บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
ว่าด้วยนิยาม ในปัญหานั้น ท่านเรียกอริยมรรคว่า นิยาม เพราะพระบาลีว่า บุคคลผู้สามารถเพื่อก้าวลงสู่นิยามอันถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลายดังนี้. ก็ชนเหล่าใดมีความเห็นผิดดุจลัทธิของนิกายอันธกะทั้งหลายว่า เมื่อนิยามนั้นเกิดขึ้นและดับไปแล้วก็ดี บุคคลนั้นย่อมชื่อว่าเป็นผู้ไม่เที่ยงก็หาไม่ เหตุใด เพราะเหตุนั้น นิยามที่เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น จึงชื่อว่าเป็นอสังขตะ คือไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เพราะอรรถว่าเป็นของเที่ยง ดังนี้. คำถามของสกวาทีหมายถึงชนเหล่านั้น คำตอบรับรองเป็นของปรวาที. ต่อจากนั้นเมื่อสกวาทีจะแสดงว่า ผิว่า นิยามนั้นเป็นอสังขตะไซร้ นิยามนั้นก็พึงมีอย่างนี้ จึงกล่าวคำว่า เป็นนิพพาน เป็นต้น. คำถามเปรียบเทียบมีอรรถง่ายทั้งนั้น. คำว่า บุคคลบางพวกก้าวลงสู่นิยาม เป็นต้น สกวาทีกล่าวเพื่อแสดงความเป็นสังขตะของนิยาม ฯ ในปัญหาว่า มรรคเป็นอสังขตะหรือ เป็นต้น ปรวาทีย่อมปฏิเสธ เพราะมรรคนั้นยังมีการเกิดและการดับ. ในปัญหาว่า นิยามเป็นสังขตะหรือ ปรวาทีตอบปฏิเสธ หมายเอานิยามในมรรคแม้ดับไปแล้วก็เป็นของมีอยู่. ในคำทั้งหลายมีคำว่า โสดาปัตตินิยาม เป็นต้น บัณฑิตพึงทราบเนื้อความอนุโลมและปฏิโลมโดยนัยนั้น. ถูกสกวาทีถามว่า อสังขตะเป็น ๕ อย่างหรือ ปรวาทีเมื่อไม่เห็นสถานที่มาของอสังขตะ ๕ อย่าง จึงปฏิเสธ. ถูกถามครั้งที่ ๒ ก็ตอบรับรอง เพราะคำว่า นิยามแห่งสัมมัตตนิยาม ๔ อย่าง และเพราะความเป็นอสังขตะของพระนิพพาน ๑. ปัญหาว่าด้วยมิจฉัตตนิยาม สกวาทีกล่าวแล้วเพื่อแสดงความไม่ถูกต้องแห่งความเป็นอสังขตะ ด้วยเหตุสักแต่คำว่านิยามนั้นนั่นแหละด้วยประการฉะนี้แล. อรรถกถานิยามกถา จบ. ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา กถาวัตถุปกรณ์ วรรคที่ ๖ นิยามกถา จบ. |