ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 255อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 274อ่านอรรถกถา 35 / 291อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อรรถกถา วิภังคปกรณ์
ปัจจยาการวิภังค์ อภิธรรมมาติกา

               ปฏิจจสมุปปาทวิภังค์               
               วรรณนาอภิธรรมภาชนีย์               
               พระศาสดาผู้มีพระญาณอันไม่มีอะไรขัดขวางในธรรมทั้งปวง ครั้นทรงแสดงปัจจยาการอันปราศจากขอดปมและไม่ยุ่งยากในสุตตันตภาชนีย์ ด้วยอำนาจจิตต่างๆ ปานดังทรงคลี่ผืนมหาปฐพี และปานดังทรงขยายนภากาศ ด้วยประการฉะนี้แล้ว บัดนี้ เพราะปัจจยาการนี้จะมีในจิตต่างๆ กัน อย่างเดียวเท่านั้นก็หาไม่ ย่อมมีแม้ในจิตดวงเดียวทีเดียว ฉะนั้น เพื่อจะทรงแสดงปัจจยาการซึ่งเกิดในขณะจิตดวงเดียวกัน โดยประการต่างๆ ด้วยอำนาจอภิธรรมภาชนีย์จึงทรงตั้งมาติกาไว้ก่อนโดยนัยมีอาทิว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขาโร (สังขารเกิดเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย) ดังนี้.
               ก็มาติกาที่ทรงตั้งไว้ อย่างนี้ว่า
                         อวิชฺชาทีหิ มูเลหิ      นว มูลปทา นว
                         นยา ตตฺถ จตุกฺกานิ   วารเภทญฺจ ทีปเย
                                        บัณฑิตพึงแสดงหมวด ๔ (แห่งปัจจัย)
                         และประเภทแห่งวาระในนัยทั้ง ๙ ซึ่งมีบทแห่งมูล ๙
                         ด้วยมูลทั้งหลายมีอวิชชาเป็นต้น.

               อธิบายนัยแห่งมาติกามีอวิชชาเป็นมูล               
               ในคาถานั้น มีการอธิบาย ดังต่อไปนี้ :-
               จริงอยู่ ในปฏิจจสมุปบาทนี้มี ๙ นัย มีบทที่เป็นมูล ๙ บทเหล่านี้คือ มีอวิชชาเป็นต้น ๑ มีสังขารเป็นต้น ๑ มีวิญญาณเป็นต้น ๑ มีนามเป็นต้น ๑ มีอายตนะที่ ๖ เป็นต้น ๑ มีผัสสะเป็นต้น ๑ มีเวทนาเป็นต้น ๑ มีตัณหาเป็นต้น ๑ มีอุปาทานเป็นต้น ๑ ด้วยบทที่เป็นมูล ๙ บทมีอวิชชาเป็นต้น คือโดยประเภทแห่งอวิชชา สังขาร วิญญาณ นาม อายตนะที่ ๖ ผัสสะ เวทนา ตัณหาและอุปาทาน.
               บรรดานัยทั้ง ๙ เหล่านั้น นัยนี้ใดมีอวิชชาเป็นต้นก่อน ในนัยที่มีอวิชชาเป็นต้นนั้นมีจตุกะ ๔ คือ
                         ปัจจยจตุกะ หมวด ๔ กำหนดด้วยปัจจัยธรรม
                         เหตุจตุกะ หมวด ๔ กำหนดด้วยเหตุธรรม
                         สัมปยุตตจตุกะ หมวด ๔ กำหนดด้วยสัมปยุตธรรม
                         อัญญมัญญจตุกะ หมวด ๔ กำหนดด้วยอัญญมัญญธรรม.
               แม้นัยที่เหลือก็เหมือนในนัยมีอวิชชานี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ในแต่ละนัย จึงรวมเป็น ๓๖ จตุกะด้วยอำนาจแห่งจตุกะ ๔. บรรดาจตุกะเหล่านั้น เพราะรวมวาระอย่างละ ๔ ด้วยจตุกะแต่ละจตุกะจึงเป็นวาระละ ๑๖ ในแต่ละนัย ด้วยอำนาจแห่งจตุกะทั้ง ๔ ดังนั้น พึงทราบว่าเป็น ๑๔๔ วาระแล.

               ว่าด้วยปัจจยจตุกะ               
               บรรดาจตุกะทั้ง ๔ นั้น ปัจจยจตุกะในนัยมีอวิชชาเป็นมูลก่อนกว่านัยทั้งหมดนี้ใด ในปัจจยจตุกะนั้น วาระที่หนึ่ง (บาลีข้อ ๒๗๔) ชื่อว่าทวาทสังคิกวาร (วาระประกอบด้วยองค์ ๑๒) ประกอบด้วยองค์สองไม่บริบูรณ์ เพราะตรัสนามไว้ในที่แห่งนามรูป และตรัสอายตนะที่ ๖ ไว้ในที่แห่งสฬายตนะ.
               วาระที่ ๒ (บาลีข้อ ๒๗๕) ชื่อว่าเอกาทสังคิกวาร (วาระประกอบด้วยองค์ ๑๑) ซึ่งประกอบด้วยองค์หนึ่งไม่บริบูรณ์ เพราะตรัสนามอย่างเดียวในที่แห่งนามรูป และไม่ตรัสองค์อะไรๆ ในที่แห่งสฬายตนะ.
               วาระที่ ๓ (บาลีข้อ ๒๗๖) ชื่อว่าทวาทสังคิกวาร (วาระประกอบด้วยองค์ ๑๒) ประกอบด้วยองค์หนึ่งบริบูรณ์ เพราะตรัสอายตนะที่ ๖ ไว้ในที่แห่งสฬายตนะ แต่วาระที่ ๔ มีองค์ ๑๒ บริบูรณ์แล้วโดยแท้.
               ในข้อนั้น หากมีข้อสงสัยว่า แม้วาระที่ ๓ นี้ก็ประกอบด้วยองค์ที่ไม่บริบูรณ์เหมือนกัน เพราะตรัสว่า ฉฏฺฐายตนปจฺจยา ผสฺโส (ผัสสะเกิดเพราะอายตนะที่ ๖ เป็นปัจจัย) ดังนี้. ข้อนั้นขอเฉลยว่า มิใช่เป็นดังนั้น เพราะอายตนะที่ ๖ นั้นมิใช่เป็นองค์ ความจริง ผัสสะอย่างเดียวเป็นองค์ในวาระที่ ๓ นี้ มิใช่อายตนะที่ ๖ เป็นองค์ เพราะฉะนั้นวาระที่ ๓ นี้ มิใช่ประกอบ ด้วยองค์หนึ่งไม่บริบูรณ์ เพราะอายตนะที่ ๖ นั้น มิใช่เป็นองค์ฉะนี้แล.
               อนึ่ง ในอรรถกถาท่านกล่าวว่า วาระที่หนึ่ง พระองค์ทรงถือเอาด้วยอรรถว่าทรงรวบรวมองค์ไว้ทั้งหมด วาระที่ ๒ ทรงถือเอาด้วยอรรถว่าเป็นความต่างกันแห่งปัจจัย วาระที่ ๓ ทรงถือเอาด้วยอำนาจแห่งสัตว์ผู้เกิดในครรภ์ วาระที่ ๔ ทรงถือเอาด้วยอำนาจแห่งสัตว์ผู้เป็นโอปปาติกะ.
               อนึ่ง วาระที่หนึ่งทรงถือเอาด้วยอรรถว่าการรวบรวมองค์ไว้ทั้งหมด วาระที่ ๒ ทรงถือเอาด้วยอรรถว่าความต่างกันแห่งปัจจัย วาระที่ ๓ ทรงถือเอาด้วยสามารถแห่งสัตว์มีอายตนะไม่บริบูรณ์ วาระที่ ๔ ทรงถือเอาด้วยอำนาจแห่งสัตว์มีอายตนะบริบูรณ์.
               อนึ่ง วาระที่หนึ่งทรงถือเอาด้วยอรรถว่ารวบรวมองค์ทั้งหมดนั่นแหละ วาระที่ ๒ ทรงถือเอาด้วยอำนาจมหานิทานสูตร วาระที่ ๓ ทรงถือเอาด้วยอำนาจรูปภพ วาระที่ ๔ ทรงถือเอาด้วยอำนาจกามภพ.
               บรรดาวาระทั้ง ๔ เหล่านั้น วาระที่หนึ่ง ตรัสว่า สัพพสังคาหิกะ (รวบรวมองค์ไว้ทั้งหมด) เพราะในวาระทั้ง ๓ มีวาระที่ ๒ เป็นต้นเหล่านี้ จะไม่รวมเข้าไปในที่ไหนๆ มิได้มี ความต่างกันแห่งวาระที่เหลือจักแจ่มแจ้งข้างหน้า. เพื่อความแจ่มแจ้งแห่งวาระที่หนึ่งนั้น พึงทราบว่า
                                   องค์ปฏิจจสมุปบาทใด ในวาระใดที่ตรัส
                         โดยประการอื่น และแม้องค์ปฏิจจสมุปบาทใดที่
                         ไม่ตรัสไว้ในวาระใด องค์ปฏิจจสมุปบาทใดเป็น
                         ปัจจัยแก่องค์ปฏิจจสมุปบาทใด โดยประการใด
                         พึงเข้าไปกำหนดองค์ทั้งหมดนั้นแล.
               ในคาถานั้นมีนัย ดังต่อไปนี้ :-
               ว่าโดยความไม่ต่างกันก่อน ถามว่า บรรดาวาระทั้ง ๔ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัสว่า สงฺขารา (สังขารทั้งหลาย) ดังนี้ เหมือนในสุตตันตภาชนีย์ แต่ตรัสว่า สงฺขาโร (สังขาร) ดังนี้นั้น เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะสังขารประกอบด้วยขณะแห่งจิตดวงเดียว.
               จริงอยู่ ในสุตตันตภาชนีย์นั้น ทรงจำแนกปัจจยาการอันเป็นไปในขณะแห่งจิตต่างๆ กัน ในอภิธรรมภาชนีย์นี้ ทรงปรารภปัจจยาการที่เป็นไปในขณะเดียวกัน ก็ในขณะแห่งจิตดวงเดียวกัน ย่อมไม่มีเจตนา (คือสังขาร) มาก จึงไม่ตรัสว่า สงฺขารา (สังขารทั้งหลาย) แต่ตรัสว่า สงฺขาโร (สังขารคือเจตนา) ดังนี้.
               อนึ่ง บรรดาวาระเหล่านี้ ในวาระที่หนึ่งทรงทิ้งรูปเสีย ตรัสว่า วิญฺญาณปจฺจยา นามํ (นามเท่านั้นมีวิญญาณเป็นปัจจัย) ดังนี้ เพราะทรงรวบรวมธรรมที่นับเนื่องในขณะแห่งจิตดวงเดียว และเพราะเป็นธรรมสาธารณะไปในที่ทุกสถาน.
               จริงอยู่ นามธรรมนั้นนับเนื่องในขณะจิตดวงเดียวกัน และเป็นธรรมสาธารณะไปในที่ทั้งหมด ย่อมไม่เป็นไปในฐานะแห่งความเป็นไปของวิญญาณ ในที่ไหนๆ หามิได้ ก็เพราะวาระที่หนึ่งนี้ ผัสสะก็มีหนึ่งเท่านั้น นับเนื่องเข้าในขณะแห่งจิตดวงเดียวกัน ฉะนั้น เมื่อทรงถือเอาอายตนะที่เป็นปัจจัยอันสมควรแก่ผัสสะนั้น จึงตรัสมนายตนะดวงเดียวเท่านั้นว่า นามปจฺจยา ฉฏฺฐายตนํ (อายตนะที่ ๖ เกิดเพราะนามเป็นปัจจัย) ดังนี้ไว้ในฐานะแห่งสฬายตนะ เพราะว่ามนายตนะนั้น เป็นปัจจัยอันสมควรแก่ผัสสะที่เป็นอกุศลดวงหนึ่ง และมนายตนะนี้ ก็ตรัสไว้แม้ในข้อนี้ว่า สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ (วิญญาณเกิดเพราะสังขารเป็นปัจจัย) ดังนี้ก็จริง ถึงอย่างนั้น เพื่อทรงแสดงความต่างกันแห่งเหตุและผล และเพื่อครบองค์ จึงทรงถือเอาในที่นี้อีก เพราะในสุตตันตภาชนีย์นั้น สังขารเป็นเหตุต่างกันแก่มนายตนะนี้ นามเป็นผลโดยไม่ต่างกัน แต่ในอภิธรรมภาชนีย์นี้ นามเป็นเหตุโดยไม่ต่างกันแก่มนายตนะนี้ ผัสสะเป็นผลโดยต่างกันฉะนี้แล.
               ส่วนธรรมทั้งหมดมีโสกะเป็นต้น เพราะไม่เกิดในขณะแห่งจิตดวงเดียวกัน ไม่เป็นไปในฐานะแห่งจิตและในจิตทั้งหมด ฉะนั้นจึงไม่ทรงถือเอา แต่ชาติ ชรามรณะ แม้มีประมาณขณะแห่งจิตไม่ได้ ก็ทรงถือเอาเพื่อครบองค์ (แห่งปัจจยาการ) เพราะผนวกเข้าภายในขณะจิต ในวาระที่หนึ่ง องค์ปฏิจจสมุปบาทใด ตรัสโดยประการอื่น และองค์ปฏิจจสมุปบาทใด ไม่ตรัสไว้ พึงทราบองค์ปฏิจจสมุปบาทนั้น ด้วยประการฉะนี้ก่อน.
               อนึ่ง ในวาระเหล่านี้ องค์ปฏิจจสมุปบาทใดที่ตรัสในวาระอื่นจากวาระที่หนึ่งนี้ พึงทราบอรรถแห่งองค์ปฏิจจสมุปบาทนั้น โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ แต่ความต่างกันใดๆ มาแล้วในวาระใดๆ ข้าพเจ้าจักประกาศอรรถอันต่างกันนั้นๆ ในวาระนั้นๆ ทีเดียว.
               ส่วนในข้อว่า องค์ปฏิจจสมุปบาทใดเป็นปัจจัยแก่องค์ปฏิจจสมุปบาทใด โดยประการใด นี้ มีอธิบายว่า อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร ๗ อย่าง คือโดยปัจจัย ๖ ปัจจัยมีสหชาตะ อัญญมัญญะ นิสสยะ สัมปยุตตะ อัตถิและอวิคตปัจจัย อันทั่วไปแก่สัมปยุตตธรรมและด้วยเหตุปัจจัย. บรรดาปัจจัยเหล่านั้นเพราะจตุกะ ๓ มีเหตุจตุกะเป็นต้นข้างหน้า ตรัสไว้ด้วยอำนาจอวิคตะ สัมปยุตตะและอัญญมัญญปัจจัย ฉะนั้น ในปัจจยจตุกะนี้พึงนำปัจจัยทั้ง ๓ เหล่านั้นออกแล้ว พึงทราบว่า อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร ๔ ด้วยอำนาจปัจจัยที่เหลือ.
               สังขารเป็นปัจจัยแก่วิญญาณ ๘ อย่าง คือโดยปัจจัยที่เป็นสาธารณะ ๖ ปัจจัย และด้วยกัมมปัจจัย ๑ อาหารปัจจัย ๑ แต่ในปัจจยจตุกะนี้ พึงนำ ๓ ปัจจัยเหล่านั้นแหละออก ก็พึงได้ปัจจัย ๕ อย่าง.
               วิญญาณเป็นปัจจัยแก่นาม ๙ อย่าง คือโดยปัจจัยที่เป็นสาธารณปัจจัย ๖ อย่างและด้วยอินทริยปัจจัย ๑ อาหารปัจจัย ๑ และอธิปติปัจจัย ๑ แต่ในปัจจยจตุกะนี้ พึงนำ ๓ ปัจจัยเหล่านั้นแหละออก คงได้ปัจจัย ๖ อย่าง
               นามเป็นปัจจัยแก่อายตนะที่ ๖ โดยปัจจัยที่เป็นสาธารณะ ๖ อย่าง ข้อว่า นามเป็นปัจจัยแก่อายตนะที่ ๖ นี้ นามบางอย่างเป็นปัจจัยด้วยอธิปติปัจจัย นามบางอย่างเป็นปัจจัยด้วยอาหารปัจจัย เพราะฉะนั้น นามจึงเป็นปัจจัยได้หลายอย่าง แต่ในปัจจยจตุกะนี้ พึงนำเอา ๓ ปัจจัยเหล่านั้นแหละออกแล้วคงได้ปัจจัย ๓ อย่างบ้าง ๔ อย่างบ้าง ๕ อย่างบ้าง.
               อายตนะที่ ๖ เป็นปัจจัยแก่ผัสสะ เหมือนวิญญาณเป็นปัจจัยแก่นาม. ผัสสะเป็นปัจจัยแก่เวทนา ๗ อย่าง คือโดยสาธารณปัจจัย ๖ อย่างและอาหารปัจจัย ๑ แต่ในปัจจยจตุกะนี้ พึงนำปัจจัย ๓ เหล่านั้นแหละออก คงได้ปัจจัย ๔ อย่าง.
               เวทนาเป็นปัจจัยแก่ตัณหา ๘ อย่าง คือโดยสาธารณปัจจัย ๖ อย่าง ด้วยฌานปัจจัย ๑ และอินทริยปัจจัย ๑ แต่ในปัจจยจตุกะนี้พึงนำออก ๓ ปัจจัยเหล่านั้นแหละ คงได้ปัจจัย ๕ อย่าง.
               ตัณหาเป็นปัจจัยแก่อุปาทาน เหมือนอวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร อุปาทานเป็นปัจจัยแก่ภพ ๗ อย่าง คือโดยสาธารณปัจจัย ๖ อย่าง และด้วยมรรคปัจจัย ๑ แต่ในปัจจยจตุกะนี้ พึงนำปัจจัย ๓ อย่างเหล่านั้นแหละออก ก็ได้ปัจจัย ๔ อย่าง.
               ภพเป็นปัจจัยแก่ชาติด้วยอุปนิสสยปัจจัยเท่านั้นโดยปริยาย (อ้อม) เพราะในคำว่า ชาติ นี้ ประสงค์เอาสังขตลักษณะ ชาติเป็นปัจจัยแก่ชรามรณะ ด้วยอุปนิสสยปัจจัยอย่างเดียวเหมือนกัน.
               ส่วนอาจารย์เหล่าใดกล่าวอย่างนี้ว่า "ในจตุกะนี้ อวิชชาเป็นต้นเป็นปัจจัยแก่สังขารเป็นต้นแม้ทั้งหมด ด้วยสหชาตปัจจัย เพราะวาระที่หนึ่ง ทรงเริ่มด้วยอำนาจสหชาตปัจจัยเท่านั้น" อาจารย์เหล่านั้น อันใครๆ พึงแสดงความไม่มีแห่งภพเป็นต้นเหมือนอย่างนั้น และแสดงความเกิดขึ้นแห่งปัจจัยที่เหลือแล้วพึงปฏิเสธ เพราะภพมิได้เป็นสหชาตปัจจัยแก่ชาติ ชาติก็ไม่เป็นสหชาตปัจจัยแก่ชรามรณะ ฝ่ายปัจจัยที่เหลือเหล่าใดตรัสไว้แก่สังขารเป็นต้นเหล่านั้น ปัจจัยแม้เหล่านั้นมีอยู่โดยแท้ เพราะฉะนั้น จึงไม่อาจทิ้งเสีย.
                                   องค์ปฏิจจสมุปบาทใด ในวาระใด
                         ที่ตรัสไว้ โดยประการอื่น และแม้องค์
                         ปฏิจจสมุปบาทใด ที่ไม่ตรัสไว้ในวาระใด
                         องค์ปฏิจจสมุปบาทใด เป็นปัจจัยแก่องค์-
                         ปฏิจจสมุปบาทใด โดยประการใด พึงทราบ
                         ว่าองค์ปฏิจจสมุปบาทนั้น เป็นปัจจัยแก่องค์
                         ปฏิจจสมุปบาทนั้น โดยประการนั้น ดังนี้
                         ในวาระที่หนึ่งอย่างนี้ก่อน.
               แม้ในวาระที่ ๒ เป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน.

               ว่าด้วยความต่างกันในวาระที่ ๒ (บาลีข้อ ๒๗๕)               
               ส่วนความต่างกัน พึงทราบดังนี้.
               ถามว่า ในวาระที่ ๒ ตรัสว่า นามปจฺจยา ผสฺโส (ผัสสะเกิดเพราะนามเป็นปัจจัย) มิได้ตรัสคำอะไรๆ ไว้ในที่แห่งสฬายตนะนั้น เพื่ออะไร?
               ตอบว่า เพื่อแสดงความต่างกันแห่งปัจจัย และเพื่อสงเคราะห์เข้าด้วยเทศนาในมหานิทานสูตร.
               จริงอยู่ ผัสสะหามีสฬายตนะเป็นปัจจัยอย่างเดียวเท่านั้นก็หาไม่ ที่แท้มีแม้ขันธ์ ๓ มีเวทนาขันธ์เป็นต้นเป็นปัจจัยด้วยทีเดียว ก็ในมหานิทานสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสปฏิจจสมุปบาทมีองค์ ๑๑ ทรงทิ้งสฬายตนะเสีย อย่างนี้ว่า ดูก่อนอานนท์ เมื่อเธอถูกถามว่า ผัสสะมีสิ่งนี้เป็นปัจจัยหรือ เธอพึงตอบว่า มี ถ้าเขาถามว่า ผัสสะมีอะไรเป็นปัจจัย เธอพึงตอบว่า มีนามรูปเป็นปัจจัย ดังนี้๑- เพราะฉะนั้น เพื่อทรงแสดงความต่างกันแห่งปัจจัยนี้ และเพื่อทรงกำหนดเทศนาในมหานิทานสูตรนี้ จึงตรัสว่า นามปจฺจยา ผสฺโส ไว้ในวาระที่ ๒ มิได้ตรัสคำอะไรๆ ไว้ในที่แห่งสฬายตนะ.
               นี้เป็นความต่างกันในทุติยวาระก่อน.
____________________________
๑- ที. มหาวคฺค เล่ม ๑๐/ข้อ ๕๗/หน้า ๖๖.

               ว่าด้วยความต่างกันในวาระที่ ๓ (บาลีข้อ ๒๗๖)               
               ส่วนในวาระที่ ๓ ตรัสองค์ที่ ๔ อันมาในสุตตันตภาชนีย์ว่า วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ (นามรูปเกิดเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย) ดังนี้. หากมีผู้ถามว่า องค์ที่ ๔ นั้น ไม่ควรในปัจจยจตุกะนี้ เพราะความที่ปัจจยาการเป็นไปในขณะจิตเดียว. พึงตอบว่า องค์ที่ ๔ (นามรูป) นั้น ไม่ควรหามิได้ เพราะเหตุไร? เพราะความเป็นปัจจัยในลักษณะของตน.
               จริงอยู่ แม้ถ้าว่า ในนามรูปนั้น รูปจะตั้งอยู่เกินกว่าขณะของจิต ถึงอย่างนั้น วิญญาณนั้นก็เป็นปัจจัยแก่รูปนั้นในลักษณะของตน ข้อนี้เป็นอย่างไร? คือ เบื้องต้นวิญญาณเป็นปัจจัย โดยเป็นปัจจัยแก่รูปอันมีจิตเป็นสมุฏฐานซึ่งเกิดก่อนบ้าง แก่รูปที่เกิดภายหลังบ้าง ข้อนี้สมกับพระดำรัสที่ตรัสว่า ปจฺฉาชาตา จิตฺตเจตสิกา ธมฺมา ปุเรชาตสฺส อิมสฺส กายสฺส ปจฺฉาชาตปจฺจเยน ปจฺจโย (ธรรมคือจิตและเจตสิกที่เกิดภายหลัง เป็นปัจจัยแก่กายนี้ที่เกิดก่อน ด้วยปัจฉาชาตปัจจัย) ดังนี้.
               อนึ่ง วิญญาณยังเป็นปัจจัยแก่รูปที่เกิดพร้อมกันซึ่งมีจิตเป็นสมุฏฐาน ด้วยนิสสยปัจจัย เหมือนอย่างที่ตรัสว่า ธรรมทั้งหลายคือจิตและเจตสิก เป็นปัจจัยแก่รูปทั้งหลายที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน ด้วยนิสสยปัจจัย.
               ถามว่า ถ้าเป็นอย่างนั้น เพราะเหตุไร ในวาระแรก จึงไม่ตรัสอย่างนี้เล่า?
               ตอบว่า เพราะทรงแสดงหมายถึงถิ่นที่รูปเป็นไป.
               จริงอยู่ ปัจจยาการนี้ พระองค์ทรงแสดงในกามภพอันเป็นถิ่นที่รูปเป็นไป ด้วยอำนาจแห่งสัตว์ผู้เกิดในครรภ์ แห่งโอปปาติกะผู้มีอายตนะไม่บริบูรณ์ และแห่งเทพในรูปาวจร ด้วยเหตุนั้นแหละ ในวาระที่ ๓ นี้ จึงไม่ตรัสว่า นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ (สฬายตนะเกิดเพราะนามรูปเป็นปัจจัย) แต่ตรัสว่า ฉฏฺฐายตนํ (อายตนะที่ ๖) ดังนี้ ในนามรูปนั้น นามมีนัยตามที่กล่าวไว้ในหนหลังนั่นแหละ ส่วนรูปพึงทราบว่า หทยรูป หทยรูปนั้นเป็นปัจจัยแก่อายตนะที่ ๖ นี้ ๒ อย่างคือด้วยนิสสยปัจจัยและปุเรชาตปัจจัยแล.
               นี้เป็นวาระที่ต่างกันในวาระที่ ๓.

               ว่าด้วยความต่างกันในวาระที่ ๔               
               ก็วาระที่ ๔ ตรัสไว้ด้วยอำนาจพวกสัตว์ที่เป็นสังเสทชะและโอปปาติกะด้วยอำนาจกำเนิด พวกสัตว์ผู้มีอายตนะบริบูรณ์ด้วยอำนาจอายตนะ พวกสัตว์ในกามาพจรด้วยสามารถแห่งภพ ด้วยเหตุนั้นแหละ ในวาระที่ ๔ นี้ จึงตรัสว่า นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ (สฬายตนะเกิดเพราะนามรูปเป็นปัจจัย) ดังนี้
               ในนามรูปนั้น นามเป็นปัจจัยแก่อายตนะที่ ๖ ด้วยสหชาตปัจจัยเป็นต้น เป็นปัจจัยแก่อายตนะมีจักขุเป็นต้น ด้วยปัจฉาชาตปัจจัย. บรรดารูป หทยรูปเป็นปัจจัยแก่อายตนะที่ ๖ ด้วยนิสสยปัจจัยและปุเรชาตปัจจัย.
               มหาภูตรูป ๔ เป็นปัจจัยแก่จักขวายตนะเป็นต้น ด้วยสหชาตะ นิสสยะ อัตถิและอวิคตปัจจัย ก็เพราะปัจจยาการนี้เป็นไปในขณะจิตเดียว ฉะนั้น จึงไม่ตรัสในวาระที่ ๔ นี้ว่า สฬายตนปจฺจยา (เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย) ตรัสว่า ฉฏฺฐายตนปจฺจยา ผสฺโส (ผัสสะเกิดเพราะอายตนะที่ ๖ เป็นปัจจัย).
               นี้เป็นความต่างกันในวาระที่ ๔ ด้วยประการฉะนี้.
               บัณฑิตครั้นทราบเหตุต่างกันแห่งวาระทั้ง ๔ เหล่านี้อย่างนี้แล้ว พึงทราบอีกว่า ในวาระทั้ง ๔ เหล่านั้นทั้งหมดทีเดียว วาระ ๒ ข้อข้างต้น ตรัสเพื่อแสดงปัจจยาการในอรูปภพ เพราะองค์ปฏิจสมุปบาทที่ไม่ระคนด้วยรูป ย่อมเป็นไปในอรูปภพ. วาระที่ ๓ ตรัสไว้เพื่อทรงแสดงปัจจยาการในรูปภพ เพราะว่าเมื่อความระคนด้วยรูปยังมีอยู่ สฬายตนะก็ย่อมไม่เป็นไปในรูปภพ. วาระที่ ๔ ตรัสเพื่อทรงแสดงปัจจยาการในกามภพ เพราะว่า สฬายตนะทั้งสิ้นย่อมเป็นไปในกามภพ.
               อีกอย่างหนึ่ง วาระที่ ๓ ตรัสหมายเอาขณะอกุศลเป็นไปแก่พวกสัตว์ที่มีอายตนะบกพร่องในรูปภพและในกามภพ วาระที่ ๔ ตรัสหมายสัตว์ผู้มีอายตนะครบในกามภพ.
               อีกนัยหนึ่ง วาระที่ ๑ ตรัสหมายเอาจิตที่เป็นไปในที่ทั้งหมด เพราะว่า วาระที่ ๑ นั้น จะไม่เป็นไปในถิ่นที่จิตเป็นไปที่ไหนๆ หามิได้. วาระที่ ๒ ตรัสหมายเอาความต่างกันแห่งปัจจัย เพราะว่า ความที่วาระมีองค์ ๑๑ และความที่ผัสสะมีนามเป็นปัจจัย เป็นความต่างแห่งปัจจัย ในวาระที่ ๒ นี้. วาระที่ ๓ ตรัสหมายเอากำเนิด ๒ ข้างต้น เพราะว่า วาระที่ ๓ นั้นย่อมมีในกำเนิด ๒ ข้างต้น เพราะความที่สฬายตนะไม่เกิดทุกเมื่อในกำเนิด ๒ ข้างต้นนั้น วาระที่ ๔ ตรัสหมายเอากำเนิด ๒ ข้างหลัง เพราะว่า วาระที่ ๔ นั้นย่อมมีในกำเนิด ๒ ข้างหลัง เพราะความที่สฬายตนะเกิดขึ้นทุกเมื่อในกำเนิด ๒ ข้างหลังนั้นแล.
               ก็โดยลำดับแห่งคำเพียงเท่านี้ องค์ใดที่กล่าวในวาระทั้ง ๔ ว่า
                                   องค์ปฏิจจสมุปบาทใด ในวาระใด
                         ที่ตรัสไว้โดยประการอื่น และแม้องค์ปฏิจจ-
                         สมุปบาทใด ที่ไม่ตรัสไว้ในวาระใด องค์-
                         ปฏิจจสมุปบาทใด เป็นปัจจัยแก่องค์ปฏิจจ-
                         สมุปบาทใด โดยประการใด พึงเข้าไป
                         กำหนดองค์ทั้งหมดนั้น ดังนี้.
               การแสดงความแห่งคาถา ย่อมเป็นอันข้าพเจ้ากระทำแล้ว ด้วยประการฉะนี้.
                                   ต่อจากจตุกะนี้ไป บัณฑิตพึงทราบ
                         นัยทั้งหมดนี้ และความต่างกัน แม้ในจตุกะ
                         อื่น โดยทำนองนี้นั่นแหละ.

               ว่าด้วยเหตุจตุกะ (บาลีข้อ ๒๗๘)               
               บรรดาจตุกะเหล่านั้น นัยที่ตรัสไว้ในปัจจยจตุกะก่อนนั้น ปรากฏชัดแล้วในจตุกะทั้งหมดทีเดียว ส่วนความต่างกันในเหตุจตุกะเป็นต้นพึงทราบอย่างนี้ ในเหตุจตุกะก่อน.
               อวิชฺชา เหตุ อสฺสาติ อวิชฺชาเหตุโก อวิชชาเป็นเหตุแห่งสังขารนี้ เพราะเหตุนั้น สังขารนี้จึงชื่อว่า อวิชฺชาเหตุโก (มีอวิชชาเป็นเหตุ) มีอธิบายว่า สังขารนี้มีอวิชชาเป็นไป คือไปจนถึงขณะดับ เพราะเป็นไป (เกิด) พร้อมกัน.
               อนึ่ง พระองค์ครั้นทรงแสดงว่า อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขารโดยสาธารณปัจจัยด้วยอำนาจแห่งปัจจัยมีสหชาตะเป็นต้น โดยพระดำรัสเพียงเท่านี้ว่า อวิชฺชาปจฺจยา (เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย) แล้ว จึงทรงแสดง ความที่อวิชชาเป็นอวิคตปัจจัย โดยพิเศษ ด้วยพระดำรัสว่า อวิชฺชาเหตุโก (มีอวิชชาเป็นเหตุ) อีก. แม้ในคำมีอาทิว่า สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ สงฺขารเหตุกํ (วิญญาณมีสังขารเป็นเหตุ เกิดเพราะสังขารเป็นปัจจัย) ดังนี้ ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไรในองค์มีภพเป็นต้น จึงไม่ทรงทำศัพท์ว่าเหตุกะ ไว้
               ตอบว่า เพราะองค์มีภพเป็นต้นนั้นไม่มีความกำหนดด้วยอวิคตปัจจัยและเพราะไม่มีอวิคตปัจจัย เพราะคำว่า ภพ ในเหตุจตุกะนี้เป็นชื่อของขันธ์ ๔ ที่มีอุปาทานเป็นปัจจัย โดยพระบาลีว่า ตตฺถ กตโม อุปาทานปจฺจยา ภโว ฯเปฯ อยํ วุจฺจติ อุปาทานปจฺจยา ภโว ในพระบาลีนั้น ภพเกิดเพราะอุปาทานเป็นปัจจัยเป็นไฉน? เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ เว้นอุปาทาน นี้เรียกว่า ภพเกิดเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ดังนี้.
               อนึ่ง ชาติ ชรามรณะก็ผนวกเข้าในสังขารขันธ์ โดยพระบาลีมีอาทิว่า ชาติ ทฺวีหิ ขนฺเธหิ สงฺคหิตา (ชาติสงเคราะห์เข้าด้วยขันธ์ ๒) ดังนี้.
               ในพระบาลีนั้น อุปาทานย่อมไม่เป็นอวิคตปัจจัยแก่ภพโดยแน่นอน เพราะความไม่ได้ชาติ ชรามรณะตลอดเวลาที่มีอุปาทาน ความเป็นอวิคตปัจจัยย่อมไม่เกิดแก่ชาติในสังขตลักษณะทั้งหลาย เพราะความที่ภพกล่าวคือชรามรณะ ไม่มีเพียงขณะแห่งชาติทีเดียว โดยพระบาลีมีอาทิว่า "ชาติ (ความเกิด) แห่งธรรมนั้นๆ อันใด" ดังนี้ ความเป็นอวิคตปัจจัยย่อมไม่เกิดแก่ชาติ เพราะความที่ชาติไม่มีในขณะชราและมรณะโดยแท้.
               อนึ่ง ภพเป็นปัจจัยแก่ชาติ และชาติเป็นปัจจัยแก่ชรามรณะ ด้วยอุปนิสสยปัจจัยอย่างเดียว เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า มิได้ทรงทำศัพท์ว่า เหตุกะ ในองค์ทั้งหลายมีภพเป็นต้น เพราะไม่มีกำหนดด้วยอวิคตปัจจัย และเพราะความไม่มีอวิคตปัจจัย แม้โดยประการทั้งปวง.
               ส่วนอาจารย์บางพวกกล่าวว่า ภพซึ่งระคนด้วยอุปบัติ โดยพระบาลีว่า ภพมี ๒ อย่าง และอุปาทานเป็นอวิคตปัจจัยแก่อุปปัตติภพ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ตรัสว่า ภพมีอุปาทานเป็นเหตุ เกิดเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย แต่ตรัสว่า ภพเกิดเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ดังนี้ เพราะทรงตัดออกแล้วในเหตุจตุกะนี้ แม้ข้างหน้าก็มิได้ตรัสไว้ อุปาทานนั้นไม่สมควร เพราะในที่นี้ มิทรงประสงค์เอาภพที่ระคนด้วยอุปบัติ ด้วยว่าอรูปขันธ์มาในที่นี้ว่า ภพ.
               อนึ่ง ในข้อว่า ชาติเกิดเพราะภพเป็นปัจจัย นี้ ภพที่เหลือเว้นชาติและชรามรณะแล้ว พึงทราบว่า เป็นปัจจัยแก่ชาติ เพราะเหตุไร เพราะชาติเป็นต้น ไม่เป็นปัจจัยแก่ชาติ ดังนี้ ถ้าเป็นอย่างนั้น เว้นชาติชราและมรณะแล้ว ภพก็ควรตรัสว่า เป็นปัจจัยแก่ชาติ. ควรตอบว่า ถูกแล้ว แต่พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัส เพราะไม่มีข้ออ้างที่ควรตรัส ก็ในนิเทศแห่งองค์ที่ ๑๐ ควรตรัสภพซึ่งเกิดเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ในนิเทศแห่งองค์ที่ ๑๑ ควรตรัสถึงชาติ แต่ภพเป็นปัจจัยแก่ชาติ ไม่มีข้ออ้างควรกล่าวบทนั้น ฉะนั้น จึงไม่ตรัส เพราะไม่มีข้ออ้างที่พึงตรัส ถึงแม้มิได้ตรัส ก็ควรถือเอาโดยควรแล.
               ก็ในคำว่า นามรูปเกิดเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย เป็นต้น ทรงกระทำคำว่า มีวิญญาณเป็นเหตุ เป็นต้น เพราะความที่วิญญาณเป็นต้น เกิดพร้อมกับความเป็นอวิคตปัจจัย.
               นี้เป็นความต่างกันในเหตุจตุกะ.

               ว่าด้วยสัมปยุตตจตุกะ (บาลีข้อ ๒๘๒)               
               แม้ในสัมปยุตตจตุกะ ก็ทรงแสดงความที่สังขารมีอวิชชาเป็นปัจจัย ด้วยอำนาจปัจจัยมีสหชาตะเป็นต้น โดยตรัสเพียงเท่านี้ว่า อวิชฺชาปจฺจยา (เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย) แล้วทรงแสดงความที่อวิชชาเป็นสัมปยุตตปัจจัยว่า อวิชฺชาสมฺปยุตฺโต (สัมปยุตด้วยอวิชชา) ดังนี้.
               แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.
               แต่เพราะอรูปธรรมไม่ประกอบกับรูปธรรมทั้งหลาย ฉะนั้น แม้ในคำว่า วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ (นามรูปเกิดเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย) เป็นต้น ก็ถือเอาเฉพาะองค์ที่ได้เท่านั้น โดยนัยมีอาทิว่า วิญฺญาณสมฺยุตฺตํ นามํ (นามสัมปยุตด้วยวิญญาณ) ในบทวาระที่ ๓ และที่ ๔.
               นี้เป็นความต่างกันในสัมปยุตตจตุกะ.

               ว่าด้วยอัญญมัญญจตุกะ (บาลีข้อ ๒๘๖)               
               อนึ่ง ในอัญญมัญญจตุกะ พระองค์ทรงแสดงความที่สังขารมีอวิชชาเป็นปัจจัย ด้วยอำนาจปัจจัยมีสหชาตะเป็นต้นว่า อวิชฺชาปจฺจยา (เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย) แล้วแสดงความที่อวิชชาเป็นอัญญมัญปัจจัยว่า สงฺขารปจฺจยาปิ อวิชฺชา (อวิชชาเกิดแม้เพราะสังขารเป็นปัจจัย) ดังนี้.
               แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.
               แต่เพราะภพเป็นนิปปเทสะ (คือทรงแสดงโดยสิ้นเชิง) อุปาทานเป็นสัปปเทสะ (คือทรงแสดงเล็กน้อย) และธรรมที่เป็นสัปปเทสะเป็นปัจจัยแก่ธรรมที่เป็นนิปปเทสะ ธรรมที่เป็นนิปปเทสะไม่เป็นปัจจัยแก่ธรรมที่เป็นสัปปเทสะ ฉะนั้น ในอัญญมัญญจตุกะนี้ จึงไม่ตรัสว่า ภวปจฺจยาปิ อุปาทานํ (อุปาทานเกิดแม้เพราะภพเป็นปัจจัย) อีกนัยหนึ่ง มิได้ตรัสอย่างนี้เพราะทรงตัดออกแล้วโดยเทศนาไว้ในหนหลัง แต่เพราะสฬายตนะมีเพราะนามรูปเป็นปัจจัย นามรูปย่อมไม่มีเพราะสฬายตนะเป็นปัจจัยในขณะจิตดวงเดียวกัน สฬายตนะพึงเป็นอัญญมัญญปัจจัยแก่นามรูปใด ฉะนั้น ในวาระที่ ๔ จึงทรงถือเอาเฉพาะองค์ที่ได้ในข้อว่า สฬายตนปจฺจยาปิ นามรูปํ (นามรูปเกิดแม้เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย).
               นี้เป็นความต่างกันในอัญญมัญญจตุกะ.
               มาติกาแห่งนัยมีอวิชชาเป็นมูล จบ.               

               อธิบายนัยแห่งมาติกามีสังขารเป็นมูลเป็นต้น๑-               
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเริ่มนัยมีสังขารเป็นมูลว่า สงฺขารปจฺจยา อวิชฺชา (อวิชชาเกิดเพราะสังขารเป็นปัจจัย) แม้ในพระบาลีมีสังขารเป็นมูลเป็นต้นนั้น ก็พึงทราบจตุกะ ๔ และวาระ ๑๖ เหมือนในนัยที่มีอวิชชาเป็นมูล.
____________________________
๑- บาลีข้อ ๒๙๐.

               ว่าด้วยนิเทศจตุกะที่ ๑               
               ก็ในจตุกะที่ ๑ พระองค์ทรงแสดงเฉพาะวาระที่ ๑ เท่านั้นแล้วทรงย่อเทศนาไว้ แม้ในนัยที่มีวิญญาณเป็นมูลเป็นต้นก็เหมือนในนัยที่มีสังขารเป็นมูลนี้ บรรดานัยเหล่านั้น พระองค์ทรงแสดงความที่อวิชชามีสังขารเป็นต้นเป็นปัจจัยด้วยอำนาจปัจจัยมีสหชาตะเป็นต้น โดยนัยมีอาทิว่า สงฺขารปจฺจยา อวิชฺชา (อวิชชาเกิดเพราะสังขารเป็นปัจจัย) ในนัยทั้ง ๘ มีสังขารเป็นมูลเป็นต้นเหล่านั้นทั้งหมดทีเดียว แล้วจึงทรงแสดงความเป็นไปแห่งจักร คือปัจจยาการ แม้ในขณะแห่งจิตดวงเดียวกัน โดยนัยมีอาทิว่า อวิชฺชาปจฺยา สงฺขาโร (สังขารเกิดเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย) ดังนี้อีก.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร จึงไม่ตรัสนัยทั้งหลายมีภพเป็นมูล หรือมีชาติและชรามรณะเป็นมูล อวิชชาย่อมไม่มีเพราะภพเป็นปัจจัย หรือ?
               ตอบว่า ไม่มี หามิได้. แต่เมื่อตรัสคำมีอาทิอย่างนี้ว่า สงฺขารปจฺจยา อวิชฺชา (อวิชชาเกิดเพราะสังขารเป็นปัจจัย) ก็จะไม่ได้ตรัสธรรมที่นับเนื่องด้วยภพไรๆ เป็นปัจจัยแก่อวิชชา เพราะฉะนั้น จึงไม่ตรัสนัยมีภพเป็นมูล เพราะไม่มีธรรมอื่นที่ไม่อยู่ข้างต้นซึ่งเป็นปัจจัยแก่อวิชชาที่ควรตรัส และแม้อวิชชาก็ย่อมถึงการสงเคราะห์ไว้ด้วยศัพท์ว่าภพ เพราะฉะนั้น เมื่อพระองค์ตรัสว่า ภวปจฺจยา อวิชฺชา (อวิชชาเกิดเพราะภพเป็นปัจจัย) ก็พึงเป็นการตรัสแม้ว่า อวิชฺชาปจฺจยา อวิชฺชา (อวิชชาเกิดเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย) ด้วยว่าในขณะแห่งจิตดวงเดียว อวิชชาย่อมไม่ชื่อว่าเป็นปัจจัยแก่อวิชชา เพราะทรงตัดออกในภพนั่นแหละ นัยแม้มีชาติ ชรามรณะเป็นมูล ก็ไม่ทรงถือเอา อีกนัยหนึ่ง แม้ชาติ ชรามรณะ ก็ทรงผนวกเข้าในภพ และชาติชรามรณะเหล่านี้จะเป็นปัจจัยแก่อวิชชา ในขณะแห่งจิตดวงเดียวกัน ก็หาไม่ เพราะฉะนั้น จึงไม่ตรัสนัยที่มีภพเป็นมูล หรือมีชาติชรามรณะเป็นมูลฉะนี้แล.

               จบมาติกากถา.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา วิภังคปกรณ์ ปัจจยาการวิภังค์ อภิธรรมมาติกา จบ.
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 255อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 274อ่านอรรถกถา 35 / 291อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=35&A=3846&Z=4107
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=54&A=5069
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=54&A=5069
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :