ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 4 / 1อ่านอรรถกถา 4 / 1อรรถกถา เล่มที่ 4 ข้อ 4อ่านอรรถกถา 4 / 5อ่านอรรถกถา 4 / 252
อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๑ มหาขันธกะ
อชปาลนิโครธกถา

               อรรถกถาอชปาลนิโครธกถา               
               ในคำว่า อถ โข ภควา ตสฺส สตฺตาหสฺส อจฺจเยน ตมฺหา สมาธิมฺหา วุฏฺฐหิตฺวา โพธิรุกฺมูลา, เยน อชปาลนิโคฺรโธ เตนุปสงฺกมิ นี้ ผู้ศึกษาพึงทราบวินิจฉัยดังนี้ :-
               พระผู้มีพระภาคเจ้าออกจากสมาธินั้นแล้ว เสด็จเข้าไปที่ต้นอชปาลนิโครธ จากโคนโพธิพฤกษ์ ในทันทีทีเดียวหามิได้ เหมือนอย่างว่าในคำที่พูดกันว่า ผู้นี้กินแล้วก็นอน จะได้มีคำอธิบายอย่างนี้ว่า เขาไม่ล้างมือ ไม่บ้วนปาก ไม่ไปไกล้ที่นอน ไม่ทำการเจรจาปราศรัยอะไรบ้าง อย่างอื่นแล้วนอน หามิได้ แต่ในคำนี้มีความหมายที่ผู้กล่าวแสดงดังนี้ว่า เขานอนภายหลังแต่การรับประทาน เขาไม่ได้นอนหามิได้ ข้อนี้ฉันใด แม้ในคำนี้ก็ฉันนั้น จะได้คำอธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าออกจากสมาธินั้นแล้ว เสด็จหลีกไปในทันทีทีเดียวหามิได้ ที่แท้ในคำนี้มีความหมายที่ท่านผู้กล่าวแสดงดังนี้ว่า พระองค์เสด็จหลีกไปภายหลังแต่การออก ไม่ได้เสด็จหลีกไปหามิได้.
               ถามว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่เสด็จหลีกไปในทันทีแล้ว ได้ทรงทำอะไรเล่า?
               ตอบว่า ได้ทรงให้ ๓ สัปดาห์แม้อื่นอีกผ่านพ้นไปในประเทศใกล้เคียงโพธิพฤกษ์นั่นเอง.
               ในข้อนั้นมีอนุปุพพีกถาดังนี้ :-
               ได้ยินว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ประทับนั่งด้วยการนั่งขัดสมาธิอันเดียว สัปดาห์ ๑ เทวดาบางพวกเกิดความแคลงใจขึ้นว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่เสด็จลุกขึ้น ธรรมที่ทำความเป็นพระพุทธเจ้า แม้อื่นจะมีอีกละกระมัง?
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าออกจากสมาบัติในวันที่ ๘ ทรงทราบความแคลงใจของเหล่าเทวดา เพื่อตัดความแคลงใจจึงทรงเหาะขึ้นไปในอากาศ แสดงยมกปาฏิหาริย์ กำจัดความแคลงใจของเหล่าเทวดาเหล่านั้นแล้ว ประทับยืนจ้องดูด้วยพระเนตรมิได้กระพริบ ซึ่งพระบัลลังก์และโพธิพฤกษ์ อันเป็นสถานที่บรรลุผลแห่งพระบารมีที่ทรงสร้างมาตลอด ๔ อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัลป์ ให้สัปดาห์ ๑ ผ่านพ้นไปทางด้านทิศอุดรเฉียงไปทางทิศปราจีนหน่อยหนึ่ง (ทิศอีสาน) แต่พระบัลลังก์ สถานที่นั้นชื่ออนิมมิสเจดีย์.
               ลำดับนั้น เสด็จจงกรม ณ รัตนจงกรมอันยาวยืดไปข้างหน้าและข้างหลังระหว่างพระบัลลังก์กับที่เสด็จประทับยืน (อนิมมิสเจดีย์) สัปดาห์ ๑ ผ่านพ้นไป. สถานที่นั้นชื่อรัตนจงกรมเจดีย์.
               ต่อจากนั้น เทวดาทั้งหลายนิรมิตเรือนแก้วขึ้นทางด้านทิศประจิม พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จนั่งขัดสมาธิ ณ เรือนแก้วนั้น ทรงพิจารณาอภิธรรมปิฎกคือสมันตปัฏฐาน ซึ่งมีนัยไม่สิ้นสุดในอภิธรรมปิฎกนี้ โดยพิสดารให้สัปดาห์ ๑ ผ่านพ้นไป. สถานที่นั้นชื่อรัตนฆรเจดีย์.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าให้ ๔ สัปดาห์ผ่านพ้นไป ในประเทศใกล้เคียงโพธิพฤกษ์นั่นเอง จึงในสัปดาห์คำรบ ๕ เสด็จจากโคนโพธิพฤกษ์เข้าไปที่ต้นอชปาลนิโครธ ด้วยประการฉะนี้
               ได้ยินว่า คนเลี้ยงแพะไปนั่งที่ร่มเงาแห่งต้นนิโครธนั้น เพราะเหตุนั้น ต้นนิโครธจึงเกิดชื่อว่าอชปาลนิโครธ.
               สองบทว่า สตฺตาหํ วิมุตฺติสุขปฏิสํเวที มีความว่า เมื่อทรงพิจารณาธรรมอยู่ที่ต้นอชปาลนิโครธแม้นั้นนั่นแล ชื่อว่าประทับเสวยวิมุตติสุข ต้นไม้นั้น อยู่ด้านทิศตะวันออกจากต้นโพธิ. ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งอย่างนั้นที่ต้นอชปาลนิโครธนี้ พราหมณ์คนหนึ่งได้มาทูลถามปัญหากะพระองค์. เพราะเหตุนั้น พระธรรมสังคาหกาจารย์จึงกล่าวคำว่า อถ โข อญฺญตโร เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า หุํหุํกชาติโก มีความว่า ได้ยินว่า พราหมณ์นั้นชื่อทิฏฐมังคลิกะ เที่ยวตวาดว่า หึหึ ด้วยอำนาจความถือตัวและด้วยอำนาจความโกรธ เพราะฉะนั้น เขาจึงเรียกแกว่า พราหมณ์หุงหุงกะชาติ บางอาจารย์ก็กล่าวว่า พราหมณ์หุหุกชาติบ้าง.
               สองบทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา มีความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบใจความสำคัญแห่งคำที่แกกล่าวนั้น จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้น.
               เนื้อความแห่งอุทานนั้นว่า พราหมณ์ใดชื่อว่าเป็นพราหมณ์ เพราะมีบาปธรรมอันลอยเสียแล้ว จึงได้เป็นผู้ประกอบด้วยบาปธรรมมีกิเลสเป็นเครื่องขู่ผู้อื่นว่า หึหึ และกิเลสดุจน้ำฝาดเป็นต้น เพราะค่าที่มาถือว่า สิ่งที่เห็นแล้วเป็นมงคล ปฏิญาณข้อที่ตนเป็นพราหมณ์ด้วยเหตุสักว่าชาติอย่างเดียว หามิได้, พราหมณ์นั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีบาปธรรมอันลอยแล้ว เพราะเป็นผู้ลอยบาปธรรมเสีย ชื่อว่าผู้ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องขู่ผู้อื่นว่า หึหึ เพราะมาละกิเลสเป็นเครื่องขู่ผู้อื่นว่า หึหึ เสียได้ ชื่อว่าผู้ไม่มีกิเลสดุจน้ำฝาด เพราะไม่มีกิเลสดุจน้ำฝาดมีราคะเป็นต้น ชื่อว่ามีตนสำรวมแล้ว เพราะเป็นผู้มีจิตประกอบด้วยภาวนานุโยค
               อนึ่ง ชื่อว่าผู้มีตนสำรวมแล้ว เพราะเป็นผู้มีจิตสำรวมแล้วด้วยศีลสังวร ชื่อว่าผู้จบเวทแล้ว เพราะเป็นผู้ถึงที่สุดด้วยเวททั้งหลาย กล่าวคือจตุมรรคญาณ หรือเพราะเป็นผู้เรียนจบไตรเพท ชื่อว่าผู้จบพรหมจรรย์แล้ว เพราะพรหมจรรย์คือมรรค ๔ อันตนได้อยู่เสร็จแล้ว.
               บาทพระคาถาว่า ธมฺเมน โส พฺรหฺมวาทํ วเทยฺย มีความว่า กิเลสเครื่องฟูขึ้น ๕ อย่างนี้คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ ในเพราะอารมณ์น้อยหนึ่ง คือว่า แม้ในเพราะอารมณ์อย่างหนึ่งในโลกทั้งมวลไม่มีแก่พราหมณ์ใด พราหมณ์นั้นโดยทางธรรม ควรกล่าววาทะนี้ว่า เราเป็นพราหมณ์.
               เมฆที่เกิดขึ้นในเมื่อยังไม่ถึงฤดูฝน ชื่อว่า อกาลเมฆ ก็แลเมฆนี้เกิดขึ้นในเดือนท้ายแห่งฤดูร้อน.
               บทว่า สตฺตาหวทฺทลิกา มีความว่า เมื่ออกาลเมฆนั้นเกิดขึ้นแล้วได้มีฝนตกพรำตลอด ๗ วัน.
               บทว่า สีตวาตทุทฺทินี มีความว่า ก็แลฝนตกพรำตลอด ๗ วันนั้นได้ชื่อว่า ฝนเจือลมหนาว เพราะเป็นวันที่ลมหนาวเจือเม็ดฝนพัดวนไปโดยรอบโกรกแล้ว.

               อรรถกถาอชปาลนิโครธกถา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๑ มหาขันธกะ อชปาลนิโครธกถา จบ.
อ่านอรรถกถา 4 / 1อ่านอรรถกถา 4 / 1อรรถกถา เล่มที่ 4 ข้อ 4อ่านอรรถกถา 4 / 5อ่านอรรถกถา 4 / 252
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=4&A=116&Z=136
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=148
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=148
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :