ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 482อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 501อ่านอรรถกถา 34 / 503อ่านอรรถกถา 34 / 970
อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์
รูปกัณฑ์

               อรรถกถารูปกัณฑ์               
               ว่าด้วยเอกกอุทเทส               
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์จะจำแนกรูปกัณฑ์ (หมวดรูป) จึงเริ่มตรัสพระบาลีมีอาทิว่า กตเม ธมฺมา อพฺยากตา (ธรรมเป็นอัพยากฤตเป็นไฉน) ดังนี้อีก.
               พึงทราบวินิจฉัยคำว่า อัพยากฤต เป็นต้นนั้นต่อไป.
               พระบาลีในจิตตุปปาทกัณฑ์ พระองค์ทรงจำแนกวิปากอัพยากตะ (อัพยากฤตคือวิบากจิต) และกิริยาอัพยากตะ (อัพยากฤตคือกิริยา) ไว้หมดสิ้นแล้วแม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ก็ยังมิได้ตรัสอัพยากฤต คือ รูปและอัพยากฤต คือนิพพาน เมื่อจะทรงประมวลอัพยากฤตแม้ทั้ง ๔ มาแสดง เพื่อตรัสอัพยากฤตทั้งสองที่ยังเหลือนั้น จึงตรัสว่า กุสลากุสลานํ ธมฺมานํ วิปากา (วิบากแห่งกุศลธรรมและอกุศลธรรม) ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กุสลากุสลานํ ได้แก่ กุศลอันเป็นไปในภูมิ ๔ และอกุศลทั้งหลาย. พระองค์ทรงถือเอาบททั้งสอง คือกุศลวิบากและอกุศลวิบากแสดงอัพยากฤตวิบากจิตไว้ด้วยคำมีประมาณเท่านี้. แต่เพราะอัพยากฤตทั้งหมดนั้นเป็นกามาวจรก็มี เป็นธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง มีรูปาวจรเป็นต้นก็มี ฉะนั้น จึงทรงแสดงอัพยากฤตคือวิบากนั้นนั่นเองถือเอาความแตกต่างกันแห่งภูมิโดยนัยมีคำว่า กามาวจรา (เป็นกามาวจร) เป็นต้น.
               อนึ่ง เพราะอัพยากฤตนั้นเป็นเวทนาขันธ์ก็มี ฯลฯ เป็นวิญญาณขันธ์ก็มี ฉะนั้น จึงทรงถือเอาอัพยากฤตนั้นแสดงด้วยอำนาจขันธ์ ๔ ที่สัมปยุตกัน ครั้นทรงแสดงอัพยากฤตคือวิบากจิตอย่างนี้ โดยถือเอานัยทั้ง ๓ คือด้วยอำนาจกุศลและอกุศล ด้วยอำนาจความแตกต่างกันแห่งภูมิ และด้วยอำนาจขันธ์ที่สัมปยุตกัน เมื่อจะทรงแสดงอัพยากฤต คือกิริยาจิตอีก จึงตรัสคำมีอาทิว่า เย จ ธมฺมา กิริยา (อนึ่ง ธรรมเหล่าใดเป็นกิริยา) ดังนี้.
               ในพระบาลีนั้น กิริยาจิตนั้นบุคคลพึงกล่าวว่า เป็นกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร คือ เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์. ก็พระองค์ครั้นทรงแสดงนัยที่บุคคลถือเอาแล้วในหนหลังนั่นแหละแล้วทรงสละเสีย.
               บัดนี้ เมื่อจะแสดงธรรมที่ยังมิได้จำแนกไว้ จึงตรัสว่า สพฺพญฺจ รูปํ อสงฺขตา จ ธาตุ (รูปทั้งหมด และอสังขตธาตุ).
               ในพระบาลีนั้น พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอารูป ๒๕ โกฏฐาสแห่งรูป ๙๖ แสดงไว้โดยสิ้นเชิง ด้วยบทว่า สพฺพญฺจ รูปํ ดังนี้. ด้วยบทว่า อสงฺขตา จ ธาตุ นี้ทรงยกนิพพานขึ้นแสดงโดยสิ้นเชิง.
               บทว่า อพฺยากตา ธมฺมา (ธรรมเป็นอัพยากฤต) พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกขึ้นไว้ด้วยคำมีประมาณเท่านี้.

               ว่าด้วยอัพยากฤต คือรูป               
               บรรดาธรรมเป็นอัพยากฤตนั้น คำว่า รูปทั้งหมด เป็นไฉน? นี้ พระองค์ทรงถือเอาแล้ว เพราะเหตุไร ภายหลังจึงตรัสอัพยากฤตคือรูปไว้โดยย่อ บัดนี้ ทรงประสงค์จะจำแนกรูปนั้นโดยพิสดาร ด้วยสามารถแห่งรูปหมวด ๑ หมวด ๒ หมวด ๓ หมวด ๔ ฯลฯ หมวด ๑๑ จึงทรงถือเอารูปนี้เล่า.
               เนื้อความนั้นมีอธิบายว่า รูปใดที่ตรัสไว้ใน ๒ บทนั้นว่า สพฺพญฺจ รูปํ อสงฺขตา จ ธาตุ นั้น ที่ชื่อว่า รูปทั้งหมด เป็นไฉน? บัดนี้ เมื่อจะแสดงรูปนั้น จึงตรัสคำเป็นต้นว่า จตฺตาโร จ มหาภูตา (มหาภูตรูป ๔) ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จตฺตาโร (๔) เป็นคำกำหนดจำนวน. ด้วยบทว่า ๔ นั้น ทรงปฏิเสธความหย่อนและยิ่งของรูปเหล่านั้น จ ศัพท์เป็นสัมปิณฑนัตถะ (คือใช้ในอรรถว่าประมวลมา) ด้วย จ ศัพท์นั้น จึงประมวลมาซึ่งอุปาทายรูป (รูปอาศัย) ว่า ใช่แต่มหาภูตรูป ๔ เท่านั้นก็หาไม่ รูปแม้อย่างอื่นก็มีอยู่ ดังนี้.

               ว่าด้วยมหาภูตรูป               
               ในคำว่า มหาภูตะ นี้ พึงทราบว่า สภาวะที่ชื่อว่ามหาภูตะ เพราะเหตุทั้งหลายโดยความปรากฏว่าเป็นของใหญ่เป็นต้น เพราะรูปเหล่านั้น ตรัสเรียกว่า มหาภูตะ ด้วยเหตุเหล่านี้ คือ
                         ปรากฏเป็นของใหญ่ ๑
                         เหมือนมหาภูต คือนักเล่นกลเป็นต้น ๑
                         เพราะต้องบำรุงรักษามาก ๑
                         เพราะวิการ (เปลี่ยนแปลง) ใหญ่ ๑
                         เพราะเป็นของใหญ่ที่มีอยู่ ๑.
               บรรดาเหตุเหล่านั้น ข้อว่า มหาภูตรูปปรากฏเป็นของใหญ่ มีอธิบายว่า รูปเหล่านี้ปรากฏเป็นของใหญ่ในอนุปาทินนกสันดานบ้าง๑- ในอุปาทินนกสันดานบ้าง๒- บรรดาสันดานทั้ง ๒ นั้น พึงทราบในอนุปาทินนกสันดานโดยความเป็นของใหญ่อย่างนี้.
____________________________
๑- หมายถึงรูปที่สืบต่อกันที่ไม่มีใจครอง.
๒- หมายถึงรูปที่สืบต่อกันที่มีใจครอง.

               จริงอยู่ จักรวาลหนึ่งยาวและกว้างถึง ๑,๒๐๓,๔๕๐ โยชน์ (หนึ่งล้านสองแสนสามพันสี่ร้อยห้าสิบโยชน์) วัดโดยรอบ ตามคาถาที่ท่านประพันธ์ไว้ว่า
                         สพฺพํ สตสหสฺสานิ  ฉตฺตึส ปริมณฺฑลํ
                         ทสญฺเจว สหสฺสานิ อฑฺฒุฑฺฒานิ สตานิ จ
                         จักรวาลทั้งหมดมีสัณฐานกลม
                         วัดโดยรอบได้ ๓,๖๑๐,๓๕๐ โยชน์
                         (สามล้านหกแสนหนึ่งหมื่นสามร้อยห้าสิบโยชน์).

               ในจักรวาลนั้น มีคาถาว่า
                         ทุเว สตสหสฺสานิ    จตฺตาริ นหุตานิ จ
                         เอตฺตกํ พหลตฺเตน  สงฺขาตายํ พสุนฺธรา
                                        แผ่นดินนี้ วัดโดยส่วนหนาได้เท่านี้
                         คือ ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์ (สองแสนสี่หมื่นโยชน์).

               แผ่นดินนั้นนั่นแหละมีน้ำรองแผ่นดิน (ดังคาถาว่า)
                         จตฺตาริ สตสหสฺสานิ อฏฺเฐว นหุตานิ จ
                         เอตฺตกํ พหลตฺเตน  ชลํ วาเต ปติฏฺฐิตํ
                                        น้ำรองแผ่นดินหนาถึง ๔๘๐,๐๐๐
                         โยชน์ (สี่แสนแปดหมื่นโยชน์) ตั้งอยู่บนลม.

                         แม้น้ำนั้นแหละก็มีลมรองอยู่ (ดังคาถาว่า)
                         นว สตสหสฺสานิ     มาลุโต นภมุคฺคโต
                         สฏฺฐิญฺเจว สหสฺสานิ เอสา โลกสฺส สณฺฐิติ
                                        ลมสูงขึ้นสู่ท้องนภาถึง ๙๖๐,๐๐๐ โยชน์
                         (เก้าแสนหกหมื่นโยชน์) นี้เป็นการตั้งอยู่ของโลก.

               ก็เมื่อโลกตั้งอยู่อย่างนี้
               มีขุนเขาสิเนรุราช หยั่งลึกลงไปในมหาสมุทรถึง ๘๔๐,๐๐๐ โยชน์ (แปดหมื่นสี่พันโยชน์) สูงขึ้นจากมหาสมุทรได้ ๘๔๐,๐๐๐ โยชน์ เหมือนกัน.
               มีภูเขาใหญ่ล้วนด้วยศิลาเป็นแท่งทึบ ๗ เทือก เหล่านี้ คือ ภูเขาชื่อวายุคันธร ภูเขาอิสินธร ภูเขากรวิก ภูเขาสุทัสสนะ ภูเขาเนมินธร ภูเขาวินตกะ ภูเขาอสัสกรรณ ล้วนวิจิตรด้วยรัตนะต่างๆ อันเป็นทิพย์ หยั่งลงในมหาสมุทร และสูงขึ้นจากมหาสมุทรประมาณกึ่งหนึ่งๆ โดยประมาณที่กล่าวไว้ทั้งข้างบนข้างล่าง โดยรอบขุนเขา
               สิเนรุราชนั้น ตามลำดับ๑- เป็นที่สิงสถิตของมหาราชทั้งหลาย เป็นถิ่นประจำของหมู่เทพและพวกยักษ์.
               ยังมีภูเขาชื่อหิมพานต์สูง ๕๐๐ โยชน์ ยาวและกว้าง ๓,๐๐๐ โยชน์ งดงามด้วยยอด ๘๔,๐๐๐ ยอด ชมพูทวีปรุ่งเรืองแล้วด้วยอานุภาพแห่งต้นชมพูใด ต้นชมพู (ต้นหว้า) นั้นวัดรอบลำต้นได้ ๑๕ โยชน์ มีกิ่งลำต้นยาว ๕๐ โยชน์รอบด้าน กว้างได้ร้อยโยชน์ สูงขึ้นร้อยโยชน์เหมือนกัน.
____________________________
๑- โยชนาว่า เอเต สตต ปพพตาอนุปฏิปาฏิยา สมุคคตา โสปานสทิสา หุตฺวา ฐิตา ภูเขา ๗ เทือกเหล่านี้สูงขึ้นโดยลำดับเป็นเหมือนกับบันไดตั้งอยู่.

               อนึ่ง ประมาณแห่งต้นชมพูนี้อันใด ต้นจิตตปาฏลี (แคฝอย) ของพวกอสูรก็ดี ต้นสิมพลี (ไม้งิ้ว) ของพวกครุฑก็ดี ต้นกทัมพะ (ไม้กระทุ่ม) ในทวีปอมรโคยานก็ดี ต้นกัลปพฤษ์ ในทวีปอุตตรกุรุก็ดี ต้นสิรีสะ ในทวีปปุพพวิเทหะก็ดี ต้นปาริฉัตตกะในดาวดึงส์ทั้งหลายก็ดี ก็มีประมาณนั้นเหมือนกัน ด้วยเหตุนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า
                                   ต้นปาฏลี (แคฝอย) ๑ ต้นสิมพลี
                         (ไม้งิ้ว) ๑ ต้นชมพู (ไม้หว้า) ๑ ต้นปาริฉัตตกะ
                         (ต้นทองหลาง) ของพวกเทพ ๑ ต้นกทัมพะ
                         (ไม้กระทุ่ม) ๑ ต้นกัลปพฤกษ์ ๑ ต้นสิรีสะ
                         (ไม้ซึก) เป็นที่ ๗
                                   ภูเขาจักรวาลหยั่งลึกลงในมหาสมุทร
                         ๘๒,๐๐๐ โยชน์ สูงพ้นมหาสมุทร ๘๒,๐๐๐
                         โยชน์เหมือนกัน ทั้งหมดได้ตั้งแวดล้อมโลกธาตุ
                         ไว้แล. (นี้ชื่อว่าสันดานของรูปที่ไม่มีใจครอง).
               แม้ในสันดานของรูปที่มีใจครอง (อุปาทินนกสันดาน) ก็ปรากฏเป็นของใหญ่นั่นแหละด้วยอำนาจแห่งสรีระมีปลา เต่า เทพและทานพเป็นต้น ข้อนี้สมดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในมหาสมุทร สัตว์ใหญ่ แม้ยาวตั้งร้อยโยชน์ก็มีเป็นต้น.

               ว่าด้วยมหาภูต คือนักเล่นกลเป็นต้น               
               ข้อว่า มหาภูตคือนักเล่นกลเป็นต้น มีอธิบายว่า มหาภูตรูปเหล่านี้เปรียบด้วยนักเล่นกล ย่อมทำน้ำอันมิใช่แก้วมณีเลยให้เป็นแก้วมณี ย่อมแสดงก้อนดินอันมิใช่ทองคำเลยให้เป็นทองคำได้ ฉันใด. อนึ่ง ตัวเอง (มหาภูตรูป) มิใช่เป็นยักษ์ มิใช่เป็นปักษี (นก) ย่อมแสดงความเป็นยักษ์บ้าง เป็นปักษีบ้าง ฉันใด ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือตัวเอง (มหาภูตรูป) มิใช่เป็นสีเขียว ก็แสดงอุปาทารูป (รูปอาศัย) ให้เป็นสีเขียว ตัวเองมิใช่เป็นสีเหลืองก็แสดงอุปาทารูปให้เป็นสีเหลือง มิใช่เป็นสีแดง ... มิใช่สีขาวก็แสดงอุปาทารูปให้เป็นสีขาวได้ เพราะฉะนั้น รูปเหล่านั้นจึงชื่อว่ามหาภูตะ เพราะเป็นเหมือนมหาภูต คือนักเล่นกล.
               อนึ่ง มหาภูตคือยักษ์ผู้ชายเป็นต้นย่อมสิงวัตถุใด หรือสัตว์ใดที่อันเป็นภายใน หรือภายนอกของวัตถุนั้น หรือของสัตว์นั้น ก็หามัน (คือมหาภูตตัวยักษ์ผู้ชายเป็นต้นนั้น) ไม่ได้ และมิใช่มันจะไม่แอบอิงวัตถุนั้นหรือสัตว์นั้นอยู่ก็หาไม่ ข้อนี้ฉันใด มหาภูตรูปแม้เหล่านี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จะค้นหาภายในหรือภายนอกของกันและกันก็หาไม่ได้ และมิใช่มหาภูตรูปเหล่านี้จะไม่อาศัยซึ่งกันและกันอยู่ก็หาไม่ เพราะฉะนั้น รูปเหล่านี้จึงชื่อมหาภูตะเพราะเป็นเช่นกับมหาภูต๑- มียักษ์ผู้ชายเป็นต้น เพราะความเป็นฐานะที่ใครๆ ไม่พึงคิด.
____________________________
๑- มหาภูต หมายถึงภูตผีปีศาจที่ตัวใหญ่.

               อนึ่ง มหาภูตคือนางยักษิณีปกปิดความที่มันเป็นปีศาจน่ากลัว จึงล่อลวงสัตว์ทั้งหลายโดยให้สีสรรค์ทรวดทรงและการเยื้องกรายอันน่าชื่นใจ ฉันใด มหาภูตะแม้เหล่านี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ปกปิดลักษณะอันเป็นสภาวะของตนอันต่างโดยความเป็นของแข็งเป็นต้น ของตนไว้โดยผิวพรรณอันน่าชื่นใจ ด้วยทรวดทรงแห่งอวัยวะน้อยใหญ่อันน่าชื่นใจ ด้วยการกรีดกรายมือ เท้า นิ้วมือและยักคิ้วอันน่าชื่นใจในร่างกายหญิงชายเป็นต้น ย่อมล่อลวงคนเขลา ย่อมไม่ให้เห็นสภาวะของตน เพราะฉะนั้น รูปจึงชื่อว่ามหาภูตะ เพราะมันเหมือนมหาภูต (มหาปีศาจ) คือนางยักษิณี เพราะทำความล่อลวง ด้วยประการฉะนี้.
               คำว่า เพราะต้องบำรุงรักษามาก คือเพราะต้องบริหารด้วยปัจจัยเป็นอันมาก.
               จริงอยู่ รูปเหล่านี้ชื่อว่ามหาภูตะ ด้วยอรรถว่าต้องให้เป็นไปโดยการกินการอยู่และเครื่องนุ่งห่มเป็นอันมาก เพราะต้องน้อมเข้าไปทุกๆ วัน.
               อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่ามหาภูตะ เพราะอรรถว่าเป็นสิ่งต้องบำรุงรักษามาก ดังนี้ก็มี.
               คำว่า เพราะวิการใหญ่ ได้แก่ เพราะมหาภูตะทั้งหลายเปลี่ยนแปลงใหญ่.
               จริงอยู่ รูปเหล่านี้ เป็นรูปที่มีใจครองก็ดี เป็นรูปที่ไม่มีใจครองก็ดี ย่อมเป็นของเปลี่ยนแปลงใหญ่. บรรดารูปทั้ง ๒ นั้น รูปที่ไม่มีใจครองย่อมปรากฏเป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในคราวกัปพินาศ ส่วนรูปที่มีใจครองย่อมปรากฏเป็นการเปลี่ยนแปลงมากในเวลาธาตุกำเริบ.
               จริงอย่างนั้น ตามที่ท่านกล่าวว่า
               ในคราวใด โลกจะพินาศด้วยไฟเผาผลาญ ในคราวนั้น ไฟย่อมโพลงขึ้นตั้งแต่พื้นดินไปถึงพรหมโลก. ในคราวใด โลกจะฉิบหายด้วยน้ำกำเริบในคราวนั้น แสนโกฏิจักรวาลย่อมละลายไปเป็นอันเดียวกันด้วยน้ำกรด. ในคราวใด โลกจะฉิบหายด้วยลมกำเริบ ในคราวนั้น ลมย่อมยังแสนโกฏิจักรวาล ให้กระจัดกระจายไปเป็นอันเดียวกัน.
               กายใดที่ถูกงูชื่อกัฏฐมุขะ (งูปากไม้) ขบเอาแล้วย่อมแข็งกระด้าง ฉันใด กายนั้นย่อมเป็นดุจอยู่ในปากงูกัฏฐมุขะขบเอา เพราะความที่ปฐวีธาตุเสียไปฉันนั้น
               กายใดที่ถูกงูชื่อปูติมุขะ (งูปากเน่า) ขบเอาแล้ว ย่อมเน่า ฉันใด กายนั้นย่อมดุจอยู่ในปากงูปูติมุขะขบเอา เพราะความที่อาโปธาตุเสียไปฉันนั้น
               กายใดที่ถูกงูชื่ออัคคิมุขะ (งูปากไฟ) ขบเอาแล้วย่อมเร่าร้อน ฉันใด กายนั้นย่อมเป็นดุจอยู่ในปากงูอัคคิมุขะขบเอา เพราะความที่เตโชธาตุเสียไปฉันนั้น
               กายใดที่ถูกงูชื่อสัตถมุขะ (งูปากศาสตรา) ขบเอาแล้ว ย่อมขาดเป็นชิ้น ฉันใด กายนั้นย่อมเป็นดุจอยู่ในปากงูสัตถมุขะขบเอา เพราะความที่วาโยธาตุเสียไป ฉันนั้น.
               รูปที่ชื่อว่ามหาภูตะ เพราะเป็นของวิการคือเปลี่ยนแปลงใหญ่ด้วยประการฉะนี้.
               ข้อว่า เพราะเป็นของใหญ่ที่มีอยู่ จริงอยู่ รูปเหล่านี้ชื่อว่าเป็นของใหญ่ เพราะเป็นของที่ต้องประคับประคองด้วยความเพียรใหญ่ และที่ชื่อว่ามีอยู่ เพราะเป็นของที่ปรากฏมีอยู่ เพราะฉะนั้น รูปจึงชื่อว่ามหาภูตะ เพราะเป็นของใหญ่ที่มีอยู่. มหาภูตรูปเป็นรูปใหญ่ ด้วยเหตุเป็นของใหญ่เป็นต้น ด้วยประการฉะนี้.
               คำว่า จตุนฺนํ จ มหาภูตานํ อุปาทาย รูปํ (และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔) นี้เป็นสามีวิภัตติ ใช้ในอรรถทุติยาวิภัตติ (ให้แปลว่าอาศัยซึ่งมหาภูตรูป ๔). อธิบายว่า รูปอาศัยอิงอาศัยไม่ปล่อยมหาภูตรูปทั้ง ๔ เป็นไป.
               บทว่า อิทํ วุจฺจติ สพฺพํ รูปํ (นี้เรียกว่ารูปทั้งหมด) ความว่า รูปนี้มีประเภท ๒๗ คือมหาภูตรูป ๔ อุปาทายรูป ๒๓ ตามที่ยกขึ้นแสดงโดยลำดับแห่งบทนี้ ชื่อว่ารูปทั้งหมด.
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ รูปกัณฑ์ จบ.
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 482อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 501อ่านอรรถกถา 34 / 503อ่านอรรถกถา 34 / 970
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=34&A=4133&Z=4140
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=53&A=8838
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=53&A=8838
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :