ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 36.2 / 1อ่านอรรถกถา 36.2 / 104อรรถกถา เล่มที่ 36.2 ข้อ 141อ่านอรรถกถา 36.2 / 147อ่านอรรถกถา 36.2 / 152
อรรถกถา ปุคคลบัญญัติปกรณ์
บุคคลบัญญัติ ปัญจกนิทเทส

               อรรถกถาปัญจกนิทเทส               
               อธิบายบุคคล ๕ จำพวก               
               บทว่า "ตตฺร" ได้แก่ บุคคลที่ท่านยกขึ้นแสดงไว้ในหนหลัง โดยนัยเป็นต้นว่า "อารมฺภติ จ วิปฺปฏิสารี จ โหติ" เหล่านั้น.
               บทว่า "ยฺวายํ" ตัดบทเป็น โย อยํ.
               อารัมภะศัพท์ ในคำว่า "อารมฺภติ" นี้ ย่อมเป็นไปในอรรถว่ากรรม คือการกระทำ ๑ ในกิริยา คือกิจ ๑ ในหิงสนะ คือการเบียดเบียน ๑ ในอาปัตติวีติกกมะ คือการล่วงอาบัติ ๑
               จริงอย่างนั้น อารัมภะศัพท์นี้มาในอรรถว่า กรรม ในคำว่า "ยํกิญฺจิ ทุกฺขํ สมฺโภติ สพฺพํ อารมฺปจฺยา" แปลว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์ทั้งหมดมีกรรมเป็นปัจจัย.
               อารัมภะศัพท์นี้มาในอรรถว่ากิริยา ในคำว่า "มหายญฺญา มหารมฺภา น เต โหนฺติ มหปฺผลา" แปลว่า ยัญใหญ่ เป็นกิริยาที่ใหญ่ แต่ยัญเหล่านั้นไม่มีผลมาก.
               อารัมภะศัพท์นี้มาในอรรถว่าหิงสนะ คือการเบียดเบียน ในคำนี้ว่า "สมณํ โคตมํ อุทฺทิสฺส ปาณํ อารมฺภติ" แปลว่า ย่อมฆ่าสัตว์ อุทิศเจาะจงต่อพระสมณโคดม.
               อารัมภะศัพท์นี้มาในอรรถว่าวิริยะ คือความเพียร ในคำนี้ว่า "อารมฺภถ นิกฺกมถยุญฺชถ พุทฺธสาสเน" แปลว่า ท่านทั้งหลายจงปรารภความเพียร จงบากบั่น จงประกอบธุระในพระพุทธศาสนา.
               อารัมภะศัพท์นี้มาในอรรถว่าวิโกปนะ คือการพรากทำลาย ในคำนี้ว่า "พีชคามภูตคามสมารมฺภา ปฏิวิรโต โหติ" แปลว่า ภิกษุเว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม.
               อารัมภะศัพท์นี้มาในอรรถว่าอาปัตติวีติกกมะ คือการล่วงอาบัติของภิกษุ ในคำนี้ว่า "อารมฺภติ วิปฺปฏิสารี โหติ" แปลว่า ภิกษุต้องอาบัติย่อมเป็นผู้เดือดร้อน. เพราะฉะนั้น จึงมีเนื้อความในที่นี้ว่า ภิกษุย่อมต้องอาบัติด้วยสามารถแห่งการล่วงอาบัติด้วย และย่อมเป็นผู้เดือดร้อน เพราะการต้องอาบัตินั้นเป็นปัจจัยด้วย ดังนี้.
               บทว่า "เจโตวิมุตฺตึ" ได้แก่ ผลสมาธิ. บทว่า "ปญฺญาวิมุตฺตึ" ได้แก่ ผลญาณ. ข้อว่า "ยถาภูตํ นปฺปชานาติ" ได้แก่ ย่อมไม่รู้ตามความเป็นจริง เพราะความที่ตนเป็นผู้ยังไม่บรรลุคุณวิเศษ.
               บทว่า "ยตฺถสฺส" ตัดบทเป็น ยตฺถ อสฺส แปลว่า ของบุคคลนั้นมีอยู่ ในที่ใด. อธิบายว่า อกุศลธรรมอันลามก อันเกิดขึ้นแล้วแก่บุคคลนี้ ย่อมดับไปโดยไม่เหลือ เพราะถึงฐานะใด.
               ถามว่า ก็อกุศลธรรมเหล่านั้นถึงฐานะอะไรแล้ว จึงดับไปโดยไม่เหลือ.
               ตอบว่า ถึงฐานะคือพระอรหัตมรรค จึงดับไปโดยไม่เหลือ.
               ก็อกุศลธรรมอันลามกของท่านผู้บรรลุพระอรหัตผลแล้ว ชื่อว่าดับไปแล้วโดยไม่เหลือ แม้เมื่อความเป็นอย่างนั้นมีอยู่ ผลจิตเท่านั้น พึงทราบว่า ท่านกล่าวแล้วด้วยอำนาจแห่งมรรคในที่นี้.
               บทว่า "อารมฺภชา" ได้แก่ เกิดจากการล่วงอาบัติ.
               บทว่า "วิปฺปฏิสารชา" ได้แก่ เกิดจากความเดือดร้อน.
               บทว่า "ปวฑฺฒนฺติ" ได้แก่ อาสวะทั้งหลาย ย่อมเจริญด้วยการเกิดขึ้นบ่อยๆ.
               บทว่า "สาธุ" ได้แก่ ความดีที่เกิดจากการขอร้อง.
               มีคำอธิบายที่ท่านกล่าวไว้ดังนี้ว่า ท่านผู้มีอายุ ก็กรรมอันพลั้งพลาดมีอยู่เพียงไรหนอ แม้เมื่อความเป็นอย่างนั้นมีอยู่ ข้าพเจ้าขอวิงวอนท่านผู้มีอายุ ขอท่านผู้มีอายุจงละอาสวะที่เกิดจากการต้องอาบัติ ด้วยการแสดงอาบัติของภิกษุผู้ควรแสดง ด้วยการออกจากอาบัติของภิกษุผู้ควรออกจากอาบัติ ด้วยการกระทำให้แจ้งซึ่งอาบัติของภิกษุผู้ควรกระทำให้แจ้ง แล้วบรรเทาซึ่งอาสวะทั้งหลายอันเกิดจากความเดือดร้อน ด้วยการพิจารณาถึงภาวะที่ตนตั้งอยู่ในส่วนแห่งความบริสุทธิ์ แล้วจงนำอาสวะทั้งหลายออก แล้วจงยังวิปัสสนาจิตและวิปัสสนาปัญญาให้เจริญเถิด.
               ข้อว่า "อมุนาปญฺจเมน ปุคฺคเลน" ได้แก่ บุคคลผู้เป็นพระขีณาสพเป็นที่ ๕ นั้น.
               สองบทว่า "สมสโม ภวิสฺสติ" อธิบายว่า ผู้อันพระขีณาสพพึงโอวาทอย่างนี้ว่า "จักเป็นผู้เสมอ ด้วยความเป็นผู้เสมอกันด้วยโลกุตตรคุณ นั่นแหละ."
               ข้อว่า "อารมฺภติ น วิปฺปฏิสารี โหติ" ได้แก่ ภิกษุผู้ต้องอาบัติ. ก็เพื่อจะแสดงอาบัตินั้นจึงแสวงหาภิกษุผู้ชอบพอกัน เพราะฉะนั้น เธอจึงไม่เป็นผู้เดือดร้อน.
               ท่านอรรถกถาจารย์ได้กล่าวคำอธิบายไว้ในคัมภีร์อรรถกถาอังคุตตรนิกายว่า "เธอย่อมเป็นผู้ไม่เดือดร้อนเพราะออกจากอาบัติได้แล้ว".
               ข้อว่า "นารมฺภติ วิปฺปฏิสารี โหติ" ได้แก่ ภิกษุผู้ไม่ต้องอาบัติ แต่เพราะเธอเป็นผู้ไม่ฉลาดในวินัยบัญญัติ เป็นผู้มีความสำคัญอนาบัติว่าเป็นอาบัติ จึงมีความวิปปฏิสาร คือเดือดร้อน.
               แต่ในอังคุตตรนิกายอรรถกถา อธิบายว่า ภิกษุต้องอาบัติครั้งเดียว ออกจากอาบัตินั้นแล้วภายหลังไม่ต้องอาบัติแม้ไรๆ อีกก็จริง ถึงอย่างนั้น เธอก็ไม่อาจเพื่อจะพ้นจากความวิปปฏิสารได้.
               ข้อว่า "น อารมฺภติ น วิปฺปฏิสารี โหติ" ความว่า ทั้งไม่ต้องอาบัติ ทั้งไม่เดือดร้อน.
               ถามว่า ก็บุคคลผู้ไม่ต้องอาบัติ และไม่เดือดร้อนนั้นเป็นไฉน.
               ตอบว่า บุคคลผู้มีความเพียรอันสละแล้ว.
               อธิบายว่า ก็บุคคลผู้มีความเพียรอันสละแล้วนั้น แม้เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ย่อมไม่บำเพ็ญข้อปฏิบัติด้วยการคิดว่า ประโยชน์อะไรของเราด้วยการปรินิพพานในพุทธกาลนี้ เราจักปรินิพพานในสมัยแห่งพระเมตเตยยสัมมาสัมพุทธเจ้า ในอนาคตกาล. แม้เธออันใครๆ พึงโอวาทว่า "ผู้มีอายุเป็นผู้ประมาทอยู่เพื่อประโยชน์อะไร ขึ้นชื่อว่าคติของปุถุชนเป็นของไม่แน่นอน ท่านผู้มีอายุ ก็ใครเล่าจะรู้ว่า บุคคลพึงได้หรือไม่ได้ซึ่งความเป็นผู้มีหน้าเฉพาะต่อพระเมตเตยยสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ท่านจงเจริญวิปัสนา เพื่อต้องการแก่พระอรหัตเถิด.
               คำที่เหลือ บัณฑิตพึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในบททั้งปวงนั้นแหละ.

               อรรถกถาบุคคลให้แล้วดูหมิ่นเป็นต้น               
               ภิกษุรูปหนึ่งมีบุญมาก ย่อมเป็นผู้มีปกติได้ปัจจัย ๔ เธอได้ปัจจัย ๔ มีจีวรเป็นต้นแล้วย่อมถามโดยเอื้อเฟื้อกะภิกษุรูปอื่นผู้มีบุญน้อย เธอนั้นเมื่อภิกษุผู้มีบุญมากถามอยู่บ่อยๆ จึงรับเอาปัจจัยทั้งหลายมีจีวรเป็นต้นไป ทีนั้น ภิกษุผู้มีบุญมากโกรธภิกษุผู้มีบุญน้อยนั้นหน่อยหนึ่ง ประสงค์จะให้เธอเกิดความเก้อเขิน จึงกล่าวว่า ภิกษุนี้ไม่ได้ปัจจัยทั้งหลายมีจีวรเป็นต้นตามธรรมดาของตน เพราะอาศัยเราจึงได้. บุคคลนี้จึงชื่อว่าให้แล้วดูหมิ่น.
               ก็บุคคลคนหนึ่งเมื่ออาศัยอยู่กับบุคคลคนหนึ่ง ๒-๓ ปี เขากระทำความเคารพในบุคคลนั้นอยู่แต่กาลก่อน ต่อมาภายหลังเมื่อเวลาผ่านไปๆ ไม่กระทำความเคารพยำเกรง คือไม่ลุกขึ้นจากอาสนะบ้าง ไม่ไปสู่ที่บำรุงบ้าง บุคคลนี้ชื่อว่าย่อมดูหมิ่นด้วยการอยู่ร่วม.
               บทว่า "อาเธยฺยมุโข" ได้แก่ ผู้เชื่อง่ายแต่ต้น.
               อธิบายว่า ผู้มีความสำคัญอันตั้งไว้แล้วในคำแรกเท่านั้น.
               สองบทว่า "อธิมุจฺจิตา โหติ" ได้แก่ ความเป็นผู้มีศรัทธา.
               ในคำว่า "อธิมุจฺจิตา โหติ" นี้มีนัยดังต่อไปนี้
               บุคคลคนหนึ่งกล่าวถึงภิกษุผู้มีสมณสารูปนั่นแหละว่า "ภิกษุนี้ไม่มีสมณสารูป" ผู้นั้นครั้นฟังคำนั้นแล้วเชื่ออย่างมั่นคง คือเชื่อถึงที่สุด แม้ภิกษุผู้ชอบพอกันรูปอื่นกล่าวว่า "ภิกษุนี้มีสมณสารูป" ก็ไม่เชื่อฟังคำของภิกษุนั้นเลย เขากล่าวยืนยันว่าภิกษุรูปโน้นบอกข้าพเจ้าว่า "ภิกษุรูปนี้ไม่มีสมณสารูป จึงเชื่อถ้อยคำของภิกษุรูปก่อนเท่านั้น. แม้บุคคลอื่นอีก ย่อมกล่าวถึงภิกษุผู้มีศีลว่าเป็นผู้ไม่มีศีล เธอเชื่อคำของผู้นั้นแล้ว แม้ภิกษุอื่นอีกกล่าวว่า "ภิกษุนี้ไม่มีสมณสารูป ไม่ควรเข้าไปสู่สำนักของท่าน" ดังนี้ เธอไม่เชื่อถือคำของผู้นั้น ย่อมเชื่อฟังถ้อยคำของภิกษุรูปก่อนเท่านั้น. บุคคลอื่นอีก ย่อมยึดถือถ้อยคำที่ผู้อื่นกล่าวถึงความดีบ้างความชั่วบ้างนั่นแหละ บุคคลแม้นี้ชื่อว่า ผู้มีความเชื่อถืออันตั้งไว้.
               อธิบายว่า ผู้มีความเชื่ออันตั้งไว้นี้ ฟังคำใดๆ ย่อมเป็นผู้มีความเชื่อถืออันตั้งไว้ในคำนั้นๆ.
               บทว่า "โลโล" ความว่า ชื่อว่า เป็นผู้โลเล คือผู้หวั่นไหว เพราะความที่ตนเป็นผู้หวั่นไหวด้วยความเป็นผู้ไม่มีศรัทธาเป็นต้น เพราะเหตุที่ศรัทธาเป็นต้นเป็นธรรมชาติตั้งอยู่ชั่วกาลนิดหน่อย.
               บทว่า "อิตฺตรสทฺโท" ได้แก่ ผู้มีศรัทธาน้อย คือมีศรัทธาไม่บริบูรณ์.
               แม้ในคำที่เหลือ ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บุคคลผู้มีศรัทธาอันไม่จริงจังนี้ ย่อมเป็นไปด้วยสามารถแห่งการคบบ่อยๆ ในอธิการนี้.
               ชื่อว่าความรัก จะเป็นความรักที่เกิดจากศรัทธาก็ดี จะเป็นความรักอันเกิดจากตัณหาก็ดี ก็ควร. ความเลื่อมใส ก็คือความเลื่อมใสที่เกิดจากศรัทธานั่นแหละ.
               ข้อว่า "เอวํ ปุคฺคโล โลโล โหติ" ความว่า บุคคลนี้ชื่อว่าผู้โลเล เพราะความที่ตนเป็นผู้มีศรัทธานิดหน่อยเป็นต้น. อธิบายว่า บุคคลผู้โลเลนี้ เป็นผู้มีฐานะอันไม่ตั้งมั่น ดุจผ้าที่ย้อมด้วยขมิ้น ดุจหลักที่ปักไว้ในกองแกลบ ดุจลูกฟักที่เขาวางไว้บนหลังม้า เขาย่อมเลื่อมใสโดยกาลครู่หนึ่ง ย่อมโกรธโดยกาลครู่หนึ่ง หมายความว่าประเดี๋ยวรักประเดี๋ยวชัง.
               ข้อว่า "มนฺโท โมมูโห" ความว่า บุคคลชื่อว่าโง่ เพราะไม่มีญาณ (อญาณํ)
               ชื่อว่า งมงาย เพราะความเป็นผู้ไม่ฉลาด. อธิบายว่า ผู้หลงใหลมาก.

               อรรถกถาบุคคลผู้เปรียบด้วยนักรบอาชีพ ๕ จำพวก               
               วินิจฉัยในบุคคลผู้เปรียบด้วยนักรบอาชีพ.
               บทว่า "โยธาชีวา" ได้แก่ บุคคลผู้เข้าไปอาศัยการรบเลี้ยงชีพเป็นอยู่.
               บทว่า "รชคฺคํ" ได้แก่ กองธุลีที่ฟุ้งขึ้นจากแผ่นดินที่ช้างม้าเป็นต้นเหยียบย่ำ.
               บทว่า "น สนฺถมฺภติ" ได้แก่ ครั้นกระด้างแล้วย่อมไม่อาจเพื่อจะตั้งมั่นได้.
               สองบทว่า "สหติ รชคฺคํ" ความว่า นักรบบางพวกแม้เห็นกองธุลีที่ฟุ้งขึ้นไปจากแผ่นดินที่ช้างม้าเป็นต้น เหยียบย่ำ ยังอดทนได้.
               บทว่า "ธชคฺคํ" ได้แก่ ยอดธงทั้งหลายที่เขายกขึ้นบนหลังช้าง ม้าหรือบนรถ.
               บทว่า "อุสฺสาทนํ" ได้แก่ เสียงสูงเสียงใหญ่ของช้างม้ารถและพลนิกาย.
               บทว่า "สมฺปหาเร" ได้แก่ ครั้นเมื่อการประหารแม้มีประมาณน้อยที่มาถึงแล้ว.
               บทว่า "หญฺญติ" ได้แก่ ย่อมเดือดร้อน คือถึงความระส่ำระสาย.
               บทว่า "พฺยาปชฺชติ" ได้แก่ ย่อมถึงความวิบัติ คือย่อมละปกติภาพ.
               สองบทว่า "สหติ สมฺปหารํ" ความว่า นักรบอาชีพนั้นแม้ถูกประหารสองสามครั้ง ยังอดทน คือยังทนได้.
               สองบทว่า "ตเมว สงฺคามสีสํ" ได้แก่ ที่นั้นนั่นแหละเป็นที่ตั้งค่ายรบอันมีชัย.
               บทว่า "อชฺฌาวสติ" ได้แก่ ย่อมอยู่ครอบครองประมาณ ๗ วัน.
               ถามว่า เพราะเหตุไร? แก้ว่า เพื่อต้องการรักษาเขตประหารของชนที่ได้ประหารไปแล้ว เพื่อทราบความต่างกันของกรรมที่ชนกระทำแล้วจึงให้ฐานันดร และเพื่อต้องการเสวยความสุข คือความเป็นใหญ่. บัดนี้ กิจด้วยความเป็นนักรบอาชีพของพระศาสดาไม่มี แต่เพื่อจะแสดงบุคคล ๕ จำพวกในพระศาสนานี้ พระองค์จึงตรัสคำว่า "เอวเมวํ" เป็นต้นมา.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า "สํสีทติ" ได้แก่ จมอยู่ คือย่อมตกไปในมิจฉาวิตก.
               ข้อว่า "น สกฺโก พฺรหฺมจริยํ สนฺตาเนตุํ" ความว่า ย่อมไม่อาจเพื่อรักษาการประพฤติพรหมจรรย์อันไม่ขาดสายได้.
               สองบทว่า "สิกฺขาทุพฺพลยํ อาวิกตฺวา" ได้แก่ ประกาศความที่สิกขาเป็นสภาพมีกำลังทราม.
               ข้อว่า "กิมสฺส รชคฺคสฺมึ" ความว่า ท่านกล่าวว่า ชื่อว่าปลายธุลีของบุคคลนั้น เป็นอย่างไร?
               บทว่า "อภิรูปา" แปลว่า รูปงาม. บทว่า "ทสฺสนียา" ได้แก่ ควรจะดู.
               บทว่า "ปาสาทิกา" ได้แก่ นำความเลื่อมใสมาสู่จิตด้วยการเห็นนั่นแหละ.
               บทว่า "ปรมาย" ได้แก่ สูงที่สุด.
               บทว่า "วณฺณโปกฺขรตาย" ได้แก่ ด้วยวรรณแห่งสรีระและสัณฐานแห่งอวัยวะ.
               บทว่า "โอสหติ"๑- ได้แก่ ย่อมอดทน. บทว่า "อุลฺลปติ" แปลว่า ย่อมกล่าว.
               บทว่า "อุชฺชคฺฆติ" ได้แก่ ตบมือแล้วหัวเราะใหญ่.
               บทว่า "อุปฺผณฺเฑติ" ได้แก่ ย่อมกล่าวคำเยาะเย้ย.
               บทว่า "อภินิสีทติ" ได้แก่ ผู้ชนะแล้วนั่งในสำนักหรือในอาศรมเดียวกัน.
               แม้ในบทที่ ๒ ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า "อชฺโฌตฺถรติ" ได้แก่ ย่อมปูลาด.
               สองบทว่า "วินิเวเธตฺวา๒- วินิโมเจตฺวา" ได้แก่ เปลี่ยนแปลง ปลดและเปลื้องมือของเขาจากที่อันมาตุคามจับแล้ว.
               คำที่เหลือในที่นี้ มีอรรถตื้นทั้งนั้น.
____________________________
๑- บาลีว่า อูสหติ.
๒- วินิเวเฐตฺวา.

               อรรถกถาบุคคลผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ๕ จำพวก               
               วินิจฉัยในภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร คือผู้ถือการฉันภัตตาหารที่ได้มาจากการบิณฑบาต.
               สองบทว่า "มนฺทตฺตา โมมูหตฺตา" ได้แก่ ย่อมไม่รู้จักการสมาทานและไม่รู้จักอานิสงส์. อธิบายว่า ก็ภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตรด้วยความไม่รู้นั่นแหละ เพราะความที่เป็นคนโง่งมงาย.
               สองบทว่า "ปาปิจฺโฉ อิจฺฉาปกโต" ความว่า ชนทั้งหลายจะทำการสักการะด้วยปัจจัย ๔ แก่เราผู้ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร ด้วยการคิดว่า "สโต อยํ ปิณฺฑปาติโก" ซึ่งแปลว่า ภิกษุนี้มีสติ เป็นผู้ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร.
               ภิกษุผู้ดำรงชีพอยู่ด้วยความอยากอันลามกอย่างนี้ว่า ก็ชนทั้งหลายจะยกย่องเราด้วยคุณทั้งหลายว่า ภิกษุนี้เป็นผู้มีความละอาย มีความปรารถนาน้อยเป็นต้น และถูกความปรารถนาอันลามกนั้นครอบงำแล้ว จึงถือบิณฑบาตเป็นวัตร.
               ก็ภิกษุนั้นย่อมเที่ยวไปบิณฑบาตด้วยความเป็นบ้า ชื่อว่าผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เพราะความบ้า คือความฟุ้งซ่านแห่งจิต.
               บทว่า "วณฺณิตํ" ความว่า ภิกษุพิจารณาว่า ธรรมดาว่า บิณฑปาติกธุดงค์นี้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายและสาวกของพระพุทธเจ้าทั้งหลายพรรณนาคุณคือสรรเสริญไว้ แล้วจึงถือการบิณฑบาตเป็นวัตร.
               ในคำว่า "อปฺปิจฺฉํเอว นิสฺสาย" เป็นต้น พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               คือ ภิกษุผู้ถือการบิณฑบาตเป็นวัตรคิดว่า เราจักเป็นผู้มักน้อย เพราะเหตุนี้ องค์แห่งบิณฑปาติกธุดงค์ของเรานี้ จักเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย เราจักเป็นผู้สันโดษ เพราะเหตุนี้ องค์แห่งบิณฑปาติกธุดงค์ของเรานี้ จักเป็นไปเพื่อความสันโดษ เราจักเป็นผู้ขัดเกลากิเลสทั้งหลาย เพราะเหตุนี้ องค์แห่งบิณฑปาติกธุดงค์ของเรานี้จักเป็นไปเพื่อความขัดเกลากิเลส.
               บทว่า "อิทมตฺถิตํ" ความว่า อาศัยความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอันงามนี้ หรืออาศัยความต้องการด้วยเหตุสักว่า บิณฑบาตนี้.
               อธิบายว่า อาศัยภาวะ คือการยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งตามแต่จะได้.
               บทว่า "อคฺโค" ได้แก่ ผู้เจริญที่สุด. คำที่เหลือเป็นไวพจน์ของคำว่า อคฺโค นั้น.
               บทว่า "ควา ขีรํ" ความว่า ธรรมดาว่า น้ำนมย่อมเกิดจากโค เว้นแม่โคเสียแล้วก็หามีไม่.
               แม้ในคำว่า "ขีรมฺหา ทธิ" เป็นต้น ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า "เอวเมว" อธิบายว่า เนยใสชนิดใสเป็นเลิศกว่าเบญจโครสเหล่านี้ ฉันใด บรรดาภิกษุผู้ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร ๕ จำพวกเหล่านี้ ภิกษุใดอาศัยความเป็นผู้มักน้อยเป็นต้นแล้วถือการบิณฑบาตเป็นวัตร ภิกษุนี้เป็นเลิศ เป็นผู้เจริญที่สุด เป็นประมุข เป็นผู้สูงสุดและประเสริฐสุดในภิกษุผู้ถือการบิณฑบาตเป็นวัตรเหล่านั้นฉันนั้นเหมือนกัน.
               ก็บรรดาภิกษุผู้ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร ๕ จำพวกเหล่านี้ ที่ถือการบิณฑบาตเป็นวัตรที่แท้จริงมี ๒ จำพวก ที่ไม่ถือมี ๓ จำพวก บัณฑิตพึงทราบชน ๓ จำพวกนี้ว่า เป็นผู้ถือการบิณฑบาตเป็นวัตรเพียงแต่ชื่อ.

               อรรถกถาภิกษุผู้ถือการห้ามภัตที่เขานำมาถวายภายหลังเป็นวัตรเป็นต้น               
               แม้ในภิกษุผู้ถือการห้ามภัตที่เขานำมาถวายภายหลังเป็นวัตรเป็นต้น ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.

               อรรถกถาปัญจกนิทเทส อธิบายบุคคล ๕ จำพวก จบเพียงเท่านี้.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ปุคคลบัญญัติปกรณ์ บุคคลบัญญัติ ปัญจกนิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถา 36.2 / 1อ่านอรรถกถา 36.2 / 104อรรถกถา เล่มที่ 36.2 ข้อ 141อ่านอรรถกถา 36.2 / 147อ่านอรรถกถา 36.2 / 152
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=36&A=4545&Z=4768
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=2487
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=2487
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :