ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 4 / 1อ่านอรรถกถา 4 / 100อรรถกถา เล่มที่ 4 ข้อ 101อ่านอรรถกถา 4 / 102อ่านอรรถกถา 4 / 252
อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๑ มหาขันธกะ
อันตรายิกธรรม โรค ๕ ชนิด

               อรรถกถาปัญจาพาธวัตถุกถา               
               ข้อว่า มคเธสุปญฺจ อาพาธา อุสฺสนฺนา โหนฺติ มีความว่า โรค ๕ ชนิดเป็นโรคดื่นดาด คือลุกลาม แพร่หลายแก่หมู่มนุษย์และอมนุษย์ ในชนบทมีชื่อว่ามคธ.
               เรื่องหมอชีวกโกมารภัจจ์จักมีแจ้งในจีวรขันธกะ.
               ข้อว่า น ภิกฺขเว ปญฺจหิ อาพาเธหิ ผุฏฺโฐ ปพฺพาเชตพฺโพ มีความว่า อาพาธ ๕ ชนิดมีโรคเรื้อนเป็นต้นเหล่านั้นได้ดื่นดาดแล้ว, กุลบุตรผู้อาพาธเหล่านั้นถูกต้องแล้ว คือครอบงำแล้วไม่ควรให้บวช. บรรดาอาพาธ ๕ ชนิดนั้นจะเป็นโรคเรื้อนแดงหรือโรคเรื้อนดำก็ตาม ชื่อว่าโรคเรื้อน.
               ในอรรถกถากุรุนทีแก้ว่า โรคชนิดใดชนิดหนึ่งแม้มีประเภทเป็นต้นว่า เรื้อนผง หิดเปื่อย หิดด้าน คุดทะราด ทุกอย่างท่านเรียกว่า โรคเรื้อน เหมือนกัน.
               ก็แลโรคเรื้อนนั้น แม้มีขนาดเท่าหลังเล็บ แต่ตั้งอยู่ในฝ่ายที่จะลามไปได้ กุลบุตรนั้นไม่ควรให้บวช. แต่ถ้าในที่ซึ่งผ้านุ่งผ้าห่อปิดไว้โดยปกติ เป็นของมีขนาดเท่าหลังเล็บ คงอยู่ในฝ่ายที่จะไม่ลามไปได้ จะให้บวชก็ควร ส่วนที่หน้าหรือที่หลังมือหลังเท้า ถ้าแม้คงอยู่ในฝ่ายที่จะไม่ลามไปได้ แม้ย่อมกว่าหลังเล็บ ไม่ควรจะให้บวชเหมือนกัน. คนเป็นโรคเรื้อนนั้น แม้เมื่อให้เยียวยาแล้วจะให้บวช ต่อเมื่อแผลหายสนิทแล้วนั้นแล จึงควรให้บวช.
               แม้ผู้ที่ร่างกายพรุนไปด้วยรอยจุดๆ คล้ายหนังเหี้ยก็ไม่ควรจะให้บวช.
               โรคฝีมีฝีมันข้นเป็นต้น ชื่อว่าฝี. ฝีมันข้นหรือฝีอื่นชนิดใดชนิดหนึ่งก็ตาม จงยกไว้. ถ้าฝีแม้มีขนาดเท่าเมล็ดพุทรา ตั้งอยู่ในฝ่ายที่จะลามไปได้ กุลบุตรนั้นไม่ควรให้บวช. แต่ในที่ปกปิด มีขนาดเท่าเมล็ดพุทรา คงอยู่ในฝ่ายที่จะไม่ลามไปได้จะให้บวชก็ควร. ในที่ซึ่งมิได้ปกปิดมีหน้าเป็นต้น แม้ตั้งอยู่ในฝ่ายที่จะไม่ลุกลามไปได้ ก็ไม่ควรจะให้บวช.
               กุลบุตรผู้นั้นเป็นโรคฝีนั้น แม้เมื่อให้เยียวยาแล้วจะให้บวช ต่อทำร่างกายให้มีผิวเรียบแล้วจึงควรให้บวช. ที่มีชื่อว่าติ่ง คล้ายนมโคหรือคล้ายนิ้วมือ ห้อยอยู่ในที่นั้นๆ ก็มี แม้ติ่งเหล่านี้ก็จัดเป็นฝีเหมือนกัน เมื่อติ่งเหล่านั้นมี ไม่ควรจะให้บวช.
               หัวหูดมีในเวลาเป็นเด็ก ที่มีหัวสิว มีที่หน้า ในเวลาเป็นหนุ่ม ในเวลาแก่หายหมดไป หัวหูดและหัวสิวเหล่านั้นไม่นับเป็นฝี เมื่อหัวเหล่านั้นมีจะให้บวชก็ควร.
               ส่วนเม็ดชนิดอื่น ที่ชื่อเม็ดผม มีตามตัว ชนิดอื่นอีกที่ชื่อเกสรบัวก็มี ชนิดอื่นที่ชื่อเมล็ดพันธุ์ผักกาด มีขนาดเท่าเมล็ดผักกาด ผื่นไปทั่วตัว. เมล็ดเหล่านั้นทั้งหมด เป็นชาติโรคเรื้อนเหมือนกัน เมื่อเมล็ดเหล่านั้นมี ไม่ควรให้บวช.
               โรคเรื้อนมีสีคล้ายใบบัวแดงและบัวขาว ไม่แตก ไม่เยิ้ม ชื่อโรคกลาก ร่างกายเป็นอวัยวะลายพร้อยเหมือนกระแห่งโคด้วยโรคเรื้อนชนิดใด.
               พึงทราบวินิจฉัยในโรคกลากนั้น โดยนัยที่กล่าวแล้วในโรคเรื้อนชนิดนั้นแล.
               ไข้มองคร่อ ชื่อโสสะ. เมื่อไข้มองคร่อนั้นมี ไม่ควรให้บวช.
               โรคบ้าเพราะดี หรือโรคบ้าด้วยถูกผีสิง ชื่อโรคลมบ้าหมู.
               ในโรคลมบ้าหมู ๒ ชนิด บุคคลผู้ถูกอมนุษย์ซึ่งเคยเป็นคู่เวรกันสิงแล้ว ย่อมเป็นผู้ที่เยียวยาได้ยาก. และเมื่อโรคลมบ้าหมูนั้นมีแม้เพียงเล็กน้อย ก็ไม่ควรให้บวช.

               อรรถกถาปัญจาพาธวัตถุกถา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๑ มหาขันธกะ อันตรายิกธรรม โรค ๕ ชนิด จบ.
อ่านอรรถกถา 4 / 1อ่านอรรถกถา 4 / 100อรรถกถา เล่มที่ 4 ข้อ 101อ่านอรรถกถา 4 / 102อ่านอรรถกถา 4 / 252
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=4&A=2876&Z=2932
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=1233
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=1233
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๑  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :