ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 40 / 1อ่านอรรถกถา 40 / 4อรรถกถา เล่มที่ 40 ข้อ 5อ่านอรรถกถา 40 / 6อ่านอรรถกถา 40 / 1767
อรรถกถา มหาปัฏฐานปกรณ์ ภาค ๑
มาติกานิกเขปวาร ปัจจยวิภังควาร อนันตรปัจจัย

               วรรณนานิทเทสแห่งอนันตรปัจจัย               
               ผู้ศึกษาพึงทราบวินิจฉัยในอนันตรปัจจัยนิทเทสต่อไป.
               บทว่า มโนธาตุยา คือ แก่วิบากมโนธาตุ.
               บทว่า มโนวิญฺญาณธาตุยา คือ แก่อเหตุวิบากมโนวิญญาณธาต ที่ทำหน้าที่สันตีรณกิจ คือพิจารณาอารมณ์. ก็ต่อจากนั้นไป พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงมโนวิญญาณธาตุ ที่ทำหน้าที่โวฏฐัพพนะ ชวนะ ตทารัมมณะและภวังค์ พระองค์จึงทรงย่อเทศนาโดยแสดงนัยไว้ว่า ธาตุเหล่านั้น แม้จะไม่ได้ตรัสไว้ก็จริง แต่ผู้ศึกษาพึงทราบได้โดยนัยนี้. ก็ธาตุเหล่านั้นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงย่อเข้าในนัยที่ ๖ มีอาทิว่า ปุริมา ปริมา กุสลา ธมฺมา ผู้ศึกษาพึงทราบว่า พระองค์ไม่ตรัสในอธิการนี้อีก.
               บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า ปุริมา ปุริมา ผู้ศึกษาพึงทราบธรรม คือกุศลชวนะที่ดับไปโดยไม่มีระหว่างคั่น ในทวารทั้ง ๖.
               สองบทว่า ปจฺฉิมานํ ปจฺฉิมานํ ได้แก่ ธรรมคือกุศลชวนะ ที่เกิดขึ้นติดต่อกันไปนั่นเอง.
               บทว่า กุสลานํ ได้แก่ กุศลจิตชนิดเดียวกัน.
               ส่วนบทว่า อพฺยากตานํ นี้ ได้แก่ อัพยากตะอันเป็นอนันตรปัจจัยแก่กุศลนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสด้วยอำนาจของตทาลัมพนะ ภวังค์ และผลสมาบัติที่เกิดในลำดับแห่งกุศล.
               บทว่า อพฺยากตานํ ในอกุศลมูลกะ ได้แก่ อัพยากตะอันเป็นตทาลัมพนะ และภวังค์เท่านั้น.
               บทว่า อพฺยากตานํ ในอัพยากตมูลกะ ได้แก่ อัพยากตะอันเป็นกิริยาและวิบาก อันเป็นไปด้วยอำนาจแห่งอาวัชชนะและชวนะ หรือว่าด้วยอำนาจแห่งภวังค์. นัยนี้ย่อมใช้ได้แม้ในวิถีจิตที่เป็นไปตั้งแต่กิริยามโนธาตุ ที่ทำหน้าที่โวฏฐัพพนะ จนถึงมโนวิญญาณธาตุทีเดียว.
               บทว่า กุสลานํ ได้แก่ กุศลชวนะดวงที่หนึ่ง ที่เกิดต่อจากโวฏฐัพพะจิตในปัญจทวาร และที่เกิดต่อจากอาวัชชนจิตในมโนทวาร.
               แม้ในบทว่า อกุสลานํ ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า เยสํ เยสํ นี้ เป็นเครื่องกำหนดโดยย่อ ซึ่งธรรมที่เป็นอนันตรปัจจัยทั้งหมด.
               พรรณนาบาลีในนิทเทสแห่งอนันตรปัจจัยนี้เท่านี้ก่อน.
               ก็ชื่อว่าอนันตรปัจจัยนี้ ผู้ศึกษาพึงทราบว่า ได้แก่ หมวดแห่งอรูปธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๔ เว้นนิพพาน. อนันตรปัจจัยนั้นจำแนกด้วยสามารถแห่งชาติได้ ๔ ชาติ คือเป็นกุศล อกุศล วิบากและกิริยา.
               ใน ๔ ชาตินั้น อนันตรปัจจัยที่เป็นกุศลมี ๔ อย่าง คือเป็นประเภทแห่งกามาวจรเป็นต้น. อกุศลเป็นกามาวจรอย่างเดียว. วิบากเป็นไปในภูมิทั้ง ๔. ส่วนอนันตรปัจจัยที่เป็นกิริยาเป็นไปในภูมิ ๓. ผู้ศึกษาพึงทราบวินิจฉัยโดยการจำแนกโดยประการต่างๆ ในอนันตรปัจจัยนี้ ดังพรรณนามาแล้ว.
               ก็ในอนันตรปัจจัยนี้ซึ่งจำแนกได้ดังแสดงมาแล้ว กามาวจรกุศลเป็นอนันตรปัจจัยแก่กามาวจรกุศล ที่เหมือนกันกับตนเท่านั้น ส่วนกามาวจรกุศลที่เป็นญาณสัมปยุต เป็นอนันตรปัจจัย แก่ธรรมสามหมวดเหล่านี้ คือรูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศลและโลกุตตรกุศล.
               กามาวจรกุศล เป็นอนันตรปัจจัยแก่ธรรม ๔ หมวดเหล่านี้ คือกามาวจรวิบาก รูปาวจรวิบาก อรูปาวจรวิบาก และโลกุตตรวิบาก.
               รูปาวจรกุศล เป็นอนันตรปัจจัยแก่ธรรม ๓ หมวดเหล่านี้ คือรูปาวจรกุศล กามาวจรวิบากญาณสัมปยุต และรูปาวจรวิบาก.
               อรูปาวจรกุศล เป็นอนันตรปัจจัยแก่งธรรม ๔ หมวดเหล่านี้ โดยไม่แปลกกัน คือวิบาก ๑ (คือกามวิบาก รูปวิบาก) ทั้งสองเหล่านั้น และกุศล ๒ (อรูปกุศล อรูปวิบาก) และวิบากของตน. ก็ในอธิการนี้ เมื่อว่าโดยพิเศษ เนวสัญญานาสัญญายตนกุศลเป็นอนันตรปัจจัยแก่โลกุตตรวิบาก กล่าวคืออนาคามิผล.
               โลกุตตรกุศล เป็นอนันตรปัจจัยเฉพาะแก่โลกุตตรวิบากเท่านั้น.
               อกุศล เป็นอนันตรปัจจัยแก่อกุศล กุศลวิบากและอกุศลวิบากโดยไม่แปลกกัน. ก็เมื่อว่าโดยแปลกกันในอธิการนี้ อกุศลที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนาและอุเบกขาเวทนา เป็นอนันตรปัจจัยแก่ธรรม ๔ หมวดเหล่านี้ คือกุศลวิบาก อกุศลวิบาก และรูปาวจรวิบาก อรูปาวจรวิบาก.
               กามาวจรวิบากเป็นอนันตรปัจจัยแก่กามาวจรวิบาก, วิบากญาณสัมปยุตหรือญาณวิปปยุต เป็นอนันตรปัจจัยแก่กามาวจรกิริยาอาวัชชนจิต.
               อนึ่ง ในอนันตรปัจจัยนี้ มหาวิบากญาณสัมปยุตเป็นอนันตรปัจจัยแก่ธรรม ๔ หมวดเหล่านี้ คือกามาวจรวิบาก อาวัชชนจิตและรูปาวจรวิบาก อรูปาวจรวิบากที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจปฏิสนธิ.
               รูปาวจรวิบากเป็นอนันตรปัจจัยแก่ธรรม ๔ หมวดเหล่านี้ คือสเหตุกกามาวจรวิบาก รูปาวจรวิบาก อรูปาวจรวิบาก และกามาวจรกิริยาอาวัชชนจิต.
               อรูปาวจรวิบากเป็นอนันตรปัจจัยแก่ธรรม ๓ หมวดเหล่านี้ คือติเหตุกกามาวจรวิบาก อรูปาวจรวิบาก และกิริยาอาวัชชนจิตที่เป็นกามาวจร.
               โลกุตตรวิบากเป็นอนันตรปัจจัยแก่ธรรม ๔ หมวดเหล่านี้ คือติเหตุกกามาวจรวิบาก รูปาวจรวิบาก อรูปาวจรวิบาก และโลกุตตรวิบาก.
               กามาวจรกิริยาเป็นอนันตรปัจจัยแก่ธรรม ๙ หมวดเหล่านี้ คือกามาวจรกุศล อกุศล วิบากจิตทั้ง ๔ ภูมิ และกิริยาจิตทั้ง ๓ ภูมิ.
               รูปาวจรกิริยาเป็นอนันตรปัจจัยแก่ธรรม ๓ หมวดเหล่านี้ คือติเหตุกกามาวจรวิบาก รูปาวจรวิบาก และรูปาวจรกิริยา.
               อรูปาวจรกิริยาเป็นอนันตรปัจจัยแก่ธรรม ๕ หมวดเหล่านี้ คือติเหตุกกามาวจรวิบาก รูปาวจรวิบาก อรูปาวจรวิบาก โลกุตตรวิบากและอรูปาวจรกิริยา. ผู้ศึกษาพึงทราบวินิจฉัยโดยธรรมที่เป็นปัจจยุบบัน ในอนันตรปัจจัยนี้ อย่างนี้แล.

               วรรณนานิทเทสแห่งอนันตรปัจจัย จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาปัฏฐานปกรณ์ ภาค ๑ มาติกานิกเขปวาร ปัจจยวิภังควาร อนันตรปัจจัย จบ.
อ่านอรรถกถา 40 / 1อ่านอรรถกถา 40 / 4อรรถกถา เล่มที่ 40 ข้อ 5อ่านอรรถกถา 40 / 6อ่านอรรถกถา 40 / 1767
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=40&A=63&Z=91
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=9385
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=9385
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๖  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :