงตั้งมาติกาไว้อย่างนี้ว่า
               สกวาที ท่านหยั่งเห็นบุคคลได้ด้วยอรรถอันเป็นจริง (สัจฉิกัตถะ) และอรรถอันยิ่ง (ปรมัตถะ) หรือ?
               ปรวาที ถูกแล้ว.
               ส. สภาวะใดมีอรรถอันเป็นจริง มีอรรถอันยิ่ง ท่านหยั่งเห็นบุคคลนั้นได้ด้วยอรรถอันเป็นจริงและอรรถอันยิ่งนั้นหรือ?
               ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น.
               ส. ท่านจงรับรู้นิคคหะ ...
               ป. ท่านไม่หยั่งเห็นบุคคลได้ด้วยอรรถอันเป็นจริงและอรรถอันยิ่งหรือ?
               ส. ถูกแล้ว.
               ป. สภาวะใดมีอรรถอันเป็นจริง มีอรรถอันยิ่ง ท่านไม่หยั่งเห็นบุคคลนั้นด้วยอรรถอันเป็นจริงและอรรถอันยิ่งนั้นหรือ?
               ส. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น.
               ป. ท่านจงรับรู้ปฏิกรรม (การทำตอบ) ...
               ส. ท่านหยั่งเห็นบุคคลได้ในที่ (สรีระ) ทั้งปวง ...
               ป. ท่านไม่หยั่งเห็นบุคคลได้ในที่ทั้งปวง ...
               ส. ท่านหยั่งเห็นบุคคลได้ในกาลทั้งปวง ...
               ป. ท่านไม่หยั่งเห็นบุคคลได้ในกาลทั้งปวง ...
               ส. ท่านหยั่งเห็นบุคคลได้ในสภาวธรรม (ขันธาทิ) ทั้งปวง ...
               ป. ท่านไม่หยั่งเห็นบุคคลได้ในสภาวธรรมทั้งปวงหรือ?
               ส. ถูกแล้ว.
               ป. สภาวะใดมีอรรถอันเป็นจริง มีอรรถอันยิ่ง ท่านไม่หยั่งเห็นบุคคลนั้นด้วยอรรถอันเป็นจริงและอรรถอันยิ่งนั้นหรือ?
               ส. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น.
               ป. ท่านจงรับรู้นิคคหะ ...
               พึงทราบการตั้งมาติกาในพระบาลีทั้งปวงโดยนัยนี้ ก็เมื่อทรงตั้งมาติกานี้นั้น ทรงเห็นเหตุนี้แหละจึงทรงตั้งไว้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำริว่า เมื่อเราปรินิพพานล่วงไป ๒๑๘ ปี พระเถระชื่อว่าโมคคัลลีปุตตติสสะจะนั่งในท่ามกลางภิกษุหนึ่งพัน ประมวลพระสูตรมาพันหนึ่ง คือ พระสูตร ๕๐๐ สูตรในฝ่ายสกวาที พระสูตร ๕๐๐ สูตรในฝ่ายปรวาที แล้วจักจำแนกกถาวัตถุปกรณ์ประมาณเท่ากับทีฆนิกาย แม้พระโมคคัลลีปุตตติสสเถระ เมื่อจะแสดงปกรณ์นี้ มิได้แสดงด้วยญาณของตน แต่แสดงตามมาติกาที่ตั้งไว้โดยนัยที่พระศาสดาประทาน ดังนั้น ปกรณ์นี้ทั้งสิ้น จึงชื่อว่าพุทธภาษิตเหมือนกัน เพราะพระเถระแสดงตามมาติกาที่ตั้งไว้โดยนัยที่พระศาสดาประทาน เหมือนมธุปิณฑิกสูตรเป็นต้น.
               จริงอยู่ มธุปิณฑิกสูตร๑- พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งมาติกาไว้ว่า ดูก่อนภิกษุ ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้าย่อมครอบงำบุรุษ เพราะเหตุใด? ถ้าว่าการที่บุคคลจะเพลิดเพลิน ยึดถือ กล้ำกลืน ไม่มีในเหตุนี้ อันนี้แหละเป็นที่สุดแห่งราคานุสัยทั้งหลาย ดังนี้เป็นต้น แล้วเสด็จลุกจากอาสนะเข้าไปสู่พระวิหาร.
               ภิกษุทั้งหลายผู้รับพระธรรมเทศนาเข้าไปหาพระมหากัจจายนเถระแล้ว ถามเนื้อความแห่งมาติกาที่พระศาสดาทรงตั้งไว้แล้ว พระเถระไม่กล่าววิสัชนา สักว่าคำถูกถามเท่านั้น เพื่อจะแสดงความนอบน้อมต่อพระทศพล จึงนำการเปรียบเทียบเช่นกับแก่นไม้มาแสดงว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีความต้องการด้วยแก่นไม้ ย่อมแสวงหาแก่นไม้เป็นต้น แล้วชมเชยพระศาสดาว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเปรียบเหมือนต้นไม้มีแก่น พระสาวกเช่นกับกิ่งไม้และใบไม้ ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงรู้สิ่งที่ควรรู้ ทรงเห็นสิ่งที่ควรเห็น เป็นผู้มีจักษุ มีพระญาณ มีธรรม เป็นพรหม เป็นผู้เผยแผ่ เป็นผู้ประกาศ เป็นผู้ขยายเนื้อความ เป็นผู้ประทานอมตธรรม เป็นเจ้าของธรรม เป็นพระตถาคต ดังนี้ พระเถระทั้งหลายวิงวอนแล้วบ่อยๆ จึงจำแนกเนื้อความมาติกาตามที่พระศาสดาทรงตั้งไว้ ด้วยประสงค์อันนี้ว่า “ก็เมื่อท่านทั้งหลายปรารถนาก็พึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยตรง แล้วทูลถามเนื้อความนี้ ถ้าเทียบเคียงเข้ากันได้กับพระสัพพัญญุตญาณก็พึงถือเอา ถ้าเทียบเคียงกันไม่ได้ก็อย่าถือเอา” ดังนี้ แล้วกล่าวว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์ประการใด ท่านทั้งหลายพึงทรงจำข้อนั้นไว้เถิด” แล้วส่งภิกษุเหล่านั้นไป.
               พวกภิกษุเหล่านั้นเข้าไปเฝ้าพระศาสดาแล้วทูลถามเนื้อความนั้น พระศาสดาไม่ตรัสว่า กัจจายนะกล่าวไม่ดี แต่ทรงน้อมพระศอไปราวกะทรงยกพระสุวรรณภิงคาร (หม้อน้ำเย็นทองคำ) ขึ้น (สรงสนานพระเถระ) เมื่อจะยังอรรถนั้นให้บริบูรณ์ด้วยพระโอษฐ์อันมีสิริดุจดอกบัว (สตบัตร) ซึ่งกำลังแย้มบานอย่างดี จึงทรงเปล่งพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม ประทานสาธุการแก่พระเถระว่า “สาธุ สาธุ” ดังนี้ แล้วตรัสว่า
               “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหากัจจายนะเป็นบัณฑิต มหากัจจายนะเป็นผู้มีปัญญามาก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถึงพวกเธอพึงถามเนื้อความนี้กะเรา แม้เราก็พึงพยากรณ์เนื้อความนั้นเหมือนกับมหากัจจายนะนั่นแหละ” ดังนี้
               จำเดิมแต่กาลที่พระศาสดาทรงอนุโมทนาแล้วอย่างนี้ พระสุตตันตะทั้งสิ้นชื่อว่า เป็นพุทธภาษิต แม้พระสูตรที่พระอานนทเถระเป็นต้นให้พิสดารแล้ว ก็นัยนี้เหมือนกัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อทรงแสดงปกรณ์อภิธรรม ๗ พอถึงกถาวัตถุ จึงทรงตั้งมาติกาไว้โดยนัยที่กล่าวแล้ว.
               อนึ่ง เมื่อทรงหยุด ได้ทรงเห็นเหตุนี้ว่า
               “เมื่อเราปรินิพพานล่วงแล้ว ๒๑๘ ภิกษุชื่อว่า โมคคัลลีปุตตติสสเถระนั่งในท่ามกลางภิกษุหนึ่งพันรูป แล้วจักประมวลพระสูตรหนึ่งพันสูตร คือในสกวาทะห้าร้อยสูตร ในปรวาทะห้าร้อยสูตร แล้วจำแนกกถาวัตถุปกรณ์ มีประมาณเท่าทีฆนิกาย” ดังนี้ แม้พระโมคคัลลีปุตตติสสเถระเมื่อจะแสดงปกรณ์นี้ก็ไม่แสดงด้วยความรู้ของตน แต่แสดงตามมาติกาที่ตั้งไว้โดยนัยที่พระศาสดาประทาน เพราะฉะนั้น ปกรณ์นี้ทั้งหมดจึงชื่อว่าเป็นพุทธภาษิตโดยแท้ เพราะพระเถระแสดงตามมาติกาที่ตั้งไว้ โดยนัยที่พระศาสดาประทานแล้ว ปกรณ์ทั้ง ๗ รวมทั้งกถาวัตถุจึงชื่อว่า “อภิธรรม” ด้วยประการฉะนี้.
____________________________
๑- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๒๔๕/หน้า ๒๒๒

               ธรรมสังคณี               
               บรรดาปกรณ์ทั้งเจ็ดนั้น ในปกรณ์ธรรมสังคณีมีวิภัตติ (คือการจำแนก) ไว้ ๔ คือ
                         จิตตวิภัตติ (การจำแนกจิต)
                         รูปวิภัตติ (การจำแนกรูป)
                         นิกเขปราสิ (การจำแนกกองธรรมที่ตั้งไว้)
                         อัตถุทธาระ (การยกอรรถขึ้นแสดง).

               ว่าด้วยจิตตวิภัตติ               
               บรรดาการจำแนกธรรมทั้ง ๔ เหล่านั้น ธรรมนี้คือ
                         ๑. กามาวจรกุศลจิต ๘ ดวง
                         ๒. อกุศลจิต ๑๒ ดวง
                         ๓. กุศลวิปากจิต ๑๖ ดวง
                         ๔. อกุศลวิปากจิต ๗ ดวง
                         ๕. กิริยาจิต ๑๑ ดวง
                         ๖. รูปาวจรกุศลจิต ๕ ดวง
                         ๗. รูปาวจรวิปากจิต ๕ ดวง
                         ๘. รูปาวจรกิริยาจิต ๕ ดวง
                         ๙. อรูปาวจรกุศลจิต ๔ ดวง
                         ๑๐. อรูปาวจรวิปากจิต ๔ ดวง
                         ๑๑. อรูปาวจรกิริยาจิต ๔ ดวง
                         ๑๒. โลกุตรกุศลจิต ๔ ดวง
                         ๑๓. โลกุตรวิปากจิต ๔ ดวง
               รวมจิต ๘๙ ดวงตามที่กล่าวมานี้ ชื่อว่า จิตตวิภัตติ แม้คำว่า จิตตุปปาทกัณฑ์ ดังนี้ ก็เป็นชื่อของจิตตวิภัตตินี้เหมือนกัน ก็จิตนั้นว่าโดยทางแห่งคำพูดมีเกิน ๖ ภาณวาร แต่เมื่อให้พิสดารก็ไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ.

               ว่าด้วยรูปวิภัตติ               
               ในลำดับต่อจากจิตนั้น ชื่อว่ารูปวิภัตติ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งมาติกาไว้โดยนัยมีอาทิว่า “ธรรมหมวดหนึ่ง ธรรมหมวดสอง” แล้วทรงจำแนกแสดงโดยพิสดาร แม้คำว่า รูปกัณฑ์ ดังนี้ ก็เป็นชื่อของรูปวิภัตตินั้นนั่นแหละ รูปกัณฑ์นั้น ว่าโดยทางแห่งคำพูด มีเกิน ๒ ภาณวาร แต่เมื่อให้พิสดาร ก็ไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ.

               ว่าด้วยนิกเขปราสิ               
               ในลำดับต่อจากรูปกัณฑ์นั้น ชื่อว่า นิกเขปราสิ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกขึ้นแสดงโดยมูลเป็นต้นอย่างนี้ คือ โดยมูล โดยขันธ์ โดยทวาร โดยภูมิ โดยอรรถ โดยธรรม โดยนาม โดยเพศ.
                         มูลโต ขนฺธโต จาปิ    ทฺวารโต จาปิ ภูมิโต
                         อตฺถโต ธมฺมโต จาปิ   นามโต จาปิ ลิงฺคโต
                         นิกฺขิปิตฺวา เทสิตตฺตา นิกฺเขโปติ ปวุจฺจติ.
                                        ที่เรียกว่า นิกเขปะ ดังนี้ เพราะ
                         ความที่พระองค์ทรงยกขึ้นแสดง โดยมูลบ้าง
                         โดยขันธ์บ้าง โดยทวารบ้าง โดยภูมิบ้าง
                         โดยอรรถบ้าง โดยธรรมบ้าง โดยนามบ้าง
                         โดยเพศบ้าง.

               แม้คำว่า นิกเขปกัณฑ์ ดังนี้ ก็เป็นชื่อของนิกเขปราสินั่นแหละ นิกเขปกัณฑ์นั้น ว่าโดยทางแห่งวาจาก็มีประมาณ ๓ ภาณวาร เมื่อให้พิสดาร ย่อมไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ.

               ว่าด้วยอัตถุทธาระ               
               ก็ในลำดับต่อจากนิกเขปราสินั้น ชื่อว่าอรรถกถากัณฑ์ เป็นคำที่ยกเนื้อความพุทธพจน์ คือพระไตรปิฎกขึ้นแสดงตั้งแต่สรณทุกะ ภิกษุทั้งหลาย ผู้เรียนมหาปกรณ์ไม่กำหนดถึงจำนวนในมหาปกรณ์ แต่ย่อมรวมจำนวนไว้ มหาปกรณ์นั้น ว่าโดยทางแห่งถ้อยคำมีประมาณ ๒ ภาณวาร แต่เมื่อให้พิสดาร ก็ไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ ธรรมสังคณีปกรณ์ทั้งสิ้นย่อมมีด้วยประการฉะนี้ ธรรมสังคณีปกรณ์นั้น ว่าโดยทางถ้อยคำมีเกิน ๑๓ ภาณวาร แต่เมื่อให้พิสดารก็ไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ.
                                   ธรรมสังคณีปกรณ์ คือ จิตตวิภัตติ
                         รูปวิภัตติ นิกเขปะ และอรรถโชตนา
                         (อธิบายอรรถ) นี้ มีอรรถลึกซึ้ง ละเอียด
                         แม้ฐานะนี้ พระองค์ก็ทรงแสดงแล้วด้วย
                         ประการฉะนี้.

               วิภังคปกรณ์               
               ในลำดับต่อจากธรรมสังคณีปกรณ์นั้น ชื่อว่า วิภังคปกรณ์ วิภังคปกรณ์นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำแนกธรรม ๑๘ อย่าง คือ
                         ๑. ขันธวิภังค์
                         ๒. อายตนวิภังค์
                         ๓. ธาตุวิภังค์
                         ๔. สัจจวิภังค์
                         ๕. อินทรียวิภังค์
                         ๖. ปัจจยาการวิภังค์
                         ๗. สติปัฏฐานวิภังค์
                         ๘. สัมมัปปธานวิภังค์
                         ๙. อิทธิปาทวิภังค์
                         ๑๐. โพชฌงควิภังค์
                         ๑๑. มัคควิภังค์
                         ๑๒. ฌานวิภังค์
                         ๑๓. อัปปมัญญาวิภังค์
                         ๑๔. สิกขาปทวิภังค์
                         ๑๕. ปฏิสัมภิทาวิภังค์
                         ๑๖. ญาณวิภังค์
                         ๑๗. ขุททกวัตถุวิภังค์
                         ๑๘. ธรรมหทยวิภังค์
               บรรดาวิภังค์เหล่านั้น ขันธวิภังค์จำแนกออกเป็น ๓ อย่าง คือ ด้วยอำนาจแห่งสุตตันตภาชนีย์ อภิธรรมภาชนีย์และปัญหาปุจฉกะ ขันธวิภังค์นั้น ว่าโดยทางแห่งถ้อยคำมีประมาณ ๕ ภาณวาร แต่เมื่อให้พิสดารก็ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีประมาณ แม้อายตนวิภังค์เป็นต้น เบื้องหน้าแต่นี้ท่านก็จำแนกโดยนัยทั้ง ๓ เหล่านั้นเหมือนกัน บรรดาวิภังค์เหล่านั้น อายตนวิภังค์ ว่าโดยทางแห่งถ้อยคำมีเกิน ๑ ภาณวาร ธาตุวิภังค์มีประมาณ ๒ ภาณวาร สัจจวิภังค์ก็ประมาณ ๒ ภาณวารเหมือนกัน ในอินทรียวิภังค์ไม่มีสุตตันตภาชนีย์ ก็อินทรียวิภังค์นั้น ว่าโดยทางแห่งถ้อยคำมีประมาณเกินหนึ่งภาณวาร ปัจจยาการวิภังค์มีประมาณ ๖ ภาณวาร แต่ไม่มีปัญหาปุจฉกะ สติปัฏฐานวิภังค์มีประมาณเกินหนึ่งภาณวาร สัมมัปปธาน ... อิทธิบาท ... โพชฌงค์ ... และมรรควิภังค์ แต่ละอย่างมีเกินหนึ่งภาณวาร ฌานวิภังค์มีประมาณ ๒ ภาณวาร อัปปมัญญาวิภังค์มีประมาณเกินหนึ่งภาณวาร ในสิกขาปทวิภังค์ไม่มีบทสุตตันตภาชนีย์ แต่สิกขาบทวิภังค์นั้น ว่าโดยทางแห่งถ้อยคำมีประมาณหนึ่งภาณวาร ปฏิสัมภิทาวิภังค์ก็มีประมาณเกินหนึ่งภาณวาร ญาณวิภังค์จำแนกออก ๑๐ อย่าง แต่ญาณวิภังค์นั้น เมื่อว่าโดยทางแห่งถ้อยคำมีประมาณ ๓ ภาณวาร แม้ขุททกวัตถุวิภังค์ก็จำแนกไว้ ๑๐ อย่าง แต่ว่าโดยทางแห่งถ้อยคำมีประมาณ ๓ ภาณวาร ธรรมหทยวิภังค์จำแนกไว้ ๓ อย่าง ว่าด้วยทางแห่งถ้อยคำมีประมาณเกิน ๒ ภาณวาร วิภังค์แม้ทั้งหมด เมื่อให้พิสดารก็ไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ ปกรณ์ชื่อว่า วิภังคปกรณ์นี้ เมื่อว่าโดยทางแห่งถ้อยคำมีประมาณ ๓๕ ภาณวาร แต่เมื่อให้พิสดารย่อมไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณด้วยประการฉะนี้.

               ธาตุกถาปกรณ์               
               ในลำดับต่อจากวิภังคปกรณ์นั้น ชื่อว่า ธาตุกถาปกรณ์ ทรงจำแนก ๑๔ อย่าง คือ
               ๑. สงฺคโห อสงฺคโห - ธรรมสงเคราะห์ได้ ธรรมสงเคราะห์ไม่ได้
               ๒. สงฺคหิเตน อสงฺคหิตํ - ธรรมที่สงเคราะห์ไม่ได้ ด้วยธรรมที่สงเคราะห์ได้
               ๓. อสงฺคหิเตน สงฺคหิตํ - ธรรมที่สงเคราะห์ได้ ด้วยธรรมที่สงเคราะห์ไม่ได้
               ๔. สงฺคหิเตน สงฺคหิตํ - ธรรมที่สงเคราะห์ได้ ด้วยธรรมที่สงเคราะห์ได้
               ๕. อสงฺคหิเตน อสงฺคหิตํ - ธรรมที่สงเคราะห์ไม่ได้ ด้วยธรรมที่สงเคราะห์ไม่ได้
               ๖. สมฺปโยโค วิปฺปโยโค - ธรรมที่ประกอบกัน ธรรมที่ไม่ประกอบกัน
               ๗. สมฺปยุตฺเตน วิปฺปยุตฺตํ - ธรรมที่วิปปยุตกันได้ ด้วยธรรมที่สัมปยุตกัน
               ๘. วิปฺปยุตฺเตน สมฺปยุตฺตํ - ธรรมที่สัมปยุตกันได้ ด้วยธรรมที่วิปปยุตกัน
               ๙. สมฺปยุตฺเตน สมฺปยุตฺตํ - ธรรมที่สัมปยุตกันได้ ด้วยธรรมที่สัมปยุตกัน
               ๑๐. วิปฺปยุตฺเตน วิปฺปยุตฺตํ - ธรรมที่วิปปยุตกันได้ ด้วยธรรมที่วิปปยุตกัน
               ๑๑. สงฺคหิเตน สมฺปยุตฺตํ วิปฺปยุตฺตํ - ธรรมที่สัมปยุตกันได้ ธรรมที่วิปปยุตกันได้ ด้วยธรรมที่สงเคราะห์กัน
               ๑๒. สมฺปยุตฺเตน สงฺคหิตํ อสงฺคหิตํ - ธรรมที่สงเคราะห์กันได้ ธรรมที่สงเคราะห์กันไม่ได้ ด้วยธรรมที่สัมปยุตกัน
               ๑๓. อสงฺคหิเตน สมฺปยุตฺตํ วิปฺปยุตฺตํ - ธรรมที่สัมปยุตกัน ธรรมที่วิปปยุตกันได้ ด้วยธรรมที่สงเคราะห์กันไม่ได้
               ๑๔. วิปฺปยุตฺเตน สงฺคหิตํ อสงฺคหิตํ - ธรรมที่สงเคราะห์กันได้ ธรรมที่สงเคราะห์กันไม่ได้ ด้วยธรรมที่วิปปยุตกัน.
               ธาตุกถาปกรณ์นั้น ว่าโดยทางแห่งถ้อยคำมีประมาณเกิน ๖ ภาณวาร แต่เมื่อให้พิสดารย่อมไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ.

               ปุคคลบัญญัติปกรณ์               
               ในลำดับต่อจากธาตุกถาปกรณ์นั้น ชื่อว่าปุคคลบัญญัติ บุคคลบัญญัตินั้นจำแนกไว้ ๖ อย่าง คือ
                         ๑. ขันธบัญญัติ
                         ๒. อายตนบัญญัติ
                         ๓. ธาตุบัญญัติ
                         ๔. สัจจบัญญัติ
                         ๕. อินทริยบัญญัติ
                         ๖. ปุคคลบัญญัติ
               ปุคคลบัญญัตินั้น ว่าโดยทางแห่งถ้อยคำ มีเกิน ๕ ภาณวาร แต่เมื่อให้พิสดารก็ย่อมไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณเหมือนกัน.

               กถาวัตถุปกรณ์               
               ในลำดับต่อจากปุคคลบัญญัติปกรณ์ ชื่อว่ากถาวัตถุปกรณ์ กถาวัตถุปกรณ์นั้นประมวลจำแนกไว้หนึ่งพันสูตร คือในสกวาทะ (ลัทธิของตน) ๕๐๐ สูตร ในปรวาทะ (ลัทธิอื่น) ๕๐๐ สูตร กถาวัตถุปกรณ์นั้น ว่าโดยทางแห่งถ้อยคำ มีประมาณเท่าทีฆนิกายหนึ่ง โดยนัยที่ยกขึ้นสู่สังคีติ ไม่ถือเอาคำที่เขียนไว้ในโกฏฐาสในบัดนี้ แต่เมื่อให้พิสดารย่อมไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ.

               ยมกปกรณ์               
               ในลำดับต่อจากกถาวัตถุปกรณ์นั้น ชื่อว่า ยมกปกรณ์ ทรงจำแนกไว้ ๑๐ อย่าง คือ
                         ๑. มูลยมก
                         ๒. ขันธยมก
                         ๓. อายตนยมก
                         ๔. ธาตุยมก
                         ๕. สัจจยมก
                         ๖. สังขารยมก
                         ๗. อนุสสยยมก
                         ๘. จิตตยมก
                         ๙. ธรรมยมก
                         ๑๐. อินทริยยมก
               ยมกปกรณ์นั้น ว่าโดยทางแห่งถ้อยคำ มีประมาณ ๑๒๐ ภาณวาร เมื่อว่าโดยพิสดาร ย่อมไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ.

               มหาปกรณ์               
               ในลำดับแห่งยมกปกรณ์นั้น ชื่อว่า มหาปกรณ์ แม้คำว่า ปัฏฐาน ดังนี้ ก็เป็นชื่อของมหาปกรณ์นั้นนั่นแหละ มหาปกรณ์นั้น เบื้องต้นทรงจำแนกไว้ ๒๔ อย่าง ด้วยอำนาจแห่งปัจจัย คือ
                         ๑. เหตุปัจจัย (เหตุเป็นปัจจัย)
                         ๒. อารัมมณปัจจัย (อารมณ์เป็นปัจจัย)
                         ๓. อธิปติปัจจัย (อธิบดีเป็นปัจจัย)
                         ๔. อนันตรปัจจัย (อนันตรธรรมเป็นปัจจัย)
                         ๕. สมนันตรปัจจัย (สมนันตรธรรมเป็นปัจจัย)
                         ๖. สหชาตปัจจัย (สหชาตธรรมเป็นปัจจัย)
                         ๗. อัญญมัญญปัจจัย (อัญญมัญญธรรมเป็นปัจจัย)
                         ๘. นิสสยปัจจัย (นิสสยธรรมเป็นปัจจัย)
                         ๙. อุปนิสสยปัจจัย (อุปนิสสยธรรมเป็นปัจจัย)
                         ๑๐. ปุเรชาตปัจจัย (ปุเรชาตธรรมเป็นปัจจัย)
                         ๑๑. ปัจฉาชาตปัจจัย (ปัจฉาชาตธรรมเป็นปัจจัย)
                         ๑๒. อาเสวนปัจจัย (อาเสวนธรรมเป็นปัจจัย)
                         ๑๓. กัมมปัจจัย (กรรมเป็นปัจจัย)
                         ๑๔. วิปากปัจจัย (วิบากเป็นปัจจัย)
                         ๑๕. อาหารปัจจัย (อาหารเป็นปัจจัย)
                         ๑๖. อินทริยปัจจัย (อินทรีย์เป็นปัจจัย)
                         ๑๗. ฌานปัจจัย (ฌานเป็นปัจจัย)
                         ๑๘. มัคคปัจจัย (มรรคเป็นปัจจัย)
                         ๑๙. สัมปยุตตปัจจัย (สัมปยุตธรรมเป็นปัจจัย)
                         ๒๐. วิปปยุตตปัจจัย (วิปยุตธรรมเป็นปัจจัย)
                         ๒๑. อัตถิปัจจัย (อัตถิธรรมเป็นปัจจัย)
                         ๒๒. นัตถิปัจจัย (นัตถิธรรมเป็นปัจจัย)
                         ๒๓. วิคตปัจจัย (วิคตธรรมเป็นปัจจัย)
                         ๒๔. อวิคตปัจจัย (อวิคตธรรมเป็นปัจจัย)
               ก็ในฐานะนี้ พึงประมวลมาซึ่งปัฏฐาน จริงอยู่ ติกะ ๒๒ มีกุศลติกะเป็นต้น ทุกะ ๑๐๐ เหล่านี้ คือ เหตุธมฺมา น เหตุธมฺมา ... ฯลฯ ... สรณาธมฺมา อสรณาธมฺมา ทุกะแม้อื่นอีก ชื่อว่า สุตตันตทุกะ ๔๒ คือ วิชฺชาภาคิโน ธมฺมา อวิชฺชาภาคิโน ธมฺมา ... ฯลฯ ... ขเย ญาณํ อนุปฺปาเท ญาณํ.
               บรรดาติกะและทุกะเหล่านั้น ธรรมนี้คือ ติกะ ๒๒ ทุกะ ๑๐๐ ชื่อว่ามาติกาแห่งปกรณ์ทั้ง ๗ เป็นพุทธพจน์อันพระชินเจ้าตรัสภาษิตไว้ คือเป็นธรรมอันพระพุทธเจ้าผู้มีพระสัพพัญญุตญาณแสดงแล้ว.
               มีคำถามสอดมาว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น ทุกะ ๔๒ อื่นอีกมาจากไหน? ใครตั้งไว้? ใครเป็นผู้แสดง?
               ตอบว่า มาจากพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร พระธรรมเสนาบดีนั้นตั้งไว้ พระธรรมเสนาบดีนั้นแสดงไว้
               ก็พระเถระเมื่อตั้งธรรมเหล่านี้ หาได้ตั้งไว้โดยการยกขึ้นแสดงเอง คือด้วยปรีชาญาณของตนไม่ แต่พระเถระได้ประมวลเพิ่มขึ้นทีละหนึ่งด้วยทสุตตรสูตรในสังคีติ มีเอกนิบาตเป็นต้นตั้งไว้เพื่อพระเถระผู้ชำนาญอภิธรรม ผู้ถึงพระสูตรแล้วจะไม่ลำบาก.
               ก็ทุกะเหล่านั้น จำแนกให้ถึงที่สุดไว้นิกเขปกัณฑ์หนึ่ง ในฐานะที่เหลือ ท่านจำแนกอภิธรรมไว้จนถึงสรณทุกะ จริงอยู่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมชื่อติกปัฏฐาน เพราะอาศัยติกะ ๒๒ ในอนุโลมปัฏฐาน ทรงแสดงธรรม ชื่อว่าทุกปัฏฐานเพราะอาศัยทุกะ ๑๐๐ ที่สำเร็จแล้ว เบื้องหน้าแต่นี้ก็ถือเอาติกะ ๒๒ รวมทุกะ ๑๐๐ แสดงธรรมชื่อว่า ทุกติกปัฏฐาน จากนั้นก็ถือเอาทุกะ ๑๐๐ รวมในติกะ ๒๒ แสดงธรรมชื่อว่า ติกทุกปัฏฐาน แต่นั้นทรงรวมติกะทั้งหลายเข้าในติกะทั้งหลายนั่นแหละ แสดงธรรมชื่อว่า ติกติกปัฏฐาน และทรงรวมทุกะทั้งหลายเข้าในทุกะทั้งหลายเหล่านั้นนั่นแหละ แสดงธรรมชื่อว่าทุกทุกปัฏฐาน (พระบาลีว่า)
                                   ติกญฺจ ปฏฺฐานวรํ ทุกุตฺตมํ
                                   ทุกติกญฺเจว ติกทุกญฺจ
                                   ติกติกญฺเจว ทุกทุกญฺจ
                                   ฉ อนุโลมมฺหิ นยา สุคมฺภีรา.

                         นัยทั้ง ๖ อันสุขุมลึกซึ้งในธรรมอนุโลม อย่างนี้ คือ
                         ติกปัฏฐานอันประเสริฐ ๑ ทุกปัฏฐานอันสูงสุด ๑
                         ทุกติกปัฏฐาน ๑ ติกทุกปัฏฐาน ๑
                         ติกติกปัฏฐาน ๑ ทุกทุกปัฏฐาน ๑.

               แม้ในธรรมปัจจนียปัฏฐาน ก็ชื่อว่า ติกปัฏฐาน เพราะอาศัยติกะ ๒๒ ชื่อว่าทุกปัฏฐาน เพราะอาศัยทุกะ ๑๐๐ ชื่อว่าทุกติกปัฏฐาน เพราะรวมติกะ ๒๒ เข้าในทุกะ ๑๐๐ ชื่อว่าติกทุกปัฏฐาน เพราะรวมทุกะ ๑๐๐ เข้าในติกะ ๒๒ ชื่อว่าติกติกปัฏฐาน เพราะรวมติกะทั้งหลายเข้าในติกะทั้งหลายนั่นแหละ ชื่อว่าทุกทุกปัฏฐาน เพราะรวมทุกะทั้งหลายเข้าในทุกะทั้งหลาย ดังนี้.
               แม้ในปัจจนียปัฏฐานก็ทรงแสดงปัฏฐานโดยนัยทั้ง ๖ เพราะเหตุนั้น พระสังคีติการกมหาเถระจึงกล่าวไว้ว่า
                                   นัยทั้ง ๖ อันสุขุม ลึกซึ้งในธรรมปัจจนิยะ คือ
                                   ติกปัฏฐานอันประเสริฐ ๑ ฯลฯ ทุกทุกปัฏฐาน ๑.
               ในลำดับต่อจากนั้นก็ทรงแสดงแม้ในธรรมปัจจนียานุโลมโดยนัยทั้ง ๖ เหล่านี้เหมือนกัน เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า
                                   นัยทั้ง ๖ อันสุขุม ลึกซึ้งในธรรมปัจจยานียานุโลม คือ
                                   ติกปัฏฐานอันประเสริฐ ๑ ฯลฯ ทุกทุกปัฏฐาน ๑.

               ว่าด้วยสมันตปัฏฐาน ๒๔               
               ปัฏฐานที่ประชุมสมันตปัฏฐาน ๒๔ เหล่านี้ คือ ปัฏฐาน ๖ ในธรรมอนุโลม ปัฏฐาน ๖ ในธรรมปฏิโลม ปัฏฐาน ๖ ในธรรมอนุโลมปัจจนียปัฏฐาน ๖ ในธรรมปัจจนิยานุโลม ชื่อว่า มหาปกรณ์ (ปกรณ์ใหญ่).

               ว่าด้วยการเปรียบกับสาคร               
               บัดนี้ เพื่อการรู้แจ้งถึงความที่พระอภิธรรมนี้เป็นธรรมลึกซึ้ง พึงทราบสาคร (ทะเล) ๔ คือ
                         ๑. สังสารสาคร (สาคร คือ สงสาร)
                         ๒. ชลสาคร (สาคร คือ น้ำมหาสมุทร)
                         ๓. นยสาคร (สาคร คือ นัย)
                         ๔. ญาณสาคร (สาคร คือ พระญาณ)
               บรรดาสาครทั้ง ๔ นั้น ชื่อว่า สังสารสาคร คือ สังสารวัฏที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า
                         ขนฺธานญฺจ ปฏิปาฏิ    ธาตุอายตนานญฺจ
                         อพฺโภจฺฉินฺนํ วตฺตมานาสํสาโรติ ปวุจฺจติ
                                        ลำดับแห่งขันธ์ ธาตุ และอายตนะ
                         ซึ่งกำลังเป็นไปไม่ขาดสาย ท่านเรียกว่า
                         สงสาร.

               นี้ชื่อว่าสังสารสาคร. สังสารสาครนี้นั้น เพราะเหตุที่เงื่อนเบื้องต้นของความเกิดขึ้นแห่งสัตว์เหล่านี้ย่อมไม่ปรากฏ คือไม่มีกำหนดว่า สัตว์ทั้งหลายเกิดขึ้นมาแล้วในที่สุดเพียงร้อยปีเท่านั้น เพียงพันปีเท่านั้น เพียงแสนปีเท่านั้น เพียงร้อยกัปเท่านั้น เพียงพันกัปเท่านั้น เพียงแสนกัปเท่านั้น ในกาลก่อนแต่นี้ มิได้มีเลย ดังนี้ หรือว่า สัตว์ทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วในกาลแห่งพระราชาพระนามโน้น ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามโน้น ในกาลก่อนแต่นั้นไม่มีเลย ดังนี้ แต่ว่า มีโดยนัยนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เงื่อนเบื้องต้นแห่งอวิชชาไม่ปรากฏในกาลก่อนแต่นี้อวิชชาไม่มี แต่ภายหลังจึงมี ดังนี้๑- การกำหนดเงื่อนมีในเบื้องต้นและที่สุดที่บุคคลรู้ไม่ได้นี้ ชื่อว่าสังสารสาคร.
____________________________
๑- องฺ ทสก. เล่ม ๒๔/ข้อ ๖๑/หน้า ๑๒๐.

               มหาสมุทร พึงทราบว่า ชื่อชลสาคร มหาสมุทรนั้นลึก ๘๔,๐๐๐ โยชน์ ขึ้นชื่อว่า การประมาณน้ำในมหาสมุทรนั้นว่ามีเท่านี้ คือ มีน้ำร้อยอาฬหกะ๒- พันอาฬหกะหรือแสนอาฬหกะไม่ได้เลย โดยที่แท้ห้วงมหาสมุทรนั้น ย่อมปรากฏว่า ใครๆ พึงนับไม่ได้ พึงประมาณไม่ได้ ย่อมถึงการนับว่าเป็นห้วงน้ำใหญ่โดยแท้ นี้ชื่อว่าชลสาคร.
____________________________
๒- (อาฬหกะ ชื่อมาตราตวงในบาลี คือ ๔ นาฬี เท่ากับ ๑ อาฬหกะ) (นาฬี หมายถึงทะนาน)

               นัยสาคร เป็นไฉน? นัยสาครได้แก่พระพุทธพจน์ คือพระไตรปิฎก ปีติโสมนัสอันไม่มีที่สุด ย่อมเกิดแก่บุคคลทั้งหลายผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา มีความเลื่อมใสมาก มีญาณอันยิ่งแก่ผู้พิจารณาตันติแม้ทั้งสอง.
               ตันติ แม้ทั้งสองเป็นไฉน? ตันติทั้งสอง คือพระวินัยและพระอภิธรรม ปีติและโสมนัสอันไม่มีที่สุด ย่อมเกิดแก่ภิกษุวินัยธรทั้งหลายผู้พิจารณาตันติแห่งวินัยว่า ชื่อว่า การบัญญัติสิกขาบทอันสมควรแก่โทษ ธรรมดาว่า สิกขาบทนี้ ย่อมมีเพราะโทษนี้ เพราะการก้าวล่วงอันนี้ ดังนี้ และเกิดแก่ผู้พิจารณาอุตริมนุสธรรมเปยยาล แก่ผู้พิจารณานีลเปยยาล ผู้พิจารณาสัญจริตเปยยาลว่า การบัญญัติสิกขาบท ไม่ใช่วิสัยของชนเหล่าอื่น เป็นวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้น.
               ปีติและโสมนัสอันไม่มีที่สุด ย่อมเกิดแม้แก่ภิกษุผู้เรียนพระอภิธรรม ผู้พิจารณาอยู่ซึ่งตันติแห่งพระอภิธรรมว่า พระศาสดาของเราทั้งหลายเมื่อทรงจำแนกแม้ความแตกต่างแห่งขันธ์ แม้ความแตกต่างแห่งอายตนะ แม้ความแตกต่างแห่งธาตุ ความแตกต่างแห่งอินทรีย์ พละ โพชฌงค์ กรรม วิบาก การกำหนดรูปและอรูป ธรรมอันละเอียดสุขุม ทรงกระทำแต่ละข้อในรูปธรรมและอรูปธรรมให้เป็นส่วนๆ แสดงไว้ เหมือนการนับดาวทั้งหลายในท้องฟ้าฉะนั้น. ก็ในการเกิดขึ้นแห่งปีติโสมนัสนั้น พึงทราบแม้เรื่องดังต่อไปนี้.
               ดังได้สดับมา พระเถระชื่อว่า มหานาคติมิยติสสทัตตะ เมื่อไปสู่ฝั่งโน้นด้วยคิดว่า เราจักไหว้ต้นมหาโพธิ์ จึงนั่งที่พื้นเบื้องบนเรือแลดูมหาสมุทร ทีนั้น ในครั้งนั้น ฝั่งโน้นไม่ปรากฏแก่ท่านเลย ฝั่งนี้ก็ไม่ปรากฏ เป็นเช่นกับแผ่นเงินอันเขาแผ่ออก และเช่นกับเครื่องลาดทำด้วยดอกมะลิฉะนั้น. ท่านคิดว่า กำลังคลื่นของมหาสมุทรมีกำลังหรือหนอ หรือว่านยมุข (เนื้อความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแนะนำไว้) ในสมันตปัฏฐาน ๒๔ ประเภทมีกำลัง ดังนี้. ทีนั้น ปีติมีกำลังก็เกิดขึ้นแก่ท่านผู้พิจารณาธรรมอันละเอียดสุขุมว่า การกำหนดในมหาสมุทรย่อมปรากฏ เพราะว่า มหาสมุทรนี้ เบื้องล่างกำหนดด้วยแผ่นดิน เบื้องบนกำหนดด้วยอากาศ ข้างหนึ่งกำหนดด้วยภูเขาจักรวาล ข้างหนึ่งกำหนดด้วยฝั่ง แต่การกำหนดสมันตปัฏฐานย่อมไม่ปรากฏ ดังนี้ ท่านข่มปีติแล้วเจริญวิปัสสนาตามที่นั่งอยู่ ยังกิเลสทั้งปวงให้สิ้นไปแล้ว ตั้งอยู่ในพระอรหัตซึ่งเป็นธรรมอันเลิศ แล้วเปล่งอุทานว่า
                                   พระโยคีย่อมเห็นธรรมที่ลึกซึ้ง อัน
                         ตรัสรู้ได้แสนยาก มีเหตุเป็นแดนเกิดขึ้น
                         อันพระมเหสีทรงรู้ยิ่งโดยพระองค์เอง แสดง
                         ไว้โดยลำดับ โดยสิ้นเชิง ในสมันตปัฏฐาน
                         นี้เท่านั้น เหมือนกับเป็นรูปร่างทีเดียว.
                         นี้ชื่อว่า นยสาคร.
               ญาณสาคร เป็นไฉน?
               สัพพัญญุตญาณ ชื่อว่าญาณสาคร.
               จริงอยู่ ญาณอื่นไม่อาจเพื่อจะรู้สาครนั้นว่า นี้ชื่อว่าสังสารสาคร นี้ชื่อชลสาคร นี้ชื่อนยสาคร แต่สัพพัญญุตญาณเท่านั้นอาจเพื่อรู้ได้ เพราะฉะนั้น สัพพัญญุตญาณ จึงชื่อว่าญาณสาคร.
               บรรดาสาครทั้ง ๔ เหล่านี้ นยสาครประสงค์เอาในที่นี้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้สัพพัญญูเท่านั้น ย่อมแทงตลอดในนัยสาครนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้นี้ ประทับนั่งที่ควงไม้โพธิ์ทรงแทงตลอดนัยสาครนี้ เมื่อทรงพิจารณาธรรมที่พระองค์แทงตลอดแล้ว ประทับนั่งโดยบัลลังก์เดียวตลอดสัปดาห์ว่า เมื่อเราเสาะแสวงหาธรรมนี้หนอ ล่วงไปถึง ๔ อสงไขย ยิ่งด้วยแสนกัป ภายหลังเรานั่ง ณ บัลลังก์นี้ จึงยังกิเลส ๑,๕๐๐ ให้สิ้นไปแล้วแทงตลอดได้ ดังนี้ ลำดับนั้น จึงเสด็จลุกขึ้นจากบัลลังก์ ประทับยืนแลดูบัลลังก์ตลอดสัปดาห์ ด้วยพระเนตรอันไม่กระพริบ ด้วยพระดำริว่า สัพพัญญุตญาณ เราแทงตลอดแล้ว ณ บัลลังก์นี้หนอ ดังนี้.
               ลำดับนั้น เหล่าเทวดาทั้งหลายมีความปริวิตกเกิดขึ้นว่า แม้ในวันนี้ พระสิทธัตถะพึงทำกิจที่ควรทำเป็นแน่ จึงยังไม่ละความอาลัยในบัลลังก์ ดังนี้. พระศาสดาทรงทราบวิตกของเทวดาทั้งหลาย เพื่อจะยังวิตกของเทวดาเหล่านั้นให้สงบ จึงเหาะขึ้นสู่เวหาสแสดงยมกปาฏิหาริย์.
               จริงอยู่ ปาฏิหาริย์ที่พระองค์ทรงทำที่มหาโพธิบัลลังก์ก็ดี ที่สมาคมแห่งพระญาติก็ดี ที่สมาคมปาฏลีบุตรก็ดี ทั้งหมดได้เป็นเช่นกับยมกปาฏิหาริย์ ที่ทำที่ควงไม้คัณฑามพฤกษ์นั่นแหละ ครั้นทรงทำปาฏิหาริย์อย่างนี้แล้ว จึงเสด็จลงจากอากาศแล้วเสด็จจงกรมตลอดสัปดาห์ ในระหว่างแห่งบัลลังก์และสถานที่อันพระองค์ประทับยืนอยู่แล้ว ก็ใน ๒๑ วันเหล่านี้ แม้วันหนึ่ง รัศมีทั้งหลายมิได้ออกจากสรีระของพระศาสดา แต่ในสัปดาห์ที่ ๔ ทรงประทับนั่งในเรือนแก้วในทิศพายัพ ชื่อว่า เรือนแก้ว มิใช่เรือนที่สำเร็จด้วยรัตนะ แต่บัณฑิตพึงทราบสถานที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาปกรณ์ทั้ง ๗ ว่าเป็นเรือนแก้ว.
               บรรดาปกรณ์ทั้ง ๗ นั้น แม้เมื่อทรงพิจารณาธรรมสังคณี รัศมีทั้งหลายก็ไม่ซ่านออกไปจากพระสรีระ เมื่อพิจารณาวิภังคปกรณ์ ธาตุกถา ปุคคลบัญญัติ กถาวัตถุปกรณ์และยมกปกรณ์ รัศมีทั้งหลายก็มิได้ซ่านออกไปจากพระสรีระ แต่เมื่อใด ก้าวลงสู่มหาปกรณ์เริ่มพิจารณาว่า เหตุปจฺจโย อารมฺมณปจฺจโย ฯเปฯ อวิคตปจฺจโย ดังนี้ เมื่อนั้น สัพพัญญุตญาณโดยความเป็นอันเดียวกัน ของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้พิจารณาสมันตปัฏฐาน ๒๔ ประการ ย่อมได้โอกาส (ช่อง) ในมหาปกรณ์นั่นแหละ เปรียบเหมือน ปลาใหญ่ ชื่อว่าติมิรปิงคละ ย่อมได้โอกาสโดยความเป็นอันเดียวกันในมหาสมุทรอันลึก ๘๔,๐๐๐ โยชน์นั่นแหละฉันใด พระสัพพัญญุตญาณก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมได้โอกาสในมหาปกรณ์ โดยความเป็นอันเดียวกันนั่นแหละ.

               ว่าด้วยพระฉัพพรรณรังสี               
               เมื่อพระศาสดาทรงพิจารณาธรรมอันละเอียดสุขุมตามความสบายด้วยพระสัพพัญญุตญาณซึ่งมีโอกาส (ช่อง) อันได้แล้วอย่างนี้ พระฉัพพรรณรังสี (รัศมี ๖ ประการ) คือ นีละ (เขียวเหมือนดอกอัญชัน) ปีตะ (เหลืองเหมือนหรดาล) โลหิตะ (แดงเหมือนตะวันอ่อน) โอทาตะ (ขาวเหมือนแผ่นเงิน) มัญเชฏฐะ (สีหงสบาท เหมือนดอกหงอนไก่) ประภัสสร (เลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก) ก็ซ่านออกจากพระสรีระ พื้นแห่งท้องฟ้า ได้เป็นราวกะว่า เต็มด้วยดอกอัญชันกระจายอยู่ทั่วไป เหมือนดารดาษด้วยดอกสามหาวหรือกลีบอุบลเขียว เหมือนขั้วตาลประดับด้วยแก้วมณีที่แกว่งไปมา และเหมือนแผ่นวัตถุสีเขียวเข้มที่ขึงออก ด้วยสามารถแห่งรัศมีสีเขียวเหล่าใด พระรัศมีสีเขียวเหล่านั้น ออกไปแล้วจากพระเกศา แลพระมัสสุทั้งหลาย และจากที่สีเขียวแห่งพระเนตรทั้งสอง.
               ทศาภาคทั้งหลายย่อมรุ่งโรจน์ เหมือนโสรจสรง (ชำระ) ด้วยน้ำทองคำ เหมือนแผ่แผ่นทองคำออกไป เหมือนย้อมด้วยจุณแห่งนกกดไฟ (น่าจะเป็นผงขมิ้น) และเหมือนเรียงรายด้วยดอกกรรณิการ์ ด้วยอำนาจแห่งรัศมีสีเหลืองเหล่าใด รัศมีสีเหลืองเหล่านั้น ซ่านออกแล้วจากพระฉวีวรรณ และจากที่สีเหลืองแห่งพระเนตรทั้งสอง.
               ทิศาภาคทั้งหลายรุ่งโรจน์แล้ว เหมือนย้อมด้วยจุณแห่งชาด เหมือนรดด้วยน้ำครั่งที่สุกดีแล้ว เหมือนคลุมด้วยผ้ากัมพลแดง เหมือนเรียงรายด้วยดอกชัยพฤกษ์ ดอกทองกวาว และดอกชบา ด้วยสามารถแห่งรัศมีสีแดงเหล่าใด พระรัศมีสีแดงเหล่านั้น ซ่านออกแล้วจากพระมังสะ พระโลหิตและที่สีแดงแห่งพระเนตรทั้งสอง.
               ทิศาภาคทั้งหลายรุ่งโรจน์แล้ว เหมือนเกลื่อนกล่นด้วยขีรธาราที่เทออกจากหม้อเงิน เหมือนเพดานแผ่นเงินที่เขาขึงไว้ เหมือนขั้วตาลเงินที่แกว่งไปมา เหมือนดาดาษด้วยดอกคล้า ดอกโกมุท ดอกย่างทราย ดอกมะลิวัลย์ ดอกมะลิซ้อนเป็นต้น ด้วยสามารถแห่งรัศมีสีขาวเหล่าใด รัศมีสีขาวเหล่านั้นซ่านออกแล้วจากพระอัฐิทั้งหลาย จากพระทนต์ทั้งหลาย และจากที่สีขาวแห่งพระเนตรทั้งสอง.
               ส่วนพระรัศมีสีหงสบาทและเลื่อมประภัสสร ก็ซ่านออกจากส่วนแห่งพระสรีระนั้นๆ พระฉัพพรรณรังสีเหล่านั้นออกแล้วจับมหาปฐพีใหญ่อันหนาทึบ ด้วยประการฉะนี้ มหาปฐพีอันหนา ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์ ได้เป็นเหมือนก้อนทองคำที่เขาขจัดมลทินแล้ว พระรัศมีทั้งหลายเจาะทะลุแผ่นดินลงไปจับน้ำในภายใต้ น้ำซึ่งรองแผ่นดินหนาถึง ๔๘๐,๐๐๐ โยชน์ ได้เป็นเหมือนทองคำที่ไหลคว้างออกจากเบ้าทอง พระรัศมีเหล่านั้นเจาะน้ำลงไปจับลม ลมหนา ๙๖๐,๐๐๐ โยชน์ ได้เป็นเหมือนแท่งทองคำที่ยกขึ้นแล้ว พระรัศมีทั้งหลายเจาะลมแล้วแล่นไปสู่อัชชฎากาศ (อากาศเวิ้งว้าง) ภายใต้.
               ว่าด้วยส่วนเบื้องบน พระรัศมีทั้งหลาย แม้พุ่งขึ้นไปแล้วจับอยู่ที่จาตุมหาราชิกา เจาะแทงตลอดจาตุมหาราชิกาไปจับชั้นดาวดึงส์ จากนั้นก็ไปยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี จากนั้นก็ไปพรหมโลก ๙ ชั้น จากนั้นก็ไปเวหัปผลา จากนั้นก็ไปปัญจสุทธาวาส จับอรูปทั้ง ๔ เจาะ (แทงตลอด) อรูปทั้ง ๔ แล้วแล่นไปสู่อัชชฎากาศ (อากาศเวิ้งว้าง).
               โดยส่วนเบื้องขวางทั้งหลาย พระรัศมีแล่นไปสู่โลกธาตุทั้งหลายอันหาที่สุดมิได้ ในที่ทั้งหลายมีประมาณเท่านี้ ไม่มีรัศมีพระจันทร์ในพระจันทร์ ไม่มีรัศมีพระอาทิตย์ในพระอาทิตย์ ไม่มีรัศมีดวงดาวในดวงดาวทั้งหลาย ไม่มีรัศมีของเทวดาทั้งหลายในที่ทั้งปวง คือ ที่อุทยาน วิมาน ต้นกัลปพฤกษ์ทั้งหลาย ที่สรีระทั้งหลาย ที่อาภรณ์ทั้งหลาย ถึงมหาพรหมผู้สามารถแผ่แสงสว่างไปสู่โลกธาตุติสหัสสี และมหาสหัสสี ก็ได้เป็นเหมือนหิ่งห้อยในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น พระจันทร์ พระอาทิตย์ ดวงดาว อุทยานวิมาน ต้นไม้กัลปพฤกษ์ของเทพ ก็ปรากฏเพียงเป็นการกำหนดเท่านั้น.
               จริงอยู่ สถานที่มีประมาณเท่านี้ ได้เป็นที่ท่วมทับ (ปกคลุม) แล้วด้วยรัศมีของพระพุทธเจ้าทั้งนั้น พระฤทธิ์แม้นี้มิใช่ฤทธิ์เกิดจากการอธิษฐาน มิใช่ฤทธิ์เกิดจากภาวนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย แต่เมื่อพระโลกนารถทรงพิจารณาธรรมอันละเอียดสุขุม พระโลหิตก็ผ่องใส วัตถุรูปก็ผ่องใส พระฉวีวรรณก็ผ่องใส วรรณธาตุมีจิตเป็นสมุฏฐาน ตั้งอยู่ไม่หวั่นไหวในประเทศประมาณ ๘๐ ศอกโดยรอบ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาธรรม โดยลักษณะนี้ ตลอด ๗ วัน.
               มีคำถามว่า ธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาตลอด ๗ คืน ๗ วัน ได้มีประมาณเท่าไร?
               ตอบว่า หาประมาณมิได้.
               นี้ชื่อว่า เทศนาด้วยพระหฤทัยก่อน ครั้นเมื่อความเป็นอย่างนั้น ใครๆ ก็ไม่พึงกล่าวได้ว่า ก็พระศาสดาเมื่อทรงเปล่งพระวาจาแสดงธรรมอันพระองค์คิดด้วยพระทัยตลอด ๗ วันอย่างนี้ โดยล่วงไปร้อยปีก็ดี พันปีก็ดี แสนปีก็ดี ก็ไม่สามารถเพื่อให้ถึงที่สุดได้ ดังนี้.
               จริงอยู่ ในกาลอันเป็นส่วนอื่น พระตถาคตเจ้าประทับนั่งท่ามกลางเหล่าเทพหมื่นจักรวาลเหนือบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ณ ควงไม้ปาริชาต ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อทรงแสดงธรรมทรงทำพระพุทธมารดาให้เป็นกายสักขี ก็ทรงย่อแล้วๆ ซึ่งลำดับธรรมจากระหว่างธรรมแล้วแสดงโดยส่วนแห่งร้อย โดยส่วนแห่งพัน โดยส่วนแห่งแสน เทศนาที่พระองค์ให้เป็นไป ติดต่อกันสามเดือน เป็นอนันตเทศนาประมาณมิได้ ประดุจคงคาในอากาศที่ไหลลงมาอย่างเร็ว และประดุจสายน้ำที่ไหลออกจากหม้อน้ำที่คว่ำปาก ฉะนั้น.
               จริงอยู่ แม้ในกาลเป็นที่อนุโมทนาภัตของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงอนุโมทนาอยู่ขยายออกหน่อยหนึ่ง ก็จะได้ประมาณเท่ากับทีฆนิกายและมัชฌิมนิกาย.
               อนึ่ง เมื่อทรงแสดงธรรมแก่บริษัทที่ประชุมกันภายหลังแห่งภัต เทศนาก็มีประมาณเท่านิกายใหญ่ทั้งสอง คือ สังยุตตนิกายและอังคุตตรนิกาย.
               เพราะเหตุไร?
               เพราะภวังคปริวาส (การอยู่อาศัยภวังคจิต) ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเร็ว ริมพระโอษฐ์เรียบสนิทดี พระชิวหาอ่อนคล่องพระโอษฐ์ พระสุรเสียงไพเราะ พระวาจาเปล่งได้เร็ว เพราะฉะนั้น แม้ธรรมอันพระองค์แสดงแล้วเพียงครู่หนึ่งนั้น จึงได้มีประมาณเท่านี้ ธรรมที่พระองค์ทรงแสดงแล้วตลอดไตรมาสจึงประมาณไม่ได้เลย.
               จริงอยู่ พระอานนทเถระเป็นพหูสูต ทรงพระไตรปิฎกยืนอยู่แล้ว โดยท่าที่ยืนนั่นแหละ ย่อมเรียน ย่อมบอก ย่อมแสดงคาถา ๑๕,๐๐๐ คาถา บทธรรม ๖๐,๐๐๐ บท เหมือนชนผู้ดึงดอกไม้ทั้งกิ่ง ธรรมมีประมาณเท่านี้ ชื่อว่าเป็นอุเทศมรรค (ทางแห่งอุเทศ) หนึ่งของพระเถระ เพราะว่า บุคคลอื่นเมื่อให้อุเทศตามลำดับบทแก่พระเถระ ย่อมไม่อาจเพื่อจะให้ คือบอกให้ไม่ทัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น พึงให้สมบูรณ์ พระสาวกผู้มีสติมากยิ่ง มีคติมากยิ่ง มีธิติมากยิ่งอย่างนี้ แม้เรียนเทศนาที่พระศาสดาแสดงแล้วตลอดไตรมาส โดยทำนองนี้ สิ้นพันปีก็ไม่อาจให้ถึงที่สุดได้.
               ถามว่า ก็อุปาทินนกสรีระ (ร่างกายที่มีใจครอง) เนื่องด้วยกวฬิงการาหารของพระตถาคตเจ้าผู้ทรงแสดงธรรมติดต่อกันตลอดไตรมาสเช่นนี้ เป็นไปได้อย่างไร?
               ตอบว่า ด้วยการบำรุงนั่นแหละ.
               จริงอยู่ กาลนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงวิเคราะห์ดีแล้ว ทรงกำหนดดีแล้ว ทรงพิจารณาดีแล้ว เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงธรรม จึงทรงตรวจดูเวลาในมนุษยโลก พระองค์ทรงกำหนดเวลาภิกษาจารแล้ว เนรมิตพุทธนิมิตแล้วอธิษฐานว่า การห่มจีวร การถือบาตร การเปล่งเสียง กิริยาอาการของพุทธนิมิตนี้ จงมีอย่างนี้ จงแสดงธรรม ชื่อมีประมาณเท่านี้ ดังนี้ แล้วทรงถือบาตรและจีวรเสด็จไปสระอโนดาต เทวดาถวายไม้ชำระพระทนต์ ชื่อนาคลดา พระองค์ทรงเคี้ยวไม้นาคลดานั้น ปฏิบัติสรีระในสระอโนดาตแล้วประทับยืนที่พื้นมโนศิลา ทรงครองสบงสองชั้นที่ทรงย้อมดีแล้ว ทรงห่มจีวร แล้วถือบาตรศิลาที่มหาราชถวายเสด็จไปสู่อุตตรกุรุทวีป ทรงนำบิณฑบาตมาจากที่นั้น ประทับนั่งที่ฝั่งสระอโนดาต ทรงเสวยแล้วเสด็จไปป่าไม้จันทน์ เพื่อทรงพักผ่อนกลางวัน.
               แม้พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระก็ไปในที่นั้น กระทำวัตรต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง. ลำดับนั้น พระศาสดาจะทรงประทานนัยแก่พระเถระ จึงตรัสบอกว่า ดูก่อนสารีบุตร ธรรมที่ตถาคตแสดงแล้วมีประมาณเท่านี้. เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานนัยอย่างนี้ การประทานนัยแก่พระอัครสาวกผู้ถึงปฏิสัมภิทาแล้ว เป็นเช่นบุคคลผู้ยืนอยู่ที่สุดฝั่งแล้วเหยียดมือชี้ให้ดูมหาสมุทร ฉะนั้น ธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว ย่อมปรากฏชัดแม้แก่พระเถระโดยร้อยนัย พันนัยแสนนัย.
               ถามว่า พระศาสดาทรงนั่งพักกลางวันแล้วเสด็จไปแสดงธรรมเวลาไหน?
               ตอบว่า ธรรมดาว่า เวลาสำหรับแสดงธรรมแก่ชาวเมืองสาวัตถีที่ประชุมกันแล้วมีอยู่ ก็เสด็จไปเวลานั้น.
               ถามว่า ใครเล่าย่อมทราบ ใครเล่าไม่ทราบว่า พระศาสดาเสด็จไปแสดงธรรม หรือว่า เสด็จมาแสดงธรรม.
               ตอบว่า เทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ย่อมทราบ เทวดาผู้มีศักดิ์น้อยย่อมไม่ทราบ.
               ถามว่า เพราะเหตุไร เทวดาผู้มีศักดิ์น้อยจึงไม่ทราบ.
               ตอบว่า เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพุทธนิมิต ไม่มีความต่างกับสิ่งทั้งหลายมีพระรัศมีเป็นต้น ความจริง ความต่างกันของพระพุทธเจ้าแม้ทั้งสองพระองค์นั้น ในพระรัศมีหรือพระสุรเสียง หรือพระดำรัสมิได้มี.
               ฝ่ายพระสารีบุตรเถระก็นำธรรมที่พระศาสดาทรงแสดงแล้วๆ มาแสดงแก่ภิกษุ ๕๐๐ ผู้เป็นสัทธิวิหาริกของตน บัณฑิตพึงทราบบุรพโยคะ (การประกอบกรรมในกาลก่อน) ของภิกษุ ๕๐๐ เหล่านั้น ดังนี้.

               บุรพโยคะของภิกษุ ๕๐๐               
               ได้ยินว่า ในกาลแห่งพระทศพล พระนามว่ากัสสป ภิกษุเหล่านั้นเกิดในกำเนิดค้างคาวลูกหนู ห้อยโหนอยู่ที่เงื้อมเขา เมื่อภิกษุผู้ทรงพระอภิธรรม ๒ รูป สาธยายพระอภิธรรมอยู่ ก็ถือเอานิมิตในเสียง แม้ไม่รู้ว่าเป็นธรรมฝ่ายดำ เป็นธรรมฝ่ายขาว ทำกาละแล้วก็เกิดในเทวโลกด้วยเหตุสักว่าถือเอานิมิตในเสียงเท่านั้น. พวกเขาอยู่ในเทวโลกสิ้นพุทธันดรหนึ่ง ในกาลนั้น เขามาเกิดในมนุษยโลก เลื่อมใสในยมกปาฏิหาริย์ จึงบวชในสำนักของพระเถระ พระเถระนำพระธรรมที่พระศาสดาทรงแสดงแล้วๆ มาแสดงแก่ภิกษุเหล่านั้น การสิ้นสุดลงแห่งการแสดงพระอภิธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และการเรียนปกรณ์ ๗ ของภิกษุเหล่านั้นได้มีพร้อมๆ กันนั่นแหละ.
               ทางแห่งการบอกพระอภิธรรมมีพระสารีบุตรเถระเป็นต้นเหตุ แม้วาระว่าด้วยการนับจำนวนมหาปกรณ์ ก็พระเถระนั่นแหละตั้งไว้. จริงอยู่ พระเถระไม่ลบล้างลำดับธรรม เพื่อถือเอา เพื่อทรงจำ เพื่อเล่าเรียน และเพื่อบอกได้โดยวิธีนี้ เพราะฉะนั้น จึงจัดตั้งไว้ซึ่งวาระว่าด้วยการนับ ก็ครั้นเมื่อความเป็นอย่างนั้น พระเถระก็เป็นผู้ทรงพระอภิธรรมก่อนกว่ากระมัง หามิได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นแหละเป็นผู้ทรงพระอภิธรรมก่อนกว่า เพราะว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่ง ณ มหาโพธิบัลลังก์ ทรงแทงตลอดแล้วซึ่งพระอภิธรรมนั้น ก็แลครั้นเป็นพระพุทธเจ้าแล้วก็ประทับโดยบัลลังก์เดียว ตลอด ๗ วัน ทรงเปล่งอุทานว่า
                         ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา
                         อาตาปิโน ฌายโต พฺราหฺมณสฺส
                         ฯเปฯ สูโรว โอภาสยมนฺตลิกฺขํ.
                                   ในกาลใดแล ธรรมทั้งหลาย ย่อม
                         ปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียร เพ่งอยู่
                         ในกาลนั้น ความสงสัยทั้งปวงเทียว ของ
                         พราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป เพราะมาทราบชัด
                         ซึ่งธรรมพร้อมทั้งเหตุ.
                                   ในกาลใดแล ธรรมทั้งหลาย ย่อม
                         ปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียร เพ่งอยู่
                         ในกาลนั้น ความสงสัยทั้งปวงเทียว ของ
                         พราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป เพราะได้รู้แล้วซึ่ง
                         ความสิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย.
                                   ในกาลใดแล ธรรมทั้งหลาย ย่อม
                         ปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียร เพ่งอยู่
                         ในกาลนั้น พราหมณ์นั้น ย่อมกำจัดมารและ
                         เสนามารได้เหมือนพระอาทิตย์ยังท้องฟ้าให้
                         สว่างอยู่ ฉะนั้น.

               นี้ชื่อว่า ปฐมพุทธพจน์ แต่อาจารย์ผู้กล่าวบทแห่งธรรม ย่อมกล่าวว่า ชื่อว่า ปฐมพุทธพจน์นี้ คือ
                         อเนกชาติสํสารํ สนฺธาวิสฺสํ อนิพฺพิสํ
                         ฯเปฯ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา.
                                   เมื่อเราแสวงหานายช่าง (คือตัณหา)
                         ผู้กระทำซึ่งเรือน ยังไม่พบ จึงต้องท่องเที่ยว
                         ไปสู่สงสารมีชาติมิใช่น้อย เพราะการเกิด
                         บ่อยๆ เป็นทุกข์ ดูก่อนนายช่างผู้กระทำซึ่ง
                         เรือน เราพบท่านแล้ว ท่านจักสร้างเรือน
                         ไม่ได้อีก ซี่โครงทั้งหมดของท่านเราหัก
                         เสียแล้ว เรือนยอดเราก็รื้อออกแล้ว จิตของ
                         เราถึงวิสังขาร (คือพระนิพพาน) ถึงความ
                         สิ้นไปแห่งตัณหาทั้งหลายแล้ว.

               พระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงไสยาสน์ในระหว่างต้นสาลคู่ ในสมัยใกล้ปรินิพพานตรัสไว้ว่า หนฺททานิ ภิกฺขเว ฯปฯ สมฺปาเทถ
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เอาเถอะ ตถาคตจักเตือนเธอทั้งหลายว่า
                         สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา
                         พวกเธอทั้งหลายจงถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด
               ดังนี้ ชื่อว่าปัจฉิมพุทธพจน์.
               พระสัทธรรมที่ประกาศอมตะที่พระองค์ตรัสไว้ ๔๕ พรรษา ในระหว่างพระพุทธพจน์ทั้งสอง เหมือนนายมาลาการร้อยพวงดอกไม้ และเหมือนช่างแก้วร้อยพวงแก้ว ชื่อว่า มัชฌิมพุทธพจน์ พระพุทธพจน์นั้นแม้ทั้งหมด เมื่อประมวลเข้าด้วยกัน โดยปิฎกเป็น ๓ ปิฎก โดยนิกายเป็น ๕ นิกาย โดยองค์มีองค์ ๙ โดยธรรมขันธ์ได้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์.
               อย่างไร. จริงอยู่ พระพุทธพจน์นี้แม้ทั้งหมด โดยปิฎกมี ๓ ประเภทเท่านั้น คือวินัยปิฎก สุตตันปิฎก อภิธรรมปิฎก. บรรดาปิฎกทั้ง ๓ นั้นพระพุทธพจน์นี้คือ ปาฏิโมกข์ทั้งสอง วิภังค์ทั้งสอง ขันธกะ ๒๒ ปริวาร ๑๖ ชื่อว่าวินัยปิฎก.
               พระพุทธพจน์นี้ คือทีฆนิกายซึ่งรวบรวมพระสูตรไว้ ๓๔ สูตรมีพรหมชาลสูตรเป็นต้น มัชฌิมนิกายซึ่งรวบรวมพระสูตรไว้ ๑๕๒ สูตรมีมูลปริยายสูตรเป็นต้น สังยุตตนิกายซึ่งรวบรวมพระสูตรไว้ ๗,๗๖๒ สูตรมีโอฆตรณสูตรเป็นต้น อังคุตตรนิกายซึ่งรวบรวมพระสูตรไว้ ๙,๕๕๗ สูตรมีจิตตปริยายสูตรเป็นต้น ขุททกนิกายมี ๑๕ ประเภท คือ ๑. ขุททกปาฐะ ๒. ธรรมบท ๓. อุทาน ๔. อิติวุตตกะ ๕. สุตตนิบาต ๖. วิมานวัตถุ ๗. เปตวัตถุ ๘. เถรคาถา ๙. เถรีคาถา ๑๐. ชาดก ๑๑. นิทเทส ๑๒. ปฏิสัมภิทา ๑๓. อปทาน ๑๔. พุทธวงศ์ ๑๕. จริยาปิฎก ชื่อว่าสุตตันตปิฎก.
               ปกรณ์ ๗ มีธรรมสังคณีเป็นต้น ชื่อว่าอภิธรรมปิฎก.

               คำว่า วินัย มีอรรถ ๓ อย่าง               
               บรรดาปิฎกทั้ง ๓ นั้น พระวินัยนี้ บัณฑิตผู้รู้เนื้อความแห่งพระวินัย กล่าวว่า วินัย เพราะมีนัยต่างๆ มีนัยพิเศษ และเพราะฝึกหัดกายวาจา.
               จริงอยู่ ในพระวินัยปิฎกนี้ ชื่อว่า มีนัยต่างๆ คือ มีนัยที่แยกไว้โดยปาฏิโมกขุทเทส ๕ อย่าง อาบัติ ๗ กองมีปาราชิกเป็นต้น มาติกาและวิภังค์เป็นต้น และที่ชื่อว่า มีนัยพิเศษ คือ นัยแห่งอนุบัญญัติ ซึ่งมีการทำให้มั่นคง และการทำให้หย่อนเป็นประโยชน์.
               อนึ่ง วินัยนี้ ชื่อว่าย่อมฝึกหัดกายวาจา เพราะป้องกันการประพฤติผิดทางกายและวาจา เพราะฉะนั้น วินัยนี้ บัณฑิตจึงกล่าวว่า ชื่อว่าวินัย เพราะมีนัยต่างๆ เพราะมีนัยพิเศษ เพราะฝึกหัดกายวาจา ด้วยเหตุนั้นนั่นแหละ เพื่อความเป็นผู้ฉลาดในอรรถแห่งการกล่าวถึงพระวินัยนั้น ท่านจึงประพันธ์คาถาไว้ว่า
                         วิวิธวิเสสนยตฺตา วินยนโต เจว กายวาจานํ
                         วินยตฺถวิทูหิ อยํ วินโย วินโยติ อกฺขาโต
                                   พระวินัยนี้ บัณฑิตผู้รู้อรรถแห่งวินัย
                         ทั้งหลาย กล่าวว่า พระวินัย เพราะมีนัยต่างๆ
                         เพราะมีนัยพิเศษ และเพราะฝึกหัดกายวาจา

                         ดังนี้.

               คำว่า พระสูตรมีอรรถ ๖ อย่าง               
               ส่วนพระสูตร บัณฑิตผู้รู้อรรถแห่งพระสูตร กล่าวว่า พระสูตร เพราะการแสดงถึงประโยชน์ เพราะเป็นดำรัสอันพระพุทธเจ้าตรัสดีแล้ว เพราะเผล็ดประโยชน์ เพราะหลั่งประโยชน์ เพราะเป็นที่ต้านทานอย่างดี เพราะมีส่วนเปรียบด้วยเส้นด้ายบรรทัด.
               จริงอยู่ พระสูตรนั้นย่อมแสดงประโยชน์ทั้งหลายอันต่างโดยประโยชน์ของตน และของผู้อื่นเป็นต้น. อนึ่ง ในพระสูตรนี้ มีอรรถที่ตรัสไว้อย่างดี เพราะตรัสคล้อยตามอัธยาศัยของเวไนยสัตว์. ก็พระสูตรนี้ ย่อมหลั่งออกซึ่งประโยชน์ทั้งหลาย เหมือนข้าวกล้าผลิตผล และย่อมหลั่งออกซึ่งประโยชน์ทั้งหลาย เหมือนแม่โคนมหลั่งน้ำนมออก ชื่อว่า ต้านทาน คือ ย่อมรักษาประโยชน์ทั้งหลายเหล่านั้นอย่างดี. อนึ่ง ชื่อว่า มีส่วนเปรียบด้วยเส้นด้ายบรรทัด เปรียบเหมือนเส้นด้ายบรรทัด ย่อมเป็นประมาณของช่างถากทั้งหลาย ฉันใด พระสูตรแม้นี้ ก็เป็นประมาณของวิญญูชนทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน.
               อนึ่ง ดอกไม้ทั้งหลายที่เขาร้อยไว้ด้วยด้าย ย่อมไม่เรี่ยรายไม่กระจัดกระจายฉันใด เนื้อความทั้งหลายที่ทรงรวบรวมไว้ด้วยพระสูตรนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน. ด้วยเหตุนั้น เพื่อความเป็นผู้ฉลาดในอรรถแห่งการกล่าวถึงพระสูตรนั้น ท่านจึงประพันธ์คาถาไว้ว่า
                         อตฺถานํ สูจนโต สุวุตฺตโต สวนโตถ สูทนโต
                         สุตฺตาณา สุตฺตสภาคโต จ สุตฺตํ สุตฺตนฺติ อกฺขาตํ

                                   พระสูตร ท่านเรียกว่า พระสูตร
                         เพราะแสดงอรรถ เพราะตรัสไว้ดีแล้ว
                         เพราะเผล็ดประโยชน์ เพราะหลั่งประโยชน์
                         เพราะต้านทานได้ดี และเพราะมีส่วนเปรียบ
                         ด้วยเส้นด้ายบรรทัด ฉะนั้น.

               อภิธรรมมีอรรถ ๕ อย่าง               
               ส่วนพระอภิธรรม บัณฑิตกล่าวว่า พระอภิธรรม เพราะเหตุที่ในอภิธรรมปิฎกนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสธรรมที่มีความเจริญ ๑ ที่ควรกำหนด ๑ ที่ควรบูชา ๑ ที่กำหนดไว้ ๑ และเป็นที่ยิ่ง ๑.
               จริงอยู่ อภิศัพท์นี้ ใช้ในความหมายว่าเจริญ ควรกำหนด ควรบูชา ที่กำหนดไว้และที่ยิ่ง.
               จริงอย่างนั้น อภิศัพท์นี้ ใช้ในคำว่าเจริญ ในประโยคมีอาทิว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ทุกขเวทนาหนัก ย่อมเจริญ (กำเริบ) แก่กระผมมิได้ลดลง ดังนี้.
               ใช้ในความหมายถึงควรกำหนด ในประโยคมีอาทิว่า ราตรีเหล่านั้นใด ท่านกำหนดรู้แล้ว กำหนดหมายไว้แล้ว ดังนี้.
               ใช้ในความหมายถึงควรบูชา ในประโยคมีอาทิว่า พระราชาที่พระราชาทรงบูชา เป็นจอมมนุษย์ ดังนี้.
               ใช้ในความหมายถึงกำหนดไว้ ในประโยคมีอาทิว่า ปฏิพโล วิเนตุํ อภิธมฺเม อภิวินเย แปลว่า เป็นผู้สามารถเพื่อแนะนำในธรรมที่กำหนดไว้ในวินัยที่กำหนดไว้ ดังนี้.
               อธิบายว่า ในธรรมและวินัยที่เว้นจากการปะปนกัน.
               ใช้ในความหมายว่ายิ่ง (อธิกะ) ในประโยคมีอาทิว่า มีวรรณะอันงามยิ่ง ดังนี้.
               อนึ่ง ในพระอภิธรรมนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสธรรมทั้งหลายที่มีความเจริญ โดยนัยเป็นต้นว่า ภิกษุย่อมเจริญมรรคเพื่อเข้าถึงรูปภพ มีจิตประกอบด้วยเมตตาแผ่ไปสู่ทิศหนึ่งอยู่ ดังนี้ก็มี ตรัสธรรมทั้งหลายที่ควรกำหนด เพราะความเป็นธรรมที่ควรกำหนดด้วยอารมณ์ทั้งหลายโดยนัยเป็นต้นว่า เป็นรูปารมณ์ หรือสัททารมณ์ ดังนี้ก็มี ตรัสธรรมทั้งหลายที่น่าบูชา โดยนัยเป็นต้นว่า เสกขธรรม อเสกขธรรม โลกุตรธรรม ดังนี้ก็มี ท่านอธิบายว่า ธรรมที่ควรบูชา ตรัสธรรมทั้งหลายที่ทรงกำหนดไว้ เพราะเป็นธรรมที่กำหนดโดยสภาวะ โดยนัยเป็นต้นว่า ผัสสะย่อมมี เวทนาย่อมมีดังนี้ก็มี และตรัสธรรมทั้งหลายอันยิ่ง โดยนัยเป็นต้นว่า มหัคคตธรรม อัปปมาณธรรม อนุตรธรรม ดังนี้ก็มี ด้วยเหตุนั้น เพื่อความฉลาดในอรรถแห่งการกล่าวถึงพระอภิธรรมนี้ ท่านจึงประพันธ์คาถาไว้ว่า
                         ยํ เอตฺถ วุฑฺฒิมนฺโต สลกฺขณา ปูชิตา ปริจฺฉินฺนา
                         วุตฺตาธิกา จ ธมฺมา อภิธมฺโม เตน อกฺขาโต

                                   พระอภิธรรม บัณฑิตกล่าวว่า พระอภิธรรม
                         เพราะเหตุที่พระอภิธรรมนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า
                         ตรัสถึงธรรมที่เจริญ ๑ ธรรมที่ควรกำหนด ๑
                         ธรรมที่ควรบูชา ๑ ธรรมกำหนด(แยก) ไว้ ๑
                         และธรรมที่ยิ่ง ๑.

               ว่าด้วยความหมายที่ไม่ต่างกันของปิฎก               
               อนึ่ง ในปิฎกทั้ง ๓ นี้ บัณฑิตผู้รู้อรรถแห่งปิฎกศัพท์กล่าวว่า คำว่า ปิฎก ที่ไม่แตกต่างกันนั้นว่า ชื่อว่าปิฎก เพราะอรรถว่าเป็น ปริยัติ และภาชนะ (เครื่องรองรับ) บัดนี้ พึงประมวลปิฎกศัพท์นั้นเข้าด้วยกันแล้ว ทราบปิฎกแม้ทั้ง ๓ มีวินัยเป็นต้น.
               จริงอยู่ แม้ปริยัติ ท่านก็เรียกว่า ปิฎก (ตำรา) เหมือนในประโยคมีอาทิว่า มา ปิฏกสมฺปทาเนน อย่าเชื่อโดยอ้างตำรา แม้ภาชนะอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เรียกว่า ปิฎก เหมือนในประโยคมีอาทิว่า อถ ปุริโส อาคจฺเฉยฺย กุทฺทาลปิฏกมาทาย ครั้งนั้น บุรุษ (ผู้ทำถนน) ถือเอาจอบและตะกร้า (ปิฎก) มาดังนี้. เพราะฉะนั้น บัณฑิตผู้รู้อรรถแห่งปิฎกศัพท์จึงกล่าวว่า ชื่อว่า ปิฎก เพราะอรรถว่าเป็นปริยัติ และภาชนะ (เครื่องรองรับ).
               บัดนี้ บัณฑิตพึงประมวลปิฎกศัพท์เข้าด้วยกัน แล้วพึงทราบปิฎกแม้ทั้ง ๓ มีวินัยเป็นต้น คือ พึงทำสมาส (วินัยเป็นต้น) กับปิฎกศัพท์ซึ่งมีอรรถ ๒ อย่าง อย่างนี้ แล้วพึงทราบปิฎกแม้ทั้ง ๓ มีวินัยเป็นต้นเหล่านี้ว่า พระวินัยนั้นด้วย เป็นปิฎกด้วย ชื่อว่าวินัยปิฎก เพราะเป็นปริยัติ และเพราะเป็นภาชนะ (เครื่องรองรับ) แห่งอรรถนั้นๆ พระสูตรนั้นด้วย เป็นปิฎกด้วย ชื่อว่าสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมนั้นด้วย เป็นปิฎกด้วย ชื่อว่าอภิธรรมปิฎก โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ อย่างนี้ด้วยประการฉะนี้.

               ว่าด้วยความหมายคำว่าปิฎกที่แตกต่างกัน               
               ก็ครั้นทราบอย่างนี้แล้ว เพื่อความฉลาดเนื้อความต่างๆ ในปิฎกแม้ทั้ง ๓ นั่นแหละอีกว่า
                                   ในปิฎกเหล่านั้น บัณฑิตพึงแสดง
                         ประเภทเทศนา ศาสนะ กถา สิกขา ปหานะ
                         และคัมภีรภาพ ตามสมควร คือว่าภิกษุย่อม
                         บรรลุประเภทปริยัติ สมบัติและวิบัติ อันใด
                         ในปิฎกใด โดยประการใด พึงอธิบาย
                         ประเภทปริยัติ สมบัติและวิบัติแม้นั้นทั้งหมด
                         โดยประการนั้นเถิด.
               ในข้อนั้น มีคำบรรยาย และอธิบาย ดังต่อไปนี้
               จริงอยู่ ปิฎกทั้ง ๓ แม้เหล่านี้ ท่านเรียกตามลำดับว่า อาณาเทศนา โวหารเทศนา ปรมัตถเทศนา ยถาปราธศาสนะ ยถานุโลมศาสนะ ยถาธัมมศาสนะ สังวราสังวรกถา ทิฏฐิวินิเวฐนกถาและนามรูปปริจเฉทกถา.

               ว่าโดยเทศนา               
               จริงอยู่ บรรดาปิฎกทั้ง ๓ นี้ พระวินัยปิฎก เรียกว่าอาณาเทศนา เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ควรแก่การใช้อำนาจ (อาณา) ทรงแสดงมากไปด้วยอาณา (อำนาจ). พระสุตตันตปิฎก เรียกว่าโวหารเทศนา เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นผู้ฉลาดในโวหาร (บัญญัติศัพท์) ทรงแสดงมากไปด้วยโวหาร. พระอภิธรรมปิฎก เรียกว่าปรมัตถเทศนา เพราะความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ฉลาดในปรมัตถธรรม ทรงแสดงมากไปด้วยปรมัตถธรรม.

               ว่าโดยศาสนะ               
               อนึ่ง ปิฎกที่หนึ่ง เรียกชื่อว่ายถาปราธศาสนะ เพราะสัตว์ทั้งหลายผู้มีความผิดมาก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสั่งสอนตามที่มีความผิดในพระวินัยปิฎกนี้. ปิฎกที่สอง เรียกชื่อว่ายถานุโลมศาสนะ เพราะเหล่าสัตว์ที่มีอัธยาศัย อนุสัย จริยาและอธิมุติมิใช่น้อย พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงสั่งสอนไปตามลำดับในพระสุตตันตปิฎกนี้. ปิฎกที่สาม เรียกชื่อว่ายถาธัมมศาสนะ เพราะสัตว์ทั้งหลายผู้มีความสำคัญในสภาวสักว่ากองแห่งธรรมว่า เรา ของเรา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสั่งสอน ตามควรแก่ธรรมในพระอภิธรรมปิฎกนี้.

               ว่าโดยกถา               
               อนึ่ง ปิฎกที่หนึ่ง เรียกว่าสังวราวรกถา เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสความสังวรน้อยใหญ่ อันเป็นปฏิปักษ์ต่อความประพฤติผิดไว้ในพระวินัยปิฎกนี้. คำว่า สังวราสังวร นี้ได้แก่ สังวรน้อยและใหญ่ เหมือนกัมมากัมมะ (กรรมน้อยใหญ่) และผลาผล (ผลน้อยใหญ่). ปิฎกที่สอง เรียกว่าทิฏฐิวินิเวฐนกถา เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงการเปลื้องทิฏฐิอันเป็นปฏิปักษ์ต่อทิฏฐิ ๖๒ ไว้ในพระสุตตันตปิฎกนี้. ปิฎกที่สาม เรียกว่านามรูปปริจเฉทกถา เพราะตรัสถึงการกำหนดนามและรูปอันเป็นปฏิปักษ์ต่อธรรม มีราคะเป็นต้นไว้ในพระอภิธรรมปิฎกนี้.

               ว่าโดยสิกขาเป็นต้น               
               อนึ่ง ในปิฎกแม้ทั้ง ๓ เหล่านี้ บัณฑิตพึงทราบสิกขา ๓ ปหานะ ๓ และคัมภีรภาพ ๔ อย่าง.
               จริงอย่างนั้น ว่าโดยนัยพิเศษ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอธิศีลสิกขาไว้ในพระวินัยปิฎก ตรัสอธิจิตตสิกขาไว้ในพระสุตตันตปิฎก และตรัสอธิปัญญาสิกขาไว้ในพระอภิธรรมปิฎก.
               อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสปหาน (การละ) วิติกกมกิเลสไว้ในพระวินัยปิฎก เพราะความที่ศีลเป็นปฏิปักษ์ต่อการก้าวล่วงของกิเลส (วีติกกมกิเลส) ตรัสการปหานปริยุฏฐานกิเลสไว้ในพระสุตตันตปิฎก เพราะความที่สมาธิเป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลสที่กลุ้มรุม (ปริยุฏฐานกิเลส) ตรัสการปหานอนุสัยกิเลสไว้ในพระอภิธรรมปิฎก เพราะความที่ปัญญาเป็นปฏิปักษ์ต่ออนุสัยกิเลส.
               อีกอย่างหนึ่ง ในปิฎกที่หนึ่งตรัสการละกิเลสทั้งหลายด้วยตทังคปหาน (ละชั่วคราว) ในสองปิฎกนอกนี้ตรัสการละกิเลสด้วยวิกขัมภนปหานและสมุจเฉทปหาน. อีกอย่างหนึ่ง ในปิฎกที่หนึ่งตรัสการปหานสังกิเลสคือทุจริต ในสองปิฎกนอกนี้ ตรัสการปหานสังกิเลส คือตัณหาและทิฏฐิ.

               ว่าโดยคัมภีรภาพ ๔ อย่าง               
               อนึ่ง ในปิฎกทั้ง ๓ นี้ แต่ละปิฎกพึงทราบคัมภีรภาพ (ความลึกซึ้ง) ๔ อย่าง คือ โดยธรรม โดยอรรถ โดยเทศนาและโดยปฏิเวธ.
               บรรดาคัมภีรภาพเหล่านั้น พระบาลี (ตนฺติ) ชื่อว่าธรรม. เนื้อความแห่งพระบาลีนั้น ชื่อว่าอรรถ. การแสดงบาลีตามที่กำหนดไว้อย่างดีด้วยใจนั้น ชื่อว่าเทศนา. การตรัสรู้ตามความเป็นจริงซึ่งธรรมและอรรถแห่งบาลีนั้น ชื่อว่าปฏิเวธ.
               จริงอยู่ ธรรม อรรถ เทศนาและปฏิเวธ ในปิฎกทั้ง ๓ นั้น ชื่อว่าลึกซึ้ง เพราะสัตว์ทั้งหลายผู้มีปัญญาน้อยหยั่งลงได้ยาก เป็นที่พึ่งอันบุคคลผู้มีปัญญาน้อยไม่พึงได้ เปรียบเหมือนมหาสมุทร อันสัตว์เล็กทั้งหลายมีกระต่ายเป็นต้นหยั่งให้ถึงได้โดยยาก ทั้งเป็นที่พึ่งก็ไม่ได้ฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบคัมภีรภาพแม้ทั้ง ๔ อย่าง ในปิฎกทั้ง ๓ นี้แต่ละปิฎก ด้วยประการฉะนี้.
               อีกนัยหนึ่ง เหตุชื่อว่าธรรม เหมือนที่ตรัสไว้ว่า ญาณในเหตุ ชื่อว่าธรรมปฏิสัมภิทา. ผลของเหตุ ชื่อว่าอรรถ เหมือนที่ตรัสไว้ว่า ญาณในผลของเหตุ ชื่อว่าอัตถปฏิสัมภิทา. บัญญัติ ท่านหมายเอาการกล่าวธรรมสมควรแก่ธรรม ชื่อว่าเทศนา หรือว่าการกล่าวธรรมด้วยสามารถแห่งอนุโลม ปฏิโลม สังเขปและพิสดารเป็นต้น ชื่อว่าเทศนา.
               การตรัสรู้ ชื่อว่าปฏิเวธ. ก็ปฏิเวธนั้นเป็นทั้งโลกิยะและโลกุตระ อธิบายว่า การหยั่งรู้ในธรรมทั้งหลายสมควรแก่อรรถ ในอรรถทั้งหลายสมควรแก่ธรรม ในบัญญัติทั้งหลายสมควรแก่คลองแห่งบัญญัติ โดยวิสัย (อารมณ์) โดยอสัมโมหะ (ความไม่หลงลืม) หรือว่า ความที่ธรรมเหล่านั้นๆ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในที่นั้นๆ เป็นธรรมไม่วิปริตเป็นไปกับด้วยลักษณะ อันพึงแทงตลอดได้.
               บัดนี้ บัณฑิตพึงทราบคัมภีรภาพแม้ทั้ง ๔ อย่าง ในปิฎกทั้ง ๓ เหล่านี้แต่ละปิฎกทีเดียว เพราะในปิฎกเหล่านี้ ธรรมหรืออรรถใดๆ หรือเทศนาซึ่งส่องเนื้อความนั้นๆ โดยประการที่ควรรู้เนื้อความซึ่งตรงต่อญาณของผู้ฟังโดยประการนั้นๆ ก็หรือว่า การแทงตลอด กล่าวคือการหยั่งลงสู่ธรรมอันไม่วิปริต ในปิฎกทั้ง ๓ เหล่านี้อันใด หรือความที่ธรรมเหล่านั้นๆ ซึ่งมีสภาพไม่วิปริต กล่าวคือกำหนดได้อันพึงแทงตลอด ธรรมทั้งหมดนั้น คนมีปัญญาน้อยไม่สร้างกุศลสมภารไว้หยั่งลงได้โดยยาก ทั้งจะเป็นที่พึ่งก็ไม่ได้เปรียบเหมือนมหาสมุทร สัตว์เล็กมีกระต่ายเป็นต้น หยั่งให้ถึงได้ยาก ทั้งจะเป็นที่พึ่งไม่ได้ฉะนั้น.
               ก็ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ ย่อมเป็นอันข้าพเจ้ากล่าวถึงเนื้อความคาถานี้ว่า
                                   บัณฑิตพึงแสดงประเภทเทศนา ศาสนะ
                         กถา สิกขา ปหานะและคัมภีรภาพในปิฎกทั้ง ๓
                         เหล่านี้ ตามสมควร ด้วยประการฉะนี้.
               แต่ในคาถานี้ว่า
                                   ภิกษุย่อมบรรลุประเภทปริยัติ สมบัติ
                         และแม้วิบัติอันใด ในปิฎกใด โดยประการใด
                         พึงเจริญเนื้อความแม้นั้นทั้งหมด โดยประการ
                         นั้น ดังนี้.
               บัณฑิตพึงเห็นความแตกต่างกันแห่งปริยัติ ๓ อย่างในพระไตรปิฎกทั้ง ๓ ดังต่อไปนี้.

               ว่าด้วยปริยัติ ๓ ประเภท               
               จริงอยู่ ปริยัติมี ๓ ประเภท คือ
                         ๑. อลคัททูปมปริยัติ (ปริยัติเปรียบด้วยอสรพิษร้าย)
                         ๒. นิสสรณัตถปริยัติ (ปริยัติเพื่อประโยชน์แก่การสลัดออก)
                         ๓. ภัณฑาคาริกปริยัติ (ปริยัติเปรียบด้วยขุนคลัง).
               บรรดาปริยัติเหล่านั้น ปริยัติที่ถือเอาไม่ดี คือเรียนเพื่อเหตุแห่งการโต้แย้งเป็นต้น ชื่อว่าอลคัททูปมปริยัติ ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาตรัสไว้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้มีความต้องการอสรพิษมีพิษร้าย ย่อมแสวงหาอสรพิษมีพิษร้าย เมื่อเที่ยวแสวงหาอสรพิษมีพิษร้าย เขาเห็นอสรพิษมีพิษร้ายตัวใหญ่ ก็พึงจับอสรพิษนี้นั้น ที่ขนดหรือที่หาง อสรพิษนั้นพึงแว้งขบเอาที่มือ หรือแขน หรืออวัยวะน้อยใหญ่แห่งใดแห่งหนึ่งของบุรุษนั้น บุรุษนั้นพึงเข้าถึงความตายหรือทุกข์ปางตาย เพราะการขบกัดนั้นเป็นเหตุ ข้อนั้นเพราะเหตุแห่งอะไร
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะความที่อสรพิษร้ายอันบุรุษจับแล้วไม่ดี แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โมฆบุรุษบางพวกในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตะ ฯลฯ เวทัลละ บุรุษเหล่านั้นครั้นเรียนธรรมนั้นแล้ว ย่อมไม่ใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมเหล่านั้นด้วยปัญญา เมื่อโมฆบุรุษเหล่านั้นไม่ใคร่ครวญอรรถด้วยปัญญา ธรรมเหล่านั้นย่อมไม่ทนต่อการเพ่ง โมฆบุรุษเหล่านั้นมีการโต้แย้งเป็นอานิสงส์ และมีการยังตนให้พ้นจากวาทะนั้นๆ เป็นอานิสงส์ ย่อมเรียนธรรม และย่อมเรียนธรรม เพื่อประโยชน์แก่ธรรมใด ย่อมไม่เสวยผลแห่งธรรมนั้น ธรรมเหล่านั้นอันโมฆบุรุษเหล่านั้นเรียนแล้วไม่ดี ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์สิ้นกาลนาน ข้อนั้นเพราะเหตุแห่งอะไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะความที่ธรรมทั้งหลายอันโมฆบุรุษนั้นเรียนแล้วไม่ดี ดังนี้.
               ส่วนปริยัติใด อันบุคคลเรียนดีแล้ว คือหวังอยู่ซึ่งความบริบูรณ์แห่งคุณมีสีลขันธ์เป็นต้นเรียนแล้ว มิใช่เรียนเพราะเหตุการโต้แย้งเป็นต้น ปริยัตินี้ชื่อว่านิสสรณัตถปริยัติ (มีความต้องการเพื่อสลัดออก) ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึงตรัสไว้ว่า ธรรมเหล่านั้น อันกุลบุตรเหล่านั้นเรียนดีแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล และเพื่อความสุขสิ้นกาลนาน ข้อนั้นเพราะเหตุแห่งอะไร
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะธรรมทั้งหลาย อันกุลบุตรเรียนดีแล้ว.
               ส่วนพระขีณาสพผู้มีขันธ์อันกำหนดรู้แล้ว ละกิเลสแล้ว มีมรรคอันเจริญแล้ว มีธรรมไม่กำเริบอันแทงตลอดแล้ว ทำนิโรธให้แจ้งแล้ว ย่อมเรียนปริยัติใด เพื่อรักษาประเพณี เพื่อรักษาวงศ์อย่างเดียว ปริยัตินี้ชื่อว่าภัณฑาคาริกปริยัติ (ปริยัติเปรียบด้วยขุนคลัง) ดังนี้ บัณฑิตพึงทราบประเภทแห่งปริยัติ ๓ อย่าง ในพระไตรปิฎกเหล่านั้น ดังที่กล่าวมาแล้ว.

               ว่าด้วยสมบัติ ๓ ประเภท               
               อนึ่ง ภิกษุผู้ปฏิบัติดีแล้ว (สุปฏิปนฺโน) ในพระวินัยอาศัยสีลสัมปทา ย่อมบรรลุวิชชา ๓ ก็เพราะตรัสประเภทแห่งวิชชา ๓ เหล่านั้นนั่นแหละไว้ในพระวินัยนี้. ภิกษุผู้ปฏิบัติดีแล้วในพระสูตร อาศัยสมาธิสัมปทา ย่อมบรรลุอภิญญา ๖ ก็เพราะตรัสประเภทแห่งสมาธิเหล่านั้นนั่นแหละไว้ในพระสูตรนั้น. ภิกษุผู้ปฏิบัติดีแล้วในพระอภิธรรม อาศัยปัญญาสัมปทา ย่อมบรรลุปฏิสัมภิทา ๔ ก็เพราะตรัสประเภทแห่งปฏิสัมภิทาเหล่านั้นนั่นแหละไว้ในพระอภิธรรมนั้น. ภิกษุผู้ปฏิบัติดีแล้วในพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรมเหล่านี้ ย่อมบรรลุสมบัติอันต่างด้วยวิชชา ๓ อภิญญา ๖ และปฏิสัมภิทา ๔ นี้โดยลำดับ ด้วยประการฉะนี้.

               ว่าด้วยวิบัติ ๓ ประเภท               
               อนึ่ง ภิกษุผู้ปฏิบัติผิดในพระวินัย เป็นผู้มีความสำคัญว่าไม่มีโทษในผัสสะที่มีใจครองเป็นต้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้ามแล้ว โดยความเสมอด้วยสัมผัสมีเครื่องลาดและเครื่องนุ่งห่ม มีสัมผัสเป็นสุขเป็นต้นที่ทรงอนุญาตแล้ว เหมือนคำที่พระอริฏฐะกล่าวว่า เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงแล้ว โดยประการที่ธรรมทั้งหลายอันกระทำอันตรายที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วนี้ ไม่สามารถทำอันตรายแก่ผู้เสพอยู่ได้๑- ดังนี้ ต่อจากนั้น เธอก็ถึงความเป็นผู้ทุศีล.
               ภิกษุผู้ปฏิบัติผิดในพระสูตร ไม่รู้คำอธิบาย เหมือนในประโยคมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกเหล่านี้มีอยู่ มีปรากฏอยู่ในโลก ดังนี้ ย่อมถือเอาผิด ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาตรัสไว้ว่า บุคคลมีอัตตาอันถือเอาผิด ย่อมกล่าวตู่เราด้วย ย่อมขุด (ทำลาย) ซึ่งตนด้วย และย่อมประสบสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมากด้วย ดังนี้ ต่อจากนั้น เธอก็ถึงความเป็นมิจฉาทิฏฐิ.
               ภิกษุผู้ปฏิบัติผิดในพระอภิธรรมจะวิจารธรรมเกินไป ย่อมคิดแม้สิ่งที่ไม่ควรคิด (อจินไตย) ต่อจากนั้น ก็จะถึงความฟุ้งซ่านแห่งจิต สมกับพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ เหล่านี้ บุคคลไม่ควรคิด ซึ่งเมื่อคิดอยู่ ก็พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า แห่งความคับแค้น๒- ดังนี้.
               ภิกษุผู้ปฏิบัติผิดในพระไตรปิฎกนี้ ย่อมถึงความวิบัติอันต่างด้วยความเป็นผู้ทุศีล ความเป็นมิจฉาทิฏฐิ และความฟุ้งซ่านแห่งจิตนี้ โดยลำดับด้วยประการฉะนี้.
               ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ คาถาแม้นี้ก็เป็นอันข้าพเจ้ากล่าวแล้วว่า
                                   ภิกษุย่อมบรรลุประเภทแห่งปริยัติ
                         สมบัติ และแม้วิบัติอันใด ในปิฎกใด โดย
                         ประการใด พึงเจริญเนื้อความแม้นั้น
                         ทั้งหมด ด้วยประการนั้น.
               บัณฑิต ครั้นทราบปิฎกทั้งหลายโดยประการต่างๆ ด้วยอาการอย่างนี้ แล้วพึงทราบพุทธพจน์แม้ทั้งหมดที่ประมวลมาด้วยสามารถแห่งปิฎกเหล่านั้นว่า เป็นปิฎก ๓ ดังนี้.
____________________________
๑- วินย. เล่ม ๒/ข้อ ๖๖๒/หน้า ๔๓๑
๒- องฺ จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๗๗/หน้า ๑๐๔.


               พุทธพจน์มี ๕ นิกาย               
               พระพุทธพจน์ว่าโดยนิกาย มี ๕ นิกาย อย่างไร? จริงอยู่ พระพุทธพจน์ นั้น แม้ทั้งหมดมี ๕ ประเภท คือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย ขุททกนิกาย.

               ว่าโดยทีฆนิกาย ๓๔ สูตร               
               บรรดานิกายทั้ง ๕ นั้น ทีฆนิกายเป็นไฉน? พระสูตร ๓๔ สูตรมีพรหมชาลสูตรเป็นต้น รวบรวมไว้ ๓ วรรค เรียกว่า ทีฆนิกาย ดังคาถาที่ท่านประพันธ์ไว้ว่า
                                   พระสูตร ๓๔ สูตรเท่านั้น มี ๓ วรรค
                         ท่านรวบรวมไว้สำหรับนิกายใด นิกายนั้น
                         ชื่อว่า ทีฆนิกาย นับตามลำดับ เป็นนิกาย
                         ที่หนึ่ง.
               ถามว่า เพราะเหตุไร นิกายที่หนึ่งนี้ จึงเรียกว่า ทีฆนิกาย?
               ตอบว่า เพราะเป็นที่ประชุม และเป็นที่อาศัยอยู่แห่งพระสูตรทั้งหลายขนาดยาว.
               จริงอยู่ ที่เป็นที่ประชุม หรือที่เป็นที่อาศัยอยู่ ก็เรียกว่า นิกาย. ก็ในข้อนี้มีคำสาธก (ตัวอย่าง) ทั้งทางพระศาสนาและทางโลก ดังในประโยคมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่พิจารณาเห็นนิกายอื่นแม้สักอย่างหนึ่งที่วิจิตร เหมือนพวกสัตว์เดียรัจฉานนี้ คือ นิกายของสัตว์เล็กๆ ที่รวมกันอยู่ ๑ นิกายของสัตว์ที่อยู่ตามโคลนตม ๑. และพึงทราบเนื้อความแห่งถ้อยคำในความเป็นนิกายแม้แห่งนิกาย (๔ นิกาย) ที่เหลือ โดยประการที่กล่าวมาแล้ว.

               ว่าโดยมัชฌิมนิกาย ๑๕๒ สูตร               
               มัชฌิมนิกาย เป็นไฉน? พระสูตร ๑๕๒ สูตรมีมูลปริยายสูตรเป็นต้น ท่านรวบรวมไว้ ๑๕ วรรค เป็นพระสูตรขนาดปานกลาง ชื่อว่ามัชฌิมนิกาย ดังคาถาที่ท่านประพันธ์ไว้ว่า
                                   พระสูตร ๑๕๒ สูตร มีในนิกายใด
                         นิกายนั้น ชื่อว่า มัชฌิมนิกาย ท่านรวบรวม
                         ไว้ ๑๕ วรรค.

               ว่าโดยสังยุตตนิกายเป็นต้น               
               สังยุตตนิกาย เป็นไฉน? พระสูตร ๗,๗๖๒ สูตรมีโอฆตรณสูตรเป็นต้น ที่จัดตั้งไว้ด้วยสามารถแห่งเทวตาสังยุตเป็นต้น เรียกว่าสังยุตตนิกาย ดังคาถาที่ท่านประพันธ์ไว้ว่า
                                   พระสูตร ๗,๗๖๒ สูตร มีในนิกายใด
                         นิกายนั้น ท่านรวบรวมไว้เป็นสังยุตตนิกาย.

               อังคุตตรนิกาย               
               อังคุตตรนิกาย เป็นไฉน? พระสูตร ๙,๕๕๗ สูตรมีจิตตปริยาทานสูตรเป็นต้น ซึ่งจัดตั้งไว้ด้วยสามารถแห่งถ้อยคำเกินหนึ่งแห่ง ส่วนหนึ่งๆ ขึ้นไปทีละข้อ ดังคาถาที่ประพันธ์ไว้ว่า
                                   พระสูตรในอังคุตตรนิกาย จำนวน ๙,๕๕๗ สูตร
                         มีในนิกายใด นิกายนั้น ชื่อว่าอังคุตตรนิกาย.

               ขุททกนิกาย               
               ขุททกนิกาย เป็นไฉน? คือ วินัยปิฎก อภิธรรมปิฎก และปาฐะ ๑๕ ประเภทมีธัมมบทขุททกปาฐะเป็นต้นทั้งหมด ที่แสดงไว้ก่อนแล้ว เว้นพระพุทธพจน์ที่เหลือคือนิกาย ๔ (มีทีฆนิกายเป็นต้น) ชื่อว่า ขุททกนิกาย. ดังคาถาที่ท่านประพันธ์ไว้ว่า
                                   ยกเว้นนิกาย ๔ มีทีฆนิกายเป็นต้นเหล่านี้
                         พระพุทธพจน์อื่นจากนั้น มีอยู่แก่นิกายใด นิกายนั้น
                         บัณฑิตเรียกว่า ขุททกนิกาย.
               นิกาย ๕ อย่าง ย่อมมีด้วยสามารถแห่งนิกายอย่างนี้.

               พระพุทธพจน์มีองค์ ๙               
               พระพุทธพจน์มีองค์ ๙ อย่างไร? จริงอยู่ พระพุทธพจน์นี้แม้ทั้งหมด มี ๙ ประเภท คือ สุตตะ เคยยะ ไวยากรณ์ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ.
               บรรดาองค์ทั้ง ๙ นั้น อุภโตวิภังค์ นิทเทส ขันธกะ ปริวาร พระสูตรในสุตตนิบาตมีมงคลสูตร รัตนสูตร นาลกสูตรและตุวฏกสูตรเป็นต้น และพระดำรัสของพระตถาคตเจ้า แม้อื่นที่มีชื่อว่า สุตตันตะ (เหล่านี้) พึงทราบว่า เป็นสุตตะ. พระสูตรที่มีคาถาแม้ทั้งหมด พึงทราบว่า เป็นเคยยะ ว่าโดยพิเศษ ได้แก่ สคาถวรรคทั้งสิ้น ในสังยุตตนิกาย เป็นเคยยะ. พระอภิธรรมปิฎกแม้ทั้งหมด พระสูตรที่ไม่มีคาถา และพุทธพจน์อื่นที่ไม่ประกอบด้วยองค์ ๘ พึงทราบว่า เป็นไวยากรณ์. ธรรมบท เถรคาถา เถรีคาถาและคาถาล้วนๆ อันไม่มีชื่อว่าสูตรในสุตตนิบาต พึงทราบว่า เป็นคาถา. พระสูตร ๘๒ สูตรอันปฏิสังยุตด้วยคาถาที่สำเร็จด้วยโสมนัสสญาณ พึงทราบว่า เป็นอุทาน. พระสูตร ๑๑๐ สูตรที่เป็นไปโดยนัยมีอาทิว่า วุตฺตญฺเหตํ ภควตา (จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระดำรัสนี้) พึงทราบว่าเป็นอิติวุตตกะ.
               ชาดก ๕๕๐ ชาดกมีอปัณณกชาดกเป็นต้น พึงทราบว่าเป็นชาดก. พระสูตรที่ปฏิสังยุตด้วยอัจฉริยอัพภูตธรรมแม้ทั้งหมดที่เป็นไปโดยนัยมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อัพภูตธรรมที่น่าอัศจรรย์ ๔ ประการเหล่านี้ มีอยู่ในพระอานนท์ พึงทราบว่า เป็นอัพภูตธรรม. พระสูตรที่มีผู้ทูลถามแล้ว ได้แล้วได้อีกซึ่งความรู้และความยินดีแม้ทั้งหมดมีจูลเวทัลลสูตร มหาเวทัลลสูตร สัมมาทิฏฐิสูตร สักกปัญหสูตร สังขารภาชนียสูตรและมหาปุณณมสูตรเป็นต้น พึงทราบว่าเป็นเวทัลละ. เมื่อว่าโดยองค์ พระพุทธพจน์มีองค์ ๙ ด้วยประการฉะนี้.

               พระพุทธพจน์ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์               
               พระพุทธพจน์ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เป็นไฉน? จริงอยู่ พระพุทธพจน์ทั้งหมดนี้แหละมี ๘๔,๐๐๐ ประเภท ด้วยสามารถแห่งพระธรรมขันธ์ที่พระอานนท์รวบรวมแสดงไว้อย่างนี้ว่า
                                   ธรรมทั้งหลายที่ดำรงอยู่ของข้าพเจ้า
                         ข้าพเจ้าเรียนมาจากพระพุทธเจ้า ๘๒,๐๐๐
                         จากพระภิกษุ ๒,๐๐๐ รวมเป็น ๘๔,๐๐๐
                         พระธรรมขันธ์.๑-
               บรรดาพุทธพจน์เหล่านั้น พระสูตรมีอนุสนธิหนึ่ง เรียกว่าธรรมขันธ์หนึ่ง. พระสูตรใดมีหลายอนุสนธิ ก็นับจำนวนธรรมขันธ์ตามอนุสนธิในพระสูตรนั้นในการประพันธ์เป็นคาถา การถามปัญหาเป็นธรรมขันธ์หนึ่ง การวิสัชนาก็เป็นธรรมขันธ์หนึ่ง. ในพระอภิธรรม การจำแนกติกะและทุกะแต่ละหมวดและการจำแนกวารจิตแต่ละอย่างก็เป็นธรรมขันธ์หนึ่ง. ในพระวินัยมีวัตถุ มาติกา บทภาชนีย์ อาบัติ อนาบัติ อันตราบัติ การกำหนดติกะ ธรรมที่เป็นอเตกิจฉะที่เป็นสเตกิจฉะ ในวัตถุเป็นต้นเหล่านี้แต่ละส่วนพึงทราบว่า เป็นธรรมแต่ละธรรมขันธ์. ว่าโดยพระธรรมขันธ์ พึงทราบว่าเป็นพระธรรมขันธ์ ๘๔,๐๐๐ ธรรม ด้วยอาการอย่างนี้.
____________________________
๑- ขุ. เถร. เล่ม ๒๖/ข้อ ๓๙๗/หน้า ๔๐๕

               พระพุทธพจน์ในเวลาทำปฐมสังคีติ               
               พระพุทธพจน์แม้ทั้งหมดนั้น โดยประการตามที่กล่าวแล้วนั่นแหละ อันหมู่สงฆ์ผู้มีวสีมีพระมหากัสสปะเป็นประมุข เมื่อจะสังคายนาในเวลาทำปัญจสติกสังคีติ ได้สังคายนากำหนดประเภทชัดลงไปดังนี้ นี้เป็นปฐมพุทธพจน์ นี้เป็นมัชฌิมพุทธพจน์ นี้เป็นปัจฉิมพุทธพจน์ นี้เป็นวินัยปิฎก นี้เป็นสุตตันตปิฎก นี้เป็นอภิธรรมปิฎก นี้เป็นทีฆนิกาย ฯลฯ นี้เป็นขุททกนิกายเหล่านี้เป็นนวังคสัตถุศาสน์ซึ่งมีสุตตะเป็นต้น เหล่านี้เป็นพระธรรมขันธ์มี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ดังนี้.
               อนึ่ง พระเถระเหล่านั้นมิได้กำหนดเพียงประเภทที่กล่าวนี้เท่านั้น ยังได้กำหนดประเภทสังคหะแม้อื่นๆ ซึ่งปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกทั้ง ๓ มิใช่น้อย มีอาทิเช่น อุทานสังคหะ (หมวดอุทาน) วรรคสังคหะ เปยยาลสังคหะ นิปาตสังคหะ หมวดนิบาตมีเอกนิบาต ทุกนิบาตเป็นต้น สังยุตตสังคหะและปัณณาสสังคหะเป็นต้น สังคายนาแล้วอย่างนี้สิ้น ๗ เดือน.
               ก็ในการอวสานแห่งการสังคายนาพระพุทธพจน์นั้น มหาปฐพีนี้ได้สั่นสะเทือน เลื่อนลั่น หวั่นไหว มีประการมิใช่น้อยหยั่งลงไปถึงน้ำรองแผ่นดินเป็นที่สุด เป็นดุจมีความปราโมทย์อันเกิดขึ้นพร้อมแล้วให้อยู่ซึ่งสาธุการว่า จงดูศาสนาของพระทศพลนี้ อันพระมหากัสสปเถระกระทำให้สามารถเพื่อเป็นไปตลอดกาลประมาณ ๕,๐๐๐ ปี และได้เกิดมหัศจรรย์ทั้งหลายอเนกประการ.

               ว่าโดยเฉพาะอภิธรรม               
               ก็ในปิฎกนี้ เมื่อพระเถระทั้งหลายสังคายนาพระพุทธพจน์แล้วอย่างนี้ พระอภิธรรมนี้ เมื่อว่าโดยปิฎก เป็นอภิธรรมปิฎก เมื่อว่าโดยนิกาย เป็นขุททกนิกาย เมื่อว่าโดยองค์ เป็นไวยากรณ์ เมื่อว่าโดยธรรมขันธ์ เป็นธรรมขันธ์ หลายพันธรรมขันธ์ (๒๒,๐๐๐ ธรรมขันธ์). บรรดาภิกษุทั้งหลายผู้ทรงพระอภิธรรมนั้น ในกาลก่อนมีภิกษุรูปหนึ่งนั่งอยู่ในที่ประชุมบริษัท เมื่อจะนำสูตรจากพระอภิธรรมมากล่าว ได้กล่าวธรรมกถาว่า รูปขันธ์เป็นอัพยากตะ ขันธ์ ๔ เป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี เป็นอัพยากตะก็มี อายตนะ ๑๐ เป็นอัพยากตะ อายตนะ ๒ เป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี เป็นอัพยากตะก็มี ธาตุ ๑๖ เป็นอัพยากตะ ธาตุ ๒ เป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี เป็นอัพยากตะก็มี สมุทัยสัจจะเป็นอกุศล มรรคสัจจะเป็นกุศล นิโรธสัจจะเป็นอัพยากตะ ทุกขสัจจะเป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี เป็นอัพยากตะก็มี อินทรีย์ ๑๐ เป็นอัพยากตะ โทมนัสสินทรีย์เป็นอกุศล อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์เป็นกุศล อินทรีย์ ๔ เป็นกุศลก็มี เป็นอัพยากตะก็มี อินทรีย์ ๖ เป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี เป็นอัพยากตะก็มี ดังนี้.
               ภิกษุรูปหนึ่งซึ่งนั่งอยู่ในที่นั้น ได้ถามพระธรรมกถึกว่า ดูก่อนท่านธรรมกถึก ท่านนำสูตรมายาวเหมือนจะเอามาล้อมเขาสิเนรุ สูตรนี้มีชื่อว่าอย่างไรเล่า?
               พระธรรมกถึก : ชื่อว่า พระอภิธรรมสูตร ผู้มีอายุ.
               ภิกษุนั้น : เพราะเหตุไร จึงนำพระอภิธรรมสูตรมา การนำพระสูตรอื่นที่เป็นพุทธภาษิตมา ไม่สมควรหรือ?
               พระธรรมกถึก : พระอภิธรรม ใครภาษิตไว้เล่า?
               ภิกษุนั้น : พระอภิธรรมนี้ ไม่ใช่พุทธภาษิต.
               พระธรรมกถึก : ดูก่อนผู้มีอายุ ก็คุณเรียนพระวินัยปิฎกหรือไม่.
               ภิกษุนั้น : กระผมไม่ได้เรียนขอรับ.
               พระธรรมกถึก : เห็นจะเป็นเพราะคุณไม่ทรงพระวินัย เมื่อไม่รู้จึงกล่าวอย่างนี้.
               ภิกษุนั้น : กระผมเรียนเพียงวินัยเท่านั้นขอรับ.
               พระธรรมกถึก : แม้วินัยนั้นก็เรียนเอาไม่ดี คงจักนั่งเรียนหลับอยู่ที่ท้ายบริษัท หรือว่า เพราะพระอุปัชฌาย์ผู้ให้บุคคลเช่นท่านบรรพชา อุปสมบท เป็นคนด่วนได้ เพราะเหตุไร? เพราะแม้วินัยเธอก็เรียนไม่ดี.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระดำรัสนี้ ในพระวินัยนั้นว่า ภิกษุผู้ไม่ประสงค์จะติเตียนกล่าวตามเหตุว่า นิมนต์ท่านเรียนพระสูตร เรียนคาถาทั้งหลาย หรือเรียนพระอภิธรรมไปก่อน ภายหลังจักเรียนพระวินัย๑- ดังนี้ก็ไม่เป็นอาบัติ ก็แม้คำว่าภิกษุขอโอกาสถามปัญหาในพระสูตร แต่ไพล่ถามอภิธรรมหรือวินัย ขอโอกาสถามปัญหาในพระอภิธรรม แต่ไพล่ถามพระสูตรหรือวินัย ขอโอกาสถามปัญหาในพระวินัย แต่ไพล่ถามพระสูตรหรืออภิธรรม ดังนี้ มีประมาณเท่านี้ ท่านก็ย่อมไม่รู้ พระธรรมกถึกนั้นจึงเป็นอันข่มปรวาทีได้ ด้วยถ้อยคำแม้ประมาณเท่านี้.
               ก็มหาโคสิงคสูตร เป็นสูตรสำคัญกว่าสูตรแม้นี้ เพราะเหตุที่เป็นพุทธภาษิต.
               จริงอยู่ ในมหาโคสิงคสูตรนั้น พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อกราบทูลปัญหาที่ถามและคำวิสัชนากะกันและกัน เมื่อจะบอกคำวิสัชนาของพระมหาโมคคัลลานเถระ จึงกราบทูลว่า พระมหาโมคคัลลานเถระกล่าวว่า ท่านสารีบุตร ภิกษุสองรูปในพระธรรมวินัยนี้ กล่าวอภิธรรมกถา เธอทั้งสองนั้นย่อมถามปัญหากันแล้ว ย่อมช่วยกันแก้ ไม่ขัดแย้งกัน และธรรมีกถาของเธอทั้งสองนั้นย่อมเป็นไปได้ดี ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล๒- ดังนี้.
               พระศาสดาไม่ตรัสว่า ขึ้นชื่อว่า พระผู้ทรงพระอภิธรรมเป็นผู้อยู่ภายนอกศาสนาของเรา ดังนี้ แต่ทรงยกพระศอขึ้น ดุจพระสุวรรณภิงคาร (พระเต้าทอง) เมื่อจะยังเนื้อความนั้นให้สมบูรณ์ ด้วยพระโอษฐ์อันมีสิริดังพระจันทร์เพ็ญ จึงทรงเปล่งพระสุรเสียงอันก้องกังวานดุจเสียงของพระพรหม ประทานสาธุการถึงพระมหาโมคคัลลานเถระว่า ดีละๆ สารีบุตร ดังนี้ แล้วตรัสว่า ก็โมคคัลลานะเมื่อจะพยากรณ์โดยชอบ ก็พึงพยากรณ์ตามนั้น ดูก่อนสารีบุตร ด้วยว่าโมคคัลลานะเป็นธรรมกถึก ดังนี้.
____________________________
๑- วินย. เล่ม ๒/ข้อ ๖๘๘/หน้า ๔๕๔
๒- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๓๗๔/หน้า ๔๐๑

               ภิกษุผู้ทรงอภิธรรมชื่อว่าพระธรรมกถึก               
               จริงอยู่ ได้ยินว่า ภิกษุผู้ทรงพระอภิธรรมเท่านั้น ชื่อว่าพระธรรมกถึก นอกจากนี้แม้กล่าวธรรม ก็ไม่ใช่เป็นพระธรรมกถึก เพราะเหตุไร เพราะว่า ภิกษุผู้ไม่ทรงพระอภิธรรมเหล่านั้นเมื่อกล่าวธรรม ย่อมกล่าวลำดับกรรม ลำดับวิบาก กำหนดรูปอรูป ลำดับธรรมให้สับสน ส่วนภิกษุผู้ทรงพระอภิธรรมย่อมไม่ให้ลำดับธรรมสับสน เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้ทรงพระอภิธรรม จะกล่าวธรรมหรือมิได้กล่าวก็ตาม แต่ในเวลาที่เธอถูกถามปัญหาแล้วก็จักกล่าวแก้ปัญหานั้นได้ พระศาสดาทรงหมายถึงคำนี้ว่า ภิกษุผู้ทรงพระอภิธรรมนี้เท่านั้น ชื่อว่าเป็นพระธรรมกถึกอย่างยิ่ง ดังนี้ จึงทรงประทานสาธุการแล้วตรัสว่า โมคคัลลานะกล่าวดีแล้ว ดังนี้.

               ผู้คัดค้านพระอภิธรรมชื่อว่า ทำลายชินจักร               
               บุคคลเมื่อคัดค้านพระอภิธรรม ชื่อว่า ย่อมให้การประหารในชินจักรนี้ ย่อมคัดค้านพระสัพพัญญุตญาณ ย่อมหมิ่นเวสารัชชญาณของพระศาสดา ย่อมขัดแย้งบริษัทผู้ต้องการฟัง ย่อมผูกเครื่องกั้นอริยมรรค จักปรากฏในเภทกรวัตถุ ๑๘ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นผู้ควรแก่อุกเขปนิยกรรม นิยสกรรม ตัชชนียกรรม เพราะทำกรรมนั้น จึงควรส่งเธอไปว่า เจ้าจงไป จงเป็นคนกินเดนเลี้ยงชีพเถิด ดังนี้.

               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ มาติกา ติกมาติกา ๒๒ ติกะ
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]
อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 34 / 2อ่านอรรถกถา 34 / 970
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=34&A=1&Z=103
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=53&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=53&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๙  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :