ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 40 / 1อ่านอรรถกถา 40 / 3อรรถกถา เล่มที่ 40 ข้อ 4อ่านอรรถกถา 40 / 5อ่านอรรถกถา 40 / 1767
อรรถกถา มหาปัฏฐานปกรณ์ ภาค ๑
มาติกานิกเขปวาร ปัจจยวิภังควาร อธิปติปัจจัย

               วรรณานิทเทสแห่งอธิปติปัจจัย               
               พึงทราบวินิจฉัยในอธิปติปัจจัยนิทเทสต่อไป.
               บทว่า ฉนฺทาธิปติ ได้แก่ อธิบดี คือฉันทะ. คำว่า ฉันทาธิปติ นั้นเป็นชื่อแห่งกัตตุกัมยตาฉันทะ (ฉันทะคือความเป็นผู้ใคร่เพื่อจะทำ) ที่เกิดขึ้นในเวลาจิตทำฉันทะให้หนัก ให้เป็นใหญ่เกิดขึ้น.
               แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ถามว่า เพราะเหตุไรในนิทเทสแห่งอธิปติปัจจัยนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ตรัสว่า อธิบดีเป็นปัจจัยแก่ธรรมที่สัมปยุตด้วยอธิบดี เหมือนในนิทเทสแห่งเหตุปัจจัย ซึ่งตรัสไว้ว่า เหตุเป็นปัจจัยแก่ธรรมที่สัมปยุตด้วยเหตุ (แต่) ทรงแสดงเทศนาโดยนัยเป็นต้นว่า ฉันทาธิปติเป็นปัจจัยแก่ธรรมที่สัมปยุตด้วยฉันทะ.
               ตอบว่า เพราะอธิบดีไม่มีในขณะเดียวกัน.
               จริงอยู่ ในนัยก่อน เหตุสองหรือสาม เป็นเหตุปัจจัยในขณะเดียวกันได้ เพราะไม่ละภาวะที่อุปการะ โดยอรรถว่าเป็นมูลราก. แต่อธิบดีเป็นอุปการะ โดยอรรถว่าเป็นใหญ่ และธรรมเป็นอันมากจะชื่อว่าเป็นใหญ่ ในขณะเดียวกันหาได้ไม่ เพราะฉะนั้น ธรรมเหล่านั้น แม้เกิดขึ้นคราวเดียวกัน จะเป็นอธิปติปัจจัยในขณะเดียวกันย่อมไม่ได้ เพราะภาวะที่อธิปติปัจจัยไม่มีในขณะเดียวกันนั้น. ในนิทเทสแห่งอธิปติปัจจัยนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงเทศนาดังที่กล่าวมาแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงสหชาตาธิปติอย่างนี้แล้ว บัดนี้เพื่อจะทรงแสดงอารัมมณาธิบดี จึงทรงเริ่มคำว่า ยํ ยํ ธมฺมํ ครุํ กตฺวา เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น คำว่า ยํ ยํ ธมฺมํ คือ ซึ่งธรรมที่เป็นอารมณ์ใดๆ.
               สองบทว่า ครุํ กตฺวา ได้แก่ ทำให้หนัก คือให้หนักแน่นให้เป็นธรรมชาติที่ควรได้ ไม่ควรทอดทิ้ง ไม่ควรดูหมิ่น ด้วยอำนาจการเคารพและยำเกรง หรือด้วยอำนาจการพอใจ.
               คำว่า เต เต ธมฺมา คือ ธรรมที่ควรทำให้หนักนั้นๆ.
               คำว่า เตสํ เตสํ คือ ธรรมที่ทำให้หนักเหล่านั้นๆ.
               บทว่า อธิปติปจฺจเยน คือ เป็นปัจจัยด้วยอำนาจอารัมมณาธิปติปัจจัย.
               พรรณาบาลีในอธิการนี้เพียงเท่านี้.
               ก็ชื่อว่า อธิบดีนี้มี ๒ อย่าง คือ สหชาตธิปติและอารัมมณาธิปติ.
               ในอธิบดี ๒ อย่างนั้น สหชาตาธิปติมี ๔ อย่างด้วยอำนาจแห่งฉันทะเป็นต้น.
               ใน ๔ อย่างนั้น แต่ละอธิบดีเมื่อว่าโดยภูมิมีอย่างละ ๔ คือเป็นกามาวจรเป็นต้น.
               บรรดาอธิบดีที่เป็นกามาวจรเป็นต้นนั้น อธิบดีที่เป็นกามาวจรมี ๓ อย่าง คือกุศล อกุศลและกิริยา แต่ครั้นถึงอกุศล ย่อมไม่ได้วิมังสาธิปติ. อธิบดีที่เป็นรูปาวจรและอรูปาวจรมีอย่างละสอง คือเป็นกุศลและกิริยา. อธิบดีที่เป็นโลกุตตระมี ๒ อย่าง คือเป็นกุศลและวิบาก แต่เมื่อว่าโดยชาติ อารัมมณาธิปติมี ๖ อย่าง คือกุศล อกุศล วิบาก กิริยา รูปและนิพพาน. ผู้ศึกษาพึงทราบวินิจฉัยโดยการจำแนกโดยประการต่างๆ ในอธิการนี้ ดังพรรณนามานี้.
               ก็ในสหชาตาธิปตินี้ซึ่งแตกต่างกัน ดังพรรณนามาแล้วนี้ อธิบดีกล่าวคือกามาวจรกุศลและกิริยาก่อน เป็นอธิปติปัจจัยแก่ธรรมที่สัมปยุตกับตน และรูปซึ่งมีจิตเป็นสมุฏฐาน ในเวลาที่สหชาตธรรมทำอธิบดีอื่นมีฉันทะเป็นต้นให้เป็นใหญ่เกิดขึ้นในจิตตุปบาทที่ประกอบด้วยเหตุ ๒ และเหตุ ๓.
               แม้ในอธิบดี กล่าวคือรูปาวจรกุศลและกิริยาก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ก็ในอธิการนี้ ได้เฉพาะอธิบดีที่เป็นรูปาวจรกุศลและกิริยาเท่านั้น เพราะว่าธรรมเหล่านั้นย่อมเกิดขึ้นโดยไม่พรากจากสหชาตาธิปติ. ส่วนอธิบดีกล่าวคืออรูปาวจรกุศลและกิริยา เหมือนกับอธิบดีที่เป็นรูปาวจรในปัญจโวการภพ. แต่ในจตุโวการภพ ย่อมเป็นอธิปติปัจจัยแก่ธรรมที่สัมปยุตเท่านั้น. อธิบดีที่เป็นกามาวจรทั้งหมด ที่เกิดขึ้นในจตุโวการภพนั้นก็เหมือนกัน. อธิบดีที่เป็นโลกุตตระทั้งฝ่ายกุศลและวิบาก ย่อมเป็นอธิปติปัจจัยแก่ธรรมที่สัมปยุต และรูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐานอย่างเดียว ในปัญจโวการภพ. ในจตุโวการภพ เป็นปัจจัยเฉพาะแก่อรูปธรรมเท่านั้น.
               อกุศลเป็นอธิปติปัจจัยแก่ธรรมที่สัมปยุตโดยแน่นอน ในมิจฉัตตนิยตจิต และแก่รูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐานในกามภพ.
               อกุศลที่เป็นอนิยตธรรม (ให้ผลไม่แน่นอนในลำดับจุติจิต) เป็นอธิปติปัจจัยแก่ธรรมที่สัมปยุต และรูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐานเหล่านั้นในเวลาที่ตนเป็นอธิบดี ในกามภพและรูปภพ. เป็นอธิปติปัจจัยเฉพาะแก่อรูปธรรมเท่านั้น ในอรูปภพ. นี้เป็นนัยในสหชาตาธิปติปัจจัยก่อน.
               ส่วนในอารัมมณาธิปติปัจจัย มีอธิบายดังต่อไปนี้
               กามาวจรกุศล เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยแก่ธรรมสองหมวดเหล่านี้ คือกามาวจรกุศลและอกุศลที่สหรคตด้วยโลภะ. นัยในอารัมมณาธิปติปัจจัยที่เป็นกุศล แม้ในรูปาวจรและอรูปาวจร ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ส่วนอารัมมณาธิปติที่เป็นโลกุตตรกุศล เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยแก่กุศลญาณสัมปยุต และกิริยาญาณสัมปยุตที่เป็นกามาวจร.
               ก็ชื่อว่าอารัมมณาธิปติที่เป็นอกุศล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า จิตตุปบาทที่สหรคตด้วยโลภะ จิตตุปบาทนั้นเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยเฉพาะแก่อกุศลที่สหรคตด้วยโลภะเท่านั้น.
               ฝ่ายอารัมมณาธิปติฝ่ายวิบากที่เป็นกามาวจร รูปาวจรและอรูปาวจร เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยเฉพาะแก่อกุศลที่สหรคตด้วยโลภะเท่านั้น.
               อารัมมณาธิปติที่เป็นโลกุตตรวิบาก เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยแก่มหากุศลญาณสัมปยุต และมหากิริยาญาณสัมปยุตเท่านั้น.
               ก็เมื่อว่าโดยประเภทที่เป็นกามาวจรเป็นต้น อารัมมณาธิปติที่เป็นกิริยาทั้ง ๓ เป็นอารัมมณาธิบดีปัจจัยแก่อกุศลที่สหรคตด้วยโลภะเท่านั้น. อารัมมณาธิปติที่เป็นรูปขันธ์ กล่าวคือรูปที่เกิดจากสมุฏฐานทั้ง ๔ เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยแก่อกุศลที่สหรคตด้วยโลภะเท่านั้น. นิพพานเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยแก่ธรรม ๔ หมวดเหล่านี้คือมหากุศลญาณสัมปยุต มหากิริยาญาณสัมปยุต อันเป็นกามาวจร โลกุตกุศลและโลกุตวิบาก. ผู้ศึกษาพึงทราบวินิจฉัย โดยปัจจยุบบันในอารัมณาธิปติปัจจัยนี้อย่างนี้แล.

               วรรณนานิทเทสแห่งอธิปติปัจจัย จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาปัฏฐานปกรณ์ ภาค ๑ มาติกานิกเขปวาร ปัจจยวิภังควาร อธิปติปัจจัย จบ.
อ่านอรรถกถา 40 / 1อ่านอรรถกถา 40 / 3อรรถกถา เล่มที่ 40 ข้อ 4อ่านอรรถกถา 40 / 5อ่านอรรถกถา 40 / 1767
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=40&A=53&Z=62
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=9330
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=9330
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๖  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :