ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 37 / 1อ่านอรรถกถา 37 / 696อรรถกถา เล่มที่ 37 ข้อ 720อ่านอรรถกถา 37 / 738อ่านอรรถกถา 37 / 1898
อรรถกถา กถาวัตถุปกรณ์
วรรคที่ ๓ อริยันติกถา

               อรรถกถาอริยันติกถา               
               ว่าด้วยเป็นอริยะ               
               บัดนี้ ชื่อว่าเรื่องเป็นอริยะ.
               ในปัญหานั้น ลัทธิแห่งชนเหล่าใด ดุจลัทธิของนิกายอันธกะทั้งหลายในขณะนี้ว่า อาสวักขยญาณเป็นอริยะอย่างเดียวเท่านั้นหามิได้ โดยที่แท้แม้ญาณเบื้องต้น#- ๙ อย่างที่เป็นกำลัง ก็เป็นอริยะด้วย ดังนี้ สกวาทีหมายชนเหล่านั้น จึงถามว่า การรู้ตามจริงในฐานะและอฐานะ เป็นอริยะหรือ คำตอบรับรองเป็นของปรวาที. คำถามด้วยสามารถแห่งมรรคเป็นต้นว่า ญาณนี้ใดในอริยมรรค เป็นต้น ญาณอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นพึงเป็นอริยะหรือ อีก เป็นของสกวาที คำตอบปฏิเสธเป็นของปรวาที.
____________________________
#- ทสพลญาณ ญาณอันเป็นกำลัง ๑๐ คือ :-
               ๑. ฐานาฐานญาณ ปรีชาหยั่งรู้ฐานะและอฐานะ
               ๒. วิปากญาณ ปรีชาหยั่งรู้ผลแห่งกรรม
               ๓. สัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณ ปรีชาหยั่งรู้ทางไปสู่ภูมิทั้งปวง
               ๔. นานาธาตุญาณ ปรีชาหยั่งรู้ธาตุต่างๆ
               ๕. นานาธิมุตติญาณ ปรีชาหยั่งรู้อธิมุตติ คืออัธยาศัยของสัตว์ต่างๆ
               ๖. อินทริโยปริยัตติญาณ ปรีชาหยั่งรู้ความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์
               ๗. ฌานาทิสังกิเลสาทิญาณ ปรีชาหยั่งรู้อาการมีความเศร้าหมองเป็นต้นแห่งธรรมมีฌานเป็นตน
               ๘. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
               ๙. จุตูปปาตญาณ
               ๑๐. อาสวักขยญาณ.


               คำถามว่าด้วย สุญญตารมณ์ เป็นต้นอีก เป็นของสกวาที. ในคำถามนั้น สุญญตา ๒ อย่าง คือ สัตตสุญญตา ความว่างเปล่าจากสัตว์ ๑ สังขารสุญญตา ความว่างเปล่าจากสังขาร ๑.
               ปัญจขันธ์เป็นสภาพว่างเปล่าจากสัตว์ อันชาวโลกสมมติไว้ด้วยทิฏฐิ ชื่อว่าสัตตสุญญตา
               พระนิพพานเป็นสภาพว่างเปล่าสงัดแล้ว เป็นธรรมชาติออกไปแล้วจากสังขารทั้งปวง ชื่อว่าสังขารสุญญตา.
               ในปัญหานั้น ปรวาทีหมายเอาความว่างเปล่าที่เป็นอารมณ์ของพระนิพพาน จึงปฏิเสธ แต่รับรองเพราะหมายเอาความว่างเปล่าที่เป็นอารมณ์ของสังขาร. แม้ถูกถามว่า ทรงทำไว้ในพระทัย ก็ปฏิเสธเพราะหมายเอาพระนิพพานเท่านั้น ย่อมตอบรับรองเพราะหมายเอาสังขารทั้งหลาย.
               ต่อจากนั้นถูกสกวาทีถามว่า เป็นการประชุมแห่งผัสสะ ๒ อย่างแห่งจิต ๒ ดวงหรือ เพราะถือเอานัยนี้ว่า ผู้มีมนสิการในฐานญาณและอฐานญาณเป็นต้นมีสังขารเป็นอารมณ์ แต่ผู้มีมนสิการในความว่างเปล่ามีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ปรวาทีนั้นเมื่อไม่ได้โอกาสอันมีเลสนัย จึงปฏิเสธ.
               แม้อนิมิตตะและอัปปณิหิตะ ก็นัยนี้นั้นแหละ.
               จริงอยู่ ขันธ์ทั้งหลายชื่อว่าไม่มีนิมิต เพราะไม่มีนิมิตคือสัตว์ พระนิพพานชื่อว่าไม่มีนิมิต เพราะไม่มีนิมิตคือสังขาร. ขันธ์ทั้งหลายชื่อว่าอัปปณิหิตะ คือไม่มีที่ตั้ง โดยการตั้งความปรารถนาแห่งสัตว์อันถึงการนับว่า ปณิธิ เพราะอรรถว่าพึงตั้งไว้ กล่าวคืออันเขายกขึ้นแล้วพึงตั้งไว้แม้ในธรรมอย่างหนึ่ง. พระนิพพานชื่อว่าอัปปณิหิตะ คือไม่มีที่ตั้ง ด้วยการตั้งไว้ซึ่งตัณหา หรือด้วยการตั้งไว้ซึ่งสังขารทั้งปวงอันเป็นอารมณ์แห่งตัณหา. เพราะฉะนั้นในการวิสัชชนาแม้นี้ ทั้งการปฏิเสธและการรับรอง บัณฑิตพึงทราบโดยนัยก่อนนั่นเทียว.
               ต่อจากนี้ อนุโลมและปฏิโลมปัญหาว่า โลกุตตรธรรมทั้งหลายมีสติปัฏฐานเป็นต้น เป็นอริยะด้วย มีสุญญตะเป็นต้น เป็นอารมณ์ด้วย ฉันใด ญาณเป็นเครื่องหยั่งรู้ฐานะและอฐานะโดยลัทธิของท่านฉันนั้นหรือ ในการวิสัชชนาปัญหานั้น การตอบรับรองแม้ทั้งปวงและการปฏิเสธทั้งปวง เป็นของปรวาที.
               บัณฑิตพึงทราบคำถามและคำตอบแม้ในญาณที่เหลือโดยอุบายนี้.
               แต่ในบาลี ท่านย่อญาณที่เหลือไว้แล้วก็จำแนกจุตูปปาตญาณไว้สุดท้าย.
               ข้างหน้าต่อจากนี้ เป็นคำถามถึงความเป็นพระอริยะทั้งโดยอนุโลม และปฏิโลมแห่งญาณทั้งหลายที่เหลือ เปรียบเทียบกับอาสวักขยญาณอันสำเร็จแล้วว่าเป็นอริยะ แม้ในลัทธิของตน. คำถามทั้งปวงเป็นของปรวาที. สกวาทีตอบรับรองด้วย ปฏิเสธด้วย. เนื้อความเหล่านั้นมีอรรถง่ายทั้งนั้น.
               ส่วนในบาลี ท่านย่อญาณทั้ง ๗ ไว้ในที่นี้แล้วแสดงดุจนัยที่ ๑ นั่นแล.

               อรรถกถาอริยันติกถา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา กถาวัตถุปกรณ์ วรรคที่ ๓ อริยันติกถา จบ.
อ่านอรรถกถา 37 / 1อ่านอรรถกถา 37 / 696อรรถกถา เล่มที่ 37 ข้อ 720อ่านอรรถกถา 37 / 738อ่านอรรถกถา 37 / 1898
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=37&A=7573&Z=7779
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=4292
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=4292
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๖  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :