ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 37 / 1อ่านอรรถกถา 37 / 68อรรถกถา เล่มที่ 37 ข้อ 76อ่านอรรถกถา 37 / 92อ่านอรรถกถา 37 / 1898
อรรถกถา กถาวัตถุปกรณ์
ปุคคลกถา คติอนุโยค

               อรรถกถาคติอนุโยค               
               ว่าด้วยการซักถามเรื่องคติ               
               บัดนี้ เป็นการซักถามถึงจุติปฏิสนธิ โดยเฉพาะการเปลี่ยนคติ คือเปลี่ยนภพใหม่. ในปัญหานั้น ปุคคลวาทีอาศัยพระสูตรทั้งหลายว่า บุคคลท่องเที่ยวไปสิ้น ๗ ชาติเป็นอย่างยิ่ง เป็นต้น แล้วถือเอาลัทธินั้นกล่าวว่า บุคคลท่องเที่ยวไป ดังนี้ เพราะฉะนั้น เพื่อจะทำลายลัทธิของปุคคลวาทีนั้น สกวาทีจึงถามว่า บุคคลท่องเที่ยวไปหรือ?
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า ท่องเที่ยวไป ได้แก่ การท่องเที่ยว คือการไปๆ มาๆ ในสงสาร.
               คำตอบรับรอง เป็นของปรวาทีด้วยสามารถแห่งลัทธิของตน.
               แม้คำซักถามของสกวาที บุคคลนั้น เป็นต้น คำปฏิเสธเป็นของปรวาที.
               ในปัญหานั้น คำว่า บุคคลนั้น อธิบายว่า บุคคลนั่นแหละ. ก็สกวาทีประกอบคำถามอย่างนี้ ปรวาทีจึงตอบปฏิเสธ เพราะกลัวจะถูกกล่าวหาว่าเป็นสัสสตทิฏฐิ. ถูกถามว่า บุคคลอื่น ก็ตอบปฏิเสธเพราะกลัวแต่จะถูกกล่าวหาว่าเป็นอุจเฉททิฏฐิ. ถูกถามว่า บุคคลนั้นด้วย บุคคลอื่นด้วย ก็ตอบปฏิเสธ เพราะกลัวแต่เอกัจจสัสสตทิฏฐิ คือลัทธิเห็นว่าเที่ยงบางอย่าง. ถูกถามว่า ไม่ใช่บุคคลนั้น ไม่ใช่บุคคลอื่น ก็ตอบปฏิเสธ เพราะกลัวแต่อมราวิกเขปทิฏฐิ คือลัทธิที่มีความเห็นไม่ตายตัว.
               ถูกถามปัญหาแม้ทั้ง ๔ รวมกันอีกก็ปฏิเสธ เพราะกลัวเป็นทิฏฐิแม้ทั้ง ๔.
               อนึ่ง ลัทธิของปรวาทีนั้นอาศัยพระสูตรทั้งหลายเหล่าใดเกิดขึ้น สกวาทีนั้น เมื่อจะแสดงพระสูตรเหล่านั้นอีก จึงกล่าวคำว่า ถ้าอย่างนั้น บุคคลท่องเที่ยวไปหรือ เป็นต้น สกวาทีกำหนดคำว่า บุคคลนั้นนั่นแหละ แล้วถามโดยความประสงค์อีกว่า บุคคลใดท่องเที่ยวไปตามลัทธิของท่าน บุคคลนั้นเป็นคนๆ เดียวกันในโลกนี้ด้วยในโลกอื่นด้วยหรือ
               ปรวาทีปฏิเสธ เพราะกลัวเป็นสัสสตทิฏฐิ.
               ครั้นถูกถามซ้ำอย่างนั้นนั่นแหละอีก จึงตอบรับรอง เพราะว่า พระสูตรว่า บุคคลนั้นไม่ใช่บุคคลอื่น เมื่อเขาเคลื่อนจากโลกนั้นแล้วเกิดในโลกนี้ ดังนี้เป็นต้น มีอยู่.
               ถูกถามว่า มนุษย์คนนั้นนั่นแหละเป็นเทวดาหรือ ก็ตอบปฏิเสธ เพราะมนุษย์นั่นแหละมิใช่เทวดา.
               ถูกถามซ้ำอีกก็ตอบรับรองด้วยสามารถแห่งพระสูตรว่า สมัยนั้น เราเป็นศาสดาชื่อสุเนตตะ เป็นต้น. ทีนั้น สกวาที เมื่อจะประกาศคำนั้นว่า ผิด เพราะความต่างกันแห่งความเกิดขึ้นของเทวดาและมนุษย์ จึงกล่าวคำว่า เป็นมนุษย์ก็อย่างหนึ่ง เป็นต้น.
               ในคำเหล่านั้นคำว่า ความตายจักไม่มี อธิบายว่า ครั้นเมื่อความเช่นนั้นมีอยู่ ความตายก็จักไม่มี.
               ต่อจากนี้ไป คำว่า เป็นยักษ์ เป็นเปรต เป็นต้น บัณฑิตพึงทราบความต่างกันแห่งการซักถามด้วยสามารถแห่งความต่างกันด้วยอัตภาพ.
               คำว่า กษัตริย์ เป็นต้น สกวาทีกล่าวด้วยสามารถแห่งชาติและด้วยสามารถแห่งความบกพร่องของอวัยวะเป็นต้น. คำว่า ไม่พึงกล่าวว่า บุคคลท่องเที่ยวไปจากโลกนี้สู่โลกหน้า จากโลกหน้ามาสู่โลกนี้หรือ อีก ที่ปรวาทีถามแล้ว สกวาทีตอบรับรองว่า ใช่ บุคคลไม่ท่องเที่ยวไป เพราะความไปสู่ปรโลกของผู้ดำรงอยู่ในภพนี้ด้วยสามารถแห่งการเกิดไม่มี. คำตอบรับรอง แม้ครั้งที่ ๒ เป็นของสกวาทีนั่นแหละ เพราะความไม่มีพระโสดาบันแม้ในภพอื่นของพระโสดาบันอีก.
               คำว่า หากว่า เป็นต้น เป็นของปรวาที.
               การซักถามถึงบุคคลผู้เกิดในเทวโลก ด้วยการแสดงถึงอัตภาพของมนุษย์อีกเป็นของสกวาที. เบื้องหน้าแต่นี้คำว่า ไม่เป็นอื่น ในคำว่า ไม่เป็นอื่นไม่แปรผัน นี้เป็นเช่นเดียวกันโดยอาการทั้งปวง.
               คำว่า ไม่แปรผัน อธิบายว่า ไม่เปลี่ยนแปลงโดยอาการแม้อย่างหนึ่ง.
               คำว่า ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น อธิบายว่า ปรวาทีกล่าวอย่างนี้เพราะความเป็นมนุษย์แห่งพระโสดาบันผู้เกิดขึ้นในเทวโลก. พระสกวาทีถามปัญหานั้นอีก ปรวาทีก็ตอบรับรองตามลัทธิว่า บุคคลนั้นนั่นแหละท่องเที่ยวไป.
               คำว่า คนมีมือด้วน เป็นต้น สกวาทีกล่าวเพื่อทำลายลัทธิว่า บุคคลไม่เปลี่ยนแปลง ท่องเที่ยวไปโดยการให้เห็นถึงการเปลี่ยนลักษณะ. ในคำเหล่านั้น คำว่า นิ้วด้วน ได้แก่ นิ้วมือนิ้วเท้าของบุคคลใดขาดแล้ว. คำว่า เอ็นใหญ่ขาด ได้แก่ เส้นเอ็นใหญ่ของผู้ใดขาดแล้ว. ในคำทั้งหลายมีคำว่า มีรูปท่องเที่ยวไป เป็นต้น ปรวาทีตอบปฏิเสธในปัญหาแรก หมายเอาการไม่ท่องเที่ยวไปกับรูปกายนี้.
               ในปัญหาที่ ๒ ตอบรับรองหมายเอาบุคคลผู้มีภพในระหว่าง.
               จริงอยู่ ในลัทธิของเขานั้น บุคคลมีรูปเข้าไปสู่ท้องของมารดา แต่นั้นรูปของผู้เข้าไปสู่ท้องมารดานั้นย่อมแตกดับไปนี้ เรียกว่า มีภพในระหว่างของเขา.
               คำว่า ชีพก็อันนั้น ความว่า สกวาทีถามว่า บุคคลย่อมไปพร้อมกับสรีระ กล่าวคือ รูปอันใด ชีพของเขาก็อันนั้นนั่นแหละ สรีระก็อันนั้นหรือ? ปรวาทีตอบปฏิเสธ เพราะการต้องทอดทิ้งสรีระไว้ในโลกนี้ และเพราะผิดจากพระสูตร.
               ในคำทั้งหลาย มีคำว่า เป็นผู้มีเวทนาท่องเที่ยวไปหรือ เป็นต้น ปรวาทีตอบปฏิเสธ เพราะหมายเอาความเกิดขึ้นแห่งอสัญญสัตว์. ย่อมตอบรับรองหมายเอาการเกิดขึ้นนอกจากอสัญญสัตว์นั้น.
               คำว่า ชีพก็อันนั้น ความว่า สกวาทีย่อมถามว่า ชีพท่องเที่ยวไปพร้อมกับสรีระ ก็อันนั้นหรือ? ดังนี้ ที่จริง คำว่า สรีระ ในลัทธินี้ว่า ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ชีพเป็นอื่น สรีระก็เป็นอื่น นี้ท่านหมายเอาขันธ์แม้ทั้ง ๕. ปรวาทีตอบปฏิเสธ เพราะผิดจากพระสูตร.
               ในคำทั้งหลายมีคำว่า ไม่มีรูปท่องเที่ยวไปหรือ ในปัญหาที่หนึ่ง ปรวาทีตอบปฏิเสธ หมายเอาภพมีในระหว่างตามลัทธิ. ถูกถามครั้งที่ ๒ ก็ตอบรับรองหมายเอานามที่เกิดในอรูปภพ.
               คำว่า ชีพเป็นอื่น ความว่า สกวาทีถามว่า บุคคลไม่มีรูปละสรีระกล่าวคือรูปอันใดท่องเที่ยวไป สรีระอันนั้นเป็นอย่างหนึ่ง ชีพนั้นก็เป็นอย่างหนึ่ง ตามลัทธิของท่านหรือ? ปรวาทีตอบปฏิเสธ เพราะผิดจากพระสูตร.
               คำถามว่า เป็นผู้ไม่มีเวทนาท่องเที่ยวไป เป็นต้น ปรวาทีหมายเอาภพที่มีสัญญา จึงตอบปฏิเสธ. ย่อมตอบรับรองหมายเอาอุปปัตติภพอื่นนอกจากสัญญีภพนั้น.
               คำถามว่า ชีพเป็นอื่น ความว่า สกวาทีถามว่า บุคคลไม่มีเวทนา ไม่มีวิญญาณละสรีระ กล่าวคือ เวทนาเป็นต้น ย่อมท่องเที่ยวไปสรีระของผู้นั้นก็เป็นอย่างหนึ่ง ชีพของผู้นั้นก็เป็นอย่างหนึ่งหรือ? ปรวาทีตอบปฏิเสธเพราะผิดจากพระสูตร.
               ในคำเป็นต้นว่า รูปท่องเที่ยวไปหรือ ความว่า สกวาทีถามว่า เพราะอาศัยขันธ์ทั้งหลายมีรูปเป็นต้นเหล่าใด ย่อมบัญญัติซึ่งบุคคล เมื่อบุคคลนั้นท่องเที่ยวไปตามลัทธิของท่าน รูปแม้นั้นก็ย่อมท่องเที่ยวไปหรือ? ปรวาทีตอบปฏิเสธการท่องเที่ยวไปแห่งรูป ไม่ปฏิเสธการท่องเที่ยวไปแห่งสัตว์ โดยพระสูตรที่ถือเอาเป็นลัทธิว่า การเที่ยวไปแห่งสัตว์ทั้งหลายผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น ผู้มีตัณหาเป็นเครื่องผูกพัน มีอยู่.
               เมื่อถูกถามซ้ำอีกก็กล่าวรับรองว่า รูปท่องเที่ยวไป โดยความสำคัญว่า บุคคลเว้นซึ่งธรรมทั้งหลายมีรูปเป็นต้น ย่อมไม่มี เพราะฉะนั้น ครั้นเมื่อบุคคลนั้นท่องเที่ยวไป รูปแม้นั้นก็ต้องท่องเที่ยวไป.
               แม้ในธรรมทั้งหลายมีเวทนาเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ในคำทั้งหลาย มีคำว่า รูปไม่ท่องเที่ยวไปหรือ เป็นต้น อธิบายว่า ท่านกล่าวว่า รูปของท่านไม่ใช่บุคคล บุคคลเท่านั้นย่อมท่องเที่ยวไป เหตุใด เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอถามท่านว่า รูปของท่านนั้น ไม่ท่องเที่ยวไปหรือ?
               ปรวาทีตอบปฏิเสธด้วยหมายเอาว่าบุคคลท่องเที่ยวไป ไม่อาจท่องเที่ยวไปด้วยรูปที่เป็นอุปาทานของผู้นั้น เมื่อถูกถามซ้ำอีก ก็ตอบรับรอง เพราะการท่องเที่ยวไปแห่งสัตว์ทั้งหลายนั่นเทียว.
               คำที่เหลือมีเนื้อความง่ายทั้งนั้น.
               อนึ่งเนื้อความแห่งคาถาทั้งหลายพึงทราบดังนี้ ว่าโดยมติของท่านผู้มีอายุ บุคคลอาศัยขันธ์ทั้งหลายจึงมีอยู่ดุจเงาต้นไม้อาศัยต้นไม้ และดุจไฟอาศัยเชื้อไฟ ครั้นเมื่อความท่องเที่ยวไปแห่งธรรมทั้งหลายมีรูปเป็นต้นไม่มี เมื่อขันธ์ทั้งหลายเหล่านั้นแตกดับไป ก็ถ้าบุคคลของท่านย่อมไม่แตกดับไปไซร้ เมื่อความเป็นเช่นนี้มีอยู่ ความเห็นว่าขาดสูญย่อมเกิด อุจเฉททิฏฐิย่อมปรากฏแก่เขา. ถามว่า ทิฏฐิเหล่าไหนย่อมเกิด ตอบว่า อกุสลทิฏฐิเหล่าใดที่พระพุทธเจ้าทรงเว้นขาดแล้ว ทิฏฐิเหล่านั้นย่อมเกิด.
               ท่านย่อมแสดงว่า ก็ปริยายภาษิตอันใดที่ว่า พระสมณะโคดมผู้เป็นอุจเฉทวาที ดังนี้ พวกเราทั้งหลายย่อมไม่กล่าวคำนั้น. แม้อีกอย่างหนึ่ง เมื่อขันธ์เหล่านั้นแตกดับไป บุคคลนั้นย่อมไม่แตกดับไปไซร้ ครั้นเมื่อความเป็นเช่นนั้นมีอยู่ บุคคลก็เที่ยง บุคคลนั้นก็จะเสมอเหมือนกับพระนิพพานตามทิฏฐินั้น. คำว่า เสมอเหมือน ได้แก่เสมออย่างยิ่ง อีกอย่างหนึ่งเรียกว่า เสมอด้วยเสมอ หรือเสมอโดยความเสมอนั่นเทียว เหมือนอย่างว่าพระนิพพานย่อมไม่เกิดย่อมไม่ดับ ฉันใด แม้บุคคลนั้นก็ย่อมไม่เกิดย่อมไม่ดับฉันนั้น. บุคคลเสมอเหมือนด้วยพระนิพพานนั้น (ตามลัทธินั้นย่อมมี) ด้วยประการฉะนี้แล.

               อรรถกถาคติอนุโยค จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา กถาวัตถุปกรณ์ ปุคคลกถา คติอนุโยค จบ.
อ่านอรรถกถา 37 / 1อ่านอรรถกถา 37 / 68อรรถกถา เล่มที่ 37 ข้อ 76อ่านอรรถกถา 37 / 92อ่านอรรถกถา 37 / 1898
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=37&A=835&Z=1038
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=3256
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=3256
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :