ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 4 / 1อ่านอรรถกถา 4 / 37อรรถกถา เล่มที่ 4 ข้อ 56อ่านอรรถกถา 4 / 64อ่านอรรถกถา 4 / 252
อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๑ มหาขันธกะ
ทรงเทศนาโปรดพระเจ้าพิมพิสาร

               อรรถกถาพิมพิสารวัตถุ               
               บทว่า ลฏฺฐิวเน ได้แก่ สวนตาล.
               สองบทว่า สุปฺปติฏฺเฐ เจติเย ได้แก่ ที่ต้นไทรต้นใดต้นหนึ่ง.
               ได้ยินว่า คำว่า สุประดิษฐเจดีย์ นี้ เป็นชื่อของต้นไทรนั้น.
               ๑ หมื่น เป็น ๑ นหุต ในคำว่า ทฺวาทสนหุเตหิ นี้.
               บทว่า อปฺเปกจฺเจ ตัดบทว่า อปิ เอกจฺเจ
               บทว่า อชฺฌภาสิ มีความว่า ได้ตรัสสำทับ เพื่อตัดความสงสัยของพราหมณ์และคฤหบดีเหล่านั้น.
               สองบทว่า กิเมว ทิสฺวา มีความว่า เห็นอะไรเล่า?
               บทว่า อุรุเวลวาสี คือผู้มีปกติอยู่ที่อุรุเวลประเทศ. ท่านย่อมเป็นผู้ละไฟที่ตนบูชาแล้วบวช, มีอุบายอะไร?
               บทว่า กิสโกวทาโน มีความว่า เป็นผู้ตักเตือนพร่ำสอนดาบสทั้งหลาย ซึ่งได้นามว่าผู้ผอม เพราะมีร่างกายผอม ด้วยความประพฤติของผู้ย่างกิเลส.
               อีกอย่างหนึ่ง มีความว่า เป็นดาบสผู้ผอมเอง และเป็นผู้ให้โอวาท.
               อธิบายว่า ตักเตือนพร่ำสอนดาบสผู้ผอมเหล่าอื่นด้วย.
               สองบทว่า กถํ ปหีนํ มีความว่า เพราะเหตุไรจึงละเสีย?
               มีคำอธิบายว่า ท่านอยู่อุรุเวลามานาน ตนเองเคยเป็นอาจารย์สั่งสอนเหล่าดาบสผู้บำเรอไฟ เห็นอุบายอะไรเล่า จึงละไฟเสีย? เราถามเนื้อความนี้กะท่าน เหตุไฉน ท่านจึงละการบูชาเพลิงของท่านเสีย?
               ในคาถาที่ ๒ มีเนื้อความดังนี้ :-
               ยัญทั้งหลายกล่าวสรรเสริญกามทั้งหลายมีรูปเป็นต้นเหล่านี้และสตรีทั้งหลาย ข้าพเจ้านั้นได้ทราบชนิดของกามมีรูปเป็นต้นทั้งหมดนี้ว่า เป็นมลทินในขันธ์เป็นที่หอบทุกข์ไว้ จึงมิได้ยินดีในการเซ่นและการบูชา.
               อธิบายว่า ไม่อภิรมย์แล้วในการเซ่นหรือการบูชา เพราะยัญทั้งหลายต่างโดยการเซ่นและการบูชาเหล่านี้กล่าวสรรเสริญผลเป็นมลทินทั้งนั้น.
               วินิจฉัยในคาถาที่ ๓ :-
               บทว่า อถ โกจรหิ มีความว่า ก็ทีนั้น... ในสิ่งไรเล่า?
               บทที่เหลือตื้นทั้งนั้น.
               วินิจฉัยในคาถาที่ ๔ :-
               บทว่า ปทํ เป็นต้น มีความว่า ทางคือพระนิพพาน จัดว่าสงบและมีความสงบเป็นสภาพ จัดว่าไม่มีกิเลสอันเป็นเหตุหอบทุกข์ เพราะไม่มีกิเลสทั้งหลายที่เข้าไปหอบเอาทุกข์ไว้, จัดว่าหากังวลมิได้ เพราะไม่มีกิเลสเครื่องกังวลทั้งหลายมีราคะเป็นต้น, จัดว่าไม่ติดข้องแม้ในกามภพ ซึ่งเป็นที่กล่าวสรรเสริญแห่งยัญทั้งหลายเพราะไม่ติดอยู่ในภพทั้ง ๓ แล้ว, จัดว่ามีอันจะไม่แปรเป็นอย่างอื่น เพราะไม่มีเกิด แก่ ตาย, จัดว่าไม่ใช่ธรรมที่ผู้อื่นจะพึงแนะให้ได้ เพราะต้องบรรลุด้วยมรรคซึ่งตนเองเจริญแล้วเท่านั้น อันคนอื่นจะเป็นใครก็ตามจะพึงให้บรรลุไม่ได้ ข้าพเจ้าไม่ยินดีแล้วในการเซ่นและการบูชา ก็เพราะเห็นทางเช่นนี้.
               พระอุรุเวลกัสสปแสดงอย่างไร? ด้วยคำว่า ได้เห็นทางอันสงบ เป็นต้นนั้น?
               แสดงว่า ข้าพเจ้ามิได้ยินดีแล้วในการเซ่นและการบูชา ซึ่งให้สำเร็จสมบัติในเทวโลกและมนุษยโลก ข้าพเจ้านั้นจะกล่าวอย่างไร?
               ครั้งนั้นแล พระอุรุเวลกัสสปผู้มีอายุ ครั้นประกาศความไม่ยินดีในโลกทั้งปวงอย่างนี้ว่า ใจของข้าพเจ้าไม่ยินดีแล้วในเทวโลกและมนุษยโลก ชื่อนี้ ดังนี้แล้วจึงประกาศข้อที่ตนเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าเป็นสาวก ก็แลท่านแสดงปาฏิหาริย์หลายอย่างในอากาศ เพื่อประกาศข้อที่ตนเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นแล แล้วลงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง.
               บทว่า ธมฺมจกฺขุํ ได้แก่ โสดาปัตติมรรคญาณ.
               บทว่า อสฺสาสกา ได้แก่ ความหวัง อธิบายว่า ความปรารถนา.
               ก็วินิจฉัยในข้อว่า เอสาหํ ภนฺเต นี้ ผู้ศึกษาพึงทราบดังต่อไปนี้ :-
               อันที่จริง สรณคมน์ของพระเจ้าพิมพิสารนั้นสำเร็จแล้วด้วยความตรัสรู้มรรคเป็นแท้ แต่ว่าท้าวเธอทรงตัดสินตกลงพระหฤทัยในสรณคมน์นั้นแล้ว บัดนี้จึงทรงทำการมอบพระองค์ถวายด้วยพระวาจา คือว่า พระเจ้าพิมพิสารนี้ได้ทรงถึงสรณคมน์ที่แน่นอนด้วยอำนาจแห่งมรรคทีเดียวแล้ว เมื่อจะทรงทำการถึงสรณะนั้นให้ปรากฏแก่ผู้อื่นด้วยพระวาจา และเมื่อจะทรงถึงด้วยความนอบน้อม จึงตรัสอย่างนั้น.
               บทว่า สิงฺคีนิกฺขสุวณฺโณ มีความว่า มีวรรณะเสมอด้วยลิ่มทองคำชื่อสิงคี.
               บทว่า ทสวาโส ได้แก่ ทรงอยู่ประจำในธรรมเป็นที่อยู่ของพระอริยเจ้า ๑๐ ประการ.
               บทว่า ทสธมฺมวิทู ได้แก่ ทรงทราบกรรมบถ ๑๐ ประการ.
               สองบทว่า ทสภิ จุเปโต ได้แก่ ทรงประกอบด้วยองค์ของพระอเสขบุคคล ๑๐ อย่าง.#-
               สองบทว่า สพฺพธิ ทนฺโต ได้แก่ ผู้ทรมานแล้วในอินทรีย์ทั้งปวง
               จริงอยู่ บรรดาอินทรีย์มีจักขุนทรีย์เป็นต้นของพระผู้มีพระภาคเจ้าอินทรีย์ไรๆ ที่ชื่อว่า ยังไม่ได้ทรมาน ย่อมไม่มี.
               ข้อว่า ภควนฺตํ ภุตฺตาวึ โอนีตปตฺตปาณึ เอกมนฺตํ นิสีทิ มีความว่า
               สังเกตเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยเสร็จแล้ว ชักพระหัตถ์ออกจากบาตรแล้ว จึงประทับนั่งที่ประเทศแห่งหนึ่ง.
               บทว่า อตฺถิกานํ มีความว่า ผู้มีความต้องการด้วยการไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และด้วยการฟังธรรม.
               บทว่า อภิกฺกมนียํ มีความว่า พึงอาจไปเฝ้าได้.
               บทว่า อปฺปกิณฺณํ คือ ไม่พลุกพล่าน.
               บทว่า อปฺปสทฺทํ ได้แก่ เงียบเสียงที่พูดจากัน.
               บทว่า อปฺปนิคโฆสํ ได้แก่ เงียบเสียงกึกก้อง ด้วยเสียงอื้ออึงในพระนคร.
               บทว่า วิชนวาตํ ได้แก่ ปราศจากลมในสรีระของชนที่สัญจรเนืองๆ.
               บาลีว่า ปราศจากการพูดจาของชนบ้าง อธิบายว่า ปราศจากการพูดจาของคนภายใน.
               บาลีว่า ปราศจากการเที่ยวไปของชนบ้าง อธิบายว่า เว้นจากการท่องเที่ยวของชน.
               บทว่า มนุสฺสราหเสยฺยกํ ได้แก่ ควรเป็นที่กระทำกรรมลับของหมู่มนุษย์.
               บทว่า ปฏิสลฺลานสารุปฺปํ คือ สมควรเป็นที่สงัด.
____________________________
#- สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ ๙. สัมมาญาณ ๑๐. สัมมาวิมฺตติ  ม.ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๑๗๔.

               อรรถกถาพิมพิสารวัตถุ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๑ มหาขันธกะ ทรงเทศนาโปรดพระเจ้าพิมพิสาร จบ.
อ่านอรรถกถา 4 / 1อ่านอรรถกถา 4 / 37อรรถกถา เล่มที่ 4 ข้อ 56อ่านอรรถกถา 4 / 64อ่านอรรถกถา 4 / 252
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=4&A=1216&Z=1357
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=575
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=575
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๗  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :