ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 774อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 777อ่านอรรถกถา 35 / 778อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อรรถกถา วิภังคปกรณ์
ปฏิสัมภิทาวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์

               อรรถกถาปฏิสัมภิทาวิภังค์               
               วรรณนาสุตตันตภาชนีย์               
               บัดนี้ พึงทราบปฏิสัมภิทาวิภังค์ในลำดับแห่งสิกขาบทวิภังค์นั้นต่อไป.
               คำว่า ๔ เป็นคำกำหนดจำนวน.
               คำว่า ปฏิสมฺภิทา ได้แก่ ปัญญาอันแตกฉาน.
               อธิบายว่า ก็เพราะข้างหน้านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า อตฺเถ ญาณํ อตฺถปฏิสมฺภิทา เป็นต้น แปลว่า ญาณ (ปัญญา) ในอรรถ ชื่อว่าอัตถปฏิสัมภิทา ฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า มิใช่เป็นการแตกฉานของใครๆ เลย นอกจากเป็นการแตกฉานของญาณ (ปัญญา) เท่านั้น ด้วยประการฉะนี้ ข้าพเจ้าจึงสงเคราะห์เนื้อความนี้ว่า การแตกฉานของญาณ ๔ นี้ลงในบทว่า ปฏิสัมภิทา ๔ ดังนี้.
               ปฏิสัมภิทาในอรรถ ชื่อว่าอัตถปฏิสัมภิทา. อธิบายว่า ญาณ (ปัญญา) อันถึงความรู้แตกฉานในอรรถ เพื่อสามารถทำการวิเคราะห์ (แยกแยะ) อรรถชนิดต่างๆ ให้แจ่มแจ้งด้วยการพิจารณา. แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้.
               จริงอยู่ ญาณอันถึงความรู้แตกฉานในธรรม เพื่อสามารถกระทำการวิเคราะห์ธรรมชาติต่างๆ ให้แจ่มแจ้งด้วยการพิจารณา ชื่อว่าธัมมปฏิสัมภิทา. ญาณอันถึงความรู้แตกฉานในการกล่าวซึ่งนิรุตติธรรม เพื่อสามารถกระทำวิเคราะห์นิรุตติ (คือภาษาชนิดต่างๆ) ให้แจ่มแจ้งด้วยการพิจารณา ชื่อว่านิรุตติปฏิสัมภิทา. ญาณอันถึงความรู้แตกฉานในปฏิภาณ (คือไหวพริบในการโต้ตอบได้ฉับพลันทันที) เพื่อสามารถกระทำการวิเคราะห์ปฏิภาณชนิดต่างๆ ให้แจ่มแจ้งด้วยการพิจารณา ชื่อว่าปฏิภาณปฏิสัมภิทา.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงจำแนกแสดงปฏิสัมภิทาทั้งหลายตามที่ทรงตั้งไว้ จึงตรัสคำว่า อตฺเถ ญาณํ อตฺถปฏิสมฺภิทา เป็นอาทิ (แปลว่า ความรู้แตกฉานในอรรถ ชื่อว่าอัตถปฏิสัมภิทา).

               อธิบายคำว่าอัตถะ               
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า อตฺถ เมื่อว่าโดยสังเขป ได้แก่ ผลของเหตุ (ผลอันเกิดแต่เหตุ).
               จริงอยู่ ผลของเหตุนั้น พึงเป็นของสงบ (คือปราศจากกิเลส) พึงถึงพึงบรรลุได้ด้วยสามารถแห่งเหตุฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกว่า อัตถะ.
               เมื่อว่าโดยประเภทแล้ว บัณฑิตพึงทราบว่า ได้แก่ธรรม ๕ เหล่านี้คือ
                         ๑. สภาวะอย่างใดอย่างหนึ่งอันอาศัยกันเกิดขึ้นเพราะปัจจัย
                         ๒. พระนิพพาน
                         ๓. อรรถแห่งภาษิต
                         ๔. วิบาก
                         ๕. กิริยา.
               เมื่อพิจารณาอรรถนั้นอยู่ ญาณอันถึงความรู้แตกฉานในอรรถนั้นๆ ชื่อว่าอัตถปฏิสัมภิทา.

               อธิบายคำว่าธัมมะ               
               คำว่า ธมฺม เมื่อว่าโดยสังเขปแล้ว ได้แก่ ปัจจัย.
               จริงอยู่ เพราะปัจจัยนั้นย่อมจัดแจง ย่อมให้ธรรมนั้นๆ เป็นไปด้วย ให้ถึงด้วย ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกว่า ธัมมะ แต่เมื่อว่าโดยประเภทแล้ว
               บัณฑิตพึงทราบว่า ได้แก่ธรรม ๕ เหล่านี้ คือ
                         ๑. เหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันยังผลให้เกิดขึ้น
                         ๒. อริยมรรค
                         ๓. ภาษิต (วาจาที่กล่าวแล้ว)
                         ๔. กุศล
                         ๕. อกุศล.
               เมื่อพิจารณาธรรมนั้นอยู่ ญาณอันถึงความรู้แตกฉานในธรรมนั้น ชื่อว่าธัมมปฏิสัมภิทา.

               อธิบายคำว่าธัมมนิรุตติ (ภาษาของสภาวะ)               
               พึงทราบวินิจฉัยในข้อว่า ญาณในการกล่าวซึ่งธัมมนิรุตติ ดังนี้.
               สภาวนิรุตติ (ภาษาอันเป็นสภาวะ) อันใด ย่อมเป็นไปในอรรถด้วย ในธรรมด้วย เมื่อพิจารณากระทำศัพท์ (เสียง) อันเป็นสภาวนิรุตตินั้นในเพราะการกล่าวอันนั้นอยู่ ญาณอันถึงความรู้แตกฉานในคำพูดอันเป็นสภาวนิรุตตินั้น ชื่อว่านิรุตติปฏิสัมภิทา.
               นิรุตติปฏิสัมภิทานี้เกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนี้ ชื่อว่ามีเสียงเป็นอารมณ์ หาชื่อว่ามีบัญญัติเป็นอารมณ์ไม่.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะฟังเสียงแล้วย่อมรู้ว่า นี้เป็นสภาวนิรุตติ นี้ไม่ใช่.
               จริงอยู่ ผู้บรรลุปฏิสัมภิทานั้น เมื่อมีผู้กล่าวว่า ผสฺโส ดังนี้ ย่อมทราบว่า นี้เป็นสภาวนิรุตติ หรือว่าเมื่อผู้อื่นกล่าวว่า ผสฺสา หรือ ผสฺสํ ดังนี้ ก็ย่อมรู้ว่า นี้ไม่ใช่สภาวนิรุตติ ดังนี้.
               แม้ในเวทนาเป็นต้นก็นัยนี้นั่นแหละ.
               ถามว่า ก็ผู้บรรลุปฏิสัมภิทานั้น ย่อมรู้ หรือย่อมไม่รู้ซึ่งเสียงแห่งพยัญชนะที่เป็นนาม อาขยาตและอุปสรรคอื่นๆ
               ตอบว่า ในกาลใดฟังเสียงเฉพาะหน้า ย่อมรู้ว่า นี้เป็นสภาวนิรุตติ นี้ไม่ใช่ ในกาลนั้นจักรู้ได้แม้ซึ่งคำนั้นแต่ต้น ดังนี้. แต่ว่า ข้อนี้มีผู้คัดค้านว่า นี้ไม่ใช่กิจของปฏิสัมภิทา ดังนี้แล้วได้ยกเอาเรื่องพระเถระมากล่าวว่า
               ได้ยินว่า พระเถระชื่อว่าติสสทัตตะ ถือเอาสลากอันเป็นวิการแห่งทองที่โพธิมณฑลแล้วปวารณา (คือหมายความว่าเปิดโอกาส หรืออนุญาตให้ภิกษุขอฟังภาษาต่างๆ ตามที่ต้องการ) แก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยคำว่า ในบรรดาภาษา ๑๘ อย่าง ข้าพเจ้าจักกล่าวด้วยภาษาไหน ดังนี้ ก็คำปวารณานั้น พระเถระท่านตั้งอยู่ในการศึกษาจึงได้ปวารณา มิใช่ตั้งอยู่ในปฏิสัมภิทาแล้วกล่าวปวารณา.
               ด้วยว่า พระเถระนั้น ท่านให้บุคคลบอกแล้วๆ ท่านก็เรียนเอาภาษานั้นๆ เพราะความที่ท่านมีปัญญามาก ถัดจากนั้นมาท่านจึงปวารณาอย่างนี้ เพราะตั้งอยู่แล้วในการศึกษาเล่าเรียน.

               ภาษามคธเป็นภาษาทั่วไปของสัตวโลก               
               ก็แลครั้นท่านกล่าวแล้ว จึงกล่าวคำในที่นี้ต่อไปอีกว่า ธรรมดาว่า สัตว์ทั้งหลายก็ย่อมเรียนภาษา ดังนี้. จริงอยู่ มารดาและบิดาให้ลูกน้อยนอนที่เตียงหรือที่ตั้งในเวลาที่ลูกยังเป็นทารก แล้วพูดซึ่งกิจนั้นๆ เด็กทั้งหลายย่อมกำหนดภาษาของมารดาหรือของบิดาว่า คำนี้ผู้นี้กล่าวแล้ว คำนี้ผู้นี้กล่าวแล้ว เมื่อกาลผ่านไปๆ พวกเด็กย่อมรู้ภาษาแม้ทั้งหมด. มารดาเป็นชาวทมิฬ บิดาเป็นชาวอันธกะ เด็กที่เกิดแต่ชนทั้งสองนั้น ถ้าเขาฟังถ้อยคำของมารดาก่อน เขาจักพูดภาษาทมิฬก่อน ถ้าฟังถ้อยคำของบิดาก่อน เขาจักพูดภาษาชาวอันธกะก่อน. แต่เมื่อไม่ได้ฟังถ้อยคำของชนแม้ทั้งสอง ก็จักกล่าว (พูด) ภาษาของชนชาวมคธ. ทารกแม้ใดเกิดในป่าใหญ่ไม่มีบ้าน คนอื่นชื่อว่ากล่าวอยู่ไม่มีในป่าใหญ่นั้น ทารกแม้นั้น เมื่อจะยังวาจาให้ตั้งขึ้นตามธรรมดาของตน ก็จักกล่าวภาษาของชนชาวมคธนั่นแหละ.
               ภาษาของชนชาวมคธเท่านั้นหนาแน่นแล้ว (มากมาย) ในที่ทั้งปวง คือ
                         ๑. ในนิรยะ (นรก)
                         ๒. ในกำเนิดแห่งสัตว์ดิรัจฉาน
                         ๓. ในปิตติวิสัย (กำเนิดเปรต)
                         ๔. ในมนุษยโลก
                         ๕. ในเทวโลก
               ในภาษาของสัตว์ทั้งหลาย ภาษา ๑๘ อย่างนอกจากภาษาของชนชาวมคธ มีภาษาของคนป่า ของชาวอันธกะ ของชาวโยนก ของทมิฬตามที่กล่าวแล้วเป็นต้น ย่อมเปลี่ยนแปลงไป ภาษาของชนชาวมคธกล่าวคือเป็นโวหารของพรหม เป็นโวหารของพระอริยะตามความเป็นจริง ภาษานี้ภาษาเดียวเท่านั้นไม่เปลี่ยนแปลง. แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อจะทรงยกพระไตรปิฎก คือพระพุทธพจน์ขึ้นสู่แบบแผน ก็ทรงยกขึ้นด้วยภาษาของชนชาวมคธนั่นแหละ.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า ก็เพราะเพื่อจะนำมาซึ่งอรรถ (ประโยชน์) ได้โดยง่าย.
               จริงอยู่ การเข้าถึงคลองกระแสแห่งพระพุทธพจน์ที่ยกขึ้นสู่แบบแผน ด้วยภาษาแห่งชนชาวมคธย่อมเป็นการมาอย่างพิสดารแก่ผู้บรรลุปฏิสัมภิทาทั้งหลาย. คือว่า เมื่อกระแสแห่งพระพุทธพจน์นั้นสักว่าผู้บรรลุปฏิสัมภิทาสืบต่อแล้วนั่นแหละ อรรถย่อมมาปรากฏนับโดยร้อยนัยพันนัย. ก็การที่บุคคลท่องแล้วๆ เรียนเอาซึ่งพระพุทธพจน์ที่ยกขึ้นสู่แบบแผนด้วยภาษาอื่นมีอยู่ แต่ชื่อว่าการบรรลุปฏิสัมภิทาของปุถุชน เพราะเรียนเอาพุทธพจน์นั้นแม้มาก ย่อมไม่มี. พระอริยสาวกผู้ไม่บรรลุปฏิสัมภิทาหามีไม่.
               คำว่า ญาเณสุ ญาณํ (แปลว่า ความรู้ในญาณทั้งหลาย) ได้แก่ เมื่อเธอพิจารณากระทำญาณในที่ทั้งปวงให้เป็นอารมณ์แล้ว ญาณอันถึงความรู้แตกฉาน ชื่อว่าปฏิภาณปฏิสัมภิทา ดังนี้.
               อนึ่ง บัณฑิตพึงทราบว่า ปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ เหล่านี้ ย่อมถึงการแยกออกในฐานะ (ภูมิ) ๒ อย่าง และย่อมบริสุทธิ์ด้วยเหตุ ๕ อย่าง.
               ถามว่า ปฏิสัมภิทา ๔ ย่อมถึงการแยกออกในฐานะ ๒ เป็นไฉน?
               ตอบว่า ในฐานะ ๒ คือ เสกขภูมิและอเสกขภูมิ.
               ในฐานะ ๒ นั้น ปฏิสัมภิทาของพระมหาเถระแม้ทั้ง ๘๐ รูปถึงประเภทอเสกขภูมิ คือ ได้แก่ปฏิสัมภิทาของพระสารีบุตรเถระ ของพระมหาโมคคัลลานเถระ ของพระมหากัสสปเถระ ของพระมหากัจจายนเถระ ของพระมหาโกฏฐิตเถระเป็นต้น. ปฏิสัมภิทาของผู้ถึงเสกขภูมิ คือของพระอานันทเถระ ของจิตตคหบดี ของธัมมิกอุบาสก ของอุบาลีคหบดี ของนางขุชชุตตราอุบาสิกาเป็นต้น ปฏิสัมภิทาทั้งหลายย่อมถึงการแยกออกในภูมิทั้งสองเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้.
               ถามว่า ปฏิสัมภิทาทั้งหลายย่อมเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ด้วยเหตุ ๕ เป็นไฉน?
               ตอบว่า ด้วยอธิคมะ ด้วยปริยัติ ด้วยสวนะ ด้วยปริปุจฉา ด้วยปุพพโยคะ.
               ในเหตุ ๕ เหล่านั้น พระอรหัต ชื่อว่าอธิคมะ.
               จริงอยู่ เมื่อบรรลุพระอรหัตแล้ว ปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ย่อมเป็นธรรมบริสุทธิ์.
               พระพุทธพจน์ ชื่อว่าปริยัติ.
               จริงอยู่ เมื่อเรียนเอาซึ่งพระพุทธพจน์อยู่ ปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ย่อมเป็นธรรมบริสุทธิ์.
               การฟังพระธรรม ชื่อว่าสวนะ.
               จริงอยู่ เมื่อฟังธรรมอยู่โดยเคารพ ปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ย่อมเป็นธรรมบริสุทธิ์.
               อรรถกถา ชื่อว่าปริปุจฉา.
               จริงอยู่ เมื่อกล่าวอยู่ซึ่งอรรถแห่งพระบาลีอันตนเรียนมาแล้ว ปฏิสัมภิทาทั้งหลายย่อมเป็นธรรมบริสุทธิ์.
               ความเป็นพระโยคาวจรในกาลก่อนคือ ความที่กรรมฐานอันตนบริหารแล้วโดยนัยแห่งการนำกรรมฐานไปและนำกรรมฐานกลับมา (หรณปัจจาหรณวัตร) ในอดีตภพ ชื่อว่าปุพพโยคะ.
               จริงอยู่ เมื่อหยั่งลงสู่ความเพียรมาแล้วในกาลก่อน ปฏิสัมภิทาทั้งหลายก็ย่อมเป็นธรรมบริสุทธิ์.
               บรรดาเหตุ ๕ เหล่านั้น พึงทราบปฏิสัมภิทาทั้งหลายของพระติสสเถระผู้เป็นบุตรแห่งกุฎุมภี ชื่อปุนัพพสุ ได้เป็นธรรมบริสุทธิ์แล้วด้วยการบรรลุพระอรหัต ดังนี้.
               ได้ยินว่า พระติสสเถระนั้นเรียนพระพุทธพจน์ในตัมพปัณณิทวีป (คือในเกาะของชนผู้มีฝ่ามือแดง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ลังกาทวีป) แล้วไปสู่ฝั่งอื่นเรียนเอาพระพุทธพจน์ในสำนักของพระธัมมรักขิตเถระ ชาวโยนก เสร็จจากการเรียนก็เดินทางมาถึงท่าเป็นที่ขึ้นเรือ เกิดความสงสัยในพระพุทธพจน์บทหนึ่ง จึงเดินทางกลับมาสู่ทางเดิมอีกประมาณ ๑๐๐ โยชน์ เมื่อไปสู่สำนักของอาจารย์ในระหว่างทางได้แก้ปัญหาแก่กุฎุมภีคนหนึ่ง กุฎุมภีผู้นั้นมีความเลื่อมใสได้ถวายผ้ากัมพลมีค่าแสนหนึ่ง พระติสสเถระนั้นนำผ้ามาถวายอาจารย์ อาจารย์ของพระเถระนั้นทำลายผ้าซึ่งมีราคาถึงแสนหนึ่งนั้นด้วยมีด แล้วให้ทำเป็นของใช้ในที่เป็นที่สำหรับนั่ง.
               ถามว่า การที่อาจารย์ทำอย่างนั้น เพื่อประโยชน์อะไร?
               ตอบว่า เพื่ออนุเคราะห์แก่ชนผู้เกิดมาในภายหลัง.
               ได้ยินว่า อาจารย์นั้นมีปริวิตกว่า ในอนาคตกาล เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายจักสำคัญถึงการปฏิบัติอันตนให้บริบูรณ์แล้ว โดยการพิจารณาถึงมรรคอันพวกเราบรรลุแล้ว (หาใช่มีความกังวลอย่างอื่นไม่). แม้พระติสสเถระก็ตัดความสงสัยได้ในสำนักของอาจารย์ แล้วจึงไป ท่านก้าวลงที่ท่าแห่งเมืองชื่อ ชัมพุโกล ถึงวิหารชื่อว่าวาลิกะ ในเวลาเป็นที่ปัดกวาดลานพระเจดีย์ ท่านก็ปัดกวาดลานพระเจดีย์. พระเถระทั้งหลายเห็นที่เป็นที่อันพระติสสเถระนั้นปัดกวาดแล้ว จึงคิดว่า ที่นี้เป็นที่ปัดกวาดอันภิกษุผู้มีราคะไปปราศแล้วทำการปัดกวาด แต่เพื่อต้องการทดลอง จึงถามปัญหาต่างๆ พระติสสเถระนั้นก็กล่าวแก้ปัญหาอันภิกษุเหล่านั้นถามแล้วทุกข้อ เพราะความที่ตนเป็นผู้บรรลุปฏิสัมภิทาทั้งหลายดังนี้.
               ปฏิสัมภิทาของพระติสสทัตตเถระและของพระนาคเสนเถระ ได้บริสุทธิ์แล้วด้วยปริยัติ. ปฏิสัมภิทาของสามเณร ชื่อสุธรรม ได้บริสุทธิ์แล้วด้วยการฟังธรรมโดยเคารพ.
               ได้ยินว่า สามเณรนั้นเป็นหลานของพระธัมมทินนเถระผู้อยู่ในตฬังครวาสี ในขณะที่ปลงผมเสร็จก็บรรลุพระอรหัต เมื่อท่านกำลังนั่งฟังธรรมในโรงวินิจฉัยธรรมของพระเถระผู้เป็นลุงนั่นแหละ ได้เป็นผู้ชำนาญพระไตรปิฎกแล้ว.
               ปฏิสัมภิทาของพระติสสทัตตเถระผู้กล่าวอรรถ (ปริปุจฉา) ด้วยพระบาลีอันตนเรียนมา ได้เป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว. อนึ่ง พระโยคาวจรในปางก่อนบำเพ็ญคตปัจจาคตวัตร (วัตรคือการนำกรรมฐานไปและนำกรรมฐานกลับมา) แล้วขวนขวายกรรมฐานอันเหมาะสม มีปฏิสัมภิทาอันถึงความบริสุทธิ์แล้ว มิได้สิ้นสุด (มีมากมาย).
               ก็บรรดาเหตุ ๕ เหล่านั้น เหตุ ๓ เหล่านี้ คือ ปริยัติ สวนะ ปริปุจฉา เป็นเหตุ (เครื่องกระทำ) ที่มีกำลัง แก่ปัญญาเป็นเครื่องแตกฉาน. ปุพพโยคะ เป็นพลวปัจจัย (ปัจจัยที่มีกำลัง) แก่อธิคม (การบรรลุพระอรหัต).
               ถามว่า ปุพพโยคะเป็นปัจจัยที่มีกำลังแก่ปัญญาเป็นเครื่องแตกฉาน หรือไม่?
               ตอบว่า เป็น แต่มิได้เป็นเช่นนั้น เพราะปริยัติคือพระพุทธพจน์ สวนะคือการฟังธรรม ปริปุจฉาคือการสอบถามอรรถธรรมในกาลก่อน จะมีหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อว่าโดยปุพพโยคะแล้ว เว้นจากการพิจารณาสังขารทั้งหลายในกาลก่อนด้วย ในกาลปัจจุบันด้วย ปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ชื่อว่าหามีได้ไม่.
               อนึ่ง ปุพพโยคะในกาลก่อน และในกาลปัจจุบันนี้ เมื่อรวมกันเข้ามาสนับสนุนแล้ว ย่อมทำปฏิสัมภิทาให้บริสุทธิ์.
               วรรณนาสังคหวาระ จบ.๑-               
____________________________
๑- สังคหวาระ หมายถึงวาระที่กล่าวรวมกัน.

               บัดนี้ เพื่อจำแนกปฏิสัมภิทาทั้งหลายโดยนัยแห่งการแสดงประเภทแห่งการสงเคราะห์ อรรถและธรรมทั้ง ๕ วาระเหล่าใดเหล่าหนึ่งในสังคหวาระ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงเริ่มปเภทวาระ (คือวาระที่มีชนิดต่างกัน) โดยนัยเป็นต้นว่า จตสฺโส (แปลว่า ปฏิสัมภิทา ๔) ดังนี้อีก. วาระนั้นมี ๕ อย่างด้วยสามารถแห่งสัจจวาระ เหตุวาระ ธัมมวาระ ปัจจยาการวาระ ปริยัตติวาระ.
               ในวาระเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสัจจวาระไว้ก็เพื่อแสดงถึงความที่พระนิพพานเป็นธรรมที่บรรลุได้ด้วยปัจจัยแห่งทุกข์ซึ่งอาศัยกันเกิดขึ้น ว่าเป็นอัตถะ (อัตถปฏิสัมภิทา) และเพื่อแสดงถึงความที่อริยมรรคอันนำมาซึ่งพระนิพพานอันเป็นเหตุ อันยังผลให้เกิดขึ้นว่าเป็นธัมมะ (ธัมมปฏิสัมภิทา).
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเหตุวาระ๒- ไว้ก็เพื่อแสดงถึงความที่เหตุทั้งหลายอันยังผลให้เกิดอันใดอันหนึ่งว่าเป็นธัมมะ (ธัมมปฏิสัมภิทา) และเพื่อแสดงถึงความที่ผลของเหตุว่าเป็นอัตถะ (อัตถปฏิสัมภิทา). ในข้อนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกธัมมปฏิสัมภิทาขึ้นชี้แจงก่อน โดยไม่เป็นไปตามระเบียบอันว่าด้วยลำดับแห่งเหตุและผลที่ทรงตั้งไว้.
____________________________
๒- เหตุวาระ ปฏิสัมภิทา ๔ คือ อัตถ ...ธัมม ... นิรุตติ ... ปฏิภาณปฏิสัมภิทา พระผู้มีพระภาคเจ้าอธิบายธัมมะ (เหตุ) ก่อนอัตถะ.

               อนึ่ง ธรรมเหล่าใดอันต่างด้วยรูปและอรูปธรรม (ขันธ์ ๕) อันเกิดขึ้นแล้วมีแล้วจากเหตุนั้นๆ เพื่อแสดงซึ่งความที่ธรรมเหล่านั้นว่าเป็นอัตถะ (อัตถปฏิสัมภิทา) และเพื่อแสดงซึ่งความที่เหตุอันเกิดขึ้นแห่งรูปและอรูปธรรมนั้นๆ ว่าเป็นธัมมะ (ธัมมปฏิสัมภิทา) พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสธัมมวาระไว้.
               ก็เพื่อแสดงซึ่งธรรมมีชราและมรณะเป็นต้นว่าเป็นอัตถะ (อัตถปฏิสัมภิทา) และซึ่งความที่ธรรม คือชาติ (การเกิด) กล่าวคือเหตุเกิดขึ้นแห่งชราและมรณะเป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสปัจจยาการวาระ.
               ลำดับนั้น เพื่อแสดงซึ่งภาษิตนั้นๆ กล่าวคือพระปริยัติ และซึ่งความที่อรรถแห่งภาษิตที่พึงบรรลุได้ด้วยปัจจัยกล่าวคือภาษิต พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสปริยัตติวาระ ในข้อนี้ อรรถแห่งภาษิตนั้นที่จะรู้ได้ ย่อมรู้ได้ด้วยภาษิต ฉะนั้น พระองค์จึงทรงยกธัมมปฏิสัมภิทาขึ้นชี้แจงแสดงก่อนอัตถปฏิสัมภิทา โดยมิได้แสดงไปตามลำดับแห่งเนื้อความภาษิตที่พระองค์ตรัสไว้.
               อนึ่ง เพื่อแสดงประเภทแห่งพระปริยัติธรรมว่า ในปฏิสัมภิทา ๔ เหล่านั้น ธัมมปฏิสัมภิทาเป็นไฉน. จึงตรัสปฏิสัมภิทา (คือวาระที่วกกลับมาชี้แจง) เป็นคำถามเป็นประธาน. ในวาระที่วกกลับมาชี้แจงนั้น ทรงถือเอาแบบแผนทั้งหมดโดยไม่เหลือ ด้วยองค์ ๙#- ซึ่งมีคำว่าสุตตะเป็นต้นว่า เป็นธัมมปฏิสัมภิทา ทรงถือเอาแบบแผนทั้งหมดสิ้นเชิง โดยการแสดงมิให้เหลือ ด้วยสามารถแห่งภาษิตในที่แม้นี้ว่า นี้เป็นอรรถแห่งภาษิตนี้ นี้เป็นอรรถแห่งภาษิตนี้ ดังนี้ ว่าเป็นอัตถปฏิสัมภิทา ดังนี้แล.
____________________________
#- องค์ ๙ คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ.

               สุตตันตภาชนีย์ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา วิภังคปกรณ์ ปฏิสัมภิทาวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์ จบ.
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 774อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 777อ่านอรรถกถา 35 / 778อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=35&A=10060&Z=10069
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=54&A=9758
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=54&A=9758
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๗  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :