ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 40 / 1อ่านอรรถกถา 40 / 26อรรถกถา เล่มที่ 40 ข้อ 56อ่านอรรถกถา 40 / 87อ่านอรรถกถา 40 / 1767
อรรถกถา มหาปัฏฐานปกรณ์ ภาค ๑
อนุโลมติกปัฏฐาน กุสลัตติกะ ปฏิจจวาร ปัจจนียานุโลม อนุโลมนัย

               วรรณนาเนื้อความแห่งปฏิจจวาระ               
               อรรถกถาปัจจยานุโลมนัย               
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อจะทรงละทิ้งปัญหาที่วิสัชนาไม่ได้อย่างนี้ว่า "อกุศลธรรมอาศัยกุศลธรรมเกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัย (ไม่ได้)" เพราะกุศลธรรมกับอกุศลธรรมเป็นต้น เกิดพร้อมกันไม่ได้แล้วแก้เฉพาะปัญหาที่วิสัชนาได้ในปัญหาทั้งหลายที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยกุศลติกะในปัณณัตติวาระ เมื่อทรงแสดงเพียงนัยได้ทรงแสดงไว้หาประมาณมิได้ เริ่มแต่ปัญหา ๔๙ ข้อ ด้วยอำนาจเหตุปัจจัยเป็นต้น จึงทรงเริ่มนิทเทสระหว่างแห่งปฏิจจวาระโดยนัยมีอาทิว่า "กุศลธรรมอาศัยกุศลธรรมเกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัย."
               ในข้อนั้น พึงคำถามว่า ปัญหา ๔๙ ข้อ ผิว่า เหตุปจฺจยา เป็นอาทินี้ย่อมวิสัชนาไม่ได้ทั้งหมด แล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ทำไม พระองค์ควรแสดงเฉพาะปัญหาที่วิสัชนาได้เท่านั้นมิใช่หรือ?
               ตอบว่า ใช่ ควรแสดงอย่างนั้น แต่เมื่อแสดงอย่างนั้น ก็จำเป็นต้องแสดงไม่ให้รวบรัดในติกะ ทุกะ ติกทุกะ ติกติกะและทุกทุกะหนึ่งๆ ในปัฏฐานทั้งหมดมีติกทุกปัฏฐานเป็นต้น. เพราะเหตุไร? เพราะปัญหาที่มีอยู่ในกุศลติกะไม่มีในเวทนาติกะเป็นต้นเลย.
               อนึ่ง ตอนวิสัชนาวิตักกติกะและปีติติกะ ในติกปัฏฐาน อันว่าด้วยธัมมานุโลมปัจจนียะ ปัญหาเหล่านี้ย่อมได้รับวิสัชนาทั้งหมดด้วย ฉะนั้น โดยการกำหนดอย่างละเอียด ปัญหาที่มีอยู่ในติกะหนึ่งๆ ทั้งหมดพระองค์ทรงแสดงไว้แล้วในกุศลติกะ.
               จริงอยู่ เมื่อพระองค์ทรงแสดงปัญหาไว้อย่างนี้ ปัญหาที่วิสัชนาได้ อันพระองค์ทรงละทิ้งปัญหาที่แก้ไม่ได้ในกุศลติกะนั้นแล้วทรงกล่าวไว้, กุลบุตรก็จะเข้าใจได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้น เพื่อจะให้กุลบุตรเข้าใจได้ง่ายขึ้น พระองค์จึงทรงแสดงปัญหาแม้ทั้งหมด (รวม ๔๙ ข้อ) ไว้ในกุศลติกะ.
               บัณฑิตพึงทราบว่า ก็ปัญหาใดไม่ได้วิสัชนาในกุศลติกะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงละทิ้งปัญหานั้นแล้ววิสัชนาเฉพาะปัญหาที่แก้ได้เท่านั้น.
               พึงทราบเนื้อความในคำเหล่านั้นต่อไป
               คำว่า กุสลํ ธมฺมํ ปฏิจฺจ ความว่า อาศัย คือพึ่งพิงซึ่งธรรมอันหนึ่งอันต่างโดยขันธ์มีเวทนาขันธ์เป็นต้น ในบรรดากุศลธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๔ คือถึงโดยความเป็นไปเช่นเดียวกัน.
               อธิบายว่า เข้าถึงความเกิดขึ้นร่วมกับธรรมนั้น.
               สองบทว่า กุสโล ธมฺโม คือ ธรรมอันหนึ่งซึ่งต่างโดยสัญญาขันธ์เป็นต้น ในบรรดาธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๔ เช่นเดียวกัน.
               บทว่า อุปฺปชฺชติ ความว่า ถึงเบื้องบนตั้งแต่อุปาทขณะจนถึงนิโรธขณะ คือย่อมบังเกิด.
               อธิบายว่า ย่อมได้ซึ่งความติดต่อกัน คือเข้าถึงขณะทั้งสามมีอุปาทขณะเป็นต้น.
               บทว่า เหตุปจฺจยา คือ เพราะกุศลเหตุที่ให้สำเร็จความเป็นเหตุปัจจัย.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสวิสัชนาว่า อุปฺปชฺชติ ย่อมเกิดขึ้น ในปุจฉาว่า พึงเกิดขึ้นพังพรรณนามาแล้ว บัดนี้เพื่อจะแสดงซึ่งธรรมเป็นที่อิงอาศัย (ปัจจัย) และธรรมที่เข้าไปอาศัยเกิดขึ้น (ปัจจยุบบัน) ด้วยอำนาจแห่งขันธ์จึงตรัสคำมีอาทิว่า กุสลํ เอกํ ขนฺธํ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอกํ คือ ขันธ์ใดขันธ์หนึ่งในบรรดาขันธ์สี่ มีเวทนาขันธ์เป็นต้น.
               สองบทว่า ตโย ขนฺธา คือ สามขันธ์ที่เหลือเว้นขันธ์ที่ท่านจัดเป็นปัจจัย.
               คำว่า ตโย ขนฺเธ คือ ซึ่งขันธ์สามที่เหลือในบรรดาขันธ์ มีเวทนาเป็นต้น เว้นขันธ์อันหนึ่งที่ท่านจัดว่ากำลังเกิด (เพราะเหตุปัจจัย).
               คำว่า เทฺว ขนฺเธ ความว่า อาศัยขันธ์สอง ขันธ์ใดขันธ์หนึ่งในทุกะ ๖ มีเวทนาทุกะและสัญญาทุกะเป็นต้น.
               สองบทว่า เทฺว ขนฺธา ความว่า ขันธ์ทั้งหลายสองที่เหลือเว้นที่ท่านจัดว่าเป็นปัจจัยเสีย ย่อมเกิดขึ้นเพราะกุศลเหตุที่ให้สำเร็จความเป็นเหตุปัจจัย. ก็เพราะขันธ์หนึ่งจะเป็นปัจจัยเฉพาะแก่ขันธ์หนึ่งหรือขันธ์สองไม่ได้ หรือขันธ์สองจะเป็นปัจจัยเฉพาะแก่ขันธ์หนึ่งก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน ฉะนั้น พระองค์จึงไม่ตรัสว่า เอกํ ขนฺธํ ปฏิจฺจ เอโก ขนฺโธ, เอกํ ขนฺธํ ปฏิจฺจ เทฺว ขนฺธา, เทฺว ขนฺเธ ปฏิจฺจ เอโก ขนฺโธ เป็นต้น.
               แม้ในคำมีอาทิว่า อัพยากตธรรมอาศัยกุศลธรรมเกิดขึ้น บัณฑิตพึงทราบเนื้อความตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ.
               คำนี้ว่า จิตฺตสมุฏฺฐานํ รูปํ นี้ ท่านกล่าวไว้เพื่อแสดงซึ่งรูป ที่ได้สหชาตปัจจัยและเหตุปัจจัยกับกุศล เพราะอรรถแห่งคำว่า ปฏิจฺจ มีความหมายว่า สหชาตะ (เพราะคำว่าอิงอาศัยมีอรรถว่าเกิดร่วม) แม้ในที่ต่อจากนี้ในฐานะเช่นนี้พึงทราบนัยนี้เหมือนกัน.
               ในคำนี้ว่า วิปากาพฺยากตํ กิริยาพฺยากตํ จะเอาอเหตุกจิตเข้ามาร่วมด้วยไม่ได้ เพราะไม่มีเหตุปัจจัย และไม่หมายถึงอรูปวิบากด้วย เพราะไม่เกิดพร้อมกับรูป.
               บทว่า ปฏิสนฺธิกฺขเณ ท่านกล่าวไว้เพื่อแสดงว่า อัพยากตธรรมคือกัมมชรูป อาศัยอัพยากตธรรมเกิดขึ้น.
               บทว่า วิปากาพฺยากตํ ท่านกล่าวด้วยอำนาจ อัพยากตธรรม ที่มีอยู่ในขณะนั้น.
               คำว่า ขนฺเธ ปฏิจฺจ วตฺถํ นี้ ท่านกล่าวไว้เพื่อแสดงว่า แม้เมื่อวัตถุรูป (หทัยวัตถุ) อันท่านถือเอาแล้วด้วยศัพท์ว่า กฏัตตารูป ก็ยังต้องอาศัยขันธ์ทั้งหลายเกิด.
               คำว่า วตฺถํ ปฏิจฺจ ขนฺธา ท่านกล่าวไว้เพื่อแสดงว่า ขันธ์ทั้หลายอาศัยวัตถุเกิด.
               คำว่า เอกํ มหาภูตํ เป็นต้น ท่านกล่าวไว้เพื่อแสดงว่า อัพยากตธรรม คือรูปอาศัยอัพยากตธรรมฝ่ายรูปเกิด ก็ในคำเหล่านี้ บัณฑิตพึงทราบอรรถโยชนา (การอธิบายความ) ตามนัยที่กล่าวไว้แล้วในคำว่า เอกํ ขนฺธํ เป็นต้น.
               ในอัพยากตธรรมฝ่ายรูป พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึง มหาภูตรูปอาศัยมหาภูตรูปเกิด อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะแสดงถึงอุปาทารูป อาศัยมหาภูตรูปเกิด จึงตรัสคำว่า มหาภูเต ปฏิจฺจ จิตฺตสมุฏฐานํ เป็นต้น.
               มีคำถามว่า เมื่อเป็นอย่างนั้นก็ควรจะเรียกเสียอย่างนี้ว่า อุปาทารูป แต่เรียกสองอย่างให้ต่างกันทำไม?
               แก้ว่า เพื่อแสดงถึงรูปอาศัยมหาภูตรูปเกิด คำว่า มหาภูตํ อุปาทารูปํ นี้บัณฑิตพึงทราบว่า พระองค์ตรัสไว้เพื่อแสดงว่า รูปใดที่แสดงไว้ในหนหลังว่า เกิดจากจิตและเกิดจากกรรม รูปนั้นไม่ได้อาศัยขันธ์ทั้งหลายเกิดอย่างเดียว หากแต่อาศัยมหาภูตรูปเกิดด้วย.
               บรรดารูปทั้งสองนั้น รูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐานย่อมเกิดในปวัตติกาลเท่านั้น รูปเกิดจากกรรมย่อมเกิดแม้ในปฏิสนธิกาลด้วย.
               บทว่า อุปาทารูปํ เป็นวิเสสนะของสองบทนั้นนั่นแล.
               ในคำนี้ว่า กุสเล ขนฺเธ จ มหาภูเต จ ปฏิจฺจ (อาศัยกุศลขันธ์และมหาภูตรูป) หมายเอามหาภูตรูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐานเท่านั้น. ส่วนในคำนี้ว่า จิตฺตสมุฏฐานํ รูปํ หมายเอาทั้งมหาภูตรูปและอุปาทารูป.
               จริงอยู่ แม้มหาภูตรูปก็อาศัยขันธ์ทั้งหลายและมหาภูตรูปด้วยกันเกิด โดยนัยเป็นต้นว่า เอกํ มหาภูตํ ปฏิจฺจ ตโย มหาภูตา ถึงอุปาทารูปก็อาศัยขันธ์และมหาภูตรูปเกิด โดยนัยที่ท่านกล่าวไว้ว่า มหาภูเต ปฏิจฺจ อุปาทารูปํ. แม้ในการวิสัชนาปัญหาว่า อกุสลญฺจ อพฺยากตญฺจ ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ปุจฉา ๙ ข้อในเหตุปัจจัยเป็นอันได้รับวิสัชนาแล้วด้วยประการฉะนี้.
               จริงอยู่ ปัญหาเหล่านี้เท่านั้นที่ใช้ได้ในเหตุปัจจัยนี้ ปัญหาที่เหลือ ๔๐ ข้อเป็นโมฆปัญหา เพราะเหตุนั้นจึงไม่ได้รับวิสัชนา. บัณฑิตพึงทราบอรรถแห่งปุจฉาและวิสัชนาแม้ในอารัมมณปัจจัยเป็นต้น ตามนัยนี้. ส่วนคำที่ควรจะวิจารณ์ไว้ในปัจจัยนั้นๆ ข้าพเจ้าจักวิจารณ์ต่อไป.
               พึงทราบวินิจฉัยในอารัมมณปัจจัยก่อน บรรดาปุจฉา ๙ ข้อ ท่านวิสัชนาไว้ ๓ ข้อเท่านั้น โดยทิ้งปุจฉาที่เกี่ยวกับรูปเสีย เพราะรูปไม่เกิดด้วยอำนาจอารัมมณปัจจัย. เพราะเหตุนั้นแหละ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ขันธ์ทั้งหลายอาศัยวัตถุ ไม่ตรัสว่า วัตถุอาศัยขันธ์ทั้งหลาย เพราะว่าวัตถุรูปนั้นไม่เกิดขึ้น เพราะอารัมมณปัจจัย.
               ในอธิปติปัจจัย คำว่า วิปากาพฺยากตํ นี้ พระองค์ตรัสหมายเอาเฉพาะโลกุตตรวิบากเท่านั้น เพราะฉะนั้น ในปัจจัยนี้ ท่านจึงไม่ได้มุ่งเอาว่า "ในปฏิสนธิขณะ."
               คำที่เหลือเช่นเดียวกับเหตุปัจจัย.
               แม้ในอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัย รูปก็มีไม่ได้ ฉะนั้นจึงมีปุจฉา ๓ ข้อเหมือนในอารัมมณปัจจัย.
               ในสหชาตปัจจัย คำว่า ปฏิสนฺธิกฺขเณ พระองค์ตรัสด้วยอำนาจปฏิสนธิในปัญจโวการภพ ส่วนในปัจจัยวิภังค์ในหนหลัง (ข้างต้น) มาแล้วว่า โอกฺกนฺติกฺขเณ. แม้คำนั้นกับคำนี้ ว่าโดยเนื้อความแล้วเป็นอันเดียวกัน.
               จริงอยู่ สองคำนี้ต่างกันเพียงพยัญชนะเท่านั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง คำว่า โอกฺกนฺติ นี้เป็นชื่อแห่งปัญจโวการปฏิสนธิ โดยพระบาลีว่า เพราะประชุมพร้อมแห่งองค์สาม สัตว์ย่อมก้าวลงสู่ครรภ์.
               คำว่า ปฏิสนฺธิ ใช้ทั่วไปแก่ภพทั้งปวง. แต่ในที่นี้ ประสงค์เอาเฉพาะปัญจโวการปฏิสนธิเท่านั้น เพราะพระบาลีว่า กฏตฺตา จ รูปํ ดังนี้เป็นต้น.
               จริงอยู่ คำว่า ปฏิสนธิ นั้น ย่อมประมวลมาซึ่งความเป็นปัจจัยและปัจจยุบบันแห่งรูป และอรูปเข้าด้วยกัน. เพราะฉะนั้น การวิสัชนาที่บริบูรณ์ท่านจึงถือเอาว่าย่อมมีได้.
               คำว่า พาหิรํ เอกํ มหาภูตํ ท่านกล่าวหมายเอามหาภูตรูปในที่ทั้งหลายมีพื้นดินและแผ่นหินเป็นต้น ซึ่งไม่เนื่องด้วยอินทรีย์.
               จริงอยู่ ในปัจจัยวิภังควาระท่านถือเอารวมกัน ทั้งภายในและภายนอกว่า จตุตาโร มหาภูตา. เพราะนั่นเป็นการแสดงโดยย่อ. แต่นี้เป็นการแสดงโดยพิสดาร เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงจำแนกให้หมดจึงตรัสว่า พาหิรํ เอกํ มหาภูตํ เป็นต้น.
               คำว่า อสญฺญสตฺตานํ เอกํ มหาภูตํ ปฏิจฺจ พระองค์ตรัสด้วยอำนาจแห่งมหาภูตรูปที่สันตติและสมุฏฐานสอง.
               ส่วนคำนี้ว่า มหาภูเต ปฏิจฺจ กฏตฺตารูปํ ท่านกล่าวด้วยอำนาจรูปมีกรรมเป็นสมุฏฐาน.
               คำนี้ว่า อุปาทารูปํ ท่านกล่าวด้วยอำนาจรูปมีอุตุเป็นสมุฏฐาน.
               ในอัญญมัญญปัจจย ท่านกล่าวว่า ขนฺเธ ปฏิจฺจ วตฺถุ วตฺถํ ปฏิจฺจ ขนฺธา (วัตถุอาศัยขันธ์ ขันธ์อาศัยวัตถุ) ดังนี้ ก็เพื่อแสดงว่า (นาม) ขันธ์แม้ทั้งสี่เป็นอัญญมัญญปัจจัยแก่วัตถุโดยส่วนเดียว.
               ในนิสสยปัจจัย อันอรรถแห่งคำว่า ปฏิจฺจ ใจความเหมือนกับสหชาตะ เพราะฉะนั้น ความที่จักขายตนะเป็นต้น เป็นนิสสยปัจจัย ซึ่งท่านแสดงไว้แล้วในปัจจยวิภังควาระในหนหลัง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ทรงถือเอาด้วย.
               จริงอยู่ จักขายตนะเป็นต้นเป็นปุเรชาตปัจจัย แต่ในที่นี้เป็นได้เฉพาะสหชาตปัจจัย เพราะเหตุนั้นเอง ท่านจึงกล่าวไว้ว่า นิสสยปัจจัยเช่นเดียวกับสหชาตปัจจัย.
               ในอุปนิสสยปัจจัย ย่อมได้วิสัชนา ๓ วาระเท่านั้น เพราะความที่รูปเป็นอุปนิสสยปัจจัยไม่ได้. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่าเช่นเดียวกับอารัมมณปัจจัย. ในอุปนิสสยปัจจัยนั้น กุศล อกุศลและอัพยากตธรรมทั้งหมดย่อมไม่ได้อารัมมณูปนิสสยปัจจัย แม้ก็จริง แต่คำนั้นบัณฑิตพึงทราบว่า ท่านกล่าวด้วยอำนาจแห่งธรรมที่ได้ (อารัมมณูปนิสสยะ) เท่านั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในปุเรชาตปัจจัยต่อไป.
               สองบทว่า วตฺถํ ปุเรชาตปจฺจยา ความว่า ธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะอาศัยวัตถุ คือด้วยวัตถุอันให้สำเร็จความเป็นปุเรชาตปัจจัย.
               ในคำว่า วิปากาพฺยากตํ เอกํ ขนฺธํ นี้ มีอธิบายว่า ในอธิการนี้ วัตถุรูปใดเป็นสหชาตปัจจัยแก่อัพยากตวิบาก บัณฑิตไม่พึงถือเอาวัตถุรูปนั้น ในปุเรชาตปัจจัยนี้ เพราะจะต้องจำแนกโดยปุเรชาตปัจจัย.
               แม้ธรรมทั้งหลายมีกุศลเป็นต้น ที่ไม่ได้ปุเรชาตปัจจัยในอรูปภพ ก็ไม่ควรถือเอาในอธิการนี้ เพราะจะต้องจำแนกเป็นปุเรชาตปัจจัยเหมอนกัน. ส่วนอารมณ์ย่อมไม่ได้ความเป็นปุเรชาตปัจจัยโดยแน่นอน. เพราะว่ารูปายตนะเป็นต้น ให้สำเร็จความเป็นปุเรชาตปัจจัยแก่จักขุวิญญาณเป็นต้นเท่านั้น. อารมณ์ทั้งหลายที่เป็นอดีต อนาคตย่อมมีแก่มโนวิญญาณธาตุเท่านั้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงไม่ถือเอาในที่นี้. เพราะว่านี้เป็นการแสดงด้วยอำนาจแห่งขันธ์ ไม่ใช่ด้วยอำนาจแห่งวิญญาณธาตุ.
               อนึ่ง ด้วยเทศนาว่า วิปากาพฺยากตํ เอกํ ขนฺธํ ท่านหมายเอาวิญญาณธาตุทั้งหมด ไม่หมายเฉพาะจักขุวิญญาณธาตุเป็นต้นเท่านั้น ดังนี้แล.
               ธรรมที่เกิดขึ้นภายหลัง ย่อมไม่เป็นปัจจัยแก่กุศลและอกุศล เพียงแต่ค้ำจุนอัพยากตธรรมเท่านั้น หาใช่เป็นตัวแต่งให้เกิดไม่ เพราะเหตุนั้น แม้ธรรมอย่างหนึ่งที่ควรจะกล่าวอย่างนี้ว่า เกิดขึ้นเพราะปัจฉาชาตปัจจัยจึงไม่มี เพราะฉะนั้น ท่านจึงไม่ได้ทำการวิสัชนาไว้ด้วยอำนาจปัจฉาชาตปัจจัย.
               พึงทราบวินิจฉัยในอาเสวนปัจจัย กิริยาจิตย่อมไม่ได้อาเสวนปัจจัยทั้งหมดก็จริง ถึงอย่างนั้นท่านก็กล่าวว่า กิริยาพฺยากตํ ด้วยอำนาจกิริยาจิตที่ได้ (อาเสวนปัจจัย) เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า อันชวนะกิริยาท่านถือเอาแล้วในอธิการนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในกัมมปัจจัย พึงทราบว่า ในกุศลจิต อกุศลจิตมีกัมมปัจจัยที่เกิดขึ้นในขณะเดียวกัน แม้อัพยากตกิริยาก็เหมือนกัน. ส่วนในอัพยากตะฝ่ายวิบาก พึงทราบว่า กัมมปัจจัยที่เป็นไปต่างขณะกัน.
               อนึ่ง ในขณะปฏิสนธิ นานักขณิกกัมมปัจจัย พึงทราบว่ามีแก่มหาภูตรูปด้วย. ส่วนรูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน มีเอกขณิกกัมมปัจจัยเท่านั้น. กัมมชรูปและรูปแห่งอสัญญสัตตพรหม มีเฉพาะนานักขณิกกัมมปัจจัยเหมือนกัน. ก็กัมมชรูปในที่นี้ได้แก่ชีวิตินทรีย์. รูปที่เหลือท่านเรียกว่าอุปาทารูป รูปอาศัย เพราะไม่ได้เกิดจากกรรมอย่างเดียว. เมื่อเป็นเช่นนั้นในอธิการนี้ ท่านประสงค์เอาเฉพาะกัมมชรูปเท่านั้น.
               กุศล อกุศลและกิริยาย่อมไม่ได้ในวิปากปัจจัย เพราะฉะนั้น ท่านจึงแต่งวิสัชนาด้วยอำนาจแห่งอัพยากตะเท่านั้น.
               บทว่า จิตฺตสมุฏฐานํ มุ่งเฉพาะรูปที่มีวิบากจิตเป็นสมุฏฐานเท่านั้น.
               บทว่า กฏตฺตารูปํ คือ อินทรีย์รูปและวัตถุรูปตามสมควรแก่ภูมิที่จะมีได้.
               บทว่า อุปาทารูปํ คือ อุปาทารูปที่เหลือจากนั้น ซึ่งมีอยู่ในสมัยนั้น.
               ในอาหารปัจจัย พึงทราบการเกิดขึ้นแห่งขันธ์ทั้งหลายมีกุศลเป็นต้นทั้งหมด แห่งรูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน แห่งอรูปและแห่งมหาภูตรูป ในขณะปฏิสนธิ ด้วยอำนาจแห่งอาหารที่เป็นนาม.
               บทว่า จิตฺตสมุฏฐานํ คือ มีภวังคจิตเป็นต้น เป็นสมุฏฐาน.
               บทว่า อาหารสมุฏฐานํ คือ มีกพฬีการาหารเป็นสมุฏฐาน.
               บทว่า จิตฺตสมุฏฐานํ คือ มีกุศลจิตและอกุศลจิตเป็นสมุฏฐานเท่านั้น ว่าโดยลำดับแห่งอาหารในปัจจัยวิภังควาระ ท่านแสดงกพฬีการาหารไว้เป็นที่ ๑ แต่ในที่นี้พึงทราบว่าท่านแสดงอาหารที่เป็นนามก่อน ด้วยอำนาจปุจฉาว่า กุสลํ ธมฺมํ เป็นต้น.
               แม้ในอินทริยปัจจัย โดยการจัดลำดับอินทรีย์ในปัจจัยวิภังค์ ท่านแสดงจักขุนทรีย์เป็นอันดับแรก ส่วนในอธิการนี้ท่านแสดงความที่อรูปอินทรีย์ เป็นปัจจัยก่อน เกี่ยวกับคำถามถึงธรรมที่เป็นกุศลเป็นต้น บรรดาอรูปอินทรีย์เหล่านั้น ควรถือเอาอรูปอินทรีย์เท่าที่หาได้ในธรรมทั้งหลายมีกุศลเป็นต้น. แม้ในภูตรูปทั้งหลาย ที่เกิดแล้วแก่อสัญญสัตตพรหมทั้งหลายก็ควรถือเอาเฉพาะชีวิตินทรีย์แล.
               ในฌานปัจจัยและมัคคปัจจัย มีวิสัชนาเช่นเดียวกับเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในอธิการนี้ว่า เช่นเดียวกับเหตุปัจจัย. วิสัชนาในสัมปยุตตปัจจัย มีคติเหมือนอารัมมณปัจจัย ฉะนั้น ในที่นี้ ท่านจึงกล่าวว่า เหมือนอารัมมณปัจจัย.
               พึงทราบวินิจฉัยในวิปปยุตตปัจจัยต่อไป.
               สองบทว่า วตฺถํ วิปฺปยุตฺตปจฺจยา ความว่า ธรรมทั้งหลายอาศัยวัตถุเกิดขึ้นเพราะวิปปยุตปัจจัย คือเพราะวัตถุที่ให้สำเร็จความเป็นวิปปยุตตปัจจัย.
               สองบทว่า ขนฺเธ วิปฺปยุตฺตปจฺจยา ความว่า ธรรมทั้งหลายอาศัยขันธ์ทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะวิปปยุตปัจจัย คือเพราะขันธ์ทั้งหลายที่ให้สำเร็จความเป็นวิปปยุตตปัจจัย.
               คำว่า ขนฺธา วตฺถํ วิปฺปยุตฺตปจฺจยา อธิบายว่า ขันธ์ทั้งหลายอาศัยวัตถุเกิดขึ้น เพราะวิปปยุตปัจจัย คือเพราะวัตถุที่ให้สำเร็จความเป็นวิปปยุตตปัจจัย.
               คำว่า จิตฺตสมุฏฺฐานํ รูปํ ขนฺเธ วิปฺปยุตฺตปจฺจยา ความว่า รูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐานอาศัยขันธ์ทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะวิปปยุตตปัจจัย เพราะขันธ์ทั้งหลายให้สำเร็จความเป็นวิปปยุตตปัจจัย แม้ในวิสัชนาที่เหลือ บัณฑิตพึงทราบความตามนัยที่ท่านกล่าวไว้ในคำว่า วตฺถํ วิปฺปยุตฺตปจฺจยา เป็นต้น.
               ก็ด้วยศัพท์ว่า วัตถุ ในวิปากาพยากตะนี้ บัณฑิตควรรวมเอาจักขุเป็นต้นมาด้วย.
               คำว่า เอกํ มหาภูตํ เป็นอาทิ ท่านกล่าวไว้เพื่อแสดงว่า มหาภูตรูปเป็นปัจจัยแก่อัพยากตธรรมฝ่ายรูป.
               บทว่า จิตฺตสมุฏฐานํ ความว่า ย่อมได้ที่มีอัพยากตจิตเป็นสมุฏฐาน และรูปที่มีกุศลและอกุศลจิตเป็นสมุฏฐาน.
               ในอัตถิปัจจัย คำอธิบายทั้งหมดดำเนินตามสหชาตปัจจัย เพราะฉะนั้น ในปัจจัยนี้ท่านกล่าวว่า เหมือนกับสหชาตปัจจัย.
               นัตถิปัจจัยและวิคตปัจจัย แนวเดียวกับอารัมมณปัจจัย. อวิคตปัจจัยมีคติเหมือนสหชาตปัจจัย เพราะเหตุนั้นในปัจจัยนั้นท่านจึงกล่าวว่า เหมือนสหชาตปัจจัย.
               คำว่า อิเม เตวีสติ ปจฺจยา ท่านกล่าวไว้ด้วยอำนาจปัจจัย อันท่านย่อแสดงไว้.
               บทว่า วิตฺถาเรตพฺพา ความว่า ผู้ศึกษาพึงอธิบายให้พิสดารด้วยอำนาจปุจฉาที่วิสัชนาได้ นี้เป็นการพรรณนาเนื้อความในการวิสัชนากุสลติกะแห่งปฏิจจวาระ ในปัจจยานุโลมที่มีมูลหนึ่ง เริ่มแต่เหตุปัจจัยเป็นต้น.
               บัดนี้ เพื่อจะแสดงวิสัชนาวาระที่ได้ในปัจจัยหนึ่งๆ ในบรรดาเหตุปัจจัยเป็นต้นนี้ ด้วยอำนาจแห่งจำนวนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เหตุยา นว เป็นอาทิ. พึงทราบวินิจฉัยในคำนั้น.
               สองบทว่า เหตุยา นว ความว่า ในเหตุปัจจัยมีวาระแห่งปุจฉาและวิสัชนา ๙ วาระ คืออย่างไร?
               คือกุศลกับกุศล อัพยากตะกับกุศล กุศลและอัพยากตะกับกุศล อกุศลกับอกุศล อัพยากตะกับอกุศล อกุศลและอัพยากตุกับอกุศล อัพยากตะกับอัพยากตะ อัพยากตะกับกุศลและอัพยากตะ อัพยากตะกับอกุศลและอัพยากตะ.
               สองบทว่า อารฺมมเณ ตีณิ คือ กุศลกับกุศล อกุศลกับอกุศล อัพยากตะกับอัพยากตะ.
               บทว่า อธิปติยา นว เช่นเดียวกับที่กล่าวแล้วในเหตุ.
               ท่านกล่าวไว้ว่า จริงอยู่ ในปัจจัย ๑๒ ท่านจำแนกออกไปปัจจัยละ ๙. ปุจฉาและวิสัชนาในปัจจัยทั้งปวงเช่นเดียวกับเหตุปัจจัยนั่นเอง. แต่ในวิภังค์มีแปลกกันออกไป เพราะว่ารูปก็ยังมีได้ในการวิสัชนาอัพยากตบท ในอัญญมัญญปัจจัย. ในปุเรชาตปัจจัยก็เหมือนกัน.
               ในอาเสวนปัจจัย ไม่ได้วิบากจิตและวิถีจิต.
               สองบทว่า วิปาเก เอกํ คือ อัพยากตะกับอัพยากตะนั่นเอง. เมื่อว่าโดยย่อ ในอธิการนี้มีการกำหนดวาระ ๓ อย่างเท่านั้น คือ ๙-๓-๑ โดยพิสดารดังนี้ คือหมวดนวกะมี ๑๒ ปัจจัย หมวดติกะมี ๑๐ หมวดเอกะมี ๑.
               ในปัจจัย ๒๓ ทั้งหมดมี ๑๓๙ วาระและปุจฉาอีก ๑๓๙ ข้อ.
               แม้คำว่า เอกูนจตฺตาฬีสาธิกํ ปุจฺฉาวิสชฺชนสตํ ก็ระบุถึงคำว่า เอกูนจตฺตาฬีสาธิกํ วารสตํ นั้นเอง พระอาจารย์ครั้นแสดงการนับในปัจจัยที่มีมูลหนึ่ง มีเหตุปัจจัยเป็นต้นอย่างนี้แล้ว เพื่อจะถือเอาเฉพาะจำนวน ที่ได้อยู่ในเทศนาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงย่อวิตถารเทศนาในปัจจัยที่มีมูลสองอื่นจากนี้ แล้วแสดงไว้ในปัจจัยที่มีมูลหนึ่ง แล้วแสดงการกำหนดวาระ จึงกล่าวคำว่า เหตุปจฺจยา อารมฺเณ ตีณิ เพราะเหตุปัจจัย ในอารัมมณปัจจัยมี ๓ วาระเป็นต้น ในปัจจัยที่มีมูลสองก่อน.
               ในข้อนั้น มีวิธีกำหนดดังนี้ ปัจจัยที่มีการนับมาก (คือมีวาระมาก) ประกอบกับปัจจัยที่มีการนับไม่มาก ย่อมมีจำนวน (วาระ) เท่ากับจำนวนไม่มากนั้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เหตุปัจฺจยา อารมฺเณ ตีณิ เพราะเหตุปัจจัยในอารัมมณปัจจัยมี ๓ วาระ.
               อธิบายว่า ในเหตุอารัมมณทุกะได้วิสัชนา ๓ ข้อที่กล่าวไว้ในอารมณ์เท่านั้น.
               ส่วนปัจจัยที่มีวิธีนับเท่ากัน ประกอบกับปัจจัยที่มีวิธีนับเท่ากัน ย่อมมีจำนวนเพิ่มขึ้นและลดลง เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เหตุปจฺจยา อธิปติยา นว เพราะเหตุปัจจัยในอธิปติปัจจัยมี ๙ วาระ. อธิบายว่า ในเหตุอธิปติทุกะได้วิสัชนา ๙ ข้อ.
               สองบทว่า วิปาเก เอกํ ความว่า ในเหตุวิปากทุกะย่อมได้วิสัชนา ๑ ข้อที่กล่าวไว้ในวิบากเท่านั้น บัณฑิตพึงทราบการกำหนดวาระในปัจจัยที่มีมูล ๒ เท่านี้ก่อนด้วยประการฉะนี้. ในวิสัชนาที่มีมูล ๓ เป็นต้น ก็มีวิธีกำหนดอย่างนี้เหมือนกัน เพราะเหตุนั้น จึงกล่าวว่า เหตุปจฺจยา อารมฺมณปจฺจยา อธิปติยา ตีณิ เพราะเหตุปัจจัย อารัมมณปัจจัย ในอธิปติปัจจัยมี ๓ วาระ. อธิบายว่า ในเหตุอารมฺมณอธิปติติกะ ได้วิสัชนา ๓ ที่กล่าวไว้ในอารมณ์เท่านั้น ในวิสัชนาทั้งปวง บัณฑิตพึงขยายนัยออกไปอย่างนี้. ส่วนในวิสัชนาที่มีมูล ๑๒ ย่อมไม่ได้วิปากปัจจัย เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อาเสวนปจฺจยา กมฺเม ตีณิ เพราะอาเสวนปัจจัย ในกัมมปัจจัยมี ๓ วาระ แล้วกล่าวว่า อาหาเร ตีณิ ในอาหารปัจจัยมี ๓ วาระ เป็นต้น ไม่เท้าความไปถึงวิบากเลย แม้ในวิสัชนาที่มีมูล ๑๓ เป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน เป็นแต่ว่าในที่นี้ท่านย่อปัจจัยเหล่านั้น แล้วกล่าวถึงปัจจัยที่มีมูล ๒๓.
               ปัจจัยที่มีมูล ๒๓ นั้น ปัจจัยนั้นแยกเป็น ๒ ประเภท คือที่มีอาเสวนะบ้าง มีวิบากบ้าง ใน ๒ อย่างนั้นที่มีอาเสวนะ ท่านแสดงไว้ก่อน ปัจจัยที่มีอาเสวนะนั้นได้วิสัชนา ๓ ข้อเท่านั้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อาเสวนปจฺจยา อวิคเต ตีณิ เพราะอาเสวนปัจจัย ในอวิคตปัจจัย ๓ วาระ ส่วนปัจจัยที่มีวิบาก (เกิดร่วมกับวิบาก) ย่อมไม่ได้อาเสวนะ เพราะฉะนั้น เพื่อจะละอาเสวนะแล้วแสดงจำนวนด้วยอำนาจวิบาก ท่านจึงแสดงนัยหนึ่งคั่นไว้ว่า เหตุปจฺจยา ฯเปฯ วิปากปจฺจยา อาหาเร เอกํ แล้วแสดงมูล ๒๓ ภายหลัง.
               ก็บรรดาปัจจัยที่มีมูล ๒๓ สองพวกนี้ วิปากปัจจัยไม่มีในพวกหนึ่ง อาเสวนปัจจัยไม่มีในพวกหนึ่งก็จริง แต่ปัจฉาชาตปัจจัยมีได้ทั้งสองพวก. แต่บัณฑิตพึงทราบมูล ๒๓ นี้เท่านั้น โดยศัพท์เกินมา ในปัจจัย ๒ พวกนั้น ฝ่ายมีอาเสวนะได้วิสัชนา ๓ ด้วยอำนาจอาเสวนะ ฝ่ายมีวิบากได้วิสัชนาหนึ่ง ด้วยอำนาจวิปากปัจจัยนี้เป็นการนับในปัจจัยที่มีมูลหนึ่งเป็นต้น เริ่มแต่เหตุปัจจัยมาด้วยประการฉะนี้.
               ก็คำนี้อันใดท่านกล่าวไว้ว่า อารมฺมเณ ฐิเตน สพฺพตฺถ ตีเณว ปญฺหา ในลำดับปัจจัยที่มีเหตุปัจจัยเป็นมูล คำนั้นท่านกล่าวไว้เพื่อแสดงว่าในอารัมมณบททุกบท ทั้งในฝ่ายปัจจัยที่มีมูล ๑ และมีมูล ๒ เป็นต้น เริ่มแต่อารัมมณปัจจัยไป และในการประกอบอธิบายปัจจัยที่เหลือพร้อมกับอารมณ์ ปัจจัยที่มีปัญหา ๙ ข้อ มีปุจฉา ๓ ข้อเท่านั้น ส่วนในวิปากบทและในการประกอบปัจจัยที่เหลือพร้อมกับวิปากบท มีปัญหาข้อเดียวเท่านั้น
               คำใดที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ในหนหลังว่า ปัจจัยที่มีวิธีการนับมาก รวมกับปัจจัยที่มีวิธีการนับไม่มาก ย่อมมีจำนวนเท่ากันกับปัจจัยที่ไม่มากนัก ดังนี้ คำนั้นข้าพเจ้ากล่าวไว้ถูกต้องแล้วแล.
               บัดนี้ พึงแสดงปัจจัยที่มีมูลเดียวเป็นต้น ด้วยอำนาจอารัมมณปัจจัยเป็นอาทิ ในปัจจัยเหล่านั้น ปัจจัยที่มีมูล ๑ ก่อน ท่านไม่ได้แสดงไว้ในปัจจัยสักอย่างหนึ่งว่า เหมือนกับปัจจัยที่มีมูลหนึ่งแห่งเหตุปัจจัยนั่นเอง.
               ก็เพื่อจะแสดงจำนวนในปัจจัยที่มีมูล ๒ ด้วยอำนาจอารัมมณปัจจัย ท่านจึงกล่าวว่า อารมฺปจฺยา เหตุยา ตีณิ อธิปติยา ตีณิ ฯเปฯ อวิคเต ตีณิ ก็ในอธิการนี้เมื่อท่านควรจะกล่าวว่า อารมฺปจฺยา อธิปติยา ตีณิ ฯเปฯ อวิคเต ตีณิ ท่านก็วางเหตุปัจจัยแม้อยู่ข้างหน้าของอารัมมณปัจจัยไว้ข้างหลัง แล้วกล่าวว่า อารมฺมณปจฺจยา เหตุยา ตีณิ เพราะอารัมมณปัจจัย ในเหตุปัจจัยมี ๓ วาระ เพื่อแสดงปัจจัยที่มีวิธีนับมาก มีเหตุปัจจัยเป็นต้น และวิธีนับที่หาได้ในการเทียบเคียงปัจจัยเหล่านั้นกับปัจจัยที่มีวิธีการนับน้อยกว่าและเท่ากัน. คำนี้ย่อมแจ่มแจ้งด้วยอธิบายนั้น.
               อารัมมณปัจจัยย่อมถึงความต่างกัน โดยเป็นทุกะและติกะ เพราะวิธีการนับที่มากกว่าหรือเท่ากับปัจจัยใดๆ ในปัจจัยนั้นทั้งหมด พึงทราบว่ามีปัญหาและวิสัชนา ๓ ข้อเท่านั้น. ส่วนในการเทียบเคียงกับวิปากปัจจัย ย่อมได้ปุจฉาและวิสัชนาข้อเดียวเท่านั้น ข้อนั้นท่านไม่ได้แสดงไว้ในอธิการนี้ว่า จักมีแจ้งในการนับเกี่ยวกับวิปากปัจจัยเป็นต้น และการนับที่ท่านแสดงไว้ในปัจจัยที่มีมูล ๒ นี้แหละ เป็นวิธีนับในปัจจัยที่มีมูล ๓ เป็นต้นด้วย เพราะฉะนั้น ปัจจัยที่มีมูล ๓ เป็นต้น ท่านจึงไม่อธิบายไว้อย่างพิสดารด้วยอำนาจอารัมมณปัจจัย.
               บัดนี้ ท่านกล่าวคำมีอาทิว่า อธิปติปจฺจยา เหตุยา นว เพราะอธิปติปัจจัย ในเหตุปัจจัยมี ๙ วาระ เพื่อจะแสดงวิธีนับในปัจจัยที่มีมูล ๒ เป็นต้น ด้วยอำนาจอธิปติปัจจัยเป็นต้น พึงทราบนิทเทสแห่งปัจจัยตามนัยที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วในเหตุปัจจัยนั้นนั่นแล.
               ก็เพราะอธิปติปัจจัย (เป็นมูล) เหตุปัจจัยมีปุจฉาและวิสัชนา ๙ ข้อฉันใด ในปัจจัยที่มีวิธีนับเท่ากับเหตุปัจจัยที่เหลือก็มี ๙ ข้อฉันนั้น ดังที่ได้อธิบายมาแล้วนี้ ในการเทียบเคียงปัจจัยที่มีวิธีนับเท่ากับปัจจัยที่มีอยู่ในอันดับแรก การนับย่อมมีด้วยอำนาจแห่งปัจจัยที่อยู่ในอันดับแรก ผู้ศึกษาพึงทราบว่า ก็ในการเทียบเคียงปัจจัยที่มีการนับน้อยกว่ากับปัจจัยที่เป็นตัวตั้งนั้น จำนวนย่อมมีด้วยอำนาจแห่งปัจจัยที่มีการนับน้อยกว่า บัณฑิตอธิบายปัจจัยที่มีมูล ๓ ให้พิสดารด้วยอำนาจอารัมมณปัจจัย ฉันใด จะอธิบายด้วยอำนาจอธิปติปัจจัยก็ดี อนันตรปัจจัยอื่นจากนั้นก็ดี เหมือนอย่างนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในปัจจัยทั้งหมดควรให้สำเร็จด้วยอำนาจแห่งวิธีนับ อันท่านแสดงไว้แล้วในปัจจัยที่มีมูล ๒ เพราะเหตุนั้นนั่นแหละ ท่านจึงกล่าวว่า การทำปัจจัยหนึ่งๆ ให้เป็นมูลแล้วนับตามพลความเป็นลำดับไว้.

               จบอรรถกถาปัจจยานุโลมนัย.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาปัฏฐานปกรณ์ ภาค ๑ อนุโลมติกปัฏฐาน กุสลัตติกะ ปฏิจจวาร ปัจจนียานุโลม อนุโลมนัย จบ.
อ่านอรรถกถา 40 / 1อ่านอรรถกถา 40 / 26อรรถกถา เล่มที่ 40 ข้อ 56อ่านอรรถกถา 40 / 87อ่านอรรถกถา 40 / 1767
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=40&A=502&Z=929
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=10653
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=10653
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๘  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :