บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
ว่าด้วยคำว่า ชื่อว่าพุทธะเพราะโพธิ๑- ๑- คำว่า โพธิ แปลว่าปัญญาเครื่องตรัสรู้ ในที่นี้ ท่านหมายเอามัคคญาณบ้าง สัพพัญญุตญาณบ้าง ท่านผู้รู้ได้กล่าวคำว่า "โพธิ" ไว้ ๕ นัยคือ ๑. ต้นโพธิที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ อุทาหรณ์ว่า โพธิรุกฺ ๒. มัคคจิต อุทาหรณ์ว่า โพธิ วุจฺจติ จตูสุ มคฺเคสุ ญาณํ. แปลว่า ญาณในมรรค ๔ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า โพธิ ๓. สัพพัญญุตญาณ อุทาหรณ์ว่า ปปฺโปติ โพธิ วรภูริ เมธโส. แปลว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบรรลุโพธิ คือสัพพัญญุตญาณด้วยภูมิปัญญาอันยอดเยี่ยม ๔. พระนิพพานอุทาหรณ์ว่า ปตฺวาน โพธิ อมตํ อสงฺขตํ. แปลว่า ทรงบรรลุแล้วซึ่งโพธิ คือพระนิพพาน อันเป็นอมตะอันปัจจัยอะไรๆ ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว ๕. เป็นชื่อเฉพาะ อุทาหรณ์ว่า โพธิ ภนฺเต ราชกุมาโร. แปลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราชกุมารชื่อว่าโพธิ. บัดนี้ ชื่อว่าเรื่องชื่อว่าพุทธะเพราะโพธิ คือปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้. ในเรื่องนั้น คำว่า "โพธิ" เป็นชื่อของมัคคญาณ ๔ บ้าง เป็นชื่อของสัพพัญญุตญาณบ้าง. เพราะฉะนั้น ชนเหล่าใดมีความเห็นดุจลัทธิของนิกายอุตตราปถกะทั้งหลาย นั่นแหละในขณะนี้ว่า ชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้าเพราะโพธิ เหมือนคำว่า ชื่อว่าคนขาวเพราะผิวขาว ชื่อว่าคนดำเพราะผิวดำ ฉะนั้น ดังนี้ คำถามก็ดี คำซักถามก็ดีของสกวาทีหมายชนเหล่านั้น คำตอบรับรองก็ดี คำปฏิเสธก็ดี เป็นของปรวาที. ในปัญหาว่า เพราะปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ที่เป็นอดีต เป็นต้น ปรวาทีตอบปฏิเสธเพราะขณะนั้นไม่มี. ถูกถามครั้งที่ ๒ ท่านตอบรับรองหมายเอาการได้โดยเฉพาะ. ถูกถามด้วยด้วยสามารถแห่งกิจอีกท่านตอบปฏิเสธ เพราะไม่มีกิจที่พึงทำ. ถูกถามครั้งที่ ๒ ท่านตอบรับรองซึ่งความที่กิจอันใดที่ปัญญานั้นทำแล้วเป็นผู้ไม่หลงลืมในกิจนั้น. ก็แลสกวาทีไม่ให้โอกาสอันมีเลศนัยจึงถามโดยนัยว่า ยังกำหนดรู้ทุกข์เป็นต้น ปรวาทีตอบปฏิเสธเพราะความไม่มีกิจนั้น. ในปัญหาว่าด้วยอนาคต ปรวาทีตอบปฏิเสธเพราะไม่มีมรรคญาณในขณะนั้น. ถูกถามครั้งที่ ๒ ปรวาทีผู้สำคัญอยู่ซึ่งความเป็นพระพุทธเจ้า เพราะโพธิอันเป็นอนาคตด้วยบาลีว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จถึงเมืองราชคฤห์แล้วเป็นต้น จึงตอบรับรอง. ถูกถามว่า กระทำกิจที่พึงทำด้วยปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ ปรวาทีตอบปฏิเสธเพราะความไม่มีกิจในขณะนั้น. ถูกถามครั้งที่ ๒ ท่านตอบรับรองด้วยคำว่า ชื่อว่ากำลังทำอยู่นั่นแหละ เพราะใครๆ ไม่พึงกล่าวว่าพระพุทธเจ้าไม่พึงทำกรณียกิจ ควรกล่าวได้ว่าจักทำแน่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่ากระทำอยู่นั่นแหละ. ถูกสกวาทีถามแล้วโดยไม่ให้โอกาสอันมีเลศนัยอีก ก็ตอบปฏิเสธ. ปัญหาว่าด้วยปัจจุบันพร้อมทั้งการเปรียบเทียบมีอรรถตื้นทั้งนั้น. ถูกถามรวมโพธิ ๓ คือที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบันเป็นอย่างเดียวกัน ท่านหมายเอาสัพพัญญุตญาณจึงตอบรับรอง เพราะภาวะอันบุคคลพึงกล่าวว่าเป็นพระพุทธเจ้าด้วยโพธิทั้ง ๓. ถูกถามรวมโพธิทั้ง ๓ อีก ปรวาทีตอบปฏิเสธเพราะญาณทั้ง ๓ นั้น ไม่มีในขณะเดียวกัน. ถูกถามครั้งที่ ๒ ท่านก็ตอบรับรองด้วยสามารถแห่งสัพพัญญุตญาณที่เป็นทั้งอดีตอนาคตและปัจจุบัน. สกวาทีไม่ให้โอกาสอันมีเลศนัยแก่ปรวาทีอีก จึงถามว่า ประกอบตั้งมั่น เป็นต้น ท่านตอบปฏิเสธ. คำถามว่า ไม่พึงกล่าวว่า ชื่อว่าพุทธะเพราะปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้หรือ เป็นของปรวาที คำรับรองเป็นของสกวาที เพราะไม่บรรลุความเป็นพระพุทธเจ้าในขณะแห่งโพธิหามีไม่. อนึ่งในปัญหาว่า เพราะการได้ปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้มิใช่หรือ สกวาทีนั้นนั่นแหละตอบรับรองว่า ใช่ เพราะสภาพแห่งสมมติว่า มัคคญาณอันบัณฑิตเรียกว่าโพธิเกิดขึ้นแล้วในสันดานใด ในสันดานนั้นชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้า. เพราะไม่ทราบถึงคำอธิบายของสกวาที ปรวาทีจึงตั้งลัทธิไว้ด้วยคำว่า หากว่าชื่อว่าพุทธะ เพราะการได้ปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ ด้วยเหตุนั้นนะท่านจึงต้องกล่าวว่าชื่อว่าพุทธะเพราะปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ บัดนี้เป็นคำถามของสกวาทีว่า ชื่อพุทธะ เพราะการได้ปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า พุทธะเพราะปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้หรือ เพื่อทำเนื้อความที่ปรวาทีนั้นไม่กำหนดไว้ให้ปรากฏ. บัณฑิตพึงทราบเนื้อความแห่งปัญหานั้นว่า ชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้าเพราะการได้เฉพาะซึ่งโพธิตามลัทธิของท่าน เหตุใด เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้าเพราะโพธิหรือ. เมื่อปรวาทีไม่กำหนดการวิภาคนี้ว่า ครั้นเมื่อโพธิเกิดขึ้นแม้ดับไปแล้ว ภาวะที่เกิดขึ้นแล้วในสันดานนั่นแหละ ชื่อว่าการได้ปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ ญาณในขณะแห่งมรรค ชื่อว่าโพธิ ดังนี้ จึงตอบรับรองอีก. ที่นั้นจึงถูกถามว่า ชื่อว่าโพธิก็เพราะการได้ปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้หรือ เมื่อไม่ได้โอกาสที่จะกล่าวอะไรได้ ท่านจึงตอบปฏิเสธ ดังนี้แล. เรื่องทั้ง ๓ ดังพรรณนามานี้เป็นของนิกายอุตตราปถกะทั้งหลายนั้นแล. อรรถกถาโพธิยาพุทโธติกถา จบ. ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา กถาวัตถุปกรณ์ วรรคที่ ๔ โพธิยา พุทโธติกถา จบ. |