ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 1อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 32อ่านอรรถกถา 35 / 44อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อรรถกถา วิภังคปกรณ์
ขันธวิภังค์ อภิธรรมภาชนีย์ รูปขันธ์เป็นต้น

               ขันธวิภังคนิเทศ วรรณนาอภิธรรมภาชนีย์               
               ว่าด้วยนิเทศรูปขันธ์               
               บัดนี้ เป็นอภิธรรมภาชนีย์ คือนัยที่ทรงจำแนกโดยพระอภิธรรม ในอภิธรรมภาชนีย์นั้น บัณฑิตพึงทราบนิเทศรูปขันธ์โดยนัยที่ข้าพเจ้าให้พิสดารไว้ในรูปกัณฑ์ (แห่งอรรถสาลินีอรรถกถาธรรมสังคณี) ในหนหลังนั่นแล.

               ว่าด้วยนิเทศเวทนาขันธ์               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศเวทนาขันธ์ ต่อไป.
               บทว่า เอกวิเธน แก้เป็น เอกโกฏฺฐาเสน แปลว่า หมวดหนึ่ง.
               บทว่า ผสฺสสมฺปยุตฺโต แยกบทเป็น ผสฺเสน สมฺปยุตฺโต แปลว่า สัมปยุตด้วยผัสสะ เวทนาที่เป็นไปในภูมิ ๔ แม้ทั้งหมด ได้แก่เวทนาในสเหตุกทุกะ๑- คือที่เป็นสเหตุกเวทนาเป็นเวทนาเป็นไปในภูมิ ๔ ที่เป็นอเหตุกเวทนาเป็นกามาพจรอย่างเดียว พึงทราบเวทนาที่ตรัสโดยบทแห่งกุศลเป็นต้นโดยอุบายนี้.
____________________________
๑- สเหตุกทุกะ คือเวทนาที่เป็นสเหตกะและอเหตุกะ.

               อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเวทนาขันธ์นี้อย่างเดียว โดยเป็นธรรมสัมปยุตด้วยผัสสะ ทรงแสดงเวทนาหมวดละ ๒ อย่าง โดยเป็นเวทนาประกอบด้วยเหตุและไม่ประกอบด้วยเหตุ ทรงแสดงเวทนาหมวดละ ๓ อย่างโดยการเกิด ทรงแสดงเวทนาหมวดละ ๔ อย่างโดยความต่างแห่งภูมิ ทรงแสดงเวทนาหมวดละ ๕ โดยความเป็นอินทรีย์ บรรดาเวทนาหมวดละ ๕ เหล่านั้น เวทนาที่เป็นสุขินทรีย์และทุกขินทรีย์อาศัยกายประสาทเกิดขึ้นเป็นกามาพจรอย่างเดียว เวทนาที่เป็นโสมนัสสินทรีย์เป็นไปในภูมิ ๓ อาศัยวัตถุที่ ๖ เกิดขึ้นก็มี ไม่อาศัยวัตถุที่ ๖ เกิดขึ้นก็มี. เวทนาที่เป็นโทมนัสสินทรีย์ อาศัยวัตถุที่ ๖ เกิดขึ้นเป็นกามาพจร. เวทนาที่เป็นอุเบกขินทรีย์เป็นไปในภูมิ ๔ คืออาศัยประสาท ๔ มีจักขุเป็นต้นเกิดขึ้นก็มี อาศัยวัตถุที่ ๖ เกิดขึ้นก็มี ไม่อาศัยวัตถุเกิดขึ้นก็มี. ทรงแสดงเวทนาหมวดละ ๖ อย่างโดยวัตถุ บรรดาเวทนา ๖ เหล่านั้น เวทนา ๕ ข้างต้นอาศัยประสาท ๕ มีจักขุเป็นต้นเกิดขึ้น เป็นกามาพจรอย่างเดียว เวทนาที่ ๖ ไม่อาศัยวัตถุเกิดขึ้นก็มี อาศัยวัตถุเกิดขึ้นก็มีซึ่งเป็นไปในภูมิ ๔. ทรงแสดงเวทนาหมวดละ ๗ อย่าง ในเวทนา ๖ อย่างเหล่านั้นโดยแยกเวทนาที่เกิดแต่มโนสัมผัส. ทรงแสดงเวทนาหมวดละ ๘ อย่าง ในเวทนา ๗ อย่างนั้นโดยแยกเวทนาที่เกิดแต่กายสัมผัส. ทรงแสดงเวทนาหมวดละ ๙ อย่าง โดยประเภทเวทนาที่เกิดแต่สัมผัสแห่งมโนวิญญาณธาตุในประเภทแห่งเวทนา ๗ อย่าง. ทรงแสดงเวทนาหมวดละ ๑๐ อย่าง โดยประเภทแห่งเวทนาที่เกิดแต่สัมผัสแห่งมโนวิญญาณธาตุ ในประเภทแห่งเวทนา ๘ อย่าง.
               จริงอยู่ ในเวทนาเหล่านี้ มโนสัมผัสสชาเวทนาในประเภทเวทนาหมวดละ ๗ อย่างแยกเป็น ๒ คือมโนธาตุสัมผัสสชาเวทนาและมโนวิญญาณธาตุสัมผัสสชาเวทนา. ในประเภทเวทนาหมวดละ ๘ อย่างแยกเป็น ๒ คือสุขเกิดแต่กายสัมผัส ทุกข์เกิดแต่กายสัมผัส รวมกับมโนสัมผัสสชาเวทนานั้น. ในประเภทเวทนาหมวดละ ๙ อย่าง ได้แก่มโนวิญญาณธาตุสัมผัสสชาเวทนา ตามที่ตรัสไว้ในประเภทเวทนา ๗ ทรงแยกเป็น ๓ ด้วยอำนาจกุศลเป็นต้น. ในเวทนาขันธ์ ๑๐ อย่าง ได้แก่มโนวิญญาณธาตุสัมผัสสชาเวทนาตามที่ตรัสไว้ในเวทนาขันธ์ ๘ อย่าง ทรงแยกเป็น ๓ ด้วยอำนาจกุศลเป็นต้นนั้นแหละ ก็ในเวทนาขันธ์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเวทนาประกอบด้วยกุศลติกะเพื่อทำบทให้เต็มเท่านั้น แต่ในประเภทเวทนาหมวดละ ๗ อย่าง ๘ อย่างและ ๙ อย่าง เพื่อต้องการประทานนัย จึงทรงประทานนัยไว้ในฐานะที่ควรประทาน เพราะเพ่งถึงพระอภิธรรม พระตถาคตเจ้าชื่อว่า มิได้ทรงประทานนัยไว้ในฐานะที่ควรประทาน มิได้มี. นี้เป็นวาระหนึ่งในทุกมูลก่อน.
               จริงอยู่ พระศาสดาเมื่อทรงจำแนกเวทนาขันธ์ในอภิธรรมภาชนีย์นี้ ทรงถือเอาธรรมหมวดติกะ (หมวด ๓) ใส่ในธรรมหมวดทุกะ (หมวด ๒) บ้าง ทรงถือเอาธรรมหมวดทุกะใส่ในธรรมหมวดติกะบ้าง ทรงถือเอาธรรมหมวด ๓ และหมวด ๒ แล้วนำมาโดยทำนองแห่งธรรมอันให้เพิ่มขึ้นทั้ง ๒ ย่อมทรงแสดงเวทนาขันธ์โดยมากอย่าง แม้ในที่ทั้งปวง คือทรงแสดงเวทนาหมวดละ ๗ อย่าง เวทนาหมวดละ ๒๔ อย่าง เวทนาหมวดละ ๓๐ อย่าง และเวทนามากอย่าง เพราะเหตุไร? เพราะทรงแสดงตามอัชฌาศัยของบุคคล และเพื่อความไพเราะแห่งเทศนา (เทสนาวิลาส).

               ว่าด้วยเทศนาตามอัชฌาศัยบุคคล               
               จริงอยู่ เทวบุตรเหล่าใดในเทวบริษัทที่นั่งเพื่อจะฟังธรรม ย่อมอาจเพื่อแทงตลอดพระดำรัสที่พระศาสดาทรงถือเอาธรรมหมวดติกะใส่เข้าในธรรมหมวดทุกะแสดงอยู่ พระองค์ก็ทรงแสดงกระทำเหมือนอย่างนั้น ด้วยอำนาจสัปปายะของเทวบุตรเหล่านั้น เทวบุตรเหล่าใดอาจเพื่อแทงตลอดธรรมที่พระองค์ตรัสโดยอาการอย่างอื่นก็ทรงแสดงด้วยอาการเหล่านั้นแก่เทพบุตรเหล่านั้น. นี้เป็นอัชฌาศัยของบุคคลในการทรงเทศนาเวทนาขันธ์นี้.

               ว่าด้วยเทศนาวิลาส               
               ก็พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอาจเพื่อแสดงเวทนาขันธ์โดยประการที่ถือเอาธรรมหมวดติกะใส่ในธรรมหมวดทุกะ หรือธรรมหมวดทุกะใส่ในธรรมหมวดติกะ หรือให้ธรรมหมวดติกะและทุกะทั้งสองเจริญขึ้น หรือนัยที่ทรงแสดงเวทนาหมวดละ ๗ อย่างเป็นต้นได้ตามปรารถนานั้นๆ เพราะความที่พระองค์ทรงมีอารมณ์มาก แม้เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงทรงแสดงด้วยอาการอย่างนี้ นี้ชื่อว่าเทศนาวิลาสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.

               ว่าด้วยกำหนดมหาวาระ ๔               
               ในอภิธรรมภาชนีย์นั้น บัณฑิตพึงทราบมหาวาระ ๔ เหล่านี้ก่อน คือวาระที่พระองค์ทรงถือเอาเวทนาขันธ์ในธรรมหมวดติกะใส่ในธรรมหมวดทุกะแสดงไว้ ชื่อว่าทุกมูลกวาร วาระที่ทรงถือเอาเวทนาในธรรมหมวดทุกะใส่ในธรรมหมวดติกะแสดงไว้ ชื่อว่าติกมูลกวาร วาระที่ทรงยังเวทนาในหมวดติกะและทุกะทั้ง ๒ ให้เจริญแสดงไว้ ชื่อว่าอุภโตวัฑฒิตกวาร วาระมีอาทิว่า สตฺตวิเธน ดังนี้ ในที่สุด ชื่อว่าพหุวิธวาร.
               บรรดามหาวาระทั้ง ๔ เหล่านั้น ในทุกมูลกวารมีวาระ ๙๕๐ วาระ มีวาระที่ประกอบติกะที่หนึ่งในทุกะที่สอง โดยการนำเวทนาติกะ ปีติติกะ สนิทัสสนติกะในติกะทั้งหลายออกพร้อมกับทุกะหนึ่งๆ ที่ได้อยู่ในทุกะทั้งหลาย แล้วประกอบติกะ ๑๙ ที่เหลือ ซึ่งได้อยู่เป็นต้น วาระแม้เหล่านั้นทั้งหมด ทรงย่อตรัสไว้ในพระบาลีแสดงธรรมที่ควรแสดงไว้ในที่นั้นๆ ก็สำหรับบุคคลที่ไม่ให้ฟั่นเฝือควรทราบโดยพิสดาร.
               แม้ในติกมูลกวาร ก็มีวาระ ๙๕๐ วาระ มีวาระแห่งการประกอบทุกะที่สองกับติกะที่หนึ่งเป็นต้น โดยนำทุกะแรกเป็นต้น ซึ่งไม่ได้ในทุกะทั้งหลายออกเสีย ประกอบเฉพาะทุกะ ๕๐ มีสเหตุกทุกะเป็นต้นซึ่งได้อยู่ที่เหลือ กับติกะหนึ่งๆ ที่ได้อยู่ในติกะทั้งหลาย วาระเหล่านั้นแม้ทั้งหมดตรัสไว้ในพระบาลี ทรงย่อแสดงที่ควรแสดงในที่นั้นๆ ก็อันบุคคลผู้มิให้ฟั่นเฝือควรทราบโดยพิสดาร.
               ในอุภโตวัฑฒิตกวาร ตรัสว่ามีวาระ ๑๙ วาระคือมีวาระประกอบติกะที่หนึ่งกับทุกะที่สองเป็นต้นประกอบติกะ ๑๙ ที่ได้อยู่ด้วยทุกะทั้งหลาย ๑๙ ที่ได้อยู่โดยกระทำทุกะที่สองในประเภทเวทนาหมวดละสอง และปฐมติกะแม้ในประเภทเวทนาหมวดละสามให้เป็นต้น นี้เป็นมหาวาระที่สาม ชื่อว่าอุภโตวัฑฒิตกวาร เพราะยังทุกะทั้งสองด้วยอำนาจแห่งทุกะและติกะให้เจริญแล้ว.
               ในนิเทศแห่งเวทนาหมวดละ ๗ ของพหุวิธวาร ตรัสวาระว่าด้วยเวทนาหมวดละ ๗ อย่าง ไว้ ๑๙ วาระ ประกอบกับภูมิ ๔ พร้อมกับติกะ ๑๙ ที่ได้อยู่แต่ละติกะ จำเดิมแต่ต้น. แม้ในนิเทศแห่งเวทนาหมวดละ ๒๔ ก็ตรัสวาระ ๑๙ วาระ ด้วยอำนาจติกะเหล่านั้นนั่นเอง ในพหุวิธวาร (ว่าด้วยเวทนาขันธ์หมวดละมากอย่าง) ก็ตรัสไว้อย่างนั้น. วาระว่าด้วยเวทนาหมวดละ ๓๐ เป็นชนิดเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้น วาระแม้ทั้งหมดจึงเป็น ๕๘ วาระ นี้เป็นการพรรณนาพระบาลีในเวทนาขันธ์ด้วยสามารถการกำหนดวาระก่อน.

               ว่าด้วยพรรณนาอรรถในเวทนาขันธ์               
               บัดนี้ เป็นการพรรณนาอรรถเวทนาขันธ์ นิเทศแห่งเวทนาหมวดละ ๗ ในเวทนาขันธ์นั้นมีเนื้อความง่ายทั้งนั้น ในนิเทศแห่งเวทนาขันธ์หมวดละ ๒๔ บัณฑิตพึงทราบว่า เวทนาขันธ์ที่เป็นกุศลมีอยู่ เพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย ด้วยอำนาจกามาวจรกุศลจิต ๘ ดวง พึงทราบเวทนาขันธ์ที่เป็นอกุศล ด้วยอำนาจอกุศลจิต ๑๒ ดวง. พึงทราบเวทนาขันธ์ที่เป็นอัพยากฤต ด้วยจิต ๒๔ ดวง คือมโนธาตุ ๓ อเหตุกมโนวิญญาณธาตุ ๓ มหาวิบาก ๘ และกามาวจรกิริยา ๑๐.
               ในบรรดาจิตเหล่านั้น กุศลจิต ๘ และอกุศลจิต ๑๒ ย่อมได้ (คือเป็นไป) ด้วยอำนาจชวนะ กิริยามโนธาตุ ๑ ย่อมได้ด้วยอำนาจอาวัชชนะ มโนธาตุวิบาก ๒ ย่อมได้ด้วยอำนาจสัมปฏิจฉันนะ มโนวิญญาณธาตุที่เป็นวิบาก ๓ ย่อมได้ด้วยอำนาจสันติรณะและตทาลัมพนะ. กิริยาอเหตุกมโนวิญญาณธาตุ ๑ ย่อมได้ด้วยอำนาจโวฏฐัพพนะ มหาวิบากจิต ๘ ย่อมได้ด้วยอำนาจตทาลัมพนะ กิริยาจิต ๙ ย่อมได้ด้วยอำนาจชวนะ. แม้ในโสต ฆานะ ชิวหาและกายทวาร ก็นัยนี้แล.
               ก็บทว่า อตฺถิ กุสโล (เป็นกุศลก็มี) นี้ตรัสไว้ด้วยอำนาจกุศลที่เป็นไปในภูมิ ๔.
               บทว่า อตฺถิ อกุสโล (เป็นอกุศลก็มี) ตรัสไว้ด้วยอำนาจอกุศล ๑๒.
               บทว่า อตฺถิ อพฺยากโต (เป็นอัพยากฤตก็มี) ตรัสไว้ด้วยอำนาจจิตตุปบาท ๓๔ คือกามาวจรวิบาก ๑๑ กิริยา ๑๐ รูปาวจรกิริยาและอรูปาวจรกิริยา ๙ และสามัญญผล ๔.
               บรรดาจิตตุปบาทเหล่านั้น กุศลจิตที่เป็นไปในภูมิ ๔ (๒๑ ประเภท) และอกุศลจิต (๑๒ ประเภท) ย่อมได้ (คือย่อมเป็นไป) ด้วยอำนาจชวนะ อเหตุกมโนวิญญาณธาตุที่เป็นกิริยาย่อมได้ด้วยอาวัชชนะ ๑. วิปากจิต ๑๑ ย่อมได้ด้วยอำนาจตทาลัมพนะ กิริยาจิตที่เป็นไปในภูมิ ๓ (คือที่เป็นกามาวจร ๙ ที่เป็นไปในรูปาวจรารูปวจร ๙) และสามัญผล ๔ ย่อมได้ด้วยอำนาจชวนะ จิตตุปบาทเหล่านั้นสมควรเพื่อจะตั้งไว้กล่าวในเวทนาขันธ์ทั้งหลายมีเวทนาขันธ์หมวดละ ๗ เป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งจิตเหล่านั้นไว้ในเวทนาหมวดละ ๓๐ แสดงอยู่ เป็นการแสดงได้โดยง่าย เพราะฉะนั้น จึงทรงตั้งจิตเหล่านั้นแสดงเวทนาหมวดละ ๓๐ เท่านั้น.
               ก็จิตในจักขุทวาร (มีจำนวน ๔๔ ดวง) เหล่านี้แม้ทั้งหมด ย่อมได้ด้วยอาการ ๓ คือด้วยอุปนิสสยโกฏิ (เงื่อนของอุปนิสสัย) ๑ ด้วยอำนาจการก้าวล่วง (กิเลส) ๑ ด้วยอำนาจภาวนา ๑ ในโสตทวารและมโนทวารก็ย่อมได้ด้วยอาการ ๓ เหมือนอย่างนั้น แต่ฆานะ ชิวหาและกายทวาร พึงทราบว่า ย่อมได้ด้วยอาการ ๒ อย่าง คือด้วยอำนาจการก้าวล่วงและด้วยอำนาจภาวนา.

               ว่าด้วยอาการ ๓               
               ย่อมได้ด้วยอาการ ๓ เป็นอย่างไร?
               คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เที่ยวจาริกไปยังวิหารเห็นมณฑลกสิณ จึงถามว่า นี้ชื่ออะไร เมื่อเขาตอบว่า มณฑลกสิณดังนี้ จึงถามอีกว่าพวกเขาทำอะไรด้วยมณฑลกสิณนี้ ทีนั้นพวกภิกษุจึงบอกแก่เธอว่า พวกภิกษุเจริญมณฑลกสิณนี้ยังฌานทั้งหลายให้เกิดแล้ว เจริญวิปัสสนามีสมาบัติเป็นบาทแล้ว บรรลุพระอรหัต ดังนี้
               กุลบุตร (ผู้บวชด้วยศรัทธา) ถึงพร้อมด้วยความตั้งใจ มิได้กำหนดว่า นี้เป็นภาระหนัก มีความคิดว่า แม้เราก็ควรยังคุณนี้ให้เกิดขึ้น ดังนี้ จึงคิดว่า ก็คุณนี้อันบุคคลผู้นอนหลับไม่อาจเพื่อจะให้เกิดได้ เราควรทำความเพียรชำระศีลให้หมดจดตั้งแต่เบื้องต้น ดังนี้ จึงยังศีลให้หมดจด ต่อจากนั้นก็ตั้งมั่นในศีล ตัดปลิโพธ ๑๐ เป็นผู้สันโดษยินดีด้วยไตรจีวรเป็นอย่างยิ่ง ทำวัตรปฏิบัติต่อพระอาจารย์และอุปัชฌาย์ เรียนกรรมฐาน กระทำกสิณบริกรรม ยังสมาบัติให้เกิดแล้วเจริญวิปัสสนามีสมาบัติเป็นปทัฏฐานแล้วบรรลุพระอรหัต.
               ในการบรรลุพระอรหัตนั้น จักขุวิญญาณเป็นปัจจัยที่มีกำลังแก่การเกิดเวทนาเป็นไปในภูมิ ๔ อย่างนี้ คือเวทนาในการบริกรรม แม้ทั้งหมดเป็นกามาพจร เวทนาในสมาบัติ ๘ เป็นรูปาพจรและอรูปาพจร เวทนาในมรรคและผลเป็นโลกุตระ เพราะฉะนั้น เวทนาที่เป็นไปในภูมิ ๔ จึงชื่อว่ามีจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย จิตในจักขุทวารย่อมได้ด้วยอำนาจอุปนิสสัย อย่างนี้ก่อน.
               อนึ่ง เมื่อรูปมาสู่คลองจักขุทวารแล้ว กุลบุตรผู้ดำรงอยู่ในการพิจารณาอย่างนี้ว่า ความยินดีเกิดขึ้นแล้วแก่เราในอารมณ์ที่น่าปรารถนา ปฏิฆะเกิดขึ้นแล้วแก่เราในอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา โมหะเกิดขึ้นแล้วแก่เราในขณะที่ไม่เห็นตามเป็นจริง ก็มานะเกิดขึ้นแล้วแก่เราผู้มีความผูกพันในอารมณ์ต่างๆ ทิฏฐิเกิดแก่เราผู้มีความยึดถือผิด อุทธัจจะเกิดแก่เราผู้มีจิตฟุ้งซ่าน วิจิกิจฉาเกิดแก่เราผู้ตกลงใจไม่ได้ อนุสัยเกิดแก่เราผู้มีกิเลสแรงกล้า ดังนี้ รู้ความเกิดขึ้นแห่งกิเลสของตนแล้ว จึงคิดว่า กิเลสเหล่านี้เจริญขึ้นแก่เราแล้วจักเป็นไปเพื่อความฉิบหาย เอาละเราจักข่มมันเสีย จึงใคร่ครวญดูว่า ก็บุคคลผู้นอนหลับอยู่ไม่อาจเพื่อข่มกิเลสได้ เราควรเริ่มทำความเพียร เพื่อชำระศีลให้หมดจดแต่ต้นทีเดียว ดังนี้ จึงปฏิบัติโดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ ย่อมบรรลุพระอรหัตได้.
               ในการบรรลุพระอรหัตนั้น เวทนาที่ก้าวล่วงกิเลสที่เกิดขึ้นในรูปารมณ์เป็นไปอย่างนี้ว่า บริกรรมเวทนาแม้ทั้งหมดเป็นกามาพจร เวทนาเป็นไปในสมาบัติ ๘ เป็นรูปาวจรารูปาวจร เวทนาเป็นไปในมรรคผลเป็นโลกุตระ เพราะฉะนั้น เวทนาที่เป็นไปในภูมิ ๔ จึงชื่อว่ามีจักขุสัมผัสเป็นปัจจัยเกิดขึ้น จิตในจักขุทวารย่อมได้ด้วยอำนาจการก้าวล่วง (กิเลส) อย่างนี้.
               อนึ่ง เมื่อรูปมาสู่คลองจักขุทวารแล้ว กุลบุตรผู้หนึ่ง ย่อมเริ่มตั้งกำหนดอย่างนี้ว่า รูปนี้อาศัยอะไร? ต่อจากนั้นก็จักทราบรูป (รูปารมณ์) นั้นว่าอาศัยภูต (มหาภูตรูป) แล้วก็กำหนดมหาภูตรูป ๔ และอุปาทารูป (คือรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔) ว่าเป็นรูป และกำหนดธรรมทั้งหลายมีรูปนั้นเป็นอารมณ์ ว่าเป็นอรูป (คือนาม) ต่อจากนั้นก็กำหนดนามรูปพร้อมทั้งปัจจัยแล้วยกขึ้นสู่ลักษณะ ๓ พิจารณาสังขารทั้งหลายโดยลำดับแห่งวิปัสสนา ย่อมบรรลุพระอรหัตได้.
               ในการบรรลุพระอรหัตนั้น เวทนาที่เกิดขึ้นพิจารณารูปารมณ์อย่างนี้ว่า บริกรรมเวทนาแม้ทั้งหมดเป็นกามาพจร เวทนาที่เป็นไปในสมาบัติ ๘ เป็นรูปาพจร อรูปาพจร เวทนาในมรรคและผลเป็นโลกุตระ ดังนี้ เพราะฉะนั้น เวทนานี้จึงชื่อว่ามีจักขุสัมผัสเป็นปัจจัยเกิดแล้ว จิตในจักขุทวาร ย่อมได้ด้วยอำนาจภาวนา อย่างนี้.
               ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้ฟังว่า ได้ยินว่า บุคคลทำบริกรรมกสิณ ยังสมาบัติให้เกิดขึ้นเจริญวิปัสสนา มีสมาบัติเป็นปทัฏฐานแล้วย่อมบรรลุพระอรหัต ดังนี้ กุลบุตรผู้ถึงพร้อมด้วยอัชฌาศัย (คือความตั้งใจ) มิได้กำหนดว่า เรื่องนี้เป็นภาระหนัก จึงดำริว่า แม้เราก็ควรให้คุณนี้เกิดขึ้น ดังนี้ แล้วก็ปฏิบัติโดยนัยก่อนนั่นแหละ ย่อมบรรลุพระอรหัตได้.
               ในการบรรลุพระอรหัตนั้น โสตวิญญาณชื่อว่าเป็นปัจจัยมีกำลัง เพราะความเกิดขึ้นแห่งเวทนาเป็นไปในภูมิ ๔ อย่างนี้ว่า บริกรรมเวทนาแม้ทั้งหมดเป็นกามาพจร เวทนาเป็นไปในสมาบัติ เป็นรูปาพจร อรูปาพจร เวทนาในมรรคและผลเป็นโลกุตระ ดังนี้ เพราะฉะนั้น เวทนาที่เป็นไปในภูมิ ๔ จึงชื่อว่ามีโสตสัมผัสเป็นปัจจัย จิตในโสตทวารย่อมได้ด้วยอำนาจอุปนิสสัย อย่างนี้ก่อน.
               อนึ่ง เมื่อเสียงมาสู่คลองโสตทวาร กุลบุตรผู้หนึ่งย่อมเริ่มกำหนดอย่างนี้ว่า เสียงนี้อาศัยอะไร ดังนี้เป็นต้น คำทั้งหมดนี้ พึงทราบโดยนัยที่กล่าวในจักขุทวารนั่นแหละ. เวทนาที่เกิดขึ้นพิจารณาสัททารมณ์อย่างนี้แล้ว เพราะฉะนั้น เวทนานี้จึงชื่อว่า เกิดขึ้นเพราะมีโสตสัมผัสเป็นปัจจัย จิตในโสตทวารย่อมได้ด้วยอำนาจภาวนา อย่างนี้.
               อนึ่ง คำทั้งหมดว่า ฆานะ ชิวหาและกายทวารมาสู่คลองมีกลิ่นเป็นต้นเป็นอารมณ์ ความยินดีในอารมณ์ที่น่าปรารถนาเกิดขึ้นแล้วแก่เราเป็นต้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวในจักขุทวารนั้นแหละ. เวทนาที่เป็นไปก้าวล่วงกิเลสที่เกิดขึ้นในคันธารมณ์เป็นต้นอย่างนี้แล้ว เพราะฉะนั้นเวทนาอันเป็นไปในภูมิ ๔ จึงชื่อว่ามีฆานะ ชิวหา กายสัมผัสเป็นปัจจัย จิตทั้งหลายย่อมได้ในทวาร ๓ ด้วยอำนาจการก้าวล่วง (กิเลส) อย่างนี้.
               แต่คำทั้งหมดว่า เมื่อกลิ่นเป็นต้นมาสู่คลองฆานทวารเป็นต้นแล้ว กุลบุตรผู้หนึ่งย่อมเริ่มกำหนดอย่างนี้ว่า กลิ่นนี้ รสนี้ โผฏฐัพพะนี้ อาศัยอะไร ดังนี้เป็นต้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวไว้ในจักขุทวารเหมือนกัน. เวทนาที่เกิดขึ้นพิจารณากลิ่นเป็นต้น เป็นอารมณ์อย่างนี้ เพราะฉะนั้น เวทนานี้จึงชื่อว่า มีฆานะ ชิวหา กายสัมผัสเป็นปัจจัย จิตทั้งหลายย่อมได้ด้วยอำนาจภาวนาอย่างนี้.
               ก็จิตในมโนทวาร (มี ๖๗ ดวง) ย่อมได้ด้วยอาการแม้ทั้ง ๓.
               จริงอยู่ กุลบุตรบางคนเห็นชาติ (ความเกิด) โดยความเป็นภัย ย่อมเห็นชรา พยาธิ มรณะโดยความเป็นภัย ครั้นเห็นโดยความเป็นภัยแล้ว ก็คิดว่าเราควรพ้นจากชาติ ชรา พยาธิและมรณะ ดังนี้ ก็แต่ว่า อันบุคคลผู้นอนหลับอยู่ไม่อาจเพื่อจะพ้นจากชาติเป็นต้นได้ เราควรทำความเพียรชำระศีลให้บริสุทธิ์ตั้งแต่ต้นทีเดียว ดังนี้ แล้วปฏิบัติโดยนัยที่กล่าวไว้ในจักขุทวารนั่นแหละ ก็ย่อมบรรลุพระอรหัตได้.
               ในการบรรลุพระอรหัตนั้น ชาติ ชรา พยาธิและมรณะเป็นปัจจัยมีกำลังเพราะความเกิดแห่งเวทนาอันเป็นไปในภูมิ ๔ อย่างนี้ว่า บริกรรมเวทนาแม้ทั้งหมดเป็นกามาพจร เวทนาเป็นไปในสมาบัติ ๘ เป็นรูปาพจร อรูปาพจร เวทนาในมรรคและผลเป็นโลกุตระดังนี้ เพราะฉะนั้น เวทนาที่เป็นไปในภูมิ ๔ จึงชื่อว่ามีมโนสัมผัสเป็นปัจจัย จิตในมโนทวารย่อมได้ด้วยอำนาจอุปนิสสัยอย่างนี้ก่อน.
               คำทั้งหมดว่า ก็เมื่อธรรมารมณ์มาสู่คลองมโนทวารเป็นต้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวไว้ในจักขุทวารนั่นแหละ. เวทนาที่ก้าวล่วงกิเลสที่เกิดขึ้นในธรรมารมณ์อย่างนี้แล้ว เพราะฉะนั้น เวทนาเป็นไปในภูมิ ๔ จึงชื่อว่ามีมโนสัมผัสเป็นปัจจัย จิตในมโนทวารย่อมได้ด้วยอำนาจการก้าวล่วงกิเลสอย่างนี้.
               อนึ่ง เมื่อธรรมารมณ์มาสู่คลองมโนทวารแล้ว กุลบุตรผู้หนึ่งย่อมเริ่มกำหนดอย่างนี้ว่า ธรรมารมณ์นี้อาศัยอะไร ทราบแล้วว่าอาศัยวัตถุ ก็พิจารณาว่าวัตถุอาศัยอะไร ทราบแล้วว่าอาศัยมหาภูตรูป ดังนี้ เธอจึงกำหนดมหาภูตรูป ๔ และอุปาทารูป ว่าเป็นรูป ย่อมกำหนดธรรมที่มีรูปนั้นเป็นอารมณ์ว่าเป็นอรูป (นาม) ต่อจากนั้น ก็กำหนดนามรูปพร้อมทั้งปัจจัย ยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์พิจารณาสังขารทั้งหลายโดยลำดับแห่งวิปัสสนาแล้วย่อมบรรลุพระอรหัต.
               ในการบรรลุพระอรหัตนั้น เวทนานี้คือที่เกิดขึ้นพิจารณาธรรมารมณ์อย่างนี้ว่า บริกรรมเวทนาแม้ทั้งหมดเป็นกามาพจร เวทนาที่เป็นไปในสมาบัติ ๘ เป็นรูปาพจร อรูปาพจร เวทนาในมรรคและผลเป็นโลกุตระ ดังนี้ ชื่อว่าเกิดขึ้นเพราะมีมโนสัมผัสเป็นปัจจัย จิตในมโนทวารย่อมได้ด้วยอำนาจภาวนาอย่างนี้.
               ก็เวทนาอย่างละ ๖ คือเวทนาที่เกิดแต่จักขุสัมผัส ฯลฯ เวทนาที่เกิดแต่มโนสัมผัส ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วในที่สุดแห่งวาระมีวาระแห่งเวทนาหมวดละ ๒๔ เป็นต้น แม้ทั้งหมดเหล่านี้ เวทนาเหล่านั้นตรัสด้วยอำนาจแห่งปัจจัยธรรมสัมปยุตกัน ดังนี้แล.
               นิเทศแห่งเวทนาขันธ์ จบ.               

               ว่าด้วยนิเทศแห่งสัญญาขันธ์               
               แม้สัญญาขันธ์เป็นต้นก็พึงทราบโดยอุบายนี้.๑-
               จริงอยู่ ในนิเทศแห่งสัญญาขันธ์ย่อมได้แม้เวทนาติกะและปีติติกะ ในติกะทั้งหลายโดยสิ้นเชิง แม้ธรรมมีสุขสหคตะเป็นต้นก็ย่อมได้แม้ในทุกะทั้งหลาย.
               ในนิเทศแห่งสังขารขันธ์ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตรัสคำว่า สัมปยุตด้วยผัสสะ เพราะแม้ผัสสะก็เป็นธรรมนับเนื่องในสังขารขันธ์ แต่ตรัสคำว่า จิตฺตสมฺปยุตฺโต (สัมปยุตด้วยจิต) และในนิเทศแห่งขันธ์นี้ ธรรมทั้งหลายแม้มีเหตุทุกะเป็นต้นย่อมได้ในทุกะทั้งหลาย ธรรมหมวดติกะเป็นเหมือนสัญญาขันธ์นั่นแล.
               ในนิเทศแห่งวิญญาณขันธ์ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตรัสความที่วิญญาณขันธ์เป็นธรรมเกิดแต่จักขุสัมผัส แต่ตรัสคำว่า จกฺขุวิญฺญาณํ (จักขุวิญญาณ) เป็นต้น เพราะใครๆ ไม่อาจเพื่อแสดงว่า วิญญาณเกิดแต่มโนสัมผัส ดังนี้.
               คำที่เหลือในที่นี้เป็นเช่นเดียวกับคำที่กล่าวในสัญญาขันธ์นั่นแล.
               ก็ในนิเทศแห่งขันธ์แม้ทั้ง ๓ เหล่านี้ ได้ธรรมหมวดติกะและทุกะ มากกว่านิเทศแห่งเวทนาขันธ์ บัณฑิตพึงทราบประเภทแห่งวาระด้วยอำนาจแห่งธรรมติกะและทุกะเหล่านั้นเถิด ฉะนี้แล.
____________________________
๑- โดยเหมือนเวทนาขันธ์.

               วรรณนาอภิธรรมภาชนีย์ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา วิภังคปกรณ์ ขันธวิภังค์ อภิธรรมภาชนีย์ รูปขันธ์เป็นต้น จบ.
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 1อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 32อ่านอรรถกถา 35 / 44อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=35&A=393&Z=1498
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=54&A=912
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=54&A=912
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๖  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :