บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
ว่าด้วยสัญญาเวทยิตนิโรธที่ ๓ ลำดับนั้น สกวาทีจึงกล่าวกะปรวาทีนั้นว่า ผัสสะอันเกิดในสมัยมีความตายเป็นที่สุดเป็นต้น เพื่อท้วงด้วยอาการที่ว่าผัสสะอันเกิดในเวลาที่มีความตายเป็นธรรมดา ชื่อว่าพึงมีแก่ผู้กระทำกาละโดยอาการนั้นหรือ. ถูกถามว่า บุคคลผู้ไม่มีผัสสะมีการกระทำกาละ เป็นต้น ปรวาทีตอบปฏิเสธโดยหมายเอาสัตว์ที่เหลือ คือนอกจากผู้เข้าสมาบัตินั้น. ถูกถามคำว่า ยาพิษพึงเข้าไป เป็นต้น ก็ตอบปฏิเสธโดยหมายเอาอานุภาพแห่งสมาบัติ. แต่ตอบรับรองในครั้งที่ ๒ โดยหมายเอาสรีระปรกติ. ก็ถ้าเมื่อความเป็นเช่นนั้นมีอยู่ ชื่อว่าอานุภาพแห่งสมาบัติก็ไม่มี ด้วยเหตุนั้นนั่นแหละ สกวาทีจึงซักปรวาทีว่า มิได้เข้านิโรธหรือ. คำถามว่า บุคคลผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ไม่พึงทำกาละหรือ เป็นของปรวาที. ในปัญหาของปรวาทีว่า นิยามอันเป็นเหตุกำหนดโดยแน่นอนมีอยู่ แต่ชื่อว่า นิยามอย่างนี้ไม่มี เหตุใด เพราะเหตุนั้น สกวาทีจึงตอบปฏิเสธ. คำว่า ผู้พรั่งพร้อมด้วยจักขุวิญญาณ เป็นต้นที่สกวาทีกล่าวก็เพื่อแสดงว่า ครั้นเมื่อนิยามเช่นนี้แม้ไม่มีอยู่ สัตว์ก็ต้องตายตามเวลาเท่านั้น ย่อมไม่ตายโดยมิใช่เวลา ดังนี้. ในปัญหานั้น มีคำอธิบายว่า ถ้าว่า การทำกาละพึงมีเพราะความไม่มีนิยามไซร้ การทำกาละนั้นก็จะพึงมีแม้แก่ผู้พรั่งพร้อมด้วยจักขุวิญญาณ เพราะสัตว์ย่อมไม่ตายย่อมไม่เกิดด้วยวิญญาณ ๕ ดังนี้ เพราะฉะนั้น ความผิดพลาดในพระสูตรพึงมี เหมือนการทำกาละย่อมไม่มีแก่ผู้พรั่งพร้อมด้วยจักขุวิญญาณ ฉันใด การทำกาละก็ย่อมไม่มีแม้แก่ผู้เข้านิโรธสมาบัติฉันนั้น ด้วยประการฉะนี้แล. อรรถกถาตติยสัญญาเวทยิตกถา จบ. ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา กถาวัตถุปกรณ์ วรรคที่ ๑๕ สัญญาเวทยิตกถาที่ ๓ จบ. |