ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 801อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 835อ่านอรรถกถา 35 / 849อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อรรถกถา วิภังคปกรณ์
ญาณวิภังค์ ฉักกนิเทศ-ทสกนิเทศ

หน้าต่างที่ ๒ / ๓.

               อรรถกถาทสกนิทเทส               
               อธิบายญาณวัตถุหมวด ๑๐               
               อธิบายกำลังที่ ๑ ของพระตถาคต               
               คำว่า อฏฺฐานํ (แปลว่า ไม่ใช่ฐานะ) ได้แก่ ปฏิเสธ เหตุ.
               คำว่า อนวกาโส (แปลว่า ไม่ใช่โอกาส) ได้แก่ ปฏิเสธปัจจัย.
               แม้ด้วยคำทั้งสองก็ปฏิเสธ การณะ (การณะคือเหตุนั่นแหละ).
               จริงอยู่ การณะ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมตรัสเรียกว่า ฐานะและอวกาส (อวกาสคือโอกาส) เพราะความที่การณะนั้นเป็นที่อาศัยให้เป็นไปแก่ผลของตน. คำว่า "ยํ" (แปลว่า ใด) ได้แก่ ด้วยเหตุใด.
               คำว่า ทิฏฺฐิสมฺปนฺโน ได้แก่ พระอริยสาวกผู้เป็นพระโสดาบันถึงพร้อมแล้วด้วยมัคคทิฏฐิ.
               คำว่า กญฺจิ สงฺขารํ (แปลว่า สังขารอะไรๆ) ได้แก่ แม้สังขารอะไรๆ สักอย่างหนึ่งในสังขารทั้งหลายอันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว ซึ่งเป็นไปในภูมิ ๔.
               คำว่า นิจฺจโต อุปคจฺเฉยฺย (แปลว่า พึงถือเอา...โดยความเป็นของเที่ยง) ได้แก่ พึงถือเอาว่าเป็นของเที่ยง.
               คำว่า เนตํ ฐานํ วิชฺชติ (แปลว่า ไม่ใช่ฐานะที่มีอยู่) ได้แก่ เหตุนั้นไม่มีอยู่ คือหยั่งเห็น (ด้วยปัญญา) ไม่ได้.
               คำว่า ปุถุชฺชโน ได้แก่ ปุถุชน...พึงยึดถือเอาด้วยเหตุใด.
               คำว่า ฐานเมตํ วิชฺชติ ได้แก่ เหตุนี้มีอยู่. อธิบายว่า ก็ปุถุชนนั้น พึงยึดเอาซึ่งสังขารอะไรๆ ในบรรดาสังขารทั้งหลายอันเป็นไปในภูมิ ๔ ว่า เป็นของเที่ยง ด้วยสัสสตทิฏฐิ. ก็๑- สังขารอันเป็นไปในภูมิ ๔ ย่อมไม่เป็นอารมณ์ของทิฏฐิหรือว่าของอกุศลทั้งหลายเหล่าอื่น ราวกะก้อนเหล็กแดงที่ร้อนตลอดวัน ย่อมไม่เป็นอารมณ์ของแมลงวันทั้งหลาย เพราะความเป็นของหนาแน่นด้วยไฟ ฉะนั้น.
____________________________
๑- ในที่นี้แปลตามบาลีอรรถกถาที่ว่า จตุภูมิกสงฺขาโร แต่โดยสภาวปรมัตถ์แล้วควรจะเป็นสังขารในภูมิที่ ๔ คือโลกุตตรธรรม จึงจะถูกต้อง ที่ไม่เป็นอารมณ์ของทิฏฐิและอกุศลทั้งหลาย.

               พึงทราบอธิบายแม้ในคำว่า กิญฺจิ สงฺขารํ สุขโต โดยนัยนี้.
               คำว่า สุขโต อุปคจฺเฉยฺย นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาการยึดถือว่าเป็นสุขด้วยสามารถแห่งอัตตทิฏฐิ อย่างนี้ว่า ตนมีความสุขโดยส่วนเดียว เบื้องหน้าแต่การตาย ก็ไม่มีโรค ดังนี้เป็นต้น.
               ก็พระอริยสาวกผู้ครอบงำซึ่งความเร่าร้อนแล้ว ด้วยจิตอันเป็นทิฏฐิวิปปยุต เหมือนนายหัตถาจารย์ผู้ยังช้างตกมันให้สะดุ้งเพื่อต้องการให้ความเร่าร้อนสงบระงับ เหมือนโปกขรพราหมณ์ผู้ใคร่ต่อความสะอาด ย่อมไม่ยึดถือสังขารอะไรๆ ดุจคูถ ว่าเป็นความสุข.
               ในอัตตวาทะ (ในลัทธิว่าตนมีอยู่) พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตรัสคำว่า สังขาร ดังนี้ เพื่อสงเคราะห์ซึ่งบัญญัติ มีกสิณบัญญัติเป็นต้น จึงตรัสว่า ธรรมอะไรๆ ดังนี้. บัณฑิตพึงทราบการกำหนดในญาณแม้นี้ด้วยสามารถแห่งภูมิ ๔ ของพระอริยสาวก และด้วยสามารถแห่งภูมิ ๓ ของปุถุชน.
               อีกอย่างหนึ่ง การกำหนดในวาระทั้งปวง ด้วยสามารถแห่งภูมิ ๓ นั่นแหละ ย่อมควรแม้แก่พระอริยสาวก. ก็ปุถุชนย่อมยึดถือซึ่งสิ่งใดๆ พระอริยสาวก ย่อมกำจัดซึ่งความยึดถือแต่สิ่งนั้นๆ.
               จริงอยู่ ปุถุชนย่อมยึดถือสังขารใดๆ ว่าเป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตาดังนี้ พระอริยสาวกเมื่อกำหนดสังขารนั้นๆ ว่า เป็นสิ่งไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา ชื่อว่ากำจัดซึ่งความยึดถือ.
               ในคำว่า มาตรํ (แปลว่า มารดา) เป็นต้น มารดาผู้เป็นที่เกิด บิดาก็คือผู้ให้เกิด. พระขีณาสพผู้เป็นมนุษย์เท่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประสงค์เอาในคำว่า ฆ่าพระอรหันต์. เมื่อมีคำถามว่า พระอริยสาวกพึงปลงสัตว์ลงจากชีวิต (ฆ่าสัตว์) หรือ ก็ต้องตอบว่า แม้ข้อนี้เป็นอฐานะ. แม้ถ้าว่า ใครๆ พึงกล่าวกะพระอริยสาวกผู้อยู่คนละภพก็ดี กะบุคคลผู้แม้ไม่รู้ความที่ตนเป็นพระอริยสาวกก็ดีว่า ท่านจงปลงมดดำเล็กๆ ตัวนี้ลงจากชีวิตไซร้ แล้วก็จะถึงความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในห้วงแห่งจักรวาลทั้งสิ้น ดังนี้. พระอริยสาวกนั้นจะไม่พึงปลงซึ่งสัตว์นั้นลงจากชีวิตแน่แท้.
               แม้อีกอย่างหนึ่ง ชนทั้งหลายพึงกล่าวกะพระอริยสาวกนั้นอย่างนี้ว่า ถ้าท่านจักไม่ฆ่าซึ่งสัตว์นี้ลงจากชีวิตไซร้ พวกเราจักตัดศีรษะของท่าน ดังนี้ ชนเหล่านั้นก็จะพึงตัดศีรษะของพระอริยสาวกนั้นแน่ เพราะว่า ท่านไม่พึงฆ่าสัตว์นั้นเลย. ก็คำนี้กล่าวไว้เพื่อแสดงของความเป็นปุถุชนมีโทษมาก และเพื่อแสดงซึ่งกำลังของพระอริยสาวก. จริงอยู่ ในญาณข้อนี้ พึงทราบอธิบายดังนี้.
               ปุถุชนจักกระทำอนันตริยกรรมมีการฆ่ามารดาเป็นต้นใดแล ชื่อว่าความเป็นปุถุชนผู้เป็นไปกับด้วยโทษ จักกระทำอนันตริยกรรมแม้นั้นได้. พระอริยสาวกชื่อว่าผู้มีกำลังมาก เพราะท่านไม่ทำกรรมเหล่านี้ ดังนี้.
               คำว่า ทุฏฺเฐน จิตฺเตน (แปลว่า ผู้มีจิตประทุษร้าย) ได้แก่ มีจิตฆ่าอันสัมปยุตด้วยโทสะ.
               คำว่า โลหิตํ อุปฺปาเทยฺย (แปลว่า ยังพระโลหิตของพระพุทธเจ้าให้ห้อขึ้น) ได้แก่ ยังพระโลหิตในสรีระของพระพุทธเจ้า ผู้ยังทรงพระชนม์อยู่แม้มีประมาณการดื่มกินของแมลงตัวเล็กๆ ให้ห้อขึ้น.
               คำว่า สงฺฆ์ ภินฺเทยฺย (แปลว่า พึงยังสงฆ์ให้แตกจากกัน) ได้แก่ ยังสงฆ์ผู้มีสังวาสเสมอกัน ผู้ตั้งอยู่ในสีมาเสมอกัน ให้แตกไปด้วยเหตุ ๕ ประการ. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
               ดูก่อนอุบาลี สงฆ์ย่อมแตกจากกัน ด้วยอาการ ๕ ประการ คือ ด้วยกรรมอุทเทส การกล่าวขัดแย้งกัน อนุสาวนา การจับสลาก.
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า ด้วยกรรม ได้แก่ ในกรรม ๔ อย่างมีอปโลกนกรรม๒- เป็นต้น กรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               คำว่า โดยอุทเทส ได้แก่ ในการสวดพระปาฏิโมกขุทเทส ๕ อย่าง ด้วยการสวดพระปาฏิโมกขุทเทสอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               คำว่า การกล่าว ได้แก่ การกล่าวคือแสดงอยู่ซึ่งเภทกรวัตถุ (เรื่องวิวาท) ๑๘#- มีคำว่า อธมมํ ธมฺโม (แปลว่า สิ่งที่ไม่ใช่ธรรม กล่าวว่าเป็นธรรม) เป็นต้น โดยเรื่องวิวาทกันเหล่านั้นๆ ที่เกิดขึ้น.
____________________________
๒- กรรม ๔ อปโลกนกรรม ๑ ญัตติกรรม ๑ ญัตติทุติยกรรม ๑ ญัตติจตุตถกรรม ๑.
#- เภทกรวัตถุ ๑๘ คือ :-
               ๑. สิ่งไม่ใช่ธรรม กล่าวว่าเป็นธรรม
               ๒. สิ่งที่เป็นธรรม กล่าวว่า ไม่ใช่ธรรม
               ๓. สิ่งที่ไม่ใช่วินัย กล่าวว่า เป็นวินัย
               ๔. วินัย กล่าวว่า ไม่ใช่วินัย
               ๕. สิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ กล่าวว่า ไม่ได้ตรัสไว้
               ๖. สิ่งที่ตรัสไว้ กล่าวว่า ไม่ได้ตรัสไว้
               ๗. สิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเคยทำมา กล่าวว่า ไม่เคยทำมา
               ๘. สิ่งที่เคยทำมา กล่าวว่า ไม่เคยทำมา
               ๙. สิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้ กล่าวว่า ไม่ได้ทรงบัญญัติไว้
               ๑๐. สิกขาบทที่ไม่ทรงบัญญัติไว้ กล่าวว่า บัญญัติไว้
               ๑๑. วัตถุเป็นอาบัติ กล่าวว่า ไม่เป็นอาบัติ
               ๑๒. วัตถุไม่เป็นอาบัติ กล่าวว่า เป็นอาบัติ
               ๑๓. อาบัติเบา กล่าวว่า เป็นอาบัติหนัก
               ๑๔. อาบัติหนัก กล่าวว่า เป็นอาบัติเบา
               ๑๕. อาบัติที่แก้ไขได้ กล่าวว่า แก้ไขไม่ได้
               ๑๖. อาบัติที่แก้ไขไม่ได้ กล่าวว่า แก้ไขได้
               ๑๗. อาบัติหยาบช้า กล่าวว่า เป็นอาบัติไม่หยาบช้า
               ๑๘. อาบัติไม่หยาบช้า กล่าวว่า เป็นอาบัติหยาบช้า.


               คำว่า โดยอนุสาวนา ได้แก่ ด้วยการกล่าวประกาศ เพราะเปล่งวาจาใกล้หู (เป่าหู) โดยนัยว่า ท่านทั้งหลายย่อมทราบซึ่งความที่เราบวชแล้วจากตระกูลสูง และเราก็เป็นพหุสูต บุคคลชื่อว่าผู้เช่นกับด้วยเรา พึงถือเอาซึ่งคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าผิดไปจากธรรมจากวินัยหรือ แม้แต่ความคิด ท่านทั้งหลายก็ไม่ควรเพื่อให้เกิดขึ้น ประโยชน์อะไรของเรา เราย่อมไม่กลัวอะไรๆ จากอบาย อวีจินรกเป็นธรรมชาติสงบ ราวกะดงแห่งดอกอุบลเขียว เป็นต้น.
               คำว่า โดยการจับสลาก ชื่อว่าการจับสลาก เพราะว่าครั้นประกาศอย่างนั้นแล้ว จึงอุปถัมภ์เจตนาของบุคคลเหล่านั้นให้กำเริบ แล้วก็กล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงถือเอาซึ่งสลากนี้ (หมายถึงเขียนสลากให้จับเพื่อให้เป็นพวกของตนมาก).
               อนึ่ง ในข้อนี้ กรรม (การกระทำ) นั่นแหละเป็นอุทเทส หรือเป็นประมาณ (เครื่องกำหนด). ก็การถือเอาสลาก เพราะกล่าวขัดแย้งกันและการประกาศ จัดเป็นบุพภาค (เบื้องต้น).
               จริงอยู่ สงฆ์ยังไม่แตกกัน แม้เพราะบุคคลผู้กล่าวขัดแย้งกัน ด้วยสามารถแห่งการแสดงวัตถุ (เรื่องวิวาท) ๑๘ ข้อ เพราะการประกาศความต้องการให้เกิดความเห็นชอบในที่นั้นแล้วถือเอาสลาก (อันนี้คงหมายถึงการนับคะแนนว่าใครมีความเห็นทางไหนเป็นเหตุให้แตกแยกกัน). แต่ว่า เมื่อใด สงฆ์ถือเอาสลาก ๔ รูปหรือเกินกว่าด้วย อาการที่กล่าวมาแล้วก็ทำกรรม หรือทำอุทเทส สงฆ์แยกออกไปเป็น ๒ พวก ในกาลนั้น สงฆ์จึงชื่อว่าแตกกันแล้ว.
               ข้อว่า บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ (มัคคทิฏฐิ) ด้วยอาการอย่างนี้ พึงทำลายสงฆ์นี้ มิใช่ฐานะ. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงอนันตริยกรรม ๕ มีการฆ่ามารดาเป็นต้นไว้ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ว่า ปุถุชนย่อมทำซึ่งอนันตริยกรรมใด พระอริยสาวกย่อมไม่ทำซึ่งกรรมนั้น.
               เพื่อความแจ่มแจ้งแห่งกรรมเหล่านั้น พึงทราบวินิจฉัยนี้คือ
                         โดยกรรม
                         โดยทวาร
                         โดยการตั้งอยู่ตลอดกัป
                         โดยปากะ (ผลของกรรม)
                         โดยสาธารณะ

               วินิจฉัยว่าโดยกรรม               
               ในคำเหล่านั้น ว่าโดยกรรมก่อน. จริงอยู่ ในอนันตริยกรรมนี้ เมื่อเป็นมนุษย์นั่นแหละแกล้งปลงชีวิตมารดาหรือบิดาผู้เป็นมนุษย์ ผู้มีเพศไม่เปลี่ยนแปลง๑- (ฆ่ามารดาบิดา) อนันตริยกรรมย่อมมีแก่เขา. มนุษย์ผู้ทำกรรมนั้นคิดว่า เราจักห้ามวิบากของอนันตริยกรรมนั้น ดังนี้ จึงยังจักรวาลทั้งสิ้นให้เต็มด้วยพระสถูปอันสำเร็จแล้วด้วยทองคำมีประมาณเท่ามหาเจดีย์ก็ดี ยังภิกษุสงฆ์ผู้นั่งตลอดจักรวาลแล้วถวายมหาทานก็ดี จับชายผ้าสังฆาฏิของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ตรัสรู้แล้วเที่ยวไปก็ดี ก็ย่อมเกิดในนรกนั่นแหละ เพราะกายแตก.
               แต่ว่า ผู้ใดเป็นมนุษย์แกล้งปลงชีวิตมารดาหรือบิดาผู้เป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือว่า ตนเองเป็นสัตว์เดรัจฉานปลงชีวิตมารดาหรือบิดาผู้เป็นมนุษย์ หรือเป็นสัตว์เดรัจฉานนั่นแหละปลงชีวิตมารดาบิดาผู้เป็นสัตว์เดรัจฉานให้ตกล่วงไป กรรมของผู้นั้นไม่เป็นอนันตริยกรรม. แต่ก็เป็นกรรมอันหนัก ย่อมตั้งอยู่จดอนันตริยกรรมนั่นแหละ. ปัญหานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยสามารถแห่งสัตว์ผู้เกิดเป็นมนุษย์.
____________________________
๑- หมายความว่า เพศของบิดามารดาตั้งอยู่โดยปกติมิได้เปลี่ยนไปเป็นสัตว์เดียรัจฉาน.

               ในข้อนี้ บัณฑิตพึงกล่าวถึง หมวด ๔ แห่งการฆ่าแพะ หมวด ๔ แห่งสงคราม และหมวด ๔ แห่งการฆ่าโจร ดังนี้ คือ
               ก็มนุษย์ผู้ยังมารดาหรือบิดาผู้เป็นมนุษย์ซึ่งยืนอยู่ในที่ใกล้แพะให้ตาย แม้ด้วยความมุ่งหมายว่า เราจักฆ่าแพะ ดังนี้ ย่อมได้รับอนันตริยกรรม. ก็มีเจตนาฆ่าแพะ๒- แพะนั้นตายก็ดี เจตนาฆ่ามารดาบิดา๓- แต่แพะตายก็ดีย่อมไม่ได้รับอนันตริยกรรม. เจตนาฆ่ามารดาบิดา ยังมารดาบิดาให้ตายอยู่ ย่อมได้รับอนันตริยกรรมแน่นอน.
               ในหมวดทั้งสองที่เหลือนอกนี้ ก็นัยนี้แหละ.
               ก็ในมารดาและบิดาเป็นต้น ฉันใด แม้การฆ่าพระอรหันต์ก็ฉันนั้น.
____________________________
๒- เจตนาฆ่าแพะโดยสำคัญว่าเป็นมารดาบิดา.
๓- เจตนาฆ่ามารดาบิดาโดยสำคัญว่าเป็นแพะ.

               บัณฑิตพึงทราบหมวด ๔ แห่งการฆ่าพระอรหันต์ ต่อไป.
               ก็บุคคลยังพระอรหันต์ผู้เป็นมนุษย์เท่านั้นให้ตาย ย่อมได้รับอนันตริยกรรม ยังพระอรหันต์ผู้เป็นยักษ์ให้ตาย ย่อมไม่เป็นอนันตริยกรรม แต่ก็เป็นกรรมอันหนัก เช่นกับอนันตริยกรรมนั่นแหละ.
               อนึ่ง เมื่อบุคคลประหารด้วยศัสตรา หรือแม้แต่ให้ยาพิษในกาลที่ท่านยังเป็นมนุษย์ปุถุชนนั่นแหละ ถ้าว่า ท่านบรรลุพระอรหัตแล้วก็ปรินิพพาน (ตาย) ด้วยเหตุนั้นนั่นแหละ ย่อมเป็นอรหันตฆาตทีเดียว.
               แต่ทานที่บุคคลถวายในกาลที่ท่านยังเป็นปุถุชนอยู่ ครั้นท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วจึงฉันอาหารนั้น อาหารที่ถวายแล้วในกาลนั้น ย่อมชื่อว่าถวายแก่ปุถุชนเท่านั้น เมื่อบุคคลฆ่าพระอริยบุคคลที่เหลือ (มีพระอินทร์เป็นต้น) ย่อมไม่จัดเป็นอนันตริยกรรม แต่ก็เป็นกรรมอันหนักเช่นกับอนันตริยกรรมเหมือนกัน.
               ในโลหิตตุปบาท ชื่อว่าการไหลออกแห่งพระโลหิตเพราะการตัดซึ่งธรรม (รูปธรรม) โดยการรุกรานของข้าศึกด้วยการทำให้กายแตกไปแห่งพระตถาคต ย่อมไม่มี. แต่จะมีก็เพียงโลหิตในที่หนึ่ง ประชุม (รวมกัน) ในภายในแห่งพระสรีระเท่านั้น. แม้สะเก็ดอันแตกไปแล้วจากศิลาอันพระเทวทัตกลิ้งไปประหารที่สุดปลายพระบาทของพระตถาคต. พระบาทได้มีเพียงพระโลหิตห้อขึ้นภายในเท่านั้น การกระทำนั้นราวกะบุคคลประหารแล้วด้วยขวาน. เมื่อพระเทวทัตทำอยู่เช่นนั้น อนันตริยกรรมก็ได้มีแล้วแก่เขา.
               ส่วนหมอชีวกทำการผ่าตัดพระฉวี (ตัดหนัง) ของพระตถาคต ด้วยมีดตามชอบใจ แล้วนำพระโลหิตอันโทษประทุษร้ายออกจากที่นั้น ได้ทำให้ผาสุก. เมื่อหมอชีวกทำอยู่อย่างนั้นบุญกรรมเท่านั้น ย่อมเกิดขึ้น.
               อนึ่ง เมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว ชนเหล่าใดย่อมทำลายพระเจดีย์ ย่อมตัดซึ่งต้นพระศรีมหาโพธิ์ ย่อมเหยียบย่ำพระธาตุ กรรมอะไรย่อมมีแก่ชนเหล่านั้น. กรรมอันหนักเช่นกับอนันตริยกรรม ย่อมเกิดแก่เขา. ก็แลบุคคลย่อมควรเพื่อตัดกิ่งมหาโพธิ์อันเบียดเบียนพระสถูปบรรจุพระธาตุพระรูปปฏิมากร (รูปจำลอง) หรือแม้ถ้าพวกนกทั้งหลายแอบแฝงที่ต้นมหาโพธิ์นั้น ย่อมถ่ายวัจจะ(อุจจาระ) ตกลงไปที่พระเจดีย์ จึงสมควรเพื่อตัดกิ่งมหาโพธิ์นั้นทีเดียว. เพราะว่า สรีรเจดีย์ (เจดีย์ที่บรรจุพระธาตุ) ใหญ่กว่าบริโภคเจดีย์ (เจดีย์ที่บรรจุของใช้ของพระพุทธเจ้า) การตัดแม้ที่โคนต้นโพธิ์อันทำลายวัตถุเจดีย์ นำออกไปก็ควร. ก็กิ่งแห่งต้นโพธิ์ใด ย่อมเบียดเบียนเรือนโพธิ์ ไม่ควรตัดกิ่งโพธิ์นั้นเพื่อรักษาเรือนโพธิ์เอาไว้.
               จริงอยู่ เรือนเพื่อประโยชน์แก่ต้นโพธิ์มีอยู่ ไม่ควรตัดต้นโพธิ์เพื่อประโยชน์แก่เรือน. แม้ในเรือนอาสนะ(ที่เก็บพระธาตุ) ก็นัยนี้. แต่พระธาตุอันบุคคลรักษาไว้ที่เรือนอาสนะใด เพื่อต้องการรักษาเรือนอาสนะนั้น ควรเพื่อตัดกิ่งโพธิ์. และเพื่อต้องการรักษาต้นโพธิ์ไว้ สมควรตัดกิ่งที่นำโอชะออกไป หรือที่เน่า (ที่เสีย) นั่นแหละ. แม้บุญก็ย่อมเกิดแก่บุคคลนั้น เช่นการปฏิบัติต่อพระสรีระ.
               ในสังฆเภท เมื่อสงฆ์อยู่ในสีมาไม่ประชุมกันแล้ว การแตกแห่งสงฆ์ด้วย อนันตริยกรรมด้วย ย่อมมีแก่ผู้กล่าวประกาศให้จับสลากกระทำแล้ว เพราะถือเอาบริษัทเป็นคนละพวกกระทำอยู่ซึ่งกรรม หรือสวดอยู่ซึ่งอุทเทส. ก็เมื่อทำกรรมหรือสวดอุทเทส ด้วยความสำคัญว่ามีความพร้อมเพรียงกันจึงควรทำ.
               จริงอยู่ เมื่อทำกรรมด้วยสัญญาแห่งความพร้อมเพรียงกัน ความแตกแห่งสงฆ์และอนันตริยกรรม ย่อมไม่มี. โดยทำนองเดียวกัน ทำกรรมโดยฟื้นฟูบริษัทใหม่ ก็สมควร. บรรดาชนผู้ใหม่ กำหนดต่ำสุดกว่าทุกคน (ผู้ยังไม่รู้) คนใดย่อมทำลายสงฆ์ อนันตริยกรรมก็ย่อมเกิดแก่เขา. กรรมอันมีโทษมาก ย่อมเกิดแก่อธรรมวาทีทั้งหลายผู้เป็นข้าศึกต่อสงฆ์. กรรมอันไม่มีโทษ ย่อมเกิดแก่ธรรมวาที.
               ในข้อนั้น สูตรในสังฆเภทของผู้ใหม่นั่นแหละ ดังนี้.
               ดูก่อนอุบาลี ภิกษุผู้จับสลาก ๔ รูปพวกหนึ่ง อีก ๔ รูปพวกหนึ่ง ภิกษุผู้ใหม่ย่อมประกาศให้ถือเอาสลากว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุศาสน์เป็นต้น ท่านทั้งหลายจงถือเอาฉลากนี้ จงชอบใจคำนี้ ด้วยอาการอย่างนี้แล ดูก่อนอุบาลี ความร้าวรานแห่งสงฆ์และความแตกแห่งสงฆ์ด้วย ย่อมมีแก่ผู้ใหม่ยิ่ง ดังนี้. ก็บรรดาอนันตริยกรรม ๕ อย่าง สังฆเภทเท่านั้นเป็นวจีกรรม ที่เหลือเป็นกายกรรม. พึงทราบวินิจฉัยว่าโดยกรรมด้วยประการฉะนี้.

               วินิจฉัยว่าโดยทวาร               
               คำว่า ว่าโดยทวาร ก็กรรมเหล่านี้ทั้งหมด ย่อมตั้งขึ้นแต่กายทวารบ้าง แต่วจีทวารบ้าง แต่ในอนันตริยกรรม ๕ นั้น อนันตริยกรรม ๔ ในก่อน (เว้นสังฆเภท) แม้ตั้งขึ้นแล้วแต่วจีทวารด้วยสามารถแห่งปโยคะอันสำเร็จด้วยวิชชาโดยใช้ให้ทำ ก็ย่อมยังกายทวารนั่นแหละให้เต็มด้วยสังฆเภท เมื่อบุคคลกระทำการแยกสงฆ์ด้วยการชี้แจงด้วยมือ แม้จะตั้งขึ้นแต่กายทวาร ก็ชื่อว่ายังวจีทวารนั่นแหละให้เต็ม. พึงทราบวินิจฉัยในข้อนี้แม้ว่าโดยทวาร ด้วยประการฉะนี้.

               วินิจฉัยว่าโดยการตั้งอยู่ตลอดกัป               
               คำว่า ว่าโดยการตั้งอยู่ตลอดกัป ก็ในอนันตริยกรรมทั้ง ๕ เหล่านี้ สังฆเภทเท่านั้นเป็นกรรมตั้งอยู่ตลอดกัป. จริงอยู่ ครั้นเมื่อกัปกำลังเป็นไป (ต้นกัป)หรือท่ามกลางแห่งกัปกำลังเป็นไป ผู้ทำสังฆเภทย่อมพ้นจากการให้ผลของกรรมในเมื่อกัปนั้นพินาศไปทีเดียว. แม้ว่า กัปจักพินาศไปในวันพรุ่งนี้ไซร้ บุคคลทำสังฆเภทในวันนี้เขาก็จักพ้นจากอบายในวันพรุ่งนี้แน่นอน. คือเขาย่อมถูกไหม้ในนรกสิ้นวันหนึ่งเท่านั้น. แต่ว่า การทำกรรมดังกล่าวมานี้หามีไม่. อนันตริยกรรม ๔ ที่เหลือเป็นอนันตริยกรรมเหมือนกัน แต่ไม่ตั้งอยู่ตลอดกัป. พึงทราบวินิจฉัยในอนันตริยกรรมนี้ แม้ว่าโดยการตั้งอยู่ตลอดกัปดังพรรณนามาฉะนี้.

               วินิจฉัยว่าโดยปากะ คือผลของกรรม               
               คำว่า ว่าโดยปากะ ก็อนันตริยกรรม อันบุคคลใดทำแล้วทั้ง ๕ อย่าง สังฆเภทเท่านั้นย่อมให้ผลแก่เขา กรรมที่เหลือ ย่อมถึงการนับว่า เป็นอโหสิกรรม คือ กรรมนั้นมิได้ให้ผล. เมื่อไม่ทำสังฆเภท โลหิตุปบาทย่อมให้ผลด้วยสามารถนำปฏิสนธิ. เพราะความไม่มีแห่งกรรมทั้งสองที่กล่าวแล้ว อรหันตฆาตย่อมให้ผล. ถ้าอรหันตฆาตไม่มี บิดาเป็นผู้มีศีล มารดาเป็นผู้ทุศีล หรือมีศีลต่ำกว่าบิดา ปิตุฆาตย่อมให้ผล ด้วยสามารถนำปฏิสนธิ. ถ้ามารดามีศีลสูงกว่า มาตุฆาตย่อมให้ผล. ถ้ามารดาและบิดามีศีลหรือไม่มีศีลเสมอกัน มาตุฆาตเท่านั้นย่อมให้ผล ด้วยสามารถแห่งการนำปฏิสนธิ เพราะมารดาเป็นผู้กระทำสิ่งที่ทำได้โดยยาก และเพราะมีอุปการะมากแก่บุตร. พึงทราบวินิจฉัยในข้อนี้แม้ว่าโดยการให้ผล ด้วยประการฉะนี้.

               วินิจฉัยว่าโดยสาธารณะเป็นต้น               
               คำว่า ว่าโดยสาธารณะ เป็นต้น อนันตริยกรรม ๔ (เว้นสังฆเภท) มีในก่อน ทั่วไปแก่คฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งหลาย. ส่วนสังฆเภทย่อมเป็นอนันตริยกรรมแก่ภิกษุ มีประการตามที่กล่าวแล้ว ย่อมไม่เป็นอนันตริยกรรมแก่บุคคลอื่น เพราะพระบาลีว่า ดูก่อนอุบาลี ภิกษุณีย่อมทำลายสงฆ์ไม่ได้ สิกขมานา ... สามเณร ... อุบาสกและอุบาสิกา ย่อมทำลายสงฆ์ให้แตกจากกันไม่ได้ ดูก่อนอุบาลี ภิกษุแลผู้มีสังวาสเสมอกันเป็นปกตัตตะ(เป็นปกติ) ตั้งอยู่ในสีมาเสมอกัน ย่อมทำลายสงฆ์ ดังนี้ เพราะฉะนั้น สังฆเภทนี้จึงไม่ทั่วไปแก่บุคคลอื่น.
               อนันตริยกรรมเหล่านี้แม้ทั้งหมดสหรคตด้วยทุกขเวทนา สัมปยุตด้วยโทสะและโมหะ ท่านกล่าวสงเคราะห์ไว้ด้วยอาทิศัพท์ ฉะนี้แล. พึงทราบวินิจฉัยในข้อนี้แม้ว่าโดยสาธารณะเป็นต้น ด้วยประการฉะนี้.
               คำว่า อญฺญํ สตฺถารํ (แปลว่า ศาสดาอื่น) อธิบายว่า พระโสดาบันจะพึงยึดถือเจ้าลัทธิอื่นอย่างนี้ว่า ผู้นี้เป็นศาสดาของเรา เราสามารถเพื่อทำกิจของศาสดาได้ ดังนี้ แม้ในระหว่างภพจะพึงยึดถือว่า ผู้นี้เป็นศาสดาของเรา ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้.
               คำว่า อฏฺฐมํ ภวํ นิพฺพตฺเตยฺย (แปลว่า พึงเกิดในภพที่ ๘) อธิบายว่า พระโสดาบัน แม้มีปัญญาน้อยกว่าพระอริยบุคคลทั้งหมด ก้าวล่วงภพที่ ๗ แล้วพึงเกิดในภพที่ ๘ ข้อนี้นั้น มิใช่ฐานะที่มีได้. เพราะว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าหมายเอาภพที่ ๗ โดยกำหนดสูงสุด จึงตรัสว่า เป็นผู้เที่ยงต่อการตรัสรู้ในเบื้องหน้า ดังนี้.
               ถามว่า ก็อะไรเล่าย่อมกำหนดภพนั้น อะไรเล่ากำหนดบุพเหตุ มรรคที่ท่านได้เฉพาะแล้วกำหนด หรือว่ามรรค ๓ เบื้องบน ย่อมกำหนด.
               ตอบว่า ข้อนั้นเป็นเพียงสักว่าชื่อ อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงถือเอาแล้ว.
               ก็บุคคล ชื่อว่าเที่ยงย่อมไม่มี ใครๆ เมื่อกล่าวว่า บุพเหตุย่อมกำหนด ดังนี้ ก็เป็นอันกล่าวถึงอุปนิสสัยแห่งมรรค ๓ เบื้องบน ย่อมถึงความไม่มีอุปนิสสัยแห่งปฐมมรรค เพราะเหตุนั้น ปฐมมรรคนั้นจึงไม่ใช่เหตุไม่ใช่ปัจจัยให้ถึงการเกิด. เมื่อกล่าวว่า มรรคที่ได้แล้ว ย่อมกำหนด ดังนี้ มรรคเบื้องบน ๓ ก็ไม่มีกิจ (คือไม่มีหน้าที่) ปฐมมรรคเท่านั้นมีหน้าที่ (เมื่อเป็นเช่นนี้) ปฐมมรรคเท่านั้น พึงยังกิเลสทั้งหลายให้สิ้นไปแล้วปรินิพพาน. ถ้ากล่าวว่า มรรคเบื้องบน ๓ ย่อมกำหนด ดังนี้ ปฐมมรรคก็ไม่มีหน้าที่ มรรคเบื้องบน ๓ มีหน้าที่ เพราะมรรคเบื้องบน ๓ มิได้ยังปฐมมรรคให้เกิดแล้ว จึงเกิดขึ้น. ก็กิเลสทั้งหลายพึงสิ้นไปไม่เกิดขึ้นด้วยปฐมมรรคเท่านั้น เพราะฉะนั้น ธรรมอะไรๆ อื่นย่อมมิได้กำหนดภพนั้น วิปัสสนาของมรรค ๓ เบื้องบนนั่นแหละย่อมกำหนด.
               จริงอยู่ ถ้าวิปัสสนาของโสดาบันบุคคลเหล่านั้นเป็นธรรมมีปัญญาคมกล้านำไปอยู่ บุคคลนั้นยังภพหนึ่งเท่านั้นให้เกิดขึ้นแล้วก็บรรลุพระอรหัตแล้วปรินิพพาน. ถ้ามีปัญญาอ่อนกว่านั้น ก็ยังภพที่ ๒, ๓, ๔, ๕, ๖ ให้เกิดแล้วบรรลุพระอรหัตแล้วปรินิพพาน. ผู้มีปัญญาอ่อนกว่าบุคคลทั้งหมด ยังภพที่ ๗ ให้เกิดขึ้นแล้วก็บรรลุพระอรหัต. ปฏิสนธิในภพที่ ๘ ของท่าน จึงไม่มี. ด้วยประการฉะนี้ การกำหนดนี้จึงเป็นเพียงชื่ออันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงถือเอาแล้ว.
               จริงอยู่ พระศาสดาทรงพิจารณาชั่งแล้วด้วยการพิจารณาของพระพุทธเจ้า จึงทรงกำหนดไว้ด้วยพระสัพพัญญุตญาณว่า บุคคลผู้นี้มีปัญญามากกว่าชนทั้งปวง มีวิปัสสนาคมกล้า จักยังภพที่หนึ่งเท่านั้นให้เกิดแล้วก็ถือเอาพระอรหัต ดังนี้ จึงได้ทรงทำชื่อว่าบุคคลนี้เป็นเอกพีชี, บุคคลนี้ยังภพที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ให้เกิดแล้วจักถือเอาพระอรหัต ดังนี้ และทรงทำชื่อว่าโกลังโกละ ดังนี้, และบุคคลนี้ยังภพที่ ๗ ให้เกิดขึ้นแล้วจักถือเอาพระอรหัต และได้ทรงทำชื่อว่าสัตตักขัตตุปรมะ ดังนี้. ก็บุคคลไรๆ ชื่อว่าเที่ยง ย่อมไม่มีแก่ภพทั้ง ๗.
               อนึ่ง พระอริยสาวกผู้มีปัญญาน้อยกว่าด้วยอาการแม้อย่างใดอย่างหนึ่ง ท่านก็ไม่ถึงภพที่ ๘ ย่อมปรินิพพานในระหว่างภพนั้นแหละ. จริงอยู่ พระโสดาบันผู้ยินดียิ่งในภพแม้เช่นกับท้าวสักกะก็ย่อมไปสู่ภพที่ ๗ เท่านั้น. แม้ท่านมีปกติอยู่ด้วยความประมาทโดยอาการทั้งปวง วิปัสสนาญาณของท่านก็ย่อมถึงความสุกรอบในภพที่ ๗. เพราะเมื่อท่านเบื่อหน่ายในอารมณ์แม้มีประมาณน้อยแล้ว ย่อมบรรลุพระนิพพานได้. ก็แม้ถ้าว่าเมื่อท่านก้าวลงสู่ความหลับ หรือว่ากำลังเดินไป มีใครๆ ที่จะประทุษร้ายยืนอยู่ในที่ลับข้างหลัง พึงยังศีรษะของท่านให้ตกไปด้วยดาบอันคมกล้า หรือพึงจับท่านกดลงในน้ำให้ตาย ก็หรือว่า สายฟ้าพึงตกลงบนศีรษะ ในเวลาแม้เห็นปานนี้ ชื่อว่าการทำกาละ มีปฏิสนธิในภพที่ ๘ อีก ย่อมไม่มี ย่อมจะบรรลุพระอรหัตนั่นแหละแล้วปรินิพพาน. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า พระโสดาบันพึงยังภพที่ ๘ ให้เกิด ดังนี้ ไม่ใช่ฐานะที่มีได้ ดังนี้.

               อธิบายโลกธาตุ พุทธเกษตร               
               คำว่า เอกิสฺสา โลกธาตุยา (แปลว่า ในโลกธาตุเดียวกัน) ได้แก่ โลกธาตุมีจำนวนหนึ่งหมื่น.
               จริงอยู่ พุทธเกษตร (เขตฺตานิ) มี ๓ คือชาติเกษตร (ชาติเขตฺตํ) อาณาเกษตร (อาณาเขตฺตํ) วิสัยเกษตร (วิสยกฺเขตฺตํ).
               บรรดาเกษตรเหล่านั้น โลกธาตุมีจำนวนหนึ่งหมื่น ชื่อว่าชาติเกษตร (กำหนดด้วยชาติ).
               จริงอยู่ หมื่นโลกธาตุนั้นย่อมหวั่นไหวในกาลที่พระตถาคตเสด็จสู่คัพโภทรของพระมารดา ในกาลที่เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ในกาลที่ทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในกาลยังพระธรรมจักรให้เป็นไป ในกาลปลงพระชนมายุสังขารและในกาลปรินิพพาน.
               ก็ จักรวาลจำนวนแสนโกฏิจักรวาล ชื่อว่าอาณาเกษตร (กำหนดด้วยอำนาจ).
               จริงอยู่ อาณา (อำนาจ) แห่งอาฏานาฏิยปริตร โมรปริตร ธชัคคปริตรและรัตนปริตรเป็นต้น ย่อมเป็นไป (แผ่ไป) ในแสนโกฏิจักรวาลนี้.
               ก็แต่ว่า การกำหนดซึ่งวิสัยเกษตร ย่อมไม่มี.
               จริงอยู่ เพราะพระบาลีว่า ญาณของพระพุทธเจ้าทั้งหลายมีประมาณเท่าใด ธรรมที่พระองค์พึงน้อมไป (มีความประสงค์จะรู้) ก็มีประมาณเท่านั้น ธรรมที่พระองค์พึงน้อมไปมีประมาณเท่าใด ญาณก็มีประมาณเท่านั้น ธรรมที่พึงน้อมไปมีที่สุดด้วยพระญาณ พระญาณก็มีที่สุดด้วยธรรมที่พึงน้อมไปดังนี้ ชื่อว่าเหลือวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่มี.
               ก็พุทธเกษตรทั้ง ๓ นั้น คำว่า ยกเว้นจักรวาลนี้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงอุบัติขึ้นในจักรวาลอื่น ดังนี้ เป็นสูตร (เป็นคำที่ตรัสไว้) หามีไม่. แต่คำว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่ทรงอุบัติขึ้น ดังนี้เป็นสูตร มีอยู่. คำว่า ปิฎก ๓ คือวินัยปิฎก สุตตันตปิฎก อภิธัมมปิฎก ดังนี้ และคำว่า สังคีติ ๓ คือสังคีติของพระมหากัสสปเถระ ของพระยสเถระ ของพระโมคคลีปุตตติสสเถระ ดังนี้ เป็นสูตร มีอยู่. คำว่า นอกจากจักรวาลนี้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงอุบัติขึ้นในจักรวาลอื่น ดังนี้ ไม่มีสูตรในพระไตรปิฎก คือพุทธพจน์ที่พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายยกขึ้นสู่สังคีติทั้ง ๓ เหล่านี้. แต่คำว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่ทรงอุบัติขึ้น ดังนี้ เป็นสูตรมีอยู่.
               คำว่า อปุพฺพํ อจริมํ ได้แก่ ไม่ทรงอุบัติขึ้นพร้อมกัน คือไม่ก่อนไม่หลังกัน. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอธิบายไว้ว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงอุบัติขึ้นก่อนหรือหลังกัน (ไม่ใช่พร้อมกัน) ดังนี้มีอยู่.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า ก่อน หรือคำว่า หลัง ดังนี้
               นับจำเดิมแต่การถือปฏิสนธิในครรภ์พระมารดา จนถึงเสด็จประทับนั่งที่โพธิบัลลังก์ ทรงตั้งพระหฤทัยมั่นคงว่า เรายังไม่บรรลุพระโพธิญาณแล้ว จักไม่ลุกขึ้น ดังนี้ ข้อนี้ไม่พึงทราบว่า เป็นกาลก่อน.
               จริงอยู่ การกำหนดชาติเกษตรในการถือเอาปฏิสนธิของพระโพธิสัตว์ ท่านทำอธิบายไว้ ด้วยการหวั่นไหวแห่งจักรวาลหมื่นหนึ่ง. ในระหว่างนี้ การบังเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าองค์อื่นเป็นสภาพอันธรรมดาห้ามไว้. และจำเดิมแต่การปรินิพพาน พระธาตุแม้มีประมาณเท่าเมล็ดผักกาด ตราบเท่าที่มีอยู่ บัณฑิตไม่พึงทราบว่า เป็นกาลหลัง.
               จริงอยู่ เมื่อพระบรมธาตุยังทรงอยู่ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย (ชื่อว่า) ยังดำรงอยู่นั่นแหละ เพราะฉะนั้น ในระหว่างแห่งพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ยังดำรงอยู่ ความบังเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าพระองค์อื่น ย่อมเป็นสภาวะอันธรรมดาห้ามไว้แล้วเทียว. ก็ครั้นเมื่อพระธาตุปรินิพพานแล้ว ความบังเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าพระองค์อื่น อันอะไรๆ มิได้ห้ามไว้.

               อันตรธาน ๓ อย่าง               
               จริงอยู่ ชื่อว่า อันตรธาน (ความสูญหาย) มี ๓ อย่าง คือ
                         ปริยัตติอันตรธาน (การสูญหายแห่งการเรียนพระไตรปิฎก)
                         ปฏิเวธอันตรธาน (การสูญหายแห่งมรรคผล)
                         ปฏิปัตติอันตรธาน (ความสูญหายแห่งการปฏิบัติ)
               ในบรรดา ๓ อย่างนั้น พระไตรปิฎก ชื่อว่าปริยัติ, การแทงตลอดสัจจะ ชื่อว่าปฏิเวธ, ปฏิปทา ชื่อว่าปฏิบัติ. ในคำเหล่านั้น ปฏิเวธและปฏิบัติมีอยู่บ้าง ไม่มีอยู่บ้าง.
               จริงอยู่ ภิกษุผู้เป็นพหูสูตผู้ทำซึ่งปฏิเวธ มีอยู่ในกาลครั้งหนึ่ง ที่บัณฑิตพึงเหยียดนิ้วมือออกแสดงว่า ผู้นี้ไม่เป็นภิกษุปุถุชน ดังนี้ ในกาลนั้นมีอยู่.
               ได้ยินว่า ในเกาะนี้นั่นแหละ ในครั้งหนึ่ง ขึ้นชื่อว่าภิกษุผู้เป็นปุถุชน มิได้มีแล้ว. แม้ภิกษุผู้บำเพ็ญปฏิบัติ ในกาลบางครั้งก็มีมาก บางครั้งก็มีน้อย. ด้วยประการฉะนี้ ปฏิเวธและปฏิบัติ จึงชื่อว่ามีอยู่บ้าง ก็ปริยัติชื่อว่าเป็นประมาณในกาลตั้งอยู่แห่งพระศาสนา.
               จริงอยู่ บัณฑิตฟังพระไตรปิฎก แล้วก็ย่อมยังปฏิบัติและปฏิเวธแม้ทั้งสองให้เต็ม.
               เหมือนพระโพธิสัตว์ของเราทั้งหลายยังอภิญญา ๕ (เว้นอาสวักขยญาณที่ ๖) และสมาบัติ ๘ ให้เกิดขึ้นในสำนักอาฬารดาบส แล้วจึงถามบริกรรมในเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ดาบสนั้นทูลว่า ไม่ทราบ จึงเสด็จไปสู่สำนักของอุทกดาบส รามบุตร ทรงเทียบเคียงคุณวิเศษที่พระองค์บรรลุ แล้วทรงถามบริกรรมแห่งเนวสัญญานาสัญญายตนะ. อุทกดาบสรามบุตรนั้นบอกแล้ว. พระมหาสัตว์ทรงยังสมาบัตินั้นให้ถึงพร้อมแล้วในลำดับแห่งคำของดาบสนั้นนั่นแหละ. ภิกษุผู้มีปัญญาก็ฉันนั้นนั่นแหละ ฟังปริยัติแล้ว ย่อมยังปฏิบัติและปฏิเวธแม้ทั้งสองให้เต็ม. ด้วยเหตุนั้น พระศาสนาจึงชื่อว่าตั้งอยู่แล้ว เพราะความตั้งมั่นแห่งปริยัติ ดังนี้.
               ในกาลใด ปริยัตินั้นย่อมอันตรธานไป ในกาลนั้น พระอภิธรรมปิฎกย่อมพินาศไปก่อน ในพระอภิธรรมนั้น คัมภีร์ปัฏฐานย่อมอันตรธานก่อนกว่าคัมภีร์ทั้งหมด ย่อมอันตรธานต่อมาโดยลำดับ ธัมมสังหะ๑- ย่อมอันตรธานไปในภายหลัง ครั้นพระอภิธรรมปิฎกนั้นอันตรธานไปหมดแล้ว ปิฎกทั้งสองนอกนี้ แม้ตั้งอยู่แล้ว พระศาสนาก็ชื่อว่ายังดำรงอยู่นั่นแหละ.
____________________________
๑- ธัมมสังคณี.

               ในบรรดา ๒ ปิฎกที่เหลือนั้น เมื่อพระสุตตันตปิฎกจะอันตรธานไป อังคุตตรนิกายทั้งหลาย (พระสูตรที่แจกธรรมออกไปเป็นข้อๆ) ย่อมอันตรธานตั้งแต่เอกาทสกนิบาตลงมาถึงเอกนิบาต. ในลำดับนั้น สังยุตตนิกายทั้งหลาย (พระสูตรแสดงเรื่องบุคคลเป็นหมวดๆ) ย่อมอันตรธานตั้งแต่จักกเปยยาล ลงมาจนถึงโอฆตรณา. ในลำดับนั้นมัชฌิมนิกายทั้งหลาย (พระสูตรเรื่องยาวปานกลาง) ย่อมอันตรธานตั้งแต่อินทริยภาวนาสูตรลงมาจนถึงมูลปริยายสูตร. ลำดับนั้น ทีฆนิกาย (พระสูตรเรื่องยาว) ย่อมอันตรธานตั้งแต่ทสุตตรสูตรลงมาจนถึงพรหมชาลสูตร. คำถาม (ปุจฉา) แห่งคาถาหนึ่งก็ดี สองก็ดี ย่อมเป็นไปนาน แต่คำปุจฉานั้นย่อมไม่อาจเพื่อยังพระศาสนาให้ดำรงอยู่ ราวกะสภิยปุจฉาและอาฬวกปุจฉา. ได้ยินว่า คำถามเหล่านี้ระหว่างกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสป ก็ไม่อาจเพื่อยังพระศาสนาให้ดำรงอยู่.
               ก็เมื่อปิฎกทั้ง ๒ แม้อันตรธานไปแล้ว แต่เมื่อพระวินัยปิฎกยังดำรงอยู่ พระศาสนาก็ชื่อว่าดำรงอยู่. เมื่อปริวารและขันธกะทั้งหลายอันตรธานไปแล้ว แต่อุภโตวิภังค์ยังดำรงอยู่ พระศาสนาก็ชื่อว่าดำรงอยู่นั่นแหละ. เมื่ออุภโตวิภังค์อันตรธานไปแล้ว แต่มาติกาแม้ยังดำรงอยู่ พระศาสนาก็ยังดำรงอยู่นั่นแหละ เมื่อมาติกาอันตรธานไปแล้ว แต่พระปาฏิโมกข์ การบรรพชา อุปสมบทยังดำรงอยู่ พระศาสนาก็ย่อมดำรงอยู่. ลิงค์ (เพศ) ย่อมดำเนินไปสู่กาลนาน. ก็วงศ์แห่งสมณะผู้ครองผ้าขาว (เสตวตฺถสมณวํโส) ไม่อาจเพื่อทรงพระศาสนาไว้จำเดิมแต่กาลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสป. นับตั้งแต่การแทงตลอดสัจจะของชนผู้เกิดในภายหลัง และตั้งแต่สีลเภทคือการแตกไปแห่งศีลของบุคคลผู้เกิดในภายหลัง (แห่งพุทธกาลแล้ว) จากนั้นมา พระศาสนาชื่อว่าย่อมเสื่อมถอย. จำเดิมแต่นั้นมา ความบังเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าพระองค์อื่น อันอะไรๆ มิได้ห้ามไว้.

               ปรินิพพาน ๓               
               ชื่อว่า ปรินิพพาน มี ๓ คือ
                         กิเลสปรินิพพาน
                         ขันธปรินิพพาน
                         ธาตุปรินิพพาน
               บรรดานิพพานเหล่านั้น กิเลสปรินิพพาน (การดับสนิทแห่งกิเลส) ได้มีแล้วที่โพธิบัลลังก์.
               ขันธปรินิพพาน (การดับสนิทแห่งขันธ์) ได้มีแล้ว ณ พระนครกุสินารา.
               ธาตุปรินิพพาน (การดับสนิทแห่งพระธาตุ) จักมีในอนาคตกาล.
               ได้ยินว่า ในกาลที่พระศาสนาจะเสื่อมถอย พระธาตุทั้งหลายที่ตัมพปัณณิทวีป (ทวีปลังกา) จักประชุมกันแล้วเสด็จไปสู่มหาเจดีย์. ต่อแต่นั้นจักไปสู่ต้นไม้ราชายตนะ (ต้นไม้เกด) ในนาคทีปะ จากนั้นจักไปสู่มหาโพธิบัลลังก์. พระธาตุทั้งหลายแต่นาคพิภพก็ดี แต่พรหมโลกก็ดี จักเสด็จไปสู่ต้นมหาโพธิบัลลังก์เท่านั้น. พระธาตุแม้ประมาณเท่าเมล็ดผักกาดจักไม่สูญหายไปในระหว่างทาง. พระธาตุทั้งหมดจักประชุมรวมเป็นแท่งเดียวกัน ดุจแท่งทองคำ ณ มหาโพธิบัลลังก์แล้วจักเปล่งออกซึ่งฉัพพัณณรังสี (รัศมีมีวรรณะ ๖ ประการ) ฉัพพัณณรังสีนั้นจักแผ่ไปตลอดหมื่นโลกธาตุ.
               ในลำดับนั้น เทวดาในหมื่นจักรวาลจักมาประชุมกัน จักกระทำซึ่งความกรุณาอันยิ่งใหญ่กว่าวันที่พระทศพลปรินิพพาน แล้วจักกล่าวว่า วันนี้ พระศาสดาจะปรินิพพาน วันนี้ พระศาสนาจะเสื่อมถอย บัดนี้ การเห็นของพวกเรานี้เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย ดังนี้. บุคคลทั้งหมดที่เหลือยกเว้นพระอนาคามีและพระขีณาสพแล้ว จักไม่อาจเพื่อทรงไว้โดยภาวะของตน.
               ลำดับนั้น เตโชธาตุในพระธาตุทั้งหลายจักตั้งขึ้นแล้วพวยพุ่งไปถึงพรหมโลก. เมื่อพระธาตุแม้มีประมาณเท่าเมล็ดผักกาด ยังมีอยู่ เปลวอัคคีหนึ่งเทียวจักมี ครั้นเมื่อพระธาตุทั้งหลายถึงกาลสิ้นสุดลงแล้ว เปลวอัคคีนั้นก็จักดับสนิท. ครั้นพระธาตุทั้งหลายแสดงอานุภาพอันใหญ่ด้วยประการฉะนี้แล้ว ก็อันตรธานไปสิ้น พระศาสนาย่อมชื่อว่าอันตรธานไปแล้ว. พระพุทธเจ้าทั้งหลายพึงอุบัติขึ้นพร้อมกันทั้งสองพระองค์ ข้อนี้นั้น ไม่เป็นฐานะที่มีได้ ด้วยประการฉะนี้.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่ทรงอุบัติขึ้นพร้อมกัน.
               ตอบว่า เพราะไม่มีความอัศจรรย์.
               จริงอยู่ พระพุทธเจ้าทั้งหลายทุกองค์ล้วนเป็นมนุษย์อัศจรรย์.
               เหมือนอย่างที่ได้ตรัสไว้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลคนหนึ่ง เมื่อบังเกิดขึ้นในโลก ย่อมบังเกิดขึ้นเป็นมนุษย์ผู้อัศจรรย์ บุคคลคนหนึ่ง เป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลคนหนึ่ง คือพระตถาคตผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า๑- ดังนี้.
____________________________
๑- องฺ เอก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๑๔๑

               อนึ่ง ถ้าพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์หรือ ๓, ๔, ๘ หรือ ๑๖ พระองค์ พึงบังเกิดขึ้นพร้อมกันไซร้ ความอัศจรรย์ทั้งหลายก็ไม่พึงมี เพราะว่า ลาภสักการะย่อมไม่โอฬาร แม้ลาภสักการะของพระเจดีย์ทั้งสองในวิหารเดียวกันก็ไม่โอฬาร (ใหญ่). แม้แต่ภิกษุทั้งหลายก็ไม่อัศจรรย์ เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายจึงไม่ทรงอุบัติขึ้นพร้อมกันด้วยประการฉะนี้. และเพราะความที่พระธรรมเทศนาก็เป็นสภาพไม่แปลกกันเลย.
               จริงอยู่ พระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งย่อมแสดงธรรมมีสติปัฏฐานเป็นต้น พระธรรมนั้นแหละอันพระพุทธเจ้าพระองค์อื่นก็แสดงได้ ความอัศจรรย์ก็ไม่พึงมี. แต่เมื่อพระพุทธเจ้าองค์เดียวแสดงธรรมอยู่ แม้เทศนาก็ย่อมเป็นธรรมอัศจรรย์ และเพราะไม่เกิดความขัดแย้งด้วย ด้วยว่า เมื่อพระพุทธเจ้าหลายพระองค์ทรงอุบัติพร้อมกันแล้ว สาวกทั้งหลายต่างก็จะพึงกล่าวขัดแย้งกันและกันว่า พระพุทธเจ้าของพวกเราเป็นผู้น่าเลื่อมใส พระพุทธเจ้าของพวกเรามีสุรเสียงเพราะ มีลาภมีบุญ ดังนี้ ราวกะหลายอาจารย์กล่าวแก่งแย่งกันอยู่. แม้เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายจึงไม่ทรงอุบัติขึ้นพร้อมกัน ด้วยประการฉะนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ พระนาคเสนเถระอันพระยามิลินท์ทรงถามแล้ว จึงให้พิสดารแล้วทีเดียว.
               ก็ในเรื่องนั้น ท่านกล่าวไว้ดังนี้

               มิลินทปัญหา               
               ทวินฺนํ พุทฺธานํ โลเก นุปฺปชฺชนปญฺหา               
               (ปัญหาว่าด้วยการไม่บังเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์)               
               พระยามิลินท์ ตรัสถามว่า ข้าแต่พระนาคเสน แม้พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทราบภาษิตแล้วว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งสองพระองค์ พึงบังเกิดขึ้นไม่ก่อนไม่หลัง พร้อมกันในโลกธาตุอันเดียว ด้วยเหตุใด เหตุนั้นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ ดังนี้ เพราะเหตุไร?
               พระนาคเสนเถระทูลว่า ขอถวายพระมหาบพิตร พระตถาคตแม้ทั้งปวงเมื่อทรงแสดง ย่อมทรงแสดงธรรมทั้งหลายอันเป็นฝักฝ่ายแห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้ ๓๗ ประการเท่านั้น (โพธิปักขิยธรรม ๓๗) ก็เมื่อจะตรัส ย่อมตรัสอริยสัจทั้ง ๔ ก็เมื่อจะให้ศึกษา ย่อมให้ศึกษาในสิกขาทั้ง ๓ ก็เมื่อพร่ำสอน ย่อมพร่ำสอนในการปฏิบัติเพื่อความไม่ประมาท ดังนี้.
               พระราชาตรัสถามว่า ข้าแต่ท่านนาคเสน ถ้าว่าเทศนาของพระตถาคตแม้ทั้งปวงเป็นอย่างเดียวกัน กถาก็อย่างเดียวกัน สิกขาก็อย่างเดียวกัน การพร่ำสอนก็อย่างเดียวกัน เพราะเหตุไร พระตถาคต ๒ พระองค์จึงไม่บังเกิดขึ้นในคราวเดียวกันเล่า.
               อนึ่ง โลกนี้มีแสงสว่างเกิดขึ้น ด้วยความบังเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าแม้องค์เดียวก่อน ถ้าว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๒ พึงบังเกิดขึ้นไซร้ โลกนี้พึงมีแสงสว่างเกิดแล้วเกินประมาณด้วยแสงสว่างแห่งพระพุทธเจ้าทั้ง ๒ พระองค์ มิใช่หรือ ก็พระตถาคตทั้งสอง เมื่อจะกล่าวสอนก็พึงกล่าวสอนง่าย (สะดวก) เมื่อจะพร่ำสอนพึงพร่ำสอนง่าย มิใช่หรือ ขอพระผู้เป็นเจ้าจงแสดงเหตุในข้อนั้นแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะพึงสิ้นความสงสัยอย่างไร.
               พระเถระทูลว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร หมื่นโลกธาตุนี้ทรงพระพุทธเจ้าได้เพียงพระองค์เดียว ย่อมทรงคุณของพระตถาคตได้พระองค์เดียวเท่านั้น ถ้าว่าพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๒ พึงบังเกิดขึ้นไซร้ หมื่นโลกธาตุนี้ จะพึงทรงไว้ไม่ได้ พึงเขยื้อน พึงหวั่นไหว พึงน้อมไป พึงทรุดลง พึงกวัดแกว่ง พึงเรี่ยราย พึงกระจัดกระจาย พึงเข้าถึงความตั้งอยู่ไม่ได้.
               ขอถวายพระพร มหาบพิตร เปรียบเหมือนเรือที่พาข้ามฝั่งไปได้คนเดียว ครั้นเมื่อบุรุษคนเดียวขึ้นแล้วเรือนั้นก็พึงให้ถึงฝั่ง ถ้าว่าบุรุษคนที่ ๒ พึงมาไซร้ และเขาก็เป็นผู้เช่นเดียวกันโดยอายุ โดยวรรณะ โดยวัยเป็นประมาณและโดยอวัยวะใหญ่น้อยผอมหรืออ้วน (ขนาดเดียวกัน) บุรุษคนที่สองนั้น พึงขึ้นสู่เรือนั้น ดูก่อนมหาบพิตร เรือนั้นพึงทรงแม้บุรุษทั้งสองไว้ได้หรือ ดังนี้.
               พระราชาตรัสว่า หามิได้ พระคุณเจ้าผู้เจริญ เรือนั้นพึงขยับเขยื้อน พึงหวั่นไหว พึงเอียงไป พึงเพียบลง พึงกวัดแกว่ง พึงส่ายไป พึงกระจัดกระจาย พึงเข้าถึงความทรงอยู่ไม่ได้ พึงจมลงในน้ำ ดังนี้.
               พระเถระทูลว่า ขอถวายพระพร เรือนั้นพึงทรงบุรุษสองคนไม่ได้ ย่อมจมลงในน้ำ ฉันใด หมื่นโลกธาตุนี้ ทรงไว้ซึ่งพระพุทธเจ้าได้เพียงพระองค์เดียว ทรงคุณของพระตถาคตได้เพียงพระองค์เดียว ถ้าว่าพระพุทธเจ้าองค์ที่สองพึงบังเกิดขึ้น หมื่นโลกธาตุพึงทรงไว้ไม่ได้ พึงขยับเขยื้อน พึงหวั่นไหว พึงเอนลง ทรุดลง กวัดแกว่ง เรี่ยราย กระจัดกระจาย พึงเข้าถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ฉันนั้น.
               ดูก่อนมหาบพิตร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษพึงบริโภคอาหารตามต้องการ เขายังอาหารที่ชอบใจให้เต็มถึงคอ อิ่มแล้ว บริบูรณ์แล้ว ไม่มีช่องว่าง ถึงซึ่งความเป็นผู้เฉื่อยชา เป็นดังท่อนไม้โน้มไม่ลง แล้วพึงบริโภคอาหารอีกเท่านั้นนั่นแหละ ข้าแต่มหาบพิตร บุรุษนั้นพึงมีความสุขบ้างหรือดังนี้.
               พระราชาตรัสว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า หามิได้ บุรุษนั้นพึงบริโภคคราวเดียวนั่นแหละแล้วก็จะตาย ดังนี้.
               พระเถระ. ขอถวายพระพร ข้อนี้ฉันใด หมื่นโลกธาตุนี้ ก็ฉันนั้นนั่นแหละ ทรงพระพุทธเจ้าได้แต่เพียงพระองค์เดียว ทรงคุณของพระตถาคตไว้ได้เพียงพระองค์เดียว ถ้าว่าพระพุทธเจ้าองค์ที่สอง พึงบังเกิดขึ้นไซร้ หมื่นโลกธาตุนี้พึงทรงไว้ไม่ได้ พึงขยับเขยื้อน หวั่นไหว เอนลง ทรุดลง กวัดแกว่ง เรี่ยราย กระจัดกระจายและพึงเข้าถึงความตั้งอยู่ไม่ได้.
               พระราชา. พระผู้เป็นเจ้านาคเสน แผ่นดินย่อมเขยื้อน หวั่นไหว ด้วยหนักธรรมเกินไปด้วยหรือ.
               พระเถระ. ขอถวายพระพร ในข้อนี้ เกวียนสองเล่มเต็มด้วยรัตนะจนเสมอขอบ บุคคลพึงขนเอารัตนะแต่เกวียนเล่มหนึ่งใส่ในเกวียนอีกเล่มหนึ่ง ดูก่อนมหาบพิตร เกวียนเล่มนั้นพึงทรงรัตนะแห่งเกวียนแม้ทั้งสองได้หรือ.
               พระราชา. หามิได้ พระคุณเจ้า แม้ดุมของเกวียนนั้นก็พึงแยกออกไป แม้กำของเกวียนนั้นก็พึงแตกออกไป แม้กงของเกวียนนั้นก็พึงฉีกออกไป แม้เพลาของเกวียนนั้นก็พึงทำลายไป ดังนี้.
               พระเถระ. ขอถวายพระพร เกวียนย่อมถูกทำลายไป ด้วยหนักรัตนะเกินไปหรือ.
               พระราชา. อย่างนั้นแหละ พระคุณเจ้า.
               พระเถระ. ขอถวายพระพร เกวียนถูกทำลายไปด้วยการหนักรัตนะเกิน ฉันใด แผ่นดินก็ฉันนั้นนั่นแหละ ย่อมเขยื้อน หวั่นไหว ด้วยการหนักธรรมเกินไป. อีกอย่างหนึ่ง มหาบพิตร อาตมาจะชี้แจงซึ่งเหตุแม้อื่นอันเป็นการเหมาะสมในข้อนั้นอีก ขอถวายพระพร พระสัมมาสัมพุทธะทั้งสองพระองค์ ย่อมไม่เกิดขึ้นในขณะเดียวกันด้วยเหตุใด ขอมหาบพิตรจงสดับเหตุนั้นดังนี้.
               ดูก่อนมหาบพิตร ถ้าว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสองพระองค์พึงบังเกิดขึ้นในขณะเดียวกันไซร้ ความวิวาทพึงเกิดแก่บริษัท และพึงแตกแยกออกเป็นสองฝ่าย เพราะคำว่า พระพุทธเจ้าของพวกท่าน พระพุทธเจ้าของพวกเรา ดังนี้ ดูก่อนมหาบพิตร เปรียบเหมือนความวิวาท ย่อมเกิดแก่บริษัทของอำมาตย์ผู้มีกำลังทั้งสองคน ย่อมเกิดการแตกแยกว่า นี้อำมาตย์ของพวกท่าน นี้อำมาตย์ของพวกเรา ฉันใด ขอถวายพระพร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสองพระองค์ ถ้าว่า พึงบังเกิดขึ้นในขณะเดียวกัน ก็ฉันนั้นนั่นแหละ ความวิวาททั้งหลายพึงเกิดขึ้นแก่บริษัทของพระพุทธเจ้าทั้งสองพระองค์ว่า พระพุทธเจ้าของพวกท่าน พระพุทธเจ้าของพวกเรา ดังนี้ บริษัทพึงเกิดแตกแยกออกเป็นสองฝ่าย นี้เป็นเหตุที่หนึ่ง.
               พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสองพระองค์ ย่อมไม่ทรงอุบัติขึ้นในขณะเดียวกันด้วยเหตุใด ขอบรมบพิตรจงสดับซึ่งเหตุนั้นแม้อื่นอีกให้ยิ่งขึ้นไป.
               ดูก่อนมหาบพิตร ถ้าว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสองพระองค์พึงบังเกิดขึ้นในขณะเดียวกันไซร้ คำที่ว่าพระพุทธเจ้าผู้เลิศ ดังนี้ นั้นก็พึงเป็นคำผิด คำที่ว่า พระพุทธเจ้าประเสริฐสุดดังนี้ นั้นก็พึงเป็นคำผิด คำที่ว่า พระพุทธเจ้าผู้วิเศษดังนี้ นั้นก็พึงเป็นคำผิด คำที่ว่าพระพุทธเจ้าสูงสุดดังนี้ นั้นก็พึงเป็นคำผิด คำที่ว่า พระพุทธเจ้าผู้บวรดังนี้ นั้นก็พึงเป็นคำผิด คำที่ว่า พระพุทธเจ้าไม่มีใครเสมอดังนี้ นั้นก็พึงเป็นคำผิด คำที่ว่า พระพุทธเจ้าผู้เสมอด้วยบุคคลผู้ไม่มีใครเสมอดังนี้ นั้นก็ผิด คำที่ว่า พระพุทธเจ้าไม่มีใครเปรียบดังนี้ นั้นก็พึงเป็นคำผิด คำที่ว่า พระพุทธเจ้าไม่มีส่วนเปรียบดังนี้ นั้นก็พึงเป็นคำผิด.
               ดูก่อนมหาบพิตร พระองค์จงรับเหตุแม้นี้แล โดยความเป็นจริง.
               อีกอย่างหนึ่ง มหาบพิตร พระพุทธเจ้าสองพระองค์ไม่เกิดขึ้นในขณะเดียวกันด้วยเหตุใด ขอมหาบพิตรจงทราบเหตุอย่างนี้ว่า ความบังเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า ย่อมบังเกิดขึ้นในโลกเฉพาะพระองค์เดียว นี้เป็นปกติโดยสภาพของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เพราะเหตุไร เพราะความที่คุณของพระพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้แล้ว ผู้เป็นสัพพัญญู เป็นของใหญ่.
               ขอถวายพระพร แม้สิ่งอื่นใดที่เป็นของใหญ่ สิ่งนั้นก็เป็นของอันเดียวเท่านั้น ดูก่อนมหาบพิตร แผ่นดินเป็นของใหญ่ แผ่นดินนั้นก็เป็นแผ่นเดียวเท่านั้น สาครเป็นของใหญ่ สาครนั้นก็เป็นอันเดียวเท่านั้น ขุนเขาสิเนรุเป็นของใหญ่ สิเนรุนั้นก็เป็นลูกเดียวเท่านั้น อากาศเป็นของใหญ่ อากาศนั้นก็เป็นอากาศเดียวเท่านั้น ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่ ท้าวสักกะนั้นก็เป็นผู้เดียวเท่านั้น มารผู้เป็นใหญ่ มารนั้นก็ผู้เดียวเท่านั้น พรหมผู้เป็นใหญ่ มหาพรหมนั้นก็ผู้เดียวเท่านั้น พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เป็นใหญ่เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น แผ่นดินเป็นต้นย่อมไม่เกิดขึ้นในที่ใด การปรากฏของแผ่นดินเป็นต้นย่อมไม่มีในที่นั้น เพราะฉะนั้น พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น จึงบังเกิดขึ้นในโลก ดังนี้.
               พระราชา ข้าแต่ท่านนาคเสน ปัญหาพระผู้เป็นเจ้าแก้ดีแล้ว ด้วยเหตุทั้งหลายอันเป็นเครื่องอุปมา ดังนี้.

               อธิบายการบังเกิดขึ้นแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ               
               คำว่า เอกิสฺสา โลกธาตุยา ได้แก่ จักรวาลหนึ่ง. อธิบายว่า ท่านถือเอาหมื่นจักรวาล ด้วยบทว่า เอกิสฺสา โลกธาตุยา นี้เช่นนี้ในหนหลังนั่นแหละ. การกำหนดหมื่นจักรวาลแม้เหล่านั้น ด้วยจักรวาลหนึ่งนั่นแหละก็ควร. เพราะพระพุทธเจ้าทั้งหลายเมื่อบังเกิด ย่อมบังเกิดในจักรวาลนี้เท่านั้น. ก็เมื่อฐานะคือการบังเกิดขึ้นอันธรรมดาห้ามแล้ว ที่ชื่อว่าห้ามไว้แล้ว เพราะพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่ทรงบังเกิดในจักรวาลอื่นๆ นอกจากจักรวาลนี้.
               ในคำว่า อปุพฺพํ อจริมํ (แปลว่า ไม่ก่อนไม่หลัง) ได้แก่ ชื่อว่าก่อน (ปุพฺพํ) เพราะก่อนแต่กาลปรากฏของจักรรัตนะ. ชื่อว่าหลัง (จริมํ) เพราะหลังแต่จักรรัตนะนั้นนั่นแหละอันตรธานแล้ว. ในคำเหล่านั้น การอันตรธานแห่งจักรรัตนะมี ๒ คือ เพราะการสวรรคตของพระเจ้าจักรพรรดิหรือว่าการทรงบรรพชา.
               อนึ่ง จักรรัตนะนั้น เมื่อจะอันตรธาน ย่อมอันตรธานในวันที่ ๗ นับจากการสวรรคตหรือทรงบรรพชา. เบื้องหน้าจากนั้น ความปรากฏของพระเจ้าจักรพรรดิพระองค์อื่นอันธรรมดามิได้ห้ามไว้ ก็เพราะเหตุไร เพราะพระเจ้าจักรพรรดิสองพระองค์มิได้ทรงอุบัติขึ้นพร้อมกันในจักรวาลเดียวกัน เพราะทำให้เกิดความวิวาท เพราะไม่เป็นสิ่งอัศจรรย์และเพราะความมีอานุภาพมากแห่งจักรรัตนะ.
               จริงอยู่ เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิสองพระองค์บังเกิดอยู่ ความวิวาทพึงเกิดขึ้นว่า ราชาของพวกเราใหญ่ ราชาของพวกเราใหญ่ ดังนี้. อนึ่ง ความไม่เกิดอัศจรรย์พึงเกิดขึ้นว่า ในทวีปหนึ่งมีพระเจ้าจักรพรรดิและในทวีปหนึ่งโน้นก็มีพระเจ้าจักรพรรดิ ดังนี้ ก็ผู้ใดนี้สามารถเพิ่มให้จักรรัตนะ เพื่อความเป็นใหญ่ในทวีปใหญ่ทั้ง ๔ ซึ่งมีทวีปสองพันเป็นบริวาร อานุภาพใหญ่แห่งจักรรัตนะนั้น พึงเสื่อมไป เพราะเหตุนั้น พระเจ้าจักรพรรดิสองพระองค์จึงชื่อว่าจึงไม่เกิดขึ้นในจักรวาลเดียวกัน เพราะเข้าไปตัดความวิวาท เพราะความไม่อัศจรรย์ และเพราะความมีอานุภาพมาก (มีมากแห่ง) ของจักรรัตนะ.

               อธิบายหญิงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้นไม่ได้               
               ในข้อว่า ยํ อิตฺถี อรหํ อสฺส สมฺมาสมฺพุทฺโธ (แปลว่า หญิงจะพึงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า) นี้ อธิบายว่า ความเป็นพระพุทธเจ้าผู้สามารถข้ามโลกเพราะยังคุณคือสัพพัญญูให้เกิดขึ้นนั้น จงยกไว้ก่อน แม้เหตุสักว่าการตั้งปณิธาน (การตั้งความปรารถนา) ก็ย่อมไม่สำเร็จแก่หญิง.
                         มนุสฺสตฺตํ ลิงฺคสมฺปตฺติ  เหตุ สตฺถารทสฺสนํ
                         ปพฺพชฺชา คุณสมฺปตฺติ  อธิกาโร จ ฉนฺทตา
                         อฏฺฐธมฺมสโมธานา     อภินีหาโร สมิชฺฌติ
               แปลว่า
               จริงอยู่ เหตุอันเป็นปณิธานสมบัติเหล่านี้ คือ อภินีหาร (ความปรารถนาตั้งใจจริง) ย่อมสำเร็จพร้อมเพราะธรรมสโมธาน (การประชุมแห่งธรรม) ๘ ประการ คือ
               ๑. มนุสฺสตฺตํ (เมื่อตั้งความปรารถนา ต้องเป็นมนุษย์)
               ๒. ลิงฺคสมฺปตฺติ (ลิงคสมบัติคือเป็นเพศชาย)
               ๓. เหตุ (มีเหตุคือสร้างกุศลมาก สมควรจะเป็นพระอรหันต์ได้)
               ๔. สตฺถารทสฺสนํ (พบพระพุทธเจ้าและได้รับพยากรณ์)
               ๕. ปพฺพชฺชา (บวชเป็นภิกษุ สามเณรหรือฤๅษีผู้เป็นกัมมวาที)
               ๖. คุณสมปตฺติ (บริบูรณ์ด้วยคุณคือฌานสมาบัติและอภิญญา)
               ๗. อธิกาโร (การกระทำกุศลอันยิ่งใหญ่)
               ๘. ฉนฺทตา (พอใจในโพธิญาณ)
               ความตั้งปณิธานปรารถนาเพื่อให้ถึงความเป็นพระสัมพุทธเจ้าได้ด้วยอาการอย่างนี้ ความเป็นพระพุทธเจ้าของหญิงผู้ไม่สามารถจักมีแต่ที่ไหน เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ข้อที่หญิงจะพึงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรมเครื่องอาศัยคือบุญ ย่อมบริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง ย่อมยังอัตภาพอันเต็มด้วยอาการทั้งปวงนั่นแหละให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น บุรุษเท่านั้นย่อมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ มิใช่หญิง.
               แม้ในข้อว่า ยํ อิตฺถี ราชา อสฺส จกฺกวตฺติ (แปลว่า ข้อที่ว่าหญิงจะพึงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ) เป็นต้น อธิบายว่า ลักษณะทั้งหลาย (มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ) ของหญิง ชื่อว่าย่อมไม่บริบูรณ์ เพราะความไม่มีซึ่งลักษณะทั้งหลาย มีคุยหะซ่อนลับอยู่ในฝัก ดุจคุยหะแห่งโคและช้างเป็นต้นและชื่อว่าเป็นผู้ไม่พรั่งพร้อมด้วยรัตนะ ๗ เพราะความไม่มีอิตถีรัตนะ (นางแก้ว).
               อนึ่ง อัตภาพอันยิ่งกว่ามนุษย์ทั้งปวงก็ไม่มี เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ข้อที่หญิงจะพึงเป็นพระเจ้าจักรพรรดินั้น ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส ดังนี้. แม้ความเป็นท้าวสักกะเป็นต้น (พระอินทร์ พระยามาร มหาพรหม) ทั้ง ๓ เป็นตำแหน่งสูง แต่เพศหญิงเป็นเพศต่ำ เหตุใด เพราะฉะนั้น แม้ความที่หญิงนั้นจะพึงเป็นท้าวสักกะเป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงปฏิเสธแล้ว.
               ถามว่า เพศหญิงไม่มีในพรหมโลก ฉันใด แม้เพศชายก็ฉันนั้น มิใช่หรือ เพราะฉะนั้น บุรุษพึงทำความเป็นพรหมด้วยเหตุใด เหตุนั้นก็ไม่พึงกล่าวว่า แม้ฐานะนั้น (คือเพศชาย) มีอยู่ ดังนี้.
               ตอบว่า ไม่พึงกล่าว หามิได้.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะความที่บุรุษในโลกนี้ บังเกิดขึ้นในพรหมโลกนั้นมีอยู่.
               จริงอยู่ ความบังเกิดเป็นมหาพรหม พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์เอาในคำว่า พฺรหฺมตฺตํ (แปลว่า ความเป็นพรหม). ส่วนหญิงเจริญฌานในโลกนี้ ทำกาละแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของพรหมปาริสัชชาทั้งหลาย (หมายถึงพรหมผู้เป็นบริษัทของมหาพรหม) มิใช่บังเกิดเป็นมหาพรหม. แต่บุรุษไม่พึงกล่าวว่าย่อมไม่บังเกิดในพรหมปาริสัชชานั้น. ครั้นเมื่อความเป็นแห่งเพศทั้งสองแม้มีอยู่ในพรหมโลกนั้น หญิงนั้นก็ชื่อว่าเป็นพรหมเพราะตั้งอยู่ในความเป็นบุรุษ มิใช่ตั้งอยู่ในความเป็นหญิง เพราะฉะนั้น คำนั้นจึงเป็นคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้วนั่นแหละ.

               อธิบายกายทุจจริตเป็นต้นไม่เกิดผลน่าปรารถนาเป็นต้น               
               พึงทราบในคำว่า กายทุจฺจริตสฺส เป็นต้น พืชทั้งหลายมีพืชแห่งไม้สะเดาและบวบขมเป็นต้น ย่อมไม่ให้เกิดผลมีความหวาน ย่อมให้บังเกิดผลอันไม่ชอบใจ อันไม่มีรสหวานนั่นแหละ ฉันใด กายทุจจริตเป็นต้นก็ฉันนั้น ย่อมไม่ให้บังเกิดวิบากอันน่าปรารถนา ย่อมบังเกิดวิบากอันไม่น่าชอบใจ. เหมือนอย่างว่า พืชแห่งต้นอ้อยและพืชแห่งข้าวสาลี ย่อมยังผลอันน่าชอบใจ อันมีรสอันดีเท่านั้น ย่อมไม่ยังผลอันไม่น่ายินดีอันขมขื่นให้เกิดขึ้น ฉันใด กายสุจริตเป็นต้นย่อมให้วิบากอันน่าปรารถนา น่าชอบใจให้เกิดขึ้น ย่อมไม่ยังวิบากอันไม่น่าปรารถนาให้เกิดขึ้น ฉันนั้น.
               สมจริงดังที่ได้ตรัสไว้ว่า
                         ยาทิสํ วปเต พีชํ      ตาทิสํ หรเต ผลํ
                         กลฺยาณการี กลฺยาณํ  ปาปการี จ ปาปกํ๑-
               แปลว่า
               บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น ผู้ทำดีย่อมได้ดี ผู้ทำชั่วย่อมได้ชั่ว.
               เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ข้อที่กายทุจจริตเป็นต้นจะพึงให้ผลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจนั้น ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส ดังนี้ เป็นต้น.
____________________________
๑- ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๒๙๔

               อธิบายบุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยกายทุจจริตเป็นต้น               
               คำว่า บุคคลผู้พรั่งพร้อม ในคำว่า ผู้พรั่งพร้อมด้วยกายทุจจริตเป็นต้น ได้แก่ความพรั่งพร้อม ๕ อย่าง คือ
               อายูหนสมงฺคิตา (ความพรั่งพร้อม ด้วยกรรมเป็นเครื่องประมวลมา)
               เจตนาสมงฺคิตา (ความพรั่งพร้อม ด้วยเจตนา)
               กมฺมสมงฺคิตา (ความพรั่งพร้อม ด้วยกรรม)
               วิปากสมงฺคิตา (ความพรั่งพร้อม ด้วยวิบาก)
               อุปฏฺฐานสมงฺคิตา (ความพรั่งพร้อม ด้วยการปรากฏ)
               ในความพรั่งพร้อมเหล่านั้น ในขณะแห่งการประมวลมาซึ่งกุศลกรรมและอกุศลกรรม เรียกว่าอายูหนสมังคิตา. เจตนาสมังคิตาก็เหมือนกัน. ก็สัตว์แม้ทั้งหมดยังไม่บรรลุพระอรหัตตราบใด ตราบนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า ผู้มีความพรั่งพร้อมด้วยกรรม เพราะหมายเอากรรมอันเหมาะสมกับวิบากที่สั่งสมไว้ในก่อน ฉะนั้นข้อนี้จึงชื่อว่ากัมมสมังคิตา. แต่วิปากสมังคิตา พึงทราบในขณะแห่งการให้ผล.
               ก็ตราบใดสัตว์ทั้งหลายยังไม่บรรลุพระอรหัต นิมิตแห่งการเกิดขึ้นย่อมปรากฏอย่างนี้คือ เมื่อสัตว์เหล่านั้นท่องเที่ยวไปแต่ที่นั้นๆ เมื่อจะเข้าถึงนรกก่อน นรกย่อมปรากฏโดยอาการอันตั้งขึ้นมีเปลวไฟในโลหกุมภีเป็นต้น เมื่อสัตว์ทั้งหลายจะเข้าถึงความเป็นคัพภเสยยกะ (เกิดในครรภ์) ท้องของมารดาย่อมปรากฏ เมื่อจะบังเกิดในเทวโลก เทวโลกย่อมปรากฏ โดยอาการทั้งหลายมีต้นกัลปพฤกษ์ (ต้นไม้ที่ตั้งอยู่ตลอดกัป) และวิมานเป็นต้นดังนี้ ด้วยอาการอย่างนี้ ชื่อว่าอุปัฏฐานสมังคิตา เพราะความที่สัตว์เหล่านั้นไม่พ้นไปจากการปรากฏแห่งนิมิตแห่งการเกิด ดังกล่าวมานี้.
               อุปัฏฐานสมังคิตานั้นแล ย่อมเคลื่อน (ไม่คงที่) ที่เหลือไม่เคลื่อน.
               จริงอยู่ เมื่อนรกแม้ปรากฏแล้ว เทวโลกย่อมปรากฏก็ได้. เมื่อเทวโลกแม้ปรากฏแล้ว นรกย่อมปรากฏก็ได้. เมื่อมนุษยโลกแม้ปรากฏแล้ว กำเนิดสัตว์เดรัจฉานย่อมปรากฏก็ได้ และเมื่อกำเนิดแห่งสัตว์เดรัจฉานแม้ปรากฏแล้ว มนุษยโลกย่อมปรากฏก็ได้ เป็นไปได้ทั้งนั้น ในข้อนี้มีเรื่องเป็นอุทาหรณ์ดังนี้.
               ได้ยินว่า ที่เชิงเขาโสณะ มีพระธรรมกถึกองค์หนึ่งชื่อว่าโสณเถระ อยู่ในปิปผลิวิหาร บิดาของท่านเป็นนายพราน ชื่อว่าสุนักขวาชิกะ พระเถระ แม้ห้ามบิดาอยู่อย่างไรๆ ก็ไม่อาจเพื่อให้ตั้งอยู่ในความสังวร จึงคิดว่า บิดาผู้น่าสงสาร จงอย่าฉิบหายเสียเลย ดังนี้ จึงให้บิดาผู้ไม่ประสงค์จะบวช ได้บวชแล้วในเวลาเป็นคนแก่ เมื่อบิดานอนในที่นอนของคนป่วย (หมายถึงกำลังป่วย) นรกได้ปรากฏแล้ว (อารมณ์ของนรก) คือมีพวกสุนัขใหญ่ๆ มาแต่เชิงเขาโสณะแล้วก็แวดล้อม ราวกะต้องการจะเคี้ยวกิน บิดาของพระเถระกลัวต่อภัยอันใหญ่ จึงเรียกพระเถระว่า พ่อโสณะ จงห้าม พ่อโสณะ จงห้ามดังนี้. พระเถระจึงถามว่า อะไรกัน. บิดาของท่านจึงกล่าวว่า พ่อไม่เห็นหรือ แล้วบอกเหตุเป็นไปนั้น.
               พระเถระดำริว่า บิดาของผู้เช่นกับเรา ขึ้นชื่อว่าจักเกิดในนรกได้อย่างไร เราจักเป็นที่พึ่งให้แก่บิดา ดังนี้ แล้วให้สามเณรทั้งหลายนำดอกไม้ต่างๆ มาให้แล้วกระทำซึ่งการบูชา โปรยด้วยดอกไม้และบูชาที่บนตั่ง ที่ลานพระเจดีย์และที่ลานโพธิ์ทั้งหลาย แล้วนำบิดามาสู่ลานของพระเจดีย์ด้วยเตียง (หามมาด้วยเตียง) ให้นอนบนเตียงแล้วกล่าวกะบิดาว่า ข้าแต่มหาเถระ การบูชาของข้าพเจ้านี้ ทำเพื่อประโยชน์แก่ท่าน ท่านจงกล่าวว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า นี้เป็นบรรณาการของข้าพเจ้าผู้ทุคคตะ ดังนี้ แล้วจงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า (พระเจดีย์) แล้วกล่าวว่า ขอจงยังจิตให้เสื่อมใส ดังนี้.
               มหาเถระ (บิดา) นั้นเห็นการบูชา เมื่อจะกระทำอย่างนั้น ยังจิตให้เลื่อมใสแล้ว ขณะนั้นนั่นแหละ เทวโลกปรากฏแล้ว (กรรมนิมิตอารมณ์) แก่มหาเถระนั้น คือนันทวัน จิตรลดา มิสสกวัน ปารุสกวัน วิมานและการฟ้อนรำของเทพอัปสรทั้งหลาย ได้มีแล้วเป็นราวกะมายืนแวดล้อม มหาเถระนั้นจึงกล่าวว่า โสณะ (พระเถระลูกชาย) จงหลีกไป โสณะ จงหลีกไป ดังนี้. พระเถระกล่าวว่า นี้อะไร มหาเถระ. มหาเถระกล่าวว่า หญิงเหล่านี้จะมาเป็นมารดาของท่าน ดังนี้. พระเถระคิดว่า สวรรค์ปรากฏขึ้นแก่มหาเถระแล้ว ดังนี้.
               บัณฑิต พึงทราบว่า อุปัฏฐานสมิงคิตา ย่อมไม่คงที่ด้วยประการฉะนี้.
               ในบรรดาความพรั่งพร้อม (สมังคิตา) เหล่านั้น คำว่า ความ พรั่งพร้อมด้วยกายทุจจริตเป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วในที่นี้ ด้วยสามารถแห่งความพรั่งพร้อมด้วยอายูหนะ เจตนาและกรรม ดังนี้.
               คำที่เหลือในที่ทั้งปวงมีอรรถตื้นทั้งนั้น แล.

               อธิบายกำลังที่ ๑ ของพระตถาคต จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา วิภังคปกรณ์ ญาณวิภังค์ ฉักกนิเทศ-ทสกนิเทศ
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 801อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 835อ่านอรรถกถา 35 / 849อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=35&A=11353&Z=11721
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=54&A=10653
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=54&A=10653
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :