ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 40 / 1อ่านอรรถกถา 40 / 671อรรถกถา เล่มที่ 40 ข้อ 674อ่านอรรถกถา 40 / 679อ่านอรรถกถา 40 / 1767
อรรถกถา มหาปัฏฐานปกรณ์ ภาค ๑
อนุโลมติกปัฏฐาน กุสลัตติกะ ปัญหาวารปัจจนียุทธาร

               ปัจจนียนัย               
               วรรณนาเนื้อความแห่งปัจจยุทธาระ               
               บัดนี้ เป็นปัจจนียนัย. พึงทราบวินิจฉัยในปัจจนียนัยนั้นดังต่อไปนี้ :-
               ปัญหาทั้งหลายอันได้อยู่โดยนัยเป็นต้นว่า "อกุศลธรรมอาศัยอกุศลธรรมเกิดขึ้น เพราะนเหตุปัจจัย" ในปฏิจจวาระเป็นต้น ขยายออกไปโดยย่อ ด้วยอำนาจปัจจัยทั้งหลายที่ได้อยู่ ฉันใด เพื่อแสดงปัจจนียะโดยสังเขป โดยลักษณะเดียวกันอย่างไม่พิสดาร พระธรรมสังคาหกาจารย์ทั้งหลายจึงขยายปัจจัยแห่งกุศลเป็นต้นโดยอนุโลม โดยนัยเป็นต้นว่า กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่กุศลธรรม ด้วยอำนาจของอารัมมปัจจัย ฉันนั้น. ก็ปัจจัยเหล่านั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วด้วยอำนาจแห่งปัจจัยเป็นหมวดๆ ไม่ได้แสดงด้วยอำนาจปัจจัยแต่ละอย่างๆ บัณฑิตพึงแยกปัจจัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้โดยเป็นหมวด แล้วพึงทราบในที่นั้น.
               จริงอยู่ ปัจจัย ๒๔ เหล่านี้แม้ทั้งหมด ย่อมรวมลงในปัจจัย ๘. ในปัจจัย ๘ เหล่าไหน.
               คือในอารัมมณปัจจัย สหชาตปัจจัย อุปนิสสยปัจจัย ปุเรชาตปัจจัย ปัจฉาชาตปัจจัย กัมมปัจจัย อาหารปัจจัย อินทริยปัจจัย.
               อย่างไร?
               จริงอยู่ บรรดาปัจจัย ๑๖ ที่เหลือ เว้นปัจจัย ๘ เหล่านี้ ปัจจัย ๖ เหล่านี้ คือเหตุปัจจัย อัญญมัญปัจจัย วิปากปัจจัย ฌานปัจจัย มรรคปัจจัยและสัมปยุตตปัจจัย เกิดพร้อมกันโดยส่วนเดียว ย่อมรวมลงในสหชาตปัจจัย เพราะเป็นปัจจัยแก่ธรรมที่เกิดพร้อมกันนั่นเทียว.
               ส่วนปัจจัย ๕ เหล่านี้ คืออนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย อาเสวนปัจจัย นัตถิปัจจัยและวิคตปัจจัย เกิดขึ้นแล้วดับไป ย่อมรวมลงในอุปนิสสยปัจจัย โดยลักษณะแห่งอนันตรูปนิสสยปัจจัย เพราะเป็นปัจจัยแก่ธรรมที่เกิดขึ้นในลำดับแห่งตน.
               นิสสยปัจจัยมี ๒ อย่าง โดยแจกเป็นสหชาตนิสสยะและปุเรชาตนิสสยะ.
               ใน ๒ อย่างนั้น สหชาตนิสสยปัจจัย ย่อมรวมลงในสหชาตปัจจัย เพราะเป็นที่อาศัยแห่งธรรมทั้งหลายที่เกิดร่วมกัน ปุเรชาตนิสสยปัจจัย ย่อมรวมลงในปุเรชาตปัจจัย.
               แม้อธิปติปัจจัยมี ๒ อย่าง คือสหชาตาธิปติปัจจัยและอารัมมณาธิปติปัจจัย.
               ใน ๒ อย่างนั้น สหชาตาธิปติปัจจัย ย่อมรวมลงในสหชาตปัจจัย เพราะเป็นอธิปติปัจจัยแก่ธรรมทั้งหลายที่เกิดร่วมกันนั่นเอง. อารัมมณาธิปติปัจจัยเป็นอารัมมณูปนิสสยะนั่นเอง เพราะฉะนั้น จึงรวมลงในอุปนิสสยปัจจัย โดยลักษณะแห่งอารัมมณูปนิสสยะ.
               วิปปยุตตปัจจัยมี ๓ อย่าง โดยจำแนกเป็นสหชาตะ ปุเรชาตะและปัจฉาชาตะ.
               ใน ๓ อย่างนั้น สหชาตวิปปยุตตปัจจัย ย่อมรวมลงในสหชาตปัจจัย เพราะเป็นวิปปยุตตปัจจัยแก่ธรรมทั้งหลายที่เกิดพร้อมกันนั่นเอง. ปุเรชาตวิปยุตตปัจจัย ย่อมรวมลงในปุเรชาตปัจจัย เพราะธรรมที่เกิดขึ้นก่อนเป็นปัจจัยแก่ธรรมที่เกิดในภายหลัง. ปัจฉาชาตวิปปยุตปัจจัย ย่อมรวมลงในปัจฉาชาตปัจจัย เพราะธรรมที่เกิดขึ้นในภายหลังเป็นปัจจัย ด้วยอำนาจการค้ำจุนแก่ธรรมที่เกิดขึ้นก่อน.
               อัตถิปัจจัยและอวิคคตปัจจัยมีอย่างละ ๖ ด้วยอำนาจแห่งสหชาตะ ปุเรชาตะ ปัจฉาชาตะ อาหาระและอินทรีย์ และด้วยอำนาจแห่งอัตถิและอวิคตะ อีกอย่างละ ๑ ปัจจัย.
               บรรดาปัจจัยเหล่านั้น สหชาตปัจจัย อัตถิปัจจัย อวิคตปัจจัย ย่อมรวมลงในสหชาตปัจจัย เพราะธรรมทั้งหลายที่เกิดพร้อมกันเท่านั้นเป็นปัจจัย ด้วยอำนาจของอัตถิปัจจัยและอวิคตปัจจัย. ปุเรชาตปัจจัย ย่อมรวมลงในปุเรชาตปัจจัย เพราะธรรมที่เกิดก่อนเป็นปัจจัยแก่ธรรมที่เกิดภายหลัง. ปัจฉาชาตปัจจัยทั้งหลาย ย่อมรวมลงในปัจฉาชาตปัจจัย เพราะธรรมที่เกิดภายหลังเป็นปัจจัย ด้วยอำนาจการค้ำจุนแก่ธรรมที่เกิดก่อน. ธรรมทั้งหลายที่เป็นอาหาร ย่อมรวมลงในกวฬีการาหารปัจจัย. ธรรมทั้งหลายที่เป็นอินทรีย์ ย่อมรวมลงในรูปชีวิตินทรีย์ปัจจัยแล. ปัจจัย ๑๖ เหล่านี้ พึงทราบว่าย่อมรวมลงในปัจจัย ๘ เหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง ปัจจัย ๘ แม้เหล่านี้ สงเคราะห์เข้าในอัญญมัญญปัจจัยมีอยู่.
               จริงอยู่ อารัมมณปัจจัยที่แสดงไว้ข้างต้นมี ๒ อย่าง โดยแยกเป็นอธิบดีและไม่ใช่อธิบดี. ใน ๒ อย่างนั้น ปัจจัยที่เป็นอธิบดี ย่อมรวมลงในอุปนิสสยปัจจัย โดยลักษณะแห่งอารัมมณูปนิสสยะ. ที่ไม่ได้เป็นอธิบดี ย่อมเป็นอารัมมณปัจจัยล้วน.
               แม้กัมมปัจจัยก็มี ๒ อย่าง ด้วยอำนาจแห่งสหชาตกัมมปัจจัย และนานักขณิกกัมมปัจจัย. ใน ๒ อย่างนั้น สหชาตกัมมปัจจัย ย่อมรวมลงในสหชาตปัจจัย เพราะเป็นกัมมปัจจัยแก่ธรรมทั้งหลายที่เกิดร่วมกันกับตน.
               นานักขณิกกัมมปัจจัยมี ๒ อย่าง คือที่มีกำลังและทุรพล.
               ใน ๒ อย่าง พลวกัมมปัจจัยเป็นปัจจัยเป็นที่อาศัยอย่างแรงกล้าแก่วิบากธรรมทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงรวมในลงในอุปนิสสยปัจจัย. อนึ่ง พลวกัมมปัจจัยย่อมเป็นปัจจัยแก่รูปทั้งหลายด้วย, ส่วนกัมมปัจจัยที่หย่อนกำลัง ย่อมเป็นปัจจัยแก่อรูปทั้งหลายโดยนานักขณิกกัมมปัจจัยเท่านั้น.
               แม้อาหารปัจจัยก็มี ๒ อย่าง โดยเป็นรูปและอรูป.
               ใน ๒ อย่างนั้น อรูปอาหารเป็นปัจจัยแก่ธรรมที่เกิดพร้อมกันกับตนเท่านั้น ฉะนั้น จึงรวมลงในสหชาตปัจจัย. รูปอาหารย่อมไม่เป็นปัจจัยแก่ธรรมทั้งหลายที่เกิดพร้อมกัน เกิดก่อนหรือเกิดภายหลัง. รูปอาหารที่เลยอุปาทขณะแล้ว ถึงฐิตะขณะของตน ย่อมยังความเป็นอาหารปัจจัยให้สำเร็จ เพราะฉะนั้น จึงจัดเป็นอาหารปัจจัยเท่านั้น.
               แม้อินทริยปัจจัยก็มี ๒ อย่าง โดยเป็นรูปและอรูป.
               ใน ๒ อย่างนั้น อินทริยปัจจัยที่เป็นอรูป ย่อมให้สำเร็จความเป็นอินทริยปัจจัยแก่ธรรมทั้งหลายที่เกิดพร้อมกันกับตน เพราะฉะนั้น จึงรวมลงในสหชาตปัจจัย. ส่วนรูปินทริยปัจจัย มี ๒ อย่าง โดยจำแนกเป็นภายในและภายนอก ใน ๒ อย่างนั้น อินทริยปัจจัยภายในเกิดขึ้นก่อน เป็นอินทริยปัจจัยแก่จักขุวิญญาณเป็นต้น พร้อมทั้งธรรมที่สัมปยุตอันเกิดขึ้นในภายหลัง เพราะฉะนั้น จึงรวมลงในปุเรชาตปัจจัยเท่านั้น. อินทริยปัจจัยภายนอกได้แก่รูปชีวิตินทรีย์. รูปอินทรีย์นั้นแม้จะเป็นปัจจัยแก่ธรรมทั้งหลายที่เกิดร่วมกัน ก็ย่อมเป็นด้วยอำนาจเพียงการตามเลี้ยงรักษาเท่านั้น ไม่ใช่ด้วยอำนาจแห่งการให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จึงจัดเป็นอินทริยปัจจัยเท่านั้น. ปัจจัยทั้ง ๘ เหล่านี้ พึงทราบว่า ย่อมรวมเข้าในกันและกัน ด้วยประการฉะนี้ นี้เป็นสังคหนัยด้วยอำนาจเป็นอัญญมัญญะแห่งปัจจัย ๑๖ ที่เหลือ และแห่งปัจจัย ๘ เหล่านั้นนั่นเอง ในปัจจัย ๘ เพียงนี้.
               บัดนี้ ผู้ศึกษาพึงทราบปัจจัยทั้ง ๒๔ ที่รวมลงในปัจจัยหนึ่งๆ ของบรรดาปัจจัย ๘ เหล่านี้.
               บรรดาปัจจัย ๒๓ เหล่านั้น
               อารัมมณปัจจัยเท่านั้น ย่อมรวมลงในอารัมมณปัจจัย อันเป็นที่ ๑ แห่งปัจจัย ๘ เหล่านั้นก่อน ปัจจัยที่เหลือ ๒๓ ย่อมรวมเข้าไม่ได้.
               ปัจจัย ๑๕ เหล่านี้ คือเหตุปัจจัย สหชาตาธิปติปัจจัย สหชาตปัจจัย อัญญมัญญปัจจัย สหชาตนิสสยปัจจัย สหชาตกัมมปัจจัย วิปากปัจจัย สหชาตาหารปัจจัย สหชาตินทริยปัจจัย ฌานปัจจัย มัคคปัจจัย สัมปยุตตปัจจัย สหชาตวิปปยุตตปัจจัย สหชาตัดถิปัจจัย สหชาตอวิคตปัจจัย ย่อมรวมลงในสหชาตปัจจัยที่ ๒.
               ปัจจัย ๙ เหล่านี้ คืออารัมมณปัจจัยที่เป็นอธิบดี อธิปติปัจจัย อนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย อุปนิสสยปัจจัย อาเสวนปัจจัย พลวกัมมปัจจัย ที่เป็นนานักขณิกะ นัตถิปัจจัย วิคตปัจจัย ย่อมรวมลงในอุปนิสสยปัจจัยที่ ๓.
               ปัจจัย ๖ เหล่านี้ คือปุเรชาตปัจจัย ปุเรชาตนิสสยปัจจัย ปุเรชาตินทริยปัจจัย ปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย ปุเรชาตัดถิปัจจย ปุเรชาตอวิคตปัจจัย ย่อมรวมลงในปุเรชาตปัจจัยที่ ๔.
               ปัจจัย ๔ เหล่านี้ คือปัจฉาชาตปัจจัย ปัจฉาชาตวิปปยุตตปัจจัย ปัจฉาชาตัตถิปัจจัย ปัจฉาชาตอวิคตปัจจัย ย่อมรวมลงในปัจฉาชาตปัจจัยที่ ๕.
               นานักขณิกกัมมปัจจัย ท่านสงเคราะห์แล้ว ในกัมมปัจจัยที่ ๖.
               ปัจจัย ๓ เหล่านี้ คืออาหารปัจจัย อาหารัตถิปัจจัย อาหารอวิคตปัจจัย ท่านสงเคราะห์แล้วด้วยอำนาจกพฬีการาหารในอาหารปัจจัยที่ ๗.
               ปัจจัย ๓ เหล่านี้ คือรูปชีวิตินทริยปัจจัย อินทริยัตถิปัจจัย อินทรียอวิคตปัจจัย ย่อมรวมลงในอินทรียปัจจัยที่ ๘. ผู้ศึกษาครั้นทราบว่า ปัจจัยเหล่านี้ๆ รวมลงแล้วในปัจจัยหนึ่งๆ บรรดาปัจจัย ๘ เหล่านี้อย่างนี้แล้ว พึงทราบว่าปัจจัยเหล่าใดถึงการรวมลงในปัจจัยใด ปัจจัยเหล่านั้น ท่านถือเอาแล้วด้วยจำนวนแห่งปัจจัยที่รวมลงนั้น.
               ปัญหา ๑๕ ข้อเหล่านี้ว่า "กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่กุศลธรรมโดยอารัมมณปัจจัย" ดังนี้เป็นต้น ในปัจจนียนัยนี้ ในปัญหา ๔๙ ข้ออันท่านยกขึ้นวิสัชนาแล้ว ด้วยอำนาจแห่งปัจจัย ๘ เหล่านี้ ซึ่งเป็นที่รวมแห่งปัจจัยทั้งหมด ด้วยประการฉะนี้. บรรดาปัญหาเหล่านั้น ปัญหา ๔ ข้อมีกุศลเป็นต้นว่า กุศลเป็นปัจจัยแก่กุศล กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล กุศลเป็นปัจจัยแก่อัพยากตะ กุศลเป็นปัจจัยแก่กุสลาพยากตะ. ปัญหา ๔ ข้อที่มีอกุศลเป็นต้นก็เหมือนกัน.
               ส่วนปัญหา ๓ ข้อมีอัพยากตะเป็นต้น คืออัพยากตะเป็นปัจจัยแก่อัพยากตะ อัพยากตะเป็นปัจจัยแก่กุศล อัพยากตะเป็นปัจจัยแก่อกุศล. ปัญหา ๔ ข้อมีปัจจยุบบัน ๑ มีมูล ๒ คือกุศลและอัพยากตะเป็นปัจจัยแก่กุศล กุศลและอัพยากตะเป็นปัจจัยแก่อัพยากตะ อกุศลและอัพยากตะเป็นปัจจัยแก่อกุศล อกุศลและอัพยากตะเป็นปัจจัยแก่อัพยากตะ.
               บรรดาปัญหาเหล่านั้น ปัจจัยเหล่าใดพึงได้ในปัญหาที่ ๑ ท่านรวบรวมปัจจัยเหล่านั้นทั้งหมดแล้วกล่าวว่าปัจจัย ๓. ในปัญหาที่ ๒ มีปัจจัย ๒. ในปัญหาที่ ๓ มีปัจจัย ๕. ในปัญหาที่ ๔ มีปัจจัย ๑ เท่านั้น. ในปัญหาที่ ๕ มีปัจจัย ๓. ในปัญหาที่ ๖ มีปัจจัย ๒. ในปัญหาที่ ๗ มีปัจจัย ๕. ในปัญหาที่ ๘ มีปัจจัย ๑ เท่านั้น. ในปัญหาที่ ๙ มีปัจจัย ๗. ในปัญหาที่ ๑๐ มีปัจจัย ๓. ในปัญหาที่ ๑๑ มีปัจจัย ๓. ที่ ๑๒ มีปัจจัย ๒. ที่ ๑๓ มีปัจจัย ๔. ที่ ๑๔ มีปัจจัย ๒. แม้ในปัญหาที่ ๑๕ ก็มีปัจจัย ๔ เหมือนกัน ปัจจัยเหล่านั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตรัสว่า สหชาตปจฺจเยน แต่ตรัสว่า สหชาตํ ปจฺฉาชาตํ ข้าพเจ้าจักพรรณนาเหตุในการตรัสอย่างนั้นข้างหน้า.
               ก็เมื่อว่าโดยย่อในอธิการนี้ มีการกำหนดปัจจัย ๖ หมวดเท่านั้น คือปัจจัย ๑-๒-๓-๔-๕ และ ๗.
               จริงอยู่ บรรดาปัจจัยปัจจนียะทั้ง ๒๔ ข้อ มีอาทิว่า การกำหนดปัญหาด้วยอำนาจการกำหนดอย่างสูงสุด ในปัจจนียะแห่งปัญหาวาระ และการกำหนดปัจจัยที่ท่านรวบรวมปัจจัยนั้นๆ แสดงไว้นี้ มีนเหตุปัจจัยเป็นต้น ปัจจัยแห่งปัญหาวาระต่อจากนี้ไปย่อมไม่ได้แม้ในปัจจนียะหนึ่ง แต่ย่อมได้ในหนหลัง เพราะฉะนั้น ปัจจัย ๑ เท่านั้นมาแล้วอย่างนี้ว่า กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่กุศลและอัพยากตะ ด้วยอำนาจของสหชาตปัจจัย.
               ในปัญหาเหล่าใด เมื่อปัจจัยนั้นถูกปฏิเสธไปแล้ว ปัญหาเหล่านั้นย่อมลดไป. ก็ปัจจัยทั้ง ๒ มาแล้วในปัญหาใดอย่างนี้ว่า กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่อกุศลธรรม ด้วยอำนาจของอารัมมณปัจจัย และด้วยอำนาจของอุปนิสสยปัจจัย บรรดาปัจจัยเหล่านั้น เมื่อปัจจัยข้อ ๑ แม้ถูกปฏิเสธแล้วอย่างนี้ว่า นารัมมปัจยา ปัญหานั้นย่อมได้ด้วยอำนาจแห่งปัจจัยนอกนี้ แต่เมื่อปัจจัยทั้ง ๒ นั้นถูกปฏิเสธแล้ว วาระนั้นจึงขาดไป ปัจจัยทั้งหลายในหมวด ๓-๔-๕ และ ๗ ย่อมได้ในปัญหาเหล่าใด ปัญหาเหล่านั้นย่อมได้ ด้วยอำนาจแห่งปัจจัยทั้งหลายที่เหลือ เว้นปัจจัยที่ท่านปฏิเสธแล้ว ก็เมื่อปัจจัยทั้งหมดถูกปฏิเสธไปวาระทั้งหมดย่อมขาดไป ดังนี้แล นี้เป็นลักษณะในข้อนี้ บัณฑิตพึงทราบประเภทแห่งปัจจัยทั้งหลายที่ท่านย่อกล่าวไว้ในปัญหานั้นๆ ตั้งแต่ต้น และการลดหรือไม่ลดปัญหานั้นๆ ในปัจจัยนั้นๆ ด้วยลักษณะนี้.
               ต่อไปนี้เป็นความพิสดารในเรื่องนั้น ในปัญหาที่ ๑ ก่อน ปัจจัย ๑๙ ท่านแสดงไว้แล้วด้วยปัจจัย ๓. อย่างไร?
               จริงอยู่ กุศลย่อมไม่เป็นปัจจัยแก่กุศลด้วยปุเรชาตปัจฉาชาตะและวิปากะ และวิปปยุตตปัจจัย แต่ย่อมเป็นด้วยปัจจัย ๒๐ ที่เหลือ. บรรดาปัจจัยเหล่านั้น อารัมมณปัจจัยมี ๑ เท่านั้น. ส่วนปัจจัย ๑๕ ด้วยอำนาจเป็นที่รวมแห่งปัจจัยทั้งหมด ท่านกล่าวว่าย่อมถึงการสงเคราะห์ลงในสหชาตปัจจัย. เมื่อเหตุปัจจัยถูกปฏิเสธไป ปัจจัยเหล่านั้นย่อมมี ๑๔. ก็คำว่า กุศลเป็นปัจจัยแก่กุศลด้วยสหชาตปัจจัย พระองค์ตรัสหมายถึงปัจจัย ๑๒ ที่เหลือ โดยนำปัจจัย ๒ ออกไป เพราะกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศล โดยวิปากปัจจัย (และ) วิปปยุตตปัจจัยไม่ได้. ท่านกล่าวว่า ปัจจัย ๙ ย่อมรวมลงแม้ในอุปนิสสยปัจจัยด้วยอำนาจปัจจัยที่รวมลงในปัจจัยทั้งปวง.
               บรรดาปัจจัยเหล่านั้น อารัมมณปัจจัยที่เป็นอธิบดี และอธิปติปัจจัยที่เป็นอารมณ์ ผนวกเข้ากับอุปนิสสยปัจจัย ด้วยอำนาจเป็นอารัมมณูปนิสสยะ. ฝ่ายกุศลย่อมไม่เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัยแก่กุศล เพราะฉะนั้น ท่านจึงนำออกเสียแล้วกล่าวว่า อุปนิสฺสยปจฺจเยน ปจฺจโย เพราะหมายเอาปัจจัย ๖ ที่เหลือ.
               ปัจจัย ๑๙ พึงทราบว่า ท่านแสดงแล้วด้วยปัจจัย ๓ ในปัญหาที่ ๑ (กุ - กุ) ด้วยประการฉะนี้.
               บรรดาปัจจัยเหล่านั้น ในนเหตุปัจจนียะนี้ กุศลธรรมย่อมเป็นปัจจัยแก่กุศลธรรม ด้วยนเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงยกบาลีขึ้นแสดง โดยนักที่ท่านกล่าวไว้ในอารัมมณปัจจัยเป็นต้นมีอาทิอย่างนี้ว่า บุคคลให้ทาน สมาทานศีล รักษาอุโบสถแล้ว ย่อมพิจารณากุศลนั้น ย่อมพิจารณาถึงกุศลทั้งหลายที่ประพฤติในกาลก่อน ก็เมื่ออารัมมณปัจจัยถูกปฏิเสธแล้ว บัณฑิตนำความพิสดารแห่งอารัมมปัจจัยนั้นออก เพิ่มความพิสดารแห่งเหตุปัจจัย แล้วพึงแสดงบาลีนั้นนั่นแล แม้ในการปฏิเสธปัจจัยที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน ก็เมื่อปัจจัยใดๆ ถูกปฏิเสธออก วาระเหล่าใดลดไป ข้าพเจ้าจักพรรณนาวาระเหล่านั้นข้างหน้า.
               ก็ในปัญหาที่ ๒ (กุ - อกุ) ท่านแสดงปัจจัย ๓ ด้วยปัจจัย ๒. อย่างไร?
               คือกุศลย่อมไม่เป็นปัจจัยแก่อกุศล ด้วยอำนาจของอนันตระเป็นต้น. เพราะฉะนั้น ท่านจึงนำเอาอนันตรปัจจัยเป็นต้นเหล่านั้นออก แล้วตรัสว่า "อุปนิสฺสยปจฺจเยน ปจฺจโย" โดยหมายเอา อารัมมณาธิปติ และปกตูปนิสสยปัจจัย อันท่านสงเคราะห์แล้วด้วยอารัมมณูปนิสสยปัจจัย. เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า ปัจจัยทั้งหลาย ๓ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วด้วยปัจจัย ๒ ในปัญหาที่ ๒ คืออารัมมณปัจจัยล้วนๆ กับอธิปติปัจจัย และอุปนิสสยปัจจัย ด้วยอำนาจอารัมมณาธิปติ.
               ก็ในปัญหาที่ ๓ (กุ - อัพ) ปัจจัย ๑๘ ปัจจัย ท่านแสดงแล้วด้วยปัจจัย ๕. อย่างไร?
               คือกุศลย่อมไม่เป็นปัจจัยแก่อัพยากตะ ด้วยอำนาจของอัญญมัญญะ ปุเรชาตะ อาเสวนะ วิปากะและสัมปยุตตปัจจัย. ย่อมเป็นด้วยอำนาจของปัจจัย ๑๙ ที่เหลือ. บรรดาปัจจัยเหล่านั้น อารัมมณปัจจัยมี ๑. ก็เพราะกุศลย่อมไม่เป็นปัจจัยแก่อัพยากตะ ด้วยอำนาจอัญญมัญญะ วิปากะและสัมปยุตตปัจจัย. เหตุปัจจัยถูกปฏิเสธออก กัมมปัจจัยท่านถือเอาอีกแผนกหนึ่ง เพราะฉะนั้น ท่านจึงนำปัจจัย ๕ เหล่านี้ออก แล้วแสดงปัจจัย ๑๐ ด้วยสหชาตปัจจัย. บรรดาปัจจัย ๖ ที่ท่านกล่าวไว้ในหนหลังโดยอุปนิสสยปัจจัย เว้นอาเสวนปัจจัย ปัจจัยที่เหลือมี ๕ ปัจฉาชาตปัจจัยมี ๑ เท่านั้น.
               อนึ่ง กัมมปัจจัยมี ๒ อย่าง ด้วยอำนาจสหชาตกัมมปัจจัยและนานากขณิกกัมมปัจจัย ผู้ศึกษาพึงทราบว่าปัจจัย ๑๘ เหล่านี้ ท่านแสดงด้วยปัจจัย ๕ ในปัญหาที่ ๓ อย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               ปัจจัย ๑๘ เหล่านี้ อันพระพุทธองค์ทรงแสดงแล้วด้วยปัจจัย ๕ ในปัญหาที่ ๓ อย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               ปัจจัย ๑๐ ท่านแสดงแล้วด้วยปัจจัย ๑ เท่านั้น ในปัญหาที่ ๔ (กุ - กุ อัพ). อย่างไร.
               จริงอยู่ กุศลย่อมไม่เป็นปัจจัยแก่กุสลาพยากตะด้วยอำนาจของอัญญมัญญะ วิปากะ สัมปยุตตะและวิปปยุตตปัจจัย.
               ในบรรดาปัจจัย ๑๕ ที่ท่านกล่าวไว้แล้วในสหชาตปัจจัย เหตุปัจจัยถูกปฏิเสธออกแล้ว ผู้ศึกษาชักปัจจัย ๕ เหล่านี้ออก แล้วพึงทราบว่าปัจจัย ๑๐ ที่เหลือท่านแสดงแล้วด้วยปัจจัย ๑ ในปัญหาที่ ๔ นี้ ก็ปัจจัยเหล่านั้น ท่านแสดงแล้วด้วยปัจจัยเหล่านั้นๆ.
               ในปัญหา ๔ ข้อมีกุศลเป็นต้นเหล่านี้ฉันใด ผู้ศึกษาพึงทราบว่าปัจจัยเหล่านั้นๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว ด้วยปัจจัยเหล่านั้นๆ ในปัญหา ๔ ข้อ แม้มีอกุศลเป็นต้น ฉันนั้น (ปัญหา ๔ คือ อกุ - อกุ, อกุ - กุ, อกุ - อัพ, อกุ - อกุ อัพ).
               ปัจจัย ๒๓ ท่านแสดงแล้วด้วยปัจจัย ๗ ในปัญหาที่ ๑ แห่งปัญหา ๓ ข้อ มีอัพยากตะเป็นต้น อื่นจากนั้น (คือ อัพ - อัพ, อัพ - กุ, อัพ - อกุ) อย่างไร.
               คืออัพยากตะเป็นปัจจัยแก่อัพยากตะ แม้ด้วยปัจจัย ๒๔. ก็เมื่อเหตุปัจจัยถูกปฏิเสธออก ย่อมมีปัจจัย ๒๓.
               บรรดาปัจจัยเหล่านั้น อารัมมณปัจจัยมี ๑ เท่านั้น ก็เพราะอาหารปัจจัยและอินทริยปัจจัย ท่านถือเอาอีกแผนกหนึ่ง เพื่อสงเคราะห์ธรรมที่ไม่เกิดรวมกันไว้ในอธิการนี้ด้วย เพราะฉะนั้น ท่านจึงนำปัจจัย ๓ เหล่านี้ออก แล้วแสดงปัจจัย ๑๒ โดยสหชาตปัจจัย. ปัจจัยที่ท่านกล่าวไว้ในหนหลังโดยอุปนิสสยปัจจัยมี ๖. ปุเรชาตปัจจัยมี ๑ เท่านั้น. ปัจฉาชาตะ อาหาระและอินทริยปัจจัยก็เหมือนกัน.
               บัณฑิตพึงทราบว่า ปัจจัย ๒๓ เหล่านี้ ท่านแสดงไว้แล้วด้วยปัจจัย ๗ ในอธิการนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               ปัจจัย ๑๒ ท่านแสดงแล้วด้วยปัจจัย ๓ แม้ในปัญหาที่ ๒ อย่างไร คืออารัมมณปัจจัยมี ๑. ปัจจัย ๖ คืออารัมมณาธิปติ อนันตระ สมนันตระ นัตถิ วิคตะและอุปนิสสยปัจจัย ท่านแสดงแล้วด้วยอำนาจแห่งอารัมมณูปนิสสยะ โดยอุปนิสสยปัจจัย. ปุเรชาตะ นิสสยะ วิปปยุตตะ อัตถิและอวิคตปัจจัย ท่านแสดงแล้วด้วยปุเรชาตปัจจัย. บัณฑิตพึงทราบว่าปัจจัย ๑๒ เหล่านี้ ท่านแสดงแล้วด้วยปัจจัย ๓ ในปัญหาที่ ๒ นี้ (อัพ - กุ) ด้วยประการฉะนี้ แม้ในปัญหาที่ ๓ (คือ อัพ - อกุ) ก็นัยนี้.
               ในปัญหาที่ ๑ แห่งปัญหา ๔ ข้อที่มีมูล ๒ (คือ กุ, อัพ - กุ. กุ, อัพ - อัพ. อกุ, อัพ - อกุ. อกุ, อัพ - อัพ.) ต่อจากนั้นพระองค์ไม่ตรัสว่า สหชาตปจฺจเยน ปุเรชาตปจฺจเยน แล้วแสดงปัจจัย ๓ ด้วยอำนาจนิสสยะ อัตถิและอวิคตปัจจัย ด้วยปัจจัย ๒ ที่พระองค์ตรัสว่า สหชาตํ ปุเรชาตํ.
               จริงอยู่ กุศลขันธ์ทั้งหลายเมื่อให้สำเร็จความเป็นปัจจัยแก่กุศล พร้อมกับวัตถุรูป เป็นสหชาตะแม้ก็จริง ถึงอย่างนั้นก็ไม่เป็นสหชาตปัจจัย. เพราะเหตุไร? เพราะเจือด้วยวัตถุรูป. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สหชาตํ ด้วยอำนาจแห่งนิสสยะ อัตถิและอวิคตะ อันเป็นสหชาตะเหล่านั้น. แม้ในวัตถุรูปก็นัยนี้เหมือนกัน.
               จริงอยู่ แม้วัตถุรูปนั้นจะเกิดก่อนก็จริง แต่หาเป็นปุเรชาตปัจจัยไม่ เพราะรวมกับขันธ์ คำว่า ปุเรชาตํ ตรัสแล้วด้วยอำนาจแห่งนิสสยปัจจัยเป็นต้น ที่เกิดก่อนอย่างเดียว.
               ปัจจัย ๔ ด้วยอำนาจสหชาตะ นิสสยะ อัตถิและอวิคตะ พระองค์ทรงแสดงแล้วด้วยปัจจัย ๔ ที่ท่านกล่าวว่า สหชาตํ ปจฺฉาชาตํ อาหารํ อินฺทฺริยํ ในปัญหาที่ ๒.
               จริงอยู่ ในวาระนี้ย่อมได้สหชาตปัจจัยด้วย ไม่ได้ปัจฉาชาตปัจจัยเป็นต้น ก็คำนั้นท่านกล่าวด้วยอำนาจแห่งปัจฉาชาตะ และอัตถิ และอวิคตะ กล่าวคืออาหารและอินทรีย์ เพราะว่ากุศลขันธ์ทั้งหลาย อัพยากตะและมหาภูตรูปเป็นปัจจัยแก่อุปทายรูป โดยส่วน ๔ คือสหชาตปัจจัย นิสสยปัจจัย อัตถิปัจจัย อวิคตปัจจัย. ก็กุศลที่เกิดในภายหลังเป็นปัจจัยแก่อุปาทายรูปเหล่านั้นนั่นแหละ กับภูตรูปเหล่านั้นเหมือนกัน ด้วยอำนาจอัตถิและอวิคตปัจจัย. แม้กพฬีการาหาร กับกุศลที่เกิดภายหลัง ก็เป็นปัจจัยแก่กายที่เกิดก่อน ด้วยอำนาจของอัตถิและอวิคตปัจจัย. แม้รูปชีวิตินทรีย์ กับกุศลที่เกิดภายหลังก็เป็นปัจจัยแก่กัมมรูป ด้วยอำนาจของอัตถิและอวิคตปัจจัยนั่นเอง.
               คำนี้ว่า สหชาตํ ปจฺฉาชาตํ อาหารํ อินฺทฺริยํ พระองค์ตรัสหมายถึงความเป็นปัจจัยโดยส่วน ๔ นี้. ก็ปัจฉาชาตะ อาหาระและอินทริยปัจจัยย่อมไม่ได้ในอธิการนี้.
               แม้ในปัญหา ๒ ข้อที่รวมกับอกุศล ข้างหน้าก็นัยนี้เหมือนกัน. บัณฑิตพึงทราบประเภทแห่งปัจจัยทั้งหลาย ที่ท่านย่อกล่าวไว้ในปัญหาเหล่านั้นๆ ในอธิการนี้ด้วยประการฉะนี้. ฝ่ายข้าพเจ้าจักทำให้แจ้ง ซึ่งความลดและความไม่ลดแห่งปัญหาเหล่านั้นๆ ในปัจจัยนั้นๆ ข้างหน้าแล.

               วรรณนาความแห่งความปัจจยุทธาระ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

               วรรณนาความแห่งกุสลติกปัฏฐาน               
               ปัจจนียนัย               
               วาระ ๑๕ เหล่านี้ว่า กุสโล ธมฺโม กุสลสฺส ธมฺมสฺส เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว ด้วยสามารถอนุโลม. เพราะแม้ในปัจจนียะ ก็วาระเหล่านี้แหละ ไม่มีเกินไปกว่านี้ มีแต่ต่ำกว่านี้ ฉะนั้น บัดนี้ เพื่อจะแสดงวาระที่จะมีได้ในปัจจนียะแห่งวาระใดๆ ตั้งแต่ต้น ด้วยอำนาจแห่งจำนวน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเริ่มคำว่า นเหตุยา ปณฺณรส เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นเหตุยา คือ วาระ ๑๕ ที่ได้ด้วยสามารถแห่งปัจจัยทั้งหลายตามที่แสดงไว้ แม้ทั้งหมด. ในนอารัมมณะ เหตุปัจจัยย่อมผนวกเข้าในสหชาตปัจจัย. ในวาระนั้นๆ อารัมมปัจจัยล้วนๆ ย่อมขาดไป. วาระเหล่านั้นย่อมได้วิสัชนาด้วยอำนาจแห่งปัจจัยที่เหลือ. แม้ในปัจจัยที่เหลือก็เหมือนกับนอารัมมปัจจัย. เหตุปัจจัยย่อมได้ในสหชาตปัจจัย.
               ก็ปัจจัยทั้งหลายที่ตั้งอยู่ด้วยปัจจนียะอย่างนี้ คือ นอุปนิสฺสเย นอนนฺตเร (ปัจจัยนั้นๆ) ย่อมขาดไปในวาระนั้นๆ. วาระเหล่านั้นๆ ย่อมได้รับวิสัชนาด้วยอำนาจปัจจัยที่เหลือ. ส่วนในนสหชาตปัจจัย ๔ วาระเหล่านั้นย่อมขาดไป คือกุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่กุศลและอัพยากตะ อกุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่อกุศลและอัพยากตะ, กุศลและอัพยากตธรรมเป็นปัจจัยแก่กุศล, อกุศลและอัพยากตธรรมเป็นปัจจัยแก่อกุศล (กุ - กุ. อัพ, อกุ - อกุ. อัพ, กุ. อัพ - กุ. อกุ. อัพ - อกุ.)
               จริงอยู่ ท่านกล่าวปัจจัยสังคหะหมวด ๑ ด้วยอำนาจแห่งปัจจัย ๑๑ ว่า สหชาตปจฺจเยน ปจฺจโย ในวาระ ๒ ข้อต้น แห่งวาระ ๔ เหล่านี้ เมื่อปัจจัยสังคหะนั้นถูกปฏิเสธไป วาระเหล่านั้นย่อมไม่ได้รับวิสัชนาโดยอาการอื่น.
               คำว่า สหชาตํ ปุเรชาตํ ท่านกล่าวหมายเอานิสสยะ อัตถิ และอวิคตปัจจัยในวาระ ๒ ข้างท้าย เมื่อสหชาตปัจจัยถูกปฏิเสธไป วาระเหล่านั้นย่อมไม่ได้วิสัชนาด้วยอำนาจแห่งปัจจัยที่เหลือมีเหตุปัจจัยเป็นต้น และไม่ได้ปุเราชาตปัจจัย นิสสยะ อัตถิ อวิคตปัจจัยด้วย เพราะฉะนั้น วาระทั้ง ๔ เหล่านี้จึงขาดไป.
               คำว่า เอกาทส (๑๑ วาระ) ท่านกล่าวไว้ด้วยอำนาจแห่งวาระที่เหลือ.
               ในข้อนั้นพึงมีคำถามว่า เมื่อเหตุปัจจัยถูกปฏิเสธออก วาระเหล่านั้นจึงมีด้วยอำนาจแห่งอธิปติปัจจัยเป็นต้นที่เหลือ เพราะเหตุไร เมื่อสหชาตปัจจัยถูกปฏิเสธออก วาระจึงไม่มีด้วยอำนาจแห่งเหตุปัจจัยเป็นต้นที่เหลือบ้าง.
               แก้ว่า เพราะไม่มีธรรมจะมาอ้างอิง (นิปปเทส).
               จริงอยู่ เหตุปัจจัยเป็นต้น ชื่อว่ายังมีธรรม (เหลือไว้) อ้างอิง (สัปปเทส) เพราะยังมีสหชาตปัจจัยอยู่อีกส่วนหนึ่ง (หรือเพราะเป็นส่วนหนึ่งแห่งสหาชตปัจจัย). เพราะฉะนั้น เมื่อเหตุปัจจัยเป็นต้นเหล่านั้นถูกปฏิเสธออกแล้ว วาระเหล่านั้นย่อมได้รับวิสัชนาด้วยอำนาจแห่งปัจจัยอื่น แต่สหชาตปัจจัยไม่มีธรรม (เหลือไว้) อ้างอิง ย่อมรวมเอาเหตุปัจจัยเป็นต้นทั้งหมดเข้ามาด้วย เมื่อสหชาตปัจจัยนั้นถูกปฏิเสธไป เหตุปัจจัยเป็นต้นเหล่านั้นแม้ทั้งหมดจึงเป็นอันถูกปฏิเสธไปด้วย. เพราะว่าขึ้นชื่อว่าเหตุปัจจัยเป็นต้นที่จะไม่เกิดพร้อมกันย่อมไม่มี. เพราะสหชาตปัจจัยไม่มีธรรมอ้างอิง เมื่อสหชาตปัจจัยนั้นถูกปฏิเสธออก วาระทั้ง ๒ เหล่านั้นจึงไม่มีด้วยประการฉะนี้.
               ก็ในวาระที่ท่านวิสัชนาแล้ว่า สหชาตํ ปุเรชาตํ ถึงสหชาตปัจจัยเท่านั้น จะไม่มีจริง แต่เพราะในอธิการนี้ อรูปขันธ์ที่เกิดร่วมกันเท่านั้นเป็นปัจจัย ด้วยอำนาจนิสสยะ อัตถิและอวิคตะ ก็เมื่อสหชาตปัจจัยถูกปฏิเสธแล้ว นิสสยะ อัตถิและอวิคตปัจจัยที่เกิดร่วมกันโดยส่วนเดียวโดยแน่นอน ก็เป็นอันถูกปฏิเสธไปด้วย เพราะฉะนั้น วาระแม้เหล่านั้นจึงมีไม่ได้ เพราะสหชาตปัจจัยนั้นถูกปฏิเสธไปแล. วาระ ๔ เหล่านี้ในอธิการนี้ จึงขาดไปโดยประการทั้งปวง ด้วยประการฉะนี้.
               คำว่า เอกาทส ท่านกล่าวด้วยอำนาจวาระที่เหลือเท่านั้น.
               แม้ในนอัญญมัญญะ นนิสสยะและนสัมปยุตตปัจจัย วาระ ๔ เหล่านั้นเองขาดไป ถามว่า เพราะเหตุไร?
               แก้ว่า เพราะมีคติเหมือนสหชาตปัจจัญ. เหมือนอย่างว่า สหชาตปัจจัยที่เป็นอรูปธรรมย่อมรวมอรูปขันธ์ ๔ ไว้โดยไม่เหลือ ฉันใด แม้อัญญมัญญะ นิสสยะและสัมปยุตตปัจจัย ก็ฉันนั้น. เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า เมื่อปัจจัยเหล่านี้ถูกปฏิเสธออกแล้ว วาระเหล่านั้นจึงมีไม่ได้ เพราะปัจจัยเหล่านี้มีคติเช่นเดียวกับสหชาตปัจจัย เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า นอญฺญมญฺเญ เอกาทส นนิสฺสเย เอกาทส นสมฺปยุตฺเต เอกาทส.
               ในข้อนั้น พึงมีคำถามว่า ปัจจัยเหล่านี้มีคติเหมือนสหชาตปัจจัย เพราะเป็นที่รวมแห่งขันธ์ ๔ อันต่างโดยกุศลเป็นต้น โดยไม่แปลกกัน ก็จริง แต่กุศลก็หาเป็นปัจจัยโดยประการอื่นเว้นสหชาตปัจจัย แก่กุสลาพยากตะไม่ เพราะฉะนั้น เมื่อกุศลนั้นถูกปฏิเสธออก วาระนั้นก็ขาดไป (เป็นธรรมดา) แต่กุศลย่อมไม่เป็นอัญญมัญญปัจจัยแก่กุสลาพยากตะ เมื่อกุศลนั้นถูกปฏิเสธไป ทำไมวาระนั้นจึงต้องขาดไปด้วย.
               แก้ว่า เพราะมีความเป็นไปด้วยอำนาจแห่งธรรมที่อิงอาศัยกันและกัน เหมือนอย่างว่า กุสลาพยากตะไม่เป็นสหชาตปัจจัยแก่กุศล แต่วาระนั้นก็ขาดไปในเมื่อยกกุศลนั้นออก เพราะมีความเป็นไปโดยนิสสยปัจจัยเป็นต้น ด้วยอำนาจแห่งธรรมที่เกิดร่วมกัน ฉันใด แม้ในอธิการนี้เมื่อยกกุศลนั้นออก วาระแม้นั้นย่อมขาดไป เพราะมีความเป็นไปโดยเป็นสหชาตะเป็นต้น ด้วยอำนาจแห่งธรรมที่เป็นอัญญมัญปัจจัย ฉันนั้น.
               ก็บทว่า นอญฺญมญฺญปจฺจเยน ปจฺจโย มีเนื้อความดังนี้ ธรรมเหล่าใดถึงการนับว่าเป็นอัญญมัญปัจจัย การเป็นปัจจัยด้วยธรรมเหล่านั้น ย่อมไม่มี แต่กุศลเมื่อเป็นปัจจัยแก่กุสลาพยากตะ ด้วยอำนาจสหชาตปัจจัยเป็นต้น ย่อมไม่เป็นด้วยธรรม คืออัญญมัญญปัจจัยเท่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อกุศลนั้นถูกปฏิเสธออก วาระนั้นจึงขาดไป ก็วาระนั้นย่อมขาดไป ฉันใด วาระ ๓ แม้ที่เหลือก็ย่อมขาดไป ฉันนั้น วาระ ๔ แม้เหล่านั้นย่อมขาดไปด้วยประการฉะนี้.
               แม้ในคำว่า นนิสฺสเย เอกาทส นี้มีวินิจฉัยดังนี้ เพราะปัจจัยธรรมทั้งหลายที่เกิดร่วมกันโดยส่วนเดียว เป็นที่อาศัยแห่งวาระเหล่านั้น ฉะนั้น เมื่อธรรมเป็นที่อาศัย ถูกปฏิเสธออก วาระเหล่านั้นจึงขาดไปด้วย.
               สองบทว่า นปุเรชาเต เตรส (นปุเรชาตปัจจัยมี ๑๓ วาระ) ความว่า มีวาระ ๑๓ เพราะนำเอาวาระ ๒ ที่มีมูล ๒ ที่มีวิสัชนาอันท่านกล่าวไว้ว่า สหชาตํ ปุเรชาตํ ออกเสีย เหมือนอย่างว่า เมื่อยกสหชาตปัจจัยออก วาระเหล่านั้นย่อมไม่ได้วิสัชนา ด้วยอำนาจแห่งนิสสยะ อัตถิและอวิคตปัจจัย เฉพาะที่เป็นปุเรชาตเท่านั้น ฉันใด แม้เมื่อปุเรชาตปัจจัยถูกยกออกเสียแล้ว วาระเหล่านั้นย่อมไม่ได้วิสัชนาด้วยอำนาจนิสสยะ อัตถิและอวิคตปัจจัย เฉพาะที่เป็นสหชาตะเท่านั้น ฉันนั้น เพราะฉะนั้น ผู้ศึกษาพึงทราบว่ามีวาระ ๑๓ เพราะนำออกเสียซึ่งวาระเหล่านั้น.
               ในคำว่า นปจฺฉาชาเต ปณฺณรส นี้ ย่อมได้ปัญหาทั้งหลายเหล่านั้น แม้ด้วยอำนาจแห่งปัจจัยที่เหลือ เว้นปัจฉาชาตปัจจัยในอาคตสถาน (ที่มา) ว่า ปจฺฉาชาตปจฺจเยน ปจฺจโย หรือว่า สหชาตํ ปุเรชาตํ อาหารํ อินฺทฺริยํ ดังนี้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ ๑๕ วาระเท่านั้น.
               ในคำว่า นกมฺเม เป็นต้น มีวินิจฉัยว่า เพราะแม้กัมมปัจจัย วิปากปัจจัย อาหารปัจจัย อินทริยปัจจัย ฌานปัจจัยและมัคคปัจจัย ก็เป็นส่วนหนึ่งแห่งขันธ์ ๔ อันต่างโดยกุศลเป็นต้น ฉะนั้น ยกเว้นธรรมเหล่านั้นเสีย ธรรมที่เกิดร่วมจึงจัดเป็นปัจจัยได้ด้วยอำนาจแห่งธรรมที่เหลือ เพราะฉะนั้น การวิสัชนาปัญหาจึงไม่ลดไปแม้เพียงข้อเดียว.
               คำว่า นสมฺปยุตฺเต เอกาทส ความว่า เพราะธรรมที่สัมปยุตกัน เป็นปัจจัยกัน ด้วยอำนาจสหชาตะเป็นต้น ในวาระ ๔ เหล่านั้น ฉะนั้น พึงทราบว่าวาระเหล่านั้นเท่านั้นขาดไป เพราะปฏิเสธสัมปยุตตปัจจัย.
               คำว่า นวิปฺปยุตฺเต นว ความว่า วาระ ๖ เหล่านี้ คือวาระ ๔ อันมีอวสานบทบทเดียว ซึ่งเกิดแต่ธรรมที่มีมูล ๒ และ ๒ วาระอันมีอวสานบท ซึ่งเกิดแต่ธรรมที่มีมูล ๑ และมูล ๒ ประกอบแล้วด้วยปัจจัยธรรมที่วิปปยุตกันโดยส่วนเดียว. วาระเหล่านี้ย่อมเป็นปัจจัยด้วยอำนาจสหชาตะเป็นต้น เมื่อวิปปยุตตปัจจัยถูกปฏิเสธออกไป วาระเหล่านั้นทั้งหมดย่อมขาดไปด้วย เพราะฉะนั้น จึงได้ ๙ วาระเท่านั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า นวิปฺปยุตฺเต นว.
               แม้ในโนนัตถิและโนอวิคตปัจจัย ผู้ศึกษาพึงทราบวาระ ๙ เหล่านั้นเอง. จริงอยู่ วาระเหล่านั้นประกอบด้วยธรรม คืออัตถิปัจจัยและอวิคตปัจจัยแน่นอน เพราะฉะนั้น วาระเหล่านั้นจึงขาดไป เพราะการปฏิเสธอัตถิ และอวิคตปัจจัยเหล่านั้น วาระแม้เหล่าใดที่ได้อยู่ ผู้ศึกษาพึงแต่งวิสัชนาในวาระเหล่านั้น ด้วยอำนาจอารัมมณปัจจัย หรืออนันตรปัจจัยเป็นต้น ผู้ศึกษาพึงแต่งวิสัชนาด้วยอำนาจแห่งปัจจัย ๕ อันต่างด้วยอำนาจของสหชาตะ ปุเรชาตะ ปัจฉาชาตะ อาหาระและอินทริยปัจจัย หรือด้วยอำนาจแห่งธรรมที่วิปปยุตกัน ซึ่งยังมีอยู่และยังไม่ปราศจากไป ดังนี้แล.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงวาระที่ได้ใน ปัจจนียนัย ด้วยการนับอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะแสดงการนับปัจจัย ด้วยอำนาจแห่งปัจจัยที่มีมูล ๒ เป็นต้น จึงทรงเพิ่มคำว่า นเหตุปจฺจยา นารมฺมเณ ปณฺณรส เป็นต้น พึงทราบวินิจฉัยในคำนั้นต่อไป.
               ในนเหตุมูลกทุกะ เป็นปัจจัยที่นับได้มากกว่า ครั้นประกอบกับปัจจัยที่นับได้น้อยกว่า ย่อมเป็นปัจจัยที่นับได้น้อยกว่าไปด้วย. ในติมูลกนัย วาระ ๒ คือกุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล อกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศล (กุ - อกุ, อกุ - กุ) ในคำว่า นอุปนิสฺสเย เตรส ย่อมขาดไป. เพราะเหตุไร? เพราะนอุปนิสสยปัจจัย ท่านเชื่อมไว้กับนอารัมมณปัจจัย.
               จริงอยู่ วาระเหล่านี้เป็นไปด้วยอำนาจอารัมมณปัจจัยและอุปนิสสยปัจจัย. และปัจจัยทั้ง ๒ นั้นอันท่านยกเสียแล้ว (ปฏิเสธ) วาระนั้นเป็นอันท่านถือเอาแล้วด้วยจำนวนแห่งอารัมมณาธิปติและอารัมมณูปนิสสยปัจจัยเท่านั้น.
               สองบทว่า นอุปนิสฺสเย เตรส แม้ในฉมูลกนัย ก็คือวาระ ๑๓ เหล่านั้นนั่นแหละ.
               พึงทราบวินิจฉัยในสัตตมูลกนัย ต่อไป.
               สองบทว่า นอุปนิสฺสเย สตฺต ได้แก่ วาระ ๘ คือ วาระ ๔ อันเป็นไปอยู่ด้วยอำนาจแห่งอนันตรูปนิสสยปัจจัย และปกตูปนิสสยปัจจัยเหล่านี้ คือ ๑. กุศลเป็นปัจจัยแก่กุศล (กุ - กุ) ๒. กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล (กุ - อกุ) ๓. อกุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล (อกุ - อกุ) ๔. อกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศล (อกุ - กุ) และกับวาระ ๔ ที่ขาดไปในอธิการนั้น เพราะเนื่องกับนสหชาตปัจจัย ย่อมขาดไป เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า สตฺต คือ ๗ วาระด้วยอำนาจแห่งปัจจัยที่เหลือ.
               สองบทว่า นปุเรชาเต เอกาทส คือ มีวาระ ๑๑ เพราะเนื่องกับนสหชาตปัจจัย.
               สองบทว่า นปจฺฉาชาเต นว ความว่า จริงอยู่ ในวาระ ๑๑ เหล่านี้ เพราะนำเอาวาระ ๓ ซึ่งมีมูล ๒ และมีอัพยากตะเป็นอวสานบท มีวิสัชนาอันได้แล้วว่า สหชาตํ ปจฺฉาชาตํ อาหารํ อินฺทฺริยํ ออกเสีย แม้เมื่อมีการปฏิเสธสหชาตปัจจัย วาระเหล่านั้นก็ยังไม่ขาดไป ด้วยอำนาจปัจฉาชาตปัจจัย แต่เมื่อมีการปฏิเสธปัจฉาชาตปัจจัยกับสหชาตปัจจัย วาระเหล่านั้นย่อมขาดไป เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า นว คือ ๙ วาระ ด้วยอำนาจแห่งปัจจัยที่เหลือ.
               สองบทว่า นนิสฺสเย เอการส ในอัฏฐมูลกนัย คำอธิบายทั้งหมดเหมือนกับที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้วในหนหลัง.
               พึงทราบวินิจฉัยในนวมูลกนัย ต่อไป.
               สองบทว่า นอุปนิสฺสเย ปญฺจ ความว่า มี ๕ วาระ คือ วาระ ๓ หมวด ๓ แห่งกุศลเป็นต้น อันมีอัพยากตะเป็นที่สุด และวาระ ๒ อันมีมูล ๒ มีอัพยากตะเป็นอวสานบท พึงทราบวิสัชนาในวาระ ๕ เหล่านั้น ด้วยอำนาจแห่งธรรม คือนานากขณิกกัมมปัจจัย กพฬีการาหาร รูปชีวิตินทรีย์และปัจฉาชาตปัจจัย. วาระเหล่านั้นเอง ย่อมมีแม้ในคำเป็นต้นว่า นปุเรชาเต ปญฺจ.
               ในทสมูลกนัย สองบทว่า นปจฺฉาชาเต ตีณิ คือ วาระที่เหลือ นอกจากวาระ ๒ อันมีมูล ๒ มีอัพยากตะเป็นอวสานบท อันได้อยู่ด้วยอำนาจปัจฉาชาตปัจจัย. วาระ ๓ เหล่านั้นเอง ย่อมมีแม้ในนวิปปยุตปัจจัย.
               สองบทว่า โนอตฺถิยา เทฺว คือ กุศลและอกุศล เป็นปัจจัยแก่กัมมชรูปด้วยอำนาจแห่งนานากขณิกกัมมปัจจัย. ก็ในอธิการนี้ย่อมไม่ได้วิบาก เพราะเนื่องกับนอุปนิสสยปัจจัย. การนับในเอกาทสมูลกนัย เช่นเดียวกับที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้วในหนหลังนั่นเอง.
               สองบทว่า นกมฺเม เอกํ ในทวาทสมูลกนัย คืออัพยากตะกับอัพยากตะ. ก็ในข้อนั้น ผู้ศึกษาพึงทราบวิสัชนาด้วยอำนาจอาหารและอินทรีย์. ผู้ศึกษาพึงถือเอาวิสัชนานี้แหละ ในอาคตสถานว่า เอกํ (= ๑ วาระ) แม้ในเตรสมูลกนัย เป็นต้น. แต่ในนอาหารปัจจัย พึงทราบวิสัชนาด้วยอำนาจแห่งอินทรีย์ ในนอินทริยปัจจัย พึงทราบวิสัชนาด้วยอำนาจแห่งอาหาระ.
               ในจุททสมูลกนัย เป็นต้น ย่อมไม่ได้โนอัตถิและโนอวิคตปัจจัย เพราะเนื่องด้วยนกัมมปัจจัย เหตุนั้นท่านจึงไม่กล่าวไว้. ท่านกล่าวคำว่า นาหารปจฺจยา นฌานปจฺจยา ไว้โดยนำเอานอินทริยปัจจัยออกเสีย เพราะฉะนั้น ในฐานะเช่นนั้น ผู้ศึกษาพึงทราบวิสัชนา ๑ ด้วยอำนาจแห่งอินทริยปัจจัย.
               คำว่า นวิปากปจฺจยา นอินฺทฺริยปจฺจยา ท่านกล่าวไว้โดยนำอาหาระออกเสีย เพราะฉะนั้น ในฐานะนั้นพึงทราบวิสัชนา ๑ ด้วยอำนาจแห่งอาหารปัจจัย ก็ขึ้นชื่อว่าการนับในวาระ ๒ เหล่านี้ ซึ่งตั้งอยู่โดยความเป็นปัจจนียะย่อมไม่มี เพราะฉะนั้น ท่านจึงไม่ได้แสดงไว้ด้วยกันแล.
               นเหตุมูลกนัย จบ.               
               -----------------------------------------------------               

               แม้ในนอารัมมณมูลกนัยเป็นต้น พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               การกำหนดจำนวนมูลในทุกะทั้งปวงมี ๔ เท่านั้น คือ ๑๕-๑๓-๑๑-๙ ส่วนในติมูลกนัยเป็นต้น ย่อมได้วิสัชนาซึ่งมีจำนวนอันท่านกำหนดไว้แล้ว คือ ๗-๕-๓-๒-๑ นอกไปอีก เพราะการประกอบร่วมกันแห่งปัจจัยเป็นอันมาก วิสัชนาใดๆ ย่อมมีได้เพราะการประกอบร่วมกันแห่งปัจจัยเหล่าใด ในบรรดาปัจจัยเหล่านั้น ผู้ศึกษาพึงกำหนดวิสัชนาและปัจจัยนั้นๆ ให้ดี แล้วยกขึ้นตามนัยที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้วในหนหลัง.
               ก็ในนอารัมมณมูลกนัย เป็นต้นเหล่านี้ทั้งหมด ผู้ศึกษาพึงเชื่อมบททั้งหลายมีนารัมมณบทเป็นต้น กับนเหตุบท ที่ผ่านมาแล้วเป็นอันดับแรก แล้วทำเป็นจักร (หมุนเวียนไป) ก็เพราะบทเหล่านั้นเป็นเช่นเดียวกับที่กล่าวแล้วในนเหตุมูลกนัยนั่นเอง ฉะนั้น ท่านจึงไม่แสดงโดยพิสดาร แสดงไว้เพียงย่อๆ.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทเหล่านั้นต่อไป
               ในนเหตุกมูลกนัย ในเพราะนอารัมมณะ และในเพราะนอุปนิสสยปัจจัย ย่อมได้วาระ ๑๕ แยกๆ กันไป ได้วาระ ๑๓ เพราะประกอบร่วมกัน ฉันใด ย่อได้วาระ ๑๓ เท่านั้นในที่ทั่วไป ฉันนั้น.
               อนึ่ง ในนอุปนิสสยปัจจัย วาระ ๗ ย่อมมีด้วยนอารัมมณะและนสหชาตปัจจัย ฉันใด แม้ในนสหชาตปัจจัยก็มีวาระ ๗ ด้วยนอุปนิสสยะและนอารัมมณปัจจัย ฉันนั้น.
               คำว่า นนิสฺสยปจฺจยา นอุปนิสฺสยปจฺจยา นปจฺฉาชาเต ตีณิ คือ วิสัชนา ๓ วาระ มีกุศลเป็นต้น มีอัพยากตะเป็นที่สุด ปัจจัยเหล่านั้นมีกัมมชรูปและอาหารชรูปเป็นปัจจยุบบัน ในหมวด ๔ มีนอาหาระและนอินทริยะ เป็นมูล ย่อมไม่ได้วาระโดยแน่นอน เหมือนในนเหตุมูลกนัย เพราะไม่เชื่อมกัมมปัจจัย.
               ในนอินทริยมูล คำว่า "นอุปนิสฺสเย จ นปุเรชาเต จ ฐเปตฺวา นาหาเร ตีณีติ กาตพฺพํ" อธิบายว่า ผู้ศึกษาพึงเชื่อมปัจจัย ๒ เหล่านี้จากนอินทริยปัจจัย แล้วทำการนับด้วยนอาหารปัจจัย กับปัจจัย ๒ เหล่านี้อย่างนี้ คือ นอินฺทฺริยปจฺจยา ฯเปฯ นอุปนิสฺสยปจฺจยา นาหาเร ตีณิ, น อินฺทฺริยปจฺจยา ฯเปฯ น ปุเรชาตปจฺจยา นาหาเร ตีณิ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตีณิ คือ กุศลเป็นต้นนั่นเอง เป็นปัจจัยแก่อัพยากตะ.
               ในคำนั้นมีอธิบายดังต่อไปนี้
               กุศลและอกุศลเป็นปัจจัยแก่กัมมชรูปและแก่กายที่เกิดก่อน ด้วยปัจฉาชาตปัจจัย ส่วนจิตและเจตสิกที่เป็นอัพยากตะเป็นปัจจัย ด้วยปัจฉาชาตปัจจัยอย่างเดียว ผู้ศึกษาพึงแต่งวิสัชนา ๓ ข้อ ด้วยอำนาจแห่งปัจจัยเหล่านี้ ดังอธิบายมานี้.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า นาหาเร เทฺว เพราะเชื่อมกับปัจฉาชาตปัจจัยข้างหน้า ในข้อนั้นได้วิสัชนาเพียงเท่านี้ คือกุศลเป็นปัจจัยแก่อัพยากตะด้วยอำนาจที่เป็นกัมมชรูป และอกุศลเป็นปัจจัยแก่อัพยากตะด้วยอำนาจที่เป็นกัมมชรูปเหมือนกัน แต่เพราะอาหารถูกปฏิเสธออก กพฬีการาหารจึงไม่ได้ความเป็นปัจจัย แม้ด้วยอำนาจอัตถิและอวิคตปัจจัย.
               ในจตุมูลกนัย แต่งตอนที่ว่าด้วยปัฏฐานที่มีนวิปปยุตตปัจจัยเป็นมูล.
               สองบทว่า นอุปนิสฺสเย ปญฺจ คือ มีวิสัชนา ๕ วาระ คือกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศลที่เกิดพร้อมกัน กุศลเป็นปัจจัยแก่อัพยากตะ กล่าวคือกัมมชรูป อกุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศลที่เกิดพร้อมกัน อกุศลเป็นปัจจัยแก่อัพยากตะ คือกัมมชรูป อัพยากตะเป็นปัจจัยแก่อัพยากตะที่เกิดพร้อมกัน.
               คำว่า นวิปฺปยุตฺตปจฺจยา ฯเปฯ นอุปนิสฺสเย ตีณิ คือ วาระ ๓ มีกุศลเป็นต้น เป็นปัจจัยแก่อัพยากตะ ตามนัยที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้วในหนหลัง.
               คำว่า โนอตฺถิปจฺจยา นเหตุยา นว คือ วาระ ๙ ที่ท่านกล่าวว่า เกิดเพราะเหตุปัจจัย ในโนอัตถิปัจจัย.
               จริงอยู่ วาระเหล่านั้นทั้งหมด วาระหนึ่งซึ่งมีมูลหนึ่งเป็นที่สุด ย่อมได้ด้วยอำนาจอนันตรปัจจัยและปกตูปนิสสยปัจจัย.
               แม้สองบทว่า นอารมฺมเณ นว ความว่า ผู้ศึกษาพึงตั้งวาระเหล่านั้นแหละไว้ในนอารัมมปัจจัย แล้วแบ่งนอุปนิสสยปัจจัยออกเป็น ๒.
               สองบทว่า ยาว นิสฺสยมฺปิ ความว่า ในนัยที่มีโนอัตถิปัจจัยเป็นมูล ผู้ศึกษาพึงตั้งไว้ในนอารัมมณปัจจัย ด้วยการหมุนเวียนอย่างนี้ คือ โนอตฺถิปจฺจยา นเหตุปจฺจยา นอารมฺมณปจฺจยา ไปจนถึงนิสสยปัจจัยแล้ว ถึงแต่งวิสัชนา ๒ วาระ ในนอุปนิสสยปัจจัย กับด้วยปัจจัย ๓ อย่างนี้ หรือปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่ง มีนอธิปติปัจจัยเป็นต้น ถัดจากนี้ไป.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งลักษณะอย่างนี้แล้ว ทรงถือเอาปัจจัย ๗ ตั้งแต่นอารัมมณปัจจัยจนถึงนนิสสยปัจจัยอีก แล้วตรัสว่า นอุปนิสฺสเย เทฺว. ในข้อนั้นผู้ศึกษาพึงแต่งโยชนาจากนารัมมณปัจจัยกับบททั้งปวง มีนนิสสยปัจจัยเป็นที่สุดทั้งข้างหน้าและข้างหลังอย่างนี้ คือ โนอตฺถิปจฺจยา นเหตุปจฺจยา นอารมฺมณปจฺจยา นอุปนิสฺสเย เทฺว, โนอตฺถิปจฺจยา นเหตุนารมฺมณนาธิปติปจฺจยา นอุปนิสฺสเย เทฺว.
               ก็บทว่า เทฺว ในอธิการนี้ ผู้ศึกษาเพียงพึงทราบด้วยอำนาจแห่งปัจจัยแห่งกัมมชรูป ด้วยอำนาจแห่งนานากขณิกกัมมะ คือกุศลเป็นปัจจัยแก่อัพยากตะ อกุศลเป็นปัจจัยแก่อัพยากตะ.
               ในนปุเรชาตปัจจัยเป็นต้นกับนอุปนิสสยบท พึงทราบวิสัชนา ๒ ในที่ทุกสถาน ก็ในอธิการนี้ท่านไม่ถือเอากัมมปัจจัย. จริงอยู่ เมื่อถือเอากัมมปัจจัยนั้น วาระเหล่านั้นย่อมขาดไปด้วย ย่อมไม่ได้วิสัชนา ในการเทียบเคียงวิสัชนาใดๆ กับวิสัชนาใดๆ วิสัชนาใดมีได้และวิสัชนาใดขาดไป ผู้ศึกษาพึงกำหนดวิสัชนานั้นทั้งหมดให้ดี แล้วพึงขยายจำนวนในปัจจนียะทั้งหมด.

               ปัจจนียนัย จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาปัฏฐานปกรณ์ ภาค ๑ อนุโลมติกปัฏฐาน กุสลัตติกะ ปัญหาวารปัจจนียุทธาร จบ.
อ่านอรรถกถา 40 / 1อ่านอรรถกถา 40 / 671อรรถกถา เล่มที่ 40 ข้อ 674อ่านอรรถกถา 40 / 679อ่านอรรถกถา 40 / 1767
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=40&A=7735&Z=7764
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=12026
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=12026
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :