บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
ว่าด้วยอายตนะในรูปธาตุ ในเรื่องนั้น ชนเหล่าใดมีความเห็นผิดดุจลัทธิของนิกายอันธกะและสมิติยะทั้งหลายว่า อัตภาพของหมู่พรหมเหล่านั้นมีอายตนะครบทั้ง ๖ เพราะอาศัยพระสูตรว่า พวกพรหมที่มีรูป มีความสำเร็จได้ด้วยใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ทั้งปวง มีอินทรีย์อันไม่บกพร่อง คือมีอัตภาพสมบูรณ์ ดังนี้ จึงสำคัญว่า แม้ฆานนิมิตคือรูปร่างของจมูก ของพวกพรหมเหล่านั้นว่า เป็นอายตนะเทียว คือหมายความว่าเป็นฆานายตนะนั่นแหละ ดังนี้ คำถามของสกวาทีว่า อัตภาพของพวกพรหมมีอายตนะทั้ง ๖ โดยหมายถึงชนเหล่านั้น คำตอบรับรองเป็นของปรวาทีด้วยสามารถแห่งลัทธิ. ทีนั้น สกวาทีเพื่อจะท้วงด้วยสามารถแห่งอายตนะที่ไม่มีอยู่ในพวกพรหมนั้น จึงเริ่มกล่าวกะปรวาทีนั้นว่า ในรูปธาตุนั้นมีฆานายตนะหรือ เป็นต้น. ลำดับนั้น ปรวาทีก็ตอบรับรองด้วยลัทธิว่า สัณฐานนิมิตของอายตนะทั้ง ๓ คือฆานายตนะ ชิวหายตนะ กายายตนะที่เป็นภายในมีฆานายตนะเป็นต้น อันใดมีอยู่ในรูปธาตุนั้น สัณฐานนิมิตนั้นนั่นแหละเป็นอายตนะ ดังนี้. ถูกถามด้วยสามารถแห่งคันธายตนะเป็นต้นซึ่งเป็นของภายนอก ปรวาที เมื่อเสพคุ้นอยู่ซึ่งอารมณ์แห่งฆานายตนะเป็นต้นนั้นจึงไม่ปรารถนาฆานปสาทเป็นต้นในรูปธาตุนั้น เพราะฉะนั้น จึงตอบปฏิเสธ. ในปัญหาปฏิโลมและปัญหาว่าด้วยการเปรียบเทียบทั้งหลาย บัณฑิตพึงทราบเนื้อความโดยอุบายนี้แหละ. คำว่า ในรูปธาตุนั้น มีฆานายตนะ มีคันธายตนะและสูดกลิ่นนั้นด้วย ฆานะนั้นหรือ ดังนี้ สกวาทีกล่าวหมายถึงอาจารย์บางพวกในลัทธิอื่นเท่านั้น. ได้ยินว่า อาจารย์บางพวกเหล่านั้นมีความสำคัญว่า ในรูปธาตุนั้นมีอายตนะภายในครบทั้ง ๖ บริบูรณ์ แต่ชื่อว่าอายตนะก็พึงทำกิจของตน คือรับอารมณ์ได้ตามหน้าที่ เพราะฉะนั้น อายตนะเหล่านั้นจึงสูดกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องซึ่งกลิ่นเป็นต้นเหล่านั้น ด้วยฆานะเป็นต้นเหล่านั้น ดังนี้. ปรวาทีอาศัยลัทธินั้น จึงตอบรับรองว่า ใช่. ก็ถูกถามคำว่า ในรูปธาตุนั้น มีกลิ่นเกิดแต่รากไม้ ดังนี้ เป็นต้น ปรวาทีเมื่อไม่อาจยังความเป็นอายตนะภายนอกให้ปรากฏได้ จึงตอบปฏิเสธ. คำว่า ในรูปธาตุนั้นมีฆานนิมิตมิใช่หรือ เป็นต้น คำนั้นสำเร็จแต่เพียงเป็นรูปร่างสัณฐานเท่านั้น หาได้สำเร็จเป็นอายตนะไม่ เพราะฉะนั้น คำนั้น แม้ท่านปรวาทีนำมาตั้งเป็นลัทธิไว้แล้วก็เหมือนมิได้นำมา ดังนี้แล. อรรถกถารูปธาตุยา อายตนกถา จบ. ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา กถาวัตถุปกรณ์ วรรคที่ ๘ รูปธาตุยา อายตนะกถา จบ. |