ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 190อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 191อ่านอรรถกถา 34 / 192อ่านอรรถกถา 34 / 970
อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์
จิตตุปปาทกัณฑ์ กุศลธรรม รูปาวจรกุศล อสุภฌาน ๑๐

               อธิบายอสุภฌาน               
               ว่าด้วยรูปาวจรกุศล               
               บัดนี้ เพื่อแสดงรูปาวจรกุศลที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลสมควรแก่สัตว์ผู้มีราคจริต ซึ่งเป็นไปด้วยอำนาจฌานเดียวในอารมณ์ต่างๆ นั่นแหละ จึงทรงเริ่มคำเป็นอาทิว่า กตเม ธมฺมา กุสลา ดังนี้อีก.
               บรรดาบทเหล่านั้น พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า อุทฺธุมาตกสญฺญาสหคตํ (สหรคตด้วยอุทธุมาตกสัญญา) เป็นต้นต่อไป.
               ซากศพ ชื่อว่าอุทธุมาตะ เพราะพองขึ้นโดยความพองอืดขึ้นตามลำดับเพราะสิ้นชีวิต เหมือนลูกหนังพองด้วยลมฉะนั้น. ซากศพที่ชื่อว่าอุทธุมาตะนั่นเอง ชื่อว่าอุทธุมาตกะ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอุทธุมาตกะ เพราะอรรถว่าเป็นซากศพพองขึ้นน่าเกลียด เพราะเป็นของปฏิกูล คำว่าอุทธุมาตกะ นี้เป็นชื่อของซากศพอย่างนั้น. ซากศพที่มีผิวแตกออกโดยประการต่างๆ (ที่เน่า) ท่านเรียกว่าวินีลกะ ซากศพที่ชื่อว่าวินีละนั่นเอง ชื่อว่าวินีลกะ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าวินีลกะ เพราะเป็นของน่าเกลียดมีสีเขียวคล้ำเพราะปฏิกูล. ก็คำว่า วินีลกะ นี้เป็นชื่อของซากศพที่มีสีแดงในที่มีเนื้อมาก มีสีขาวในที่บ่มด้วยน้ำหนอง และมีสีเขียวโดยมากในที่สีเขียว เช่นกับคลุมด้วยผ้าสีเขียว.
               ซากศพที่มีน้ำหนองอันไหลออกไปในที่แตกออกแล้ว ชื่อว่าวิปุพพะ (น้ำหนองไหลออก) ซากศพที่มีน้ำหนองไหลออกนั่นเอง ชื่อว่าวิปุพพกะ.
               อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่าวิปุพพกะ เพราะอรรถว่าน่าเกลียด มีน้ำหนองไหลออกเพราะเป็นของปฏิกูล. คำว่า วิปุพพกะ นี้เป็นชื่อของซากศพที่เป็นเช่นนั้น.
               ซากศพที่ขาดเป็น ๒ ท่อน เรียกว่าวิฉิททะ ซากศพที่ชื่อว่าวิฉิททะนั่นเอง ชื่อว่าวิฉิททกะ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าวิฉิททกะ เพราะอรรถว่าน่าเกลียดเป็นท่อนต่างๆ เพราะเป็นของปฏิกูล. คำว่า วิฉิททกะ นี้เป็นชื่อของซากศพที่ขาดในท่ามกลาง.
               ซากศพทั้งหลายที่มีสุนัข บ้านและสุนัขจิ้งจอกกัดกินโดยอาการต่างๆ โดยกระจัดกระจายไป ชื่อว่า วิกขายิตะ ซากศพที่ชื่อว่าวิกขายิตะนั่นเอง ชื่อว่าวิกขายิตกะ.
               อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่าวิกขายิตกะ เพราะอรรถว่าเป็นของน่าเกลียด เป็นของสัตว์กัดกิน เพราะเป็นของปฏิกูล. คำว่า วิกขายิตกะ นี้เป็นชื่อของซากศพเช่นนั้น.
               ซากศพที่กระจัดกระจายไป ชื่อว่าวิกขิตตะ ซากศพที่ชื่อว่าวิกขิตตกะนั่นเอง ชื่อว่าวิกขิตตกะ.
               อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่าวิกขิตตกะ เพราะอรรถว่าเป็นของน่าเกลียด เป็นของกระจัดกระจายไป เพราะเป็นของปฏิกูล. คำว่า วิกขิตตกะ นี้เป็นชื่อซากศพที่กระจัดกระจายไปแต่ที่นั้นๆ อย่างนี้คือ มือไปทางหนึ่ง เท้าไปทางหนึ่ง ศีรษะไปทางหนึ่ง.
               ซากศพที่ถูกฟันยับเยิน กระจัดกระจายโดยนัยก่อนนั่นแหละ ชื่อว่าหตวิกขิตตกะ คำว่า หตวิกขิตตกะนี้ เป็นชื่อของซากศพที่ถูกสับฟันด้วยศัสตราในอวัยวะน้อยใหญ่ โดยอาการดังเพียงกากบาทกระจัดกระจายโดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ.
               ซากศพที่มีโลหิตหยดเรี่ยราดไหลไปข้างโน้นข้างนี้ ชื่อว่าโลหิตกะ. คำว่า โลหิตกะ นี้เป็นชื่อของซากศพที่เปื้อนโลหิตไหลไป.
               หมู่หนอนทั้งหลาย ท่านเรียกว่าปุลุวา ซากศพที่เกลื่อนไปด้วยหมู่หนอนชอนไช ชื่อว่าปุลุวกะ. คำว่า ปุลุวกะ นี้เป็นชื่อของซากศพที่เต็มไปด้วยหมู่หนอน.
               ซากศพที่มีกระดูกเท่านั้น เรียกว่าอัฏฐิกะ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอัฏฐิกะ เพราะอรรถว่าเป็นกระดูกอันน่าเกลียด เพราะเป็นของปฏิกูล คำว่า อัฏฐิกะนี้ เป็นชื่อของซากศพที่มีร่างกระดูกบ้าง มีกระดูกท่อนหนึ่งบ้าง ก็ซากศพเหล่านี้แหละเป็นชื่อของนิมิตที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยซากศพที่ขึ้นพองเป็นต้นเหล่านี้บ้าง ของฌานที่ได้ในนิมิตทั้งหลายบ้าง.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า อุทธุมาตกสัญญา เป็นต้นเหล่านั้นต่อไป.
               สัญญาที่เกิดขึ้นด้วยสามารถอัปปนาในซากศพที่ขึ้นพองเป็นนิมิต ชื่อว่าอุทธุมาตกสัญญา. จิตที่สหรคตด้วยอุทธุมาตกสัญญานั้น เพราะอรรถว่าเป็นสัมปโยคะ ชื่อว่าอุทธุมาตกสัญญาสหคตะ แม้ในจิตที่สหรคตด้วยวินีลกสัญญาเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               แต่ในอธิการแห่งอสุภะนี้ วิธีเจริญอันใดที่พึงกล่าว วิธีเจริญนั้นข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค แม้โดยประการทั้งปวง การพรรณนาพระบาลีที่เหลือ พึงทราบโดยนัยที่กล่าวไว้แล้วนั่นแหละ ก็ในอสุภะนี้ แต่ละหมวดมีหมวดละ ๒๕ ด้วยอำนาจแห่งปฐมฌานอย่างเดียว เหมือนในอุเบกขาพรหมวิหารมีด้วยอำนาจจตุตถฌาน เพราะความที่อารมณ์ที่เป็นอสุภะไม่พึงขยาย. อารมณ์นิมิตที่เกิดขึ้นในที่ซากศพอุทธุมาตกะมีเล็กน้อย พึงทราบว่าเป็นปริตตารมณ์ ที่เกิดขึ้นในอุทธุมาตกะอันใหญ่เป็นอัปปมาณารมณ์ แม้ในอสุภะที่เหลือ ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               (บาลีปกิณณกกถาว่า)
                                        อิติ อสุภานิ สุภคุโณ
                                        ทสสตโลจเนน ถุติกิตฺติ
                                        ยานิ อโวจ ทสพโล
                                        เอเกกชฺฌานเหตูนิ.
                         เอวํ ปาลินเยเนว ตาว สพฺพานิ ตานิ ชานิตฺวา
                         เตเสฺว อยํ ภิยฺโย ปกิณฺณกกถาปิ วิญฺเญยฺยา.
                                        พระผู้มีพระภาคเจ้าทศพลทรงพระคุณอันงาม
                         ทรงพระเกียรติ ควรแก่การสรรเสริญ ด้วยการแลเห็นตั้งพัน
                         ได้ตรัสอสุภะทั้งหลาย อันเป็นเหตุแห่งฌานแต่ละอย่างไว้
                         ด้วยประการฉะนี้.
                                        บัณฑิตทราบอสุภะทั้งหมดเหล่านั้น โดยนัย
                         แห่งพระบาลีอย่างนี้ก่อนแล้ว พึงทราบแม้กถาเบ็ดเตล็ด
                         นี้ในอสุภะเหล่านั้นนั่นแหละให้ยิ่งขึ้นไป.

               จริงอยู่ บุคคลย่อมปราศจากความประพฤติโลเล (ความดิ้นรน) ได้ ในเพราะอสุภะใดอสุภะหนึ่งในบรรดาอสุภะเหล่านั้น เหมือนผู้มีราคะไปปราศแล้ว เพราะความที่ราคะอันตนข่มไว้ในฌานที่บรรลุแล้ว แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น ประเภทแห่งอสุภะนี้ใด ประเภทแห่งอสุภะนั้น พึงทราบว่า ตรัสไว้โดยการถึงความเป็นไปเองแห่งซากศพ และด้วยอำนาจแห่งการทำลายราคจริต เพราะซากศพเมื่อความเป็นของปฏิกูล ก็จะพึงถึงสภาพขึ้นพองของซากศพ หรือถึงสภาพเป็นซากศพอย่างใดอย่างหนึ่งมีสีเขียวคล้ำเป็นต้น ด้วยเหตุนี้ กุลบุตรพึงกำหนดนิมิตในอสุภะอย่างใดเท่าที่จะหาได้อย่างนี้ว่า ซากศพที่พองขึ้นเป็นของปฏิกูล ซากศพที่มีสีเขียวคล้ำเป็นของปฏิกูลเป็นต้น พึงทราบว่า ตรัสประเภทอสุภะ ๑๐ อย่าง ด้วยสามารถการถึงความเป็นเองของซากศพดังนี้.

               ว่าด้วยสัปปายะ ๑๐ อย่าง               
               อนึ่ง ว่าโดยความแปลกกันในอสุภะ ๑๐ เหล่านั้น ซากศพที่เป็นอุทธุมาตกะ (พองขึ้น) เป็นสัปปายะแก่บุคคลผู้ยินดีในสรีรสัณฐาน เพราะประกาศความพิบัติของสรีรสัณฐาน. ซากศพที่มีสีเขียวคล้ำเป็นสัปปายะแก่บุคคลผู้ยินดีในสรีรวรรณะ เพราะประกาศความพิบัติความยินดีในผิว. ซากศพที่มีน้ำหนองไหลเป็นสัปปายะแก่บุคคลผู้ยินดีในกลิ่นแห่งสรีระที่ปรุงแต่งขึ้นด้วยดอกไม้และของหอมเป็นต้น เพราะประกาศความเป็นกลิ่นเหม็นอันเนื่องด้วยชนิดของศพ. ซากศพที่ถูกตัดเป็นท่อนเป็นสัปปายะแก่บุคคลผู้ยินดีในความเป็นฆนะ (แท่ง) แห่งสรีระ เพราะประกาศความโพรงแห่งกายในภายใน. ซากศพที่ถูกสัตว์แทะกินเป็นสัปปายะแก่บุคคลผู้ยินดีในที่มีเนื้อนูนในส่วนแห่งร่างกายมีถันเป็นต้น เพราะประกาศความพินาศแห่งการสมบูรณ์ด้วยเนื้อนูน. ซากศพที่มีอวัยวะกระจัดกระจายไปเป็นสัปปายะแก่บุคคลผู้ยินดีในการเยื้องกรายแห่งอวัยวะน้อยใหญ่ เพราะประกาศความกระจัดกระจายแห่งอวัยวะน้อยใหญ่. ซากศพที่ถูกตัดเป็นท่อนๆ เป็นสัปปายะแก่บุคคลผู้ยินดีในการถึงพร้อมแห่งโครงร่างกาย เพราะประกาศความพิการของโครงร่างกาย. ซากศพที่มีเลือดติดเป็นสัปปายะแก่บุคคลผู้ยินดีในความงดงามอันเกิดแต่การประดับตกแต่ง เพราะประกาศความปฏิกูลโดยการเปื้อนเลือด. ซากศพที่มีหมู่หนอนชอนไชเป็นสัปปายะแก่บุคคลผู้ยินดีในร่างกายว่าเป็นของเรา เพราะประกาศถึงความที่ร่างกายเป็นของสาธารณะแก่ตระกูลหมู่หนอนมิใช่น้อย. ซากศพที่เหลือแต่กระดูกเป็นสัปปายะแก่บุคคลผู้ยินดีในการสมบูรณ์แห่งฟัน เพราะประกาศความเป็นของปฏิกูลแห่งกระดูกในสรีระ พึงทราบว่า ประเภทแห่งอสุภะ ๑๐ อย่าง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แม้ด้วยอำนาจการทำลายราคจริตด้วยประการฉะนี้.
               ก็ในอสุภะ ๑๐ อย่างนี้ จิตจะสงบดำรงอยู่ได้โดยกำลังของวิตกเท่านั้น เว้นวิตกแล้วก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้ เพราะความที่อารมณ์มีกำลังทรามโดยที่เป็นของปฏิกูล เหมือนเรือจอดอยู่ที่แม่น้ำมีกระแสอันไหลเชี่ยวไหลไปย่อมหยุดได้ด้วยกำลังไม้ถ่อเท่านั้น เว้นจากไม้ถ่อก็ไม่อาจจอดอยู่ได้ ฉะนั้น เพราะฉะนั้น ในอสุภกรรมฐานนี้ ย่อมมีเพียงปฐมฌานเท่านั้น ทุติยฌานเป็นต้นหามีได้ไม่.
               อนึ่ง ในอารมณ์แม้เป็นของปฏิกูลนี้ ปีติและโสมนัสก็ย่อมเกิด เพราะความที่พระโยคาวจรเห็นอานิสงส์อย่างนี้ว่า เราจักพ้นจากชราและมรณะเพราะปฏิปทานี้แน่แท้ และเพราะละความเร่าร้อนแห่งนิวรณ์ได้เหมือนคนเทดอกไม้เห็นอานิสงส์ว่า วันนี้เราจักได้ค่าจ้างมาก จึงเกิดปีติโสมนัสในกองคูถ และเหมือนคนมีโรคเป็นทุกข์ เพราะพยาธิที่เกิดขึ้น มีความปีติโสมนัสในการเป็นไปแห่งการถ่ายยา ฉะนั้น.
               ก็อสุภะนี้แม้ทั้ง ๑๐ อย่าง โดยลักษณะก็มีอย่างเดียวเท่านั้น ด้วยว่า อสุภะแม้ ๑๐ อย่างนี้มีความเป็นของปฏิกูลโดยเป็นของไม่สะอาดมีกลิ่นเหม็น น่ารังเกียจเท่านั้นเป็นลักษณะ โดยลักษณะนี้ อสุภะนี้นั้นจึงไม่ปรากฏในสรีระที่ตายแล้วอย่างเดียว ย่อมปรากฏแม้ในร่างกายที่ยังมีชีวิตอยู่ เหมือนพระมหาติสสเถระผู้อยู่ในวิหารเจติยบรรพตเกาะสีหลผู้เห็นกระดูกฟัน และเหมือนปรากฏแก่สามเณรอุปัฏฐาก พระสังฆรักขิตเถระซึ่งแลดูพระราชาผู้ประทับเหนือคอช้าง ฉะนั้น เพราะว่า ร่างกายที่ตายแล้วเป็นอสุภะฉันใด แม้สรีระที่กำลังเป็นอยู่ก็เป็นอสุภะฉันนั้นนั่นแหละ แต่ว่า ในร่างกายที่ยังเป็นอยู่นี้ ลักษณะแห่งอสุภะย่อมไม่ปรากฏ เพราะเครื่องประดับจรมาปิดบังไว้ ฉะนี้แล.
               อสุภกถา จบ.               

               ถามว่า ก็รูปาวจรอัปปนานี้ มีปฐวีกสิณเป็นต้นมีอัฏฐิกสัญญาเป็นปริโยสานเป็นอารมณ์เท่านั้นหรือ หรือแม้อย่างอื่นก็มีอยู่. ตอบว่า แม้อย่างอื่นที่เป็นอารมณ์ก็มีอยู่. แต่ในอภิธรรมนี้ไม่ได้ตรัสอานาปานฌานและกายคตาสติภาวนาไว้ แม้ไม่ตรัสไว้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ท่านก็ระบุถึงวาโยกสิณไว้ จึงเป็นอันระบุถึง แม้อานาปานฌานโดยแท้.
               อนึ่ง เมื่อระบุถึงวรรณกสิณทั้งหลาย ก็เป็นอันระบุถึงกายคตาสติที่เกิดขึ้นด้วยจตุกฌานและปัญจกฌานในโกฏฐาสมีผมเป็นต้น. และในอสุภะ ๑๐ อย่างทรงถือเอาแล้ว กายคตาสติที่เป็นไปด้วยอำนาจแห่งฌานที่มนสิการปฏิกูลในอาการ ๓๒ และด้วยอำนาจแห่งฌานอันเกิดขึ้นแต่วรรณะในป่าช้า ๙ ชนิด ก็ย่อมเป็นอันทรงถือเอาแล้วเหมือนกัน. อัปปนาที่เป็นรูปาวจรแม้ทั้งหมด ย่อมเป็นอันตรัสไว้แล้วในที่นี้ ด้วยประการฉะนี้.
               รูปาวจรกถา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ กุศลธรรม รูปาวจรกุศล อสุภฌาน ๑๐ จบ.
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 190อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 191อ่านอรรถกถา 34 / 192อ่านอรรถกถา 34 / 970
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=34&A=1980&Z=1996
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=53&A=6309
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=53&A=6309
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :