บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
ว่าด้วย พละ คือกำลัง ในเรื่องนั้น ชนเหล่าใดมีลัทธิดุจนิกายอันธกะทั้งหลายในขณะนี้ว่า กำลังพระตถาคตทั่วไปแก่พระสาวกทั้งหลาย เพราะถือเอาพระสูตร ๑๐ สูตรมีอนุรุทธสังยุตสูตรเป็นต้น โดยไม่พิจารณาว่า ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย ก็แล เราย่อมรู้ชัดซึ่งฐานะโดยความเป็นฐานะ และย่อมรู้ชัดอฐานะโดยความเป็นอฐานะตามความเป็นจริง เพราะความที่สติปัฏฐานทั้ง ๔ เหล่านี้ เราเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ดังนี้ คำถามของสกวาทีหมายถึงชนเหล่านั้น. คำตอบรับรองเป็นของปรวาที เพราะตั้งอยู่ในลัทธิ. อนึ่ง ชื่อว่ากำลังแห่งพระตถาคตนี้ ทั่วไปแก่พระสาวกทั้งหลายก็มี ไม่ทั่วไปก็มี ทั้งทั่วไปและไม่ทั่วไปก็มี มีอยู่. ในกำลังเหล่านั้น ญาณในความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายชื่อว่าสาธารณะ คือทั่วไปแก่พระสาวก แต่อินทริยปโรปริยัตติญาณ ได้แก่ญาณรู้ความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ เป็นอสาธารณญาณ คือญาณไม่ทั่วไป ญาณที่เหลือเป็นสาธารณะด้วย อสาธารณะด้วย. จริงอยู่ พระสาวกทั้งหลายย่อมรู้ซึ่งฐานาฐานญาณเป็นต้นได้บางอย่าง แต่พระตถาคตทั้งหลายย่อมรู้ฐานาฐานญาณเป็นต้นได้โดยสิ้นเชิง. พระสาวกทั้งหลายย่อมรู้สาธารณญาณเหล่านั้นโดยอุทเทส คือโดยหัวข้อ ไม่รู้โดยนิทเทส คือโดยนำออกแสดงโดยพิสดาร. ก็ลัทธินี้กล่าวว่า กำลังของพระตถาคตแม้ทั้งปวงว่าทั่วไปแก่พระสาวก โดยไม่แปลกกัน ดังนี้ เพื่อตำหนิลัทธินั้นๆ เพราะเหตุนั้น จึงเริ่มซักถามอีกว่า กำลังของพระตถาคตก็คือกำลังพระสาวก ดังนี้เป็นต้น. ในการตอบปัญหาเหล่านั้น ปัญหาที่ ๑ ปรวาทีหมายเอาความที่กำลังเหล่านั้น เป็นวิสัยคือเป็นอารมณ์แห่งอาการทั้งปวงโดยนิทเทส จึงตอบปฏิเสธ. ในปัญหาที่ ๒ ตอบรับรองด้วยสามารถแห่งญาณมีฐานาฐานญาณเป็นต้นโดยอุทเทส. ในปัญหาว่า กำลังของพระตถาคตอันนั้น กำลังของพระสาวกก็อันนั้นแหละ ปรวาทีตอบปฏิเสธ เพราะไม่มีการกระทำที่แตกต่างกันโดยอาการทั้งปวง. บุรพประโยค คือการประกอบในเบื้องต้นก็ดี บุรพจริยาคือการประพฤติเบื้องต้นก็ดี ย่อมเป็นอย่างเดียวกันโดยอรรถ. การกล่าวธรรมด้วย การแสดงธรรมด้วย ก็เป็นเช่นเดียวกัน. ในปัญหาว่าด้วยอินทริยปริยัตติญาณ ปรวาทีตอบรับรองในวิสัย คืออารมณ์แห่งพระสาวก หมายเอาทั่วไปโดยเอกเทส คือบางส่วน. บัดนี้ ปัญหาของปรวาทีมีคำว่า พระสาวกรู้ฐานะและอฐานะหรือ เป็นต้น เพื่อให้ตั้งไว้ซึ่งความที่ญาณเหล่านั้นเป็นสาวกสาธารณญาณ โดยความที่ท่านย่อมรู้ฐานาฐานญาณเป็นต้นโดยอุทเทส เพราะฉะนั้นจึงประกาศความรู้อรรถของพระสาวกสักว่าการรู้นั้น. ในปัญหานั้น ปรวาทีไม่ถือเอาอินทริยปโรปริยัตติญาณซึ่งเป็นญาณอย่างใดอย่างหนึ่งแห่งอสาธารณญาณ ๖. คำว่า ความสิ้นอาสวะแห่งพระตถาคตกับความสิ้นอาสวะแห่งพระสาวก ดังนี้ อธิบายว่า คำใดอันบุคคลควรกล่าวพึงมีเพราะอาศัยการสิ้นอาสวะของพระตถาคต กับการสิ้นอาสวะของพระสาวกนั้น ความแตกต่างกันหามีไม่. แม้ในบทว่า ความหลุดพ้นแห่งพระตถาคต กับความหลุดพ้นแห่งพระสาวก ก็นัยนี้นั่นแหละ. คำที่เหลือในที่นี้มีเนื้อความง่ายทั้งนั้น. บัดนี้ ปัญหาของปรวาทีว่า ในความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เป็นต้นนั่นแหละอีก เพื่อเปรียบเทียบญาณในความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายของพระตถาคต กับพระสาวก ที่สกวาทีตอบรับรองเป็นสาธารณญาณนั้น แล้วจึงถามซึ่งความเป็นสาธารณญาณทั้งหลายแม้ที่เหลือ. ญาณนั้นอันสกวาทีผู้แก้ปัญหารับรองแล้วว่าเป็นสาธารณญาณ เพราะไม่มีอะไรแปลกกันในการสิ้นอาสวะเลย. ในญาณทั้งหลายนอกจากนี้ ท่านตอบปฏิเสธความเป็นญาณสาธารณะเพราะไม่มีพิเศษในพระสาวก. คำถามเรื่อง อสาธารณญาณ๑- ของปรวาทีเปรียบเทียบอาสวักขยญาณนั้นนั่นแหละกับบรรดาญาณทั้งหลาย มีฐานาฐานญาณเป็นต้นอีก. ในการวิสัชนาปัญหานั้น สกวาทีปฏิเสธในอาสวักขยญาณแต่รับรองในญาณแม้ที่เหลือ. ต่อจากนี้เป็นคำถามอสาธารณญาณของปรวาที เปรียบเทียบกับอินทริยปโรปริยัตติญาณ. ญาณนั้นท่านแสดงไว้โดยย่อ. แม้ในการวิสัชนาปัญหา สกวาทีตอบรับรองในอินทริยปโรปริยัตติญาณ ตอบปฏิเสธในญาณที่เหลือทั้งหลาย. ต่อจากนั้นคำถามสาธารณญาณแห่งอินทริยปโรปริยัตติญาณ ของปรวาทีซึ่งเปรียบเทียบกับฐานาฐานญาณทั้งหลาย. ญาณแม้นั้น ท่านก็แสดงไว้โดยย่อ. ในการวิสัชนาปัญหานั้น สกวาทีตอบปฏิเสธในอินทริยปโรปริยัตติญาณ ตอบรับรองในญาณทั้งหลายที่เหลือ ด้วยประการฉะนี้แล. ____________________________ ๑- อสาธารณญาณ ๖ ได้แก่ ญาณที่ไม่ทั่วไปแก่พระสาวกทั้งหลาย ๖ คือ :- ๑. อินทริยปโรปริยัตติญาณ ได้แก่ ปัญญาหยั่งรู้ความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย. ๒. อาสยานุสยญาณ ได้แก่ ปัญญาหยั่งรู้อาสยะ คืออัธยาศัย และกิเลสที่นอนเนื่องในสันดานของสัตว์. ๓. ยมกปาฏิหิรญาณ ได้แก่ ปัญญาหยั่งรู้การทำยมกปาฏิหาริย์ ๔. มหากรุณาสมาปัตติญาณ ได้แก่ ปัญญาหยั่งรู้ในการเข้ามหากรุณาสมบัติ ๕. สัพพัญญุตญาณ ได้แก่ ปัญญาหยั่งรู้ธรรมทั้งปวง ๖. อนาวรณญาณ ได้แก่ ปัญญาหยั่งรู้ธรรมอันไม่มีอะไรขัดข้อง. อรรถกถาพลกถา จบ. ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา กถาวัตถุปกรณ์ วรรคที่ ๓ พลกถา จบ. |