ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 708อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 719อ่านอรรถกถา 34 / 736อ่านอรรถกถา 34 / 970
อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์
นิกเขปกัณฑ์ สัญโญชนโคจฉกะ

               อธิบายสัญโญชนโคจฉกะ               
               ว่าด้วยมานนิทเทส               
               พึงทราบวินิจฉัยมานนิทเทสในสัญโญชนโคจฉกะ ต่อไป.
               บทว่า เสยฺโย หมสฺมีติ มาโน๑- (การถือตัวว่า เราดีกว่าเขา) ได้แก่มานะอันเกิดขึ้นอย่างนั้นว่า เราดีกว่าเขา โดยความหมายว่าสูงสุด.
               บทว่า สทิโส หมสฺมีติ มาโน (การถือตัวว่าเราเสมอกับเขา) ได้แก่ มานะอันเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า เราเสมอกับเขา โดยความหมายว่า เสมอๆ กัน.
               บทว่า หีโน หมสฺมีติ มาโน (การถือตัวว่าเราเลวกว่าเขา) ได้แก่ มานะอันเกิดอย่างนี้ว่า เราเลวกว่าเขา โดยความหมายว่า ลามกกว่า.
               มานะทั้ง ๓ เหล่านี้ คือ มานะว่าดีกว่าเขา มานะว่าเสมอเขา มานะว่าเลวกว่าเขา ย่อมเกิดแก่ชน ๓ จำพวก ด้วยประการฉะนี้.
____________________________
๑- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๘๘๓/หน้า ๔๗๖.

               จริงอยู่ มานะ ๓ คือ มีความสำคัญตนว่า เราดีกว่าเขา เสมอเขา เลวกว่าเขา ย่อมเกิดแก่คนที่ดีกว่าเขาบ้าง แก่คนที่เสมอเขาบ้าง แก่คนที่เลวกว่าเขาบ้าง.
               บรรดามานะ ๓ อย่างนั้น แม้มานะว่าเราดีกว่าเขาของบุคคลผู้ดีกว่าเขา เป็นมานะตามความเป็นจริง มานะ ๒ นอกนี้มิใช่มานะตามความเป็นจริง. มานะว่าเราเสมอเขาของบุคคลผู้เสมอเขา ฯลฯ มานะว่าเราเลวกว่าเขาของบุคคลผู้เลวกว่าเขา เป็นมานะตามความเป็นจริง มานะ ๒ นอกนี้มิใช่มานะตามความเป็นจริง.
               ด้วยคำที่กล่าวมานี้ ตรัสไว้อย่างไร?
               ตรัสไว้ว่า มานะ ๓ ย่อมเกิดแก่บุคคลคนเดียวได้.
               แต่ในนิทเทสมานะข้อที่หนึ่งในขุททกวัตถุวิภังค์ ตรัสว่า มานะหนึ่งย่อมเกิดแก่ชนทั้ง ๓. ที่ชื่อว่า มานะ (ความถือตัว) ด้วยอำนาจการทำความถือตัว.
               บทว่า มญฺญนา มญฺญิตตฺตํ (กิริยาที่ถือตัว ความถือตัว) นี้เป็นการชี้แจงถึงอาการและภาวะ ที่ชื่อว่า อุณฺณติ (การยกตน) โดยความหมายว่า เทิดทูน. ที่ชื่อว่า อุณฺณาโม (การเชิดชูตน) เพราะอรรถว่ามานะย่อมยังบุคคลผู้เกิดมานะให้พอง คือยกให้ตั้งขึ้น. ที่ชื่อว่า ธโช (ดุจธง) โดยความหมายว่าเชิดชูขึ้นแล้ว. ที่ชื่อว่า สมฺปคฺคาโห (การยกจิตขึ้น) เพราะอรรถว่าย่อมประคับประคองจิตโดยความหมายว่า การยกขึ้น.
               บรรดาธงทั้งหลายมาก ธงที่ยกขึ้นสูง ตรัสเรียกว่า เกตุ (ธง) เพราะว่ามานะเมื่อเกิดบ่อยๆ เพราะอาศัยมานะต่อๆ มาก็เป็นเหมือนธง เพราะอรรถว่ายกขึ้นไว้สูง เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า เหมือนธง. จิตใดย่อมต้องการมานะเหมือนธง เพราะฉะนั้น จิตนั้นจึงชื่อว่า เกตุกมฺยํ (ปรารถนาดุจธง) ภาวะแห่งเกตุกัมยะนั้น ชื่อว่า เกตุกมฺยตา (ความที่จิตต้องการดุจธง) ก็ความที่จิตต้องการดุจธงนั้นเป็นของจิต มิใช่เป็นของอัตตา ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า เกตุกมฺยตา จิตฺตสฺส (ความที่จิตต้องการดุจธง). อธิบายว่า จิตสัมปยุตด้วยมานะย่อมปรารถนาดุจธง และภาวะแห่งจิตนั้น ชื่อว่า เกตุกมฺยตา คือ มานะที่นับว่าเป็นดุจธง.

               ว่าด้วยอิสสานิทเทส               
               พึงทราบวินิจฉัยในอิสสานิทเทส ต่อไป.
               คำว่า ยา ปรลาภสกฺการ ครุการ มานน วนฺทนปูชนาทีสุ อิสฺสา (การริษยาในลาภสักการ ในการทำความเคารพ ในการนับถือ ในการไหว้และบูชาของบุคคลอื่นเป็นต้น อันใด) ความว่า การริษยาใดที่มีลักษณะขึงเคียดในสมบัติของผู้อื่น ในสิ่งทั้งหลายมีลาภเป็นต้นของชนเหล่าอื่นนั่นว่า ลาภเป็นต้นเหล่านี้จะมีประโยชน์อะไร ด้วยบุคคลนี้.
               ในพระบาลีนั้น บทว่า ลาโภ (ลาภ) ได้แก่ การได้เฉพาะปัจจัย ๔ มีจีวรเป็นต้น.
               จริงอยู่ บุคคลผู้ริษยา ย่อมขึงเคียดลาภนั้นของบุคคลอื่น ย่อมไม่ปรารถนาว่า ประโยชน์อะไรด้วยลาภนี้แก่บุคคลนี้ ดังนี้.
               บทว่า สกฺกาโร (สักการะ) ได้แก่ การได้ปัจจัยเหล่านั้นนั่นแหละที่ดีอันบุคคลทำดีแล้ว.
               บทว่า ครุกาโร (การทำความเคารพ) ได้แก่ กิริยาที่ยกย่อง คือการกระทำให้เป็นภาระ.
               บทว่า มานนํ (การนับถือ) ได้แก่ การกระทำให้เป็นที่รักด้วยใจ.
               บทว่า วนฺทนํ (การไหว้) ได้แก่ การไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์.
               บทว่า ปูชนา (การบูชา) ได้แก่ การบูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น.
               ที่ชื่อว่า อิสฺสา (การริษยา) ด้วยอำนาจกิริยาที่ไม่อยากให้คนอื่นได้ดี. อาการที่ไม่อยากให้คนอื่นได้ดี ชื่อว่า อิสฺสายนา (กิริยาที่ริษยา) ภาวะที่ไม่อยากให้คนอื่นได้ดี ชื่อว่า อิสฺสายิตตฺตํ (ความริษยา). การกีดกันเป็นต้นเป็นคำไวพจน์ของการริษยา. บัณฑิตพึงทราบลักษณะแห่งความขึ้งเคียดของการริษยานี้โดยบุคคลผู้ครองเรือนบ้าง ผู้ไม่ครองเรือนบ้าง.

               ว่าด้วยลักษณะการริษยา ๒ อย่าง               
               จริงอยู่ ฆราวาสบางคนอาศัยความเพียรกระทำอย่างบุรุษของตนด้วยอาชีพอย่างใดอย่างหนึ่งในการงานทั้งหลายมีการทำนาและค้าขายเป็นต้น ย่อมได้ยานพาหนะหรือรัตนะที่ดี. อีกคนหนึ่งมีความปรารถนาให้บุคคลนั้นเสื่อมลาภ ไม่ยินดีด้วยการได้ลาภของบุคคลนั้น คิดแต่ว่า เมื่อไรหนอ เจ้าคนนี้จักเสื่อมจากสมบัตินี้เป็นคนกำพร้าเที่ยวไป เมื่อบุคคลคนนั้นเสื่อมจากสมบัตินั้นด้วยเหตุอย่างหนึ่ง ก็ชอบใจ.
               แม้บรรพชิตรูปหนึ่งผู้มีใจริษยา เห็นบรรพชิตรูปอื่นผู้ถึงพร้อมด้วยการได้ปัจจัยเป็นต้นอันเกิดขึ้นเพราะอาศัยสุตตปริยัติเป็นต้นของตนก็คิดแต่ว่า เมื่อไรหนอ ท่านรูปนี้จักเสื่อมจากลาภเหล่านี้เป็นต้น เมื่อใดเห็นภิกษุรูปนั้นเสื่อมด้วยเหตุอย่างหนึ่ง เมื่อนั้นก็มีจิตเบิกบาน บัณฑิตพึงทราบว่า การริษยามีการขึ้งเคียดสมบัติของบุคคลอื่นเป็นลักษณะ ด้วยประการฉะนี้.

               ว่าด้วยมัจฉริยนิทเทส               
               พึงทราบวินิจฉัยมัจฉริยนิทเทส ต่อไป.
               เพื่อทรงแสดงมัจฉริยะ (ความตระหนี่) โดยวัตถุ จึงตรัสคำมีอาทิว่า ปญฺจ มจฺฉริยานิ อาวาสมจฺริยํ (ความตระหนี่ ๕ คือตระหนี่อาวาส) ดังนี้. ในมัจฉริยะเหล่านั้น ความตระหนี่ในอาวาส ชื่อว่า อาวาสมจฺฉริยํ.
               แม้บทที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.
               อารามทั้งสิ้นก็ดี บริเวณอารามก็ดี ห้องน้อยก็ดี ที่พักในเวลาราตรีเป็นต้นก็ดี ชื่อว่าอาวาส. พวกภิกษุที่อยู่ในอาวาสนั้น ย่อมอยู่สบาย ย่อมได้ปัจจัยทั้งหลาย ภิกษุรูปหนึ่งผู้ตระหนี่ย่อมไม่ปรารถนาให้ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยวัตร ผู้มีศีลเป็นที่รักมาในที่อยู่นั้น แม้มาแล้วก็คิดว่า ภิกษุนี้จงไปโดยเร็วเถิด นี้ชื่อว่าอาวาสมัจฉริยะ (ตระหนี่อาวาส) แต่ภิกษุผู้ไม่ปรารถนาการอยู่ในที่นั้นของพวกผู้ก่อการทะเลาะเป็นต้น ไม่ชื่อว่าอาวาสมัจฉริยะ (นี้เป็นความตระหนี่ข้อที่ ๑).
               บทว่า กุลํ (ตระกูล) ได้แก่ ตระกูลอุปัฏฐากบ้าง ตระกูลญาติบ้าง เมื่อภิกษุไม่ปรารถนาให้ภิกษุอื่นเข้าไปสู่ตระกูลนั้น ย่อมเป็นกุลมัจฉริยะ (ตระหนี่ตระกูล) แต่ภิกษุไม่ปรารถนาให้บุคคลลามกเข้าไปในตระกูลนั้น ไม่ชื่อว่ามัจฉริยะ เพราะคนผู้ลามกนั้นย่อมปฏิบัติ เพื่อทำลายความเลื่อมใสของตระกูลเหล่านั้น แต่ภิกษุผู้สามารถรักษาความเลื่อมใสไว้ได้ ไม่ปรารถนาให้ภิกษุนั้นเข้าไปในตระกูลนั้น จึงชื่อว่ามัจฉริยะ (นี้เป็นความตระหนี่ข้อที่ ๒).
               บทว่า ลาโภ (ลาภ) ได้แก่ การได้ปัจจัย ๔ เมื่อภิกษุผู้มีศีลรูปอื่นได้อยู่ซึ่งปัจจัย ๔ นั้นนั่นแหละ ภิกษุผู้ตระหนี่คิดอยู่ว่า ขอจงอย่าได้ ดังนี้ ย่อมเป็นลาภมัจฉริยะ (ตระหนี่ลาภ) แต่ภิกษุใดยังศรัทธาไทย (ของที่ถวายด้วยศรัทธา) ให้ตกไปก็ดี ย่อมทำปัจจัยที่ได้มาให้เสียหายด้วยสามารถแห่งการไม่บริโภคหรือบริโภคไม่ดีเป็นต้นก็ดี ไม่ให้วัตถุแม้จะถึงความบูดเน่าแก่ภิกษุอื่นก็ดี ภิกษุผู้ตระหนี่เห็นภิกษุนั้นแล้ว คิดอยู่ว่า ถ้าภิกษุรูปนี้ไม่ได้ปัจจัยนี้ ภิกษุอื่นผู้มีศีลพึงได้ พึงบริโภค ดังนี้ ไม่ชื่อว่ามัจฉริยะ (นี้เป็นความตระหนี่ข้อที่ ๓).
               สรีวรรณะ (ผิวพรรณแห่งสรีระ) ก็ดี คุณวรรณะ (การสรรเสริญคุณความดี) ก็ดี ชื่อว่าวรรณะ. ในวรรณะทั้ง ๒ นั้น บุคคลผู้ตระหนี่สรีรวรรณะ เมื่อมีคนพูดว่า บุคคลอื่นน่าเลื่อมใส มีรูปงาม ดังนี้ ไม่ปรารถนาจะกล่าวถึงบุคคลนั้น. บุคคลผู้ตระหนี่คุณวรรณะ (คือการสรรเสริญคุณความดี) ย่อมไม่ปรารถนาจะกล่าวชมคุณความดีของผู้อื่นด้วยศีล ด้วยธุดงค์ ด้วยปฏิปทา ด้วยอาจาระ (นี้เป็นวรรณมัจฉริยะข้อที่ ๔).
               บทว่า ธมฺโม (ธรรม) ได้แก่ ปริยัติธรรมและปฏิเวธธรรม. ในธรรมทั้ง ๒ นั้น พระอริยสาวกทั้งหลายย่อมไม่ตระหนี่ปฏิเวธธรรม ย่อมปรารถนาการแทงตลอดแก่โลกพร้อมทั้งเทวโลกในธรรมอันตนแทงตลอดแล้ว คือย่อมปรารถนาว่า ขอสัตว์เหล่าอื่นจงรู้การแทงตลอดธรรมนั้น ก็ขึ้นชื่อว่าธรรมมัจฉริยะ (ความตระหนี่ธรรม) ย่อมมีในตันติธรรม*(ตันติธรรม คือธรรมและวินัย) (ธรรมที่เป็นคัมภีร์) เท่านั้น บุคคลผู้ประกอบตันติธรรมนั้น ย่อมรู้คัมภีร์อันลี้ลับ หรือกถามรรคอันใด ไม่ประสงค์จะให้คนอื่นรู้คัมภีร์ หรือกถามรรคนั้น แต่ว่า บุคคลใดใคร่ครวญถึงบุคคล หรือใคร่ครวญธรรมด้วยการประคองธรรม ไม่ให้ด้วยการประคองบุคคล ภิกษุนี้ไม่ชื่อว่าธรรมมัจฉริยะ.
               ในข้อนี้ บุคคลบางคนเป็นคนเหลาะแหละ (โลโล) บางคราวเป็นสมณะ บางคราวเป็นพราหมณ์ บางคราวเป็นคฤหัสถ์ ก็ภิกษุใดไม่ให้ด้วยคิดว่า บุคคลนี้จักทำลายตันติธรรมอันละเอียดสุขุมเป็นธรรมอันยิ่งเป็นประเพณีสืบต่อกันมาให้สับสน ภิกษุนี้ใคร่ครวญถึงบุคคลแล้ว ชื่อว่าย่อมไม่ให้เพราะประคองธรรมไว้ ส่วนภิกษุใดย่อมไม่ให้ด้วยคิดว่า ธรรมนี้ละเอียดสุขุม ถ้าบุคคลนี้จักเรียนเอา จักพยากรณ์อรหัตผล จักแสดงตนให้ถึงความพินาศ ภิกษุนี้ใคร่ครวญธรรมแล้ว ชื่อว่าย่อมไม่ให้ด้วยการประคองบุคคล แต่บุคคลใดย่อมไม่ให้ด้วยคิดว่า ถ้าบุคคลนี้เรียนธรรมนี้ จักสามารถทำลายลัทธิ (สมยํ) ของพวกเรา ดังนี้ บุคคลนี้ชื่อว่าเป็นผู้ตระหนี่ธรรม (นี้เป็นธรรมมัจฉริยข้อที่ ๕).
               บรรดามัจฉริยะ ๕ เหล่านี้ ว่าด้วยอาวาสมัจฉริยะก่อน บุคคลเกิดเป็นยักษ์ หรือเป็นเปรต แล้วจะเอาศีรษะเทินหยากเยื่อของที่อยู่นั้นแลเที่ยวไป. ว่าด้วยกุลมัจฉริยะ เมื่อตระกูลนั้นทำทาน และนับถือบุคคลเหล่าอื่น เมื่อเขาเห็นก็คิดอยู่ว่า ตระกูลนี้ของเราแตกแล้วหนอ โลหิตจะพุ่งออกจากปาก มีการถ่ายท้องบ้าง ไส้ใหญ่ทั้งหลายก็จะเป็นท่อนเล็กท่อนน้อยออกมาบ้าง. ว่าด้วยลาภมัจฉริยะ ตระหนี่ในลาภอันเป็นของสงฆ์ หรือคณะ หรือบุคคล บริโภคเป็นดุจเครื่องใช้ของบุคคล ย่อมเกิดเป็นยักษ์ หรือเปรต หรืองูเหลือมใหญ่. ว่าด้วยสรีรวรรณคุณมัจฉริยะและปริยัติธรรมมัจฉริยะ บุคคลย่อมสรรเสริญวรรณะของตน ไม่สรรเสริญวรรณะของผู้อื่น เมื่อจะกล่าวโทษด้วยคำว่า นี้วรรณะอะไร? ดังนี้ เมื่อไม่ให้ปริยัติธรรมอะไรๆ แก่ใครๆ ย่อมเป็นผู้มีพรรณทรามและจะเป็นบ้าน้ำลาย.
               อีกอย่างหนึ่ง บุคคลย่อมถูกไฟไหม้ในเรือนโลหะด้วยความตระหนี่อาวาส ย่อมเป็นผู้มีลาภน้อยด้วยความตระหนี่ตระกูล ย่อมเกิดในคูถนรกด้วยความตระหนี่ลาภ บุคคลเมื่อเกิดทุกๆ ภพย่อมไม่มีผิวพรรณดีด้วยการตระหนี่วรรณะ ย่อมเกิดในกุกกุลนรกด้วยการตระหนี่ธรรม.
               ที่ชื่อว่า มจฺเฉรํ (ความตระหนี่) ด้วยสามารถการเห็นแก่ตัว อาการแห่งความตระหนี่ ชื่อว่า มจฺฉรายนา (กิริยาที่ตระหนี่) ภาวะแห่งจิตที่ถูกความตระหนี่ให้เป็นไปแล้ว พรั่งพร้อมด้วยความตระหนี่ ชื่อว่า มจฺฉรายิตตฺตํ (ความตระหนี่). บุคคลที่ชื่อว่า วิวิจฺโฉ (ผู้หวงแหน) เพราะอรรถว่าปรารภนาสมบัติทั้งหมดของตนไม่ให้เสื่อมสูญไป ด้วยคิดว่า ขอสมบัติทั้งปวงจงมีแก่เราเท่านั้น จงอย่ามีแก่คนอื่น ดังนี้. ภาวะแห่งบุคคลผู้หวงแหน ชื่อว่า เววิจฺฉํ (ความหวงแหน) คำว่า ความหวงแหน นี้เป็นชื่อของความตระหนี่อย่างอ่อน.
               บุคคลผู้ไม่เอื้อเฟื้อ ตรัสว่า กทริโย (ผู้เห็นแก่ตัว) ภาวะแห่งบุคคลผู้เห็นแก่ตัวนั้น เรียกว่า กทริยํ (ความเหนียวแน่น) คำว่า ความเหนียวแน่นนี้เป็นชื่อของความตระหนี่กล้าแข็ง เพราะบุคคลผู้ประกอบด้วยความตระหนี่นั้น ย่อมห้ามแม้บุคคลอื่นผู้ให้แก่บุคคลเหล่าอื่น.
               ข้อนี้สมด้วยพระบาลีที่ตรัสไว้ในสังยุตตนิกายสคาถวรรคว่า๑-
                         กทริโย ปาปสํกปฺโป  มิจฺฉาทิฏฐิ อนาทโร
                         ททมานํ นิวาเรติ    ยาจมานาน โภชนํ
                                        บุคคลผู้เหนียวแน่น มีความดำริชั่ว
                         เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่มีความเอื้อเฟื้อ ย่อมห้าม
                         คนที่กำลังจะให้โภชนาหารแก่คนทั้งหลายที่
                         ขออยู่ ดังนี้.
____________________________
๑- สํ. สคาถวคฺค. เล่ม ๑๕/ข้อ ๓๙๘/หน้า ๑๓๙.

               บุคคลใดเห็นยาจกทั้งหลายแล้วให้จิตยับยั้งอยู่ คือให้ทนหดหู่อยู่ด้วยความขี้เหนียว เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้นจึงชื่อว่า กฏกจฺฉโก (ผู้ไม่เอื้อเฟื้อ). ภาวะแห่งความเป็นผู้ไม่เอื้อเฟื้อนั้น ชื่อว่า กฏฺกจฺฉกตา (ความไม่เอื้อเฟื้อ).
               อีกนัยหนึ่ง บุคคลผู้มีช้อนในมือ ตรัสเรียกว่า กฏจฺฉุกตา ก็บุคคล เมื่อจะถือเอาข้าวจากหม้อซึ่งเต็มเสมอปากหม้อ ย่อมถือเอาด้วยปลายช้อนอันแคบทุกส่วน ก็ไม่อาจเพื่อถือเอาให้เต็ม ฉันใด จิตของบุคคลผู้ตระหนี่ก็ฉันนั้น ย่อมคับแคบ เมื่อจิตคับแคบ แม้กายก็คับแคบถอยกลับ ย่อมไม่ยื่นให้เพื่อชนเหล่าอื่น เพราะฉะนั้น ความตระหนี่จึงตรัสเรียกว่า กตกญฺจุกตา (ความเป็นคนมีใจแคบเหมือนช้อนเครื่องคดข้าว).
               บทว่า อคฺคหิตตฺตํ จิตฺตสฺส (ความไม่เผื่อแผ่แห่งจิต) ได้แก่ การที่จิตกันเอาไว้โดยประการที่ไม่เหยียดไปโดยอาการมีการให้ทานเป็นต้น ในการทำอุปการะแก่ชนเหล่าอื่น. ก็เพราะคนตระหนี่ย่อมไม่ปรารถนาจะให้สิ่งอันมีอยู่ของตนแก่ชนเหล่าอื่น อยากจะรับแต่ของคนอื่น ฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบความตระหนี่นั้นมีการซ่อนสมบัติของตนเป็นลักษณะ หรือความตระหนี่นั้นมีการถือเอาสมบัติของคนอื่นเป็นลักษณะ ด้วยอำนาจแห่งความเป็นไปว่า ความอัศจรรย์นี้ จงมีแก่เราคนเดียว อย่ามีแก่คนอื่น ดังนี้.
               คำที่เหลือในโคจฉกะนี้ มีเนื้อความง่ายทั้งนั้น.
               ก็สังโยชน์เหล่านี้ควรนำมาแสดงโดยลำดับกิเลสบ้าง โดยลำดับมรรคบ้าง.
               ว่าโดยลำดับกิเลส กามราคสังโยชน์และปฏิฆสังโยชน์อันอนาคามิมรรคย่อมประหาณ มานสังโยชน์อันอรหัตมรรคย่อมประหาณ. ทิฏฐิ วิจิกิจฉาและสีลัพพตปรามาสอันโสดาปัตติมรรคย่อมประหาณ. ภวราคสังโยชน์อันอรหัตมรรคย่อมประหาณ. อิสสา มัจฉริยะอันโสดาปัตติมรรคย่อมประหาณ. อวิชชาอันอรหัตมรรคย่อมประหาณ.
               ว่าโดยลำดับแห่งมรรค โสดาปัตติมรรคย่อมประหาณทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส อิสสาและมัจฉริยะ. อนาคามิมรรคย่อมประหาณกามราคะและปฏิฆะ. อรหัตมรรคย่อมประหาณมานะ ภวราคะและอวิชชา ดังนี้แล.
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ นิกเขปกัณฑ์ สัญโญชนโคจฉกะ จบ.
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 708อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 719อ่านอรรถกถา 34 / 736อ่านอรรถกถา 34 / 970
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=34&A=6337&Z=6467
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=53&A=10696
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=53&A=10696
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๑  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :