บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
ว่าด้วยการหยั่งลงสู่นิยาม ๑- คำว่า "นิยาโมกฺกนฺติ" แยกเป็น นิยามํ ได้แก่ อริยมรรค. โอกฺกนฺติ ได้แก่ การหยั่งลง. บัดนี้ ชื่อว่าเรื่องการหยั่งลงสู่นิยาม การหยั่งลงสู่ทางอันแน่นอนคืออริยมรรค. ในเรื่องนั้น ชนเหล่าใดมีความเห็นผิดดุจลัทธิของนิกายอันธกะทั้งหลายในขณะนี้ว่า พระโพธิสัตว์มีนิยามอันหยั่งลงแล้ว มีพรหมจรรย์อันประพฤติแล้วในพระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะหมายเอาการบรรพชาของโชติปาละในฆฏิการสูตร สกวาทีหมายถึงชนเหล่านั้น จึงถามด้วยคำว่า พระโพธิสัตว์ เป็นต้น คำตอบรับรองเป็นของปรวาที เพราะตั้งอยู่ในลัทธิ. เนื้อความจากนั้น คำว่า นิยาม คือทางอันแน่นอนก็ดี พรหมจรรย์ก็ดี เป็นชื่อของอริยมรรค. อนึ่ง ยกเว้นการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์เสียแล้ว ชื่อว่าการหยั่งลงสู่นิยามอย่างหนึ่งย่อมไม่มี ถ้าพระโพธิสัตว์พึงเป็นพระโสดาบัน พึงเป็นอริยสาวกไซร้ ข้อนั้นหาเป็นไปได้ไม่. จริงอยู่ พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงพยากรณ์พระโพธิสัตว์นั้นว่า ผู้นี้จักเป็นพระพุทธเจ้า เพราะพระองค์ดำรงอยู่ในญาณอันเป็นกำลังของพระองค์นั่นแหละ เพราะฉะนั้น สกวาทีจึงซักถามด้วยคำว่า พระโพธิสัตว์ อีก. คำตอบปฏิเสธเป็นของปรวาที หมายเอาปัจฉิมภพ คือภพสุดท้าย. ในปัญหาที่ ๒ ปรวาทีนั้นนั่นแหละตอบรับรอง หมายเอาเวลาที่พระพุทธเจ้า เมื่อครั้งเป็นโชติปาละ. แม้ในคำทั้งหลายมีคำว่า เป็นพระสาวก เป็นต้น ก็นัยนี้แหละ. คำว่า การฟังตาม หมายความว่า ผู้มีธรรมอันแทงตลอดแล้วด้วยการฟังสืบๆ กันมา. ปรวาทีตอบปฏิเสธ เพราะหมายเอาปัจฉิมภพ ย่อมตอบรับรองหมายเอาการฟังต่อๆ กันมาในกาลเป็นโชติปาละ. คำว่า นับถือศาสดาอื่น ที่สกวาทีกล่าวแล้วนั้นหมายเอาอาฬารดาบสและรามบุตรดาบส. คำว่า ท่านพระอานนท์ เป็นต้นที่สกวาทีกล่าวแล้วเพื่อแสดงว่า ผู้มีนิยามอันหยั่งลงแล้วเท่านั้นเป็นพระสาวก นอกจากนี้ไม่ใช่ แต่ผู้มีนิยามอันหยั่งลงแล้วเช่นนี้มีอยู่ ดังนี้. ข้อว่า เป็นสาวกครั้นล่วงชาติหนึ่งไปแล้ว ความว่า สกวาทีย่อมถามด้วยคำว่า เป็นพระสาวกด้วยชาติใดแต่พอล่วงเลยชาตินั้นไปแล้วไม่เป็นสาวกในภพอื่นหรือ ดังนี้ ปรวาทีตอบปฏิเสธ เพราะความที่พระโสดาบันเป็นต้นเป็นพระสาวก. คำที่เหลือในที่นี้มีเนื้อความง่ายทั้งนั้น แล. อรรถกถานิยาโมกกันติกถา จบ. ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา กถาวัตถุปกรณ์ วรรคที่ ๔ นิยาโมกกันติกถา จบ. |