ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 4 / 1อ่านอรรถกถา 4 / 133อรรถกถา เล่มที่ 4 ข้อ 136อ่านอรรถกถา 4 / 139อ่านอรรถกถา 4 / 252
อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๑ มหาขันธกะ
ทรงห้ามให้นิสสัยแก่อลัชชีเป็นต้น

               อรรถกถานิสสยคหณกถา               
               ในคำว่า อลชฺชีนํ นิสฺสาย วสนฺติ นี้ :-
               บทว่า อลชฺชีนํ เป็นฉัฏฐีวิภัตติ ใช้ในอรรถแห่งทุติยาวิภัตติ. ความว่า ภิกษุทั้งหลายพึ่งบุคคลผู้อลัชชีทั้งหลายอยู่.
               คำว่า ยาว ภิกฺขูสภาคตํ ชานามิ มีความว่า เราจะทราบความที่ภิกษุผู้ให้นิสัยเป็นผู้ถูกส่วนกับภิกษุทั้งหลาย คือความเป็นผู้มีละอายเพียงไร. เพราะเหตุนั้น ภิกษุผู้ถึงฐานะใหม่ แม้อันภิกษุไรๆ กล่าวว่า ภิกษุ เธอจงมาถือนิสัย ดังนี้ พึงพิจารณาข้อที่ภิกษุผู้ให้นิสัยเป็นผู้มีความละอาย ๔-๕ วันแล้ว จึงค่อยถือนิสัย.
               ถ้าได้ฟังในสำนักแห่งภิกษุทั้งหลายว่า พระเถระเป็นลัชชี เป็นผู้ปรารถนาจะถือในวันที่ตนมาทีเดียว. ฝ่ายพระเถระกล่าวว่า คุณจงรอก่อน คุณอยู่จักรู้ ดังนี้ แล้วตรวจดูอาจาระเสีย ๒-๓ วันแล้วจึงให้นิสัย การทำอย่างนี้ ย่อมควร.
               โดยปกติ ภิกษุผู้ไปสู่สถานเป็นที่ถือนิสัย ต้องถือนิสัยในวันนั้นทีเดียว แม้วันเดียว ก็คุ้มไม่ได้. ถ้าในปฐมยาม อาจารย์ไม่มีโอกาส เมื่อไม่ได้โอกาสจะนอนด้วยผูกใจไว้ว่า เราจักถือในเวลาใกล้รุ่ง ถึงอรุณขึ้นแล้วไม่รู้ ไม่เป็นอาบัติ. แต่ถ้าไม่ทำความผูกใจว่า เราจักถือ แล้วนอน เป็นทุกกฎในเวลาอรุณขึ้น.
               ภิกษุไปสู่สถานที่ไม่เคยไป ปรารถนาจะค้าง ๒-๓ วันแล้วไปไม่ต้องถือนิสัยอยู่ก็ได้. แต่เมื่อทำอาลัยว่า เราจักค้าง ๗ วันต้องถือนิสัย. ถ้าพระเถระพูดว่า จะมีประโยชน์อะไรด้วยนิสัยสำหรับผู้ค้าง ๗ วัน. เธอเป็นอันได้บริหาร จำเดิมแต่กาลที่พระเถระห้ามไป.
____________________________
๑- วินย. มหาคฺค. ทุติย. ๒๖๔

               บทว่า นิสฺสยกรณีโย มีความว่า เราเป็นผู้มีการถือนิสัยเป็นกิจควรทำ.
               อธิบายว่า นิสัยอันเราพึงทำ คือพึงถือ.
               สองบทว่า นิสฺสยํ อลภมาเนน มีความว่า เมื่อไม่มีภิกษุผู้ให้นิสัยซึ่งเดินทางไปกับตน เธอชื่อว่าย่อมไม่ได้นิสัย อันภิกษุผู้ไม่ได้อย่างนั้น ไม่ต้องถือนิสัยไปได้สิ้นวันแม้มาก ถ้าเข้าไปสู่อาวาสบางตำบลซึ่งตนเคยถือนิสัยอยู่แม้ในกาลก่อน แม้จะค้างคืนเดียว ก็ต้องถือนิสัย. พักอยู่ในระหว่างทางหรือหาพวกอยู่ ๒-๓ วัน ไม่เป็นอาบัติ. แต่ภายในพรรษาต้องอยู่ประจำที่ และต้องถือนิสัย. แต่ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ไปในเรือ แต่ไม่ได้นิสัยในเมื่อฤดูฝนแม้มาแล้ว.
               บทว่า ยาจิยมาเนน มีความว่า ผู้อันภิกษุไข้นั้นออกปากขอ ถ้าภิกษุไข้แม้เธอบอกว่า ท่านจงออกปากขอกะเรา ดังนี้ แต่ไม่ยอมออกปากขอ เพราะมานะ เธอพึงไป.
               สองบทว่า ผาสุ โหติ มีความว่า ความสำราญ มีด้วยอำนาจแห่งการได้เฉพาะซึ่งสมถะและวิปัสสนา. อันที่จริง พระโสดาบันย่อมไม่ได้เลยซึ่งบริหารนี้ พระสกทาคามีพระอนาคามีและพระอรหันต์ ก็ไม่ได้ บุคคลผู้มีปกติได้สมาธิหรือวิปัสสนาอันแก่กล้าแล้ว ย่อมไม่ได้บริหารนี้. อันคำที่จะพึงกล่าวย่อมไม่มีในพาลปุถุชน ผู้ละเลยกัมมัฏฐานเสียแท้. แต่ว่าสมถะก็ดี วิปัสสนาก็ดี ของภิกษุใดแล ยังเป็นคุณชาติอ่อน ภิกษุนี้ย่อมได้บริหารนี้.
               แม้ปวารณาสงเคราะห์๒- พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงอนุญาตแก่ภิกษุผู้มีสมถะและวิปัสสนายังอ่อนนี้เท่านั้น. เพราะเหตุนั้น บุคคลนี้ แม้เมื่ออาจารย์ปวารณาแล้วไปแล้วด้วยล่วง ๓ เดือน จะทำความผูกใจว่า เมื่อใด ภิกษุผู้ให้นิสัยซึ่งสมควรจักมา เมื่อนั้น เราจักอาศัยภิกษุนั้นอยู่ แล้วไม่ถือนิสัยอยู่จนถึงวันอาสาฬหปุณณมีดิถีเพ็ญเดือน ๘ อีกก็ควร. แต่ถ้าในอาสาฬหมาส อาจารย์ไม่มา ควรไปในที่ซึ่งตนจะได้นิสัย.
____________________________
๒- คือทรงอนุญาตให้เลื่อนปวารณาไปทำในวันเพ็ญเดือนกัตติกาหลัง.

               อรรถกถานิสสยคหณกถา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๑ มหาขันธกะ ทรงห้ามให้นิสสัยแก่อลัชชีเป็นต้น จบ.
อ่านอรรถกถา 4 / 1อ่านอรรถกถา 4 / 133อรรถกถา เล่มที่ 4 ข้อ 136อ่านอรรถกถา 4 / 139อ่านอรรถกถา 4 / 252
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=4&A=3702&Z=3738
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=2275
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=2275
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๘  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :