ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 5 / 1อ่านอรรถกถา 5 / 78อรรถกถา เล่มที่ 5 ข้อ 82อ่านอรรถกถา 5 / 83อ่านอรรถกถา 5 / 261
อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๒ เภสัชชขันธกะ
พระพุทธานุญาตกัปปิยภูมิเป็นต้น

               ว่าด้วยกัปปิยภูมิ               
               บทว่า ปจฺจนฺติมํ นี้ สักว่าตรัส แต่ว่า ถึงวิหารใกล้ก็ควรจะสมมติได้ เพราะพระบาลีที่ตรัสไว้ว่า ยํ สงฺโฆ อากงฺขติ แปลว่า สงฆ์หวังจะสมมติที่ใด แม้จะไม่สวดกรรมวาจา สมมติด้วยอปโลกน์แทน ก็ควรเหมือนกัน.
               บทว่า สกฏปริวตฺตกํ มีความว่า พักอยู่ ประหนึ่งทำให้ห้อมล้อมด้วยเกวียนทั้งหลาย.
               บทว่า กาโกรวสทฺทํ ได้แก่ เสียงร้องก้องแห่งกาทั้งหลายซึ่งประชุมกัน แต่เช้ามืดทีเดียว เพื่อต้องการจะกินเหยื่อที่เขาทิ้งแล้วในที่นั้นๆ. พระเถระชื่อยโสชะ เป็นบุรุษเลิศแห่งบรรพชิตห้าร้อย ในเวลาจบกปิลสูตร.
               วินิจฉัยในบทว่า อุสฺสาวนนฺติกํ เป็นต้น พึงทราบดังนี้ :-
               กัปปิยภูมิ ชื่ออุสสาวนันติกา พึงทำก่อนอย่างนี้ ที่อยู่ใด เขาทำเสียบบนเสาหรือในเชิงฝา ศิลาที่รองเสาภายใต้ที่อยู่นั้น มีคติอย่างพื้นดินเหมือนกัน.
               ก็แล เมื่อจะให้ตั้งเสาแรกหรือเชิงฝาแรก ภิกษุหลายรูปพึงล้อมกันเข้า เปล่งวาจาว่า กปฺปิยกุฏึ กโรม แปลว่า เราทำกัปปิยกุฏิ เมื่อชนทั้งหลายช่วยกันยกขึ้นให้ตั้งลง พึงจับเองหรือยกเองก็ได้ ให้ตั้งเสาหรือเชิงฝา.
               ส่วนในกุรุนทีและมหาปัจจรี ท่านแก้ว่า ภิกษุทั้งหลาย พึงให้ตั้งลงกล่าวว่า กัปปิยกุฏิ กัปปิยกุฏิ.
               ในอันธกอรรถกถาแก้ว่า พึงกล่าวว่า สงฺฆสฺส กปฺปิยกุฏึ อธิฏฺฐามิ แปลว่า ข้าพเจ้าอธิษฐานกัปปิยกุฏิเพื่อสงฆ์. แต่ถึงแม้จะไม่กล่าวคำนั้น ย่อมไม่มีโทษในเพราะคำที่กล่าวแล้ว ตามนัยที่กล่าวไว้ในอรรถกถาทั้งหลายเท่านั้น.
               แต่ในอธิการว่าด้วยการทำกัปปิยภูมิ ชื่ออนุสสาวนันติกานี้ มีลักษณะที่ทั่วไปดังนี้ ขณะที่เสาตั้งลง และขณะที่จบคำ เป็นเวลาพร้อมกัน ใช้ได้. แต่ถ้าเมื่อคำยังไม่ทันจบ เสาตั้งลงก่อน หรือเมื่อเสานั้นยังไม่ทันตั้งลง คำจบเสียก่อน. กัปปิยกุฏิ ไม่เป็นอันได้ทำ. เพราะเหตุนั้นแล ในมหาปัจจรี ท่านจึงแก้ว่า ภิกษุมากองค์ด้วยกัน พึงล้อมกันเข้าแล้วกล่าว. ด้วยว่า ความจบคำและความตั้งลงแห่งเสาของภิกษุรูปหนึ่ง ในภิกษุเหล่านี้จักมีพร้อมกันได้เป็นแน่.
               ก็แล ในกุฎีทั้งหลายที่มีฝาก่อด้วยอิฐ ศิลาหรือดิน ข้างใต้ถุนจะก่อก็ตามไม่ก่อก็ตาม ภิกษุทั้งหลายปรารถนาจะให้ตั้งฝาขึ้นตั้งแต่อิฐหรือศิลาหรือก้อนดินอันใด พึงถือเอาอิฐหรือศิลาหรือก้อนดินอันนั้นก่อนอันอื่นทั้งหมด ทำกัปปิยกุฏิตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล แต่อิฐเป็นต้นที่ก่อขึ้นบนพื้นภายใต้แห่งอิฐก้อนแรกเป็นต้นแห่งฝา ไม่ควร. ส่วนเสาย่อมขึ้นข้างบน เพราะเหตุนั้น เสาจึงควร.
               ในอันธกอรรถกถาแก้ว่า จริงอยู่ เมื่อใช้เสา พึงอธิษฐานเสา ๔ ต้นที่ ๔ มุม เมื่อใช้ฝาที่ก่ออิฐเป็นต้น พึงอธิษฐานอิฐ ๒, ๓ แผ่นที่ ๔ มุม. แต่ถึงกัปปิยกุฏิที่ไม่ทำอย่างนั้น ก็ไม่มีโทษ เพราะว่าคำที่กล่าวไว้ในอรรถกถาทั้งหลายเท่านั้น ย่อมเป็นประมาณ.
               กัปปิยกุฏิ ชื่อ โคนิสาทิกา มี ๒ อย่าง คือ อารามโคนิสาทิกา ๑ วิหารโคนิสาทิกา ๑. ใน ๒ อย่างนั้น ในวัดใด อารามก็ไม่ได้ล้อม เสนาสนะทั้งหลายก็ไม่ล้อม วัดนี้ ชื่ออารามโคสาทิกา, ในวัดใด เสนาสนะล้อมทั้งหมดหรือล้อมบางส่วน อารามไม่ได้ล้อม วัดชี้ชื่อวิหารโคนิสาทิกา. ข้อที่อารามไม่ได้ล้อมนั่นแล เป็นประมาณในโคนิสาทิกาทั้ง ๒ อย่าง ด้วยประการฉะนี้.
               แต่ในกุรุนทีและมหาปัจจรีแก้ว่า อารามที่ล้อมกึ่งหนึ่งก็ได้ ล้อมมากกว่ากึ่งก็ดี จัดเป็นอารามที่ล้อมได้. ในอารามที่ล้อมกึ่งหนึ่งเป็นต้นนี้ ควรจะได้กัปปิยกุฏิ.
               บทว่า คหปติ มีความว่า ชนทั้งหลายทำอาวาสแล้วกล่าวว่า ข้าพเจ้าถวายกัปปิยกุฏิ ขอท่านจงใช้สอยเถิด กัปปิยกุฏินี้ ชื่อ คฤหบดี. แม้เขากล่าวว่า ข้าพเจ้าถวายเพื่อทำกัปปิยกุฏิ ดังนี้ ย่อมควรเหมือนกัน.
               ส่วนในอันธกอรรถกถาแก้ว่า ของที่รับจากมือของสหธรรมิกที่เหลือเว้นภิกษุเสีย และของเทวดาและมนุษย์ทั้งปวง ของเป็นสันนิธิและของที่ค้างภายใน เป็นของๆ สหธรรมิกที่เหลือ และของเทวดามนุษย์เหล่านั้น ย่อมควรแก่ภิกษุ เพราะเหตุนั้น เรือนแห่งสหธรรมิกเหล่านั้น หรือกัปปิยกุฏิที่สหธรรมิกเหล่านั้นถวาย จึงเรียกว่า คฤหบดี. มิใช่แต่เท่านั้น ท่านยังกล่าวอีกว่า เว้นวัดของภิกษุสงฆ์เสีย ที่อยู่ของพวกนางภิกษุณี หรือของพวกอารามิกบุรุษ หรือของพวกเดียรถีย์ หรือของเหล่าเทวดา หรือของพวกนาค หรือแม้วิมานแห่งพวกพรหม ย่อมเป็นกัปปิยกุฏิได้ คำนั้นท่านกล่าวชอบ เพราะว่า เรือนเป็นของสงฆ์เองก็ดี เป็นของภิกษุก็ดี เป็นกุฏิของคฤหบดี ไม่ได้.
               กัปปิยกุฏิที่ภิกษุสวดประกาศทำด้วยกรรมวาจา ชื่อสัมมตกาฉะนี้แล.
               อามิสใดค้างอยู่ในกัปปิยภูมิ ๔ เหล่านี้ อามิสนั้นทั้งหมด ไม่นับว่าอันโตวุตถะ เพราะว่า กัปปิยกุฏิ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตเพื่อปลดเปลื้องอันโตวุตถะและอันโตปักกะ ของภิกษุและภิกษุณีทั้งหลาย
               ส่วนอามิสใดเป็นของสงฆ์ก็ดี เป็นของบุคคลก็ดี เป็นของภิกษุหรือภิกษุณีก็ดี ซึ่งเก็บค้างไว้ในเรือน ซึ่งพอจะเป็นอาบัติเพราะสหไสยได้ ในอกัปปิยภูมิ ค้างอยู่แม้ราตรีเดียว อามิสนั้นเป็นอันโตวุตถะ และอามิสที่ให้สุกในเรือนนั้น ย่อมจัดเป็นอันโตปักกะ อามิสนั้นไม่ควร. แต่ของที่เป็นสัตตาหกาลิกและยาวชีวิกควรอยู่.
               วินิจฉัยในอันโตวุตถะและอันโตปักกะนั้น พึงทราบดังนี้ :-
               สามเณรนำอามิสมีข้าวสารเป็นต้น ของภิกษุมาเก็บไว้ในกัปปิยกุฏิ รุ่งขึ้น หุงถวาย อามิสนั้นไม่เป็นอันโตวุตถะ.
               สามเณรเอาของสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีเนยใสเป็นต้น ที่เก็บไว้ในอกัปปิยกุฏิ ใส่ลงในอามิส มีข้าวสุกเป็นต้นนั้นถวาย อามิสนั้นจัดเป็นมุขสันนิธิ.
               แต่ในมหาปัจจรีแก้ว่า อามิสนั้นเป็นอันโตวุตถะ. ความกระทำต่างกันในมุขสันนิธิและอันโตวุตถะนั้น ก็เพียงแต่ชื่อเท่านั้น.
               ภิกษุเอาเนยใสที่เก็บไว้ในอกัปปิยกุฏิและผักที่เป็นยาวชีวิกทอดเข้าด้วยกันแล้วฉัน ผักนั้นเป็นของปราศจากอามิส ควรฉันได้เจ็ดวัน. ถ้าภิกษุฉันปนกับอามิส ผักนั้นเป็นอันโตวุตถะด้วย เป็นสามปักกะด้วย. ความระคนกันแห่งกาลิกทุกอย่าง พึงทราบโดยอุบายนี้.
               ถามว่า ก็กัปปิยกุฏิเหล่านี้ เมื่อไรจะละวัตถุเล่า?
               ตอบว่า ควรทราบอุสสาวนันติกาก่อน กัปปิยกุฏิใดที่เขาทำเสียบบนเสา หรือในเชิงฝา กัปปิยกุฏินั้น จะละวัตถุ ต่อเมื่อเสาและเชิงฝาทั้งปวงถูกรื้อเสียแล้ว. แต่ชนทั้งหลายเปลี่ยนเสาหรือเชิงฝาเสีย เสาหรือเชิงฝาใด ยังคงอยู่ กัปปิยกุฏิย่อมตั้งอยู่บนเสาหรือเชิงฝานั้น แต่ย่อมละวัตถุ ต่อเมื่อเสาหรือเชิงฝาถูกเปลี่ยนแล้วทั้งหมด. กัปปิยกุฏิที่ก่อด้วยอิฐเป็นต้น ย่อมละวัตถุ ในเวลาที่วัตถุต่างๆ เป็นต้นว่าอิฐหรือศิลาหรือก้อนดิน ที่วางไว้เพื่อรองฝาบนที่ซึ่งก่อขึ้น เป็นของพินาศไปแล้ว. ส่วนกัปปิยกุฏิที่อธิษฐานด้วยอิฐเป็นต้นเหล่าใด เมื่ออิฐเป็นต้นเหล่านั้น แม้ถูกรื้อเสียแล้ว แต่อิฐเป็นต้นอื่นจากอิฐเดิมนั้น ยังคงที่อยู่ กัปปิยกุฏิ ยังไม่ละวัตถุก่อน. กัปปิยกุฏิชื่อโคนิสาทิกา ย่อมละวัตถุ ต่อเมื่อเขาทำการล้อมด้วยกำแพงเป็นต้น ภิกษุควรได้กัปปิยกุฏิในอารามนั้นอีก.
               แต่ถ้าเครื่องล้อมมีกำแพงเป็นต้นเป็นของพังไปที่นั้นๆ แม้อีก โคทั้งหลายย่อมเข้าไปทางที่พังนั้นๆ กุฏินั้น ย่อมกลับเป็นกัปปิยกุฏิอีก. ส่วนกัปปิยกุฏิ ๒ ชนิดนอกนี้จะละวัตถุ ต่อเมื่อเครื่องมุงทั้งปวงผุพังหมดไปเหลือแต่เพียงกลอน. ถ้าบนกลอนทั้งหลาย ยังมีเครื่องมุงเป็นผืนติดกันเป็นแถบ แม้หย่อมเดียว ยังรักษาอยู่.
               ถามว่า ก็ในวัดใด ไม่มีกัปปิยภูมิทั้ง ๔ เหล่านี้ ในวัดนั้นจะพึงทำอย่างไร?
               ตอบว่า ภิกษุพึงให้แก่อนุปสัมบัน ทำให้เป็นของเธอแล้วฉัน.
               ในข้อนั้น มีเรื่องสาธก ดังนี้ :-
               ได้ยินว่า พระกรวิกติสสเถระผู้หัวหน้าแห่งพระวินัยธร ได้ไปสู่สำนักของพระมหาสิวัตเถระ. ท่านเห็นหม้อเนยใสด้วยแสงประทีปจึงถามว่า นั่นอะไร ขอรับ?
               พระเถระตอบว่า ผู้มีอายุ หม้อเนยใส เรานำมาจากบ้านเพื่อต้องการฉันเนยใส ในวันที่มีอาหารน้อย.
               ลำดับนั้น พระติสสเถระจึงบอกกับท่านว่า ไม่ควร ขอรับ.
               ในวันรุ่งขึ้น พระเถระจึงให้เก็บไว้ที่หน้ามุข. รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง พระติสสเถระมาเห็นหม้อเนยใสนั้น จึงถามอย่างนั้นแล แล้วบอกว่าการเก็บไว้ในที่ซึ่งควรเป็นอาบัติเพราะสหไสย ไม่สมควร ขอรับ.
               รุ่งขึ้น พระเถระให้ยกออกไปเก็บไว้ข้างนอก. พวกโจรลักหม้อเนยใสนั้นไป. ท่านจึงพูดกะพระติสสเถระผู้มาในวันรุ่งขึ้นว่า ผู้มีอายุ เมื่อท่านบอกว่า ไม่ควร หม้อนั้นเก็บไว้ข้างนอก ถูกพวกโจรลักไปแล้ว.
               ลำดับนั้น พระติสสเถระจึงแนะท่านว่า หม้อเนยใสนั้นพึงเป็นของอันท่านควรให้แก่อนุปสัมบันมิใช่หรือ ขอรับ? เพราะว่าครั้นให้แก่อนุปสัมบันแล้ว จะทำให้เป็นของฉัน ก็ย่อมควร.

               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๒ เภสัชชขันธกะ พระพุทธานุญาตกัปปิยภูมิเป็นต้น จบ.
อ่านอรรถกถา 5 / 1อ่านอรรถกถา 5 / 78อรรถกถา เล่มที่ 5 ข้อ 82อ่านอรรถกถา 5 / 83อ่านอรรถกถา 5 / 261
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=5&A=2127&Z=2168
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=4066
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=4066
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๕  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :