ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 502อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 505อ่านอรรถกถา 35 / 518อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อรรถกถา วิภังคปกรณ์
อิทธิปาทวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์

               อรรถกถาอิทธิปาทวิภังค์               
               วรรณนาสุตตันตภาชนีย์               
               บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยในอิทธิปาทวิภังค์ อันเป็นลำดับต่อจากสัมมัปปธานวิภังค์นั้นต่อไป.
               คำว่า ๔ เป็นคำกำหนดจำนวน. ในคำว่า อิทฺธิปาทา นี้ชื่อว่าอิทธิ (ฤทธิ์) เพราะอรรถว่าย่อมรุ่งเรือง. อธิบายว่า ย่อมรุ่งเรืองด้วยดี คือย่อมสำเร็จ.
               อีกอย่างหนึ่ง สัตว์ทั้งหลายผู้สำเร็จ ผู้เจริญ ย่อมสำเร็จ ย่อมถึงความเป็นผู้ประเสริฐ ด้วยสภาวะนี้ แม้เพราะเหตุนั้น สภาวะนั้นจึงชื่อว่าอิทธิ.
               ว่าโดยอรรถที่หนึ่ง ปาโท บาทคือ อิทธินั่นแหละ ชื่อว่าอิทธิบาท อธิบายว่า เป็นส่วนหนึ่งของอิทธิ. ว่าโดยอรรถที่สอง ชื่อว่าอิทธิบาท เพราะเป็นบาทแห่งอิทธิ. คำว่า ปาโท ได้แก่ เป็นที่อาศัย คือเป็นอุบายเครื่องบรรลุ.
               จริงอยู่ เพราะสัตว์ทั้งหลายย่อมถึง ย่อมบรรลุซึ่งอิทธิ กล่าวคือคุณวิเศษที่สูงๆ ขึ้นไปด้วยอุบายเป็นเครื่องบรรลุนั้น ฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่าปาทะ (คือเป็นบาท). บัณฑิตพึงทราบเนื้อความในคำว่า จตฺตาโร อิทฺธิปาทา (อิทธิบาท ๔) นี้ ด้วยคำมีประมาณเท่านี้.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อจะทรงจำแนกแสดงอิทธิบาทเหล่านั้น จึงเริ่มคำว่า อิธ ภิกฺขุ เป็นอาทิ. บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า อิธ ภิกฺขุ ได้แก่ ภิกษุในพระศาสนานี้.
               ในคำว่า ฉนฺทสมาธิปธานสงฺขารสมนฺนาคตํ นี้ ได้แก่สมาธิ มีฉันทะเป็นเหตุ มีฉันทะอันยิ่ง ชื่อว่าฉันทสมาธิ. คำว่า ฉันทสมาธิ นี้เป็นชื่อของสมาธิอันได้เฉพาะแล้ว เพราะกระทำกัตตุกัมมยตาฉันทะให้เป็นอธิบดี. สังขารทั้งหลายอันเป็นประธาน ชื่อว่าปธานสังขาร. คำว่า ปธานสังขาร นี้เป็นชื่อของความเพียรที่เป็นสัมมัปปธานซึ่งยังกิจ ๔ อย่างให้สำเร็จ.
               คำว่า สมนฺนาคตํ ได้แก่ เข้าไปถึงแล้วด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขารทั้งหลาย.
               คำว่า อิทฺธิปาทํ อธิบายว่า กองแห่งจิตและเจตสิกที่เหลือชื่อว่าเป็นบาท เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้งมั่นแห่งฉันทสมาธิและปธานสังขารทั้งหลาย อันสัมปยุตด้วยกุศลจิตมีอุปจาระและฌานเป็นต้น อันถึงซึ่งการนับว่า อิทธิโดยปริยายแห่งความสำเร็จ คือ โดยอรรถแห่งความสำเร็จ (อรรถที่หนึ่ง) หรือว่า โดยปริยาย (คืออรรถที่สอง) นี้ว่า สัตว์ทั้งหลายผู้สำเร็จ ผู้เจริญ ย่อมสำเร็จ ย่อมถึงความเป็นผู้ประเสริฐ ด้วยสภาวะนี้ ดังนี้.
               จริงอยู่ คำว่า อิทฺธิปาโท ข้างหน้า ที่ท่านกล่าวว่า เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ ของบุคคลผู้บรรลุธรรมโดยอาการนั้น อันใด คำนั้น ย่อมถูกต้องด้วยอรรถนี้.
               แม้ในคำที่เหลือทั้งหลาย ก็พึงทราบเนื้อความโดยนัยนี้.
               บัณฑิตพึงทราบเนื้อความที่ท่านกล่าวไว้ว่า เหมือนอย่างว่า สมาธิอันได้เฉพาะแล้ว เพราะกระทำฉันทะให้เป็นอธิบดี ชื่อว่าฉันทสมาธิ ฉันใดนั่นแหละ สมาธิอันได้เฉพาะแล้ว เพราะกระทำ วิริยะ จิตตะ วิมังสาให้เป็นอธิบดี ท่านก็เรียกว่าวิริยสมาธิ จิตตสมาธิ วีมังสาสมาธิฉันนั้นเถิด.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อจะทรงจำแนกแสดงบททั้งหลายมีฉันทสมาธิเป็นต้น จึงเริ่มคำว่า กถญฺจ ภิกฺขุ เป็นอาทิ.
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า ฉนฺทญฺจ ภิกฺขุ อธิปตึ กริตฺวา ความว่า ถ้าภิกษุทำฉันทะให้เป็นอธิบดี ทำฉันทะให้เจริญ ทำฉันทะให้เป็นธุระ ทำฉันทะให้เป็นหัวหน้าแล้วได้เฉพาะซึ่งสมาธิ คือย่อมให้สมาธิเกิดขึ้น. อธิบายว่า สมาธินี้อันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ท่านเรียกว่า ฉันทสมาธิ.
               แม้ในคำทั้งหลาย มีคำว่า วิริยญฺเจ (แปลว่า ถ้าภิกษุทำความเพียร) เป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               วิริยะอันยังกิจ ๔ อย่างให้สำเร็จ กล่าวคือปธานสังขารของภิกษุผู้เจริญอยู่ซึ่งฉันทิทธิบาท ท่านกล่าวแล้วด้วยคำมีประมาณเท่านี้ว่า อิเม วุจฺจนฺติ ปธานสงฺขารา (แปลว่า สภาวธรรมเหล่านี้เรียกว่า ปธานสังขาร). คำว่า ตเทกชฺฌํ อภิสฺญูหิตฺวา (แปลว่า ประมวลย่อ ๒ อย่างเข้าเป็นอันเดียวกัน) อธิบายว่า กระทำสภาวะแม้ทั้งหมดนั้นให้เป็นกองเดียวกัน. คำว่า สงฺขยํ คจฺฉติ อธิบายว่า ฉันทสมาธิปธานสังขารนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า ย่อมถึงโวหารเดียวกัน ด้วยประการฉะนี้.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อจะทรงจำแนกแสดงธรรมมีฉันทะเป็นต้นที่ประชุมลงในบทว่าฉันทสมาธิปธานสังขารนี้ จึงเริ่มคำว่า ตตฺถ กตโม ฉนฺโท เป็นอาทิ. คำนั้นมีอรรถตื้นทั้งนั้นแล.
               คำว่า อุเปโต โหติ คือ กองแห่งธรรม กล่าวคืออิทธิบาทเป็นสภาวะที่เข้าไปถึงแล้ว.
               คำว่า เตสํ ธมฺมานํ คือ ธรรมมีฉันทะเป็นต้นอันสัมปยุตด้วยปธานสังขารเหล่านั้น.
               คำทั้งปวงมีคำว่า อิทฺธิ สมิทฺธิ เป็นต้น เป็นคำไวพจน์ของนิปผตฺติ (คือความสำเร็จ อรรถแรก) ทั้งนั้น. เมื่อความเป็นอย่างนั้น ท่านจึงเรียกว่า อิทธิ เพราะอรรถว่า ความสำเร็จ. อิทธิอันสมบูรณ์แล้ว ท่านเรียกว่าสมิทธิ.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า สมิทธิ นี้ เป็นบทที่เจริญแล้วด้วยอุปสรรค. อาการแห่งความสำเร็จ ท่านเรียกว่า อิชฺฌนา ความสำเร็จ.
               บทว่า สมิชฺฌนา เป็นบทที่เจริญด้วยอุปสรรค. ความได้ด้วยสามารถแห่งการปรากฏในสันดานของตน ท่านเรียกว่า ลาภะ. ความได้แม้ซึ่งธรรมอันเสื่อมไปแล้วด้วยสามารถแห่งการเริ่มความเพียรอีก ท่านเรียกว่า ปฏิลาภะ ความได้อีก.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ปฏิลาภะนี้เป็นบทที่เจริญขึ้นด้วยอุปสรรค.
               บทว่า ปตฺติ (การถึง) คือ การบรรลุ. การบรรลุด้วยดีด้วยสามารถแห่งการไม่เสื่อมไป ฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า สัมปัตติ (ความถึงด้วยดี).
               คำว่า ผุสนา (ความถูกต้อง) คือการถูกต้องด้วยสามารถแห่งความได้อีก (ปฏิลาภะ). คำว่า สจฺฉิกิริยา คือความกระทำให้แจ้งด้วยปฏิลาภะนั่นแหละ. คำว่า อุปสมฺปทา (ความเข้าถึง) บัณฑิตพึงทราบว่า ความเข้าถึงด้วยปฏิลาภะเหมือนกัน.
               คำว่า ตถาภูตสฺส ได้แก่ ของบุคคลผู้ปรากฏแล้วโดยอาการนั้น. อธิบายว่า บุคคลผู้ได้เฉพาะแล้วซึ่งธรรมมีฉันทะเป็นต้นเหล่านั้นแล้วดำรงอยู่. ขันธ์แม้ทั้ง ๔ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วด้วยคำว่า เวทนากฺขนฺโธ เป็นต้น โดยกระทำฉันทะเป็นต้นไว้ภายใน.
               คำว่า เต ธมฺเม ได้แก่ อรูปขันธ์ทั้ง ๔ เหล่านั้น. อีกอย่างหนึ่ง คำนี้ ท่านกล่าวว่า ธรรมทั้ง ๓ (คือฉันทะ สมาธิ ปธานสังขาร) มีฉันทะเป็นต้น.
               คำว่า อาเสวติ เป็นต้น มีอรรถตามที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้วนั่นแหละ. แม้ในนิทเทสแห่งอิทธิบาทที่เหลือ บัณฑิตพึงทราบเนื้อความโดยนัยนี้เหมือนกัน.
               ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ ท่านกล่าวไว้อย่างไร พึงทราบดังนี้.

               กรรมฐานอันถึงซึ่งที่สุดของภิกษุ ๔ จำพวก               
               ท่านกล่าวกรรมฐานของภิกษุ ๔ จำพวก อันถึงที่สุด คือภิกษุพวกหนึ่งอาศัยฉันทะ เมื่อมีความต้องการด้วยฉันทะในกุศลธรรมของผู้ใคร่เพื่อจะทำมีอยู่ เธอก็กระทำฉันทะให้เป็นใหญ่ ทำฉันทะให้เป็นธุระ ทำฉันทะให้เป็นหัวหน้า ด้วยการคิดว่า เราจักยังโลกุตตรธรรมให้เกิด ความหนักใจของเราด้วยการเกิดขึ้นแห่งฉันทะนี้ไม่มีดังนี้ แล้วจึงยังโลกุตตรธรรมให้เกิดขึ้น. ภิกษุพวกหนึ่งอาศัยวิริยะ. ภิกษุพวกหนึ่งอาศัยจิตตะ. ภิกษุพวกหนึ่งอาศัยปัญญาอยู่ เมื่อมีความต้องการด้วยปัญญา เธอก็จะกระทำปัญญาให้เป็นใหญ่ ทำปัญญาให้เป็นธุระ ทำปัญญาให้เป็นหัวหน้า ด้วยการคิดว่า เราจักยังโลกุตตรธรรมให้เกิดขึ้น ความหนักใจด้วยการเกิดขึ้นแห่งปัญญานี้ของเราไม่มี ดังนี้แล้ว จึงยังโลกุตตรธรรมให้เกิดขึ้น.
               เหมือนอย่างว่า บุตรของอำมาตย์ ๔ คน ปรารถนาฐานันดรแล้วเที่ยวไปอยู่ คนหนึ่งอาศัยการบำรุง. คนหนึ่งอาศัยความกล้า. คนหนึ่งอาศัยชาติ. คนหนึ่งอาศัยความรู้. คืออย่างไร.
               คือว่า ในบุตรอำมาตย์เหล่านั้น คนที่หนึ่ง เมื่อมีความต้องการด้วยฐานันดร จึงคิดว่า เราจักได้ฐานันดรนั้น ดังนี้ แล้วอาศัยการบำรุง เพราะความที่ตนเป็นผู้มีปกติทำความไม่ประมาทในการบำรุง.
               คนที่สอง แม้มีความไม่ประมาทในการบำรุงแล้ว ยังคิดว่า บางคน เมื่อสงครามเกิดขึ้น ย่อมไม่อาจเพื่อจะตั้งมั่น ก็แลประเทศชายแดนขอพระราชา จักกำเริบแน่แท้ เมื่อประเทศชายแดนกำเริบแล้ว เราจักกระทำการงานในหน้าที่แห่งรถ (ขับรถ) จักให้พระราชาพอพระทัยแล้ว ก็จักให้นำมาซึ่งฐานันดรนั้น ดังนี้ ชื่อว่าอาศัยแล้วซึ่งความเป็นผู้กล้าหาญ.
               คนที่สาม แม้ความเป็นผู้กล้าหาญมีอยู่ ก็คิดว่า คนบางคนเป็นผู้มีชาติต่ำ ชนทั้งหลายเมื่อให้ฐานันดรเขาจักให้แก่เรา เพราะชำระชาติแล้ว ดังนี้ ชื่อว่าอาศัยแล้วซึ่งชาติ.
               คนที่สี่ แม้มีชาติ ก็คิดว่า บางคนไม่มีมนต์ (ความรู้) มีอยู่ เมื่อการงานที่พึงกระทำด้วยมนต์ (ความรู้) เกิดขึ้นแล้ว เราผู้มีมนต์ จักให้พระราชานำมาซึ่งฐานันดรนั้น ดังนี้ จึงชื่อว่าอาศัยแล้วซึ่งมนต์. บุตรอำมาตย์เหล่านั้นทั้งหมดถึงแล้วซึ่งฐานันดรโดยกำลังแห่งภาวะอันเป็นที่อาศัย (โดยความสามารถ) ของตนๆ.
               ในภิกษุเหล่านั้น ภิกษุผู้อาศัยฉันทะ เมื่อมีความต้องการด้วยกุศลธรรมฉันทะของผู้ใคร่เพื่อจะทำมีอยู่ เธอจึงทำฉันทะให้เป็นใหญ่ ทำฉันทะให้เป็นธุระ ทำฉันทะให้เป็นหัวหน้า โดยคิดว่า เราจักยังโลกุตธรรมให้เกิดขึ้น ความหนักใจด้วยการเกิดขึ้นแห่งฉันทะของเราไม่มี ดังนี้ แล้วจึงยังโลกุตตรธรรมให้เกิดขึ้น บัณฑิตพึงเห็นเหมือนบุตรอำมาตย์ผู้ไม่ประมาทในการบำรุงแล้วจึงได้ฐานันดร ราวกะพระรัฐบาลเถระ. จริงอยู่ ท่านพระรัฐบาลเถระนั้นทำฉันทะให้เป็นธุระแล้วยังโลกุตตรธรรมให้เกิดขึ้น.
               ภิกษุผู้ทำวิริยะให้เป็นใหญ่ ทำวิริยะให้เป็นธุระ ทำวิริยะให้เป็นหัวหน้า แล้วยังโลกุตตรธรรมให้เกิดขึ้น บัณฑิตพึงเห็นเช่นกับบุตรอำมาตย์ผู้ยังพระราชาให้พอพระทัย โดยความเป็นผู้กล้าหาญแล้วได้ฐานันดร ราวกะพระโสณเถระ. จริงอยู่ ท่านพระโสณเถระนั้นทำวิริยะให้เป็นธุระแล้วยังโลกุตตรธรรมให้เกิดขึ้น.
               ภิกษุผู้ทำจิตตะให้เป็นใหญ่ ทำจิตตะให้เป็นธุระ ทำจิตตะให้เป็นหัวหน้า แล้วยังโลกุตตรธรรมให้เกิดขึ้น บัณฑิตพึงเห็นเช่นกับบุตรอำมาตย์ผู้ได้ฐานันดร เพราะความถึงด้วยดีแห่งชาติ เป็นราวกะว่าพระสัมภูตเถระ. จริงอยู่ พระสัมภูตเถระนั้นทำจิตตะให้เป็นธุระแล้วยังโลกุตตรธรรมให้เกิดขึ้น.
               ภิกษุผู้ทำวีมังสาให้เป็นใหญ่ ทำวีมังสาให้เป็นธุระ ทำวีมังสาให้เป็นหัวหน้า แล้วยังโลกุตตรธรรมให้เกิดขึ้น บัณฑิตพึงเห็นเช่นกับบุตรอำมาตย์ผู้ได้ฐานันดร เพราะอาศัยมนต์ ราวกะพระโมฆราชเถระ. จริงอยู่ ท่านพระโมฆราชเถระนั้นทำวีมังสาให้เป็นธุระแล้วยังโลกุตตรธรรมให้เกิดขึ้น.
               อนึ่ง ในอธิการนี้ ธรรมทั้ง ๓ กล่าวคือฉันทะ สมาธิและปธานสังขาร เป็นอิทธิด้วย เป็นอิทธิบาทด้วย ส่วนขันธ์ ๔ อันสัมปยุตกันที่เหลือเป็นอิทธิเท่านั้น. ธรรมทั้ง ๓ (อย่างละ ๓) แม้กล่าวคือวิริยะ, จิตตะ, วิมังสา, สมาธิและปธานสังขาร ย่อมเป็นอิทธิด้วย เป็นอิทธิบาทด้วย ส่วนขันธ์ ๔ อันสัมปยุตกันที่เหลือ เป็นอิทธิบาทเท่านั้น.
               นี้เป็นกถา ว่าโดยความไม่แตกต่างกันก่อน.
               อนึ่ง เมื่อว่าโดยความแตกต่างกัน ฉันทะ ชื่อว่าอิทธิ. นามขันธ์ ๔ อันอบรมแล้วด้วยฉันทธุระ ชื่อว่าฉันทิทธิบาท. ธรรมทั้งสองคือสมาธิและปธานสังขาร ย่อมเข้าไปในฉันทิทธิบาท ด้วยสามารถแห่งสังขารขันธ์. แม้จะกล่าวว่า ธรรมทั้งสองนั้นเข้าไปแล้วในบาท ดังนี้ก็ควรเหมือนกัน ในธรรมเหล่านั้นนั่นแหละ สมาธิชื่อว่าอิทธิ, ขันธ์ ๔ อันอบรมแล้วด้วยสมาธิธุระ ชื่อว่าสมาทิทธิบาท. ธรรมทั้งสองคือฉันทะและปธานสังขาร ย่อมเข้าไปในสมาธิทธิบาท ด้วยสามารถแห่งสังขารขันธ์. แม้จะกล่าวว่า ธรรมทั้งสองนั้นเข้าไปแล้วในบาท ดังนี้ ก็ควรเหมือนกัน. ในธรรมเหล่านั้นนั่นแหละ ปธานสังขาร ชื่อว่าอิทธิ. ขันธ์ ๔ อันอบรมแล้วด้วยปธานสังขาร ชื่อว่าปธานสังขาริทธิบาท. ธรรมทั้งสองคือฉันทะและสมาธิ ย่อมเข้าไปในปธานสังขาริทธิบาท ด้วยสามารถแห่งสังขารขันธ์. แม้จะกล่าวว่า ธรรมทั้งสองนั้นเข้าไปแล้วในบาทดังนี้ ก็ควรเหมือนกัน.
               ในธรรมเหล่านั้นนั่นแหละ วิริยะ ชื่อว่าอิทธิ, จิตตะ ชื่อว่าอิทธิ, วีมังสา ชื่อว่าอิทธิ ฯลฯ แม้จะกล่าวว่า ธรรมทั้งสองนั้นเข้าไปแล้วในบาทดังนี้ ก็ควรเหมือนกัน. นี้ชื่อกถาโดยความต่างกัน.
               ก็ในอธิการที่ท่านได้กล่าวแล้วนี้ หาใช่เป็นของใหม่ไม่ เป็นคำที่ท่านกระทำอธิบายไว้แจ่มแจ้งแล้ว ก็ถือเอาทีเดียว. คืออย่างไร คือว่า ธรรม ๓ อย่างนี้คือฉันทะ สมาธิ ปธานสังขาร เป็นอิทธิก็ได้ เป็นอิทธิบาทก็ได้ ส่วนขันธ์ ๔ อันสัมปยุตกันที่เหลือ เป็นเพียงอิทธิบาทเท่านั้น.
               จริงอยู่ ธรรม ๓ เหล่านี้ เมื่อสำเร็จย่อมสำเร็จพร้อมกันกับขันธ์ ๔ อันสัมปยุตกันนั่นแหละ เว้นจากขันธ์ ๔ ที่สัมปยุตกันแล้วหาสำเร็จได้ไม่.
               อนึ่ง ขันธ์ ๔ อันสัมปยุตกัน ชื่อว่าอิทธิ เพราะอรรถว่าสำเร็จ ชื่อว่าเป็นบาท เพราะอรรถว่าเป็นที่อาศัย. คำว่า อิทฺธิ หรือว่า อิทฺธิปาโท มิใช่เป็นชื่อของธรรมอะไรๆ อย่างอื่น คือเป็นชื่อของขันธ์ ๔ อันสัมปยุตกันนั่นแหละ. ธรรมทั้ง ๓ คือวิริยะ, จิตตะ, วีมังสาสมาธิปธานสังขาร ฯลฯ ก็เป็นชื่อของขันธ์ ๔ เท่านั้นเหมือนกัน.
               อีกอย่างหนึ่ง บัณฑิตพึงทราบว่า บุพภาค ชื่อว่าอิทธิบาทอันเป็นบุพภาค ปฏิลาภะ ชื่อว่าอิทธิ อันเป็นปฏิลาภะ. พึงแสดงเนื้อความนี้ด้วยอุปจาระหรือวิปัสสนา.
               จริงอยู่บริกรรมของปฐมฌาน ชื่อว่าอิทธิบาท. ปฐมฌาน ชื่อว่าอิทธิ.
               บริกรรมแห่งทุติยะ ตติยะ จตุตถะ อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ชื่อว่าอิทธิบาท, เนวสัญญานาสัญญายตนะ ชื่อว่าอิทธิ.
               วิปัสสนาแห่งโสดาปัตติมรรค ชื่อว่าอิทธิบาท, โสดาปัตติมรรค ชื่อว่าอิทธิ.
               วิปัสสนาแห่งสกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค ชื่อว่าอิทธิบาท. อรหัตตมรรค ชื่อว่าอิทธิ.
               การแสดงแม้ด้วยปฏิลาภะ ก็ควรเหมือนกัน.
               จริงอยู่ ปฐมฌาน ชื่อว่าอิทธิบาท. ทุติยฌาน ชื่อว่าอิทธิ.
               ทุติยฌาน ชื่อว่าอิทธิบาท. ตติยฌาน ชื่อว่าอิทธิ. ฯลฯ อนาคามิมรรค ชื่อว่าอิทธิบาท. อรหัตตมรรค ชื่อว่าอิทธิ.
               ถามว่า ชื่อว่าอิทธิ เพราะอรรถว่าอะไร ชื่อว่าบาท เพราะอรรถว่าอะไร?
               ตอบว่า ชื่อว่าอิทธิ เพราะอรรถว่าเป็นที่สำเร็จนั่นแหละ ชื่อว่าบาท เพราะอรรถว่าเป็นที่อาศัยนั่นแหละ. ด้วยประการฉะนี้ คำว่า อิทฺธิ หรือ อิทฺธิปาโท แม้ในที่นี้ จึงมิใช่เป็นชื่อของธรรมอะไรอื่น แต่เป็นชื่อของขันธ์ ๔ อันสัมปยุตกันนั่นแล.
               ก็เมื่อข้าพเจ้ากล่าวแล้วอย่างนี้ อาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวคำนี้ว่า ถ้าว่าคำนี้พึงเป็นชื่อของขันธ์ ๔ นั่นแหละไซร้ พระศาสดาก็ไม่พึงทรงนำชื่ออุตตรจูฬภาชนีย์มาไว้ข้างหน้า ก็ในอุตตรจูฬภาชนีย์ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ฉันทะเท่านั้น ชื่อว่าฉันทิทธิบาท วิริยะเท่านั้น จิตตะเท่านั้น วีมังสาเท่านั้น ชื่อว่าวีมังสิทธิบาท ดังนี้ ส่วนอาจารย์บางพวกกล่าวว่าสภาวะที่ยังไม่สำเร็จแล้ว ชื่อว่าอิทธิ สภาวะที่สำเร็จแล้ว ชื่อว่าอิทธิบาท ดังนี้. ข้าพเจ้าปฏิเสธถ้อยคำของอาจารย์เหล่านั้นแล้ว จึงทำการสันนิษฐานว่า "อิทธิก็ดี อิทธิบาทก็ดี เป็นภาวะอันกระทบแล้วด้วยไตรลักษณ์" ดังนี้ ในสุตตันตภาชนีย์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอิทธิบาททั้งหลายเจือด้วยโลกิยะและโลกุตตระดังพรรณนามาฉะนี้ แล.
               วรรณนาสุตตันตภาชนีย์ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา วิภังคปกรณ์ อิทธิปาทวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์ จบ.
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 502อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 505อ่านอรรถกถา 35 / 518อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=35&A=6810&Z=6948
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=54&A=7717
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=54&A=7717
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๕  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :