บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
วินิจฉัยในข้อว่า เนว อาลเปยฺยาม น สลฺลเปยฺยาม นี้ พึงทราบดังนี้ :- คำแรกชื่อว่าคำทัก คำหลังๆ ชื่อว่า คำปราศรัย. บทว่า หตฺถวิลงฺฆเกน ได้แก่ด้วยการช่วยกันใช้มือยก. บทว่า ปสุสํวาสํ คือการอยู่ร่วมกันดังการอยู่ร่วมของเหล่าปศุสัตว์. จริงอยู่ แม้เหล่าปศุสัตว์ย่อมไม่บอกความสุขและทุกข์ที่เกิดขึ้นแก่ตนแก่กันและกัน ไม่ทำการปฏิสันถารฉันใด แม้ภิกษุเหล่านั้นก็ได้ทำฉันนั้น. เพราะเหตุนั้น ความอยู่ร่วมกันของภิกษุเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เป็นการอยู่ร่วมกันดังการอยู่ร่วมของเหล่าปศุสัตว์. นัยในบททั้งปวงเหมือนกัน. ข้อว่า น ภิกฺขเว มูควตฺตํ ติตฺถิยสมาทานํ เป็นต้น มีความว่า ภิกษุไม่พึงกระทำการสมาทานวัตรเช่นนี้ว่า เราทั้งหลายไม่พึงพูดกันตลอดไตรมาสนี้. เพราะว่า นั่นเป็นกติกาที่ไม่ชอบธรรม. ข้อที่ภิกษุมาผ่อนผันพูดกะกันและกัน ชื่อว่า อญฺญมญฺญานุโลมตา. จริงอยู่ ภิกษุย่อมเป็นผู้อาจว่ากล่าวอะไรๆ กะภิกษุผู้สั่งไว้ว่า ขอท่านผู้มีอายุจงว่ากล่าวข้าพเจ้าเถิด, แต่หาอาจว่ากล่าวภิกษุนอกจากนี้ไม่ ความยังกันและกันให้ออกจากอาบัติทั้งหลาย ชื่ออาปัตติวุฏฐานตา, ความที่ภิกษุมาตั้งพระวินัยไว้เป็นหลักประพฤติ ชื่อว่าวินยปุเรกขารตา. จริงอยู่ ภิกษุผู้กล่าวอยู่ว่า ขอท่านผู้มีอายุจงว่ากล่าวข้าพเจ้าเถิด ดังนี้ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เธอจักออกจากอาบัติ และเธอย่อมตั้งพระวินัยไว้เป็นหลักอยู่. ปวารณาวิธี อนึ่ง เมื่อสวดประกาศว่า เตวาจิกํ ปวาเรยฺย แปลว่า สงฆ์พึงปวารณา ๓ ครั้ง ดังนี้ ต้องปวารณา ๓ ครั้งเท่านั้นจึงควร จะปวารณาอย่างอื่น หาควรไม่. เมื่อสวดประกาศว่า เทฺววาจิกํ ปวาเรยฺย แปลว่า สงฆ์พึงปวารณา ๒ ครั้ง ดังนี้จะปวารณา ๒ ครั้งหรือ ๓ ครั้งก็ควร แต่จะปวารณาเพียงครั้งเดียว และปวารณามีพรรษาเท่ากัน หาควรไม่. ก็เมื่อสวดประกาศว่า เอกวาจิกํ ปวาเรยฺย แปลว่า สงฆ์พึงปวารณาครั้งเดียว ดังนี้ จะปวารณาครั้งเดียว ๒ ครั้งหรือ ๓ ครั้งก็ควร. แต่จะปวารณามีพรรษาเท่ากันเท่านั้น หาควรไม่. เมื่อสวดประกาศว่า สมานวสฺสิกํ ปวาเรยฺย แปลว่า พึงปวารณามีพรรษาเท่ากัน ดังนี้ ย่อมควรทุกวิธี. บทว่า อจฺฉนฺติ คือ เป็นผู้นั่งอยู่นั่นเอง หาลุกขึ้นไม่. บทว่า ตทนนฺตรา คือ ตลอดกาลระหว่างปวารณานั้น. อธิบายว่า ตลอดกาลเท่าที่ตนจะปวารณานั้น. วินิจฉัยในข้อว่า จาตุทฺทสิกา จ ปณฺณรสิกา จ นี้ พึงทราบดังนี้ :- ในดิถีที่ ๑๔ พึงทำบุรพกิจอย่างนี้ว่า อชฺช ปวารณา จาตุทฺทสี แปลว่า ปวารณาวันนี้ ๑๔ ค่ำ. ในดิถีที่ ๑๕ พึงทำบุรพกิจอย่างนี้ว่า อชฺช ปวารณา ปณฺณรสี แปลว่า ปวารณาวันนี้ ๑๕ ค่ำ. ปวารณากรรม ถ้าว่า เมื่อภิกษุ ๕ รูปอยู่ในวัดเดียวกัน ๔ รูปนำปวารณาของรูปหนึ่งมาแล้วตั้งคณญัตติ ปวารณา, เมื่อ ๔ รูป หรือ ๓ รูปอยู่ในวัดเดียวกัน, ๓ รูป หรือ ๒ รูปนำปวารณาของรูปหนึ่งมา ตั้งสังฆญัตติแล้ว ปวารณา, นี้จัดว่าปวารณากรรมเป็นวรรคโดยอธรรมทั้งหมด. ก็ถ้าว่า ภิกษุ ๕ รูปประชุมพร้อมกันแม้ทั้งหมด ตั้งคณญัตติแล้วปวารณา; เมื่ออยู่ด้วยกัน ๔ รูป หรือ ๓ รูป หรือ ๒ รูปประชุมพร้อมกันตั้งสังฆญัตติแล้วปวารณา; นี้จัดว่าปวารณากรรมพร้อมเพรียงโดยอธรรมทั้งหมด. ถ้าว่า เมื่ออยู่ด้วยกัน ๕ รูป ๔ รูปนำปวารณาของรูปหนึ่งมา ตั้งสังฆญัตติแล้ว ปวารณา; เมื่ออยู่ด้วยกัน ๔ รูปหรือ ๓ รูป, ๓ รูปหรือ ๒ รูปนำปวารณาของรูปหนึ่งมา ตั้งคณญัตติแล้ว ปวารณา; นี้จัดว่าปวารณากรรมเป็นวรรคโดยธรรมทั้งหมด. แต่ถ้าว่า ภิกษุ ๕ รูปประชุมพร้อมกันแม้ทั้งหมด ตั้งสังฆญัตติแล้ว ปวารณา, ๔ รูปหรือ ๓ รูปประชุมพร้อมกันตั้งคณญัตติแล้ว ปวารณา, ๒ รูปปวารณากะกันและกัน, อยู่รูปเดียวทำอธิษฐานปวารณา นี้จัดว่าปวารณากรรมพร้อมเพรียงโดยธรรมทั้งหมด. มอบปวารณา เมื่อภิกษุผู้อาพาธมอบปวารณาอย่างนี้แล้ว ภิกษุผู้นำปวารณามาพึงเข้าไปหาสงฆ์ปวารณาอย่างนี้ว่า ติสฺโส ภนฺเต ภิกฺขุ สงฺฆํ ปวาเรติ ทิฏฺเฐน วา สุเตน วา ปริสงฺกาย วา, วทตุ ตํ ภนฺเต สงฺโฆ อนุกมฺปํ อุปาทาย, ปสฺสนฺโต ปฏิกฺกริสฺสติ. ทุติยมฺปิ ภนฺเต ฯเปฯ ตติยมฺปิ ภนฺเต ติสฺโส ภิกฺขุ สงฆ์ ปวาเรติ ฯเปฯ ปสฺสนฺโต ปฏิกฺกริสฺสติ. แปลว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภิกษุชื่อติสสะปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ฟังก็ดี ด้วยสงสัยก็ดี ขอสงฆ์จงอาลัยความกรุณาว่ากล่าวเธอ เธอเห็นอยู่จักทำคืนเสีย. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ แม้ครั้งที่ ๓ ภิกษุชื่อติสสะปวารณาต่อสงฆ์ ฯลฯ เธอเห็นอยู่จักทำคืนเสีย. แต่ถ้าภิกษุผู้มอบปวารณาเป็นผู้แก่กว่า ภิกษุผู้นำพึงกล่าวว่า อายสฺมา ภนฺเต ติสฺโส แปลว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญท่านติสสะ ดังนี้. ด้วยอาการอย่างนี้แลเป็นอันภิกษุผู้นำปวารณา ได้ปวารณาแล้ว เพื่อประโยชน์แก่ภิกษุผู้มอบปวารณานั้น. มอบฉันทะ การมอบฉันทะพึงทราบตามนัยที่กล่าวไว้แล้ว ในอุโบสถขันธกะเถิด. และแม้ในปวารณาขันธกะนี้การมอบฉันทะ ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่สังฆกรรมที่เหลือ เพราะฉะนั้น ถ้าว่า เมื่อมอบปวารณา ย่อมมอบฉันทะด้วย เมื่อปวารณาได้นำมาแล้วบอกแล้วตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล ทั้งภิกษุนั้น ทั้งสงฆ์ย่อมเป็นอันได้ปวารณาแล้วทีเดียว. ถ้าภิกษุผู้ลงไม่ได้ มอบแต่ปวารณาเท่านั้น หาได้มอบฉันทะไม่ เมื่อปวารณาของเธอได้บอกแล้ว และสงฆ์ได้ปวารณาเสร็จแล้ว ย่อมเป็นอันภิกษุทั้งปวงปวารณาดีแล้ว แต่กรรมอย่างอื่นย่อมกำเริบ. แต่ถ้าภิกษุผู้ลงไม่ได้ มอบแต่ฉันทะเท่านั้น ไม่มอบปวารณา ปวารณาและกรรมที่เหลือของสงฆ์หากำเริบไม่ ส่วนภิกษุนั้นไม่จัดว่าได้ปวารณา. ก็ในวันปวารณา แม้ภิกษุผู้อธิษฐานปวารณาในภายนอกสีมาแล้วจึงมา ก็ควรให้ฉันทะ ปวารณากรรมของสงฆ์จึงจะไม่กำเริบเพราะเธอ. อธิษฐานปวารณา ถ้าวันปวารณาเป็น ๑๔ ค่ำ ภิกษุผู้อยู่รูปเดียวพึงอธิษฐานอย่างนี้ว่า อชฺช เม ปวารณา จาตุทฺทสี แปลว่า ปวารณาของเราวันนี้ ๑๔ ค่ำ, ถ้าเป็นวัน ๑๕ ค่ำพึงอธิษฐานอย่างนี้ว่า อชฺช เม ปวารณา ปณฺณรสี แปลว่า ปวารณาของเราวันนี้ ๑๕ ค่ำ. คำว่า ตทหุปวารณาย อาปตฺตึ เป็นต้น มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล. ข้อว่า ปุน ปวาเรตพฺพํ มีความว่า พึงทำบุพกิจแล้วตั้งญัตติ ปวารณาตั้งแต่พระสังฆเถระลงมาอีก. คำที่เหลือพึงทราบตามนัยที่กล่าวไว้แล้วในอุโบสถขันธกวรรณนาเถิด. อติเรกานุวัตติกถา พวกภิกษุผู้เจ้าถิ่น พึงทำบุพกิจว่า อชฺช ปวารณา จาตุทฺทสี นั้นแล. แม้ในปวารณาวัน ๑๕ ค่ำก็มีนัยเช่นเดียวกัน. ในบทที่สุดแห่งพระบาลีนั้นว่า อาวาสิเกหิ นิสฺสีมํ คนฺตฺวา ปวาเรตพฺพํ มีวินิจฉัยนอกบาลี ดังนี้ : ถ้าว่าภิกษุ ๕ รูปจำพรรษาในวัสสูปนายิกาต้น, อีก ๕ รูปจำพรรษาในวัสสูปนายิกาหลัง เมื่อภิกษุพวกแรกตั้งญัตติปวารณาแล้ว ภิกษุพวกหลังพึงทำปาริสุทธิอุโบสถในสำนักของเธอ อย่าพึงตั้งญัตติ ๒ อย่างในโรงอุโบสถเดียวกัน. แม้ถ้าว่า มีภิกษุ ๔ รูป ๓ รูป ๒ รูปหรือรูปเดียวก็ตาม จำพรรษาในวัสสูปนายิกหลัง มีนัยเช่นเดียวกัน. หากว่าภิกษุผู้จำพรรษาต้น ๔ รูป, แม้วันเข้าพรรษาหลังจะมี ๔ รูป ๓ รูปหรือรูปเดียวก็ตาม มีนัยเหมือนกัน. ถึงแม้ว่าในวันเข้าพรรษาต้นมี ๓ รูป แม้ในวันเข้าพรรษาหลังมี ๓ รูป ๒ รูปหรือรูปเดียวก็ตาม มีนัยเหมือนกัน. ก็นี้เป็นลักษณะในปวารณาธิการนี้ :- ถ้าว่า ภิกษุผู้จำพรรษาในวันเข้าพรรษาหลัง น้อยกว่าภิกษุผู้จำพรรษาในวันเข้าพรรษาต้น หรือเท่าๆ กันและให้ครบคณะสังฆปวารณาได้ พึงตั้งญัตติด้วยอำนาจสังฆปวารณา. อนึ่ง ถ้าในวัสสูปนายิกาต้นมีภิกษุ ๓ รูป ในวัสสูปนายิกาหลังมีเพียงรูปเดียว รวมกันเข้าเป็น ๔ รูป ภิกษุ ๔ รูปจะตั้งญัตติเป็นการสงฆ์แล้วปวารณาหาควรไม่. แต่ภิกษุผู้จำพรรษาหลังนั้น เป็นคณะปูรกะของคณะญัตติได้อยู่. เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้จำพรรษาต้น ๓ รูปพึงตั้งญัตติแล้วปวารณาเป็นการคณะ ภิกษุนอกนั้นพึงทำปาริสุทธิอุโบสถในสำนักของภิกษุเหล่านั้น. ในวัสสูปนายิกาต้นมี ๒ รูป ในวัสสูปนายิกาหลังมี ๒ หรือรูปเดียว ก็มีนัยเหมือนกัน. ในวัสสูปนายิกาต้นมีรูปเดียว ในวัสสูปนายิกาหลังก็มีรูปเดียว รูปหนึ่งพึงปวารณาในสำนักของอีกรูปหนึ่ง ฝ่ายอีกรูปหนึ่งพึงทำปาริสุทธิอุโบสถ. ถ้าว่า ภิกษุผู้เข้าพรรษาหลังมีมากกว่าภิกษุผู้เข้าพรรษาต้นแม้เพียงรูปเดียว ฝ่ายภิกษุพวกข้างน้อยกว่า พึงสวดปาติโมกข์ก่อน แล้วปวารณาในสำนักของภิกษุฝ่ายข้างมากกว่าต่อภายหลัง. ส่วนในวันปวารณาที่ครบ ๔ เดือนในเดือน ๑๒ ถ้าว่าภิกษุผู้เข้าพรรษาหลังมากกว่าภิกษุผู้จำพรรษาต้นซึ่งได้ปวารณาแล้วในวันมหาปวารณา หรือมีจำนวนเท่าๆ กัน พวกภิกษุผู้จำพรรษาหลัง พึงตั้งปวารณาญัตติแล้วปวารณา. เมื่อพวกเธอได้ปวารณากันเสร็จแล้ว, ฝ่ายพวกภิกษุผู้จำพรรษาต้น พึงทำปาริสุทธิอุโบสถในสำนักของพวกเธอในภายหลัง. ถ้าภิกษุผู้ปวารณาแล้ว ในวันมหาปวารณามีมาก ภิกษุผู้จำพรรษาหลังมีน้อยหรือมีรูปเดียว เมื่อพวกภิกษุผู้จำพรรษาต้นสวดปาติโมกข์เสร็จแล้ว ภิกษุผู้จำพรรษาหลังนั้นพึงปวารณาในสำนักของพวกเธอ. สามัคคีปวารณา ความพร้อมเพรียงพึงทราบว่า เป็นเช่นกับความพร้อมเพรียงของภิกษุชาวเมืองโกสัมพีเถิด. ก็แลพึงทำบุพกิจในกาลแห่งสามัคคีปวารณานี้ อย่างนี้ว่า อชฺช ปวารณา สามคฺคี แปลว่า ปวารณาวันนี้ เป็นคราวปรองดองกัน. ฝ่ายภิกษุเหล่าใดงดปวารณาเสียเพราะเหตุเล็กน้อย ซึ่งไม่สำคัญอะไร แล้วเป็นผู้พร้อมเพรียงกันเข้าได้, ภิกษุเหล่านั้นพึงทำปวารณาในวันปวารณาเท่านั้น. ฝ่ายภิกษุทั้งหลายผู้จะทำสามัคคีปวารณา พึงงดวันปฐมปวารณาเสีย พึงทำในระหว่างนี้ คือตั้งแต่แรมค่ำหนึ่งไปจนถึงกลางเดือน ๑๒ ซึ่งเป็นวันครบ ๔ เดือน จะทำภายหลังหรือก่อนกำหนดนั้นไม่ควร. ญัตติวิธาน เฉพาะภิกษุผู้ตั้งญัตติ พึงกล่าวว่า ยทิ สงฺฆสฺส ปตฺตกลฺลํ, สงฺโฆ เทฺววาจิกํ ปวาเรยฺย แปลว่า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงปวารณา ๒ หน. ในการปวารณาหนเดียว พึงกล่าวว่า เอกวาจิกํ ปวาเรยฺย แปลว่า พึงปวารณาหนเดียว. เฉพาะในการปวารณามีพรรษาเท่ากัน พึงกล่าวว่า สมานวสฺสิกํ ปวาเรยฺย แปลว่า พึงปวารณามีพรรษาเท่ากัน ก็แลในการปวารณามีพรรษาเท่ากันนี้ ภิกษุผู้มีพรรษาเท่ากันแม้มากรูป ย่อมได้เพื่อปวารณาพร้อมกัน. การงดปวารณา การงดปวารณา ๒ อย่าง คืองดครอบไปอย่างหนึ่ง งดเป็นส่วนบุคคลอย่างหนึ่ง. การงดปวารณามี ๒ อย่างนั้น ในการงดครอบทั่วไป มีวินิจฉัยว่า กรรมวาจาที่สวดว่าเรื่อยไปตั้งแต่ สุ อักษรจนถึง เร อักษร ว่า สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ, ฯเปฯ สงฺโฆ เตวาจิกํ ปวาเร ดังนี้ ปวารณายังไม่จัดว่าจบก่อน. ในระหว่างนี้ เมื่อภิกษุงดไว้แม้ในบทหนึ่ง ปวารณาเป็นอันงด. ต่อเมื่อถึง ย อักษรแล้ว ปวารณาเป็นอันจบ เพราะเหตุนั้น เมื่อภิกษุงดไว้ตั้งแต่ ย อักษรนั้นไป ปวารณาไม่จัดว่าได้งด. ส่วนในการงด เป็นส่วนบุคคล มีวินิจฉัยว่า คำปวารณาอันภิกษุกล่าวว่าเรื่อยไปตั้งแต่ สํ อักษรจนถึง ฏิ อักษร อันเป็นตัวท้ายแห่งอักษรทั้งปวงนี้ว่า สงฺฆํ ภนฺเต ปวาเรมิ ฯเปฯ ทุติยมฺปิ ฯเปฯ ตติยมฺปิ ภนฺเต สงฺฆํ ปวาเรมิ ทิฏฺเฐน วา สุเตน วา ปริสงฺกาย วา ฯเปฯ ปสฺสนฺโต ปฏิ ดังนี้, ปวารณายังไม่จัดว่าจบก่อน. ในระหว่างนี้ เมื่อภิกษุงดไว้แม้ในบทอันหนึ่ง ปวารณาย่อมเป็นอันงด. ต่อเมื่อกล่าวบทว่า กริสฺสามิ แล้ว ปวารณาเป็นอันจบแล้วแท้, ก็เพราะเหตุใด เมื่อกล่าวบทว่า กริสฺสามิ แล้วปวารณาจึงชื่อว่าเป็นอันจบแล้วแท้ เพราะเหตุนั้น เมื่อถึงบทอันหนึ่งว่า กริสฺสามิ แล้ว ปวารณาอันภิกษุงดไว้ ไม่จัดว่าเป็นอันงดเลยด้วยประการฉะนี้. ใน เทวฺวาจิกา เอกวาจิกา และ สมานวสฺสิกา มีนัยเหมือนกัน. จริงอยู่ อักษรมี ฏิ เป็นที่สุด จำเดิมแต่ สํ มาทีเดียว ย่อมเป็นเขตแห่งการงดในปวารณาแม้เหล่านี้ ฉะนี้แล. บทว่า อนุยุญฺชิยมาโน มีความว่า ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายทำการไต่สวนถามอยู่ ตามนัยที่ตรัสไว้ข้างหน้าว่า ท่านงดปวารณานั้น เพราะเหตุไร? บทว่า โอมทฺทิตฺวา มีความว่า สงฆ์พึงกล่าวคำเหล่านี้ว่า อย่าเลยภิกษุ เธออย่าทำความบาดหมางเลย ดังนี้เป็นอาทิ ห้ามปรามเสียแล้วจึงปวารณา. จริงอยู่ การห้ามปรามด้วยถ้อยคำ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์แล้วว่า โอมทฺทนา ในบทว่า โอมทฺทิตฺวา นี้. สองบทว่า อนุทฺธํสิตํ ปฏิชานาติ มีความว่า ภิกษุผู้โจทก์นั้นปฏิญญาอย่างนี้ว่า ภิกษุนี้ข้าพเจ้าตามจำกัด คือโจทแล้ว ด้วยอาบัติปาราชิกไม่มีมูล. บทว่า ยถาธมฺมํ มีความว่า สงฆ์พึงให้ปรับปาจิตตีย์ เพราะตามกำจัดด้วยสังฆา บทว่า นาเสตฺวา มีความว่า สงฆ์พึงนาสนาภิกษุผู้จำเลยเสียด้วยลิงคนาสนา. ภิกษุผู้จำเลยนั้น อันสงฆ์พึงสั่งเพียงเท่านี้ว่า อาบัตินั้น พึงเป็นโทษอันเธอทำคืนตามธรรม แล้วพึงกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงปวารณาเถิด แต่อย่าพึงกล่าวคำนี้ว่า อาบัติชื่อโน้น เพราะว่าคำนั้นย่อมเป็นทางแห่งความทะเลาะ. วินิจฉัยในข้อว่า อิทํ วตฺถุํ ปญฺญายติ น ปุคฺคโล นี้ พึงทราบดังนี้ :- ได้ยินว่า พวกโจรจับปลาทั้งหลายจากสระโบกขรณี ในวัดป่าปิ้งกินแล้วไป ภิกษุนั้นเห็นประการแปลกนั้น กำหนดหมายเอาว่า กรรมนี้พึงเป็นของภิกษุ จึงกล่าวอย่างนั้น. ในข้อว่า วตฺถุํ ฐเปตฺวา สงฺโฆ ปวาเรยฺย นี้ มีเนื้อความดังนี้ว่า เราทั้งหลายจักรู้จักตัวบุคคลนั้น ในเวลาใด จักโจทบุคคลนั้น ในเวลานั้น แต่บัดนี้สงฆ์จงปวารณาเถิด. ข้อว่า อิทาเนว นํ วเทหิ มีความว่า หากท่านรังเกียจบุคคลบางคนด้วยวัตถุนี้. ท่านจงระบุตัวบุคคลนั้น ในบัดนี้แล. หากเธอระบุ สงฆ์พึงไต่สวนบุคคลนั้นแล้ว จึงปวารณา; หากเธอไม่ระบุ สงฆ์พึงกล่าวว่า เราจักพิจารณาแล้วจักรู้ ดังนี้ ปวารณาเถิด. วินิจฉัยในข้อว่า อยํ ปุคฺคโล ปญฺญายติ นวตฺถุํ นี้ พึงทราบดังนี้ :- ภิกษุรูปหนึ่งบูชาพระเจดีย์ด้วยระเบียบของหอมและเครื่องชะโลมทาก็ดี, ฉันยาดองอริฏฐะก็ดี, กลิ่นตัวของเธอเป็นของคล้ายกับสิ่งเหล่านั้น ภิกษุนั้นหมายเอากลิ่นนั้น เมื่อประกาศวัตถุว่า กลิ่นของภิกษุนี้ จึงกล่าวอย่างนั้น. ข้อว่า ปุคฺคลํ ฐเปตฺวา สงฺโฆ ปวาเรยฺย มีความว่า สงฆ์จงเว้นบุคคลนั่นเสีย ปวารณาเถิด. ข้อว่า อิทาเนว นํ วเทหิ มีความว่า ท่านจงเว้นบุคคลใดจงกล่าวโทษของบุคคลนั้น ในบัดนี้แล. หากภิกษุนั้นกล่าวว่า โทษของบุคคลนั้นเป็นอย่างนี้ สงฆ์พึงชำระบุคคลนั้นให้เรียบร้อยแล้ว จึงปวารณา; แต่ถ้าเธอกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่ทราบ สงฆ์พึงกล่าวว่าเราจักพิจารณาแล้วจักรู้ ดังนี้ ปวารณาเถิด. ข้อว่า อิทํ วตฺถุญฺจ ปุคฺคโล จ ปญฺญายติ มีความว่า ภิกษุนั้นได้เห็นที่ซึ่งพวกโจรจับปลาปิ้งกิน และสถานที่อาบด้วยของหอมเป็นต้น ตามนัยก่อนนั่นเอง เมื่อสำคัญว่า นี่คงเป็นกรรมของบรรพชิตจึงกล่าวอย่างนั้น. ข้อว่า อิทาเนว นํ วเทหิ มีความว่า ท่านจะบอกตัวบุคคลที่ท่านรังเกียจด้วยวัตถุนั้น ในบัดนี้แล. ก็แลจำเดิมแต่กาลที่ได้เห็นแล้ว เพราะเห็นวัตถุและบุคคลครบทั้งสองนี้ สงฆ์ต้องวินิจฉัยก่อน จึงปวารณาได้. สองบทว่า กลฺลํ วจนาย มีความว่า สมควรโจท ด้วยคำโจทที่สมควร.๑- ถามว่า เพราะเหตุไร? ตอบว่า เพราะวัตถุยังมิได้วินิจฉัยก่อนแต่ปวารณา และเพราะบุคคลซึ่งได้เห็นแล้ว ถูกโจทภายหลังแต่ปวารณา. ____________________________ ๑- ปาฐะในอรรถกถาเป็น กลฺลโจเทตุํ วฏฺฏติ แต่น่าจะเป็น กลฺลํ โจทนาย โจเทตุํ วฏฺฏติ แปลว่า สมควรเพื่อการโจท คือควรที่จะโจท. ข้อว่า อุกฺโกกฏนกํ ปาจิตฺติยํ มีความว่า จริงอยู่ ภิกษุทั้งหลายเห็นวัตถุและบุคคลครบทั้งสองนี้แล้ว วินิจฉัยเสร็จก่อนแต่ปวารณาแล้ว จึงปวารณา เพราะฉะนั้น จึงเป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้รื้อปวารณานั้นอีก. วินิจฉัยในข้อว่า เทฺว ตโย อุโปสเถ จาตุทฺทสิเก กาตุํ นี้พึงทราบดังนี้ :- ๒ อุโบสถ คือที่ ๔ กับที่ ๕ เป็นจาตุททสี. อนึ่ง อุโบสถที่ ๓ แม้ตามปกติ ย่อมเป็นจาตุททสีเหมือนกันฉะนี้แล. เพราะเหตุนั้น ๒ อุโบสถ คือที่ ๓ กับที่ ๔ หรือ ๓ อุโบสถ คือที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ควรทำให้เป็นจาตุททสี หากว่าเมื่อทำอุโบสถที่ ๔ ซึ่งเป็นปัณณรสีอุโบสถ ภิกษุผู้ก่อความบาดหมางนั้นฟังด้วยไซร้ พึงทำอุโบสถที่ ๕ ให้เป็นจาตุททสี. ๒ อุโบสถย่อมเป็นจาตุททสี แม้ด้วยประการอย่างนี้. เมื่อทำอย่างนั้น ภิกษุเจ้าถิ่นเหล่านี้จักปวารณาสำหรับปัณณรสีปวารณาในวัน ๑๓ ค่ำหรือ ๑๔ ค่ำของภิกษุผู้ก่อความบาดหมางกัน. ก็แลเมื่อจะปวารณาอย่างนั้น พึงวางเหล่าสามเณรไว้ภายนอกสีมา ได้ฟังว่า ภิกษุก่อความบาดหมางกันเหล่านั้นพากันมา พึงรีบประชุมกันปวารณาเสียเร็วๆ เพื่อแสดงความข้อนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าภิกษุทั้งหลายผู้ก่อความบาดหมางกัน ทำความทะเลาะกัน ก่อการวิวาทกันทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ พากันมาสู่อาวาส, ภิกษุผู้เจ้าถิ่นเหล่านั้น พึงประชุมปวารณากันเสียเร็วๆ, ครั้นปวารณาเสร็จแล้ว พึงพูดกะพวกเธอว่า ผู้มีอายุ พวกเราปวารณาแล้วแล พวกท่านสำคัญอย่างใด จงกระทำอย่างนั้นเถิด. บทว่า อสํวิหิตา มีความว่า ผู้มิได้จัดแจง คือมิได้ทำการตระเตรียม เพื่อต้องการ จะให้ทราบการมา อธิบายว่า เป็นผู้อันพวกเจ้าถิ่นหาทันรู้ไม่. สองบทว่า เตสํ วิกฺขิตฺวา มีความว่า พวกภิกษุผู้เจ้าถิ่นพึงทำให้ตายใจเสีย โดยนัยเป็นต้นว่า พวกท่านเป็นผู้เหน็ดเหนื่อยมา จงพักเสียสักครู่เถิด. แล้วลอบออกไปปวารณาเสียนอกสีมา. บทว่า โน เจ สเภถ มีความว่า หากว่า ไม่พึงได้เพื่อออกไปนอกสีมาไซร้. เป็นผู้ถูกพวกสามเณรและภิกษุหนุ่ม ของเหล่าภิกษุผู้ก่อความบาดหมางกัน คอยตามติดไปมิได้ขาดเลย. สองบทว่า อาคเม ชุณฺเห มีความว่า ภิกษุทั้งหลายหมายเอาชุณหปักษ์ที่จะมาถึงใด ตั้งญัตติว่า เราทั้งหลายพึงปวารณาในชุณหปักษ์ที่จะมาถึง ดังนี้ ในชุณหปักษ์ที่จะมาถึงนั้น. ข้อว่า โกมุทิยา จาตุมฺมาสินิยา อกามา ปวาเรตพฺพํ มีความว่า ภิกษุผู้เจ้าถิ่นเหล่านั้นต้องปวารณาแน่แท้ จะล่วงเลยวันเพ็ญที่ครบ ๔ เดือนปวารณาย่อมไม่ได้เลย. หลายบทว่า เตหิ เจ ภิกฺขเว ภิกฺขูหิ ปวาริยมาเน มีความว่า เมื่อสงฆ์อันภิกษุเหล่านั้นปวารณาอยู่ ในวันเพ็ญที่ครบ ๔ เดือน อย่างนั้น. ปวารณาสงเคราะห์ ข้อว่า ปริพาหิรา ภวิสฺสาม มีความว่า เราทั้งหลาย เมื่อไม่สามารถให้ภาวนานุโยคพร้อมมูลได้ เพราะความแตกแยกกันไปแห่งที่พักกลางคืนและที่พักกลางวันเป็นต้น ซึ่งไม่ประจำที่ จักเป็นผู้เหินห่าง จากธรรมเครื่องอยู่สำราญนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้ามการมอบฉันทะ ด้วยคำนี้ว่า ภิกษุทั้งหลายต้องประชุมในที่เดียวกันทั้งหมดทีเดียว. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำว่า เตหิ เจ ภิกฺขเว. เป็นอาทิ ก็เพื่อแสดงว่า จริงอยู่ การมอบฉันทะย่อมไม่ควรในฐานะเหล่านี้ คือในคราวที่ทำความพร้อมเพรียงแห่งสงฆ์ผู้แตกกัน ๑ ในคราวระงับอธิกรณ์ด้วยติณวัตถารกวินัย ๑ ในปวารณาสังคหะนี้ ๑. ก็ขึ้นชื่อว่าปวารณาสังคหะนี้ ไม่ควรให้แก่ภิกษุผู้ละทิ้งกัมมัฏฐานพวกหนึ่ง ภิกษุผู้มีสมถะและวิปัสสนาแก่กล้าแล้วพวกหนึ่ง ภิกษุผู้เป็นอริยบุคคลมีโสดาบันเป็นต้นพวกหนึ่ง ก็ภิกษุผู้ได้สมถะอย่างอ่อนและวิปัสสนาอย่างอ่อน จะมีทั้งหมดหรือมีครึ่งจำนวนหรือมีบุคคลเดียวก็ตามที ปวารณาสังคหะนั้นควรให้แท้ด้วยอำนาจแห่งภิกษุแม้รูปเดียว เมื่อสงฆ์ให้ปวารณาสังคหะแล้ว มีบริหารตลอดภายในกาลฝนเดียว ภิกษุอาคันตุกะย่อมไม่ได้เพื่อถือเสนาสนะของภิกษุเหล่านั้น ทั้งภิกษุเหล่านั้น ไม่พึงเป็นผู้ขาดพรรษาด้วย ก็แลครั้นปวารณาแล้ว ย่อมได้เพื่อหลีกไปสู่ที่จาริกในระหว่างด้วย. คำที่เหลือในที่ทั้งปวงตื้นทั้งนั้น ฉะนี้แล. อรรถกถาปวารณาขันธกะ จบ. ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๑ ปวารณาขันธกะ เรื่องภิกษุหลายรูปเป็นต้น จบ. |