ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 275อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 311อ่านอรรถกถา 34 / 338อ่านอรรถกถา 34 / 970
อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์
จิตตุปปาทกัณฑ์ อกุศลธรรม อกุศลจิต ๑๒ จิตดวงที่ ๒ ถึง ๑๒

               อธิบายอกุศลจิตดวงที่ ๒               
               พึงทราบวินิจฉัยในอกุศลจิตดวงที่ ๒ ต่อไป.
               บทว่า สสงฺขาเรน (โดยมีการชักจูง) เป็นความต่างกัน. คำว่า โดยมีการชักจูงนั้น ข้าพเจ้ากล่าวไว้ในหนหลังนั่นแหละ. ก็อกุศลจิตนี้ย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ประกอบด้วยโสมนัสในอารมณ์ทั้ง ๖ ผู้ยังโลภะให้เกิดขึ้นแล้วถือผิดโดยนัยมีอาทิว่า นี้เป็นสัตว์ นี้เป็นสัตว์ ดังนี้ แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ในกาลใด กุลบุตรปรารถนากุมาริกาของตระกูลมิจฉาทิฏฐิ และตระกูลเหล่านั้นย่อมไม่ให้กุมาริกา โดยอ้างว่า พวกท่านถือทิฏฐิอื่น. แต่ภายหลัง พวกญาติอีกพวกหนึ่งบอกให้ยกให้ ด้วยการตกลงกันว่า พวกท่านจงกระทำสิ่งที่กุลบุตรนี้จักกระทำ ดังนี้ กุลบุตรนั้นพร้อมกับหมู่ญาติจึงพากันเข้าไปหาพวกเดียรถีย์นั่นแหละ ตอนต้นยังเป็นผู้ลังเลอยู่ แต่เมื่อกาลผ่านไปๆ ก็ชอบใจลัทธิ ย่อมถือซึ่งทิฏฐิด้วยคิดว่า กิริยาของพวกเดียรถีย์เหล่านี้เป็นที่ชอบใจ ในกาลเห็นปานนี้ พึงทราบว่า อกุศลจิตนี้ ย่อมได้ ดังนี้ เพราะความเกิดขึ้นโดยสัมปโยคะ (การประกอบพร้อมกัน) พร้อมด้วยอุบาย เพราะความที่อกุศลจิตนั้นเป็นสสังขาริก (มีการชักจูง).
               ส่วนในเยวาปนกธรรมทั้งหลาย ถีนมิทธะเป็นธรรมยิ่งในอกุศลจิตดวงที่ ๒ นี้.
               บรรดาอกุศลธรรมเหล่านั้น ความหดหู่ชื่อว่าถีนะ ความง่วงโงกชื่อว่ามิทธะ. อธิบายว่า ความไม่อุตสาหะ ความไม่สามารถ และความพิฆาต. ถีนะด้วยมิทธะด้วย ชื่อว่าถีนมิทธะ. ในอกุศลทั้งสองนั้น ถีนะมีความไม่อุตสาหะเป็นลักษณะ (อนุสฺสาหนลกฺขณํ) มีการกำจัดวิริยะ เป็นรส (วิริยวิโนทนรสํ) มีความท้อถอยเป็นปัจจุปัฏฐาน (สํสีทนปจฺจุปฏฺฐานํ).
               มิทธะมีความไม่ควรแก่การงานเป็นลักษณะ (อกมฺมญฺญตาลกฺขณํ) มีความมีการปกปิดเป็นรส (โอทหนรสํ) มีความหดหู่เป็นปัจจุปัฏฐาน (ลีนตาปจฺจุปฏฺฐานํ) หรือมีความง่วงโงกและความหลับเป็นปัจจุปัฏฐาน (ปจลายิกนิทฺทาปจฺจุปฏฺฐานํ). ถีนมิทธะแม้ทั้งสองมีมนสิการโดยอุบายไม่แยบคายในสภาวะมีความไม่ยินดี ความเกียจคร้าน และความง่วงเหงาหาวนอนเป็นต้นเป็นปทัฏฐาน.
               อกุศลจิตดวงที่ ๒ จบ.               

               อธิบายอกุศลจิตดวงที่ ๓               
               อกุศลจิตดวงที่ ๓ ย่อมเกิดแก่บุคคลผู้ประกอบด้วยโสมนัสในอารมณ์ทั้ง ๖ ผู้ยังโลภะให้เกิดขึ้น ไม่ยึดถือโดยนัยว่า นี้เป็นสัตว์ นี้เป็นสัตว์ ดังนี้ แลดูอยู่ซึ่งพระราชา มวยปล้ำ การเล่นมีการต่อสู้เป็นต้น หรือมีการขวนขวายในการฟังเสียงที่ชอบใจเป็นต้น ในอธิการแห่งอกุศลดวงที่ ๓ นี้มีองค์ที่เหมือนกัน ๕ องค์ พร้อมกับมานะ.
               ในบรรดาองค์เหล่านั้น สภาวะที่ชื่อว่ามานะ เพราะอรรถว่าย่อมถือตัว. มานะนั้นมีการทรนงตนเป็นลักษณะ (อุนฺนติลกฺขโณ) มีการยกย่องสัมปยุตธรรมเป็นรส (สมฺปคฺคหนรโส) มีความปรารถนาดุจธงเป็นปัจจุปัฏฐาน (เกตุกมฺยตาปจฺจุปฏฺฐาโน) มีโลภะ ไม่ประกอบด้วยทิฏฐิเป็นปทัฏฐาน (ทิฏฐิวิปฺปยุตฺโลภปทฏฺฐาโน) พึงทราบว่า เหมือนคนบ้า.
               อกุศลจิตดวงที่ ๓ จบ.               

               อธิบายอกุศลจิตดวงที่ ๔               
               อกุศลจิตดวงที่ ๔ ย่อมเกิดขึ้นในฐานะมีประการดังกล่าวนั่นแหละคือ ในฐานะทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ในกาลใด พวกชนย่อมถ่มเขฬะไปหรือโปรยฝุ่นเท้าไปบนศีรษะ ในกาลนั้น อกุศลจิตดวงที่ ๔ ย่อมเกิดแก่บุคคลทั้งหลายผู้แลดูในระหว่างๆ โดยเป็นไปกับด้วยอุตสาหะเพื่อหลบหลีกเขฬะและฝุ่นเท้านั้น และย่อมเกิดแก่บุคคลทั้งหลายผู้แลดูตามช่องนั้นๆ เมื่อความวุ่นวายเป็นไปในเมื่อตัวละครหลวงกำลังออกมา ดังนี้.
               ในอกุศลจิตดวงที่ ๔ นี้ มีเยวาปนกธรรม ๗ กับมานะถีนมิทธะ แม้อรรถแห่งอกุศลจิตทั้งสอง คืออกุศลจิตดวงที่ ๓ และที่ ๔ ย่อมลดมิจฉาทิฏฐิ พึงทราบการนับธรรมด้วยสามารถธรรมที่เหลือเว้นทิฏฐินั่นแล.
               อกุศลจิตดวงที่ ๔ จบ.               

               อธิบายอกุศลจิตดวงที่ ๕               
               อกุศลจิตดวงที่ ๕ ย่อมเกิดแก่บุคคลผู้มัชฌัตตะ (วางเฉย) ด้วยสามารถแห่งเวทนาในอารมณ์ทั้ง ๖ ผู้ยังโลภะให้เกิด ผู้ยึดถืออยู่โดยนัยมีอาทิว่า นี้เป็นสัตว์ นี้เป็นสัตว์. ก็ในอกุศลจิตดวงที่ ๕ นี้ อุเบกขาเวทนาย่อมมีในที่โสมนัส (แทนโสมนัสเวทนา) ย่อมลดบทปีติ. คำที่เหลือทั้งหมดเป็นเหมือนอกุศลจิตดวงที่หนึ่งแล.
               อกุศลจิตดวงที่ ๕ จบ.               

               อธิบายอกุศลจิตดวงที่ ๖, ๗, ๘               
               แม้อกุศลจิตดวงที่ ๖ ที่ ๗ และที่ ๘ พึงทราบโดยนัยที่กล่าวไว้ในอกุศลจิตดวงที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ นั่นแหละโดยเปลี่ยนเวทนาและลดบทปีติ. อธิปติ แม้ทั้ง ๒ คือ สหชาตาธิปติและอารัมมณาธิปติ ย่อมได้ในจิตสหรคตด้วยโลภะ ๘ ดวง เหล่านี้.
               โลภมูลจิต ๘ ดวงจบ.               

               อธิบายอกุศลจิตดวงที่ ๙               
               อกุศลจิตดวงที่ ๙ ย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ประกอบด้วยโทมนัสในอารมณ์ทั้ง ๖ ผู้ยังปฏิฆะให้เกิดขึ้นนั่นแหละ. จะวินิจฉัยในวาระว่าด้วยการกำหนดสมัย ๓ สมัยแห่งอกุศลจิตดวงที่ ๙ ก่อน.
               มนะอันโทษประทุษร้ายแล้ว หรือมนะอันบัณฑิตเกลียด เพราะมีเวทนาอันเลว เพราะเหตุนั้น มนะนั้นจึงชื่อว่า ทุมมโน (ผู้มีใจชั่ว). ภาวะแห่งบุคคลผู้มีใจชั่ว ชื่อว่าโทมนัส. อกุศลจิตสหรคตด้วยโทมนัสนั้น เพราะฉะนั้น อกุศลจิตนั้น จึงชื่อว่า โทมนัสสสหคตะ (สหรคตด้วยโทมนัส).
               สภาวะที่ชื่อว่าปฏิฆะ เพราะอรรถว่า ย่อมกระทบในอารมณ์โดยภาวะที่ไม่พอใจ. อกุศลจิตที่สัมปยุตด้วยปฏิฆะนั้น ชื่อว่าปฏิฆสัมปยุต. ในธัมมุทเทส โทมนัสสเวทนามาแล้วในฐานะแม้ทั้ง ๓. ในฐานะทั้ง ๓ มีเวทนาเป็นต้นนั้น บทว่า เวทนา มีเนื้อความตามที่กล่าวไว้นั่นแหละ. บทว่า ทุกข์และโทมนัส ก็กล่าวไว้แล้วเหมือนกัน.
               แต่เมื่อว่าโดยลักษณะเป็นต้น โทมนัสมีการเสวยอารมณ์อันไม่หน้าชอบใจเป็นลักษณะ (อนิฏฺฐารมฺมณานุภวนลกฺขณํ) มีการเสวยอาการไม่ดีอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นรส (ยถา ตถา วา อนิฏฺฐาการสมฺโภครสํ) มีความอาพาธทางใจเป็นปัจจุปัฏฐาน (เจตสิกาพาธปจฺจุปฏฺฐานํ) มีหทยวัตถุเท่านั้นเป็นปทัฏฐาน (หทยวตฺถุปทฏฺฐานํ).
               ในมูลกรรมบถทั้งหลาย พระองค์ตรัสว่า โทสะย่อมมี พยาบาทย่อมมี เหมือนพระดำรัสที่ตรัสถึงอกุศลจิตดวงก่อนๆ ว่า โลภะย่อมมีอภิชฌาย่อมมี ฉะนั้น บรรดาโทสะและพยาบาททั้งสองนั้น สภาวะที่ชื่อว่าโทสะ เพราะอรรถว่าเป็นเหตุให้คนประทุษร้าย หรือประทุษร้ายเอง หรือว่าธรรมชาตินั้นสักว่าเป็นเครื่องประทุษร้ายเท่านั้น.
               โทสะนั้นมีความดุร้ายเป็นลักษณะ พึงเห็นเหมือนอสรพิษถูกประหาร (จณฺฑิกฺกลกฺขโณ ปหฏาสิวิโส วิย) มีการกระสับกระส่ายเป็นรส พึงเห็นเหมือนถูกยาพิษ (วิสปฺปนรโส วิสนิปาโต วิย) อีกอย่างหนึ่ง มีการหม่นไหม้นิสัยของตนเป็นรส พึงเห็นเหมือนไฟไหม้ป่า (อตฺตโน นิสฺสยทหนรโส วาทาวคฺคิ วิย) มีการประทุษร้ายเป็นปัจจุปัฏฐาน พึงเห็นเหมือนศัตรูได้โอกาส (ทุสฺสนปจฺจุปฏฺฐาโน ลทฺโธกาโส วิย สปตฺโต) มีอาฆาตวัตถุเป็นปทัฏฐาน พึงเห็นเหมือนน้ำมูตรเน่าเจือด้วยยาพิษ (อาฆาตวตฺถุปทฏฺฐาโน วิสสํสฏฺปูติมุตฺตํ วิย) ฉะนั้น.
               สภาวะที่ชื่อว่าพยาบาท เพราะอรรถว่า เป็นเหตุเบียดเบียน คือย่อมเข้าถึงภาวะเสียจิต หรือว่าย่อมยังวินัย อาจาระ รูปสมบัติและหิตสุขเป็นต้นให้ถึงความพิบัติ. ก็เมื่อว่าโดยอรรถ พยาบาทนี้ก็คือโทสะนั่นแหละ แต่ในอกุศลจิตดวงที่ ๙ นี้ เป็นบทอกุศล ๒๙ โดยลำดับ. พึงทราบบท ๑๔ บท โดยการถือเอาบทที่ยังไม่ถือเอา และพึงทราบประเภทกองธรรมที่แจกได้ และแจกไม่ได้ ด้วยสามารถแห่งบทธรรมเหล่านั้น.
               ในเยวาปนกธรรมทั้งหลาย สภาวธรรมเป็นนิยตะมีฉันทะ อธิโมกข์ มนสิการ และอุทธัจจะเป็นต้น (คือเจตสิกประกอบกับอกุศลจิตดวงที่ ๙ แน่นอน) อนึ่ง ธรรม (ทั้ง ๔) เหล่านี้ ย่อมเกิดขึ้นครั้งละ ๕ๆ กับด้วยธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งในอิสสา มัจฉริยะหรือกุกกุจจะ ธรรมทั้ง ๓ มีอิสสาเป็นต้นแม้เหล่านี้ ชื่อว่าอนิยตเยวาปนกะ ด้วยประการฉะนี้. บรรดาธรรมทั้ง ๓ เหล่านั้น สภาวธรรมที่ชื่อว่าอิสสา เพราะอรรถว่าย่อมริษยา.
               อิสสานั้น มีการริษยาสมบัติของผู้อื่นเป็นลักษณะ (ปรสมฺปตฺตีนํ อุสฺสุยนลกฺขณา) มีความไม่ยินดีในสมบัติของผู้อื่นนั้นนั่นแหละเป็นรส (ตตฺเถว อนภิรติรสา) มีความเบือนหน้าจากสมบัติของผู้อื่นนั้นเป็นปัจจุปัฏฐาน (ตโต วิมุขภาวปจฺจุปฏฺฐานา) มีสมบัติของผู้อื่นเป็นปทัฏฐาน (ปรสมฺปตฺติปทฏฺฐานา) พึงทราบว่า เป็นสัญโญชน์.
               ความเป็นแห่งความตระหนี่ ชื่อว่ามัจฉริยะ มัจฉริยะนั้นมีการปกปิดสมบัติของตนที่ได้มาแล้ว หรือที่ควรได้เป็นลักษณะ (ลทฺธานํ วา ลภิตพฺพานํ วา อตฺตโน สมฺปตฺตีนํ นิคูหณลกฺขณํ) มีความไม่ชอบใจในความที่สมบัติของตนนั้นนั่นแหละ เป็นของทั่วไปแก่ชนเหล่าอื่น เป็นรส (ตาสํเยว ปเรหิ สาธารณภาว อกฺขมนรสํ) มีความสยิ้วหน้าเป็นปัจจุปัฏฐาน (สํโกจนปจฺจุปฏฺฐานํ) หรือว่ามีความหวงแหนเป็นลักษณะ (กฏุกญฺจุกตาปจฺจุปฏฺฐานํ วา) มีสมบัติของตนเป็นปทัฏฐาน (อตฺตโน สมฺปตฺติปทฏฺฐานํ) มัจฉริยะนี้ พึงเห็นว่าเป็นความพิการของจิต.
               กรรมที่บัณฑิตเกลียด อันบุคคลทำแล้ว ชื่อว่ากุกตะ ความเป็นแห่งกุกตะนั้น ชื่อว่ากุกกุจจะ กุกกุจจะนั้นมีความเดือดร้อนใจในภายหลังเป็นลักษณะ (ปจฺฉานุตาปนลกฺขณํ) มีความเศร้าโศกเนืองๆ ถึงบาปที่ทำแล้ว และบุญที่ยังไม่ได้กระทำเป็นกิจ (กตากตานุโสจนรสํ) มีความวิปฏิสาร คือความเดือดร้อนเป็นปัจจุปัฏฐาน (วิปฺปฏิสารปจฺจุปฏฺฐานํ) มีการทำบาปแล้วและมิได้ทำบุญไว้เป็นปทัฏฐาน (กตากตทฏฺฐานํ) พึงเห็นเหมือนอย่างความเป็นทาส ฉะนั้น.
               นี้เป็นความต่างกันในอุทเทสวารก่อน. ในนิทเทสวาร พึงทราบความไม่ชอบใจในเวทนานิทเทส ด้วยสามารถเป็นธรรมปฏิปักษ์ต่อความชอบใจ.
               พึงทราบวินิจฉัยในโทสนิทเทสต่อไป.
               สภาวะที่ชื่อว่าโทสะ เพราะอรรถว่าย่อมคิดประทุษร้าย. อาการที่คิดประทุษร้ายชื่อว่าทุสสนา (กิริยาที่ประทุษร้าย). ภาวะแห่งความประทุษร้าย ชื่อว่าทุสสิตัตตะ (ความคิดประทุษร้าย).
               ความคิดเบียดเบียน ชื่อว่าพยาปัตติ (การคิดปองร้าย) ด้วยอรรถว่าการละความเป็นปกติ. อาการแห่งการปองร้าย ชื่อว่าพยาปัชชนา (กิริยาที่ปองร้าย) ที่ชื่อว่าวิโรธ (ความโกรธ) เพราะอรรถว่ามุ่งร้าย. ที่ชื่อว่าปฏิวิโรธ (ความแค้น) เพราะอรรถว่าพิโรธเนืองๆ. อีกอย่างหนึ่ง คำทั้งสองนี้ ตรัสไว้ด้วยอำนาจแห่งอาการที่โกรธและอาการที่แค้น.
               บุคคลมีจิตกระด้างดุร้าย เรียกว่าจัณฑิกะ ภาวะแห่งจัณฑิกะนั้น เรียกว่าจัณฑิกกะ (ความดุร้าย). ถ้อยคำอันคนดุร้ายนี้ยกขึ้นพูดอย่างดีมิได้มี คำพูดของคนเช่นนี้เป็นคำพูดชั่ว คือไม่บริบูรณ์เลย เพราะฉะนั้น คนนี้จึงชื่อว่าอสุโรปะ (ปากร้าย). จริงอยู่ ในเวลาที่บุคคลผู้ดุร้ายโกรธแล้ว ขึ้นชื่อว่าคำพูดที่บริบูรณ์ ย่อมไม่มี ถึงหากจะมีแก่บางคน ข้อนั้นก็ไม่เป็นประมาณ.
               อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า คนเช่นนั้น ชื่อว่าอสุโรปะ (ความไม่สุภาพ) เพราะให้เกิดน้ำตาโดยการไหลออกแห่งน้ำตา ข้อที่ว่านั้น ไม่ใช่เหตุ ได้กล่าวแล้วในหนหลัง เพราะแม้โสมนัสก็ทำให้น้ำตาเกิดได้.
               สภาวะที่ชื่อว่าอนัตตมนตา (ความไม่มีใจแช่มชื่น) เพราะอรรถว่าความเป็นผู้ไม่มีใจเป็นของตน เพราะความเป็นปฏิปักษ์ต่อความเป็นผู้มีใจเป็นของตน แต่เพราะความไม่มีใจแช่มชื่นนั้น เป็นของจิตเท่านั้น ไม่เป็นของสัตว์ ฉะนั้น จึงตรัสว่า จิตฺตสฺส (ของจิต) ดังนี้.
               คำที่เหลือในอกุศลจิตดวงที่ ๙ นี้ และในสังคหวาร ในสูญญตวาร พึงทราบโดยนัยที่กล่าวไว้ในหนหลังนั่นแล.
               อกุศลจิตดวงที่ ๙ จบ.               

               อธิบายอกุศลจิตดวงที่ ๑๐               
               อกุศลจิตดวงที่ ๑๐ ย่อมเกิดแก่บุคคลผู้ถูกคนอื่นๆ ให้เกิดอุตสาหะบ้าง ผู้ถูกคนอื่นๆ ตักเตือนให้นึกถึงความผิดบ้าง ตนเองนั่นแหละนึกถึงความผิดของคนอื่นๆ แล้วโกรธบ้าง เพราะความที่อกุศลจิตนี้เป็นไปกับการชักจูง. แม้ในอกุศลจิตนี้ก็มี ๒๙ บทตามลำดับบท. เพราะถือเอาบทที่ยังมิได้ถือเอาจึงเป็น ๑๔ บทเท่านั้น. แต่เพราะในเยวาปนกธรรมทั้งหลาย ย่อมได้แม้ถีนะและมิทธะ ฉะนั้นในอกุศลจิตดวงนี้จึงเว้นอิสสา มัจฉริยะและกุกกุจจะ หรือเว้นซึ่งธรรม ๖ เหล่านี้ คือองค์ธรรมที่เหมือนกัน ๔ และถีนมิทธะ ในเวลาที่อิสสาเป็นต้นเกิดขึ้น ก็จะเป็นเยวาปนกธรรม ๗ ข้อๆ กับข้อใดข้อหนึ่งในบรรดาธรรมมีอิสสาเป็นต้นนั้นเกิดขึ้นในขณะเดียวกัน (พร้อมกัน). คำที่เหลือทั้งหมดทุกวาระเป็นเช่นกับอกุศลจิตดวงที่ ๙ ทั้งนั้น. ก็ในโทมนัสจิตทั้ง ๒ นี้ย่อมได้สหชาตาธิปติอย่างเดียว ไม่ได้อารัมมณาธิปติ. เพราะบุคคลโกรธแล้ว ย่อมไม่ทำอารมณ์อะไรๆ ให้หนัก (เป็นอธิบดี) ได้ ฉะนี้แล.
               อกุศลจิตดวงที่ ๑๐ จบ.               

               อธิบายอกุศลจิตดวงที่ ๑๑               
               อกุศลจิตดวงที่ ๑๑ ย่อมเกิดขึ้นในเวลาความสงสัยเป็นไปแก่บุคคลผู้วางเฉยด้วยอำนาจเวทนาในอารมณ์ทั้ง ๖. ในการกำหนดสมัยของอกุศลจิตดวงที่ ๑๑ นั้น บทว่า วิจิกิจฺฉาสมฺปยุตฺตํ (สัมปยุตด้วยวิจิกิจฉา) ไม่ใช่บทที่เกิดก่อน เนื้อความแห่งอกุศลจิตนั้นว่า ที่ชื่อว่าวิจิกิจฉาสัมปยุต เพราะอรรถว่าสัมปยุตด้วยวิจิกิจฉา. ในธัมมุทเทส บทว่า วิจิกิจฺฉา โหติ (วิจิกิจฉาย่อมมี) ดังนี้เท่านั้นแปลกกัน.
               พึงทราบวินิจฉัยในวิจิกิจฉานั้น ต่อไป.
               สภาวธรรมที่ชื่อว่าวิจิกิจฉา เพราะอรรถว่าปราศจากความแก้ไข. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าวิจิกิจฉา เพราะอรรถว่าเป็นเหตุให้คนเมื่อคิดสภาวธรรมย่อมยุ่งยาก คือย่อมลำบาก.
               วิจิกิจฉานั้นมีความสงสัยเป็นลักษณะ (สํสยนลกฺขณา) มีความหวั่นไหวเป็นรส (กมฺปนรสา) มีการตัดสินใจไม่ได้เป็นปัจจุปัฏฐาน (อนิจฺฉยปจฺจุปฏฺฐานา) หรือว่า มีการถือเอาอย่างเดียวไม่ได้เป็นปัจจุปัฏฐาน (อเนกํสคาหปจฺจุปฏฺฐานา) มีการทำไว้ในใจโดยอุบายไม่แยบคายเป็นปทัฏฐาน (อโยนิโสมนสิการปทฏฺฐานา) บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นการทำอันตรายต่อการปฏิบัติ. ในอกุศลจิตดวงที่ ๑๑ นี้ ได้บท ๒๓ ตามลำดับบท ว่าโดยธรรมที่ยังมิได้ถือเอาก็เป็นธรรม ๑๔ บท พึงทราบวินิจฉัยในกองธรรมที่จำแนกได้และจำแนกไม่ได้ ด้วยสามารถแห่งธรรม ๑๔ บทเหล่านั้น. ธรรมแม้ทั้ง ๒ คือมนสิการ และอุทธัจจะเป็นเยวาปนกธรรม.
               ก็เพราะในนิทเทสเอกัคคตาแห่งจิตแห่งนิทเทสวาร อกุศลจิตนี้ ทุรพลมีแต่เพียงฐิติ (คือการตั้งอยู่) ในปัจจุบัน ฉะนั้น จึงไม่ตรัสว่า สณฺฐิติ (ความดำรงอยู่) เป็นต้น แต่ตรัสบทเดียวเท่านั้นว่า จิตฺตสฺส ฐิติ และด้วยเหตุนั้นนั่นแหละ แม้ในอุทเทสวารพระองค์ไม่ตรัสคำเป็นต้นว่า สมาธินฺทฺริยํ (สมาธินทรีย์).
               พึงทราบวินิจฉัยในวิจิกิจฉานิทเทสต่อไป.
               สภาวะที่ชื่อว่ากังขา ด้วยสามารถแห่งการเคลือบแคลง. อาการเป็นไปแห่งความเคลือบแคลง ชื่อว่ากังขายนา (กิริยาที่เคลือบแคลง). จริงอยู่ การเคลือบแคลงอันแรกชื่อว่านำมาซึ่งการเคลือบแคลงต่อไป. อีกอย่างหนึ่ง การเคลือบแคลงนี้ ตรัสไว้ด้วยอำนาจแห่งอาการ. จิตที่พรั่งพร้อมด้วยการสงสัย ชื่อว่ากังขายิตะ เพราะนำมาซึ่งความเคลือบแคลง. ภาวะแห่งกังขายิตะนั้นชื่อว่ากังขายิตัตตะ (ความเคลือบแคลง). สภาวะที่ชื่อว่าวิมติ เพราะความคิดเห็นต่างๆ. วิจิกิจฉา (ความตัดสินอารมณ์ไม่ได้) มีเนื้อความตามที่กล่าวแล้วนั่นแหละ.
               ที่ชื่อว่า เทฺวฬหกํ (ความเห็นสองแง่) เพราะอรรถว่า ย่อมเห็นสองอย่างด้วยอรรถว่า หวั่นไหวไป. ที่ชื่อว่า เทฺวธาปโถ (ความเห็นเหมือนทางสองแพร่ง) เพราะอรรถว่าเหมือนทางสองแพร่งโดยการห้ามการปฏิบัติ. ที่ชื่อว่า สํสโย (ความสงสัย) เพราะอรรถว่าย่อมนอนโดยรอบเพราะไม่สามารถดำรงอยู่ในอาการหนึ่งที่เป็นไปว่า นี้เที่ยงหรือหนอ หรือว่าไม่เที่ยง เป็นต้น. ที่ชื่อว่า อเนกํสคาโห (ความไม่สามารถถือเอาโดยส่วนเดียวได้) เพราะอรรถว่าไม่ใช่ถือเอาโดยส่วนเดียว เพราะไม่สามารถถือเอาโดยส่วนเดียว. ที่ชื่อว่า อาสปฺปนา (ความคิดส่ายไป) เพราะอรรถว่าวิจิกิจฉานั้นเมื่อไม่อาจเพื่ออันชี้ขาด จึงถอยกลับจากอารมณ์. ที่ชื่อว่า ปริสปฺปนา (ความคิดพร่าไป) เพราะอรรถว่าวิจิกิจฉานั้นเมื่อไม่อาจเพื่อจะหยั่งลงจึงคิดส่ายไปรอบด้าน. ที่ชื่อว่า อปริโยคาหนา (ความไม่สามารถจะหยั่งลงถือเอาที่สุดได้) เพราะความเป็นสภาวะไม่สามารถเพื่อหยั่งลงถือเอาได้. ที่ชื่อว่า ถมฺภิตตฺตํ (ความกระด้าง) เพราะความเป็นสภาวะที่ไม่สามารถเพื่อเป็นไปในอารมณ์ด้วยอำนาจการตัดสินใจได้. อธิบายว่า ความที่จิตเป็นธรรมชาติกระด้าง.
               จริงอยู่ วิจิกิจฉาเกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำจิตให้กระด้าง ก็เพราะวิจิกิจฉานั้นเมื่อเกิดเป็นดุจการจับอารมณ์มาขัดอยู่ซึ่งใจ ฉะนั้น พระองค์จึงตรัสว่า มโนวิเลโข (รอยขีดใจ คือความลังเลใจ).
               คำที่เหลือในที่ทุกแห่งมีเนื้อความง่ายทั้งนั้นแล.
               อกุศลจิตดวงที่ ๑๑ จบ.               

               อธิบายอกุศลจิตดวงที่ ๑๒               
               พึงทราบวินิจฉัยในอกุศลจิตดวงที่ ๑๒ ต่อไป.
               ในการกำหนดสมัยแห่งอกุศลจิตดวงที่ ๑๒ ที่ชื่อว่าอุทธัจจสัมปยุต เพราะอรรถว่าอกุศลจิตนั้นสัมปยุตด้วยอุทธัจจะ. จริงอยู่ อกุศลจิตดวงที่ ๑๒ นี้เป็นกลาง (อุเบกขา) ด้วยอำนาจเวทนาในอารมณ์ ๖ เป็นฟุ้งซ่าน (อุทฺธตํ) ในอกุศลจิตดวงนี้ จิตนี้มาแล้วในที่วิจิกิจฉาในธัมมุทเทสว่า อุทฺธจฺจํ โหติ (อุทธัจจะย่อมมี) ย่อมได้บท ๒๘ ตามลำดับ ว่าโดยบทที่ยังมิได้ถือเอาก็ได้ ๑๔ บท. พึงทราบวิธีการจำแนกกองธรรมได้ และจำแนกไม่ได้ด้วยสามารถแห่งธรรม ๑๔ เหล่านั้น ธรรมทั้ง ๒ คือ อธิโมกข์ มนสิการ เท่านั้นเป็นเยวาปนกธรรม.
               พึงทราบวินิจฉัยในอุทธัจจนิทเทสแห่งนิทเทสวารต่อไป.
               บทว่า จิตฺตสฺส (แห่งจิต) คือไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล.
               บทว่า อุทฺธจฺจํ ได้แก่ อาการที่ฟุ้งซ่าน.
               สภาวะที่ชื่อว่าอวูปสมะ (ความไม่สงบ) เพราะอรรถว่าการไม่เข้าไปสงบแห่งจิต. ที่ชื่อว่า เจตโส วิกฺเขโป (ความวุ่นวายใจ) เพราะอรรถว่า จิตซัดส่ายไป.
               บทว่า ภนฺตตฺตํ จิตฺตสฺส (จิตพล่านไป) ได้แก่ ความที่จิตหมุนไป. ด้วยบทนี้ท่านกล่าวจิตดิ้นรนไปในอารมณ์เดียวเท่านั้น ดุจยานที่พล่านไปและโคที่พล่านไปเป็นต้น. เพราะอุทธัจจะดิ้นรนไปในอารมณ์เดียว วิจิกิจฉาดิ้นรนไปในอารมณ์ต่างๆ.
               คำที่เหลือทุกวาระ พึงทราบโดยนัยที่กล่าวไว้ในหนหลังนั่นแหละ.
               บัดนี้ จะวินิจฉัยข้อปกิณกะในจิต ๒ ดวงนี้ต่อไป.
               ก็เมื่อมีผู้กล่าวว่า ชื่อว่าจิตที่เป็นไปในอารมณ์ มีเท่าไร พึงตอบได้ว่าจิตเหล่านี้มี ๒ ดวงเท่านั้น. บรรดาจิต ๒ ดวงนั้น จิตที่สหรคตด้วยวิจิกิจฉา ย่อมเป็นไปอย่างเดียว ส่วนจิตที่สหรคตด้วยอุทธัจจะได้ที่อาศัยแล้ว ได้ที่ยึดเหนี่ยวแล้วก็เป็นไปตามที่อาศัยอันได้แล้ว เพราะมีอธิโมกข์ได้แล้ว. เหมือนอย่างว่า เมื่อแก้วมณี ๒ ดวง ดวงหนึ่งกลม ดวงหนึ่งสี่เหลี่ยม เมื่อเขาปล่อยให้กลิ้งไปในที่เนินลาด แก้วมณีดวงกลมย่อมกลิ้งไปๆ โดยแท้ทีเดียว ส่วนแก้วมณีดวงสี่เหลี่ยมพลิกไปๆ ย่อมตั้งอยู่ได้ ฉันใด คำอุปไมยเป็นเครื่องเปรียบเทียบนี้ พึงทราบฉันนั้น.
               ในอกุศลจิตแม้ทั้งหมด พระองค์มิได้ทรงยกขึ้นแสดงความแตกต่างกันโดยความเลวเป็นต้น เพราะความที่อกุศลทั้งหมดเป็นสภาพเลวอย่างเดียว สหชาตาธิปติแม้ได้อยู่ก็ไม่ทรงยกขึ้นแสดง เพราะความที่นัยทรงแสดงไว้ในหนหลังแล้ว. ก็ในอกุศลทั้งหมดนี้ ชื่อว่าวิมังสาธิปติ ย่อมไม่มี เพราะไม่มีญาณ. ในจิต ๒ ดวงหลัง (ที่สัมปยุตด้วยวิจิกิจฉาและอุทธัจจะ) ไม่มีความแปลกกันเลย เพราะเหตุไร? เพราะไม่เกิดขึ้นทำธรรมอะไรๆ ให้เป็นธุระ จึงทรงปฏิเสธไว้ในปัฏฐานปกรณ์นั่นแหละ.
               ก็เมื่อกรรมอันอกุศลจิต ๑๒ ดวงเหล่านี้ประมวลมาแล้ว เว้นอกุศลจิตที่สหรคตด้วยอุทธัจจะ อกุศลจิตที่เหลือ ๑๑ ดวงเท่านั้น ย่อมชักปฏิสนธิมา (คือให้ปฏิสนธิ).
               ถามว่า ครั้นเมื่ออกุศลจิตสหรคตด้วยวิจิกิจฉามีอธิโมกข์ยังไม่ได้แล้ว แม้มีกำลังทรามก็ยังชักปฏิสนธิมาได้ อกุศลจิตที่สหรคตด้วยอุทธัจจะมีอธิโมกข์ได้แล้ว มีกำลังย่อมชักปฏิสนธิมาไม่ได้ เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะไม่มีธรรมอันโสดาปัตติมรรคพึงละ ก็ผิว่าจิตที่สหรคตด้วยอุทธัจจะพึงชักปฏิสนธิมาไซร้ ก็จะพึงตรัสไว้ในวิภังค์แห่งบทว่า ทสฺสเนน ปหาตพฺพา เพราะฉะนั้น อกุศลจิตที่เหลือ ๑๑ ดวงเว้นอุทธัจจสัมปยุตจิต ย่อมชักปฏิสนธิมา.
               จริงอยู่ เมื่อกรรมอันอกุศลธรรมดวงใดดวงหนึ่งในบรรดาอกุศลธรรมเหล่านั้น ประมวลมาแล้ว ปฏิสนธิจิตย่อมมีในอบาย ๔ ด้วยเจตนานั้น. บรรดาอกุศลวิบากทั้งหลาย สัตว์ย่อมถือปฏิสนธิด้วยเจตนาอันสหรคตด้วยอุเบกขา คืออเหตุกมโนวิญญาณธาตุ แม้การให้ปฏิสนธิในอบาย ๔ เหล่านี้นั่นแหละก็พึงมีแก่อุทธัจจสหรคตจิต

               พรรณนาบทว่าด้วยธรรมอันเป็นอกุศล จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ อกุศลธรรม อกุศลจิต ๑๒ จิตดวงที่ ๒ ถึง ๑๒ จบ.
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 275อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 311อ่านอรรถกถา 34 / 338อ่านอรรถกถา 34 / 970
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=34&A=2796&Z=3022
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=53&A=7796
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=53&A=7796
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๗  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :