บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
ว่าด้วยบุญสำเร็จแต่การบริโภค ในปัญหานั้น ชนเหล่าใดมีความเห็นผิดดุจลัทธิของนิกายราชคิริกะและสิทธัตถิกะทั้งหลายว่า บุญชื่อว่า สำเร็จแต่การบริโภคมีอยู่แก่ชนทั้งหลาย เพราะถือเอาพระสูตรทั้งหลายว่า บุญย่อมเจริญมากแก่ทายกเหล่านั้นทุกเมื่อทั้งกลางวันทั้งกลางคืน และพระสูตรว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อบริโภคจีวรของบุคคลใดเป็นต้น ดังนี้ โดยไม่พิจารณา. คำถามของสกวาทีว่า บุญสำเร็จแต่การบริโภค เป็นต้น โดยหมายถึงชนเหล่านั้น คำตอบรับรองเป็นของปรวาที. ลำดับนั้น สกวาทีจึงเริ่มกล่าวคำว่า ผัสสะสำเร็จแต่การบริโภค เป็นต้น เพื่อจะท้วงด้วยคำว่า กุศลธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นต้น ชื่อว่าบุญ นอกจากนี้ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น ท่านพึงยังผัสสะเป็นต้นให้เจริญได้หรือ ดังนี้. คำนั้นทั้งหมดปรวาทีตอบปฏิเสธ เพราะไม่ใช่เจริญบุญให้ทายกเหล่านั้น. คำทั้งหลายมีคำว่า เจริญได้ดุจเครือเถา เป็นต้น สกวาทีกล่าวเพื่อท้วงด้วยคำว่า เครือเถาเป็นต้น แม้เว้นจากการบำรุงหรือการทำให้เจริญ ย่อมเจริญเองได้นั่นแหละฉันใด ตามลัทธิของท่าน บุญทั้งหลายย่อมเจริญ ฉันนั้นหรือ? แต่คำนั้น ปรวาทีตอบปฏิเสธว่า ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น เพราะบุญนั้นเจริญเช่นนั้นหาได้ไม่. ในปัญหาว่า ทายกให้ทานแล้วไม่สนใจก็เป็นบุญได้หรือ ปรวาทีตอบรับรองด้วยสามารถแห่งลัทธิว่า ปุริมเจตนาของทายกนั้นย่อมเจริญได้ด้วยการบริโภคของปฏิคาหกทั้งหลาย บุญนั้นย่อมเจริญอย่างนี้. ลำดับนั้น จึงถูกสกวาทีซักถามด้วยคำเป็นต้นว่า เป็นได้แก่ผู้ไม่นึก เป็นต้น ปรวาทีตอบปฏิเสธ เพราะหมายเอาจาคเจตนาของทายก. ในคำเหล่านั้น คำว่า ผู้ไม่นึก ได้แก่ ภวังค์ของทายกผู้ไม่นึกไม่สละด้วยการพิจารณาอันเป็นปุเรจาริกในทานเจตนา. คำว่า ผู้ไม่กังวล ได้แก่ หาความคำนึงถึงทานเจตนามิได้. คำว่า เป็นได้แก่ผู้ไม่สนใจ ได้แก่ ไม่มีความสนใจทานเจตนา. จริงอยู่ อาวัชชนจิตของทายกนั้นเมื่อตัดกระแสภวังค์ขาดแล้วก็เกิดในวิถีของตนจึงชื่อว่าสนใจทานเจตนา สกวาทีย่อมถามว่า บุญของทายกเป็นได้แก่ผู้ไม่มีความสนใจย่อมมีด้วยจิตนี้ ด้วยกิจอย่างนี้. คำว่า ผู้ไม่กระทำไว้ในใจ ได้แก่ ผู้ไม่ทำซึ่งใจจริงอยู่ อาวัชชนจิตที่กำลังมีทานเป็นอารมณ์เกิดติดต่อกันนั้น ชื่อว่าย่อมทำไว้ซึ่งใจ. อธิบายว่า เขาไม่ทำอย่างนี้. อนึ่งคำว่า ซึ่งใจนี้ เป็นทุติยาวิภัตติ ท่านใช้เป็นสัตตมีวิภัตติ แปลว่า ในใจ. คำว่า ผู้ไม่จงใจ ได้แก่ ทายกนั้นไม่ให้เจตนาในทานเกิดขึ้น. คำว่า ผู้ไม่ปรารถนา ได้แก่ ทายกนั้นไม่ทำฉันทะในกุศลอันบัณฑิตนับพร้อมแล้วว่าความต้องการ. คำว่า ผู้ไม่ตั้งใจ อธิบายว่า ไม่ให้จิตตั้งอยู่ด้วยสามารถแห่งทานเจตนา. คำว่า ผู้กังวล ในข้อว่า บุญเป็นได้แก่ผู้นึกถึงมิใช่หรือ นั้นได้แก่ เพราะคำนึงถึงทานเป็นอารมณ์. อีกอย่างหนึ่ง อธิบายว่า ความคำนึงถึงทานพึงมีแก่ทายก หรือว่า บุญของทายกผู้คำนึงถึงทานนั้นย่อมเกิดติดต่อกันไป. แม้ในปัญหาทั้งหลายมีคำว่า แห่งผัสสะ ๒ หรือ เป็นต้น ปรวาทีย่อมตอบปฏิเสธ เพราะความไม่มีผัสสะทั้ง ๒ เป็นต้นในขณะเดียวกันของทายก ย่อมตอบรับรอง หมายเอาผัสสะเป็นต้นอย่างละ ๒ คือผัสสะของทายกและผู้บริโภค. อีกอย่างหนึ่ง ลัทธิของปรวาทีนั้นว่า การประชุมพร้อมกันแห่งปัญจวิญญาณมีอยู่แก่ทายก ดังนี้ จึงตอบรับรองด้วยสามารถแห่งลัทธินั้น. ลำดับนั้น สกวาทึจึงถามปัญหามีคำว่า กุศล เป็นต้น กะปรวาทีนั้น เพื่อปิดทวารแห่งการบรรยาย คือมิให้มีการพูดอ้อมค้อม แล้วก็ท้วงด้วยธรรมอันเป็นข้าศึกแก่กันและกันโดยตรง. แม้ในปัญหาว่า กุศล เป็นต้นนี้ ปรวาทีตอบปฏิเสธ หมายเอาความไม่มีการประกอบซึ่งกันและกันแห่งกุศลและอกุศลในขณะเดียวกัน แต่ตอบรับรองเพราะลัทธิว่า จิตอันสำเร็จด้วยการบริโภคเป็นจิตที่ไม่ประกอบกัน. ทีนั้น สกวาทีจึงตำหนิปรวาทีนั้นด้วยพระสูตร. ในการนำพระสูตรมาอ้างนั้น ปรวาทีกล่าวแล้วว่า บุญย่อมเจริญมากแก่ชนเหล่านั้นทุกเมื่อ หมายเอาบุญที่เกิดติดต่อกันไปด้วยสามารถแห่งการสร้างสถานที่ทั้งหลายมีการสร้างสวน เป็นต้น และด้วยสามารถแห่งการตามระลึกถึงกุศลทั้งหลาย อันมีการปฏิสังขรณ์เป็นต้น. คำว่า ห้วงน้ำ คือบุญของบุคคลนั้นหาประมาณมิได้ แม้นี้ ปรวาทีกล่าวกำหนดเอาคำแห่งพระสูตรว่า ภิกษุเห็นปานนี้ใช้สอยจีวรของเรา เพราะความที่เป็นปัจจัยอันเราถวายแก่ภิกษุผู้มีปกติอยู่ด้วยความไม่ประมาท และด้วยความสามารถแห่งการแสดงความชื่นชม. ปรวาทีนั้นย่อมกำหนดบุญนั้นว่า สำเร็จด้วยการบริโภค คือใช้สอย ดังนี้. อันที่จริง ไทยธรรมที่ปฏิคาหกรับแล้วยังไม่บริโภคก็ตามที บุญนั้นย่อมเกิดแก่ทายกนั้นทั้งนั้น เหตุใด เพราะเหตุนั้น วาทะของสกวาทีจึงนับว่ามีกำลังกว่า ในปัญหานั้น บัณฑิตพึงทราบเนื้อความว่า ไทยธรรมอันปฏิคาหกรับแล้วของบทว่า ครั้นเมื่อปฏิคาหกรับแล้ว ดังนี้. คำที่เหลือมีอรรถตื้นทั้งนั้น แล. อรรถกถาปริโภคมยปุญญกถา จบ. ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา กถาวัตถุปกรณ์ วรรคที่ ๗ ปริโภคมยปุญญกถา จบ. |