ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 4 / 1อ่านอรรถกถา 4 / 64อรรถกถา เล่มที่ 4 ข้อ 77อ่านอรรถกถา 4 / 82อ่านอรรถกถา 4 / 252
อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๑ มหาขันธกะ
ต้นเหตุอุปัชฌายวัตรเป็นต้น

               อรรถกถาอุปัชฌายวัตตกถา               
               บทว่า อนุปชฺฌายกา มีความว่า เว้นจากครูผู้คอยสอดส่องโทษน้อยโทษใหญ่.
               บทว่า อนากปฺปสมฺปนฺนา ได้แก่ ผู้ไม่ถึงพร้อมด้วยมารยาท.
               อธิบายว่า ปราศจากมารยาทซึ่งสมควรแก่สมณะ.
               บทว่า อุปริโภชเน ได้แก่ เบื้องบนแห่งโภชนะ.
               บทว่า อุตฺติฏฺฐปตฺตํ ได้แก่ บาตรสำหรับเที่ยวไปเพื่อบิณฑะ.
               จริงอยู่ มนุษย์ทั้งหลายมีความสำคัญในบาตรนั้นว่าเป็นแดน เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อุตฺติฏฺฐปตฺตํ.
               อีกอย่างหนึ่ง ผู้ศึกษาพึงเห็นความในบทว่า อุตฺติฏฺฐปตฺตํ นี้อย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลายยืนขึ้นน้อมบาตรเข้าไป.
               ข้อว่า อนุชานามิ ภิกฺขเว อุปชฺฌายํ มีความว่า เราอนุญาต บัดนี้ เพื่อให้ภิกษุถืออุปัชฌาย์.
               สองบทว่า ปุตฺตจิตฺตํ อุปฏฺฐเปสฺสติ มีความว่า พระอุปัชฌาย์จักเข้าไปตั้งจิตไว้ด้วยอำนาจความรักฉันบิดากับบุตรอย่างนี้ว่า ผู้นี้เป็นบุตรของเรา.
               แม้ในบทที่สองก็นัยนี้.
               สองบทว่า สคารวา สปฺปติสฺสา มีความว่า อุปัชฌาย์กับสัทธิวิหาริก จักเข้าไปตั้งความเป็นผู้หนักและความเป็นผู้ใหญ่ กะกันและกัน.
               บทว่า สภาควุตฺติกา ได้แก่ มีความเป็นอยู่ถูกส่วนกัน.
               ๕ บทมีบทว่า สาหูติ วา เป็นต้น เป็นไวพจน์แห่งคำรับเป็นอุปัชฌาย์.
               สองบทว่า กาเยน วิญฺญาเปติ มีความว่า เมื่อสัทธิวิหาริกกล่าว ๓ ครั้งว่า ขอท่านจงเป็นอุปัชฌาย์ของผมเถิดขอรับ. อย่างนั้นแล้ว ถ้าพระอุปัชฌาย์รับรองการถืออุปัชฌาย์ว่า อุปัชฌาย์อันท่านถือแล้ว ดังนี้ ด้วยกายหรือวาจา หรือทั้งกายวาจา ด้วยอำนาจแห่งบทๆ หนึ่งๆ ใน ๕ บทมี สาหุ เป็นต้น อุปัชฌาย์เป็นอันสัทธิวิหาริกถือแล้ว.
               จริงอยู่ การใช้วาจาประกาศหรือการใช้กายเคลื่อนไหวให้ทราบเนื้อความ แห่งบทใดบทหนึ่งใน ๕ บทนี้ของพระอุปัชฌาย์ นี้แลเป็นการถืออุปัชฌาย์ ในข้อว่า พึงถืออุปัชฌาย์ นี้.
               ฝ่ายพระเกจิอาจารย์กล่าวหมายเอาคำรับว่า สาธุ คำของพระเกจิอาจารย์นั้น ไม่เป็นประมาณ. เพราะว่าอุปัชฌาย์ย่อมเป็นอันสัทธิวิหาริกถือแล้ว ด้วยเหตุมาตรว่าคำขอและคำให้ คำรับไม่นับว่าเป็นองค์ในการถืออุปัชฌาย์นี้. ฝ่ายสัทธิวิหาริกจะควรทราบแต่เพียงว่า อุปัชฌาย์เป็นอันเราถือแล้วด้วยบทนี้ หามิได้ ควรทราบความข้อนี้ด้วยคำว่า บัดนี้มีวันนี้เป็นต้น พระเถระเป็นภาระของเรา ถึงเราก็เป็นภาระของพระเถระ.
               ข้อว่า ตตฺรายํ สมฺมาวตฺตนา มีความว่า คำใด ซึ่งเรากล่าวแล้วว่าพึงประพฤติชอบ, ความประพฤติชอบในคำนั้น ดังนี้.
               หลายบทว่า กาลสฺเสว อุฏฺฐาย อุปหนาโอมุญฺจิตฺวา มีความว่า ถ้ารองเท้าของสัทธิวิหาริกนั้นอันเธอสวมอยู่ คือเป็นของที่อยู่ในเท้า เพื่อประโยชน์แก่การจงกรมในเวลาใกล้รุ่ง หรือเพื่อประโยชน์แก่การรักษาเท้าซึ่งล้างแล้ว. พึงลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ถอดรองเท้าเหล่านั้นเสีย.
               ข้อว่า ทนฺตกฏฺฐํ ทาตพฺพํ มีความว่า พึงน้อมถวายไม้สีฟัน ๓ ขนาด คือขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก จาก ๓ ขนาดนั้น ท่านถือเอาขนาดใดครบ ๓ วัน ตั้งแต่วันที่ ๔ ไปพึงถวายขนาดนั้นเท่านั้น ถ้าว่าท่านถือเอาตามมีตามได้ ไม่มีกำหนดลงไป ต่อไปได้ชนิดใด พึงถวายชนิดนั้น.
               ข้อว่า มุโขทกํ ทาตพฺพํ มีความว่า พึงนำเข้าไปทั้งน้ำเย็นและน้ำร้อน ท่านใช้อย่างใดจากน้ำ ๒ อย่างนั้นครบ ๓ วัน ตั้งแต่วันที่ ๔ ไปพึงถวายน้ำล้างหน้าชนิดนั้นเท่านั้น ถ้าว่าท่านใช้ตามมีตามได้ไม่กำหนดลงไป ต่อไปได้ชนิดใดพึงถวายชนิดนั้น. ถ้าว่าท่านใช้ทั้ง ๒ อย่าง. พึงนำเข้าไปถวายทั้ง ๒ อย่าง.
               พึงตั้งน้ำไว้ในที่ล้างหน้าแล้ว พึงกวาดตั้งแต่เวจกุฏีมา. เมื่อพระเถระไปเว็จกุฎี พึงกวาดบริเวณ. ด้วยประการอย่างนี้ บริเวณเป็นอันไม่ว่าง. พึงแต่งตั้งอาสนะไว้ แต่เมื่อพระเถระยังไม่ออกจากเว็จกุฎีทีเดียว เมื่อท่านทำสรีรกิจเสร็จแล้วมานั่งบนอาสนะนั้น พึงทำวัตรตามที่กล่าวไว้โดยนัยเป็นต้นว่า ถ้าข้าวต้มมี พึงถวาย.
               บทว่า อุกฺกลาโป มีความว่า เกลื่อนกล่นด้วยหยากเยื่อบางอย่าง แต่ถ้าไม่มีหยากเยื่ออื่น มีแต่น้ำหยด ประเทศนั้นควรเช็ดแม้ด้วยมือ.
               สองบทว่า สคุณํ กตฺวา มีความว่า พึงซ้อนจีวร ๒ ผืนเข้าด้วยกันแล้ว ถวายสังฆาฏิทั้ง ๒ ผืนที่ซ้อนแล้วนั้น. จริงอยู่ จีวรทั้งหมด เรียกว่าสังฆาฏิ เพราะซ้อนกันไว้.
               เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า พึงถวายสังฆาฏิทั้งหลาย.
               ในข้อว่า นาติทูเร คนฺตพฺพํ นาจฺจาสนฺเน นี้ มีวินิจฉัยว่า ถ้าด้วยย่างเท้าเพียงก้าวเดียวหรือ ๒ ก้าว จะไปถึงอุปัชฌาย์ ซึ่งเหลียวมามองด้วยระยะเพียงเท่านี้ พึงทราบว่า เป็นผู้เดินไม่ห่างนัก ไม่ชิดกัน.
               ข้อว่า ปตฺตปริยาปนฺนํ ปฏิคฺคเหตพฺพํ มีความว่า ถ้าอุปัชฌาย์ได้ข้าวต้มหรือข้าวสวยในที่ภิกษาจารแล้ว บาตรร้อนหรือหนัก พึงถวายบาตรของตนแก่ท่าน รับบาตรนั้นมา.
               ข้อว่า น อุปชฺฌายสฺส ภณมานสฺส อนฺตรนฺตรา กถา โอปาเตตพฺพา มีความว่า เมื่ออุปัชฌาย์กำลังนั่งพูดอยู่ในละแวกบ้านหรือในที่อื่น เมื่อคำของท่านยังไม่จบ ไม่ควรพูดสอดเรื่องอื่นขึ้น.
               ก็แลตั้งแต่นี้ไป ในที่ใดๆ ท่านทำการห้ามไว้ด้วย อักษร ที่แปลว่า ไม่ หรือ อย่า ในที่นั้นทุกแห่งพึงทราบว่า เป็นอาบัติทุกกฎ. จริงอยู่ ข้อนี้เป็นธรรมดาในขันธกะ.
               ข้อว่า อาปตฺติสามนฺตา ภณมาโน มีความว่า เมื่ออุปัชฌาย์กล่าววาจาใกล้ต่ออาบัติ ด้วยอำนาจปทโสธัมมสิกขาบท และทุฏฐุลลสิกขาบทเป็นต้น.
               บทว่า นิวาเรตพฺโพ ความว่า พึงห้ามเป็นเชิงถามอย่างนี้ว่า พูดเช่นนี้ควรหรือขอรับ ไม่เป็นอาบัติหรือ? แต่ตั้งใจว่าจักห้ามแล้ว ก็ไม่ควรพูดกะท่านว่า ท่านผู้ใหญ่อย่าพูดอย่างนั้น.
               ข้อว่า ปฐมตรํ อาคนฺตฺวา มีความว่า ถ้าบ้านอยู่ใกล้หรือในวิหารมีภิกษุไข้ พึงกลับจากบ้านเสียก่อน. ถ้าบ้านอยู่ไกลไม่มีใครมากับอุปัชฌาย์ ควรออกจากบ้านพร้อมกับท่านนั่นแล แล้วเอาจีวรห่อบาตรสะพายรีบมาก่อนแต่กลางทาง เมื่อกลับอย่างนี้ มาถึงก่อนแล้วพึงทำวัตรทุกอย่างมีปูอาสนะเป็นต้น.
               สองบทว่า สินฺนํ โหติ มีความว่า เป็นของชุ่ม คือเปียกเหงื่อ.
               ข้อว่า จตุรงฺคุลํ กณฺณํ อุสฺสาเทตฺวา มีความว่า พึงเหลื่อมมุมให้เกินกันประมาณ ๔ นิ้ว ต้องพับจีวรอย่างนี้ เพราะเหตุไร? เพราะตั้งใจจะมิให้หักตรงกลาง.
               จริงอยู่ จีวรที่พับให้มุมเสมอกันย่อมหักตรงกลาง. จีวรที่ชอกช้ำเป็นนิตย์เพราะพับดังนั้น ย่อมชำรุด. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสข้อนี้ ก็เพื่อป้องกันความชำรุดนั้น. เพราะเหตุนั้น ในวันพรุ่ง จีวรจะไม่ชอกช้ำเฉพาะตรงที่หักในวันนี้ด้วยวิธีใด พึงพับให้เหลื่อมกันวันละ ๔ นิ้วด้วยวิธีนั้น.
               ข้อว่า โอโภเค กายพนฺธนํ กาตพฺพํ มีความว่า พึงพับประคดเอว สอดเก็บไว้ในขนดจีวร.
               ข้อว่า สเจ ปิณฺฑปาโต โหติ นี้ มีวินิจฉัยว่า
               อุปัชฌาย์ใดฉันในบ้านนั่นเอง หรือในละแวกบ้าน หรือในหอฉัน แล้วจึงมา หรือไม่ได้บิณฑะ. บิณฑบาตของอุปัชฌาย์นั้น ชื่อว่าไม่มี แต่ของอุปัชฌาย์ผู้ไม่ได้ฉันในบ้าน หรือผู้ได้ภิกษา ชื่อว่ามี.
               เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำเป็นต้นว่า ถ้าบิณฑบาตมี ถ้าแม้บิณฑบาตของท่านไม่มี และท่านใคร่จะฉัน พึงถวายน้ำแล้ว น้อมถวายบิณฑบาตแม้ที่ตนได้แล้ว.
               ข้อว่า ปานีเยน ปุจฺฉิตพฺโพ มีความว่า พึงถามอุปัชฌาย์ซึ่งกำลังฉัน ถึงน้ำฉัน ๓ ครั้งว่า ผมจะนำน้ำฉันมาได้หรือยังขอรับ? ถ้าเวลาพอ เมื่ออุปัชฌาย์ฉันเสร็จแล้ว ตนเองจึงค่อยฉัน. ถ้าเวลาจวนหมด พึงตั้งน้ำฉันไว้ในที่ใกล้อุปัชฌาย์แล้วตนเองพึงฉันบ้าง.
               ข้อว่า อนนฺตรหิตาย มีความว่า ไม่ควรวางบาตรบนพื้นซึ่งเจือด้วยฝุ่นและกรวด ไม่ได้ปูลาดด้วยบรรดาเครื่องปูลาดมีเสื่ออ่อน และท่อน หนังเป็นต้น ชนิดใดชนิดหนึ่ง. แต่ถ้าพื้นเป็นที่อันเขาลงรัก๑- หรือโบกปูน หรือไม่มีละอองและดิน จะวางบนพื้นเห็นปานนั้นควรอยู่. จะวางแม้บนทรายที่สะอาดก็ควร. จะวางบนดินร่วนฝุ่นและกรวดเป็นต้นไม่ควร. แต่พึงวางใบไม้หรือเชิงบาตรบนสิ่งเหล่านั้นแล้ว เก็บบาตรบนใบไม้หรือเชิงบาตรนั้นเถิด.
____________________________
๑- ปาฐะในอรรถกถาว่า กาฬวณฺณกตา ทำแล้วให้มีสีดำ.

               คำว่า เอาชายไว้ข้างนอกเอาขนดไว้ข้างใน นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เพื่อให้สอดมือไปใต้ราวจีวรเป็นต้นแล้ว ค่อยๆ พาดด้วยมือซึ่งอยู่ตรงหน้า. ก็เมื่อจับ ๒ ชายเอาขนดพาดขึ้นไปบนราวจีวรเป็นต้น ขนดย่อมกระทบฝา เพราะเหตุนั้น จึงไม่ควรทำอย่างนั้น.
               ข้อว่า จุณฺณํ สนฺเนตพฺพํ มีความว่า จุณสำหรับอาบน้ำ พึงให้ชุ่มด้วยน้ำแล้วปั้นแท่งไว้.
               ข้อว่า เอกมนฺตํ นิกฺขิปิตพฺพํ มีความว่า จีวรพึงวางเฉพาะในที่ซึ่งไม่มีควันไฟแห่งหนึ่ง. กิจทั้งปวงมีให้ถ่านไฟ ดินและน้ำร้อนเป็นต้น ชื่อบริกรรมในเรือนไฟ.
               ข้อว่า อุทเกปิ ปริกมฺมํ ได้แก่กิจทุกอย่างมีถูตัวเป็นต้น.
               ข้อว่า ปานีเยน ปุจฺฉิตพฺโพ มีความว่า ความกระหายย่อมมี เพราะความร้อนอบอ้าวในเรือนไฟ เพราะฉะนั้น จึงควรถามท่านถึงน้ำฉัน.
               ข้อว่า สเจ อุสฺสหติ มีความว่า ถ้าสัทธิวิหาริกยังสามารถคือเป็นผู้ไม่ถูกความเจ็บไข้บางอย่างครอบงำ.
               จริงอยู่ สัทธิวิหาริกผู้ไม่เจ็บไข้ แม้มีพรรษา ๖๐ ก็ควรทำอุปัชฌายวัตรทุกอย่าง เมื่อไม่ทำ ด้วยไม่เอื้อเฟื้อต้องทุกกฎ เพราะวัตตเภท, และเมื่อสัทธิวิหาริกผู้เป็นไข้ไปทำการที่ทรงห้าม ในบททั้งหลายที่มีอักษรว่า ไม่ กำกับอยู่ ก็เป็นทุกกฎเหมือนกัน.
               บทว่า อปริฆํสนฺเตน มีความว่า อย่าลากไปบนพื้น.
               บทว่า กวาฏปิฏฺฐํ มีความว่า อย่าให้กระทบกระทั่งบานประตูและกรอบประตู.
               บทว่า สนฺตานกํ ได้แก่ รังตั๊กแตนและใยแมงมุมเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               ข้อว่า อุลฺโลกา ปฐมํ โอหาเรตพฺพํ มีความว่า พึงกวาดแต่เพดานลงมาก่อน คือลงมือกวาดเพดานเป็นต้นลงมา.
               บทว่า อาโลกสนฺธิกณฺณภาคา ได้แก่ ส่วนหน้าต่างประตูและส่วนมุมห้อง.
               อธิบายว่า พึงเช็ดบานหน้าต่างและบานประตูทั้งข้างในข้างนอก และ ๔ มุมห้อง.
               ข้อว่า ยถาปฺตฺตํ ปญฺญาเปตพฺพํ มีความว่า เครื่องลาดพื้นเดิมเขาปูลาดไว้อย่างใด พึงปูไว้เหมือนอย่างนั้น.
               จริงอยู่ เพื่อประโยชน์นี้แลจึงทรงบัญญัติวัตรข้อแรกไว้ว่า พึงสังเกตที่ปูเดิมไว้แล้วขนออกไปวางไว้ส่วนหนึ่ง. แต่ถ้าเครื่องลาดพื้นนั้นเป็นของบางคนซึ่งไม่เข้าใจได้ปูลาดไว้ก่อน พึงปูให้ห่างฝาโดยรอบ สัก ๒ นิ้วหรือ ๓ นิ้ว.
               อันธรรมเนียมการปูลาดมีดังนี้ :-
               ถ้ามีเสื่อลำแพนแต่ใหญ่เกินไป พึงตัดพับชายเย็บผูกแล้วจึงปู ถ้าไม่เข้าใจพับชายเย็บผูก อย่าตัด.
               ข้อว่า ปุรตฺถิมา วาตปานา ถเกตพฺพา มีความว่า พึงปิดหน้าต่างทิศตะวันออก. หน้าต่างแม้ที่เหลือ ก็พึงปิดอย่างนั้น.
               บทว่า วูปกาเสตพฺโพ มีความว่า ตนเองพึงนำไปที่อื่น.
               บทว่า วูปกาสาเปตพฺโพ มีความว่า พึงวานภิกษุอื่นว่าขอท่านช่วยพาพระเถระไปที่อื่นเถิด.
               บทว่า วิเวเจตพฺพํ มีความว่า ตนเองพึงพูดให้ท่านสละเสีย.
               บทว่า วิเวจาเปตพฺพํ มีความว่า พึงวานผู้อื่นว่า ขอท่านช่วยพูดให้พระเถระสละทิฏฐิทีเถิด.
               ข้อว่า อุสฺสุกฺกํ กาตพฺพํ มีความว่า ภิกษุนั้นอันสัทธิวิหาริกพึงเข้าไปหาสงฆ์ขอร้องเพื่อให้ปริวาส ถ้าสัทธิวิหาริกเป็นผู้สามารถด้วยตน พึงให้ปริวาสด้วยตนเอง ถ้าไม่สามารถ พึงวานภิกษุอื่นให้ช่วยให้.
               ข้อว่า กินฺติ นุ โข มีความว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอแล.
               มีนัยเหมือนกันทุกแห่ง.
               ข้อว่า ลหุกาย วา ปริณาเมยฺย มีความว่า สงฆ์อย่าพึงทำอุกเขปนียกรรมเลย พึงทำตัชชนียกรรมหรือนิยสกรรมแทน.
               จริงอยู่ สัทธิวิหาริกนั้นได้ทราบว่า สงฆ์ปรารถนาจะทำอุกเขปนียกรรมแก่อุปัชฌาย์ของเรา พึงเข้าไปหาทีละรูป อ้อนวอนว่า ขออย่าทำกรรมแก่อุปัชฌาย์ของผมเลยขอรับ ถ้าภิกษุทั้งหลายจะทำตัชชนียกรรมหรือนิยสกรรมให้ได้. พึงอ้อนวอนเธอทั้งหลายว่า โปรดอย่าทำเลย. ถ้าภิกษุทั้งหลายจะทำจริงๆ ทีนั้น พึงอ้อนวอนอุปัชฌาย์ว่า ขอจงกลับประพฤติชอบเถิดขอรับ. ครั้นอ้อนวอนให้ท่านกลับประพฤติชอบได้อย่างนั้นแล้ว พึงอ้อนวอนภิกษุทั้งหลายว่า โปรดระงับกรรมเถิดขอรับ
               สองบทว่า สมฺปริวตฺตกํ สมฺปริวตฺตกํ ได้แก่พลิกกลับไปรอบๆ.
               ข้อว่า น จ อจฺฉินฺเน เถเว ปกฺกมิตพฺพํ มีความว่า ถ้าน้ำย้อมแม้เพียงเล็กน้อย ยังหยดอยู่ อย่าพึงหลีกไปเสีย.
               วัตรทุกข้อเป็นต้นว่ายังไม่ได้เรียนอุปัชฌาย์ อย่าให้บาตรแก่คนบางคน ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสำหรับบุคคลซึ่งเป็นวิสภาคของอุปัชฌาย์.
               ข้อว่า น อุปชฺฌายํ อนาปุจฺฉา คาโม ปวิสิตพฺโพ มีความว่า สัทธิวิหาริกปรารถนาจะเข้าไปด้วยบิณฑบาต หรือด้วยกรณียะอย่างอื่น พึงบอกลาก่อนจึงเข้าไป.
               ถ้าอุปัชฌาย์ประสงค์จะลุกขึ้นแต่เช้าไปภิกษาจารไกล พึงสั่งว่าพวกภิกษุหนุ่มจงเข้าไปบิณฑบาตเถิด แล้วจึงไป.
               เมื่ออุปัชฌาย์ไม่ได้สั่งไว้ไปเสีย สัทธิวิหาริกไปถึงบริเวณไม่เห็นอุปัชฌาย์จะเข้าบ้านก็ควร.
               ถ้าแม้กำลังเข้าไปในบ้านและพบเข้า ควรจะบอกลาตั้งแต่ที่ที่พบทีเดียว.
               ข้อว่า น สุสานํ คนฺตพฺพํ มีความว่า ไม่ไปเพื่อต้องการอยู่ หรือเพื่อต้องการดู.
               ในข้อว่า น ทิสา ปกฺกมิตพฺพา นี้ มีวินิจฉัยว่า
               สัทธิวิหาริกผู้ประสงค์จะไป พึงชี้แจงถึงกิจการแล้วอ้อนวอนเพียงครั้งที่สาม. ถ้าท่านอนุญาต เป็นการสำเร็จ, ถ้าไม่อนุญาตเมื่อเธออาศัยท่านอยู่ อุทเทสก็ดี ปริปุจฉาก็ดี กัมมัฏฐานก็ดี ไม่สำเร็จ (เพราะ) อุปัชฌาย์เป็นคนโง่ไม่เฉียบแหลม ไม่ยอมให้ไปเช่นนั้น เพราะมุ่งหมายจะให้อยู่ในสำนักของตนถ่ายเดียว เมื่ออุปัชฌาย์เช่นนี้แม้ห้ามจะขืนไป ก็ควร.
               ข้อว่า วุฏฺฐานสฺส อาคเมตพฺพํ มีความว่า พึงรอจนหายจากความเจ็บไข้ ไม่ควรไปข้างไหนเสีย. ถ้ามีภิกษุอื่นเป็นผู้พยาบาล พึงหายามามอบไว้ในมือของเธอ แล้วเรียนท่านว่า ภิกษุนี้จักพยาบาลขอรับ แล้วจึงไป.

               อรรถกถาอุปัชฌายวัตตกถา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๑ มหาขันธกะ ต้นเหตุอุปัชฌายวัตรเป็นต้น จบ.
อ่านอรรถกถา 4 / 1อ่านอรรถกถา 4 / 64อรรถกถา เล่มที่ 4 ข้อ 77อ่านอรรถกถา 4 / 82อ่านอรรถกถา 4 / 252
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=4&A=1514&Z=1678
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=698
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=698
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๙  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :