ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔]อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 416อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 431อ่านอรรถกถา 35 / 458อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อรรถกถา วิภังคปกรณ์
สติปัฏฐานวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์

หน้าต่างที่ ๓ / ๔.

               กรรมฐานกถา ว่าด้วยอำนาจสาธารณะ               
               ก็พึงทราบกรรมฐานดังพรรณนามานี้ ด้วยอำนาจสาธารณะโดยไม่แปลกกัน.
               จริงอยู่ พระโยคาวจรผู้ใคร่จะเจริญกรรมฐานนี้ เรียนเอากรรมฐานนี้ เรียนเอากรรมฐานแล้ว พึงท่องแล้วๆ ซึ่ง นิมิตแห่งสี นิมิตแห่งสัณฐาน นิมิตแห่งทิศ นิมิตแห่งโอกาส และนิมิตแห่งปริจเฉทแห่งโกฏฐาสทั้งหลายมีผมเป็นต้น ด้วยวาจาในเวลาที่สาธยายนั่นแหละ แล้วมนสิการในแต่ละโกฏฐาสว่า โกฏฐาสนี้คล้ายกับสิ่งนั้น ดังนี้ แล้วทำการสาธยายโดย ๓ วิธี.
               ถามว่า พึงทำการสาธยายอย่างไร.
               ตอบว่า ในตจปัญจกะก่อน พึงทำการสาธยายโกฏฐาสเหล่านี้ตลอดกึ่งเดือนเทียว คือโดยอนุโลมตลอด ๕ วัน โดยนัยที่กล่าวไว้แล้วในหนหลังนั่นแหละ โดยปฏิโลมตลอด ๕ วัน และทั้งโดยอนุโลมทั้งโดยปฏิโลมอีกตลอด ๕ วัน. ต่อจากนั้น พึงไปสู่สำนักของอาจารย์เรียนเอาวักกปัญจกะ แล้วก็พึงทำการสาธยายตลอดกึ่งเดือน โดยทำนองนั้นนั่นแหละ. ต่อจากนั้น พึงทำการสาธยายโกฏฐาสแม้ทั้ง ๑๐ เหล่านั้นรวมกันตลอดกึ่งเดือน. พึงเรียนเอาโกฏฐาสหนึ่งและหนึ่ง แม้ในปัปผาสปัญจกะเป็นต้นอีก แล้วทำการสาธยายตลอดกึ่งเดือน. จากนั้น พึงทำการสาธยายโกฏฐาสแม้ทั้ง ๑๕ เหล่านั้นตลอดกึ่งเดือน. พึงทำการสาธยายมัตถลุงคปัญจกะตลอดกึ่งเดือน. จากนั้น พึงทำการสาธยายโกฏฐาสแม้ ๒๐ เหล่านั้นตลอดกึ่งเดือน. พึงทำการสาธยายเมทฉักกะตลอดกึ่งเดือน. จากนั้น พึงทำการสาธยายโกฏฐาสแม้ ๒๖ เหล่านั้น รวมกันตลอดกึ่งเดือน พึงทำการสาธยายมุตตฉักกะตลอดกึ่งเดือน. จากนั้น พึงทำการสาธยายโกฏฐาส ๓๒ แม้ทั้งหมด รวมกันตลอดกึ่งเดือน. พึงทำการสาธยาย ๖ เดือนอย่างนี้ด้วยประการฉะนี้.
               ในกรรมฐานนั้น ภิกษุผู้มีอุปนิสัยอันถึงพร้อมแล้ว ผู้มีปัญญา เรียนกรรมฐานอยู่นั่นแหละ โกฏฐาสทั้งหลายย่อมปรากฏ. ย่อมไม่ปรากฏแก่ภิกษุบางรูป. ด้วยเหตุนั้น ภิกษุนั้นก็ไม่พึงสละความเพียร ด้วยคิดว่า โกฏฐาสทั้งหลาย ไม่ปรากฏแก่เรา ดังนี้. โกฏฐาสทั้งหลายมีประมาณเท่าไร ยังมิได้ปรากฏ พึงถือเอาโกฏฐาสเหล่านั้น ทำการสาธยายไปเถิด.
               อนึ่ง อาจารย์ผู้บอก ก็ไม่พึงบอกกรรมฐานอย่างนี้แก่ผู้มีปัญญามากและผู้มีปัญญาน้อย ควรบอกแก่ผู้มีปัญญาปานกลาง เพราะว่า อาจารย์ทั้งหลายกำหนดวางแบบแผนไว้ ๖ เดือน สำหรับผู้มีปัญญาปานกลาง. ส่วนโกฏฐาสทั้งหลายของภิกษุใดแม้มีประมาณเท่านี้ยังมิได้ปรากฏ ภิกษุนั้นก็พึงทำการสาธยายต่อไปนั่นแหละ จะไม่กำหนดต่อจากนั้นไปหาควรไม่ พึงกำหนดตลอดทุกๆ ๖ เดือน. เมื่อเธอทำการสาธยายอยู่ ไม่พึงพิจารณาสี ไม่พึงมนสิการลักษณะ พึงทำการสาธยายด้วยอำนาจแห่งโกฏฐาสเท่านั้น. แม้อาจารย์เล่าก็ไม่พึงบอกกำหนดจำกัดลงไปว่า เธอจงทำการสาธยายด้วยอำนาจแห่งสี ดังนี้.

               เมื่อบอกกำหนดจำกัดจะเป็นโทษอย่างไร               
               เมื่อบอกกำหนดจำกัด การผิดพลาดด้วยการสำคัญผิด (จะพึงมี) แม้ในสิ่งที่เขาจะพึงถึงพร้อม เพราะถ้าอาจารย์บอกว่า เธอจงทำการสาธยายด้วยอำนาจแห่งสี ดังนี้ไซร้ เมื่อภิกษุนี้ทำอยู่อย่างนั้น กรรมฐานไม่ปรากฏโดยสี หรือว่าโดยอำนาจปฏิกูล หรือโดยอำนาจแห่งธาตุ. ทีนั้น ภิกษุนั้นก็จะสำคัญว่า นี้มิใช่ลักษณะของกรรมฐาน ทั้งมิใช่กรรมฐาน เธอจะกำหนดถือเอาเฉพาะคำอันอาจารย์บอกแล้วเท่านั้น. ถ้าอาจารย์แม้บอกว่า เธอจงทำการสาธยายกรรมฐานนี้ ด้วยอำนาจแห่งปฏิกูล ดังนี้ไซร้ เมื่อภิกษุนั้นทำอย่างนั้นอยู่ กรรมฐานไม่ปรากฏโดยปฏิกูล หรือว่าโดยอำนาจแห่งสี หรือว่าโดยอำนาจแห่งธาตุ ทีนั้น เธอก็จะสำคัญว่า นี้มิใช่ลักษณะของกรรมฐาน มิใช่กรรมฐาน จะกำหนดถือเอาเฉพาะคำที่อาจารย์บอกแล้วเท่านั้น. ถ้าอาจารย์บอกว่า เธอจงทำการสาธยายด้วยสามารถแห่งธาตุไซร้ เมื่อภิกษุนั้นทำอย่างนั้นอยู่ กรรมฐานไม่ปรากฏโดยธาตุ หรือว่าโดยสามารถแห่งสี หรือว่าโดยสามารถแห่งปฏิกูล ทีนั้น ภิกษุนั้นย่อมจะสำคัญว่า นี้มิใช่ลักษณะ มิใช่กรรมฐาน จะกำหนดถือเอาเฉพาะคำอันอาจารย์บอกแล้วเท่านั้น.
               นี้เป็นโทษในถ้อยคำที่อาจารย์กล่าวกำหนดจำกัด.

               อาจารย์พึงบอกอย่างไร               
               อาจารย์ผู้บอกกรรมฐาน พึงบอกว่า เธอจงทำการสาธยาย ด้วยสามารถแห่งโกฏฐาส ดังนี้. คือ อย่างไร? คือ อาจารย์พึงบอกว่า เธอจงทำการสาธยายโกฏฐาสว่า เกสา โลมาเป็นต้น ก็ถ้าภิกษุนั้นทำการสาธยาย ด้วยสามารถแห่งโกฏฐาสอย่างนี้ กรรมฐานปรากฏอยู่โดยสี ทีนั้น ภิกษุนั้นก็จะพึงบอกแก่อาจารย์ผู้ให้โอวาทว่า กระผมทำการสาธยายอาการ ๓๒ ด้วยสามารถแห่งโกฏฐาส แต่กรรมฐานนั้น (โกฏฐาส) ปรากฏแก่กระผมโดยสี ดังนี้ อาจารย์ไม่พึงกล่าวขัดแย้งว่า นั่นมิใช่ลักษณะ (ของกรรมฐาน) มิใช่กรรมฐาน เป็นดุจกรรมฐาน ดังนี้. แต่พึงกล่าวว่า สัปบุรุษ ดีแล้ว ในกาลก่อน เธอจักเคยกระทำบริกรรมในวัณณกสิณมา กรรมฐานนี้นั่นแหละเป็นสัปปายะของเธอ เธอจงทำการสาธยายด้วยสามารถแห่งสีทีเดียว. แม้ภิกษุนั้นก็ควรทำการสาธยายด้วยสามารถแห่งสีนั่นแหละ.

               การปรากฏแห่งโกฏฐาส               
               เมื่อภิกษุนั้นทำอยู่อย่างนี้ ย่อมจะได้วัณณกสิณ ๔ คือนีลกกสิณ (กสิณสีเขียว) ปีตกกสิณ (กสิณสีเหลือง) โลหิตกกสิณ (กสิณสีแดง) โอทาตกกสิณ (กสิณสีขาว). คือ อย่างไร?
               คือ เมื่อภิกษุนั้นมนสิการสีที่ผม ขน น้ำดีและในสีดำแห่งลูกตาว่า นีลํ นีลํ (เขียวๆ) อยู่ ฌานอันเป็นจตุกกนัยหรือปัญจกนัย ย่อมเกิดขึ้น ภิกษุนั้นทำฌานให้เป็นบาท เริ่มตั้งวิปัสสนาไว้แล้ว ย่อมบรรลุพระอรหันต์. ก็เมื่อภิกษุนั้นมนสิการสีมันข้นและในที่สีเหลืองแห่งลูกตาว่า ปีตกํ ปีตกํ (เหลืองๆ) อยู่ ฌานอันเป็นจตุกกนัยหรือปัญจกนัย ย่อมเกิดขึ้น ภิกษุนั้นทำฌานให้เป็นบาท เริ่มตั้งวิปัสสนาไว้แล้ว ย่อมบรรลุพระอรหัต. ก็เมื่อภิกษุนั้น มนสิการสีเนื้อ เลือดและในที่สีแดงแห่งลูกตาว่า โลหิตกํ โลหิตกํ (แดงๆ) อยู่ ฌานอันเป็นจตุกกนัยหรือปัญจกนัย ย่อมเกิดขึ้น ภิกษุนั้นทำฌานให้เป็นบาท เริ่มตั้งวิปัสสนาไว้แล้ว ย่อมบรรลุพระอรหัต ก็เมื่อภิกษุนั้นมนสิการสีเล็บ ฟัน หนัง กระดูกและในที่สีขาวแห่งลูกตาว่า โอทาตํ โอทาตํ (ขาวๆ) อยู่ ฌานอันเป็นจตุกกนัยหรือปัญจกนัย ย่อมเกิดขึ้น ภิกษุนั้นทำฌานให้เป็นบาท เริ่มตั้งวิปัสสนาได้แล้ว ย่อมบรรลุพระอรหัต.
               ข้อนี้เป็นการออกไปของภิกษุผู้มีจิตตั้งมั่นแล้วด้วยอำนาจแห่งสี จนถึงพระอรหัต.
               ภิกษุอื่นอีก เมื่อทำการสาธยายด้วยสามารถแห่งโกฏฐาสอยู่ กรรมฐานย่อมปรากฏโดยปฏิกูล ทีนั้น ภิกษุนั้นพึงบอกแก่อาจารย์ผู้ให้โอวาท อาจารย์ก็ไม่พึงกล่าวขัดแย้งว่า นั่นมิใช่ลักษณะ (ของกรรมฐาน) มิใช่กรรมฐาน เป็นดุจกรรมฐาน ดังนี้ แต่พึงบอกว่า สัปบุรุษ ดีแล้ว ในปางก่อน เธอจักเคยประกอบความเพียรในปฏิกูลมนสิการมา กรรมฐานนี้นั่นแหละเป็นสัปปายะของเธอ เธอจงกระทำการสาธยายด้วยสามารถแห่งปฏิกูลนั่นแหละ. แม้ภิกษุนั้นก็ควรทำการสาธยายด้วยสามารถแห่งปฏิกูล. เมื่อภิกษุนั้นทำการสาธยายด้วยสามารถแห่งปฏิกูลอย่างนี้ว่า ขึ้นชื่อว่าผมทั้งหลายเป็นของไม่งาม ไม่น่าชอบใจ มีกลิ่นเหม็น น่ารังเกียจ เป็นของปฏิกูล ดังนี้อยู่ ปฐมฌานย่อมเกิดขึ้นในอารมณ์ปฏิกูลได้. ภิกษุนั้นทำฌานให้เป็นบาท เริ่มตั้งวิปัสสนาได้แล้ว ย่อมบรรลุพระอรหัต.
               ข้อนี้เป็นการออกไปของภิกษุผู้มีจิตตั้งมั่นแล้วด้วยอำนาจแห่งปฏิกูล จนถึงพระอรหัต.
               ภิกษุอื่นอีกกระทำการสาธยายด้วยสามารถแห่งโกฏฐาส กรรมฐานย่อมปรากฏโดยธาตุ.
               ถามว่า กรรมฐานเมื่อปรากฏโดยธาตุ ย่อมปรากฏเป็นเช่นไร?
               ตอบว่า ผมทั้งหลายก่อน เมื่อปรากฏ ย่อมปรากฏเป็นราวกะต้นหญ้าปนคลุมบนจอมปลวก. ขนทั้งหลายย่อมปรากฏเป็นราวกะว่าหญ้าแพรกทั้งหลายเกิดในที่ของบ้านเก่า. เล็บทั้งหลายย่อมปรากฏเป็นราวกะว่าปลอกเม็ดในผลมะซางที่เขาติดไว้ปลายท่อนไม้. ฟันทั้งหลายย่อมปรากฏเป็นราวกะว่าเม็ดน้ำเต้าที่เขาปักไว้ที่ก้อนดินเหนียว. หนังย่อมปรากฏเป็นราวกะว่าหนังโคสดหุ้มไม้เล็กน้อย (หรือหุ้มข้อต่อของพิณ). เนื้อย่อมปรากฏเป็นราวกะว่าดินเหนียวที่เขาฉาบทาไว้ข้างฝาเรือน. เอ็นทั้งหลายย่อมปรากฏเป็นราวกะว่าเถาวัลย์พันทัพพสัมภาระ. กระดูกย่อมปรากฏเป็นราวกะว่าทัพพสัมภาระของฝาเรือนที่ยกขึ้นตั้งไว้. เยื่อในกระดูกย่อมปรากฏเป็นราวกะว่ายอดหวายลนไฟที่ใส่ไว้ในไม้ไผ่ลำใหญ่. โกฏฐาสทั้ง ๖ คือไต หัวใจ ตับ พังผืด ม้ามและปอดย่อมปรากฏเป็นราวกะว่าโรงฆ่าสัตว์. ไส้ใหญ่ยาว ๓๒ ศอกย่อมปรากฏเป็นราวกะว่างูเรือนที่เขาฆ่าแล้วใส่ไว้ในรางเลือด. ไส้น้อยย่อมปรากฏเป็นราวกะว่าเส้นเชือกเล็กที่เขาเย็บไว้ที่ผ้าสำหรับเช็ดเท้า. อาหารใหม่ย่อมปรากฏเป็นราวกะว่าข้าวสารในถุงผ้าบางหย่อนๆ. อาหารเก่า (อุจจาระ) ย่อมปรากฏเป็นราวกะว่าก้อนดินเหลืองที่เขายัดไว้ในกระบอกไม้ไผ่. มันสมองย่อมปรากฏเป็นราวกะว่าก้อนแป้งข้าวสาร ๔ ก้อน ที่เขาขยำแล้วตั้งไว้. อาโปธาตุ ๑๒ อย่างย่อมปรากฏเป็นราวกะว่าน้ำเต็มถ้วยน้ำ ๑๒ ถ้วย ที่เขาตั้งเรียงกันไว้. ทีนั้น ภิกษุนั้นพึงบอกแก่อาจารย์ผู้ให้โอวาท อาจารย์ก็ไม่พึงกล่าวขัดแย้งว่า นั่นมิใช่ลักษณะ (ของกรรมฐาน) มิใช่กรรมฐาน เป็นราวกะว่ากรรมฐาน ดังนี้ แต่พึงกล่าวว่า สัปบุรุษ ดีแล้ว ในกาลก่อน เธอจักเคยกระทำความเพียรในธาตุมนสิการมา กรรมฐานนั้นนั่นแหละเป็นสัปปายะของเธอ เธอจงทำการสาธยายด้วยสามารถแห่งธาตุเถิด. แม้ภิกษุนั้นก็ควรทำการสาธยายด้วยสามารถแห่งธาตุ แล.

               ในข้อนั้นพึงทราบวิธีการสาธยายโดยหัวข้อมนสิการ ดังนี้               
               ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมมนสิการ (คือกระทำไว้ในใจ) ว่า ผมทั้งหลายเกิดที่หนังหุ้มศีรษะ ผมเหล่านั้นย่อมไม่รู้ตัวเองว่า เราเกิดที่หนังหุ้มศีรษะ แม้หนังหุ้มศีรษะเล่าก็ย่อมไม่รู้ว่า ผมทั้งหลายเกิดในเรา สิ่งเหล่านี้ไม่มีการคิด เป็นอัพยากตะ เป็นของว่างเปล่า เป็นสภาพแข็ง กระด้าง นี้เป็นปฐวีธาตุ. ย่อมมนสิการว่า ขนทั้งหลายเกิดที่หนังหุ้มสรีระ ขนเหล่านั้นย่อมไม่รู้ว่า เราเกิดที่หนังหุ้มสรีระ แม้หนังหุ้มสรีระเล่าก็ไม่รู้ว่า ขนทั้งหลายเกิดในเรา แม้สิ่งเหล่านี้ ก็ไม่มีการคิด. เล็บทั้งหลายเกิดที่ปลายนิ้วทั้งหลาย เล็บเหล่านั้นย่อมไม่รู้ว่า เราเกิดที่ปลายนิ้วทั้งหลาย แม้ปลายนิ้วทั้งหลายเล่าก็ไม่รู้ว่า เล็บทั้งหลายเกิดในเรา แม้สิ่งเหล่านี้ก็ไม่มีการคิด. ฟันทั้งหลายเกิดที่กระดูกคาง ฟันเหล่านี้ย่อมไม่รู้ว่า เราเกิดที่กระดูกคาง แม้กระดูกคางเล่าก็ไม่รู้ว่า ฟันทั้งหลายเกิดในเรา แม้สิ่งเหล่านี้ก็ไม่มีการคิด. หนังย่อมไม่รู้ว่า เราหุ้มสรีระแม้สรีระเล่า ก็ไม่รู้ว่า เราถูกหนังหุ้มไว้ แม้สิ่งนี้ ก็ไม่มีการคิด. เนื้อย่อมไม่รู้ว่า เราฉาบทาสรีระ แม้สรีระเล่าก็ไม่รู้ว่า เราถูกเนื้อฉาบทาไว้แม้สิ่งนี้ ก็ไม่มีการคิด. เอ็นย่อมไม่รู้ว่า เราผูกกองกระดูกไว้ แม้กองกระดูกเล่าก็ไม่รู้ว่า เราถูกตาข่ายแห่งเอ็นผูกไว้ แม้สิ่งนี้ ก็ไม่มีการคิด. กระดูกศีรษะย่อมไม่รู้ว่า เราตั้งอยู่ที่กระดูกคอ แม้กระดูกคอเล่าก็ไม่รู้ว่า กระดูกศีรษะตั้งอยู่ในเรา กระดูกคอก็ไม่รู้ว่า เราตั้งอยู่ที่กระดูกสันหลัง แม้กระดูกสันหลัง กระดูกสะเอว กระดูกขาอ่อน กระดูกแข้ง กระดูกข้อเท้าย่อมไม่รู้ว่า เราตั้งอยู่ที่กระดูกส้นเท้า แม้กระดูกส้นเท้าเล่าก็ไม่รู้ว่า เรายกกระดูกข้อเท้าตั้งไว้ ฯลฯ กระดูกคอย่อมไม่รู้ว่า เรายกกระดูกศีรษะตั้งไว้ กระดูกทั้งหลายตั้งอยู่โดยที่สุดกันตามลำดับ. จากนี้ไปในที่ต่อมิใช่น้อย เอ็นอะไรๆ มิได้ผูกไว้. กองกระดูกนี้ก็ไม่มีการคิดเป็นดังท่อนไม้ เป็นสภาวะอันชราเตือนแล้ว. เยื่อในกระดูกแม้นี้ก็ไม่มีการคิด. ไต ฯลฯ มันสมองก็ไม่มีการคิด เป็นอัพยากตะ เป็นของว่างเปล่า แข็งกระด้าง เป็นปฐวีธาตุ ดังนี้. ย่อมกระทำไว้ในใจว่า น้ำดี เสลด ฯลฯ น้ำมูตรไม่มีการคิด เป็นอัพยากตะ เป็นของว่างเปล่า เป็นเครื่องเกาะกุม เป็นอาโปธาตุเอิบอาบซึมซาบไป.
               เมื่อพระโยคาวจรกำหนดมหาภูตรูป ๒ เหล่านี้อยู่ เตโชธาตุอันมากย่อมปรากฏที่อุทร. วาโยธาตุอันมากย่อมปรากฏที่จมูก. เมื่อกำหนดมหาภูตรูป ๔ เหล่านี้อยู่ อุปาทารูปย่อมปรากฏ. ชื่อว่ามหาภูตรูปย่อมกำหนดได้ด้วยอุปาทารูป อุปาทารูปก็กำหนดได้ด้วยมหาภูตรูป. เปรียบเหมือนชื่อว่าแสงแดดกำหนดได้ด้วยเงา เงาก็กำหนดได้ด้วยแสงแดดฉันใด มหาภูตรูปก็ฉันนั้นนั่นแหละ กำหนดได้ด้วยอุปาทารูป อุปาทารูปก็กำหนดได้ด้วยมหาภูตรูป.
               ครั้นเมื่อความเป็นอย่างนั้น เมื่อภิกษุนั้นกำหนดรูปขันธ์ว่า มหาภูตรูป ๔ อุปาทารูป ๒๓ เป็นรูปขันธ์อย่างนี้อยู่ อรูปขันธ์ก็ย่อมปรากฏตัวด้วยอำนาจแห่งอายตนะและทวาร. การกำหนดรูปและอรูปขันธ์ คือขันธ์ ๕ ย่อมปรากฏด้วยประการฉะนี้. ขันธ์ ๕ คืออายตนะ ๑๒ และอายตนะ ๑๒ ก็คือธาตุ ๑๘ เพราะฉะนั้น ภิกษุพึงกำหนดนามและรูป กระทำให้เป็น ๒ ส่วน ด้วยสามารถแห่งขันธ์ อายตนะและธาตุ ให้เป็นราวกะว่าผ่าอยู่ซึ่งเหง้าตาลคู่ ฉะนั้น.
               ภิกษุนั้นใคร่ครวญอยู่ว่า นามรูปนี้ เกิดขึ้นเพราะไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัยหามิได้ เกิดขึ้นเพราะมีเหตุ มีปัจจัย ก็อะไรเล่าเป็นเหตุ เป็นปัจจัยของนามรูปนั้น จึงกำหนดปัจจัยแห่งนามรูปนั้นว่า นามรูปเกิดขึ้นเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย เพราะตัณหาเป็นปัจจัย เพราะกรรมเป็นปัจจัย เพราะอาหารเป็นปัจจัย ดังนี้แล้ว ย่อมก้าวล่วงความสงสัยในกาลทั้ง ๓ ว่า ในอดีตกาลก็ดี ในอนาคตกาลก็ดี ในกาลบัดนี้ (คือปัจจุบัน) ก็ดี ปัจจัยทั้งหลายและธรรมที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยทั้งหลาย ย่อมเกิดขึ้น นอกจากนี้แล้ว หามีสัตว์หรือบุคคลไม่ มีแต่กองสังขารล้วนๆ เท่านั้น ดังนี้. ก็วิปัสสนานี้มีสังขารเป็นเครื่องกำหนด จึงชื่อว่าญาตปริญญา. เมื่อภิกษุกำหนดสังขารแล้วดำรงอยู่อย่างนี้ รากฐานในศาสนาแห่งพระทศพลของเธอ ชื่อว่าหยั่งลงแล้ว ชื่อว่าได้ที่พึ่งแล้ว ภิกษุนั้นเป็นผู้ชื่อว่าพระจุลโสดาบันผู้มีคติแน่นอน.
               ก็ภิกษุนั้นได้อุตุสัปปายะ ปุคคลสัปปายะ โภชนสัปปายะและธัมมสัปปายะเช่นนั้นแล้ว อาศัยอยู่ด้วยเอกบัลลังก์อันประเสริฐในอาสนะเดียว พิจารณาสังขารทั้งหลายยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์โดยลำดับแห่งวิปัสสนา ย่อมถือเอาพระอรหัตได้ ฉะนี้แล.
               ข้อนี้เป็นการออกไปของภิกษุผู้มีจิตตั้งมั่นด้วยสามารถแห่งธาตุ.
               ส่วนภิกษุใด กรรมฐานไม่ปรากฏโดยสี โดยปฏิกูล โดยสุญญตะ ภิกษุนั้นก็ไม่พึงนั่งสละกรรมฐานเสีย โดยคิดว่า กรรมฐานไม่ปรากฏแก่เรา แต่พึงกระทำความเพียรมนสิการในโกฏฐาสต่อไปโดยแท้.
               ได้ยินว่า พระเถระในปางก่อนกล่าวว่า ภิกษุผู้มนสิการโกฏฐาสแล มีอยู่เป็นนิจเสมอ ดังนี้. เมื่อภิกษุนั้นทำการสาธยายด้วยสามารถแห่งโกฏฐาสเนืองๆ อยู่อย่างนี้ โกฏฐาสทั้งหลายย่อมคล่องแคล่ว. ก็ในกาลใดเล่า โกฏฐาสทั้งหลายจึงจะชื่อว่าคล่องแคล่ว. เมื่อไร สักว่าเธอรำพึงไปว่า เกสา มนสิการไปจนตั้งอยู่ที่โกฏฐาสสุดท้าย คือ มตฺถลุงฺคํ และพอรำพึงว่า มตฺถลุงฺคํ มนสิการมาจนตั้งอยู่ที่โกฏฐาสต้น คือเกสา ทีนั้นโกฏฐาส ๓๒ ย่อมปรากฏแก่ภิกษุนั้น เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีจักษุมองดูพวงดอกไม้ ๓๒ สี ที่ร้อยไว้ด้วยด้ายเส้นเดียว ก็หรือว่า มองดูเสารั้ว ๓๒ ต้น ที่ฝังไว้โดยลำดับ ดอกไม้ ๓๒ สีหรือว่า เสารั้ว ๓๒ ต้น ย่อมปรากฏตามลำดับ ฉันนั้น.
               สัตว์เดรัจฉานทั้งหลายก็ดี มนุษย์ทั้งหลายก็ดี ซึ่งเที่ยวไปอยู่ ย่อมไม่ปรากฏ (แก่พระโยคาวจรนั้น) ว่าเป็นสัตว์ ย่อมปรากฏเป็นโกฏฐาสทั้งหลาย ขาทนียะโภชนียะก็ย่อมปรากฏเป็นราวกะว่าสิ่งของที่เขาใส่เข้าไปในระหว่างโกฏฐาส. จำเดิมแต่โกฏฐาสทั้งหลายคล่องแคล่วแล้ว ภิกษุนั้นจักหลุดพ้นได้ โดยหัวข้อหนึ่งในหัวข้อทั้ง ๓ (คือโดยสี โดยปฏิกูล โดยสุญญตะ). กรรมฐานย่อมปรากฏโดยสี หรือโดยปฏิกูล หรือโดยสุญญตะ จำเดิมแต่โกฏฐาสทั้งหลายคล่องแคล่วแล้วก็จักหลุดพ้นโดยหัวข้อหนึ่งในหัวข้อทั้ง ๓ เปรียบเหมือนสตรีที่ต้องการจะทอดขนม ปรารถนาซึ่งขนมชิ้นใดๆ ก็ย่อมจะทอดขนมชิ้นนั้นๆ ได้จากแป้งที่ตนขยำตั้งไว้แล้ว ก็หรือว่า เปรียบเหมือนบุคคลหมุนหม้อเต็มด้วยน้ำที่เขาตั้งไว้ในภูมิประเทศเสมอกันไป แต่ที่ใดๆ น้ำก็จะไหลออกไปแต่ที่นั้นนั่นแหละฉันนั้น. เมื่อภิกษุหวังอยู่โดยสี หวังอยู่โดยปฏิกูล หวังอยู่โดยสุญญตะ กรรมฐานก็จักปรากฏได้โดยแท้. นี้ชื่อว่าอุคคหสนธิมีประมาณเท่านี้. ภิกษุผู้ตั้งอยู่ในอุคคหสนธิแล้วบรรลุพระอรหัตมีประมาณมากมาย.
               อนึ่ง กรรมฐานของภิกษุใดไม่ปรากฏในอุคคหสนธิ ภิกษุนั้นเรียนเอากรรมฐานแล้ว ถ้าอาจารย์อยู่ในอาวาสใด อาวาสนั้นเป็นสัปปายะแก่เธอไซร้ นั่นเป็นการดี แต่ถ้าไม่ได้เช่นนั้น พึงอยู่ในที่อันเป็นสัปปายะ. เมื่ออาศัยอยู่ พึงเว้นวิหารโทษ ๑๘#- แห่งแล้วอยู่ในเสนาสนะอันประกอบด้วยองค์ ๕.##- แม้ภิกษุเอง ก็พึงประกอบด้วยองค์ ๕. จากนั้น ภิกษุผู้กลับจากบิณฑบาตหลังจากฉันภัตแล้ว ก็พึงไปสู่ที่พักในเวลาราตรี หรือที่พักในเวลากลางวันแล้วมนสิการกรรมฐาน.
               พึงมนสิการอย่างไร? คือพึงมนสิการกรรมฐานโดยลำดับแต่ต้น ตามนัยที่กล่าวแล้วก่อน. ไม่พึงมนสิการเว้นกรรมฐานไว้หนึ่งในระหว่าง. ก็เมื่อเธอมนสิการกรรมฐานโดยลำดับอยู่ ย่อมไม่เสื่อมจากกรรมฐาน และย่อมเสวยโลกุตตรธรรม ๙ ประการ อันเช่นกับอานิสงส์แห่งปราสาท เปรียบเหมือนบุรุษผู้ก้าวขึ้นบันได ๓๒ ขั้น โดยลำดับขั้น ขึ้นสู่ปราสาทและเสวยอานิสงส์ของปราสาท ฉะนั้น.
____________________________
#- วิหารที่ควรเว้น ๑๘ แห่ง คือ
               ๑. วิหารใหญ่ ๗. วิหารใกล้บ่อน้ำ ๑๓. วิหารอยู่ชายแดน
               ๒. วิหารเก่าคร่ำ ๘. วิหารที่มีคนชอบอยู่  ๑๔. วิหารอยู่ระหว่างพรมแดน
               ๓. วิหารสร้างใหม่ ๙. วิหารมีผักมาก ๑๕. วิหารใกล้เมือง
               ๔. วิหารใกล้ป่าไม้ฟืน  ๑๐. วิหารมีดอกไม้ ๑๖. วิหารที่มีวิสภาคบุคคล
               ๕. วิหารใกล้ทาง ๑๑. วิหารมีผลไม้ ๑๗. วิหารที่อยู่แล้วไม่สบาย
               ๖. วิหารใกล้ที่นา ๑๒. วิหารใกล้ท่า ๑๘. วิหารที่ไม่มีกัลยาณมิตร

##- วิหารประกอบด้วยองค์ ๕ คือ ๑. วิหารที่ไม่ใกล้นักไปมาสะดวก ๒. กลางวันไม่พลุกพล่านกลางคืนเงียบสงัด ๓. ปราศจากสัมผัสเหลือบและยุง ๔. มีปัจจัยสี่ไม่ฝืดเคือง ๕. มีผู้เป็นพหูสูตอยู่ด้วย.

               เมื่อมนสิการโดยลำดับ ไม่พึงมนสิการโดยเร็วนัก ไม่มนสิการโดยช้านักด้วย. เพราะว่า เมื่อมนสิการเร็วเกินไป กรรมฐานย่อมคล่องแคล่วแม้ก็จริง ถึงอย่างนั้นกรรมฐานก็ไม่แจ่มแจ้ง. ในข้อนี้ พึงทราบความอุปมาโดยนัยที่กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแหละ. เมื่อมนสิการช้าเกินไป กรรมฐานย่อมไม่ถึงที่สุด ย่อมเสื่อมไปในระหว่างเทียว. เปรียบเหมือน คนเดินทาง ๓ โยชน์ เพราะสนใจในร่มเงาอันร่มเย็นจำเดิมแต่ที่เป็นที่ออกไปแล้ว พบร่มเงาอันเย็นสบายก็พักเสีย พบพื้นทรายอันเป็นที่รื่นรมย์ก็เหยียดหลังเสีย พบสระโบกขรณีในป่าย่อมดื่มย่อมอาบ พบภูเขาก็ขึ้นไปชมทิวทัศน์อันเป็นที่รื่นรมย์แห่งภูเขา สีหะหรือเสือโคร่งหรือเสือเหลือง ย่อมฆ่าเขาเสียในระหว่างนั่นแหละ ก็หรือว่า พวกโจรย่อมปล้น ย่อมฆ่าฉันใด เมื่อมนสิการช้าเกินไป ก็ฉันนั้นนั่นแหละ กรรมฐานย่อมไม่ถึงที่สุด ย่อมเสื่อมไปในระหว่างเทียว เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่ง ภิกษุพึงมนสิการสิ้น ๓๐ ครั้ง โดยไม่เร็วเกินไป ไม่ช้าเกินไปแล.
               ในเวลาเช้าพึงทำการสาธยาย ๑๐ ครั้ง กลางวัน ๑๐ ครั้ง เย็น๑๐ ครั้ง การไม่ทำย่อมไม่ควร เหมือนการตื่นนอนเช้า การไม่ล้างหน้าก็ไม่ควร การไม่เคี้ยวกินขาทนียะและโภชนียะก็ไม่ควร ควรยังกิจนี้ให้เป็นไปกิจนี้นั่นแหละ ไม่ทำเลยสักส่วนหนึ่งหาควรไม่ เมื่อกระทำจึงจะถือเอาประโยชน์อันใหญ่ดำรงอยู่ได้ เปรียบเหมือน บุคคลมีนา ๓ แปลง นาแปลงหนึ่งให้ข้าว ๘ กุมภะ (๔๐๐ ถัง) นาแปลงหนึ่งให้ข้าว ๑๖ กุมภะ (๘๐๐ ถัง) และนาแปลงหนึ่งให้ข้าว ๓๒ กุมภะ (๑,๖๐๐ ถัง) บุคคลนั้นไม่อาจทำนาแม้ทั้ง ๓ แปลงได้ พึงทิ้งเสีย ๒ แปลง แล้วทำนาแปลงหนึ่งอันให้ข้าว ๓๒ กุมภะเท่านั้น คือพึงทำการไถ การหว่าน การเก็บเกี่ยวเป็นต้นในนาแปลงที่ ๓ นั่นแล นาแปลงที่ ๓ นั้นนั่นแหละย่อมแสดงการให้เกิดความอุตสาหะของเขาในนา ๒ แปลง นอกนี้ฉันใด ข้อนี้ก็ฉันนั้นนั่นแหละ ภิกษุแม้ละการงานที่เหลือมีการล้างหน้าเป็นต้นแล้ว พึงทำกรรมในที่นี้โดยแท้ การไม่ทำหาควรไม่ เมื่อทำจึงถือเอาประโยชน์อันใหญ่ดำรงอยู่ ฉะนี้แล. ชื่อว่ามัชฌิมาปฏิปทา ท่านกล่าวไว้ด้วยคำมีประมาณเท่านี้.
               ภิกษุผู้ปฏิบัติอยู่อย่างนี้ พึงป้องกันความฟุ้งซ่านได้. เพราะว่า เมื่อสละกรรมฐาน จิตก็จะถึงความฟุ้งซ่านไปในภายนอก ย่อมเสื่อมจากกรรมฐาน ย่อมไม่อาจก้าวล่วงวัฏฏภัย เปรียบเหมือนบุรุษคนหนึ่ง (พ่อค้า) ยังบุคคลให้ชำระหนี้พันหนึ่ง ได้กำไรแล้วเดินทางมา ในระหว่างทางก้าวขึ้นสะพาน ท่อนไม้อันเดินได้คนเดียวที่พาดข้ามลำธารซอกเขาอันลึกมีจระเข้ มังกรและรากษส (ผีเสื้อน้ำ) เขาเดินปล่อยเท้าก้าวไป เพราะแลดูข้างโน้นข้างนี้ เลยพลัดตกลงไปเป็นอาหารของจระเข้เป็นต้น ฉันใด ภิกษุแม้นี้ก็เหมือนกันนั่นแหละ ครั้นเมื่อจิตของตนสละกรรมฐานถึงความฟุ้งไปในภายนอก ย่อมเสื่อมจากกรรมฐาน ย่อมไม่อาจก้าวล่วงวัฏฏภัยได้.

               ข้อนี้พึงทราบความอุปมาดังนี้               
               ก็กาลที่ภิกษุนี้เรียนกรรมฐานในสำนักของอาจารย์ เปรียบเหมือนกาลที่บุรุษยังบุคคลให้ชำระหนี้หนึ่งพันได้กำไรแล้ว. สังสารวัฏเปรียบเหมือนซอกเขาอันลึกในระหว่างทาง. ทุกข์ใหญ่มีวัฏฏะเป็นมูล เปรียบเหมือนกาลที่บุรุษนั้นถูกจระเข้เป็นต้นเห็นแล้ว. วิถีแห่งการสาธยายของภิกษุนี้ เปรียบเหมือนสะพานท่อนไม้เดินได้คนเดียว.
               พึงทราบว่า ความที่ภิกษุนี้สละกรรมฐาน มีจิตฟุ้งไปในภายนอก เสื่อมจากกรรมฐาน ไม่สามารถก้าวล่วงวัฏฏภัยได้ เปรียบเหมือนกาลที่บุรุษนั้นก้าวขึ้นสู่สะพานท่อนไม้เดินได้คนเดียว แล้วปล่อยเท้าสำหรับเหยียบ มัวแลดูข้างโน้นข้างนี้พลัดตกลงไป ถึงความเป็นอาหารของจระเข้เป็นต้น. เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรพึงมนสิการเกสาทั้งหลาย ครั้นมนสิการเกสาทั้งหลายแล้ว ก็จะห้ามมิให้จิตตุปบาทฟุ้งไปภายนอก โดยจิตอันหมดจดอยู่นั่นแหละ พึงมนสิการต่อไปว่า โลมา นขา ทนฺตา ตโจ เมื่อมนสิการอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่เสื่อมจากกรรมฐาน ย่อมก้าวล่วงวัฏฏภัยได้.

               ข้อนี้ พึงทราบความอุปมานั้นนั่นแหละ               
               ให้เป็นไปโดยสิ้นเชิง อย่างนี้ว่า               
               พึงทราบว่า การที่ภิกษุผู้ฉลาด มนสิการผมทั้งหลาย ห้ามมิให้จิตตุปบาทฟุ้งไปในภายนอกแล้ว ด้วยจิตอันหมดจดนั่นแหละ พึงมนสิการอยู่ซึ่งคำว่า โลมา นขา ทนฺตา ตโจ ดังนี้ ไม่ให้เสื่อมจากกรรมฐาน จึงก้าวล่วงวัฏฏะภัยได้ เปรียบเหมือนการที่บุรุษผู้ฉลาด ยังบุคคลให้ชำระหนี้หนึ่งพันได้กำไรแล้วก้าวขึ้นสู่สะพานท่อนไม้ ระมัดระวังเครื่องนุ่งห่ม กระทำธาตุ คือกายให้ทะมัดทะแมงไปจนถึงฝั่งโน้นได้โดยความสวัสดี. แม้เมื่อเธอห้ามความฟุ้งซ่านไปในภายนอกอย่างนี้แล้ว พึงมนสิการ โดยการก้าวล่วงบัญญัติ โดยนัยที่กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแหละ. คือพึงปล่อยบัญญัติว่า เกสา โลมา เสีย แล้วตั้งสติว่า ปฏิกูล ปฏิกูล ดังนี้. ก็กรรมฐานแรกนั้นแหละยังมิได้ปรากฏโดยความเป็นปฏิกูล ตราบใดกรรมฐานยังมิได้ปรากฏโดยความเป็นปฏิกูล ก็ไม่พึงสละบัญญัติก่อน. กาลใด กรรมฐานปรากฏโดยความเป็นปฏิกูล กาลนั้น พึงสละบัญญัติ มนสิการซึ่งคำว่า ปฏิกูล ดังนี้. ก็ภิกษุเมื่อกระทำ พึงมนสิการกรรมฐาน โดยความเป็นปฏิกูลโดยอาการ ๕ อย่าง โดยนัยที่กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแหละ เพราะว่าในตจปัญจกะ ย่อมได้ความเป็นปฏิกูลแม้ทั้ง ๕ อย่าง ด้วยสามารถแห่งสี สัณฐาน กลิ่น อาสยะ (ที่อาศัย) และโอกาส (ที่ตั้ง) นั่นแหละ. แม้ในกรรมฐานที่เหลือ ภิกษุได้ปฏิกูลใดๆ ก็พึงให้มนสิการเป็นไปด้วยสามารถแห่งส่วนนั้นๆ.
               บรรดาโกฏฐาสเหล่านั้น โกฏฐาส ๕ มีผมเป็นต้น ถึงการนับว่า เป็นสุภนิมิต เป็นที่ตั้งแห่งราคะ เป็นอิฏฐารมณ์ ขึ้นชื่อว่าสัตว์ผู้ยังยินดีเหล่าใดเหล่าหนึ่ง สัตว์เหล่านั้นทั้งหมดย่อมยินดีในโกฏฐาส ๕ เหล่านี้. แต่ว่า ภิกษุนี้ย่อมบรรลุอัปปนาในโกฏฐาสอันเป็นที่ตั้งแห่งความยินดีของมหาชนว่า เป็นของปฏิกูลได้ จำเดิมแต่การบรรลุอัปปนาในโกฏฐาส ๕ เหล่านั้น ต่อจากโกฏฐาสนั้นไป เธอเป็นผู้ไม่ลำบากเลยที่จะบรรลุอัปปนาเทียว. ในข้อนั้น พึงทราบความอุปมา ดังนี้.
               เปรียบเหมือน นายขมังธนูผู้ฉลาด ให้พระราชาโปรดปรานแล้วได้บ้านส่วยซึ่งมีรายได้แสนหนึ่ง ผูกสอดอาวุธ ๕ อย่าง ไปในบ้านนั้น ในระหว่างทางพบพวกโจร ๓๒ คน บรรดาโจรเหล่านั้น เขาพึงฆ่าหัวหน้าโจรทั้ง ๕ คน จำเดิมแต่โจรเหล่านั้นถูกฆ่าแล้ว ในโจรเหล่านั้น โจร ๒ คนชื่อว่าเดินไปทางเดียวกันย่อมไม่มี ฉันใด อุปไมยนี้พึงทราบฉันนั้น.
               กาลที่ภิกษุนี้เรียนกรรมฐานในสำนักอาจารย์ ดำรงอยู่ เปรียบเหมือนกาลที่นายขมังธนูให้พระราชาโปรดปรานแล้วได้บ้านส่วย. โกฏฐาส ๓๒ เปรียบเหมือนโจร ๓๒ คน โกฏฐาส ๕ มีเกสาเป็นต้น เปรียบเหมือนหัวหน้าโจร ๕ คน. กาลที่ภิกษุนี้ บรรลุอัปปนาในตจปัญจกะอันเป็นที่ตั้งแห่งความยินดีของสัตว์ทั้งหลายว่า เป็นของปฏิกูล ดังนี้ เปรียบเหมือนกาลที่หัวหน้าโจรทั้ง ๕ ถูกฆ่าตายแล้ว. พึงทราบว่า การบรรลุอัปปนาของภิกษุผู้ไม่ลำบากอยู่ ในโกฏฐาสที่เหลือนั่นแหละ เปรียบเหมือนกาลที่พวกโจรที่เหลือหนีไปโดยเพียงการปรบมือของนายขมังธนูเท่านั้น. ภิกษุผู้ก้าวล่วงบัญญัติอยู่อย่างนี้ พึงให้มนสิการเป็นไปโดยการปล่อยตามลำดับ คือเมื่อมนสิการผมทั้งหลายซ้ำๆ อยู่นั่นแหละ ครั้นฝักใฝ่ในผมทั้งหลายแล้ว พึงส่งสติไปในโลมาทั้งหลาย ตราบใดโลมายังมิได้ปรากฏ ก็พึงมนสิการว่า เกสา เกสา ไปก่อน แต่เมื่อใดโลมาทั้งหลายปรากฏอยู่ ในกาลนั้น พึงเว้นเกสาทั้งหลายแล้วให้สติเข้าไปตั้งไว้ในโลมาทั้งหลาย.
               ในโกฏฐาสทั้งหลาย แม้มีนขาเป็นต้น ก็พึงให้มนสิการเป็นไปอย่างนี้. ในข้อนี้ พึงทราบความอุปมาต่อไป.
               เหมือนอย่างว่า ปลิงเมื่อจะไป ยังไม่ได้ที่พึ่งข้างหน้าก็ยังไม่ปล่อยที่ที่หางเกาะไว้ข้างหลัง แต่เมื่อใดได้ที่พึ่งข้างหน้า เวลานั้นก็จะยกหางขึ้นไปเกาะอยู่ในที่ใกล้ปากจับไว้ ฉันใด ข้อนี้ก็ฉันนั้นนั่นแหละ เมื่อมนสิการเกสาซ้ำๆ อยู่นั่นแหละ ฝักใฝ่ในเกสาแล้ว ก็พึงส่งสติไปในโลมา ตราบใดโลมายังมิได้ปรากฏ ก็พึงมนสิการว่า เกสา เกสา ก่อน เวลาใดโลมาปรากฏ เวลานั้นพึงปล่อยเกสาแล้วจึงให้สติตั้งไว้ในโลมา. แม้ในนขา (เล็บ) เป็นต้นก็พึงให้มนสิการเป็นไปอย่างนี้ อัปปนาย่อมเกิดโดยนัยอันเป็นไปแล้วอย่างนี้ เพราะฉะนั้น พึงยังมนสิการโกศลตามที่กล่าวแล้วให้ถึงพร้อม. คืออย่างไร?
               คือว่า เมื่อมนสิการอัปปนากรรมฐานนี้อยู่ ก็ย่อมบรรลุอัปปนาได้ ครั้งแรกทีเดียวอัปปนายังไม่ปรากฏก่อน. จริงอยู่ จิตที่เคยเจริญกรรมฐานมาแล้วในสังสารวัฏอันหาที่สุดมิได้ ซึ่งเป็นไปในอารมณ์ต่างๆ มีอยู่ ครั้นเมื่อเธอรำพึงว่า เกสา โดยทำนองแห่งกระแสการสาธยายดำเนินไปตั้งอยู่ที่ มตฺถลุงคํ และสักว่ารำพึงว่า มตฺถลุงคํ โดยกระแสแห่งการสาธยายดำเนินไปตั้งอยู่ที่เกสา ก็เมื่อมนสิการซ้ำๆ อยู่ โกฏฐาสนั้นๆ ย่อมปรากฏ สติก็ตั้งมั่นดำรงอยู่เป็นไป. ด้วยเหตุนั้น โกฏฐาสใดๆ ปรากฏยิ่งกว่า พึงทำความเพียรในโกฏฐาสนั้นๆ โดยทวีคูณแล้วจะพึงบรรลุอัปปนา. จำเดิมแต่กาลที่บรรลุอัปปนาแล้วอย่างนี้ เธอย่อมบรรลุอัปปนาในโกฏฐาสที่เหลือได้โดยไม่ลำบากเลย. ในข้อนี้ พึงทราบความอุปมาเหมือนลิงในป่าตาล แล.
               อีกอย่างหนึ่ง ในข้อนี้ พึงทราบการประกอบความแม้อย่างนี้ว่า ลิงอาศัยอยู่ในป่าตาล ๓๒ ต้น. นายพรานต้องการจะจับลิงนั้น จึงยืนอยู่ใกล้ต้นตาล ฯลฯ ในที่สุดได้กระทำเสียงขับไล่. ลิงผู้มีมานชาติ (มีชาติแห่งสัตว์มีมานะคือการถือตัว) โลดไปสู่ตาลต้นนั้นๆ แล้วหยุดอยู่ที่ตาลต้นสุดท้าย. นายพรานไปในที่แม้นั้นแล้วได้ทำเสียงขับไล่. ลิงจึงไปหยุดอยู่ที่ตาลต้นแรกนั้นนั่นแหละ. ลิงนั้นถูกนายพรานติดตามขับอยู่บ่อยๆ เหน็ดเหนื่อยอยู่ ก็หยุดอยู่ที่ตาลต้นนั้นๆ นั่นแหละ ในกาลที่นายพรานทำเสียงขับไล่ๆ มันจึงจะลุกขึ้นไป. เมื่อมันเหน็ดเหนื่อยมากก็จะยึดยอดใบตาลของต้นตาลต้นหนึ่งไว้แน่น แม้ถูกนายพรานยิงด้วยธนูจับมาก็ไม่หนีไป. ในข้อนั้น โกฏฐาส ๓๒ เปรียบเหมือนตาล ๓๒ ต้น. จิต (ของพระโยคาวจร) เปรียบเหมือนลิง. พระโยคาวจรเปรียบเหมือนนายพราน. การที่พระโยคาวจรมีจิตเคยอบรมแล้วในสังสารวัฏอันหาที่สุดมิได้ และในอารมณ์ต่างๆ พอเธอรำพึงว่าเกสา โดยทำนองแห่งกระแสการสาธยายไปตั้งอยู่ที่ มตฺถลุงคํ เปรียบเหมือนกาลที่ลิงผู้มีมานชาติในขณะที่ถูกนายพรานยืนอยู่ใกล้ต้นตาลทำเสียงขับไล่ จึงหนีไปหยุดอยู่ที่ตาลต้นสุดท้าย.
               การที่พระโยคาวจรเพียงรำพึงว่า มตฺถลุงคํ โดยทำนองแห่งกระแสการสาธยายมาหยุดอยู่ที่ เกสา เปรียบเหมือนกาลที่ลิงอยู่ที่ตาลต้นสุดท้าย เมื่อถูกนายพรานทำเสียงขับไล่ ก็กลับมาในที่สุดแห่งตาลข้างนี้. การที่พระโยคาวจรมนสิการซ้ำๆ อยู่ เมื่อโกฏฐาสนั้นๆ ปรากฏอยู่ สติก็จะตั้งมั่น ดำรงอยู่เป็นไป เปรียบเหมือนกาลที่ลิงนั้นถูกนายพรานติดตามอยู่บ่อยๆ เหน็ดเหนื่อยอยู่ จึงลุกขึ้นไปในขณะที่ถูกนายพรานขับไล่ๆ. การที่โกฏฐาสใดปรากฏยิ่งกว่า (ชัดกว่า) แล้วจึงทำมนสิการในโกฏฐาสนั้นให้ทวีคูณไปจนบรรลุอัปปนา เปรียบเหมือนกาลที่ลิงแม้ถูกนายพรานยิงด้วยธนูจับตัวมาก็ไม่หนีไป ฉะนั้น.
               ในโกฏฐาสเหล่านั้น จำเดิมแต่บรรลุอัปปนาแล้ว จักบรรลุอัปปนาในโกฏฐาสที่เหลือได้โดยไม่ลำบากเลย. เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรพึงรำพึงว่า ปฏิกูล ปฏิกูล บ่อยๆ พึงนำปฏิกูลมาตรึกบ่อยๆ เมื่อทำอยู่อย่างนี้ นามขันธ์ ๔ ย่อมมีอารมณ์ปฏิกูลก็จะบรรลุอัปปนาได้.
               คำทั้งปวงที่ว่า ปุพภาคจิตทั้งหลายมีวิตก วิจาร กล่าวคือบริกรรมและอุปจาระเป็นต้น เช่นกับคำที่กล่าวแล้วในหลังนั่นแหละ. แต่ว่าเมื่อมนสิการโกฏฐาสหนึ่ง ปฐมฌานหนึ่งเท่านั้นย่อมเกิดขึ้น เมื่อมนสิการโดยเฉพาะแต่ละโกฏฐาส ปฐมฌาน ๓๒ ย่อมเกิดขึ้น.
               คำว่า โส ตํ นิมิตฺตํ ได้แก่ ภิกษุนั้น...ซึ่งนิมิตแห่งกรรมฐานนั้น.
               คำว่า อาเสวติ คือ ย่อมเสพ ย่อมคบ. คำว่า ภาเวติ คือ ย่อมเจริญ.
               คำว่า พหุลีกโร คือ กระทำบ่อยๆ. คำว่า สฺวาวตฺถิตํ ววตฺถเปติ คือ กระทำกำหนดให้ดี.
               ข้อว่า พหิทฺธา กาเย จิตฺตํ อุปสํหรติ (แปลว่าย่อมน้อมจิตไปในกายภายนอก). อธิบายว่า ครั้นกระทำอย่างนี้แล้ว ย่อมน้อมคือย่อมให้จิตไป ย่อมส่งจิตของตนไปในกายของผู้อื่นอันเป็นไปภายนอก.
               คำว่า อตฺถิสฺส กาเย คือ มีอยู่ในกายของผู้นั้น.
               ข้อว่า อชฺฌตฺตพหิทฺธา กาเย จิตฺตํ อุปสํหรติ (แปลว่า ย่อมน้อมจิตไปในกายทั้งภายในและภายนอก). อธิบายว่า ย่อมน้อมจิตไปในกายของตนตามกาลสมควร น้อมจิตไปในกายของผู้อื่นตามกาลสมควร.
               คำว่า อตฺถิ กาเย (มีอยู่ในกาย) นี้ ท่านไม่ประสงค์เอากายของตนและกายของผู้อื่นโดยส่วนเดียว เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า มีอยู่ในกายนี้. ก็ในข้อนี้ เมื่อพระโยคาวจรทำบริกรรมว่า ปฏิกูลในสรีระอันมีอยู่ของตน อัปปนาก็ดี อุปจาระก็ดี ย่อมเกิดขึ้น เมื่อทำบริกรรมว่า ปฏิกูล ในสรีระอันมีอยู่ของผู้อื่น อัปปนาย่อมไม่เกิด อุปจาระก็ไม่เกิด.
               ถามว่า ก็ปฏิกูลแม้ทั้งสองย่อมเกิดในอสุภ ๑๐ มิใช่หรือ?
               ตอบว่า ใช่ เพราะอสุภ ๑๐ เหล่านั้นดำรงอยู่ในฝ่ายอนุปาทินนกสังขาร ฉะนั้น อัปปนาก็ดี อุปจาระก็ดี จึงเกิดขึ้นได้ในอสุภ ๑๐ เหล่านั้น ส่วนปฏิกูลในสรีระของผู้อื่นนี้ตั้งอยู่ในฝ่ายอุปาทินนกสังขาร ด้วยเหตุนั้นนั่นแหละ อัปปนาและอุปจาระแม้ทั้งสอง จึงไม่เกิดในที่นั้น. ก็วิปัสสนา กล่าวคือการตามเห็นอสุภ พึงทราบว่า เป็นภาวนา.
               ถามว่า ในข้อนี้ ท่านเรียกว่าอะไร.
               ตอบว่า ท่านเรียกว่า สมถวิปัสสนา.
               บัดนี้ พึงทราบปกิณณกะที่ทั่วไปแก่การมนสิการทั้งปวงในที่นี้ ต่อไป.

               ว่าโดยนิมิตเป็นต้น               
               จริงอยู่ การวินิจฉัยผมเป็นต้นเหล่านั้น พึงทราบโดยนิมิต โดยลักษณะ โดยธาตุ โดยสุญญตะและโดยขันธ์เป็นต้น.
               ในข้อเหล่านั้น ข้อว่า โดยนิมิต คือพระโยคาวจรย่อมกำหนดอาการ ๓๒ โดยโกฏฐาส ด้วยสามารถแห่งนิมิต ๑๖๐ มีอยู่ในอาการ ๓๒ คือผมมีนิมิต ๕ ได้แก่วัณณนิมิต สัณฐานนิมิต ทิสานิมิต โอกาสนิมิตและปริเฉทนิมิต. แม้ในขนเป็นต้นก็นัยนี้นั่นแหละ (๓๒ x ๕ = ๑๖๐).
               ข้อว่า โดยลักษณะ คือพระโยคาวจรย่อมมนสิการอาการ ๓๒ โดยลักษณะด้วยสามารถแห่งลักษณะ ๑๒๘ ในอาการ ๓๒ คือผม มีลักษณะ ๔ ได้แก่ ถทฺธตฺตลกฺขณํ (มีความแข็งเป็นลักษณะ) อาพนฺธนลกฺขณํ (มีการเกาะกุมเป็นลักษณะ) อุณฺหตฺตลกฺขณํ (มีความร้อนเป็นลักษณะ) วิตฺถมฺภนลกฺขณํ (มีการขยายตัวเป็นลักษณะ). แม้ในขนเป็นต้นก็นัยนี้นั่นแหละ (๓๒ x ๔ = ๑๒๘).
               ข้อว่า โดยธาตุ คือพระโยคาวจรย่อมกำหนดอาการ ๓๒ โดยธาตุ ด้วยสามารถแห่งธาตุ ๑๒๘ ในอาการ ๓๒ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษนี้มีธาตุ ๔ ดังนี้ ผมมีธาตุ ๔ คือความแข็ง เป็นปฐวีธาตุ ความเกาะกุมเป็นอาโปธาตุ ความร้อนเป็นเตโชธาตุ ความขยายตัวเป็นวาโยธาตุ. แม้ในขนเป็นต้น ก็นัยนี้นั่นแหละ (๓๒ x ๔ = ๑๒๘).
               ข้อว่า โดยสุญญตะ คือ พระโยคาวจรย่อมพิจารณาเห็นอาการ ๓๒ ด้วยสามารถแห่งสุญญตะ ๙๖ ในอาการ ๓๒ คือ ผมมีสุญญตะ ๓ ก่อน คือ อตฺตสุญฺญตา (ว่างจากตน) อตฺตนิยสุญฺญตา (ว่างจากสิ่งที่เป็นของตน) นิจฺจภาวสุญฺญตา (ว่างจากความเป็นของเที่ยง) เพราะอรรถว่า ผมทั้งหลายว่างจากตน หรือจากสิ่งที่เป็นของตน... จากความแน่นอน... จากความมั่นคง... จากความเที่ยง... จากธรรมที่ไม่เปลี่ยนแปลง. แม้ในขนเป็นต้นก็นัยนี้นั่นแหละ (๓๒ x ๓ = ๙๖).
               ข้อว่า โดยขันธ์เป็นต้น พึงทราบวินิจฉัยในข้อนี้ โดยนัยว่า เมื่อพระโยคาวจรกำหนดอาการ ๓๒ ด้วยสามารถแห่งขันธ์เป็นอาทิ ในโกฏฐาสทั้งหลายมีผมเป็นต้น คือว่า ผมทั้งหลายเป็นขันธ์เท่าไร เป็นอายตนะเท่าไร เป็นธาตุเท่าไร เป็นสัจจะเท่าไร และเป็นสติปัฏฐานเท่าไร เป็นต้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงกายานุปัสสนาโดยพิสดาร ๓ อย่าง โดยแยกเป็นกายภายในเป็นต้นอย่างนี้แล้ว บัดนี้ ทรงปรารภคำว่า อนุปสฺสี เป็นต้น เพื่อจะแจกบทว่า กายานุปสฺสี วิหรติ อาตาปี สมฺปชาโน เป็นต้น ออกไป.
               ในข้อนั้น เพื่อแสดงอนุปัสสนา ที่ชื่อว่า กายานุปสฺสี นั้น จึงตรัสว่า "ในบทเหล่านั้น การพิจารณาเนืองๆ (อนุปัสสนา) เป็นไฉน ปัญญาใด ปชานนา" เป็นอาทิ แม้ในคำทั้งหลายมี อาตาปี เป็นต้นก็นัยนี้นั่นแหละ. คำว่า ปัญญา ปชานนา พึงทราบโดยนัยที่กล่าวไว้ในอรรถกถาแห่งจิตตุปปาทกัณฑ์ แล.
               คำทั้งปวงว่า อุเปโต (ผู้เข้าไปถึงแล้ว) เป็นต้น เป็นไวพจน์ของกันและกัน.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า อุเปโต ด้วยสามารถแห่งอาเสวนะ (การซ่องเสพ) ชื่อว่า สมุเปโต (เข้าไปถึงแล้วด้วยดี) เพราะเข้าถึงด้วยดี ด้วยสามารถแห่งภาวนา. แม้คำเป็นคู่ๆ กันว่า อุปาคโต (ผู้เข้ามาถึงแล้ว) สมุปาคโต (ผู้เข้ามาถึงแล้วด้วยดี) อุปปนฺโน (ผู้เข้าถึงแล้ว) สมฺปนฺโน (ผู้เข้าถึงแล้วด้วยดี) ก็นัยนี้เหมือนกัน. แต่ในที่นี้ พึงทราบการเชื่อมความอย่างนี้ว่า ก็ชื่อว่าผู้ประกอบแล้ว เพราะสามารถกระทำให้มาก. แม้คำว่า ภิกษุเป็นผู้เข้าไปถึงแล้วด้วยความเพียรเป็นต้น ก็นัยนี้.
               ในบทว่า วิหรติ (อยู่) พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อแสดงโดยเทศนาปุคคลาธิษฐาน จึงตรัสคำว่า อิริยติ (ประพฤติเป็นไปอยู่) เป็นต้น โดยไม่ทำคำถามว่า บรรดาคำเหล่านั้น วิหารเป็นไฉน.
               เนื้อความแห่งคำนั้น ชื่อว่า อิริยติ เพราะความเป็นผู้พร้อมเพรียงด้วยอิริยาบถอย่างใดอย่างหนึ่งในอิริยาบถ ๔. ชื่อว่า วตฺตติ (เป็นไปอยู่) เพราะเป็นไปด้วยเกวียน คือกาย ซึ่งเป็นไปด้วยอิริยาบถ ๔ เหล่านั้น. ชื่อว่า ปาเลติ (รักษาอยู่) เพราะการกำจัดอิริยาบถหนึ่งอันเป็นทุกข์ ด้วยอิริยาบถอื่นแล้วรักษาสรีระไว้โดยความเป็นผู้ดำรงอยู่ยั่งยืน. ชื่อว่า ยาเปติ (ให้เป็นไปอยู่) เพราะไม่ดำรงอยู่ในอิริยาบถเดียว คือเป็นไปด้วยอิริยาบถทั้งปวง. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ยาเปติ เพราะยังกายนั้นๆ ให้เป็นไปด้วยอิริยาบถนั้นๆ. ชื่อว่า จรติ (เที่ยวไปอยู่) เพราะให้ร่างกายเป็นไปได้ตลอดกาลนาน. ชื่อว่า วิหรติ (อยู่) เพราะเปลี่ยนอิริยาบถด้วยอิริยาบถแล้วนำชีวิตไป.
               ข้อว่า กายนั้นเอง ชื่อว่าโลก ความว่า ภิกษุมีปรกติตามเห็นกายในกายใดอยู่ กายนั้นนั่นแหละ ชื่อว่าโลก เพราะอรรถว่าเสื่อมสลายไป แต่เพราะอภิชฌาโทมนัส อันบุคคลใดละได้ในกาย บุคคลนั้นชื่อว่าย่อมละได้แม้ในเวทนาเป็นต้นนั่นแหละ ฉะนั้น แม้อุปาทานขันธ์ ๕ ก็ชื่อว่าโลก.
               พึงทราบวินิจฉัย แม้ในคำว่า สนฺตา เป็นต้น (อภิชฌาโทมนัสดังกล่าวนี้)
               ชื่อว่า สนฺตา (สงบ) เพราะความสงบแล้วด้วยสามารถแห่งนิโรธ.
               ชื่อว่า สมิตา (ระงับ) เพราะระงับแล้วด้วยภาวนา. ชื่อว่า วูปสนฺตา (เข้าไปสงบ) เพราะความสงบโดยความไม่มีต่อไปแห่งการกำหนดรู้ซึ่งวัตถุ (วัตถุสัจจะ). ชื่อว่า อัสดงคต (ดับไป) เพราะถึงแล้วซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้ กล่าวคือนิโรธ.
               ชื่อว่า อพฺภตฺถงฺคตา (ดับไปอย่างราบคาบ) เพราะถึงการดับอย่างยวดยิ่ง เหตุที่กำจัดความเกิดบ่อยๆ เสียได้.
               คำว่า อปฺปิตา คือ ถูกทำให้พินาศไป คือไม่ให้มีต่อไป.
               คำว่า พฺยปฺปิตา คือ ถูกทำให้พินาศไปด้วยดี คือไม่มีเลย.
               ชื่อว่า โสสิตา (ถูกทำให้เหือดแห้ง) เพราะความให้เหือดแห้งแล้วอย่างนี้ คือมิให้มีอาสวะเกิดขึ้นอีกในภายหลัง.
               ชื่อว่า วิโสสิตา (ถูกทำให้เหือดแห้งด้วยดี) เพราะเหือดแห้งด้วยดี คือถูกทำให้แห้งแล้ว.
               ชื่อว่า พฺยนฺติกตา (ถูกทำให้มีที่สุดไปปราศแล้ว) เพราะทำให้ปราศจากไป.
               อนึ่ง ในอธิการนี้ การบริหารกายของผู้ปฏิบัติกรรมฐาน โดยการอยู่ด้วยกรรมฐาน พึงทราบด้วยอนุปัสสนา. สัมมัปปธาน พึงทราบด้วยอาตาปะ (ความเพียรเผากิเลส). อุบายเป็นเครื่องบริหารกรรมฐาน พึงทราบด้วยสติสัมปชัญญะ ผู้มีสมถะอันได้แล้ว พึงทราบด้วยสติ หรือด้วยสามารถแห่งกายานุปัสสนา. วิปัสสนา พึงทราบด้วยสัมปชัญญะ. และพึงทราบว่า ผลแห่งภาวนา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยการกำจัดอภิชฌาโทมนัส ฉะนี้แล.
               อรรถกถากายานุปัสสนานิทเทส จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา วิภังคปกรณ์ สติปัฏฐานวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔]
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 416อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 431อ่านอรรถกถา 35 / 458อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=35&A=5874&Z=6259
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=54&A=5445
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=54&A=5445
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๒  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :