ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 37 / 1อ่านอรรถกถา 37 / 286อรรถกถา เล่มที่ 37 ข้อ 301อ่านอรรถกถา 37 / 389อ่านอรรถกถา 37 / 1898
อรรถกถา กถาวัตถุปกรณ์
สัพพมัตถีติกถา

               อรรถกถาสัพพมัตตถีติวาทกถา               
               ว่าด้วยสิ่งทั้งปวงมีอยู่               
               บัดนี้ ชื่อว่าเรื่องวาทะว่าสิ่งทั้งปวงมีอยู่. ในปัญหานั้น ชนเหล่าใดมีความเห็นผิดดุจลัทธินิกายสัพพมัตถีติวาทะทั้งหลาย ในที่นี้ว่า ธรรมทั้งหลายอันต่างด้วยอดีตเป็นต้นแม้ทั้งปวง ย่อมไม่เว้นซึ่งสภาพแห่งขันธ์ เพราะพระบาลีว่า รูปอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต คือล่วงไปแล้วก็ดี เป็นอนาคต คือยังไม่มาถึงก็ดี เป็นปัจจุบัน คือเกิดขึ้นอยู่เฉพาะหน้าก็ดี ฯลฯ นี้ พระตถาคตตรัสเรียกว่า รูปขันธ์ ดังนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น สิ่งทั้งปวงจึงชื่อว่ามีอยู่นั้นแหละ ดังนี้ เพื่อชำระลัทธิอันเห็นผิดของชนเหล่านั้น สกวาทีจึงถามว่า สิ่งทั้งปวงมีอยู่หรือ คำตอบรับรองเป็นของปรวาที เพราะตั้งอยู่ในทิฏฐิมีประการดังกล่าวแล้ว.
               คำว่า ในสรีระทั้งปวงหรือ อธิบายว่า สกวาทีย่อมถามด้วยคำว่า สิ่งทั้งปวงมีอยู่ในสรีระทั้งปวงหรือ. คำว่า มีอยู่ในกาลทั้งปวงหรือ อธิบายว่า สกวาทีย่อมถามว่า สิ่งทั้งปวงมีอยู่ในกาลทั้งปวงหรือ.
               คำว่า สพฺเพน สพฺพํ อธิบายว่า สกวาทีถามว่า สิ่งทั้งปวงมีอยู่โดยอาการทั้งปวงหรือ.
               คำว่า สพฺเพสุ อธิบายว่า สกวาทีย่อมถามว่า สิ่งทั้งปวงมีอยู่ในธรรมทั้งปวงหรือ.
               คำว่า ไม่ประกอบหรือ ได้แก่ ไม่ประกอบแล้ว. อธิบายว่า ธรรมที่ประกอบกันได้ของสภาพธรรมต่างๆ มีอยู่แต่ไม่มีแก่สภาพธรรมอย่างเดียว. ดังนั้น ในปัญหานี้ สกวาทีจึงทำรูปกับเวทนา หรือทำเวทนากับรูปไม่ให้ต่างกัน คือให้มีลักษณะอย่างเดียวกันนั่นแหละ แล้วจึงถามว่า สิ่งทั้งปวงมีอยู่หรือ
               ข้อว่า แม้สิ่งใดที่ไม่มี ก็ชื่อว่ามีอยู่หรือ. อธิบายว่า สกวาทีถามว่า แม้สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีคำว่าขันธ์ที่ ๖ เป็นต้น หรือคำว่า เขากระต่ายเป็นต้น ย่อมไม่มีอยู่ เพราะฉะนั้นคำอันท่านให้สำเร็จแล้ว แม้นี้ชื่อว่า มีอยู่หรือ.
               คำว่า สิ่งทั้งปวงมีอยู่หรือ ความว่า สกวาทีย่อมถามคำนี้ด้วยคำนี้ว่า ทิฏฐิใดมีอยู่ ทิฏฐินั้นเรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ และทิฏฐิใดมีอยู่ ทิฏฐินั้นเรียกว่าสัมมาทิฏฐิ อย่างนี้นั่นแหละเรียกว่า สิ่งทั้งปวงมีอยู่ หรือว่าในลัทธิของท่านว่า ทิฏฐิอันใดว่าสิ่งทั้งปวงมีอยู่ ทิฏฐินั้นชื่อว่ามิจฉาทิฏฐิ เพราะไม่ทำตามความเป็นจริง ทิฏฐิอันใดมีอยู่ ทิฏฐินั้นชื่อว่าสัมมาทิฏฐิ เพราะมีความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง อย่างนี้ด้วยประการฉะนี้ จึงกล่าวว่า สิ่งทั้งปวงเหล่านี้มีอยู่หรือ. ปรวาทีปฏิเสธว่า ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น เพราะความไม่มีแห่งธรรมที่มีอยู่ มีประการตามที่กล่าวแล้วในนัยเหล่านั้น แม้ทั้งสิ้น.
               ก็ในนัยเหล่านี้แม้ทั้งหมด บัณฑิตพึงทราบประเภทกถามรรคทั้งปวงโดยพิสดาร เพราะทำคำว่า ท่านจงรู้นิคคหะ คือความผิดพลาด ดังนี้ให้เป็นต้น ด้วยประการฉะนี้แล.
               นี้ชื่อว่าวาทยุตติ คือการประกอบวาทะ ในที่นี้เพียงเท่านี้ก่อน.
               บัดนี้ เป็นการเปรียบเทียบเวลาว่า อดีตมีอยู่หรือ ในปัญหานั้น คำเป็นต้นว่า อดีตมีอยู่หรือ เป็นคำเปรียบเทียบเพื่อให้ความเห็นนั้นบริสุทธิ์. คำเป็นต้นว่า รูปอดีตมีอยู่หรือ เป็นการเปรียบเทียบกาลกับด้วยขันธ์เป็นต้น. ข้อว่า รวมเพ่งถึงรูปปัจจุบัน ความว่า ละรูปอันเป็นอดีตและอนาคตเสีย แล้วจึงเพ่งรูปปัจจุบันเท่านั้น ไม่พึงแยก.
               ในปัญหาว่า ย่อมละความเป็นรูปหรือ ปรวาทีย่อมตอบปฏิเสธ เพราะความที่รูปแม้ดับไปแล้ว ท่านก็สงเคราะห์เป็นรูปขันธ์. ในปัญหาปฏิโลมว่า ย่อมไม่ละความเป็นรูปหรือ ปรวาทีย่อมตอบรับรอง เพราะความที่รูปนั้นท่านสงเคราะห์เข้าเป็นรูปขันธ์. ในข้อว่า รวมเพ่งถึงผ้าขาวนี้ ความว่า เมื่อปรวาทีกล่าวว่า รวมเพ่งถึงผ้าขาว เพราะไม่กล่าวคำบัญญัติว่า ผ้าทั้งหมดเป็นสีขาวก็หาไม่ แต่กล่าวถึงผ้ากับสีขาวนี้ สกวาทีจึงตอบรับรองโดยความเป็นอรรถอันเดียวกัน.
               ในปัญหาว่า ย่อมละความเป็นผ้าขาวหรือ คำรับรองนี้เป็นของสกวาที หมายเอาผ้าที่ปราศจากสี ก็ในคำว่า ย่อมละความเป็นผ้าหรือ นี้ คำปฏิเสธเป็นของสกวาทีนั้นนั่นแหละ เพราะปราศจากคำบัญญัติ. แม้ในปฏิโลมก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ก็ปรวาทีนั้นถูกถามว่า อดีตย่อมไม่ละความเป็นอดีตหรือ เมื่อสำคัญว่า ถ้าพึงละอนาคตหรือปัจจุบันไซร้ อดีตนั้นก็พึงมีดังนี้ จึงรับรองว่าใช่ ก็ถูกถามว่า อนาคตย่อมไม่ละความเป็นอนาคตหรือ ปรวาทีสำคัญว่า ถ้าพึงละอนาคตเสียเลย ก็จะไม่พึงละบรรลุความเป็นปัจจุบัน จึงปฏิเสธ.
               แม้ในปัญหาว่าด้วยความเป็นปัจจุบัน ก็ปฏิเสธว่า โทษคือความไม่ถึงความเป็นอดีตจะพึงมี. แม้ในปัญหาอนุโลมทั้งหลาย บัณฑิตก็พึงทราบเนื้อความโดยนัยนี้.
               ครั้นกล่าวสุทธิกนัยอย่างนี้แล้ว เพื่อแสดงด้วยสามารถแห่งขันธ์อีก ท่านจึงกล่าวคำว่า รูปอดีต เป็นต้น คำนั้นทั้งหมดอาจเพื่อจะรู้โดยทำนองแห่งพระบาลีนั่นแหละ.
               กายสังสันทนา จบ.               

               วจนโสธนา               
               การชำระถ้อยคำ               
               บัดนี้ ชื่อว่าโสธนา คือการชำระถ้อยคำ เพราะพระบาลีว่า อดีตมิใช่สภาวะที่มีอยู่ เป็นต้น. ในปัญหานั้น คำว่า หากว่าอดีตมิใช่สภาวะที่มีอยู่ อธิบายว่า ถ้าอดีตไม่มีอยู่ไซร้.
               คำว่า อดีตมีอยู่ก็ผิด อธิบายว่า อดีตนั้นด้วยสภาพที่มีอยู่ด้วย ดังนี้ผิดทั้งนั้น. ถูกถามว่า อนาคตก็อันนั้นนั่นแหละ ปัจจุบันก็อันนั้นแหละหรือ ปรวาทีตอบปฏิเสธ หมายเอาความไม่มี อนาคตที่กำลังเป็นปัจจุบัน ในขณะแห่งอนาคตนั่นแหละโดยการต่างกันแห่งเวลา. ถูกถามครั้งที่ ๒ ก็ตอบรับรองเพราะความที่อนาคตใดได้มีแล้วในกาลก่อนแต่กาลเกิดขึ้นนั้นเป็นปัจจุบันที่กำลังปรากฏ.
               คำว่า สิ่งที่เป็นอนาคต แล้วเป็นปัจจุบัน ชื่อว่าเป็นแล้วจึงเป็นอยู่หรือ อธิบายว่า คำใดนี้อันท่านกล่าวว่าเป็นอนาคตแล้วเป็นปัจจุบันนี้ หมายความว่าเป็นอนาคตหรือเป็นปัจจุบัน ชื่อว่าเป็นแล้วเป็นอยู่ ด้วยสามารถแห่งลัทธิว่า อนาคตก็อันนั้นแหละ ปัจจุบันก็อันนั้น ดังนี้ คำนั้นก็ชื่อว่า เป็นแล้วเป็นอยู่ตามลัทธิของท่านหรือ? ปรวาทีปฏิเสธว่า ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น เพราะสิ่งที่เป็นแล้วเป็นสภาพที่ไม่มีอยู่แก่ธรรมที่เป็นแล้วมีแล้ว.
               ถูกถามครั้งที่ ๒ ท่านตอบรับรอง เพราะอนาคตนั้นจะเป็นแล้ว แต่ปัจจุบันกำลังเป็นไปจึงนับว่าเป็นแล้วจึงจะเป็น.
               ลำดับนั้น สกวาทีจึงถามปัญหากะปรวาทีว่า สิ่งที่ไม่เป็นอนาคต แล้วเป็นปัจจุบัน ชื่อว่าไม่เป็นแล้วไม่เป็นอยู่ ดังนี้ ด้วยประสงค์เอาว่า หากว่าลัทธิของท่าน อนาคตนั้นเป็นแล้วปัจจุบันใดไม่เป็นอยู่ อันนับว่า เป็นแล้วเป็นอยู่ ก็อนาคตใดไม่เป็นแล้ว ปัจจุบันใดไม่เป็นอยู่ อันถึงซึ่งการนับว่า ไม่เป็นแล้วไม่เป็นดุจเขากระต่าย ความแตกต่างกันไม่เป็นแล้วไม่เป็นอยู่แม้นั้นมีอยู่อีกหรือ ปรวาทีสำคัญอยู่ว่า สิ่งใดไม่เป็นอนาคตไม่เป็นปัจจุบัน เพราะความไม่มีนั่นแหละ เพราะฉะนั้นสิ่งนั้นจึงชื่อว่า ไม่เป็นแล้วไม่เป็นอยู่ ข้อนั้นจงยกไว้ก่อน ก็แต่ว่าสภาพแห่งธรรมที่ไม่เป็นแล้วไม่เป็นอยู่แห่งสิ่งนั้นจะมี ณ ที่ไหน ดังนี้ จึงตอบปฏิเสธ.
               แม้ในปัญหาว่า ปัจจุบันก็อันนั้นแหละ อดีตก็อันนั้นแหละหรือ ปรวาทีตอบปฏิเสธ หมายเอาความไม่มีแห่งความเป็นอดีตในลักษณะแห่งความเป็นปัจจุบันนั่นแหละ เพราะการต่างกันแห่งเวลา.
               ถูกถามในปัญหาที่ ๒ ปรวาทีตอบรับรอง โดยธรรมใดเป็นปัจจุบัน ก็เพราะเป็นอดีตมาก่อน หมายความว่า ปัจจุบันนั้นนั่นแหละเป็นอดีต. คำว่า สิ่งที่เป็นแล้วเป็นชื่อว่าเป็นแล้ว จึงเป็นอยู่ อธิบายว่า เมื่อท่านกล่าวว่า ปัจจุบันหรืออดีตชื่อว่าเป็นแล้วเป็นอยู่ด้วยสามารถแห่งลัทธิว่า ธรรมใดเป็นปัจจุบัน ท่านกล่าวว่า ธรรมนั้นเป็นอดีต เพราะฉะนั้นปัจจุบันก็อันนั้นนั่นแหละ อดีตก็อันนั้น ดังนี้ คำแม้นั้นชื่อว่าสิ่งที่เป็นปัจจุบันแล้วเป็นอดีต ชื่อว่าเป็นแล้วจึงเป็นอยู่ หรือ? ปรวาทีตอบปฏิเสธว่า ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น เพราะธรรมที่เป็นแล้วมีอยู่ เป็นสภาพที่เป็นแล้ว แต่ไม่เป็นอยู่อีก.
               ในปัญหาที่ ๒ ปรวาทีตอบรับรองว่า ปัจจุบันเป็นแล้ว อดีตเป็นอยู่ อันถึงซึ่งการนับว่าเป็นแล้วเป็นอยู่. ลำดับนั้น สกวาทีจึงถามปัญหากะปรวาทีนั้นว่า สิ่งที่ไม่เป็นปัจจุบัน แล้วไม่เป็นอดีต ชื่อว่าไม่เป็นแล้วไม่เป็นหรือโดยประสงค์เอาว่า หากว่า ปัจจุบันเป็นแล้ว อดีตก็เป็น อันถึงซึ่งการนับว่า ไม่เป็นแล้วจึงไม่เป็น ดุจเขากระต่าย ชื่อว่าไม่เป็นแล้วจึงไม่เป็น ข้อแม้นั้นชื่อว่า ไม่เป็นแล้วไม่เป็นตามลัทธิของท่านหรือ ปรวาทีมีความสำคัญอยู่ว่า สิ่งใดไม่มี สิ่งนั้นไม่เป็นปัจจุบันและไม่เป็นอดีตด้วย เพราะความไม่มีนั่นเทียว ฉะนั้นสิ่งนั้นจึงชื่อว่า ไม่เป็นแล้วจึงไม่เป็น ข้อที่แตกต่างกันนั้นจงยกไว้ก่อน ก็ความที่ธรรมใดไม่เป็นแล้วไม่เป็น ธรรมนั้นจักมีแต่ที่ไหน ดังนี้ จึงตอบปฏิเสธ.
               บัณฑิตพึงทำการประกอบแม้ในปัญหาที่ ๓ อันมาแล้วโดยการรวมปัญหาทั้ง ๒ เข้าด้วยกันโดยอุบายนี้.
               อีกนัยหนึ่ง ถ้าว่า อนาคตก็อันนั้นนั่นแหละ ปัจจุบันก็อันนั้นไซร้ ภาวะคือความเป็นอยู่อันท่านกล่าวอนาคตในปัจจุบันแล้ว และภาวะคือความเป็นแล้วอันท่านกล่าวปัจจุบันในอนาคตย่อมปรากฏ ครั้นเมื่อความเป็นอย่างนั้นมีอยู่ แม้อนาคตก็ชื่อว่าเป็นแล้วเป็นอยู่ แม้ปัจจุบันก็ชื่อว่าเป็นแล้วเป็นอยู่นั่นแหละ. ด้วยเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอถามท่านว่า ลัทธิของท่านว่า บรรดาธรรมเหล่านั้นธรรมอย่างหนึ่งๆ เป็นแล้ว อนาคตเป็นอยู่ ปัจจุบัน ชื่อว่าเป็นแล้วจึงเป็นอยู่หรือ ปรวาทีปฏิเสธแล้วโดยนัยที่ท่านปฏิเสธแล้วในปัญหาว่า อนาคตก็อันนั้นนั่นแหละ ปัจจุบันก็อันนั้น ถูกถามอีกก็ตอบรับรองโดยนัยที่ตอบรับรองในปัญหาที่ ๒.
               ลำดับนั้น สกวาทีเมื่อจะเปลี่ยนถามปัญหาที่ปรวาทีตอบรับรองอยู่ว่า บรรดาธรรมเหล่านั้น ธรรมหนึ่งๆ เป็นแล้วเป็นอยู่ ชื่อว่าเป็นแล้วจึงเป็นอยู่ ด้วยสามารถแห่งปัญหาว่า อนาคตก็อันนั้นนั่นแหละ ปัจจุบันก็อันนั้น กระทำให้เป็นปัญหาปฏิเสธก่อน จึงถามว่า สิ่งที่ไม่เป็นอนาคต แล้วไม่เป็นปัจจุบัน ชื่อว่าไม่เป็นแล้วไม่เป็นอยู่หรือ?
               เนื้อความแห่งปัญหานั้นพึงทราบว่า เมื่อคำว่าอนาคตก็อันนั้นนั่นแหละ ปัจจุบันก็อันนั้น ท่านปฏิเสธปัญหาแรก ก็เป็นอันว่าท่านปฏิเสธความเป็นอยู่แห่งอนาคตและความเป็นแล้วแห่งปัจจุบัน มิใช่หรือ ด้วยเหตุนั้น อนาคตก็ชื่อว่าไม่เป็นอยู่ ปัจจุบันก็ชื่อว่าไม่เป็นแล้ว. แต่ในปัญหาที่ ๒ ท่านรับรองตามลัทธิของท่านว่า อนาคตก็อันนั้นนั่นแหละ ปัจจุบันก็อันนั้น ครั้นเมื่อความเป็นเช่นนั้นมีอยู่ แม้อนาคตก็ชื่อว่าไม่เป็นแล้วไม่เป็นอยู่ แม้ปัจจุบันก็ชื่อว่า ไม่เป็นแล้วไม่เป็นอยู่นั่นแหละ ด้วยเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอถามท่านว่า ตามลัทธิของท่าน บรรดาธรรมเหล่านั้น ธรรมหนึ่งๆ ไม่เป็นแล้วไม่เป็นอยู่หรือ? ปรวาทีเมื่อไม่เห็นอยู่ซึ่งความที่ธรรมเหล่านั้นไม่เป็นแล้วไม่เป็นอยู่ ราวกะบุคคลผู้อันความมืดปกคลุมแล้วโดยประการทั้งปวง จึงตอบปฏิเสธว่า ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น.
               แม้ในครั้งที่ ๒ กล่าวว่า ถ้าว่าปัจจุบันก็อันนั้นนั่นแหละ อดีตก็อันนั้นไซร้ ภาวะคือความเป็นอยู่อันท่านกล่าว ปัจจุบันในอดีต และภาวะคือความเป็นแล้วอันท่านกล่าวอดีตในปัจจุบันก็ย่อมปรากฏ.
               ก็ครั้นเมื่อความเป็นอย่างนี้มีอยู่ แม้ปัจจุบันก็ชื่อว่า เป็นแล้วเป็นอยู่ แม้อดีตก็ชื่อว่าเป็นแล้วเป็นอยู่นั่นแหละ. ด้วยเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอถามท่านว่า บรรดาธรรมเหล่านั้น ธรรมหนึ่งๆ ที่เป็นแล้วเป็น ชื่อว่าเป็นแล้วเป็นอยู่หรือ ปรวาทีปฏิเสธแล้วโดยนัยที่ท่านกล่าวแล้วในปัญหาที่ว่า ปัจจุบันก็อันนั้นแหละ อดีตก็อันนั้นแหละ ถูกถามอีก ก็ตอบรับรอง โดยนัยที่ท่านรับรองแล้วในปัญหาที่ ๒.
               ลำดับนั้น สกวาทีเมื่อจะเปลี่ยนถามปัญหาที่รับรองอยู่ว่า บรรดาธรรมเหล่านั้น ธรรมหนึ่งๆ ที่เป็นแล้วเป็น ชื่อว่าเป็นแล้วเป็นอยู่ ด้วยสามารถแห่งปัญหาว่า ปัจจุบันก็อันนั้นแหละ อดีตก็อันนั้นแหละ กระทำให้เป็นปัญหาปฏิเสธก่อน จึงถามว่า สิ่งที่ไม่เป็นปัจจุบัน แล้วไม่เป็นอดีต ชื่อว่าไม่เป็นแล้วไม่เป็นหรือ
               เนื้อความแห่งปัญหานั้นพึงทราบว่า เมื่อคำว่า ปัจจุบันก็อันนั้นแหละ อดีตก็อันนั้นแหละ ท่านปฏิเสธปัญหาแรกแล้ว ก็เป็นอันว่า ท่านปฏิเสธซึ่งภาวะคือความเป็นอยู่แห่งปัจจุบัน และภาวะคือความเป็นแล้วแห่งอดีตมิใช่หรือ ด้วยคำนั้น ปัจจุบันชื่อว่าไม่มีอยู่ อดีตก็ชื่อว่าไม่มีแล้ว.
               แต่ในปัญหาที่ ๒ ท่านตอบรับรองตามลัทธิว่า ปัจจุบันก็อันนั้นนั่นแหละ อดีตก็อันนั้นดังนี้ ครั้นเมื่อความเป็นอย่างนั้นมีอยู่ แม้ปัจจุบันก็ชื่อว่าไม่เป็นแล้วไม่เป็น แม้อดีตก็ชื่อว่าไม่เป็นแล้วไม่เป็นนั่นแหละ ด้วยเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอถามท่านว่า ธรรมดาธรรมเหล่านั้น ธรรมหนึ่งๆ ไม่เป็นแล้วไม่เป็น ชื่อว่าไม่เป็นแล้วไม่เป็นอยู่ตามลัทธิของท่านหรือ ปรวาทีเมื่อไม่เห็นซึ่งความที่ธรรมเหล่านั้นไม่เป็นแล้วจึงไม่เป็น ราวกะบุคคลอันความมืดมนปกคลุมแล้วโดยประการทั้งปวง จึงปฏิเสธว่า ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น.
               แม้ในวาระที่ ๓ กล่าวว่า ถ้าว่าอนาคตก็อันนั้นแหละ ปัจจุบันก็อันนั้น อดีตก็อันนั้นไซร้ ภาวะคือความมีอยู่อันท่านกล่าวอนาคต และปัจจุบันในปัจจุบันและอดีต และภาวะคือความเป็นแล้วอันท่านกล่าวปัจจุบันและอดีตในอนาคตและปัจจุบัน ก็ย่อมปรากฏ ครั้นเมื่อความเป็นอย่างนั้นมีอยู่ แม้อนาคตก็ชื่อว่าเป็นแล้วจึงเป็น แม้ปัจจุบัน แม้อดีตก็ชื่อว่าเป็นแล้วจึงเป็นนั่นแหละ ด้วยคำนั้น ข้าพเจ้าจึงถามท่านว่า ในธรรมแม้ทั้ง ๓ เหล่านั้น ธรรมอย่างหนึ่งๆ เป็นสิ่งที่เป็นแล้วเป็น ชื่อว่าเป็นแล้วจึงเป็นอยู่ตามลัทธิของท่านหรือ ปรวาทีตอบปฏิเสธว่า อนาคตก็อันนั้น ปัจจุบันก็อันนั้น อดีตก็อันนั้น โดยนัยที่ปฏิเสธแล้วนั่นแหละ ถูกถามอีก ก็ตอบรับรองในปัญหาที่ ๒ โดยนัยแห่งการรับรองนั่นแหละ.
               ลำดับนั้น สกวาทีเมื่อจะเปลี่ยนถามปัญหาอันปรวาทีรับรองอยู่ว่า ในบรรดาธรรมเหล่านั้น ธรรมอย่างหนึ่งๆ เป็นสิ่งที่เป็นแล้วเป็น ชื่อว่าเป็นแล้วจึงเป็นอยู่ ด้วยสามารถแห่งปัญหาว่า อนาคตก็อันนั้นแหละ ปัจจุบันก็อันนั้นแหละ อดีตก็อันนั้นแหละหรือ ดังนี้ กระทำให้เป็นปัญหาปฏิเสธว่าก่อน จึงถามว่า สิ่งที่ไม่เป็นแล้วไม่เป็น ชื่อว่าไม่เป็นแล้วไม่เป็นหรือ
               เนื้อความแห่งปัญหานั้น พึงทราบดังนี้ ครั้นเมื่อคำว่า อนาคตก็อันนั้นแหละ ปัจจุบันก็อันนั้น อดีตก็อันนั้น ท่านปฏิเสธปัญหาแรกแล้ว ภาวะคือความมีอยู่แห่งอนาคต ปัจจุบัน และภาวะคือความเป็นแล้วแห่งปัจจุบันอดีตทั้งหลายเป็นอันท่านปฏิเสธแล้วมิใช่หรือ ด้วยคำนั้น อนาคตและปัจจุบันก็ชื่อว่าไม่เป็น ปัจจุบันและอดีตก็ชื่อว่าไม่เป็นแล้ว.
               แต่ในที่ปัญหา ๒ ท่านตอบรับรองตามลัทธิว่า อนาคตก็อันนั้นแหละ ปัจจุบันก็อันนั้นแหละ อดีตก็อันนั้นแหละ ครั้นเมื่อความเป็นเช่นนั้นมีอยู่ แม้อนาคตก็ชื่อว่าไม่เป็นแล้วจึงไม่เป็น ปัจจุบันก็ดี อดีตก็ดี ก็ชื่อว่าไม่เป็นแล้วไม่เป็นอยู่เหมือนกัน ด้วยเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงถามท่านว่า ในธรรมเหล่านั้น ธรรมอย่างหนึ่งๆ ไม่เป็นแล้ว ไม่เป็น ชื่อว่าไม่เป็นแล้วไม่เป็นอยู่ตามลัทธิของท่านหรือ ปรวาทีเมื่อไม่เห็นซึ่งความที่ธรรมเหล่านั้นไม่เป็นแล้วไม่เป็นอยู่ราวกะผู้ถูกความมืดปกคลุมแล้วโดยประการทั้งปวง จึงตอบปฏิเสธว่า ไม่พึงกล่าวอย่างนั้นดังนี้แล.
               วจนโสธนา จบ.               

               อนึ่ง คำนิคคหะเป็นต้นในที่นี้ บัณฑิตพึงประกอบความโดยนัยที่กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแหละ. แม้ในปัญหาว่า จักขุอดีตมีอยู่เป็นต้น ปรวาทีตอบรับรองอดีต โดยการไม่เว้นจากความเป็นจักขุเป็นต้น ถูกถามว่า บุคคลเห็นรูปอดีต เป็นต้น ก็ตอบปฏิเสธด้วยสามารถแห่งความไม่มีกิจของวิญญาณเหล่านั้นอีก.
               ในปัญหาว่า บุคคลทำกิจที่พึงทำด้วยญาณได้ด้วยญาณอดีตนั้นหรือ ปรวาทีเมื่อไม่เห็นซึ่งความที่ญาณนั้นมีกิจที่พึงกระทำ เพราะความที่ญาณนั้นดับไปแล้วจึงตอบปฏิเสธ. ถูกถามอีก ปรวาทีทำปัจจุบันนั้นแหละให้เป็นอดีตญาณโดยเลสนัยของผู้มีอดีตญาณคือผู้รู้ ปัจจุบันญาณอันมีอดีตเป็นอารมณ์ของธรรมอันเป็นอดีตอารมณ์ทั้งหลาย แล้วจึงตอบรับรอง เพราะความที่กิจนั้นอันบุคคลพึงทำญาณได้ด้วยญาณนั้น. ที่นั้นสกวาทีไม่ให้โอกาสอันมีเลสนัยแก่ปรวาทีนั้น จึงกล่าวคำว่า บุคคลกำหนดรู้ทุกข์ได้ ละสมุทัยได้ ทำนิโรธให้แจ้งได้ ยังมรรคให้เกิดได้ ด้วยญาณอดีตนั้นหรือ ปรวาทีตอบปฏิเสธ เพราะความไม่มีกิจ ๔ ของอธิยสัจเหล่านี้ ด้วยญาณอันมีอดีตเป็นอารมณ์เลย.
               แม้ในปัญหาของอนาคตก็นัยนี้นั่นแหละ.
               ปัญหาว่าด้วยปัจจุบัน และปัญหาว่าด้วยการเปรียบเทียบ มีอรรถตื้นทั้งนั้นแล.
               แม้ในปัญหาว่า ราคะอดีตของพระอรหันต์มีอยู่หรือ เป็นต้น ปรวาทีตอบรับรองอย่างนั้น เพราะความเป็นผู้ไม่เว้นจากความเป็นผู้มีราคะเป็นต้น. ในปัญหาว่า พระอรหันต์ชื่อว่ามีราคะ เป็นต้น ปรวาทีตอบปฏิเสธ เพราะกลัวผิดจากพระสูตร และกลัวผิดจากการประกอบถ้อยคำ. คำแม้ทั้งปวงอย่างนี้ปรากฏแล้วข้างหน้าพึงเข้าใจตามทำนองพระบาลีนั่นแล.
               ในคำนี้ว่า สิ่งที่มีอยู่เป็นอดีตก็มี ไม่เป็นอดีตก็มี นี้ พึงทราบความอย่างนี้ว่า ธรรมใดเป็นอดีตนั่นแหละเป็นสภาพที่มี แต่สภาพที่มีนั้นเป็นอดีต ธรรมใดเป็นปัจจุบันและอนาคตเป็นสภาพที่มีแต่สภาพที่มีนั้นไม่เป็นอดีต. ข้อว่า ด้วยเหตุนั้นอดีตก็ไม่เป็นอดีต สิ่งที่ไม่ใช่อดีตก็เป็นอดีต. อธิบายว่า ด้วยเหตุนั้น อดีตก็เป็นสภาพที่ไม่ใช่อดีต แต่สภาพที่ไม่ใช่อดีตก็เป็นอดีต ดังนี้. แม้ในคำปุจฉาว่าด้วยอนาคตและปัจจุบันก็นัยนี้นั่นแหละ.
               คำถามโดยชำระพระสูตรของปรวาทีว่า ไม่พึงกล่าวว่า อดีตมีอยู่ อนาคตมีอยู่หรือ คำตอบรับรองเป็นของสกวาที. การซักถามของปรวาที อาศัยลัทธิของตนตามพระสูตรอีกว่า ภิกษุทั้งหลาย รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคตปัจจุบัน อันเป็นภายในก็ดี ภายนอกก็ดี เป็นต้น. ในนัยที่ ๒ เป็นคำถามของสกวาที คำตอบรับรองเป็นของปรวาที. คำถามก็ดี คำปฏิเสธก็ดี คำตอบรับรองก็ดี ในฐานะทั้งปวง บัณฑิตพึงทราบด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง คำนั้นใดว่า การเกิดในภพใหม่ต่อไป ก็มีอยู่ในที่นั้นเป็นต้น ที่ปรวาทีแสดงในสุดของพระสูตรที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากว่า ความยินดี ความเพลิดเพลิน ความอยาก ยังมีในกพฬีการาหาร ดังนี้เป็นต้นนั้น ก็เพื่อนำมาอ้างประกอบคำว่า อนาคตเป็นสภาพที่มีอยู่ แต่พระสูตรที่นำมาอ้างนั้นไม่สำเร็จซึ่งความที่อนาคตเป็นสภาพที่มีอยู่. จริงอยู่ พระสูตรที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในที่นั้น หมายเอาธรรมอันบุคคลเจริญแล้ว เพราะความที่เหตุทั้งหลายเป็นสภาพถึงความสำเร็จแล้ว. นี้เป็นการอธิบายพระสูตร. คำที่เหลือในที่ทั้งปวงตื้นทั้งนั้นแล.

               อรรถกถาสัพพมัตถีติวาทกถา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา กถาวัตถุปกรณ์ สัพพมัตถีติกถา จบ.
อ่านอรรถกถา 37 / 1อ่านอรรถกถา 37 / 286อรรถกถา เล่มที่ 37 ข้อ 301อ่านอรรถกถา 37 / 389อ่านอรรถกถา 37 / 1898
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=37&A=3751&Z=4680
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=3804
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=3804
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :